วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 07:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 07:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มีพระสูตรที่ตรัสถึง ให้สาวกเพ่งฌาน มาเสนอเพิ่มครับ


ดูกรอานนท์

กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์

นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ



จาก

อินทริยภาวนาสูตร



พระสูตรนี้ ค่อนข้างยาว และ ควรอ่านหลายๆรอบน่ะครับ

พระสูตรนี้เป็นการที่พระพุทธเจ้าตรัสหักล้างแนวคิดการเจริญอินทรีย์(หมายเอา อินทรีย์๖ คือ อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)ของปาราสิยาพราหมณ์. คือ ปาราสิยาพราหมณ์มีความเชื่อที่ว่า การเจริญอินทรีย์คือ อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียง
ด้วยโสต ฯ คือ เชื่อว่า ต้องไม่ใช้อายตนะภายในทั้ง๖ จึงจะเจริญอินทรีย์.

แต่ พระพุทธองค์ท่านแสดง การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ที่เจริญโดย อาศัย อุเบกขา(อุเบกขาจึงดำรงมั่น) กล่าวคือ เมื่อ อายตนะภายในรับทราบรูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์ จิตตั้งมั่นเป็นกลางไม่ไหลไปกับอารมณ์ คือ ไม่ไหลไปเป็นชอบใจ ไม่ไหลไปเป็นไม่ชอบใจ ไม่ไหลไปเป็นชอบใจปนไม่ชอบใจ.. จิต ตั้งมั่นเป็นกลาง ได้อย่างทันทีที่อายตนะภายในรับทราบรูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์(ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก.... เปรียบเทียบต่างๆ)

ลักษณะ ที่จิตตั้งมั่นเป็นกลาง ไม่ไหลไปกับอารมณ์ ทันทีที่มีการกระทบของอายตนะภายในกับ รูป เสียง ๆลๆ เป็นผลจากสติที่เข้มแข็ง.... และ เป็นกระบวนการทางสมถะ ที่ตรัสคำว่า"เพ่งฌาน" ซึ่งนำไปสู่เจโตวิมุติ(แต่ ยังไม่จบกระบวนการทั้งหมด เพราะเจโตวิมุติต้องกำกับด้วยปัญญาวิมุติอีกที จึงจักเป็นเจโตวิมุติที่ไม่กลับกำเริบ)


ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงคำว่า"รู้ชัด"คือ มีสติระลึกได้ เอาไว้ ดังนี้

[๘๕๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยการเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา



อ่านแล้ว นึกถึงที่ หลวงปู่ แหวน สุจิณโณ ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า

"สติรู้ทัน การคิดปรุงดับ"

และ

" มีสติแล้ว มีปัญญา….
เมื่อไม่มีสติมันก็เผลอ เผลอแล้วมันก็หลงไป.
ครั้นไม่เผลอแล้วมีสติแนบอยู่ทุกเมื่อแล้ว คิดดีก็ดับลง คิดชั่วก็ดับลง พอใจก็ดับลง ไม่พอใจก็ดับลง. เอาลงทันทีนั่นล่ะ…..มีสติแล้วก็ใช้ได้ ใจเบิกบานขึ้น ปัจจุบันมีสติพร้อมกันกับคิด…..คิดผิดก็ดี คิดถูกก็ดี รู้พร้อมกันก็ดับทันที เรียกว่า สติ ….สัมมาสติ สติสัมโพฌงค์….ๆลๆ

อุบายก็อาศัย ความเพียรความหมั่นนั่นล่ะ…..ตั้งอยู่นั้นล่ะ ตั้งดูมันอยู่นั้นล่ะ…..มันปรุงขึ้นรู้ทันที เป็นสติ….."


คือ ถ้าสติมีกำลังมาก การปรุงแต่งต่างๆ จะหยุดลงอย่างฉับพลัน จิตจะมีความเป็นกลางทันที
ซึ่ง ลักษณะนี้ คือ สมถะ เจโตวิมุติ... สามารถใช้เป็นบาทในการเจริญปัญญาก้าวต่อไปสู่ปัญญาวิมุติได้ . ด้วยว่า จิต ที่เป็นกลางในลักษณะนี้ ตั้งมั่น นุมนวล ควรแก่การงาน เพราะ สงัดจากบาป จากอกุศลกรรม ต่างๆ


ในการตรัสสรุปท้ายพระสูตร มีการกล่าวถึง การเพ่งฌาน

แต่ เป็นการเพ่งฌานแบบในลักษณะ "การยืนดู ยืนรู้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ไม่ไหลไปกับอารมณ์ นี้... ชาวพุทธในปัจจุบัน เหมือนจะลืมเลือนกันไปแล้ว.

ฌาน ในความหมายของชาวพุทธปัจจุบัน จึงเหลือเพียง การบริกรรมจนจิตนิ่งไม่สามารถรับรู้ทางอายตนะได้เลย และ ลืมกายลิมใจ ไม่สามารถเกิดปัญญาได้(เป็นมิจฉาสมาธิ) แต่ ฝ่ายเดียว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 17:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 10:41
โพสต์: 17


 ข้อมูลส่วนตัว


ที่นี่ และเดี๋ยวนี้

.....................................................
ไร้กระบี่ ไร้ใจ คือเรา เทพกระบี่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 21:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


คำว่า ฌาน ในระดับพระสูตร มีความหมายที่กว้างมาก

ครอบคลุม ตั้งแต่


1.โลกียฌานที่ทรงตรัสเตือนไม่ให้สาวก กำหนัดด้วยยินดีในองค์แห่งฌานต่างๆ....ผูกพันด้วยยินดีในองค์แห่งฌานต่างๆ....ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีในองค์แห่งฌานต่างๆ ดังปรากฏใน อุทเทสวิภังคสูตร


2.โลกียฌาน เช่น องค์แห่งฌานที่ทรงแสดงว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหาร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา ใน ฌานสูตร นว. อํ. (๒๐๔) คือ ใช้องค์แห่งฌานเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา. และ ปรากฏในพระสูตรที่แสดง การเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้น


3.โลกียฌาน เช่น ที่ทรงตรัสใน ลฑุกิโกปมสูตร ว่า ไม่ควรกลัวสุขจากฌานนั้น
"....ฌานทั้งสี่นี้เรากล่าวว่า ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม ความสุขเกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสงบ ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก
ไม่ควรกลัวแต่สุขนั้น ดังนี้..."


และ ตรัสแสดงใน สคารวสูตร ว่า
"....เราไม่กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม...."


4.ฌานที่สนับสนุนการเกิดปัญญา
คือ ใช้สภาวะจิตที่ตั้งมั่น นุ่มนวล ควรแก่การงาน มาเป็นประโยชน์ในการเจริญมรรคด้านปัญญา
ที่ทรงแสดงไว้ในหลายต่อหลายแห่ง ว่า

ฌาน ๔
[๗๕๔] ดูกรภารทวาชะ ครั้นเรากินอาหารหยาบมีกำลังดีแล้ว
จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เรามีอุมีเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข
เราบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

ญาณ ๓
[๗๕๕] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ๆลๆ



5.โลกุตรฌาน ที่กล่าวไว้ในพระสูตรที่แสดง อริยมรรคสมังคี

6.สัมมาสมาธิ ที่ ทรงแสดงด้วยองค์แห่งฌาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร
สัมมาสมาธิที่ทรงแสดงว่าเป็นเอกัคคตารมณ์ ใน มหาจัตตารีสกสูตร
สมาธินทรีย์ที่ทรงตรัสว่า เป็นเอกัคคตาจิตในสัทธาสูตร

และ ๆลๆ



ความหมายของฌาน ในสมัยพุทธกาลนั้น กว้างมาก

ฌาน ก็คือ ฌาน... ถ้า ปรากฏองค์แห่งฌานครบ ก็เรียกว่า ฌาน

ส่วนจะเป็นฌานในลักษณะใด มีเหตุปัจจัยใด และ นำไปสู่ผลเช่นใด ก็ต้องดูในรายละเอียดแต่ละพระสูตรไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 168 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร