วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ค. 2022, 05:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนมาหาเราคนไหนขับรถ

อยู่บนถนนมีคนใส่หมวก
เป็นตำรวจเป็นทหารเราไม่รู้เราไม่ทราบ
เค้าทำงานหนักอยู่มาก
คอยโบกรถอำนวยความสะดวก

เราต้องขอบคุณเค้าให้มากๆนะ
เปิดกระจกไหว้ขอบคุณเค้าด้วย

หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
วัดป่าบ้านตาด




พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก ยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ถ้าเป็นมนุษย์ก็เปรียบเหมือนมหาเศรษฐี สติเสื่อมนั้นไม่มี หรือความเสื่อมอะไรไม่มีในท่าน มีเเต่พวกไม่มีจริงนั้นละมันถึงเสื่อม ถ้าเป็นคนมันก็คนจน เดียวก็ไม่มีเงิน ถ้าถึงขั้นเป็นมหาเศรษฐีเเล้วกินเเค่ดอกก็มากพอแล้ว จะเอาอะไรมาเสื่อม...

#หลวงปู่สมกอง ญาณสโย
วัดดานนกเขียน จังหวัดกาฬสินธุ์
เทศน์ ณ เช้า ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕








#รุกขเทวดาประนมมือถือธูปหอม_ยืนมองหลวงปู่ขาวขณะเดินจงกรม

"... หลวงปู่ขาว อนาลโย เคยเทศน์สอนศิษย์
เกี่ยวกับการเดินจงกรมว่า "#มีอานิสงส์มาก"

... หลวงปู่บอกว่า ที่ว่ามีอานิสงส์มากนั้น เราเห็นด้วยตนเอง คือ เมื่อครั้งหนึ่ง กำลังเดินจงกรมอยู่ ก็แลเห็นรุกขเทวดา หรือ ภูมิเจ้าที่ อันสิงสถิตอยู่บริเวณนั้น มายืนประนมมือ ถือธูปหอมกำใหญ่ ส่งกลิ่นฟุ้งกระจาย ไปทั่วบริเวณนั้นเลยทีเดียว

... แต่กลิ่นธูปหอมนั้น หอมไม่เหมือนธูปของ
เมืองมนุษย์เลย มันหอมเย็นๆ อย่างไม่เคยได้กลิ่นนี้มาก่อน ทำให้เกิดความสดชื่น เบิกบานใจยิ่งนัก ผู้ถือธูปกำลังยืนประนมมือนมัสการพระธุดงคกรรมฐาน ผู้มีความเพียรอยู่ อย่างนอบน้อมเป็นยิ่งนัก

... บรรดาลูกศิษย์ ได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า
"เขามายืนประนมมืออยู่อย่างนั้น เพื่อจุดประสงค์อันใด" หลวงปู่ ตอบว่า "เขามารอคอย อนุโมทนาส่วนบุญกับเรา ในบางแห่งนั้น เมื่อเรานอนมากๆ เขาก็จะมาเรียกให้ลุกขึ้นนั่งสมาธิ หรือ บางรายร้ายกว่านั้น เขาจะมาจับขาพระที่นอนมาก ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม แล้วเขาก็รอคอยอนุโมทนาสาธุการ ในส่วนบุญส่วนกุศล
นั้น"

... สำหรับอานิสงส์ ของการภาวนาเดินจงกรมนี้ ได้แก่ ช่วยการเดินทางไกล ไฟธาตุย่อย
อาหารดี มีพลานามัย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิถอนได้ยาก เทวดาฟ้าดิน
ทั้งหลาย อนุโมทนาสาธุการ ได้อย่างทั่วถึง

... เพราะฉะนั้น หลวงปู่ จึงชอบการเดินจงกรม
มาก แม้ท่านจะถึงช่วงวัยชรา เดินจงกรมที่พื้นดินข้างล่างไม่ได้ ก็จะเดินจับราวกุฏิด้านบน เดินอยู่มิได้ขาด จนกระทั่งชรามาก จนถึงขนาดจับราวกุฏิเดินไม่ได้ ก็ยังให้พระภิกษุสามเณร ช่วยพยุงให้ท่านเดินมิได้ขาดเลย จนถึงวันท่านมรณภาพ ..."

#จากหนังสือหลวงปู่ขาว_อนาลโย
[ วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ]







วันนี้ วันพระ 6 กรกฎาคม 2565
ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล

"ร่างกายเขาให้โอกาสเราแล้ว แขนขายังดี จะรออะไรอีกล่ะ รอให้มันใช้ไม่ได้ก่อนเหรอถึงจะคิดทำ เอาให้มันเต็มที่ เดินจงกรมนั่งภาวนาให้มันเต็มที่ อย่างอื่นไม่เป็นสาระแก่นสารอะไรกับชีวิต ตายแล้วทิ้งคืนเขาหมด จะงมงายอะไรกับมันนักหนา ไปบำเพ็ญภาวนา มันจะได้สมบัติติดตัวเราไปด้วย เป็นสมบัติของเรา จะไปรอแก่ รอเจ็บ แค่แบกร่างกายแต่ละวันยังยาก จะให้มาเดินจงกรมภาวนา อย่าไปคิดเลยโยม เอามันตอนนี้เดี๋ยวนี้นี่ล่ะ"

#พระเทพวัชรญาณเวที วิ.
หลวงพ่อสมบูรณ์ กนฺตสีโล
#ธรรมะดีดี ก้นย่าม หลวงพ่อสมบูรณ์ วัดป่าสมบูรณ์ธรรม








"... ทุกข์จงกำหนดรู้​ อย่าเห็นทุกข์
เป็นเรา
และ​อย่าเห็นเราเป็นทุกข์​ ทุกข์เป็น
ของ
เกิดขึ้นดับไป​ จิตไม่ได้ดับไปด้วย​ ..."

#หลวงตาพระมหาบัว_ญาณส้มปันโน
วัดป่าบ้านตาด_จังหวัดอุดรธานี






"พูดพอประมาณ ไม่เสียงาน ไม่เสียเพื่อน"

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป





“ความอันตรธาน ความวิบัติ
ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน
สิ่งเหล่านี้ มันมีประจำโลกอยู่แล้ว

ทีนี้ ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ
เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว
จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์
อย่างนี้ต่างหาก

ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย
ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล







"เกิดแล้วต้องตาย
ไม่ตายวันนี้ วันหน้าก็ตาย
ไม่ตายเดือนนี้ เดือนหน้าก็ตาย
ไม่ตายปีนี้ ปีต่อไปก็ตายได้

ให้รู้ไว้ ให้เข้าใจไว้
แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมาหลงใหล
ไปกับกิเลสกาม วัตถุกาม
มาหลงร้องไห้หัวเราะอยู่นี้ ไม่มีที่สิ้นสุด
ก้อนทุกข์กองทุกข์เต็มตัวทุกคน

จงภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญา
ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ ปฏิบัติให้ ไม่มี
ตัวเองนั่นแหละ ปฏิบัติตัวเอง"

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร






“การกระทำผิดของผู้อื่นเป็นครูของเรา
เมื่อเห็นคนนั้นทำไม่ดี ก็สอนตนเองว่า
เราจะไม่ทำอย่างนั้น หรือเห็นคนนี้พูดไม่ดี
เราก็จะไม่พูดอย่างนี้ เหล่านี้ก็คือ การสอนใจตนเอง”

หลวงปู่ชา สุภัทโท






เราจะพิจารณาเรื่องกองทุกข์เราก็ไม่ต้องเอื้อมไปดูที่ไหน เราจะเห็นอยู่ได้ภายในตัวของเราว่าเป็นก้อนทุกข์ทั้งนั้นทีเดียว เราจะต้องบำบัดรักษาอยู่เสมอ พิจารณาไปสภาพใด อาการใด จะเป็นอาการของทุกข์ทั้งนั้น พิจารณาส่วนใดเป็นต้นว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง เราก็จะเห็นชัดว่า มันเป็นไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้ที่สุดอาการของใจที่ปรุงอยู่ แต่งอยู่คิดอยู่ก็ตาม เป็นสภาพที่ไม่แน่นอนทั้งนั้น ปรุงเท่าไรก็ดับไปเท่าๆ กับความปรุง คือความเกิดมีมากน้อยเท่าใด ความดับก็มีมากน้อยเท่ากันเช่นนั้น นี่เรียกว่า ปัญญาของเราเริ่มไหวตัว

ถ้าจะพูดถึงเรื่องอนัตตา เราพิจารณาดูว่า สภาพเหล่านี้ในเมื่อได้จากอัตภาพนี้ไปแล้วเขาเรียกว่าคนตาย สภาพไหนบ้างที่มีอยู่ในร่างกายของเรานี้ที่จะติดตัวของเราไป แม้แต่ผมเส้นเดียวก็ไม่ติดตัวไป ทิ้งเกลื่อนอยู่ในโลกธาตุอันนี้ ส่วนดิน เมื่อร่างกายของเราได้แตกลงไป ก็กลายเป็นดินไปตามเดิม เป็นลม เป็นไฟ เป็นน้ำ ไปตามสภาพของเขา ปฏิเสธในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นหญิงเป็นชายทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาเห็นชัดด้วยปัญญาเช่นนี้ ภายนอกเราก็เห็นเช่นเดียวกับภายใน ภายในก็เห็นเช่นเดียวกันกับภายนอก เราพิจารณาภายนอกก็ส่อถึงการพิจารณาภายใน คือ สภาพทั้งภายนอกภายในนั้น มีความเป็นเช่นเดียวกัน คือ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เช่นเดียวกัน นี้เรียกว่า เราพิจารณาด้วยปัญญาของเรา

เมื่อปัญญาของเรามีความสามารถได้ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ เรื่องของสมาธิ คือ ความแน่นหนามั่นคง ความสงบของใจก็ยิ่งมีกำลังมาก เรายิ่งมีความสุข และยิ่งมีความเห็นภัย แม้ที่สุดในสภาพที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วสกลกายนี้ เราจะเห็นว่าเป็นกองทุกข์ หรือกองเพลิงอันหนึ่ง ที่ได้รับการเยียวยารักษา หรือก่อความกังวลให้กับเราอยู่ตลอดเวลา เราจะได้เห็นโทษในส่วนนี้ สภาพทั้งหลายที่อยู่รอบด้านของเรานี้เล่า เราก็จะได้เห็นตามเป็นจริง ตามสภาพของเขาเช่นนั้น เบื้องต้นก็ต้องมีการตำหนิติชม โดยมากก็ต้องมีความรักเป็นธรรมดา เมื่อเราพิจารณาเห็นสภาพเหล่านั้นชัดเจนด้วยปัญญาของเราแล้ว ความยึดมั่นถือมั่น ก็ย่อมปล่อยวางมาจากความเห็นชอบ เห็นแจ้งเห็นชัดเจนนั่นเอง เมื่อยังไม่เห็นชัดก็ย่อมสำคัญมั่นหมาย หรือย่อมมีความสงสัยเป็นธรรมดาและถือมั่นเอาไว้ ต่อเมื่อปัญญาได้คลี่คลายดูสภาพทั้งหลาย เห็นแจ้งเห็นชัดเจนตามความเป็นจริงแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็ค่อยหดตัว หรือปล่อยวางเข้าสู่ความสงบ

นี้เรียกว่าปัญญาเริ่มไหวตัวก้าวขึ้นสู่ความชำนาญ เมื่อเราได้พิจารณาอยู่เช่นนี้แล้ว ใจของเราจะมีอะไรมาทำให้เศร้าหมองได้เล่า ย่อมมีความขะมักเขม้น และมีความระมัดระวังรักษาตัวอยู่อย่างเข้มแข็ง สติก็กล้า ปัญญาก็รอบตัว ความเพียรก็มีอยู่ตลอดเวลา เห็นภัยในโลกก็เห็นมาก เห็นคุณที่จะข้ามพ้นไปจากความทุกข์ความทรมานทั้งหลายก็เห็นมาก ที่กล่าวนี้ทั้งหมด กล่าวถึงสภาพทั้งหลาย อันเป็นไปในทางด้านวัตถุ ซึ่งเคยสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับจิตมาเป็นเวลานาน จนไม่สามารถจะกำหนดรู้ได้ว่า ส่วนไหนเป็นภัยแก่จิต เพราะความกลมกลืนกันโดยสามัญสำนึก ทีนี้ส่วนธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อาการทั้ง ๔ นี้ ท่านก็เรียกว่า ขันธ์แต่ละอย่างๆ เหมือนกัน องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้ว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข

หลวงตามหาบัว






การทำจิตให้มีความผ่องใสจนถึงขั้นบริสุทธิ์นี้เป็นสิ่งทำได้ยาก แต่อยู่ในความสามารถของมนุษย์เราที่จะทำได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ลำบาก พระสาวกทั้งหลายท่านก็ลำบาก บรรดาท่านผู้ถึงความบริสุทธิ์ต้องลำบากด้วยกันทั้งนั้น ลำบากเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่ลำบากเพื่อความล่มจม จึงเป็นสิ่งที่น่าทำ

จิตเวลามีสิ่งสกปรกโสมมครอบงำอยู่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคุณค่าอะไร แม้ตัวเองก็ตำหนิติเตียนตัวได้ บางทีอยู่ก็ไม่อยากอยู่ อยากจะตายเสียดีกว่าอย่างนี้ เพราะความอิดหนาระอาใจความเป็นอยู่ของตน ไม่อยากอยู่ในโลกให้โลกเขาเห็นหน้า ทั้งนี้เพราะจิตมันอับเฉา จิตมันขุ่นมัวมากจนกลายเป็นไฟทั้งกอง ไม่น่าอยู่ เวลามันอับเฉาขนาดนั้น เพราะสิ่งที่อับเฉา สิ่งไม่มีคุณค่าครอบจิต จนมองหาสาระสำคัญของจิตไม่มีเลย จนคิดอยากจะตายไปเสียได้แหละดี แม้ตายไปแล้วจะไปเอาดีมาจากไหน? ปัจจุบันมันก็ยังไม่มีอยู่แล้ว ถ้าดีด้วยความตาย โลกนี้ก็มีคนตายกันมานาน ทำไมไม่เห็นดี มันไม่ดีนั่นเองจึงไม่อยากตาย ถ้ามันดีอยู่แล้วตายหรือไม่ตายก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะดีอยู่แล้ว ขณะที่มีสิ่งไม่มีคุณค่าอะไรมาครอบงำจิตนั้น ทำไมจิตไร้สาระไปหมด ?

เมื่อชำระสะสางออกได้โดยลำดับๆ ก็ค่อยส่องแสงสว่างออกมาให้เห็นประจักษ์ภายในใจ คือความสงบเย็นใจ ทั้งจิตใจก็ผ่องใส สบาย ยิ้มแย้มแจ่มใส นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ หรือทำหน้าที่การงานอะไรอยู่ ก็มีความรื่นเริงบันเทิงด้วยความสุขที่ปรากฏอยู่กับใจ

คนเราเมื่อจิตใจมีความสงบเย็นแล้ว อยู่ที่ไหนก็พออยู่ทั้งนั้นแหละ มันสำคัญอยู่ที่ใจ ถ้าใจไม่ดี อยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ที่นี่ว่าจะดี ที่นั่นว่าจะดี หลอกเจ้าของไปเรื่อย ๆ ที่โน่นละจะดี ชาตินี้ไม่ดี ชาติหน้าจะดี เป็นอยู่ไม่ดี ตายแล้วจะดี นั่นมันหลอกไปเรื่อย ๆ ผู้ที่ร้อน ร้อนอยู่ที่นี่แหละ มันหลอก ผู้ที่ถูกกลุ้มรุมอยู่ด้วยความรุ่มร้อนทั้งหลายน่ะมันหลอกเรา อันนั้นจะดี อันนี้จะดี แต่มันไม่ได้ดี ไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็เท่าเดิมนี่แหละ เพราะตัวนี้ไม่ดี ต้องแก้เพื่อให้ดี แก้ด้วยความเพียร

จงพยายามพิจารณากำจัดมันด้วยความเพียร ทำสมาธิก็ให้มีความสงบได้ บังคับบัญชาจิตใจขณะนั้น ขณะที่ทำสมาธิภาวนา ขณะที่บังคับจิตฝึกทรมานจิต ด้วยการภาวนานั้น ไม่ใช่เป็นขณะที่จะปล่อยไปตามอำเภอใจ เรียกว่า “ความเพียร” เพียรเพื่อแก้ เพื่อถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจ จนใจได้รับความสงบขึ้นมา ใจได้รับความสงบนั้นเพราะ “ความเพียรบังคับใจ” ต่างหาก ไม่ใช่เพราะความปล่อยตามใจ เราคงจะเห็นผลหรือคุณค่าของความเพียรนี้บ้างแล้ว เพราะเรามีความสงบใจลงได้ด้วยความเพียร และสงบไปได้เรื่อย ๆ เพราะความเพียรเป็นลำดับ ๆ คุณค่าของความเพียรก็จะเด่นขึ้น ๆ ตามคุณค่าของจิตที่เป็นผลมาจากความเพียร

เอ้า ! เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญา ก็กำหนดพิจารณาให้เห็นชัดเจน ไตร่ตรองสิ่งทั้งหลายให้เห็นตามความสัตย์ความจริงของมันที่มีอยู่ในโลกทั้งหลายนี้ โลกนี้กว้างแสนกว้าง แต่สิ่งที่คับแคบที่สุดก็คือจิตใจที่ถูกปิดบังด้วยกิเลส มันแคบที่นี่ นั่งอยู่นอนอยู่ก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย เพราะมันคับแคบใจ มันทับตัวเอง แก้ตรงที่มันแคบ ๆ นี้ออกให้ใจได้รับความกว้างขวางเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้นมา จิตใจก็โล่ง เย็นสบาย

เอ้า ! ทีนี้จะพิจารณาเรื่องทุกข์ มันก็มีกำลังที่จะพิจารณา พอใจที่จะพิจารณา เพราะทุกข์เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้าขึ้นเป็นลำดับได้ ฟาดฟันกิเลสอาสวะออกด้วยสมาธิปัญญา การถอดถอนกิเลสต้องถอดถอนด้วยปัญญา จับกิเลสมามัดได้ด้วยสมาธิ คือจิตสงบลง สมาธิก็รวมตัวเข้ามาในจิตดวงเดียว ไม่ซ่านออกไปในที่ต่าง ๆ จนจับตัวไม่ได้ ปัญญาคลี่คลายออกให้เห็นชัดเจนว่า จิตนี้มีความติดข้องอยู่กับสิ่งใด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส หรือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกแยะดูให้เห็นละเอียดถี่ถ้วนตามหลักความจริงของมันที่มีอยู่

ใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญเล่า พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า เป็นจุดที่ท่องเที่ยวของปัญญา เป็นหินลับปัญญา พิจารณาเท่าใดก็ยิ่งแตกฉานออกไปโดยลำดับ เข้าใจไปตามเป็นจริงแล้วปล่อยวางไปเรื่อย ๆ การปล่อยวางลงก็คือปล่อยวางภาระ ซึ่งกดถ่วงอยู่ภายในใจเราด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนั้นแล

จิตคิดเรื่องอะไรบ้าง เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร คิดขึ้นในขณะก็ดับไปในขณะ คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ คิดอะไรขึ้นมาก็ดับทั้งนั้น ท่านเรียกว่า “สังขาร ความปรุง” ความปรุงขึ้น ความเกิดขึ้น ความปรุงกับความดับไปนั้นเป็นของคู่กัน เกิดดับพร้อมอยู่ในเวลานั้น แล้วเราจะถือเอามาเป็นตัวเป็นตนอย่างไรได้กับความเกิด ๆ ดับ ๆ อย่างนั้น

จงพิจารณา ทุกขเวทนา อันเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่แล้ว ใคร ๆ ก็กลัวคำว่า “ทุกข์” เราจะมาถือว่าเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร ทุกข์ทั้งกองยังจะถือว่าเป็นเราอยู่อีกหรือ? ถือเป็นเราก็ถือเอาไฟมาเผาใจเรานั่นแล ทุกข์ให้ทราบว่าเป็น “ทุกข์” ผู้ที่ทราบว่าเป็นทุกข์ไม่ใช่ทุกข์นั้นคือใจ ใจเป็นผู้รู้เรื่องทุกข์ทั้งหลาย ทุกข์เกิดขึ้นใจก็รู้ ทุกข์ตั้งอยู่ใจก็รู้ ทุกข์ดับไปใจก็รู้ รู้ด้วยปัญญา

ปัญญาเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วว่า ทุกข์เป็นทุกข์ เราเป็นเรา ผู้รู้เป็นผู้รู้ นี้ประการหนึ่ง สัญญา จำได้เท่าไรมันก็ลืมไปหมด ถ้าต้องการจะจำก็มาตั้งใจจำกันใหม่ จำไปพร้อมดับลงไปพร้อม ๆ ขณะเดียวเช่นกัน เหล่านี้หรือเป็นตน ? ความจำได้หมายรู้แล้วดับไป ๆ เกิดดับ ๆ เช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ นั้นน่ะหรือเป็นเราเป็นของเรา ? ถ้าว่านั้นเป็นเราเป็นของเรา เราก็ดิ้นอยู่ตลอดเวลาซิ เพราะทุกข์ เพราะสัญญาจำได้แล้วดับไป ความทุกข์เกิด ๆ ดับ ๆ ให้ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้เห็นสภาพที่เกิดที่ดับ มีอยู่รอบใจเรา อยู่รอบตัวคือขันธ์ วิญญาณ เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เมื่อไร เห็นมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่เกิดนี่ แล้วเราได้สาระอะไรจากมัน พอรับทราบ พับในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันก็ดับไปพร้อม ๆ แน่ะ เอาอะไรมาเป็นสาระ ? ไม่เห็นมีอะไรเป็นสาระเลย

รูปนั้นหรือเป็นตน เสียงนั้นหรือเป็นตน กลิ่น รส เครื่องสัมผัสนั้นหรือเป็นตน วิญญาณ ความรับทราบสิ่งที่มาสัมผัสหรือเป็นตน มันรับทราบพับ ๆ แล้วดับไปพร้อม ๆ อันนั้นหรือเป็นตน เป็นตนเมื่อไร ความเกิดความดับพร้อมมาถือว่าเป็นตนได้หรือ เราจะนอนใจกับมันได้อย่างไร มันเกิดแล้วมันดับ ๆ เรายังจะถือความเกิดความดับนั้นว่าเป็นตน เราก็ยุ่งไปวันยังค่ำซิ เพราะสิ่งทั้งหลายมันมีเกิดมีดับตลอดเวลา ไม่ว่ารูป เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ไม่ว่าสัญญา สังขาร วิญญาณ มันมีเกิดมีดับของมันเป็นประจำอยู่ทุกอย่างทุกอาการ แล้วเราจะไปคว้าเอาว่านั่นเป็นเรานี่เป็นของเราได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มันเกิดดับก็ทราบอย่างประจักษ์ จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ตามความจริงของมัน

ผู้รู้ไม่ดับ ใจแท้ ๆ คือผู้รู้ ผู้นี้ไม่ดับ อะไรเกิดก็รู้อะไรดับก็รู้ ผู้ที่รู้นี้ไม่ดับ ดับแต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นดับไปตามเรื่องของเขา เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นสภาวธรรม ท่านว่า “เป็นไตรลักษณ์”

ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะมาถือเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร ถ้าพิจารณาให้ถึงเหตุถึงผลด้วยสติปัญญาแล้วก็ไม่อาจไปยึดถือได้ เวลากิเลสหนา ๆ ใจไม่ได้พิจารณา ทั้งไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรจึงหลงยึดถือ เมื่อพิจารณาเห็นตามเป็นจริงแล้วมันปล่อยวางของมันเอง

พอออกแนวรบ ถึงเวลาจะเป็นจะตาย ให้เอาอันนี้แหละเป็นสนามรบ เฉพาะอย่างยิ่ง “ทุกขเวทนา” นั่นแลจะออกหน้าออกตาที่สุดในขณะจะแตกดับ เอาทุกขเวทนากับจิตนี้แลเป็นสนามรบ พิจารณากันให้เห็นตามความจริงของมัน จะทุกข์มากมายขนาดไหนมันไม่เลยตาย ทุกข์นี้ถึงแค่ตาย ธาตุขันธ์นี้ถึงแค่ตาย ใจไม่ถึงแค่ตาย แต่เลยความตาย เพราะจิตไม่เคยตาย มันเหนือสิ่งเหล่านี้ ความทุกข์ก็ทุกข์ถึงแค่ตายเท่านั้น ไม่เลยจากนั่นไป เวทนาพวกไหนจะปรากฏขึ้นมาก็ถึงแค่ดับของมันเท่านั้น จะทุกข์มากทุกข์น้อยจิตรับทราบ รับทราบอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมีสติแล้วจะรับทราบทุกระยะของทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ผู้รู้ไม่ได้ดับ เราจะไปวิตกวิจารณ์อะไรกับเวทนาซึ่งไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเป็นสภาพที่เกิดขึ้น อาศัยจิตเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่จิต อาศัยธาตุเกิดขึ้น อาศัยกายนี้เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่กาย มันเป็นเวทนาของมัน เช่นทุกขเวทนา เป็นต้น มันเป็นคนละชิ้นละอันคนละอย่าง ความจริงล้วน ๆ เป็นอย่างนี้ !

ถ้าเราไม่ปีนเกลียวกับความจริง ใจเราก็สงบเพราะการพิจารณาทุกขเวทนาทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งในวาระสุดท้ายจะแตกดับ เอาให้เต็มเหนี่ยวทีเดียว อะไรจะดับก่อนดับหลังให้มันรู้ เพราะผู้รู้นี้จะรู้ตลอด จนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างดับไปหมด ผู้นี้ก็ยังไม่ดับ

นี่แหละการพิจารณา ถ้าได้เห็นเหตุเห็นผลกันเสียครั้งหนึ่งเท่านั้น ความอาจหาญในเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นทันที ถึงคราวจำเป็นขึ้นมามันจะเตรียมท่าสู้กันเลย เตรียมท่าเป็นนักรบเข้าสู่สงครามระหว่างขันธ์กับจิต พิจารณาด้วยปัญญา เอาสติปัญญาเป็นเครื่องมือฟาดฟันหั่นแหลกลงให้ถึงความจริง เมื่อแหลกลงไปแล้วไปถึงไหน ? ก็ไปถึงความจริงนั้นแล

จงใช้สติปัญญาฟาดฟันลงไปให้ถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อถึงความจริงแล้วราบไปหมด สงบไปหมด ไม่มีอะไรอันใดที่จะมาก่อกวนจิตใจ อันใดที่ยังก่อกวนจิตใจได้อยู่ อันนั้นเรียกว่า “จิตยังพิจารณาไม่ถึงความจริงเต็มที่” ถ้าถึงความจริงเต็มที่ทุกสัดทุกส่วนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาแหย่มายุมาแทงมากวนใจได้ เป็นสภาพที่จริงทั่วถึงกันหมด นั่นท่านเรียกว่า “ราบคาบลงแล้วด้วยความจริง” เพราะอำนาจแห่งสติปัญญาพิจารณาเห็นชัด

นี่แหละพระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลาย หรือท่านผู้สิ้นทุกข์แล้วทั้งหลาย ท่านสิ้นตรงนี้ ตรงที่ทุกข์มันอยู่ ทุกข์มันอยู่ที่ไหน ? ทุกข์มีอยู่ที่กาย ที่ขันธ์อันนี้ ที่จิตดวงนี้

การแยกแยะก็แยกกันที่นี่ รู้ก็รู้กันตรงที่เราเคยหลงนี้แหละไม่รู้ที่ไหน ผู้ที่จะทำให้รู้ก็คือปัญญาเครื่องมือบุกเบิกหาความจริง ไม่มีอะไรที่จะเทียบเท่าสติปัญญาได้ที่เป็นเครื่องมือ ที่บุกเบิกให้ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งหลาย และเป็นเครื่องสำรอกปอกกิเลสออกจากจิตใจได้โดยสิ้นเชิง ก็ไม่มีอะไรเสมอเหมือนปัญญา จึงเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยในการแก้กิเลสอาสวะทั้งมวล

เราจงนำเอาสติปัญญานี้ไปใช้ในเวลาจำเป็น เฉพาะอย่างยิ่งเวลาจวนตัวเข้าแล้วไม่มีใครจะช่วยเราได้ ญาติมิตรสายโลหิตใกล้ไกล พ่อแม่ พี่น้อง สามีภริยา ลูกเล็กเด็กแดง แม้มีห้อมล้อมเต็มไปหมดก็ไม่สามารถช่วยเราได้ทั้งนั้น เป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะ ท่านเรียกว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” เอาให้เต็มภูมิ! ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งของตน เราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นที่พึ่งของเราได้ และจะไม่กลายเป็นข้าศึกต่อเราเอง ถ้าเป็นเรื่องความลุ่มหลง ความอ่อนแอ ความขาดสติปัญญาที่จะนำมาใช้ ก็เป็นข้าศึกต่อตนเอง ถ้ามีสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร มีความแกล้วกล้าสามารถตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ พิจารณาลงไปให้ถึงเหตุถึงผล ถึงความสัตย์ความจริงแห่งสภาวธรรมทั้งหลายแล้ว นั้นแลถือว่าตนเป็นที่พึ่งของตนได้โดยแท้

เอาให้ได้ที่พึ่ง มีอยู่ที่ไหนล่ะ ? “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ” กระเทือนอยู่ภายในจิตใจไม่มีที่ไหน “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” กระเทือนอยู่ที่จิตใจ “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ก็กระเทือนอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้นเป็นภาชนะ ทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมอยู่ที่จิตดวงเดียวนี้ เพราะจิตเป็นภาชนะที่เหมาะสมกับธรรมทั้งหลาย เอาให้เห็น เฉพาะอย่างยิ่ง “จิตทั้งดวงนี้แลคือธรรมทั้งดวง”

ขอให้ชำระจิตนี้ ยิ่งให้หลุดพ้นในขณะนี้ด้วยแล้วยิ่งดี “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ไม่ทราบจะไปถามท่านที่ไหน ไม่ถามเพราะไม่สงสัย มองดูความรู้ของตัวที่แสดงความสมบูรณ์อยู่เต็มที่แล้วฉันใดก็ฉันนั้น

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็น “เอกธรรม” ธรรมอันเดียว เป็นธรรมแท่งเดียวกัน

นี่คือผลแห่งการปฏิบัติกำจัดกิเลสอาสวะของตัว ตั้งแต่เริ่มแรกที่ไม่มีคุณค่าราคา มีแต่ “ขี้” เต็มหัวใจ คือขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ชำระ “ขี้” นี้ออกโดยหลักธรรม เมื่อหมดของสกปรกนี้แล้วก็เป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมาแล้วแสนสบาย! อยู่ไหนก็สบาย “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” อะไรสูญก็รู้นี่ อะไรยังอยู่ก็รู้ ใครจะไปรู้ยิ่งกว่าผู้สิ้นกิเลสแล้วเล่า เพราะคำว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” นี้ ท่านพูดออกมาจากความที่สิ้นกิเลสแล้ว

ผู้เห็นนิพพานแล้วพูดออกมา คือพระพุทธเจ้า พวกเราไม่เห็น ว่าเท่าไรมันก็ยังอยู่อย่างนั้น จงพิจารณาให้เห็นจริงกับสิ่งเหล่านี้ คำว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” จะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะประจักษ์กับใจแล้วอันใดสูญอันใดยัง!

“นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” ฟังซิ คำว่า “ปรมํ สุขํ” อันเป็นความสุขอย่างยิ่งนั้น ไม่ใช่“สุขเวทนา” เป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ของใจล้วน ๆ โดยไม่มีคำว่า “ เกิด ดับ” เหมือนเวทนาของพวกเรา มีทุกขเวทนา เป็นต้น อันนี้ไม่ใช่ไตรลักษณ์ “ปรมํ สุขํ” ที่มีประจำจิตที่บริสุทธิ์นี้ไม่ใช่ไตรลักษณ์ ไม่ใช่สิ่งที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จึงไม่มีความแปรสภาพ คงเส้นคงวา ท่านว่า “นิพพานเที่ยง” อะไรเที่ยง? จิตที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้น “เที่ยง” จงเอาให้เห็น เอาให้รู้!
การแสดงธรรม ก็ขอยุติ

หลวงตามหาบัว







การที่จะสร้างคุณงามความดีนั้น มิใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ถ้าหากไม่ตั้งใจ

ถ้าหากตั้งใจแล้วจริงจังแล้ว จริงใจมีสัจจะแล้ว อันไหนขวางไม่ได้ทั้งนั้น เอาชนะได้ทั้งหมดกิเลสภายในใจของเรา

ถ้าหากเราไม่มีสัจจะคือความจริงจังและจริงใจ เราจะล้มเหลวตลอดไป

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 39 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร