วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 18:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2009, 11:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ม.ค. 2006, 15:45
โพสต์: 14


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนนี้กลับมาเข้าบอร์ดแล้วนะคะ หลังจากที่ห่างหายไปเป็นเวลาสามปี ^^ ตอนที่เข้าแรกๆ นั้นยังอายุ 12 ไม่ก็ 13 ปีอยู่เลยค่ะ ตอนนี้ 15 แล้วค่ะ ช่วงที่ห่างหายไปก็คงเพราะเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นใหม่ๆ ทำให้ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องเหล่านี้ การบ้านการงานก็เยอะและมีเรื่องราวมากๆให้สนุกตามประสาเด็กๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมานั้นจากเมื่อก่อนอ่านหนังสือธรรมะเกือบทุกวัน นั่งสมาธิทุกคืน กลับกลายเป็นนานๆจะนั่งที หนังสือธรรมะก็ไม่ค่อยได้อ่าน และมีผลตามมาก็คือ จากเมื่อก่อนสมองจะดีกว่านี้ จำอะไรได้ดีและเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ คุณครูที่โรงเรียนก็ชมว่าเรียนดี หลังจากไม่ได้นั่งสมาธิก็รู้สึกว่าเป็นคนขี้ลืม เราก็มาดูสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ พอมารู้ตัวอีกที เอ้อ! นี่เราห่างหายจากการนั่งสมาธิทุกคืนไปนี่เอง ตอนนี้ก็เลยอยากให้พี่ๆในบอร์ดให้คำแนะนำในการกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง อยากทราบว่าตอนกลางคืนควรจะสวดบทสวดมนต์อะไรบ้างคะ แล้วควรจะนั่งสมาธิสักเท่าไหร่ดี ช่วงไหนจึงจะเหมาะสมที่สุดคะ แล้วทำอย่างไรเราจึงจะมีสมาธิที่ดี และไม่เป็นคนขี้ลืมบ้างคะ ขอบพระคุณค่ะ :b17:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2009, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


น้องไวษรี เป็นพยานยืนยันหลักธรรมว่า การฝึกจิต หรือ จะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้แต่ ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เช่น สติปัญญาดี ความจำดี เพราะการฝึตกนั้นทำให้สัญญาหรือความจำกลับมีประสิทธิภาพเท่าที่เขามีเขาเป็นอยู่เดิม ความจริงธรรมชาติ เช่น สติ ปัญญา สัญญา สมาธิ เป็นต้น มีพลานุภาพ แต่เจ้าตัวนั่นเองหลงเพลินในอารมณ์ เช่นความชอบความชัง ที่ผ่านมาทางอายตนะ แล้วเชื่อไวรัสตัวนี้ได้ปกปิดธรรมชาติเดิมจนหมดสิ้นอับแสงไป

คำตอบตอนนี้สั้นๆ เมื่อก่อนเราทำยังไง วันนี้ต่อไปนี้ ก็ทำอย่างนั้น แล้วสภาวธรรมจะไปจุดที่เราถึงเราได้ก่อนหน้านั้น จะทำตรงไหน เมื่อไร เวลาใด ไม่มีกฏตายตัว ทำได้ทุกที่ทุกเวลาที่เรายังหายใจอยู่ครับ :b1: :b41:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2009, 18:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ม.ค. 2006, 15:45
โพสต์: 14


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณนะคะสำหรับคำแนะนำ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2009, 22:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
เมื่อก่อนสมองจะดีกว่านี้ จำอะไรได้ดีและเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ คุณครูที่โรงเรียนก็ชมว่าเรียนดี หลังจากไม่ได้นั่งสมาธิก็รู้สึกว่าเป็นคนขี้ลืม เราก็มาดูสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ พอมารู้ตัวอีกที เอ้อ! นี่เราห่างหายจากการนั่งสมาธิทุกคืนไปนี่เอง



เพื่อเน้นย้ำคำพูดน้องไวษรีให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จึงนำข้อความการสนทนากันระหว่างพราหมณ์ชื่อสังคารวะ
กับพระพุทธเจ้า ซึ่งถามตอบเหตุที่ทำให้จำเก่ง หรือสมองดี และ เหตุที่ทำให้ได้หน้าลืมหลัง
สังเกตดูว่า เกิดจากอะไร และต้องทำยังไง

สังคารวพราหมณ์ กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรหนอ
เป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาแล้วตลอดเวลา
ยาวนาน ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย และ
อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลา
ยาวนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย

พระพุทธเจ้าว่า ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใด บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งทางออก แห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ในเวลานั้น เขาย่อมไม่รู้ชัด มองไม่เห็นตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนาน ก็ย่อมไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้
สาธยาย

(บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉาก็เช่นเดียวกัน และทรงเปรียบจิตที่ถูกนิวรณ์ข้อต่างๆครอบงำดังต่อไปนี้)

๑. (จิตที่ถูกกามราคะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำซึ่งเอาสีครั่งบ้าง สีขมิ้นบ้าง สีเขียวบ้าง สีแดงอ่อน
บ้าง ผสมปนกันไว้
คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

๒. (จิตที่ ถูกพยาบาทครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่เอาไฟเผาลน เดือดพล่าน มีไอพลุ่ง
คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

๓.(จิตที่ ถูกถีนมิทธะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม
คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

๔. (จิตที่ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกลมพัด ไหว กระเพื่อมเป็นคลื่น
คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

๕.(จิตที่ ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่น มัว เป็นตม ซึ่งวางไว้ในที่มืด
คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง


ส่วนบุคคลที่ใจไม่มีนิวรณ์ ๕ ครอบงำ และรู้ทางออกของ นิวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็น
จริง ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
มนต์แม้ที่มิได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย
และมีอุปมาต่างๆ ตรงข้ามกับที่ได้กล่าวมาแล้ว- * (สํ.ม. 19/602-624/167-174 ฯลฯ)

......
* ไม่แจ่มแจ้ง หมายถึงนึกไม่ออก หรือ คิดไม่ออก
อีกแห่งหนึ่ง ตรัสถึงจิตที่ไม่ขุ่นมัว เหมือนห้วงน้ำใสมองเห็นก้อนหินก้อนกรวด หอย และปลาที่
แหวกว่ายในน้ำ
ส่วนจิต ที่ขุ่นมัวก็เหมือนห้วงน้ำขุ่นที่ตรงกันข้าม - (องฺ.เอก.20/46-47/10)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 19:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยังมีอีกลงให้ดูหลายๆมุม

“ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสแห่งทอง ๕ อย่างต่อไปนี้ ทองเปื้อนปนเข้าด้วยแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้
ไม่อ่อน ไม่ควรแก่งาน ไม่สุกปลั่ง เปราะ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ
๕ อย่างเป็นไฉน ? ได้แก่ เหล็ก โลหะอื่น ดีบุก ตะกั่ว และเงิน...
เมื่อใด ทองพ้นจากอุปกิเลส ๕ ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อน ควรแก่งาน สุกปลั่ง
ไม่เปราะ เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ได้ดี กล่าวคือ ช่างทองต้องการทำเครื่องประดับชนิดใด
จะเป็นแหวน ตุ้มหู สร้อยคอ หรือสุวรรณมาลา ก็ตาม ย่อมสำเร็จผลที่ต้องการ ฉันใด
อุปกิเลสแห่งจิต ๕ อย่างต่อไปนี้ จิตพัวพันเศร้าหมองเข้าแล้ว ย่อมไม่นุ่มนวล ไม่ควรแก่งาน ไม่ผ่องใส เปราะเสาะ และไม่ตั้งมั่นด้วยดี (ไม่เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ทั้งหลาย ฉันนั้น
๕ อย่างเป็นไฉน ? ได้แก่ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา....เมื่อใด จิตพ้นจากอุปกิเลส ๕ ประการเหล่านี้แล้ว จะเป็นสภาพอ่อนโยน ควรแก่งาน ผ่องใส ไม่เปราะเสาะ และย่อมตั้งมั่นด้วยดี (เป็นเป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
อนึ่ง เธอจะน้อมจิตไปเพื่อรู้จำเพาะประจักษ์แจ้งซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรม อย่างใดๆ ก็ย่อมถึงภาวะ
ที่สามารถเป็นพยานในธรรมนั้นๆได้ เมื่อเหตุมีอยู่...”
(องฺ.ปญฺจก.22/23/17 ฯลฯ)

....
อภิญญาสัจฉิกรณียธรรม- สิ่งที่พึงทำให้ประจักษ์แจ้งด้วยการรู้เจาะตรง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีพุทธพจน์บางแห่งตรัสว่า “ถ้าภิกษุปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และได้เริ่มทำความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติกำกับ
อยู่ไม่เลือนหลง กายผ่อนคลายสงบ ไม่เครียดกระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ว่าเธอ
จะเที่ยวไปอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนตื่นอยู่ก็ตาม ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีความเพียร
มีโอตตัปปะ ได้เริ่มระดมความเพียรอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเป็นผู้อุทิศตัวเด็ดเดี่ยวแล้ว”*
(องฺ.จตุกฺก.21/12/19 ฯลฯ )

...

* การพยายามชำระจิตไม่ให้มีนิวรณ์ เป็นความหมายอย่างหนึ่งของหลักธรรมที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค – การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ หรือการประกอบความตื่น
(ดู องฺ.ติก.20/455/143 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 19:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อ อุปมาของพระอรรถกถาจารย์เกี่ยวกับสมาธิไว้น่าฟังท่านว่า สมาธิทำให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์อย่างสม่ำ

เสมอ ทำให้องค์ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับมันผนึกประสานกันอยู่ ไม่พร่า ไม่ฟุ้งกระจาย เหมือนน้ำ

ผนึกประสานแป้งเข้าเป็นก้อนเดียว และทำให้จิตสืบต่ออย่างนิ่งแน่วมั่นคง เหมือนเปลวเทียนในที่สงัดลม

ติดไฟสงบนิ่ง ลุกไหม้ไปเรื่อยๆ ส่องแสงสว่างสม่ำเสมอเป็นอย่างดี –
(ดู สงฺคณี อ. 209 วิสุทธิ. 3/37 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 20:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



คำแปล กิเลส ๕ ตัว หรือ นิวรณ์ ๕ ตามพุทธพจน์ดังกล่าวดังนี้



1. กามฉันท์ ความอยากได้อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่า ความพอใจในกาม) หรือ อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ หมายถึง ความอยากได้กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่น
อยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดิน
เรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้

2. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูกใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย
การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึก
ขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่ เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง
ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ

3. ถีนมิทธะ (ถีน+มิทธะ) ความหดหู่และเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็น ถีนะ ความ
หดหู่ ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ
กับ มิทธะ ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึมๆ เฉาๆ
ที่เป็นไป ทางกายจิตที่ถูกอาการทางกาย และ ทางใจอย่างนี้ครอบงำ
ย่อมไม่เข็มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้

4. อุทธัจจกุกกุจจะ ( อุทธัจจะ+กุกกุจจะ) ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็น อุทธัจจะ ความที่จิต
ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่า พล่านไป
กับ กุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะ
ครอบงำ ย่อมพล่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่เป็นสมาธิ

5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ สงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม
พระสงฆ์ เกี่ยวกับสิกขา เป็นต้น
พูดสั้นๆว่า คลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ (สมาธิภาวนานี้ ดีจริงหรือ การปฏิบัติเช่น
นี้ได้ผลจริงหรอ เป็นต้น) มีคุณค่า มีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลหรือไม่ คิดแยกไปสองทาง
กำหนดไม่ลง จิตที่ถูกวิจิกิจฉาขัดไว้ให้ค้างให้พร่า ลังเลอยู่ ย่อมไม่อาจแน่วแน่
เป็นสมาธิ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 20:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


องค์ธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือเป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์


องค์ ฌาน ๕ ที่เกิดขึ้นเป็นปฏิปักษ์กันกับนิวรณ์ ๕ ที่ละได้แล้วด้วย โดยเป็นศัตรูกันเป็นคู่ ๆ คือ
วิตก เป็นปฏิปักษ์ของ ถีนมิทธะ
วิจาร เป็นปฏิปักษ์ของ วิจิกิจฉา
ปีติ เป็นปฏิปักษ์ของ พยาบาท
สุข เป็นปฏิปักษ์ของ อุทธัจจกุกกุจจะ
สมาธิ หรือ เอกัคคตา เป็นปฏิปักษ์ของ กามฉันท์


เมื่อธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก็ย่อมกำจัดนิวรณ์ให้หมดไป และเมื่อธรรมเหล่านี้อยู่นิวรณ์ก็เข้ามาไม่ได้
แต่ในทางตรงข้าม ถ้านิวรณ์ครอบงำใจอยู่ ธรรมเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ไม่ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2009, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.พ. 2009, 09:06
โพสต์: 45


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วคุณจะมีความสุข


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2009, 12:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ม.ค. 2009, 14:05
โพสต์: 21


 ข้อมูลส่วนตัว


คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนของปัญญาชน
ไม่ใช่เป็นคำสอนของบุคคลผู้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลด้วยความงมงาย
ศาสนาพุทธสอนให้คนเรียนให้รู้ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ
ถ้าใครจะถามว่าธรรมะคืออะไร ? ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติคืออะไร ? ก็คือ กายกับใจของเรา

สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน
นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ
สอนสมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆ กันนี่
อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา
รู้ว่าธรรมชาติของกายอย่างหยาบๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย

สมาธิ.....เพื่ออะไร

ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่
บางทีเราอาจจะเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง
สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้จิตสงบนิ่ง
สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ
รู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะปัจจุบัน
สมาธิบางอย่าง เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต
เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ รู้เรื่องอดีต อนาคต

รู้อดีต หมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร
รู้อนาคต หมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปเป็นอะไร
อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้อดีต เป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ดังนั้น เราสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม

ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่
นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจเราเองซิ
อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก
ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร
สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป
แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ ต้องเห็นนี่ คือเห็นกายของเราเห็นใจของเรา

หลักสากลของการปฏิบัติสมาธิ

การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา
มีหลักที่ควรยึดถือว่า
ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก
จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าใครจะทำอะไร มีสติตัวเดียว
เวลานอนลงไป จิตมันมีความคิดอย่างใด
ปล่อยให้มันคิดไปแต่ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ
อันนี้เป็นวิธีการทำสมาธิตามหลักสากล

ถ้ามีใครมาถามว่า ทำสมาธินี่คือทำอย่างไร ?
คำตอบมันก็ง่ายนิดเดียว การทำสมาธิคือ
การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก
หมายความว่า เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด
ให้มีสติสำทับไปที่ตรงนั้น เรื่องอะไรก็ได้
ถ้าเอากันเสียอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่าเราได้ทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา

สมาธิ.....ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น สมาธิ.....ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น

ถ้าหากไปถือว่าสมาธิคือการนั่งหลับตาอย่างเดียว
มันก็ถูกกับความเห็นของคนทั้งหลายที่เขาแสดงออก
แต่ถ้าเราจะคิดว่าอารมณ์ของสมาธิคือ การยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร
มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน คือเรื่องชีวิตประจำวันนี้เอง
เราจะเข้าใจหลักการทำสมาธิอย่างกว้างขวาง

และสมาธิที่เราทำอยู่นี่ จะรู้สึกว่า
นอกจากจะไปนั่งหลับตาภาวนา หรือเพ่งดวงจิตแล้ว
ออกจากที่นั่งมา เรามีสติตามรู้
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
แม้ว่าเราจะไม่นั่งสมาธิอย่างที่พระท่านสอนก็ได้
เพราะว่าเราฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เวลาเรานอนลงไป
คนมีความรู้ คนทำงาน ย่อมมีความคิด
ในช่วงที่เรานอนนั่นแหละ เราปล่อยให้จิตเราคิดไป
แต่เรามีสติตามรู้ความคิดจนกระทั่งนอนหลับ

ถ้าฝึกต่อเนื่องกันทุกวันๆ เราจะได้สมาธิอย่างประหลาด
นี่ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ สมาธิจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์โลกให้เจริญ
แต่ถ้าหากจะเอาสมาธิมุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว
มันจะเกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที
แม้การงานอะไรต่างๆ มองดูผู้คนนี่ขวางหูขวางตาไปหมด
อันนั้นคือสมาธิแบบฤาษีทั้งหลาย

ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา

ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่
สมมุติว่ามีครอบครัวจะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น
หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา
กลายเป็นความเมตตาปรานี ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ
เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่ง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง

พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ
จิตมันจะปฏิวัติตัวพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ
ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
ทีนี้บางทีพอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา
เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปั๊บ
จิตมันวูบวาบลงไปปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที
อันนี้คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน

แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน
หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว
สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อม และ
ไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย

ทุกคนเคยทำสมาธิมาแล้ว

ทุกสิ่งทุกอย่างเราสำเร็จมาเพราะพลังของสมาธิ
ไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ สอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร

พวกเราเริ่มฝึกสมาธิมาตั้งแต่พี่เลี้ยงนางนม
พ่อแม่สอนให้เรารู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักอ่าน
รู้จักคนโน้นคนนี้ จุดเริ่มต้นมันมาแต่โน่น
ทีนี้พอมาเข้าสู่สถาบันการศึกษา
เราเริ่มเรียนสมาธิอย่างจริงจังขึ้นมาแล้ว

แต่เมื่อเรามาพบพระคุณเจ้า หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายนี้
ท่านจะถามว่า “เคยทำสมาธิไหม”
จึงทำให้พวกเราทั้งหลายเข้าใจว่า
เราไม่เคยทำสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน
เพราะท่านไปขีดวงจำกัดการทำสมาธิ
เฉพาะเวลานั่งหลับตาอย่างเดียว

ไม่เป็นชาววัดก็ทำสมาธิได้

ใครที่ยังไม่มีโอกาสจะเข้าวัดเข้าวา
มานั่งสมาธิหลับตาอย่างที่พระท่านชักชวน
การปฏิบัติสมาธิเอากันอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
ทุกคนได้ฝึกสมาธิมาตามธรรมชาติแล้วตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา
ทีนี้เรามาเริ่มฝึกใหม่ นี่เป็นการเสริมของเก่าที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
อย่าไปเข้าใจผิด

ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ของจิต
เราทำให้สิ่งเหล่านี้ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น
เวลานอนลงไป จิตมันคิดอะไร ให้มันคิดไป
ให้มีสติไล่ตามรู้มันไปจนกระทั่งนอนหลับ
ปฏิบัติต่อเนื่องทุกวัน แล้วท่านจะได้สมใจอย่างไม่คาดฝัน

ในขณะทำงาน กำหนดสติรู้อยู่กับงาน
เวลาคิด ทำสติรู้อยู่กับการคิด
โดยถือการทำงาน การคิด เป็นอารมณ์ของจิต
โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จิตย่อมสงบ มีปีติ สุข
เอกัคคตาได้ ในโอกาสใดโอกาสหนึ่งจนได้ ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจทำจริง

นักเรียน นักศึกษาทำสมาธิในการเรียน

ขณะนี้นักเรียนทั้งหลายกำลังเรียน ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า
ทำอย่างไรเราจึงจะได้พลังของสมาธิ พลังของสติเพื่อสนับสนุนการศึกษา
หลวงตาจะสอนวิธีทำสมาธิในห้องเรียน สมมุติว่าขณะนี้หลวงตาเป็น
ครูสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายเพ่งสายตามาที่หลวงตา
ส่งใจมาที่หลวงตาแล้วก็สังเกตดูให้ดีว่าหลวงตาทำอะไรบ้าง
หลวงตายกมือหนูก็รู้ เขียนหนังสือให้หนูรู้ พูดอะไรให้หนูตั้งใจฟัง

ถ้าสังเกตจนกระทั่งกระพริบหูกระพริบตาได้ยิ่งดี เวลาเข้าห้องเรียนให้
เพ่งสายตาไปที่ตัวครู ส่งใจไปที่ตัวครู อย่าเอาใจไปอื่น เพียงแค่นี้
วิธีการทำสมาธิในห้องเรียน ถ้าพวกหนูๆ จำเอาไปแล้วปฏิบัติตาม
จะได้สมาธิตั้งแต่เป็นนักเรียนเล็กๆ ชั้นอนุบาล

ในตอนแรกนี่ การควบคุมสายตาและจิตไปไว้ที่ตัวครู
นี่อาจจะลำบากหน่อย แต่ต้องพยายามฝึก ฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญ
ภายหลังแม้เราจะไม่ตั้งใจ พอเห็นใครเดินผ่านหน้ามันจะจ้องเอาๆ
พอมาเข้าห้องเรียนแล้วพอครูเดินเข้ามาในห้อง
สายตามันจะจ้องปั๊บ ใจมันก็จะจดจ่ออยู่ตรงนั้น หนูลองคิดดูซิว่า
การที่มองที่ครู และเอาใจใส่ตัวครูนี่ เราเรียนหนังสือเราจะเข้าใจดีไหม
ลองคิดดู ทีนี้เมื่อฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว สายตามันยังจ้องอยู่ที่ตัวครู

แต่ใจจะมาอยู่ที่ตัวเราเอง มาตอนนี้ครูท่านสอนอะไร
พอท่านพูดจบประโยคนั้น ใจของเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปท่านพูดอะไร
เวลาไปสอบ อ่านคำถามจบ ใจของเราจะวูบวาบแล้วคำตอบมันจะผุดขึ้น
อันนี้เป็นสูตรทำสมาธิที่หลวงพ่อทำได้ผลมาแล้ว

จากสมาธิเพื่อชีวิต (โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

.....................................................
ความโศกทั้งหลาย
ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท
เป็นมุนี ผู้ศึกษาในทางแห่งมโนปฏิบัติ ผู้คงที่
สงบระงับแล้ว มีสติในกาลทุกเมื่อ

เพราะฉันประมาท
ทุกข์อันไม่น่ายินดี
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ายินดี

เพราะฉันประมาท
ทุกข์อันไม่น่ารัก
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ารัก

เพราะฉันประมาท
ทุกข์อันเร่าร้อน
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นสุข


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 58 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร