วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 06:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2008, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 18:57
โพสต์: 41


 ข้อมูลส่วนตัว


บทความนี้ นำมาจากหนังสือพิมพ์ชาวไทยที่พิมพ์จำหน่ายในประเทศเยอรมนี
เรื่อง ของฝากจากเมืองไทย ผู้เขียน แก้ว พิกุล :b1:

หนังสือธรรมะแบบฉีกแนว

ฉบับนี้ขอแนะนำหนังสือธรรมะ ที่อ่านแล้ว รู้สึกว่าใช่เลย...ไม่เคยเจอคนเขียนหนังสือธรรมะแบบนี้มาก่อน...ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งทึ่งในตัวคนเขียน ไม่ใช่ว่าเขาเขียนด้วยสำนวนหยดย้อยอะไรมากมาย แต่ที่ทึ่งเพราะเป็นวิธีการเขียนที่ชัดเจน ตรงไปตรงมามาก เป็นการเขียนด้วยความจริงใจต่อผู้อ่าน นั่นคือเขียนจากประสบการณ์ทางธรรมที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเอง จึงสามารถนำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตาม และทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกอยากปฏิบัติตามแนวทางที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งผู้เขียนก็เป็นหญิงแม่บ้านธรรมดาสามัญ มีสามีเป็นชาวอังกฤษ และมีลูกชายสามคน ทำให้ผู้อ่านเกิดกำลังใจว่า การไปนิพพานไม่ใช่เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ผู้เขียนเปรียบนิพพานว่า คือ สภาวะหายกลุ้มใจ ฉะนั้น ถ้าใครยังกลุ้มใจอยู่ไม่ว่าด้วยปัญหาอะไร และอยากหายกลุ้มใจแบบถาวรเลยละก็ ย่อมหมายความว่า เราต้องการไปนิพพานแล้ว ฉะนั้น นิพพานจึงเป็นเรื่องที่คนธรรมดาสามัญอย่างฉันและเธอล้วนไปถึงได้ทั้งนั้น หากไม่ละความเพียร หลับหูหลับตาเดินไป สักวันหนึ่งย่อมถึงจุดหมายปลายทาง ย่อมถึงนิพพานพร้อมกับหายกลุ้มใจในปัญหาทุกอย่างของชีวิต

หนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า ใบไม้กำมือเดียว ผู้เขียนคือ อาจารย์ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน เป็นอาจารย์สอนการออกกำลังกายไท้เก็กชี่กง อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ เพราะเธอสนใจพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาอยู่ธรรมศาสตร์สมัย ๑๔ ตุลา ๑๖ เมื่อมาสอนไท้เก็กให้นักศึกษาชาวตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาโทและเอก ที่มาเรียนเพื่อคลายเครียด เธอจึงนำเรื่องสติปัฏฐานสี่มาปรับให้เข้ากับบรรยากาศของการสอนไท้เก็ก ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน โดยสอนให้นักศึกษารู้สึกตัวในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ กับท่ารำไท้เก็ก เพื่อเปิดโอกาสให้ปัญญาชนชาวตะวันตกมีโอกาสได้รู้จักเพชรงามเม็ดหนึ่งของพระพุทธศาสนา แต่เธอไม่ได้บอกนักศึกษาไท้เก็กว่า เขากำลังฝึกฝนเรื่องสติปัฏฐานหรือวิปัสสนากันอยู่

เพื่อให้นักศึกษาในชั้นไท้เก็กของเธอได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด อาจารย์ศุภวรรณจึงเขียนหนังสือเรื่อง A Handful of Leaves หรือ ใบไม้กำมือเดียว เป็นภาษาอังกฤษก่อน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พูดเรื่องเป้าหมายของชีวิตในเรื่องการไปนิพพาน โดยผู้เขียนโยงสภาวะนิพพานให้เชื่อมโยงกับสภาวะของการเข้าถึงพระเจ้า ซึ่งอาจารย์ศุภวรรณบอกว่า คำที่ฟังยิ่งใหญ่เหล่านี้ก็คือ สภาวะเดียวกับการหายกลุ้มใจ หรือ หายเครียดต่อปัญหาทุกอย่าง และสรุปอย่างง่าย ๆ ให้ชาวตะวันตกฟังว่า ใครที่อยากหายเครียด หายกลุ้มใจ (เข้าถึงสภาวะพระเจ้าหรือพระนิพพาน) ก็ต้องมาฝึกไท้เก็กตามวิธีการของเธอ คือ รำไท้เก็กแบบมีสติอยู่กับฐานทั้ง ๔ ซึ่งเธอใช้วลีง่าย ๆ ว่า “พาตัวใจกลับบ้าน” ต่อมาเธอจึงเขียนฉบับภาษาไทยซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ถึงกับพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่หก (ในเวลาประมาณสองปี)

ในหนังสือเรื่อง คู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นผลงานเขียนต่อจากเรื่องใบไม้กำมือเดียวนั้น อาจารย์ศุภวรรณได้เปรียบเทียบให้ สภาวะนิพพาน เป็นภูกระดึงทางธรรม และสติปัฏฐาน ๔ คือ แผนที่ชีวิตที่พระพุทธเจ้าได้เขียนมอบให้ชาวโลกไว้เพื่อสาวกรุ่นหลังจะได้รู้จักทางเดินไปภูกระดึง หรือ ไปนิพพาน ผู้เขียนบอกว่ามีคน ๒ ประเภทที่สามารถทำหน้าที่เป็นไกด์พาลูกทัวร์ไปภูกระดึง

ไกด์ประเภทแรกคือ ไกด์ที่มีแผนที่อยู่ในมือ แต่ตัวเองยังไม่เคยไปถึงภูกระดึงเองสักที แต่พาคนไปได้ เพราะอาศัยแผนที่บอกทางของพระพุทธเจ้า

ไกด์ประเภทที่สอง คือ คนท้องถิ่นของภูกระดึงที่ออกมาบอกทางให้กับลูกทัวร์ที่อยากไปภูกระดึง

ปัจจุบันนี้มีครูบาอาจารย์ทางพุทธศาสนาหลายท่าน หลายสำนัก ซึ่งเปรียบเหมือนไกด์ที่มีแผนที่บอกทางไปภูกระดึงของพระพุทธเจ้าอยู่ในมือ แต่ไม่ใช่อาจารย์ทุกท่านที่กำลังสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนาได้เคยไปภูกระดึงมาก่อน ซึ่งไกด์ที่ยังไปไม่ถึงภูกระดึง แต่สอนตามแผนที่ ก็อาจจะพาคนหลงทางได้ ฉะนั้น ลูกทัวร์ที่อยากแน่ใจว่าตนเองจะไปถึงภูกระดึงได้โดยไม่หลงทางนั้น ควรหาไกด์ประเภทที่เป็นคนท้องถิ่นของภูกระดึง จึงจะรับประกันว่าไม่หลงทาง และยังบอกทางลัดไปภูกระดึง (นิพพาน) ให้ได้อีกต่างหาก

ตรงนี้เอง ที่ผู้เขียน จำเป็นต้องบอกผู้อ่านว่าตนเองเป็นคนท้องถิ่นของภูกระดึง ได้เคยไป รู้เห็น สำรวจตรวจสอบภูกระดึงมาแล้ว อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงออกมารับอาสาที่จะเป็นไกด์นำทางพาลูกทัวร์ที่สนใจไปภูกระดึง (เพื่อไปถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคือการสิ้นทุกข์ หรือพระนิพพานนั่นเอง) เพราะปัจจุบัน พุทธศาสนาถูกเปลือกคือประเพณี พิธีรีตองครอบคลุมไว้อย่างมิดชิด จนทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดว่าพระนิพพานเป็นเรื่องไกลสุดกู่ที่แม่บ้านธรรมดาอย่างเธอและฉันเอื้อมไม่ถึงแน่นอน คนที่อยากจะปฏิบัติเพื่อความหมดทุกข์จึงไม่รู้ว่าอะไรคือแก่น อะไรคือกระพี้ของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธปัจจุบันจึงไปติดที่กระพี้เสียเป็นส่วนมาก เช่นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ การรดน้ำมนต์ เสาะหาเครื่องรางของขลัง สวดมนต์อ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ฉะนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติเพื่อถึงนิพพาน อาจารย์ศุภวรรณจึงใช้วิธีการสอนที่ง่าย ๆ โดยบอกให้ลูกศิษย์ของเธอทำเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ พาตัวใจกลับบ้าน ซึ่งมีความหมายเดียวกับการฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ ทำวิปัสสนา โดยไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตานาน ๆ เป็นชั่วโมง แต่สามารถทำได้ในขณะที่กำลังใช้ชีวิตในประจำวันอยู่ และสามารถทำพร้อมกับการออกกำลังกายไท้เก็กชี่กงด้วย อาจารย์ศุภวรรณมักใช้ประโยคนี้กับลูกศิษย์ว่า “ขอให้หลับหูหลับตาทู่ซี้พาตัวใจกลับบ้าน จะต้องมีวันหนึ่งที่เดินถึงภูกระดึงอย่างแน่นอน”

“เมื่อมีการเดิน ย่อมมีวันที่ถึงเป้าหมาย”

อีกตอนหนึ่ง ที่ฉันอ่านแล้วประทับใจ คือ อาจารย์เปรียบเทียบชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้เหมือนการอยู่ในคุกชีวิต และการไปให้ถึงนิพพานคือ การออกจากคุกชีวิต โดยเธอยกนิทานเรื่องหนึ่งมาเล่า (จากเทปธรรมะของ อ.โกวิท เขมานันทะ) ฤษีตนหนึ่งมีฤทธิ์ ใช้ไม้เท้ากายสิทธิ์แปลงร่างชายคนหนึ่งให้เป็นเสือโคร่ง ซึ่งเหมือนการติดคุกชีวิต เมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชายคนนี้ อยู่อย่างเสือโคร่ง (ติดคุกชีวิต) ต่อไป หรือรีบหาทางแก้คำสาปของฤษีเพื่อให้ตนเองกลับมาเป็นคนเหมือนเดิมอีก (ออกจากคุกชีวิตถึงนิพพาน) โดยมีพระพุทธเจ้าที่รู้ความจริงว่า เสือโคร่งพวกนี้ ไม่ใช่เป็นเสือจริง แต่เป็นคนที่ถูกสาปให้เป็นเสือ ท่านจึงเมตตาที่จะช่วยเหลือมนุษย์เพื่อแก้คำสาปให้เสื่อโคร่งเหล่านี้กลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์อีก คือ การออกจากคุกชีวิตเพื่อถึงนิพพาน

แต่ก็มาเจอปัญหาว่า เสือโคร่งทั้งหลายไม่ยอมเชื่อว่าตนเองเป็นมนุษย์ เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่เพื่อนที่ล้วนเป็นเสือโคร่งจนคิดว่าการติดคุกชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อออกจากคุกชีวิตแล้ว จึงหลงผิด อยากคงสภาพที่เป็นเสือเช่นนั้นตลอดไป ไม่อยากแก้คำสาปและกลับคืนสู่ความเป็นคนอีก คือ กลุ่มคนที่พอใจที่จะติดคุกชีวิตต่อไป โดยไม่สนใจธรรมะของพระพุทธเจ้าในเรื่องการไปนิพพาน ซึ่งอาจารย์ศุภวรรณเน้นว่า คนประเภทนี้ย่อมเสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา

จุดเด่นอีกข้อหนึ่งในงานเขียนของอาจารย์ศุภวรรณ คือการใช้ศัพท์และภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่มีคำบาลี หรือมีก็น้อยมาก และมักอธิบายเป็นภาษาไทยกำกับไว้อย่างชัดเจนเสมอ

นอกจากหนังสือ ๓ เล่มดังกล่าวแล้ว อาจารย์ศุภวรรณยังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เช่น ใครกลัวตาย...ฟังทางนี้ พรมแดนข้ามโคตร ทำอย่างไรให้หายกลุ้มใจ ฆ่าตัวตายไปทำไม...ฆ่าความทุกข์ใจไม่ดีกว่าหรือ? เริ่มแก้ปัญหาที่ลมหายใจ และ อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน เล่มหลังสุดนี้ เป็นการอธิบายสภาวะพระนิพพานอย่างละเอียด อย่างเป็นธรรมชาติและเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย รวมทั้งได้เล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตประจำวันกับครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติ กลมกลืนกับพระนิพพานได้อย่างไร ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับการที่เธอออกมาอาสาเป็นไกด์พาคนไปพระนิพพาน ดังนั้นเธอจึงจำเป็นต้องเล่าประสบการณ์ทางธรรมอย่างละเอียดลออ ว่าได้พบเห็นอะไร อย่างไรบ้างบนภูกระดึง เพื่อให้ผู้อ่านพอมีจินตนาการอยากไปนิพพาน และยอมให้เธอพาไปนิพพานด้วย

หนังสือที่น่าสนใจมากอีกเล่มหนึ่ง คือไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ ซึ่งอาจารย์ศุภวรรณสามารถอธิบายสภาวะนิพพานอย่างเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ โดยนำมาเชื่อมโยงกับการค้นหาจุดนิ่งของจักรวาลของอัลเบิรต์ ไอน์สไตน์

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่พิมพ์แจกเป็นธรรมทานอีกหลายเล่ม ได้แก่ รู้เท่านี้...ก็พอแล้ว พาตัวใจกลับบ้านกันเถิด ดินแดนกัลปพฤกษ์

หากต้องการอ่านหนังสือทุกเล่มของอาจารย์ศุภวรรณ ก็สามารถดาวน์โลด
จากเว็บไซต์ได้ที่ http://www.supawangreen.in.th

:b41: :b42:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 95 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร