วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 17:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2009, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


พระสูตรหนึ่ง อันเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ที่ได้อ่าน ซึ่งหากอ่านจนจบแล้ว จะก่อให้เกิดสัมมาทิฐิ เกิดความรู้ว่าแนวทางใดที่ทำให้สำเร็จอรหันตผลได้บ้างตามแต่จริตนิสัย แนวทางต่างๆ เหล่านี้จะรวมลงกันเป็นหนึ่งเดียวในเบื้องปลายทั้งสิ้น พึงอ่านและเรียนรู้และช่วยกันรักษาไว้ ไม่นำมาเป็นเหตุแห่งความโต้แย้งกัน ดังต่อไปนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา

[๕๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี
ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส
ทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วย
มรรค ๔ ทั้งหมดหรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง มรรค ๔ เป็นไฉน ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะ
เป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อม
เกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ
ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุ
นั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญ
ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่
ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เมื่อภิกษุนั้น
เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำ
ให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อม
ละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้
สมัยนั้น จิตย่อมตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่
มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อ
ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัย
ย่อมสิ้นไป ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์
อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค ๔ นี้ทั้งหมด หรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรค
หนึ่ง ฯ

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0

ขอให้เจริญในธรรม :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2009, 05:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 04:12
โพสต์: 1067


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
อนูโมทนาสาธุค่ะ คุณศิรัสพล
เป็นธรรมที่มีประโยชน์เกื้อกูลต่อพุทธบริษัทจริง ๆ

.....................................................
...นฺตถิตัณหา สมานที...
ห้วงน้ำใหญ่โต เสมอด้วยตัณหาไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2009, 21:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2009, 13:31
โพสต์: 12

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 พ.ค. 2009, 20:54
โพสต์: 282


 ข้อมูลส่วนตัว


:b19: สวัสดี นะมัสเต ครับคุณศิรัสพล
มาที่ลานธรรมจักรนี้แล้วพบชื่อนี้ก็ดีใจ ยิ่งเห็นผลงานยิ่งดีใจใหญ่เลย ทำอย่างไรจะให้ น้องบู คนโคราช คุณ joeijo คุณวสวัตตี และอีกหลายท่านมาพบปะสนทนากันในลานธรรมจักรนี้บ้างนะครับ
เจัาของเวบดูมีเมตตา โล่งใจ สบายตา สบายจิต เปี่ยมด้วยกระแสพลังแห่งมิตร ให้อิสระเสริีทางธรรม
งามชื่นตามธรรมชาติ สะอาดกาย สะอาดใจ เกิดปีติ ความหวังใหม่ ที่จะเผยแพร่ ธรรมมะบริสุทธิ์ ไป สู่ดวงใจหมู่ชน ให้พ้นจากความมืด สิ้นความยึดความถือ ไม่ระบือบัญญัติ สนใจเน้นปรมัตถ์ เครื่องขจัดทุกข์โศก ช่วยให้โลกร่มเย็น ผ่อนทุกข์เข็ญ หมู่สัตว์ ให้ฉลาดรู้ธรรม อันงามพร้อมของพระศาสดา ทรงเมตตาประทานให้ เป็นสิ่งง่าายเหลือแสน ถ้าหากแม้นรู้จริง ตัดทิ้งซึ่งตัวข้า โคนเหง้าแห่งอวิชชา ขาดสิ้น สู่มรรค ผล นิพพาน :b8:

.....................................................
เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 18:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 09:34
โพสต์: 1478

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อโศกะ เขียน:
:b19: สวัสดี นะมัสเต ครับคุณศิรัสพล
มาที่ลานธรรมจักรนี้แล้วพบชื่อนี้ก็ดีใจ ยิ่งเห็นผลงานยิ่งดีใจใหญ่เลย ทำอย่างไรจะให้ น้องบู คนโคราช คุณ joeijo คุณวสวัตตี และอีกหลายท่านมาพบปะสนทนากันในลานธรรมจักรนี้บ้างนะครับ
เจัาของเวบดูมีเมตตา โล่งใจ สบายตา สบายจิต เปี่ยมด้วยกระแสพลังแห่งมิตร ให้อิสระเสริีทางธรรม
งามชื่นตามธรรมชาติ สะอาดกาย สะอาดใจ เกิดปีติ ความหวังใหม่ ที่จะเผยแพร่ ธรรมมะบริสุทธิ์ ไป สู่ดวงใจหมู่ชน ให้พ้นจากความมืด สิ้นความยึดความถือ ไม่ระบือบัญญัติ สนใจเน้นปรมัตถ์ เครื่องขจัดทุกข์โศก ช่วยให้โลกร่มเย็น ผ่อนทุกข์เข็ญ หมู่สัตว์ ให้ฉลาดรู้ธรรม อันงามพร้อมของพระศาสดา ทรงเมตตาประทานให้ เป็นสิ่งง่าายเหลือแสน ถ้าหากแม้นรู้จริง ตัดทิ้งซึ่งตัวข้า โคนเหง้าแห่งอวิชชา ขาดสิ้น สู่มรรค ผล นิพพาน :b8:


โอ้...จริง ๆ ก็เคยเห็นคุณที่กระดานอะไรน๊า จำชื่อไม่ค่อยได้
ก็ยังคิด ๆ อยู่ว่า...ถ้ากระดานนี้มีคนอย่างคุณมาวาดลวดลาย จะดีมากเลย
เราเองก็เฝ้าร๊อ เฝ้ารอ ผู้รู้...อย่างที่ระบายไว้น่ะค่ะ มาขยับเส้นสายในนี้บ้าง
คนที่กล่าว ๆ มา ชวนมาให้หมดเลยนะคะ อยากรู้จักทุก ๆ คนเลยค่ะ

วันนี้ช่างเป็นวันที่ดีจริง ๆ ค่ะ...
ดูเหมือนจะได้รับทั้งข่าวร้าย และข่าวดี...
และรู้สึกว่าจะดีมากกว่าร้ายค่ะ...

พ่อโทรไปคุยตั้งแต่เมื่อคืนว่าหมาที่เลี้ยงไว้มันกำลังจะตาย
ความตาย...มันยากตรงทำใจ...
แต่เมื่อผ่านไป...ก็เป็นเช่นนี้เอง... ...ได้รับข่าวดีค่ะ...
ข่าวดีจริง ๆ ...
เรื่องราวของมิตรที่เดินทาง...ทางธรรมด้วยกัน...
มหัศจรรย์ล้ำลึกยิ่งนัก...
ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ...
:b1: :b1: :b1:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ถึงคุณอโศกะ...

ผมเองดีใจเช่นเดียวกันครับ ที่ได้พบชื่อคุณในเว็ปนี้ และชื่นชมผลงานของคุณครับ...

ร่วมกันส่งเสริมรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ให้สูญหาย เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท...

ขอให้เจริญในธรรมครับ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 06:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ทางเดิน4ทาง สู่ ...ที่สุดแห่งทุกข์

จาก หนังสือพุทธธรรม ฉบับขยายความ

หน้า326

“๑) สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนามีสมถะนำหน้า (เรียกเต็มว่า สมถปุพพังคมวิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า)
๒) วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า (เรียกเต็มว่า วิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา การเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้า)
๓) ยุคนัทธสมถวิปัสสนา สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน (เรียกเต็มว่า สมถวิปัสสนายุคนัทธภาวนา การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่ไปด้วยกัน)
๔) ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส วิธีปฏิบัติเมื่อจิตถูกชักให้เขวด้วยธรรมุธัจจ์ คือ ความฟุ้งซ่านธรรม หรือ ตื่นธรรม (ความเข้าใจผิดยึดเอาผลที่ประสบในระหว่างว่าเป็นมรรคผลนิพพาน)…”



ในสมัยพุทธกาล มีแนวทางสู่ที่สุดแห่งทุกข์ อยู่๔ แนวทางหลัก


พอถึง ยุคสมัยอรรถกถา ก็มีการผนวกบางแนวทางแทรกเข้าไปไว้ในแนวทางอื่น และ ยุบรวมบางแนวทางไปไว้ในแนวทางอื่น... ก็เลยปรากฏว่า ในรุ่นอรรถกถา มีเหลืออยู่เพียงสองแนวทางหลัก คือ
1.สมถะยานิก(เจริญสมถะก่อนจนได้ฌานแล้วใช้ฌานเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง)
และ
2.วิปัสสนายานิก(เจริญวิปัสสนาโยตรงแล้วฌานจะปรากฏตามมาเอง)
ดังที่ คัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาลจำนวนมากยึดถือเป็นหลักกัน



ในหนังสือ พุทธธรรม หน้า 330 กล่าวประเด็นนี้ไว้ดังนี้

“บรรดาวิธีทั้ง๔ที่กล่าวมานี้
ถ้าถือตามแนวทางของอรรถกถาแล้ว ก็จัดได้ว่ามีวิธีที่เป็นหลักใหญ่เพียง๒ อย่าง คือ

วิธีที่๑ วิปัสสนามีสมถะนำหน้า

และ วิธีที่๒ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า

ส่วนสองวิธีหลังเป็นเพียงวิธีการที่แทรกซ้อนเข้ามาในระหว่างปฏิบัติ หรือเป็นส่วนเสริมขยายออกไปจากสองวิธีแรก

กล่าวคือ วิธีที่๓ สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน จัดได้ว่าเป็นข้อปฎิบัติส่วนที่ซับซ้อน ซึ่งซอยหรือ ขยายออกไปจากวิธีที่๑ นั่นเอง

ส่วนวิธีที่๔ ทางออกเมื่อจิตเขวด้วยธรรมุธัจจ์ ก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่แทรกเข้ามาในระหว่าง ในเมื่อปฏิบัติตามวิธีการตามข้อต้นๆ ไปบ้างแล้ว จนถึงขั้นตอนหนึ่งที่เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติพิเศษเฉพาะกรณี หรือ เป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง สำหรับใชแก้ปัญหาบางอย่างในระหว่างการปฏิบัติธรรม...”




"แนวทางเดินสู่อรหัตตผลที่๓(ตามพระสูตรดั้งเดิม) คือ ยุคนัทธสมถวิปัสสนา(สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน) ......

เมื่อเปรียบเทียบกันกับ

แนวทางเดินสู่อรหัตตผลที่๑(ตามพระสูตรดั้งเดิม) คือ สมถปุพพังคมวิปัสสนา(วิปัสสนามีสมถะนำหน้า) นั้น

เป็นแนวทางเดียวกันหรือไม่? "


ถ้าใช่ เหตุใดในสมัยพุทธกาล ท่านจึงแยกออกสองแนวทางนี้ออกเป็นแนวทางที่ต่างกัน?

ถ้าไม่ใช่ เหตุใดในรุ่นอรรถกถา จึงไม่กล่าวถึง แนวทางเดินสู่อรหัตตผลที่๓(ตามพระสูตรดั้งเดิม) แต่ เสมือนผนวกรวมแนวทางเดินที่๓นี้เข้าไว้ในแนวทางเดินที่๑ ....ซึ่ง เป็นเหตุให้ ในรุ่นอรรถกถา จึงเหลือเพียงสองแนวทาง(สมถยานิก-วิปัสสนายานิก)?





ปล...ความเห็นส่วนตัวของผมต่อประเด็นนี้

การที่ในรุ่นอรรถกถา เสมือนจัดให้ แนวทางที่๔(ในสมัยพุทธกาล) อยู่ในลักษณะที่ว่า แนวทางที่๔ เป็น คล้ายๆวิธีปฏิบัติที่คอยแทรกอยู่ในการปฏิบัติ๓อย่างข้างต้น เลยไม่กล่าวแยกเป็นแนวทางหนึ่งๆให้ชัดเจน เหมือนในสมัยพุทธกาลนั้น ก็พอจะเข้าใจเหตุผล.... (แต่ ขออนุญาตไม่เห็นด้วยครับ . เพราะ สำหรับพุทธเถรวาทแล้ว ทุกๆบทธรรมที่ได้รับการสังคายนามาจากปฐมสังคายนา ย่อมสำคัญ ทั้งสิ้น.)

แต่ พอมาถึงจุดที่ เสมือนมีการผนวกเอาแนวทางที่๓(สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน )เข้าไปไว้ในแนวทางที่๑ เลยทำให้แนวทางที่๓ดั้งเดิมไม่ปรากฏให้คนรุ่นหลังเห็นกันชัดเจน และ ในปัจจุบันบางท่าน จะกล่าว สมถยานิก จำกัดอยู่เพียงในความหมายว่า”ต้องได้ฌานก่อนแล้วมาเจริญวิปัสสนา และ ใช้ธรรมในองค์ฌานเป็นอารมณ์วิปัสสนาโดยตรง(ยกองค์ฌานขึ้นวิปัสสนา)” ซึ่ง นี่เป็นแนวทางที่พระสาวกในสมัยพุทธกาลผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในฌานเท่านั้น ท่านใช้เดินสู่อรหัตตผลกัน ดังเช่นที่ปรากฏในฌานสูตร .....

ที่สำคัญ ในแนวทางที่๓ดั้งเดิม ในสมัยพุทธกาล หาใช่ว่าต้องได้ฌานมาก่อนแล้วค่อยเจริญวิปัสสนาแต่อย่างใด แต่ เป็นลักษณะ เจริญฌานและ ญาณ ควบคู่ไปด้วยกัน. ….
ตรงจุดนี้ ผมขออนุญาตไม่เห็นด้วยกับการผนวกเอาแนวทางที่๓ไปไว้ในแนวทางที่๑ครับ .เพราะ จะอย่างไรเสีย พระสูตรนั้น ก็เป็นธรรมดั้งเดิมในสมัยพุทธกาลที่แสดงโดยพระอานนท์ผู้ที่ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปแทบทุกที่.และ ในการเจริญสติปัฏฐานหลายๆหมวด จะมีลักษณะของ การเจริญสมถะควบคู่กับวิปัสสนาที่ชัดเจนมาก.(การเจริญสติปัฏฐานนั้น ในตัวของธรรมเอง ก็มีทั้งส่วนที่เป็นสมถะและวิปัสสนาผสมกันอยู่ในตัว....อ่านรายละเอียดจุดนี้ได้จาก พุทธธรรม).


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 06:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ความจริงแล้ว ในแนวทางที่๑(เจริญสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า อย่างเดียวกันกับ เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น)นั้น หมายเอา พระสาวกในสมัยพุทธกาลที่ท่านเคยบำเพ็ญฌานมาก่อน เช่น ท่านที่เคยบวชเป็นฤาษี นักพรต ชฎิล ๆลๆ คือ ท่านเหล่านี้เชี่ยวชาญในฌานมากๆ จิตท่านหน่ายจากกาม หน่ายจากกามภพแล้ว (แม้นจะยังไม่ขาดจากกามอย่างสิ้นเชิงด้วยอนาคามีผลก็ตาม)... จิตท่านเอื้อต่อธรรมขั้นสูงมากกว่าฆราวาสผู้เป็นกามโภคี.....ที่ท่านยังติดตันอยู่ คือ รูปภพ อรูปภพ.... แนวทางที่๑นี้ จึงมุ่งไปในทางเจริญวิปัสสนาให้จิตหน่ายจาก รูปภพ อรูปภพ(องค์แห่งฌานต่างๆ) เช่น ที่ปรากฏใน ฌานสูตร


แต่ ในแนวทางที่๓(สมถะ ควบคู่กับ วิปัสสนา)นั้น
ไม่ใช่ว่าจะต้องไปได้ฌานมาก่อน แต่ เป็นลักษณะ ปรากฏทั้งฌาน และ ญาน ไปพร้อมๆกัน ในขณะเจริญอริยมรรค



อยากเสนอให้อ่านพระพุทธพจน์นี้
พระสูตรนี้ พระพุทธองค์ ตรัสถึง การเจริญสติปัฏฐานนั้นย่อมมีทั้ง" สมถะ และ วิปัสสนนา คู่เคียงกันเป็นไป"
(สติปัฏฐาน มิใช่มีเพียงวิปัสสนาอย่างเดียว)

[๘๓๑] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่อย่างนี้
ชื่อว่า มีสติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์

บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือ สมถะและ วิปัสสนา คู่เคียงกันเป็นไ

เขาชื่อว่า กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ละธรรมที่ควรละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
เจริญธรรมที่ควรเจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎกที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์



และ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านสรุปประมวลไว้ ในพุทธธรรม ดังนี้

สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ

”......สติปัฏฐาน แปลกันว่า ที่ตั้งของสติบ้าง การปรากฏของสติบ้าง ฯลฯ

ถือเอาแต่ใจความง่ายๆ ก็คือ การใช้สติ หรือ วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิด
ผลดีถึงที่สุด

อย่างที่กล่าวถึงในพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้ง
หลาย เพื่อข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำ ให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี้คือสติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมา และยกย่อง
นับถือกันอย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาในตัว.....”


สติปัฏฐานส่วนใหญ่ จึงเป็นการภาวนาในแนวทางที่๓




อนึ่ง
ในระดับพระสูตร กล่าว การเจริญสมถะวิปัสสนาคู่กัน ไว้ดังนี้


๕๓๘] ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปอย่างไร ฯ

ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยอาการ ๑๖ คือ ด้วย
ความเป็นอารมณ์ ๑ ด้วยความเป็นโคจร ๑ ด้วยความละ ๑ ด้วยความสละ ๑
ด้วยความออก ๑ ด้วยความหลีกไป ๑ ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ๑ ด้วยความ
เป็นธรรมประณีต ๑ ด้วยความหลุดพ้น ๑ ด้วยความไม่มีอาสวะ ๑ ด้วยความ
เป็นเครื่องข้าม ๑ ด้วยความไม่มีนิมิต ๑ ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ๑ ด้วยความว่าง
เปล่า ๑
ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและ
กัน ๑ ด้วยความเป็นคู่กัน ๑ ฯ


และ มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

ภิกษุนั้น
พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง
ประกอบด้วยวิปัสสนา
พอกพูนสุญญาคาร
ๆลๆ



ลองมาอ่าน อานาปานสติ ที่ท่านพุทธทาสท่านประมวลไว้ ว่า เป็น สมถะ-วิปัสสนา อันนำไปสู่ สุญญตา เช่นกัน

http://smartdhamma.googlepages.com/part ... buddhadhas

การพิจารณาเบญขันธ์ให้เป็นของว่างนั่นแหละ คือการสลัดเบญขันธ์ทิ้งออกไปซึ่งเรียกว่า ปริจจาคปฏินิสสัคคะ ; และพิจารณาเห็นจิตเป็นของว่างจากตัวตนนั่นแหละคือการทำจิตให้แล่นเข้าไปสู่ นิพพาน อันเป็นที่ดับของเบญจขันธ์ทั้งปวงซึ่งรวมทั้งจิตนั้นเองด้วย อันนี้เรียกว่า ปักขันทนปฏินิสสัคคะ.


การเจริญอานาปานสติ ท่านพุทธทาสก็กล่าวไว้ว่า
ในส่วน เวทนานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนานั้น มีทั้ง สมถะ(ฌาน) และ วิปัสสนา(ญาณ) ปนกันไป

“...จตุกกะที่หนึ่งเป็นสมถภาวนาล้วน
ส่วนจตุกกะที่สองและที่สามเป็นสมถภาวนาที่เจือกันกับวิปัสสนาภาวนา
ส่วนจตุกกะที่สี่นี้ เป็นวิปัสสนาภาวนาถึงที่สุด

สมถภาวนา คือการกำหนดโดยอารมณ์หรือนิมิต เพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต มีผลถึงที่สุดเป็นฌาน
; ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น กำหนดโดยลักษณะคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำจิตให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวงมีผลถึงที่สุดเป็นญาณ :

เป็นอันว่าอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุนี้
ตั้งต้นขึ้นมาด้วยการอบรมจิตให้มีกำลังแห่งฌานด้วยจตุกกะที่หนึ่ง
แล้วอบรมกำลังแห่งญาณให้เกิดขึ้นผสมกำลังแห่งฌานในจตุกกะที่สอง ที่สาม โดยทัดเทียมกัน
และกำลังแห่งญาณเดินออกหน้ากำลังแห่งฌาน ทวียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุดในจตุกกะที่สี่ จนสามารถทำลายอวิชชาได้จริงในลำดับนั้น….”


ที่นำมาให้อ่าน เพราะ เคยได้รับทราบความเห็นมาว่า "อานาปานสติ เป็นเฉพาะสมถะอย่างเดียว ไม่มีส่วนแห่งวิปัสสนา"


ในความจริงแล้ว ถ้าดูง่ายๆ จากพระพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ


ในเมื่อ สติปัฏฐานก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนา โพชฌงค์เองก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนา เช่นกัน.... แล้ว อานาปานสติ ที่ยังให้สติปัฏฐานและโพชฌงค์บริบูรณ์ จะไม่มีส่วนของวิปัสสนาเลยจริงๆหรือ?


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 06:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


บางท่าน
อาจจะเข้าใจผิดว่า ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า (แบบแนวทางที่๑ในสมัยพุทธกาล)กัน....


แต่ ความจริงแล้ว ครูบาอาจารย์ ท่านไม่ได้ใช้ธรรมในองค์แห่งฌานเป็นอารมณ์วิปัสสนาโดยตรง(แบบแนวทางที่๑ในสมัยพุทธกาล) น่ะครับ. ท่านก็ เจริญสติปัฏฐานนี้ละครับ(เน้นหมวดกาย) เพียงแต่ เจริญสติปัฏฐานในสภาวะจิตที่ปลอดนิวรณ์(ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเสียก่อน)


ดังเช่นที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

"......การแนะนำให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนานั้น หลวงปู่มั่นท่านย้ำอยู่เสมอว่า
จะใช้"พุทโธ"เป็นบทบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้ ***เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย.....แล้วพิจารณาร่างกาย *** ครั้งแรกให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เราสามารถจะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกในอาการ๓๒ เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจน กลับไป-กลับมา หรือที่เรียกว่าอนุโลม-ปฏิโลมแล้ว
เมื่อหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป.อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกาย ความชัดเจนจะไม่ปรากฏ....ต้องค่อยเป็นค่อยไป.....
เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว เมื่อเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใดจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน.....
เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ในความสงบ....เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้วให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีก..”


ซึ่งนี่ก็คือ การเจริญสติปัฏฐานภาวนานั่นละครับ เพียงอาศัยจิตที่ปลอดจากนิวรณ์เป็นเครื่องสนับสนุนการเจริญสติปัฏฐาน
หาใช่ว่า ”ใช้ธรรมในองค์ฌานเป็นอารมณ์วิปัสสนาโดยตรง” ดังเช่น ในความหมายที่๑แบบดั้งเดิม
ส่วน การเจริญสติปัฏฐาน จากที่ผมแสดงแหล่งอ้างอิงไว้ในความเห็นก่อนหน้านี้ ก็มีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา สมบูรณ์พร้อมในตัวอยู่แล้ว


ตรงจุดนี้ เป็นประเด็นที่เวลาสนทนากันเรื่อง สมถะ-วิปัสสนา จะเข้าใจตรงกันยาก ....

ถ้ามีการสนทนา เรื่อง การเจริญกายคตาสติแบบที่หลวงปู่มั่นท่านสอน ก็จะมีผู้เข้าใจผิดว่า เป็นการเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า(แบบแนวทางที่๑ในสมัยพุทธกาล) และ ก็มักจะกล่าวในลักษณะกึ่งถาม ว่า
"...ไม่เห็น ท่านแสดงวิธีการยกฌานขึ้นมาเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาเลย..."


คำตอบ ก็คือ

ที่ท่านไม่ยกฌานขึ้นมาเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง แบบในแนวทางที่๑.... ก็เพราะท่านไม่ได้เดินในแนวทางที่๑นั่นเอง!!!


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 06:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ในแนวทางที่๒ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของกระทู้นี้

คือ การเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า(อย่างเดียวกับ เจริญสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น)ในสมัยพุทธกาล หรือ วิปัสสนายานิกในรุ่นอรรถกถา.


อนึ่ง แนวทางนี้ มีความเห็นไม่ตรงกัน ในระดับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งๆที่ใช้พระสูตรเดียวกัน อรรถกถาเดียวกัน อธิบาย !!!


…………..

ลองอ่าน พระบาลี

[๕๓๗] กถํ วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวติ ฯ

อนิจฺจโต อนุปสฺสนฏฺเน วิปสฺสนา ทุกฺขโต อนุปสฺสนฏฺเน วิปสฺสนา
อนตฺตโต อนุปสฺสนฏฺเน วิปสฺสนา

ตตฺถ ชาตานํ ธมฺมานํ จ โวสฺสคฺคารมฺมณตา จิตฺตสฺส เอกคฺคตา อวิกฺเขโปสมาธิ

อิติ

ปฐมํ วิปสฺสนา ปจฺฉา สมโถ
เตน วุจฺจติ วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวติ ฯ


[๕๓๗] ภิกษุนั้นย่อม เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น อย่างไร ฯ

วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

ความที่ จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ เพราะ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ

ด้วยประการดังนี้

วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ 31 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา
ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา



และ จากอรรกถา

บทว่า วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถ ภาเวติ ย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น คือ ภิกษุเจริญสมถะ ทำวิปัสสนาให้เป็นเบื้องต้น คือให้ไปถึงก่อน. ความว่า ยังวิปัสสนาให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญสมาธิภายหลัง.


………………….


สังเกตุคำในอรรกถาน่ะครับ ตรงคำว่า "ยังวิปัสสนาให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญสมาธิภายหลัง" .
การเจริญสมาธิภายหลังนั้น หมายเอา ภายหลังจากเจริญวิปัสสนา(และ กำลังจะบรรลุธรรม) หรือ ภายหลังจากบรรลุอรหัตตผลไปแล้ว?

นี่เป็นประเด็นสำคัญ ที่จะแสดงต่อไป


@ กลุ่มแรก จะมีความเห็นว่า “สมถะ (ฌาน หรือ เอกัคคตาจิต)”ในการเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า นั้น เป็นลักษณะที่ว่า สมถะจะเป็นของที่ปรากฏตามมาเองโดยอัตโนมัติในการเจริญวิปัสสนาโดยตรง(แนวทางนี้ไม่ได้ฌานมาก่อน).
ในกลุ่มนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านปริยัติ เช่น ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านแสดงไว้.
และ พระสุปฏิปันโนด้านปฏิบัติโดยตรง เช่น หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย , หลวงปู่ ชาสุภัทโท ท่านได้กล่าวถึงเอกัคคตาจิตที่เป็นผลจากวิปัสสนาโดยตรงไว้เช่นกัน


ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านแสดงความเห็นไว้ดังนี้

จาก หนังสือพุทธธรรม หน้า328

“ขยายความตามอรรถกถาว่า ผู้ปฏิบัติยังมิได้ทำสมถะให้เกิดขึ้นเลย แต่มาพิจารณาเห็นแจ้งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามสามัญลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น อันนับว่าเป็นวิปัสสนา พอวิปัสสนาเต็มเปี่ยมดี จิตก็จะเกิดภาวะมีอารณ์หนึ่งเดียว(=สมาธิ)ขึ้น โดยมีความปล่อยวางธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั่นเองเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นสมถะ เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน .

อย่างไรก็ตาม อรรถกถาสรุปว่า ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า หรือเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะต้องเกิดขึ้นด้วยกันอย่างควบคู่เป็นการแน่นอนเสมอไป . ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าโดยหลักพื้นฐานแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคมั่นเอง วิปัสสนาได้แก่สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ สมถะได้แก่องค์มรรคที่เหลืออีก ๖ ข้อ ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่องค์มรรคเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะบรรลุอริยภูมิ….”


และ จาก หนังสือพุทธธรรม หน้า 331

"....เมื่อผู้เป็นวิปัสสนายานิกเจริญวิปัสสนาต่อๆไป สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย ถึงตอนนี้อาจเจริญวิปัสสนาด้วยอุปจารสมาธิ(สมาธิจวนจะแน่วแน่ หรือ สมาธิจวนจะถึงฌาน)ก็ได้ จนในที่สุดเมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็จะแน่วแน่สนิทเป็นอัปปานาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน(ฌานที่1 หรือ รูปฌานที่1)

เป็นอันสอดคล้องกับหลักที่แสดงไว้แล้วว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล...."




หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย ท่านได้กล่าวถึง เอกัคคตาจิต ที่เป็นผลโดยตรงจากการเจริญวิปัสสนาไว้ดังนี้

“คำว่าสมถกรรมฐาน ก็ดี คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน ก็ดี
ขอให้ท่านทั้งหลายพึงทำความเข้าใจก่อนว่า เป็นชื่อของวิธีการ

การภาวนาพุทโธ ๆ ๆ หรือการภาวนาอย่างอื่น
หรือการภาวนาแบบเพ่งกสิณ อันนั้นปฏิบัติตามวิธีของสมถะ

แต่ถ้าเราปฏิบัติด้วยการใช้ความคิดหรือกำหนดจิตรู้ตาม
ความคิดของตัวเอง หรือจะหาเรื่องราวอันใด เช่น
เรื่องของธาตุขันธ์ อายตนะมาพิจารณา
เช่น พิจารณาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรทำนองนี้
อันนี้การน้อมจิตน้อมใจน้อมภูมิความรู้ความเข้าไปสู่
กฎพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านเรียกว่าปฏิบัติตามวิธีการแห่งวิปัสสนา

แต่ทั้ง 2 อย่างนี้เราจะปฏิบัติด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้

ถ้าท่านผู้ที่บริกรรมภาวนา จิตมันไม่เคยสงบเป็นสมาธิซักที
จะไปรอให้มันสงบ มันไม่เคยสงบซักที ก็มาพิจารณาซิ
ยกเรื่องอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ ซึ่งมันเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ
พิจารณาไปจนกระทั่งจิตมันคล่องตัว
พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็เป็นทุกข์ อันนั้นก็เป็นอนัตตา
คิดเอาตามสติปัญญาที่เราจะคิดได้
คิดย้อนกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้

คิดจนกระทั่งมันคล่องตัว จนกระทั่งเราไม่ได้ตั้งใจคิด
จิตมันคิดของมันเอง ซึ่งมันอาจจะเอาเรื่องอื่นมาคิดอยู่ไม่หยุดก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็เข้าลักษณะเหมือนกันกับภาวนา

ถ้าจิตมันคิดของมันเอง สติรู้พร้อมอยู่เอง มันก็ได้วิตก วิจาร
ในเมื่อจิตมีวิตก วิจาร เพราะความคิดอ่านอันนี้
มันก็เกิดมีปีติ มีความสุข มีเอกัคตา
มันจะสงบลงไปเป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ....”



หลวงปู่ ชา สุภัทโท ท่านก็ได้กล่าวถึง เอกัคคตาจิต ที่มาจากการเจริญวิปัสสนาไว้ดังนี้

“….คนภาวนาเป็น มีอารมณ์เป็นอันเดียว

อารมณ์อันเดียวคืออะไร?

ไม่เอาเรื่องกับใคร เรียกว่าอารมณ์อันเดียว

มันเปลี่ยนจาก อารมณ์อันเดียวของสมถกรรมฐาน
สมถกรรมฐานเอาเรามาเรียนภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ๆ อันเดียว มันน้อยไป ถ้ามันพลาดจากพุทโธแล้วมันไปที่ไหนก็ได้ .....
อารมณ์อันเดียว คือ อารมณ์วิปัสสนานั่นแหละ ....ไม่มีชั่ว ไม่มีดี ....มีดี มีชั่ว แต่จิตของเราอยู่เหนือชั่วเหนือดีทั้งนั้น ฉะนั้นเป็นอารมณ์อันเดียวอย่างนี้

ปล่อยมันทิ้งไป เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาหมดทั้งสิ้นอย่างนี้

นี้การปล่อยวางทั้งหมด นั้นเรียกว่าการภาวนาที่ถูกต้อง…”




@ กลุ่มที่สอง มีความเห็นว่า ท่านเจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหันต์แล้ว แม้นในขณะที่บรรลุอรหันต์แล้ว ฌานก็ยังไม่บังเกิดขึ้น ..... คือ ฌาน ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการเจริญวิปัสสนา.....บรรลุอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ท่านนั้นท่าน“ต้องการที่จะได้ฌาน” จึง มาเจริญฌานเอา ภายหลังจากบรรลุอรหัตตผลแล้ว

ดังปรากฏ ตามที่ พระครูศรีโชติญาณ ท่านแสดงไว้ดังนี้

“.....ส่วนคำของอรรถกถาท่านหมายความง่ายๆ ว่า ได้วิปัสสนาแล้วแต่อยากได้ฌานก็ทำฌานให้เกิดขึ้นเท่านั้น เราก็พอจะถือเอาความได้ว่า พระอริยะผู้ที่เป็นวิปัสสนาลาภี คือ ผู้ที่ได้วิปัสสนาจนเป็นพระโสดา - สกทาคามี -อนาคามี และพระอรหันต์แล้ว แต่ ต้องการที่จะได้ฌาน ก็มาทำฌาน คือ สมาธิ หรือสมถะให้เกิดขึ้นในภายหลัง จนกระทั่งได้สมาบัติ ๘ อย่าง นี้เรียกว่า ทำสมถะที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นฯ….”


ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือว่า ทำไมพระอรหันต์ที่ท่าน”จบกิจ” คือ สิ้นชาติ ขาดภพ แล้ว ท่านยังคง ”อยากได้ฌาน”(มีตัณหา ใน รูปภพ อรูปภพ?) อยู่ ....

( กรณีนี้ ต้องไม่นำไปสับสนกับ กรณีพระอรหันต์ที่ท่านเชี่ยวชาญในฌานสมาบัติมาก่อนที่จะบรรลุอรหัตตผล แล้วท่านใช้ฌานสมาบัติเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันน่ะครับ.... เป็นคนล่ะประเด็นกัน. พระอรหันต์ที่ท่านเชี่ยวชาญในฌานสมาบัติมาก่อนที่จะบรรลุอรหัตตผลนั้น หาใช่ว่าท่านจะมาฝึกฌานเอาภายหลัง แต่ ท่านเชี่ยวชาญในฌานสมาบัติมาก่อนบรรลุอรหัตตผลอยู่แล้ว)

ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า ในกลุ่มที่บรรลุอรหัตตผลแนวนี้ ทุกองค์ไหม ที่จะมาฝึกฌานหลังจากบรรลุอรหัตตผลแล้ว... ถ้า ไม่ใช่ทุกองค์ที่มาฝึกฌานหลังจากบรรลุอรหัตตผลแล้ว ก็จะต้องมีบางองค์ที่ไม่ได้มาฝึกฌาน . ......ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็สมควรน่าจะมีแนวทางที่๕ คือ "เจริญวิปัสสนาล้วนโดยไม่มีสมถะเป็นเบื้องหน้า"???


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 07:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ม.ค. 2009, 18:57
โพสต์: 159


 ข้อมูลส่วนตัว


พึงทำความสมดุลของสมถะและวิปัสสนา

ภิกษุ ท. ! บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก. สี่จำพวกอย่างไรเล่า ? สี่คือ

บุคคลบางคน ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญา ;
บุคคลบางคน ได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ;
บุคคลคน ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะในภายในและไม่ได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญาด้วย ;
บุคคลบางคน ได้ทั้งเจโตในภายในด้วยและได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญาด้วย.

ภิกษุ ท. ! ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น
๑. บุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญา
บุคคลนั้น ควรดำรงตนอยู่ในเจโสมถะในภายใน แล้วประกอบความเพียรในธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญา
เถิด. สมัยต่อมาเขาจะเป็นผู้ได้ทั้งเจโสมถะในภายใน และได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย.

๒. ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโต-สมถะในภายใน
บุคคลนั้น ควรดำรงตนอยู่ในอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วประกอบความเพียรในเจโสมถะในภายใน.
สมัยต่อมา เขาจะเป็นผู้ได้ทั้งได้ธัมมวิปัสสนาด้วยอธิปัญญาด้วย และได้เจโสมถะในภายใน

๓. ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนานั้น
บุคคลนั้น เพื่อให้ได้ซึ่งกุศลธรรมสองอย่างนั้น พึงกระทำโดยประมาณอันยิ่งซึ่งฉันทะ (ความพอใจ)
วายามะ (ความพยายาม) อุสสาหะอุสโสฬ ๎หี (ความขะมักเขม้น) อัปปฏิวาณี (ความไม่ถอยหลง)
สติ และสัมปชัญญะ ให้เหมือนกับคนมีไฟลุกโพลงที่เสื้อผ้าหรือที่ศรีษะ พึงกระทำซึ่งฉันทะ วายามะ
อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวาณี สติ สัมปะชัญญะ โดยประมาณอันยิ่ง เพื่อจะดับไฟอันลุกโพลงที่เสื้อผ้า
หรือที่ศีรษะนั้นเสีย, ฉันใดก็ฉันนั้น.
สมัยต่อมาเขาจะเป็นผู้ได้ทั้งเจโสมถะในภายใน และได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย.

๔. ภิกษุ ท. ! ส่วน บุคคลผู้ได้ได้ทั้งเจโตในภายใน และได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา
บุคคลนั้น ควรดำรงอยู่ในกุศลธรรมทั้งสองนั้นแล้วประกอบความเพียร
เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป

ภิกษุ ท. ! บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้แล มีอยู่ หาอยู่ ในโลก.
-จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๒๔/๙๓
----------------------------
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 07:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ม.ค. 2009, 18:57
โพสต์: 159


 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติเพื่อความสมดุลแห่งสมถะและวิปัสสนา

ภิกษุ ท. ! ในบรรดาสี่จำพวกนั้น

๑.บุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! เราควรเห็นสังขารกันอย่างไร? ควรพิจารณากันอย่างไร? ควรเห็นสังขารกันอย่างไร?”ดังนี้.
ผู้ถูกถามนั้น จะพยากรณ์ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้นว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! สังขารควรเห็นกันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ๆ” ดังนี้.
สมัยต่อมา บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.

๒. ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถนในภายใน นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลใดเจโตสมถะในภายในแล้วท่านถามว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงอยู่ (สณฺฐเปตพพฺ) อย่างไร? ควรถูกชักนำไป (สนฺนิยาเทตพฺพ) อย่างไร? ควรทำให้ตั้งมั่น (สมาทหาตพฺพ)อย่างไร? ” ดังนี้.
ผู้ถูกถามนั้นจะพยากรณ์ ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้นว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมเดียวด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอารการอย่างนี้ ๆ” ดังนี้.
สมัยต่อมา บุคคลนั้น ก็จะเป็นผู้ได้ทั้งอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาและเจโตสมถะในภายใน.

๓. ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้อย่างไร? ควรถูกชักนำไปอย่างไร? ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียวอย่างไร?ควรทำให้ตั้งมั่นอย่างไร? สังขารเป็นสิ่งที่ความเห็นอย่างไร? ควรพิจารณาอย่างไร? ควรเห็นแจ้งอย่างไร? ดังนี้.
ผู้ถูกถามนั้นจะพยากรณ์ ตามที่ตนเห็นแล้วแจ่มแจ้งแล้วอย่างไร ? แก่บุคคลนั้น ว่า
“ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ด้วยอาการอย่างนี้? ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, สังขารเป็นสิ่งที่ความเห็นกันอย่างนี้ ๆ, ควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ,ควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ ๆ” ดังนี้.
สมัยต่อมา บุคคลนั้น ก็จะเป็นผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.

๔. ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงดำรงอยู่ในธรรมทั้งสองนั้น แล้วประกอบความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป.

ภิกษุ ท. ! บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.
- จุตกฺก. อํ. ๒๑/๑๒๒ – ๑๒๔/๙๔.
--------------------
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร