วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 12:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2009, 05:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธพจน์จากพระไตรปิฏก

อานิสงส์ของสมถะและวิปัสสนา
http://www.84000.org/true/568.html

สมถะหรือวิปัสสนาก่อน?
http://www.84000.org/true/220.html

พระพุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา
http://geocities.com/toursong1/kam/pt.htm

----------------------------------------------------------------

บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้ามรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้นย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอเธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้ ฯ

จบปฏิปทาวรรคที่ ๒

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๔๐๘๓ - ๔๒๙๙. หน้าที่ ๑๗๖ - ๑๘๔.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v ... agebreak=0

ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=161

----------------------------------------------------------------

วิจัยเกี่ยวกับเรื่อง สมถะที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.thaimisc.com/freewebboard/ph ... opic=10082

โดยมากชาวพุทธผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรม มักจะพูดกันเสมอว่า การที่จะเจริญวิปัสสนาในเบื้องต้น จำเป็นจะต้องทำสมถะเสียก่อนแล้วจึงจะทำวิปัสสนาต่อไป ถ้าไม่ทำสมถะเสียก่อนแล้ว จะก้าวขึ้นไปทำวิปัสสนาได้อย่างไร เพราะสมถะเป็นเบื้องต้นของวิปัสสนา

เท่าที่ผู้วิจัยเคยสังเกตมา ส่วนมากมักจะเป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น เพื่อจะทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นโดยยึดพระปริยัติเป็นหลัก ก็ใคร่ที่จะขออธิบายให้เป็นที่เข้าใจกันเสียในที่นี้เลย

อันที่จริง แนวในการปฏิบัติธรรม เพื่อทำใจให้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงวางไว้แล้ว โดยแยกการปฏิบัติออกเป็น ๒ แนว คือ

แนวที่ ๑ เรียกว่า "สมถยานิกะ" คือ เจริญฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วให้ฝึกหักฌานจนเกิดเป็นวสี ๕ คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ จากนั้นจึงค่อยต่อเป็นวิปัสสนา โดยเข้าฌานใดฌานหนึ่งแล้วก็ออกจากฌาน จากนั้นก็ให้ยกเอาองค์ของฌานเท่ที่ตนจะเข้านั้น เฉพาะองค์ที่ชัดที่สุดขึ้นพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์

การเจริญวิปัสสนาปัญญาแบบที่ว่านี้ท่านเรียกว่า "สมถยานิกะ" ถ้าสำเร็จมรรค-ผล ท่านก็เรียกผู้สำเร็จแนวที่ว่านี้ว่า "เจโตวิมุตติ" อาจมีชื่อพิเศษเป็น เตวิชโช ฉฬภิญโญ คือ ผู้ที่ได้วิชชา ๓ หรือผู้ได้อภิญญา ๖ เป็นต้น

แนวที่ ๒ เรียกว่า "วิปัสสนายานิกะ" คือ เจริญวิปัสสนาปัญญาล้วนๆ ทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปทำฌานสมาบัติอะไรให้เกิดขึ้นก่อนก็ได้ พอเริ่มทำก็กำหนดนามรูปกันทีเดียว

หมายความว่า พอตนเรียนอารมณ์ พร้อมทั้งวิธีกำหนดจากอาจารย์ผู้สนอจนเข้าใจแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติหลังจากที่ตนได้สถานที่ที่สบาย บุคคลที่สบาย ละปลิโพธกังวลเล็กๆ น้อยๆ หมดแล้ว ก็ทำวิปัสสนาได้ทีเดียว พอวิปัสสนาเกิดขึ้นตนเองก็จะต้องประคองพลธรรมทั้ง ๕ ประการ มีศรัทธาเป็นต้นให้เสมอภาคกัน ในไม่ช้าก็จะสามารถแยกฆนสัญญาออกจากกันได้

เมื่อสามารถทำลายฆนสัญญาให้แตกออกจากกันได้แล้ว นามรูปก็จะปรากฎขึ้น ถ้าผู้ปฏิบัติพยายามทำต่อไปโดยไม่ลดละก็สามารถที่จะบรรลุถึงมรรค-ผล ได้ตามประสงค์ วิธีปฏิบัติแบบหลังที่ว่านี้ท่านเรียกว่า "ปัญญาวิมุตติ" และจะได้ชื่อพิเศษว่า "สุขวิปัสสโก" ที่มักแปลกันว่า "เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง"

นอกจากนั้น ยังได้พูดถึงความสามารถของพระอริยบุคคลทั้ง ๒ จำพวกนี้ไว้อีกว่า

๑. สมถยานิกะ ทำลายตัณหาก่อน
๒. วิปัสสนายานิกะ ทำลายอวิชชาก่อน

อันที่จริง ตัณหาเป็นอกุศลเหตุเดียว มีอาณาเขตแคบส่วนอวิชชานั้นเป็นอกุศล ๒ เหตุ มีอาณาเขตกว้างขวาง

อันนี้หมายความว่า ในที่ใดมีตัณหาในที่นั้นก็จะต้องมีอวิชชาเกิดร่วมด้วยเสมอไป แต่ตรงกันข้ามในที่ใดมีอวิชชาในที่นั้นจะมีตัณหาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่เกิดร่วมด้วยก็ได้ เพราะอวิชชาเป็นบาปที่ทั่วไปในอกุศลทั้งปวง อันนี้พูดกันเฉพาะสหชาติ

แต่ถ้าจะพูดกันโดยอารัมมณสัตติและอุปนิสสยสัตติแล้ว อวิชชาก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นบิดาของตัณหา เพราะเป็นอดีตเหตุนั่นเอง ส่วนตัณหาเล่า ก็มีฐานะเป็นเสมือนบุตร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะตนเป็นได้เพียงปัจจุบันเหตุในอันที่จะส่งผลต่อไปในอนาคตภพนั่นเอง

เพื่อสนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับบาทฐานของวิปัสสนาที่กำลังจะพูดกันนี้ จึงใคร่ขอยกหลักฐานจากยุคนัทธวรรค ซึ่งมีมาในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย แห่งปฏิปทาวรรค ฉบับฉัฏฐะ หน้า ๔๗๕ ข้อ ๑๗๐ แล้วแก้ด้วยอรรถกถาชื่อ "มโนรถปูรณี ฉบับ ฉัฏฐะ" ภาค ๒ หน้า ๓๔๖ ข้อ ๑๗๐ และขยายด้วยอังคุตตรฎีกาชื่อ "สารัตถมัญชุสา" ภาค ๒ หน้า ๓๔๔ ข้อ ๑๗๐ ว่า

บาลีตอนที่ ๑

อิธ อาวุโส ภิกฺขุ สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ, ตสฺส สมถปุพฺพงฺคมิ วิปสฺสนํ ภาวยโต มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรติ. ตสฺส มคฺคํ อาเสวโต ภาวยโต พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียติ, อนุสยา พฺยนฺติ โหนฺติ.

ความว่า

ผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อเธอทำวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นให้เจริญอยู่ มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญบำเพ็ญให้มากขึ้น เมื่อเธอ(ไม่ยอมลดละ) ปฏิบัติเจริญ บำเพ็ญมรรคนั้นให้มากๆ เธอย่อมละสังโยชน์เสียได้ อนุสัยทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นโทสชาติที่มอดไหม้หมดไปฯ

อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๑

สมถปุพฺพงฺคมนฺติ สมถํ ปุพฺพงฺคมํ ปุเรจาริกํ กตฺวา. มคฺโค สญชายตีติ ปฐโม โลกุตฺตรมคฺโค นิพฺพตฺตติ โส ตํ มคฺคนฺติ เอกจิตฺตกฺขณิกมคฺคสฺส อาเสวนาทีนิ นตฺถิ, ทุกติ ยมคฺคาทโย ปน อุปฺปาเทนฺโต ตเมว อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรตีติ วุจฺจติ.

ความว่า

พระบาลีบทว่า "สมถปุพฺพงฺคมํ" แก้ว่า ทำสมถะให้เป็นเบื้องต้น คือ ทำให้เป็นปุเรจาริก (นำไปข้างหน้า)
พระบาลีสองบทที่ว่า "มคฺโค สญฺชายติ" แปลว่า โลกุตตรมรรคที่หนึ่ง (พระโสดาปัตติมรรค) บังเกิดอยู่ฯ
พระบาลีสามบทที่ว่า "โส ตํ มคฺคํ" ท่านแก้ไว้ว่า กิจทั้งหลายมีอาเสวนะเป็นต้น หาได้มีแก่มรรคที่เกิดเยงขณะจิตเดียวไม่ แต่เมื่อบำเพ็ญมรรคเบื้องสูงทั้งหลาย มีมรรคที่สองเป็นต้นให้เกิดขึ้น มรรคที่สองเป็นต้นนั่นเอง จึงจะตรัสเรียกว่า "อาเสวติ ภาเวติ และ พหุลีกโรติ" ได้ฯ

ฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๑

สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ อิทํ สมถยานิกสฺสวเสน วุตฺตํ. โส หิ ปฐมํ อุปจารสมาธึ วา อปฺปนาสมาธึ วา อุปฺปาเทติ, อยํ สมโถ, โสตญฺจ ตํสมฺปยุตฺเต จ ธมฺเม อนิจฺจามีหิ วิปสฺสติ, อยํ วิปสฺสนา, อิอติ ปฐมํ สมโถ, ปจฺฉา วิปสฺสนา, เตนวิจฺจติ "สมถปุพูพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวตีติ."

ความว่า

บาลีข้อที่ว่า "สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ" นี้ ท่านพูดไว้ด้วยอำนาจของสมถยานิกะฯ เพราะโยคีบุคคลผู้นั้นทำอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน..อันนี้เป็นสมถะ โยคีบุคคลผู้นั้นจึงใช้ปัญญาพิจารณาถึงสมาธินั้น และธรรมที่สัมปยุตด้วยสมาธินั้น ให้เห็นแจ้งด้วยลักษณะมีอนิจจลัษกาณะเป็นต้น..อันนี้จัดเป็นวิปัสสนา ด้วยประการดังทีได้กล่าวมานี้ สมถะจึงเป็นเบื้องต้น วิปัสสนาจึงเกิดในภายหลัง ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า "เจริญวิปัสสนาที่มีสมถะเป็นเบื้องต้น"เข้าไว้ฯ

ข้อที่ควรสังเกตในข้อที่ ๑ นี้ ก็มีอยู่ว่า การเจริญวิปัสสนาในแบบที่ ๑ นี้ เป็นการเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงเจริญปัญญาให้เกิดต่อภายหลัง แต่ถ้าขืนเจริญแต่สมาธิเรื่อยไปโดยไม่เปลี่ยนอารมณ์ด้วยการออกจากฌานสมาธิแล้ว รับรองว่าวิปัสสนาปัญญาจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย ไม่ต้องดูอื่นไกล ขอให้ดูดาบสทั้งสองที่เป็นอาจารย์สอนพระพุทธองค์ตอนเมื่อก่อนตรัสรู้เถิด ปรากฏว่าท่านดาบสทั้งสองไม่อาจทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการอาศัยสมาธิแบบนั้นเป็นบาทฐาน ผลที่สุดก็ต้องตายจากโลกนี้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอรูปภพ ซึ่งมีอายุยืนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เป็นตัวอย่าง ฯ

บาลีตอนที่ ๒

ปุน จปรํ อาวุโส ภิกฺขุ วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวติ, ตสฺส วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาวยโต มคฺโค สญชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา พฺยนฺตี โหนฺติ.

ความว่า

ผู้มีอายุ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเจริญสมถะ ที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อเธอทำสมถะ อันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ทำให้เกิดอยู่ มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญ บำพ็ญมรรคนั้นให้มากขึ้น เมื่อเธอปฏิบัติเจริญ บำเพ็ญมรรคนั้นให้มากๆ เธอก็ย่อมจะละสังโยชน์ทั้งหลายเสีย อนุสัยทั้งหลายก็ย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้หมดไปฯ

อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๒

วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมนฺติ วิปสฺสนํ ปุพฺพงฺคมํ ปุเรจาริกํ กตฺวา สมถํ ภาเวติ, ปกติยา วิปสฺสนาลาภี วิปสฺสนาย ฐตฺวา สมาธึ อุปฺปาเทตีติ อตฺโถ

ความว่า

พระบาลีข้อที่ "วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมนฺติ" ความว่า โยคีบุคคลทำวิปัสสนาให้เป็นเบื้องต้น คือ ให้เป็นตัวนำแล้วจึงเจริญสมถะตามปกติ ผู้ที่ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนาแล้ว จึงทำสมาธิให้เกิดขึ้นฯ

ฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๒

วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวตีติ อทํ ปน วิปสฺสนายานิกสฺส วเสน วุตตํ. โส ตํ วุตฺตปฺปการํ สมถํ อสมฺปาเทตฺวา ปญฺจุปาทานกฺขนฺเธ อนิจฺจาทีหิ วิปสฺสติ.

ความว่า

ส่วนพระบาลีข้อที่ว่า "เจริญสมถะที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น" นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจของพระวิปัสสนายานิก คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เธอยังมิได้ทำสมถะที่มีประการตามที่กล่าวมาแล้วนั้นให้สมบูรณ์เลย ก็พิจารณาเบญจขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปทานโดยความเป็นอนิจจะเป็นต้น

ตรงตอนที่ ๒ นี้ก็หมายความว่า ท่านเจริญเฉพาะวิปัสสนาล้วนๆ มาก่อน...ยังมิทันที่เธอจะทำสมถะให้สมบูรณ์เลย ก็ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเบญจขันธ์โดยความเป็นไตรลักษณ์เสียแล้ว...นี่เป็นคำอธิบายตามนัยของฎีกา

ส่วนคำของอรรถกถาท่านหมายความง่ายๆ ว่า ได้วิปัสสนาแล้วแต่อยากได้ฌานก็ทำฌานให้เกิดขึ้นเท่านั้น เราก็พอจะถือเอาความได้ว่า พระอริยะผู้ที่เป็นวิปัสสนาลาภี คือ ผู้ที่ได้วิปัสสนาจนเป็นพระโสดา - สกทาคามี -อนาคามี และพระอรหันต์แล้ว แต่ต้องการที่จะได้ฌาน ก็มาทำฌาน คือ สมาธิ หรือสมถะให้เกิดขึ้นในภายหลังจนกระทั่งได้สมาบัติ ๘ อย่าง นี้เรียกว่า ทำสมถะที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นฯ

บาลีตอนที่ ๓

ปูน จปรํ อาวุโส ภิกฺขุ สมถวิปสฺสนํ ยุคนทธฺ ภาเวติ ตสฺส สมถวิปสฺสนํ ยุคนฺธํ ภาวยโต มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ หุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา พฺยนฺติ โหนฺติ.

ความว่า

ข้ออื่นยังมีอยู่อีกผู้มีอายุ ภิกษุผู้เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญ กระทำมรรคนั้นให้มาก เมื่อเธอปฏิบัติเจริญ (และ) ทำมรรคนั้นให้มาก สังโยชน์ทั้งหลายก็ย่อมถูกละเลยไป อนุสัยทั้งหลายย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้หมดไป ฯ

คำแปลอรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๓ อันมี "ยุคนทฺธํ ภาเวตีติ ยุคนทฺธํ กตฺวา ภาเวติ.ฯ " เป็นต้น ความว่า

พระบาลีข้อที่ว่า "เจริญควบคู่กันไป" นั้น พระอรรถกถาจารย์ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เจริญทำให้ควบคู่กันไป ฯ

ในการเจริญดังกล่าวเหล่านั้น ใครๆ ก็ไม่อาจที่จะเข้าสมาบัติด้วยจิตดวงนั้นนั่นแหละ แล้วก็พิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตดวงนั้นนั่นเอง แต่โยคีบุคคลผู้นี้เข้าสมาบัติได้เพียงใด ก็ย่อมพิจารณาสังขารได้เพียงนั้น พิจารณาสังขารได้เท่าใด ก็เข้าสมาบัติได้เท่านั้น ที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร

หมายความว่า ตนเข้าปฐมฌานได้ ออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาสังขารทั้งหลายอีก เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว ก็เข้าตติยฌาน ฯลฯ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เมื่อออกจากอรูปสมาบัติที่ ๔ แล้วก็ได้พิจารณาสังขารทั้งหลาย ตามวิธีอย่างที่ได้อธิบายมานี้ ชื่อว่าเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปด้วยประการฉะนี้ ฯ

ข้อสังเกตตามที่พระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์อธิบายมา จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่เราจะไปตีความเอาโดยพลการ เพราะถ้าไม่ตรงต่อคำอธิบายของท่านแล้ว แทนที่จะเป็นการช่วยกันเผยแผ่พระพุทะศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป กลับจะเป็นการช่วยกันทับถมคำสอนของท่านให้เสื่อมสูญลงโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นท่านผู้ที่รักจะช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะอธิบายอะไรก็ควรที่จะตรวจตราดูเสียให้เรียบร้อยก่อน เพราะการบรรยายธรรมเป็นการแนะแนวในการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน เพื่อให้หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งไม่เหมือนกับการ้องเพลงที่จะชวนให้คนฟังเกิดแต่กิเลสเป็นความเศร้าหมองอย่างเดียว

ถ้าเราจะสรุปความในท่อนที่ ๓ ที่ท่านได้อธิบายมา เราก็พอจะจับใจความของท่านได้ว่า ในการเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปนั้น ที่จริงก็คือ การเจริญสมะจนได้ฌานใดฌานหนึ่งแล้วก็ออกจากฌาน จึงจะพิจารณาสังขารต่อไป จนกว่าจะเกิดมรรคนั่นเอง

เพราะท่านปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีนักปฏิบัติคนใดดอก ที่จะสามารถเข้าสมาบัติด้วยจิตดวงนั้นแล้วก็พิจารณาสังขารด้วยจิตดวงนั้นได้

บาลีตอนที่ ๔

ปุน จปรํ อาวุโส ภิกขุโน ธมฺมุทธจฺจวิคฺคหิตํ มานสํ โหติ, โส อาวุโส สมโย ยํ ตํ จิตฺตํ อชฺฌตฺตเมว สนฺติฏฐติ สนฺนิสีทติ เอโกทิ โหติ สมาธิยติ, ตสฺส มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรติ. ตสฺส ตํ มคฺคํ อาเสวโต ภาวยโต พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา ยนตี โหนฺติ .

ความว่า

ผู้มีอายุ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุมีใจปราศจากความฟุ้งซ่านในอริยธรรม ผู้มีอายุ สมัยนั้น จิตดวงนั้นก็ย่อมตั้งมั่นดิ่งลงในภายในทีเดียว เป็นเอกุคคตารมณ์เป็นสัมมาสมาธิ มรรคย่อมเกิดพร้อมแก่เธอ เธอปฏิบัติเจริญ ทำมรรคนั้นให้มากๆ เมื่อเธอปฏิบัติเจริญบำเพ็ญมรรคนั้นให้มากได้ เธอก็ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายเสียได้ อนุสัยทั้งหลายก็ย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้ไปในที่สุดฯ

อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๔

ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตนฺติ สมถวิปสฺสนาธมฺเมสุ ทสวิปสฺสนุหกิเลสสงฺขาเตน อุทฺธจฺเจน วิคฺคหิตนฺติ อตฺโถ โส อาวุโส สมโยติ อิมินา สตฺสตฺนํ สปฺปายํ ปฏิลาภกาโล กถิโต. ยํ ตํ จิตฺตนฺติ นสฺมึ สมเย ตํ วิปสฺสนาวิถึ ปจฺโจตฺถริตฺวา ตสฺมึเยว โคจรชฺฌตฺตสงฺขาเต อารมฺมเณ สนฺติฏฐติ. สนฺนิสีทตีติ อารมฺมณวเสน สมฺมา นิสีทติ. เอโกทิ โหตีติ เอกคฺคํ โหติ. สมาธิยตีติ สมฺมา อาธิยติ สุฏฐปิตํ โหติ. เสสเมตฺถ อุตฺตา นมตฺถเมว

ความว่า

พระบาลีที่ว่า"ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ" ความว่า คลายออกจากความฟุ้งซ่าน คือ ความเศร้าหมองของวิปัสสนา ๑๐ ประการ ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนา คือ จับอารมณ์ได้ดีแล้วนั่นเอง

พระพุทธองค์ตรัสถึงเวลาที่ได้สัปปายะ ๗ อย่างไว้ด้วยพระบาลีข้อที่ว่า "โส อาวุโส สมโย" นี้

พระบาลีที่ว่า "ยํ ตํ จิตฺตํ" คือ ในสมัยใดจิตปรากฏก้าวลงสู่วิถีของวิปัสสนานั้น ฯ

พระบาลีสองบทที่ว่า "อชฺฌตฺตเมว สนฺติฏฐติ" ความว่า จิตนั้นแผ่ตรงไปเฉพาะวิปัสสนาวิถีได้แล้ว ก็ย่อมจะตั้งมั่นได้ในอารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นภายในนั้นเท่านั้น ฯ

บทที่ว่า "สนฺนิสีทติ" ได้แก่แนบสนิทดีด้วยอำนาจของอารมณ์ฯ

สองบทที่ว่า "เอโกทิ โหติ" คือ เป็นจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว

บทว่า "สมาธิยติ" หมายความว่า เป็นจิตที่ดำรงอยู่ได้โดยชอบ คือ เป็นจิตที่ได้ตั้งไว้ดีแล้วนั่นเอง

แปลฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๔ มี ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสนฺติ เป็นต้น ความว่า

คำของอรรถกถาบทที่ว่า "ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสํ" ความว่า ความฟุ้งซ่านที่ปรากฏในวิปัสสนูปกิเลส มีแสงสว่างป็นต้นว่า "เป็นอริยธรรม" คือความฟุ้งชื่อว่า "ธัมมุทธัจจะ" จิตใจที่จับอารมณ์ผิดพลาดเป็นไป โดยการดำเนินออกจากวิถีของวิปัสสนา เพราะความฟุ้งซ่านไปในธรรมนั้น จัดเป็นจิตใจที่จับอารมณ์ผิดพลาด เพราะความฟุ้งซ่านไปในธรรมนั่นเอง

คำนี้สมจริงตามบาลีปฏิสัมภิทามรรค หน้า ๒๙๑ ฉบับฉัฏฐะว่า

ใจที่จับอารมณ์ผิดพลาดเพราะความฟุ้งซ่านในธรรมปรากฏขึ้น ผู้ปฏิบัติที่กำลังใส่ใจโดยความเป็นอนิจจะ แสงสว่างก็เกิดขึ้น ก็ย่อมรำพึงถึงแสงสว่าง

"แสงสว่างเป็นธรรมะ ความฟุ้งซ่านที่เกิดเพราะความสนใจถึงแสงสว่างนั้น ผู้ปฏิบัติที่มีใจจับอารมณ์ผิดพลาดเพราะความฟุ้งซ่านนั้น ก็ย่อมหารู้ชัดถึงความปรากฏโดยความเป็นอนิจจะตามความเป็นจริงไม่ได้ ความปรากฏโดยความเปฌนทุกขะ ฯลฯ เป็นอนัตตะก็หารู้ชัดตามความเป็นจริงไม่ได้เช่นกัน

แต่ถ้าเมื่อเธอมนสิการโดยความเป็นอนิจจะเหมือนอย่างนั้น ญาณความรู้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ฯลฯ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ (การตัดสินใจเชื่อ) ปัคคาหะ (ความเพียรเกินไป) อุปัฏฐาน (ความปรากฏชัดเกินไป) อุเบกขา (วางเฉยเกินไป) นิกันติ (ความต้องการ ๙ ข้อข้างต้น) เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็นึกถึงความต้องการว่า "นิกันติ" เป็นธรรมะ ความฟุ้งซ่านย่อมเกิดเพราะความมนสิการผิดพลาดนั้น

เพราะความฟุ้งซ่านอันนั้นเป็นเหตุ เธอผู้มีใจจับอารมณ์ผิดพลาด ก้ย่อมหารู้ชัดถึงความปรากฏโดยความเป็นอนิจจะตามความเป็นจริงไม่ได้ ความปรากฏโดยความเป็นทุกขะ และอนัตตะ ก็หารู้ชัดตามความเป็นจริงไม่ได้เช่นกัน

หมายเหตุ ตามคำอธิบายของท่าน ก็พอจะจับใจความได้ว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ คือ ขณะที่ผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาไปจนกระทั่งถึงอุทยัพพยญาณ หรือตีรณปริญญา ถ้าเกิดอุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น หากไปมนสิการถึงอุปกิเลสดังว่านั้น ก็จะทำให้เกิดความสนใจพอใจในแสงสว่างเป็นต้น จิตก็จะฟุ้งซ่านตกจากวิปัสสนาวิถีไป ไม่อาจที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ได้โดยชัดเจนนั่นเอง เพราะวัตถุประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้น ก็จำเป็นจะต้องปลูกโยนิโสมนสิการ ให้ตั้งมั่นอยู่แต่เฉพาะลักษณะของนามรูปเท่านั้นนั่นเองฯ

ตามที่ได้อธิบาย พร้อมทั้งยกเอาหลักฐานมาเป็นเครื่องยืนยันทั้งหมดนี้ จะเห็นได้แล้วว่าเป็นเรื่องที่น่าระมัดระวัง ในการเผยแผ่ธรรมะชั้นสูงเป็นกรณีพิเศษทีเดียว ถ้าไม่จำเป็นแล้วขออย่าได้ผลีผลามใช้ความเห็นของตนแสดงออกเป็นอันขาด เพราะถ้านักปราชญ์ที่เขาคงแก่เรียนไปรู้เข้า มิใช่จะเสียหายเฉพาะตัวเองเท่านั้น ยังเสียไปถึงคนที่หลงเดินตามปฏิปทาที่ตัวสอนอีกมากมายด้วย จึงขอสะกิดใจไว้เพียงเท่านี้ ฯ

----------------------------------------------------------------

ประวัติของพระครูศรีโชติญาณ
http://www.abhidhamonline.org/sw.htm

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2009, 05:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


หลักของสมถะและวิปัสสนา โดยพระมหาประกอบ ปภงฺกโร สำนักวิปัสสนาวัดสะแกแสง นครราชสีมา

หลักของสมถะ เรื่องของสมถะ หรือ สมาธิ โดยย่อ ก็คือ การทำจิตให้สงบนิ่งอยู่ในอารมณ์ที่ต้องการ จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตจับสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์นั้นโดยไม่กวัดแกว่งไปในอารมณ์อื่น ตามอำนาจของกิเลสนิวรณ์ก็ใช้ได้
ส่วนการที่จะให้รู้อะไรหรือไม่นั้น ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ขอเพียงแต่ให้จิตใจตั้งมั่นนิ่งอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งนั้นก็แล้วกัน เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิแล้ว ในด้านความรู้นั้น อย่างดีก็จะมีความรู้สึกเพียง ว่าง ๆ เฉย ๆ หรือ สงบเยือกเย็น เท่านั้น ที่จะให้เกิดความรู้ในเหตุผลนั้น ไม่มีเลย
หลักของ สมาธิ นั้น ถ้าความรู้ใน เหตุผล ยิ่งน้อยลงไปเท่าใด สมาธิ ก็จะมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น หรือ สมธิ ยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่าใด ความรู้ในเหตุผลก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น จนเกือบจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลย นี่คือ หลักของ สมถะ หรือ สมาธิ
หลักของวิปัสสนา ต้องการให้ ปัญญา รู้เหตุผลตามความจริงและสภาวธรรม ไม่ใช่ต้องการให้นิ่ง หรือ สงบ หรือ สุขสบาย แต่ต้องการให้ความจริงของธรรมชาติ ที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์เท่านั้น
หลักของปัญญาในทางที่ถูกต้องนั้น ยิ่งเพ่งยิ่งรู้ ยิ่งเพ่งอารมณ์ที่เป็นความจริงได้มากเท่าใด ปัญญาก็จะยิ่งรู้เหตุผลที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ยิ่งเกิดความเห็นถูกมากยิ่งขึ้นเท่าใด ความสงสัยและความเห็นผิด ก็จะยิ่งหมดไปเท่านั้น กิเลส คือ ความเห็นผิดและความสงสัย ถูกละไปหมดเท่าใด จิตใจก็จะบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสมากขึ้นเท่านั้น
ฉะนั้น วิปัสสนา จึงเป็นชื่อของปัญญา ที่รู้ความจริง แล้วละกิเลสให้บริสุทธิ์หมดจดได้ นี่คือหลักการของ วิปัสสนา

สมถะเกี่ยวข้องกับวิปัสสนาอย่างไร ?

สมถภาวนา เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สงบจากกิเลสนิวรณ์ มิใช่เป็นทางปฏิบัติเพื่อพ้นความทุกข์โดยตรง ทั้งยังไม่เป็นเหตุให้เข้าถึงอริยสัจ ๔ ประการ เช่น การปฏิบัติของท่านอาฬารดาบส กาลมโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ที่สำเร็จอรูปฌาน ถึงอากิญจัญญายตนฌานและเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และเคยสอนการทำฌานแก่พระพุทธเจ้ามาก่อน ก็ยังไม่บรรลุมรรค ผล นิพพาน เพราะสมถะไม่อาจหยั่งสู่สภาวะของรูปนามตามความเป็นจริง และไม่อาจทำลายความเห็นผิดที่คิดว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน เป็นเราได้
เมื่อไม่รู้ว่า รูปนาม ก็ไม่เห็นไตรลักษณ์ เพราะไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีอยู่ที่ รูปนาม แต่พระพุทธองค์ประสงค์จะอนุเคราะห์แก่บรรดาฌานลาภีบุคคล ที่เคยเจริญสมถภาวนามาจนสำเร็จฌานชำนิชำนาญแล้ว ก็ให้ยกองค์ฌานคือ สภาวะของ นามธรรม มีวิตก วิจาร ปิติ สุข (เวทนา) เอกัคคตา (สมาธิ) ขึ้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาโดยต้องออกจากฌานเสียก่อน และมีความชำนิชำนาญในวสี ๕ ประการด้วย นามธรรมที่เป็นองค์ฌานเหล่านี้ มีสภาพธรรมที่เป็นความจริง จึงจะแสดงความเป็นไตรลักษณ์ให้ปรากฏได้
อนึ่ง ผู้เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบ ข่มกิเลสนิวรณ์ลงได้แล้ว แม้ยังไม่สำเร็จฌานหรือยังไม่ชำนาญในฌาน แต่การที่สงบจากกิเลสนิวรณ์ ก็เป็นปัจจัยช่วยการปฏิบัติวิปัสสนาให้สะดวกขึ้นได้ เพราะอาศัยกิเลสนิวรณ์สงบลง จึงเป็นปัจจัยให้ปัญญารู้นามรูป ตามความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น ในวิสุทธิมรรคอรรถกถาจึงได้แสดงฌานเป็นบาทของวิปัสสนาไว้ โดยหมายถึงการได้ฌานแล้ว จึงมาเจริญวิปัสสนาต่อไป หรือหมายถึง เมื่อเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบจากกิเลสนิวรณ์แล้วจึงมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เรียกผู้ปฏิบัติวิปัสสนาโดยอาศัยสมถะนี้เป็นบาทว่า สมถยานิกกะ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่า หากไม่ทำสมถกรรมฐานเสียก่อนแล้ว วิปัสสนาย่อมเกิดไม่ได้ ความเข้าใจอย่างนี้ เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะวิปัสสนานั้นเป็นชื่อของปัญญา ที่เห็นรูปนาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้ใดเมื่อได้ศึกษารูปนามตามนัยปริยัติแล้ว จะยกรูปนามสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงก็ได้ เรียกผู้นั้นว่า วิปัสสนายานิกกะ
แต่ในปัจจุบันนี้หาผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานจนสำเร็จฌานได้ยากเพราะจิตใจของบุคคลสมัยนี้เต็มไปด้วยอำนาจของกิเลสนิวรณ์ และกามคุณอารมณ์ก็อุดมสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเรามัวแต่ฝึกอบรมสมาธิ หรือสมถกรรมฐานกัน เพื่อให้ฌานจิตเกิดหรือให้กิเลสนิวรณ์สงบ เพื่อนำไปเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็คงฝึกกันได้แต่เพียงทำสมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ในที่สุด ก็ตายเปล่า ไม่ได้เจริญวิปัสสนาตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพากันเสียเวลามาฝึกสมาธิกันมาก ๆ เข้า จนไม่มีใครรู้จักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นว่า เป็นอย่างไร ? ผลสุดท้ายก็นึกเอาว่า สมถะ กับ วิปัสสนา นี่ เป็นอันเดียวกัน
นี่แหละ อันตรายในพระพุทธศาสนา ที่เกิดขึ้นมาด้วยความเห็นผิด ที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ ของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันเอง

สมถะ ที่เกี่ยวข้องกับ วิปัสสนา นั้น หมายเอาเฉพาะ สมาธิ ที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของ ปัญญา คือ ขณะเจริญสติปัฏฐาน เท่านั้นหรือที่เรียกว่า สมาธิในองค์มรรค คือ ขณะเจริญมรรค ๘ หรือมัชฌิมาปฏิปทา
ส่วนสมถะ หรือ สมาธิใด ไม่ได้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของปัญญา หรืออารมณ์สติปัฏฐาน ๔ คือ นามรูป แล้ว สมถะ หรือสมาธินั้น ก็ไม่เกี่ยวกับวิปัสสนาซึ่งจะเรียกว่า สมาธินอกพระพุทธศาสนา ก็ว่าได้
ฉะนั้น สมถะหรือสมาธิ ที่เป็นไปในอารมณ์ของปัญญา คือ นามรูป เท่านั้น จึงจะเกี่ยวข้องกับวิปัสสนา ซึ่งเรียกได้ว่า สมถะหรือสมาธิในพระพุทธศาสนา

ความแตกต่างระหว่างสมถะ กับวิปัสสนา

๑. โดยปรารภผล
สมถะ เพ่ง เพื่อให้จิตสงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว
วิปัสสนา เพ่ง เพื่อรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง

๒. โดยอารมณ์
สมถะ มีนิมิตบัญญัติเป็นอารมณ์กรรมฐานเป็นส่วนมากเพราะต้องการความมั่นคง
วิปัสสนา ต้องมีรูปนาม เป็นอารมณ์ เพราะต้องเป็นอารมณ์ที่มีการเกิด – ดับ ตรงตามธรรมชาติที่เป็นความจริง

๓. โดยสภาวธรรม
สมถะ มีสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิก ที่ให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์
วิปัสสนา มีปัญญา รู้รูปนามว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

๔. โดยการละกิเลส
สมถะ ละกิเลสอย่างกลาง ปริยุฏฐานกิเลส
วิปัสสนา ละกิเลสอย่างละเอียด อนุสัยกิเลส

๔. โดยอาการที่ละกิเลส
สมถะ ละด้วยการข่มไว้ เป็น วิกขัมภนปหาน
วิปัสสนา ละด้วยการขัดเกลาเป็นขณะ ๆ เป็น ตทังคปหาน

๕. โดยอานิสงส์
สมถะ ให้อยู่เป็นสุขด้วยการข่มกิเลส และให้ไปเกิดในพรหมโลก
วิปัสสนา เพื่อละวิปลาสธรรม และเข้าถึงความพ้นทุกข์ คือ ถึงความไม่เกิดเป็นที่สุด

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร