วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 22:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีตามรักษาสัจจะ และวิธีรู้ตามสัจจะ(วิธีพิจารณาว่าควรเชื่อหรือไม่)

ธรรม ๕ ประการมีวิบากเป็นสองส่วน

[๖๕๕] พ. ดูกรภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้ไปสู่ความเชื่อ เดี๋ยวนี้ท่านกล่าวการฟัง
ตามกัน ดูกรภารทวาชะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบากเป็นสองส่วน ในปัจจุบัน ๕ ประการ
เป็นไฉน? คือ ศรัทธา ความเชื่อ ๑ รุจิ ความชอบใจ ๑ อนุสสวะ การฟังตามกัน ๑ อาการ
ปริวิตักกะ ความตรึกตามอาการ ๑ ทิฏฐินิชฌานขันติ ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ ๑
ธรรม ๕ ประการนี้แล มีวิบากเป็นสองส่วนในปัจจุบัน ดูกรภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกัน
ด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้น
เป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่ง สิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว ... สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว ...
สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว ... สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้
สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี ดูกรภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้ง
เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า.


กา. ท่านพระโคดม ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงจะชื่อว่าเป็นการตามรักษาสัจจะ
บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการตาม
รักษาสัจจะ?

พยากรณ์การรักษาสัจจะ

[๖๕๖] พ. ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา เขากล่าวว่า ศรัทธาของเราอย่างนี้
ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตาม
รักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ ... มีการ
ฟังตามกัน ... มีความตรึกตามอาการ ... มีการทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิ เขากล่าวว่า การทนต่อ
การเพ่งด้วยทิฏฐิของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดย
ส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วย
ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการ
ตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน.
กา. ท่านพระโคดม การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่า
ตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็ง การรักษาสัจจะด้วยข้อ
ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การตรัสรู้สัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อม
ตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงการตรัสรู้สัจจะ?

ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... 94&Z=10534

(ต่อ)


แก้ไขล่าสุดโดย ศิรัสพล เมื่อ 16 มิ.ย. 2009, 09:46, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


พยากรณ์การรู้ตามสัจจะ (วิธีพิจารณาก่อนว่าควรเชื่อหรือไม่)

[๖๕๗] พ. ดูกรภารทวาชะ ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคม
แห่งหนึ่งอยู่. คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรม
๓ ประการ คือ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ๑ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ๑
ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑ ว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ มีจิตอันธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็พึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใด
พึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
เช่นนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่
ตั้งแห่งความโลภ ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำ ท่านผู้นี้เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้
เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือว่าสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกาย
สมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้น ลึกซึ้ง
เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้
ธรรมนั้นอันคนโลภแสดงไม่ได้โดยง่าย. เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด เธอ
บริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ เมื่อนั้น เขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึง
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
อย่างนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึง
กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกาย
สมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้น
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิต
พึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ประทุษร้ายแสดงไม่ได้โดยง่าย. เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ย่อมเห็น
แจ้งชัดว่า เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย เมื่อนั้นเขาย่อมใคร่ครวญเธอให้
ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง มีจิตอันธรรม
เป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึง
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
เช่นนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความหลง ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้
เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร
วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่หลง ฉะนั้น ก็ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็น
ได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ ธรรม
นั้นอันบุคคลผู้หลงพึงแสดงไม่ได้โดยง่าย เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัดว่า
เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง เขา
เกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เขา
เงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้
เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อม
เกิดฉันทะ เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียง
แล้วย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่ ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้ง
แทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติ
เพียงเท่านี้แล บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว.
กา. ท่านพระโคดม การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมตรัสรู้
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็งการตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงการบรรลุสัจจะ?

(ต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 09:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


พยากรณ์การบรรลุสัจจะ

[๖๕๘] พ. ดูกรภารทวาชะ การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
แล ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ ดูกรภารทวาชะ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติ
เพียงเท่านี้.
กา. ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุ
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็งการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน
พระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ?
พยากรณ์ธรรมมีอุปการะมาก
[๖๕๙] พ. ดูกรภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้ง
ความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียร
จึงมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร?
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณา
ก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณาจึงตั้งความเพียรได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณา
จึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นไฉน ข้าพเจ้า
ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ความอุตสาหะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้า
ไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึงมี
อุปการะมากแก่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูล
ถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึง
อุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน
พระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ธรรมที่ควรแก่การเพ่งมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรมทั้งหลายไม่
ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การเพ่ง ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้น
ธรรมที่ควรแก่การเพ่งจึงมีอุปการะมากแก่ฉันทะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรการเพ่งเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่
การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญ
เนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง ฉะนั้น ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ จึงมี
อุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญา เครื่องใคร่ครวญเนื้อความเป็นไฉน
ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ?
พ. ดูกรภารทวาชะ การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ
ถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้น ก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญ
เนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมไว้ จึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึงฟังธรรม
ก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรมจึงมีอุปการะ
มากแก่การทรงจำธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การฟังธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึงเงี่ยโสตลง
ก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสตลงจึงมีอุปการะมาก
แก่การฟังธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลงเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้
ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลง ฉะนั้น การเข้าไปนั่งใกล้จึงมีอุปการะ
มากแก่การเงี่ยโสตลง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหา
ก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้า
ไปนั่งใกล้.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหาเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึง
เข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา.
กาปทิกมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๖๖๐] กา. ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมทรง
พยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตรัสรู้สัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่
ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์ และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้ง
ชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมี
อุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้ง
ชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงข้อใดๆ
ท่านพระโคดมได้ทรงพยากรณ์ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่
ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า พวก
สมณะหัวโล้นเชื้อสายคฤหบดีกัณหโคตร เกิดจากพระบาทท้าวมหาพรหม จะแปลกอะไรและจะ
รู้ทั่วถึงธรรมที่ไหน พระโคดมผู้เจริญได้ทรงทำความรักสมณะในสมณะ ความเลื่อมใสสมณะใน
สมณะ ความเคารพสมณะในสมณะ ให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไป ฉะนี้แล.

ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... 94&Z=10534


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 12:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


สวัสดีครับ ท่านศิรัสพล และทุกท่านครับ

ขอร่วมสนทนาด้วยครับ

ความรู้ความคิดเห็นในระดับที่ยังเป็นความเชื่อและเหตุผล ยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่อง มีทางผิดพลาด ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงความจริง
“แนะท่านภารทวาชะ ธรรม๕ประการนี้มีวิบาก๒ส่วนในปัจจุบันทีเดียว คือ
๑.ศรัทธา - ความเชื่อ
๒.รุจิ - ความถูกใจ
๓.อนุสสวะ - การฟัง (หรือเรียน) ตามกันมา
๔.อาการปริวิตักกะ - การคิดตรองตามแนวเหตุผล
๕.ทิฏฐินิชฌานักขันติ - ความเข้ากันได้กับ (การเพ่งพินิจด้วย) ทฤษฎีของตน

ก็สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับกลายเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี แม้สิ่งที่ไม่เชื่อเลยทีเดียว แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
ถึงสิ่งที่ถูกกับใจชอบทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เห็นชอบถูกใจเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
ถึงสิ่งที่เรียนต่อกันมาอย่างดีทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เรียนตามกันมาเลย แต่กลับกลายเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
ถึงสิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้วทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เป็นอย่างที่คิดตรองเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี
ถึงสิ่งที่เพ่งพินิจไว้เป็นอย่างดี (ว่าถูกต้องตรงตามทิฏฐิทฤษฎีหลักการของตน) กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เพ่งพินิจเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี”


ม.ม.๑๓/๖๕๕/๖๐๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 12:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณคุณ mes ที่เข้ามาร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็นครับ :b8:

พระสูตรดังกล่าวนี้ใช้เตือนใจได้ดีทีเดียวครับ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 13:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


สัจจานุรักข์
“บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นเป็นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)
ถ้าแม้นบุรุษมีความเชื่อ (ศรัทธา อยู่อย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ยังชื่อว่าเขาคุ้มครองสัจจอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดอย่างเดียวลงไปว่า “อย่างนี้เท่านั้นเป็นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้จึงชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าผู้คุ้มครองสัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการคุ้มครองสัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าการหยั่งรู้สัจจะ”
“ถ้าแม้นบุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ....มีการเรียนต่อกันมา....มีการคิดตรองตามเหตุผล....มีความคิดเห็นตรงกับทฤษฎีของตนอยู่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นที่ถูกใจอย่างนี้....มีการเล่าเรียนมาอย่างนี้....มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้....มีความเห็นตามทฤษฎีของตนว่าอย่างนี้” ก็ยังชื่อว่าเขายังคุ้มครองสัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นเป็นจริง อย่างอื่นเหลวไหล(ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ และผู้นั้นก็ชื่อว่าคุ้มครองสัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัต้การคุ้มครองสัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ”


ม.ม.๑๓/๖๕๕-๖/๖๐๑-๒


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 14:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อให้หยั่งรู้และเข้าใจถึงสัจจะ และในกระบวนการปฏิบัตินี้ จะมองเห็นการเกิดศรัทธา ความหมาย ความสำคัญ และขอบเขตความสำคัญของศรัทธาไปด้วย ดังนี้

“ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงจะมีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลจึงจะชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ?”
“เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโมหะ ท่านผู้นี้มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆหรือไม่”
เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและเกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆได้เลย อนึ่งท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่มีโลภ ธรรมที่ท่านผู้นี้แสดงก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรก ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ ธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่คนโลภจะแสดงได้ง่ายๆ”
เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขายิ่งตรวจเธอยิ่งๆขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ....ในธรรมจำพวกโมหะฯลฯ”
เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากโมหะแล้ว คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในตัวเธอ”
“เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเขาเข้าหาก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อนั่งอยู่ใกล้เงี่ยโสตลง(ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับธรรม ครั้งได้สดับแล้วก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ก้เห็นชอบด้วยกับข้อธรรมตามที่(ทนต่อการ)คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อห็นด้วยกับข้อธรรมที่คิดเพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ เมื่ออุตสาหะแล้วก็มาคิดทบทวนเทียบเคียง ตั้งเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทำทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำปรมัตถ์สัจจะให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถ์สัจจะนั้นด้วยปัญญา ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่ามีการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเข้าถึงสัจจะก่อนฯลฯ”
“ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงมีการเข้าถึงสัจจะ และคนจึงจะเข้าถึงสัจจะ?”
“การอาเสวนา การเจริญ และการทำมาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจนุบัติ)ฯลฯ”

ม.ม.๑๓/๖๕๗/๖๐๒-๕


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 133 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร