ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552 http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=20851 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 01 มี.ค. 2009, 13:52 ] |
หัวข้อกระทู้: | รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552 |
![]() ภิกษุณีพูลสิริวรา, ภิกษุณีปัญญาวตี ภิกษุณีโช่ววี้, แม่ชีบริจิทท์ สโครเท็นบั๊คเค่อร์ รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช 2552 “รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แด่สตรีผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของสตรี ซึ่งมี ดร.สุธีรา วิจิตรตรานนท์ เป็นประธาน และ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัตน์ เป็นเลขาธิการ รางวัลนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยได้มอบให้แก่สตรีทั้งที่เป็นภิกษุณี แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกา ทุกเชื้อชาติจากทุกมุมโลกไปแล้วกว่าร้อยคน ผลของโครงการนี้ทำให้สตรีชาวพุทธทั่วโลกสามารถสานต่อความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันทางสังคม และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาอย่างกว้างขวาง สำหรับปีนี้ คณะกรรมการรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา กำหนดพิธีมอบรางวัลขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (We-Train) เลขที่ 501/1 หมู่ 3 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02-929-2301-7 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ดูแผนที่และรายละเอียดได้ที่ http://www.we-train.co.th หรือ http://www.apsw-thailand.org) ผู้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งหมด 19 ท่าน ดังต่อไปนี้ ภิกษุณีพูลสิริวรา (ไทย/อเมริกัน) เกิดที่ประเทศไทย แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกานานกว่า 20 ปี สร้าง “ศูนย์สวนสิริธรรม” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อฝึกสมาธิให้แก่เยาวชน ท่านเชื่อว่า “สตรีก็ทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลากหลายวิธี หากสตรีสามารถก้าวข้ามค่านิยมทางวัฒนธรรมเข้าสู่ความเสมอภาค” ![]() ภิกษุณีนันทญาณี ภิกษุณีนันทญาณี (ไทย) ริเริ่มโครงการสิ่งแวดล้อมสตรี เพื่อยกฐานะของสตรีทางภาคเหนือให้หลุดพ้นจากการค้าประเวณี ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนิโรธาราม จังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งมั่นในการอบรมสั่งสอนศิษย์เพื่อพัฒนาภิกษุณีและสามเณรีให้เร่งรุดในธรรม ภิกษุณีปัญญาวตี (ไทย) มีความรู้ในพระพุทธศาสนาทุกนิกายและทุกศาสนา ท่านได้จัดตั้งที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นพลังสำคัญสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเด็กและสตรี โดยเรียกร้องความเสมอภาคของนักบวชหญิง และเรียกร้องให้เลิกการทารุณมนุษย์ในสังคมอเมริกัน ภิกษุณีโช่ววี้ (พม่า/ไต้หวัน) เกิดที่พม่าแต่ไปเติบโตในไต้หวัน ท่านต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่นักบวชสตรีวัชรยานที่ต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในไต้หวันจนสำเร็จ ทำให้นักบวชหญิงในธรรมเนียมทิเบตสามารถเข้าร่วมสังฆกรรมในไต้หวันได้ นับเป็นการสานต่อวงศ์ของภิกษุณีให้สืบสายต่อๆ กันไป แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ (ไทย) บริหารศูนย์การศึกษาเด็กปฐมวัยวัดบุญศรีมุนีกรณ์ ศูนย์พัฒนาเยาวชนแห่งสถาบันแม่ชีบุรีรัมย์ วิทยากรส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านและเยาวชน ท่านได้อุทิศตนเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสศูนย์ปฏิบัติธรรมรัตนไพบูลย์ ![]() แม่ชีนลินรัตน์ สุทธิธรรมวิชญ์ แม่ชีนลินรัตน์ สุทธิธรรมวิชญ์ (ไทย) เชื่อว่า “ความดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องแห่งพระพุทธศาสนาคือเป้าหมายแห่งชีวิต” ท่านจึงอุทิศตนเพื่อพัฒนาจิตมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี หรือชีพราหมณ์ โดยดำเนินการมากว่า 38 ปีแล้ว แม่ชีบริจิทท์ สโครเท็นบั๊คเค่อร์ (ออสเตรเลีย) ปฏิบัติสมาธิเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ท่านบวชเป็นแม่ชีจนเชี่ยวชาญวิปัสสนา ท่านบิณฑบาตเพื่อเกื้อกูลแม่ชีอีก 60 รูป และเผยแผ่สมาธิวิปัสสนาแก่ชาวโลก ท่านสงเคราะห์คนยากจน ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดเชื้อเอดส์ และผู้ประสบภัยในประเทศไทย มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (ไทย) สร้างขึ้นจากแนวคิดของแม่ชีคุณหญิงขนิษฐา วิเชียรเจริญ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับสตรี โดยเปิดโอกาสให้แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกาได้ศึกษาธรรมะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีองค์กรพุทธศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองคุณวุฒิ โครงการธรรมโมลี (เนปาล) ดำเนินงานโดยภิกษุณี ดร.ธรรมวิชัย และภิกษุณี ดร.โมลินี ท่านทั้งสองช่วยเหลือเด็กหญิงเนปาลีที่ถูกพ่อแม่นำไปขายเป็นโสเภณีเพราะความยากจน และเยียวยาจิตใจของเด็ก รวมทั้งให้การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพให้ในโรงเรียนของสามเณรีที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ![]() กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ ![]() รสนา โตสิตระกูล, อดดอม แวน ซีวอน, โจแอน โฮเจทสุ โฮเบอริทส์ กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ (ไทย) อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพันดาราและศูนย์วัฒนธรรมทิเบต เพื่อเผยแพร่ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแบบทิเบต และกำลังก่อสร้างศานติตารามหาสถูป เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมแบบทิเบตแห่งแรก ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รสนา โตสิตระกูล (ไทย) เชื่อว่าวิถีพุทธหมายถึงความเมตตากรุณาที่จริงใจ นอกจากแปลหนังสือพุทธศาสนาแล้ว ท่านประยุกต์แนวคิดพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคม เพื่อผลักดันสถานะและบทบาทของสตรีไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางเพศที่บุรุษผูกขาดอำนาจเหนือสตรีไทยมาโดยตลอด ซูซาน เพมโบร์ค (อเมริกัน) ส่งเสริมภิกษุณีไทยทั้งด้านการศึกษาและกิจกรรมทางศาสนา ท่านก่อตั้ง “สหพันธ์ภิกษุณีแห่งโลก” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าธรรมาจารย์ ที่อุทิศตนช่วยเหลือสังคมและเผยแผ่ธรรมะ ทั้งในวัฒนธรรมไทยและในสังคมโลก รินเช็น คอนโด โชเคียว (อินเดีย) เกิดในทิเบต แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในอินเดีย ท่านอุทิศตนช่วยเหลือนักบวชสตรี คนชรา และคนยากจนชาวทิเบตที่อพยพลี้ภัยอยู่ในอินเดีย จัดตั้งโครงการนักบวชสตรีเพื่อศึกษาและอนุรักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมแบบทิเบตไว้ อดดอม แวน ซีวอน (กัมพูชา) ขับเคลื่อนสังคมการเมืองกัมพูชาตามวิถีพุทธในรูปแบบธรรมยาตรา สอนสมาธิแนวพุทธให้แก่สตรีและเยาวชน เปิดอบรมความรู้เรื่องสันติวิธีแก่เด็กและสตรี และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในกัมพูชา โจแอน โฮเจทสุ โฮเบอริทส์ (อเมริกัน) เป็นนักธุรกิจมาก่อนที่จะอุทิศตนเผยแผ่ธรรมะในวิถีเซนแบบญี่ปุ่น ท่านเป็นผู้นำชาวพุทธนิกายเซนในเมืองริชวูด รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการรักษาสุขภาพใจโดยใช้วิธีการรักษาแบบเซนในศรีลังกาอีกด้วย ![]() ชาริกา มาราสิงหละ, จาเนซ วิลลีส ชาริกา มาราสิงหละ (ศรีลังกา) จบปริญญาเอกกฎหมายจากอังกฤษ ท่านเชี่ยวชาญและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติมากว่า 22 ปี ปัจจุบันท่านยังคงอุทิศตนช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนยากจน และช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนในศรีลังกา จาเนซ วิลลีส (อเมริกัน) เป็นนักเขียนและสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทิเบตที่มหาวิทยาลัยเวสเลียนมากว่า 32 ปี ท่านเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณและจิตปัญญาที่สังคมชาวพุทธอเมริกันให้ความสำคัญมากคนหนึ่ง แครอล กันโช โอด์ดาวน์ (อเมริกัน) มีสมญาทางศาสนาว่า “กันโช” ท่านเป็นชีพราหมณ์ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถนำพาชาวเอเชียในสหรัฐอเมริการ่วมกันสวดมนต์พุทธในโบสถ์คริสต์ ท่านก่อตั้ง “สมาคมสตรีชาวพุทธ” ทำให้ชาวตะวันตกสนใจและเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น อัลลิโอเน (อเมริกัน) อาจารย์สอนธรรมะและสมาธิแบบทิเบต มีประสบการณ์ชีวิตทางธรรมแบบทิเบตมาหลายสิบปี ท่านเขียนบทความ สารคดี และหนังสือธรรมะ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรมให้ผู้สนใจได้ศึกษา ![]() ![]() ![]() ผู้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช 2552 โดยพิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 ณ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (We-Train) เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ![]() ![]() ![]() คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา โดย น้ำทิพย์ ศรีจันทร์ วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11313 • ประวัติและปฏิปทา ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35661 • กรณี...ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36106 • ดับทุกข์-ทุกข์ดับ ที่...“อารามแห่งความดับทุกข์” http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=21468 • แผนที่สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=808 |
เจ้าของ: | คนไร้สาระ [ 04 มี.ค. 2009, 05:06 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | AAAA [ 12 มี.ค. 2009, 17:44 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552 |
![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |