ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
สิ่งที่ควรรู้ http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=24213 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ภัทร์ไพบูลย์ [ 23 ก.ค. 2009, 13:16 ] |
หัวข้อกระทู้: | สิ่งที่ควรรู้ |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ๕๓. ลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้ คือ ๑. วาจาที่กล่าว (ถูกต้อง) ตามกาล ๒. วาจาที่กล่าว เป็นความจริง ๓. วาจาที่กล่าว อ่อนหวาน ๔. วาจาที่กล่าว ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. วาจาที่กล่าว ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๑ ๕๔. เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่นาน "สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ ใกล้เมืองมิถิลา ลำดับนั้น ท่านพระกิมพิละ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยืนในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว." "ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกัน. นี้แล กิมพิละ เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๕ ๕๕. เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน "พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๕ ๕๖. การค้าขาย ๕ อย่างที่อุบาสกไม่ควรทำ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อันอุบาสกไม่ควรทำ คือ ๑. การค้าขายศัสตรา (สัตถวณิชชา) ๒. การค้าขายสิ่งมีชีวิต (สัตตวณิชชา)๑ ๓. การค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา)๒ ๔. การค้าขายน้ำเมา (มัชชวณิชชา) ๕. การค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้า ๕ อย่างเหล่านี้ อันอุบาสกไม่ควรทำ." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๓๒ ๕๗. คนพูดมากมีโทษ ๕ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดมาก คือ ๑. ย่อมพูดปด ๒. ย่อมพูดส่อเสียด (คือยุให้แตกร้าวกัน) ๓. ย่อมพูดคำหยาบ ๔. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคผู้พูดมาก." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒ ๕๘. คนพูดด้วยปัญญามีอานิสงส์ ๕ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา คือ ๑. ไม่พูดปด ๒. ไม่พูดส่อเสียด ๓. ไม่พูดคำหยาบ ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา." ๕๘. คนพูดด้วยปัญญามีอานิสงส์ ๕ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา คือ ๑. ไม่พูดปด ๒. ไม่พูดส่อเสียด ๓. ไม่พูดคำหยาบ ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒ ๕๙. โทษของความไม่อดทน ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการของความไม่อดทนเหล่านี้ คือ ๑. ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนมาก ๒. มากไปด้วยเวร ๓. มากไปด้วยโทษ ๔. หลง ถึงแก่ความตาย ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒ ๖๐. อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการเหล่านี้ คือ ๑. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนมาก ๒. ไม่มากไปด้วยเวร ๓. ไม่มากไปด้วยโทษ ๔. ไม่หลง ถึงแก่กรรม ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒ ๖๑. อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ ๑. ย่อมได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ๒. สิ่งที่ได้ฟังแล้ว ย่อมชัดเจนขึ้น ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้ ๔. ทำความเห็นให้ตรงได้ ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๖ ๖๒. อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการเหล่านี้ คือ ๑. บรรเทาความหิว ๒. บรรเทาความกระหาย ๓. ลมเดินสะดวก ๔. ชำระลำไส้ ๕. ทำอาหารที่ยังไม่ย่อยที่เหลือให้สุก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘ ๖๓. โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้ คือ ๑. สายตาไม่ดี ๒. ปากมีกลิ่นเหม็น ๓. ประสาทรับรสไม่หมดจด ๔. ดีและเสมหะรึงรัดอาหาร ๕. รับประทานอาหารไม่มีรส๓ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘ ๖๔. อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้ คือ ๑. สายตาดี ๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น ๓. ประสาทรับรสหมดจด ๔. ดีและเสมหะไม่รึงรัดอาหาร ๕. รับประทานอาหารมีรส "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘ ๖๕. โทษในการกล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาวของภิกษุ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว คือ ๑. ตนเองก็ติดในเสียงนั้น ๒. ผู้อื่นก็ติดในเสียงนั้น ๓. คฤหับดีทั้งหลายจะยกโทษว่า สมณะ ศากยบุตรเหล่านี้ขับร้องเหมือนพวกตน ๔. เมื่อติดใจการทอดเสียง สมาธิก็ทำลาย ๕. ประชุมชน(ภิกษุ) ในภายหลังจะถือเป็นแบบอย่าง "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙ ๖๖. โทษของผู้หลับโดยไม่มีสติสัมปชัญญะ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ของผู้หลงลืมสติ ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ คือ ๑. หลับเป็นทุกข์ ๒. ตื่นเป็นทุกข์ ๓. ฝันร้าย ๔. เทวดาไม่รักษา ๕. น้ำอสุจิเคลื่อน "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของผู้หลงลืมสติ ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙ ๖๗. อาสงส์ของผู้หลับโดยมีสติสัมปชัญญะ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ คือ ๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข ๓. ไม่ฝันร้าย ๔. เทวดารักษา ๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ ๕ ประการเหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙ ๖๘. อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวว่า อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) เมือ่กล่าวให้ชอบ ก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง. นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี คือ ๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม ๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงงุน ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวว่า อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) เมื่อกล่าวให้ชอบ ก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๗๔ ๕ ประการ๖๙. ผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือ ๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ละเอียดอ่อน หาได้ยาก ๒. ผู้บวชเมื่อแก่ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา หาได้ยาก ๓. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้คงแก่เรียน๔ หาได้ยาก ๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระรรมกถึก๕ หาได้ยาก ๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล หาได้ยาก" ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๙๐ ๗๐. ผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม หาได้ยากอีกประเภทหนึ่ง "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือ ๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ว่าง่าย หาได้ยาก ๒. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่รับโอวาทด้วยดี หาได้ยาก ๓. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่รับโอวาทโดยเคารพ๖ หาได้ยาก ๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระธรรมกถึก หากได้ยาก ๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล หาได้ยาก." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๙๐ ๗๑. สัมปทา (ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์) ๕ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ เหล่านี้ คือ ๑. สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความเชื่อ๗ ๒. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล ๓. สุตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการสดับตรับฟัง ๔. จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ ๕. ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ เหล่านี้แล." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๘ ๗๒. คนที่เกิดมาเพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนมาก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนดี๘ เมื่อเกิดมาในสกุลย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก คือ ๑. แก่มารดา บิดา ๒. แก่บุตร ภรรยา ๓. แก่ทาส กรรมกร และชาวเมือง ๔. แก่มิตร และอำมาตย์ ๕. แก่สมณและพราหมณ์๙ "เสมือนหนึ่งเมฆฝนใหญ่ เมื่อทำให้ข้าวกล้าสมบูรณ์ก็ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก." ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๐ -------------------------------------------------------------------------------- ๑. หมายถึงขายมนุษย์ ๒. หมายถึงสัตว์เลี้ยงประเภทใช้ฆ่ากินเนื้อไว้ขาย ๓. แปลตามตัวว่า อาหารของผู้นั้น ไม่ทำความพอใจให้ ๔. พหุสฺสุโต สดับตรับฟังมาก ๕. ผู้แสดงธรรม ๖. ปทกฺขิณคฺคาหี รับโดยเบื้องขวา ๗. ในที่ไหนสอนให้มีความเชือ่ ในที่นั้นจะสอนให้มีปัญญาเสมอ ๘. สปฺปุริโส ตรงกับคำว่า สัตบุรุษ ๙. การใช้คำคู่แบบนี้ เป็นสำนวนบาลี ![]() ![]() ![]() ![]() _________________ ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |