ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=24589
หน้า 1 จากทั้งหมด 14

เจ้าของ:  Passa [ 02 ส.ค. 2009, 20:38 ]
หัวข้อกระทู้:  จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ตามหัวข้อครับ

ผมสงสัยว่า ไอ้ที่จิต (ตัวรู้) นี้ มันจะเหมือนกับ สมอง ไหมครับ เพราะไม่มีสมองเราก็ไม่รับรู้อะไร งง

รบกวนท่านผู้รู้ตอบด้วยครับ smiley

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า :b8:

เจ้าของ:  Weerawat [ 03 ส.ค. 2009, 02:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

จิตเป็นนามธรรม ครับ

ส่วน สมองเป็นรูปธรรม

ก็เหมือนความรัก กับคู่รัก

:b4:

เจ้าของ:  moddam [ 03 ส.ค. 2009, 07:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

วศิน อินทสระ
จิตนี้เที่ยวไปไกล

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพพฺธนา

คำแปล

จิตนี้เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ, มีคูหา คือกายเป็นที่อาศัย ผู้ใดจักสำรวมจิต ผู้นั้นย่อมพ้น จากเครื่องผูกแห่งมาร

อธิบายความ

จิตเที่ยวไปได้แม้ไกลแสนไกลแม้เพียงครู่เดียว ไม่ต้องอาศัยพาหนะใดๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่กินเนื้อที่ การเดินทางของแสงนับว่าเร็วก็ยังไม่เร็วเท่าการเดินทางของจิต-จิตไปเที่ยวได้ทั่วโลกด้วยเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วกลับมา ถ้าเราสามารถไปเที่ยวได้อย่างจิต เราคงสนุกสนานมาก ไม่เปลืองเวลามากและไม่ต้องใช้ค่าพาหนะใดๆ ท่านจึงว่า ทูรงฺคมํ = เที่ยวไปได้ไกล

คำว่า เที่ยวไปดวงเดียวเดียวนั้น หมายความว่า จิตเกิดขึ้นทีละดวง แม้จะเกิดเร็ว แต่เกิดทีละดวง เมื่อดวงเก่าดับไปดวงใหม่จึงจะเกิดขึ้น จิตย่อมรับอารมณ์ได้ทีละอย่างแต่เร็วมาก เราจึงอาจรู้สึกไปว่า มีความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นในขณะเดียว

จิตไม่มีสรีระ คือไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี ไม่มีรูปหยาบอย่างที่เราเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เราจึงมองไม่เห็นจิต เราเห็นแต่พฤติกรรมของจิต ทำนองเดียวกับเรามองไม่เห็นความร้อน แต่เราเห็นอาการของความร้อน เช่นเราเห็นสีของไฟ เป็นต้น พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ย่อมมาจากจิต

ที่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัยนั้น คือจิตอาศัยร่างกายนี้ อันประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

การสำรวมจิต คือการระวังไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ละกิเลสที่เกิดแล้วให้สูญสิ้นไป

เครื่องผูกแห่งมารนั้น ท่านหมายเอาวัฏฏทุกข์ในภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ บุคคลสามารถพ้นจากวัฏฏทุกข์นี้ได้ก็โดยการสำรวมจิต

เจ้าของ:  ตรงประเด็น [ 03 ส.ค. 2009, 14:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

เท่าที่พอเข้าใจบ้าง

ถูก-ผิด ประการใด ขออภัยล่วงหน้า


1.จิต กับ การทำงานของสมอง เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกออกได้ยากสำหรับคนทั่วไปหรือภาวะทั่วไป

ที่ต้องพูดถึง"การทำงานของสมอง" เพราะจะได้ความหมายที่ถูกต้องกว่า

ถ้ากล่าวถึงสมองอย่างเดียว จะกลายเป็นเฉพาะโครงสร้างที่ประกอบด้วย เซลล์ประสาท เส้นประสาท ทางเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเซลล์ประสาท สารสื่อสารระหว่างประสาท.....ซึ่งก็จริงอย่างที่หลายๆท่านกล่าว คือเมื่อคนตายก็เป็นก้อนสมองก้อนหนึ่งที่หยุดทำงานไปแล้ว

แต่ถ้าพูดถึง "การทำงานของสมอง" จะเป็นการมองภาพรวม

2.ชาติ-การเกิดนั้น หมายถึงการเกิดของขันธ์๕ นับทั้งรูป และ นาม.....

ไม่ใช่เกิดเฉพาะรูป แต่นามเป็นของเก่าที่ยืนพื้น
ถ้าเห็นว่านามเป็นของเก่าที่ยืนพื้น "มั่นคงดุจเสาเพนียด" จัดเป็นสัสตทิฏฐิแบบสาติภิกษุ
(แต่ถ้าจะคุยให้ ลุงมี กับ ป้าสี ฟัง ก็ใช้คำว่า เวียนว่ายตายเกิดก็ได้.... ขืนคุยกันอย่างที่คุยกันนี้ รับรองว่าคุณลุง-คุณป้าฟังไม่รู้เรื่อง
และอย่าไปกังวลสัสตทิฏฐิมากเกินไป เพราะอุจเฉทิฏฐิเลวร้ายกว่าสัสตทิฏฐิมากนัก
สัสตทิฏฐิปิดกั้นมรรค-ผล ไม่ห้ามมนุษย์โลก และสวรรค์-พรหมโลก
อุจเฉททิฏฐิ ท่านว่าลงนรกลูกเดียว)

เวลาตายจิตดวงสุดท้ายในภพเก่าดับ พร้อมกับมีจิตดวงใหม่เกิดใหม่ในภพใหม่ทันที เปรียบเสมือนการส่งไฟจากตะเกียงดวงเก่าที่กำลังมอดดับลงไปยังตะเกียงดวงใหม่....เพราะเชื้อไฟยังมีอยู่

สิ่งที่ข้ามภพ-ชาติได้ ไม่ใช่จิต....

สิ่งที่ข้ามภพ-ชาติได้ คือ กรรม

คนเราทำกรรม(กัมมภพ)เพราะมีความยึดมั่น-ถือมั่น(อุปาทาน)
พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า เมื่อสิ้นอุปาทานก็ไม่เกิดใหม่(ใน กุตุหลสาลาสูตร)

3.การที่จิตจะแยกจากกายในบางภาวะ เช่น ผู้เข้าสมาบัติขั้นลึก..... เป็นสิ่งที่ต้องประจักษ์ด้วยตนเอง(เรียกว่า ฌานวิสัย) เป็นอจินไตย คือ นึกคาดเดาอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ถ้าไม่ทำได้ด้วยตนเอง

4.มีการผ่าตัดเอาหัวใจเดิมของผู้ป่วยโรคหัวใจโยนทิ้ง แล้วใส่หัวใจจักรกลเข้าไปแทน
ผู้ป่วยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้..... ดังนั้น ไม่มีทางเลยที่จิตจะอยู่ในหัวใจ

5.ในยุคปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์..... ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านต้องผ่าตัดต่อมลูกหมาก แพทย์หายาชา-ยาสลบไม่ได้ ท่านกำหนดจิตแล้วให้แพทย์ผ่าตัดกว้านต่อมลูกหมากสดๆ..... ถ้ากำหนดจิตเข้าสมาบัติลึกไม่ได้ รับรองว่าช็อคแน่ๆ

6.ไม่ว่า จิต กับ สมองจะแยกจากกันยากสักเพียงใด
ถ้าปฏิบัติจิตภาวนาถูกตามหลักสติปัฏฐานแล้ว ความสุขของใจก็จะปรากฏขึ้นเป็นพยานแก่ตนเอง

7.อย่ากังวลว่าจะไม่ได้เกิดอีก หากจิตเป็นสมองทั้งหมด.....
เพราะการที่ไม่เกิดอีกนั่นล่ะดีที่สุดเลย

8.เรื่อง ของจิต ที่เป็นส่วนประกอบของขันธ์๕ ที่เป็นบุคคลขึ้นมา....

มีคำกล่าวที่ว่า กรรมจะให้ผลที่อัตตภาพ(ขันธ์๕)..... ดังนั้น กรรมสามารถให้ผลได้ทั้งร่างกาย สมอง และจิต!!!

โรคจิต-โรคประสาทหลายชนิด มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
สิ่งที่ทำให้สัตว์นั้นต้องมาเกิดในครอบครัวที่มียีนส์ที่ผิดปกตินั่น คือ"กรรม"นั้นเอง


9.มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า
การนึกคิดที่ดี(พูดง่ายๆว่า จิตดี)ช่วยทำให้สมองทำงานดีขึ้น
การนึกคิดที่ไม่ดี(จิตไม่ดี) ทำให้สมองทำงานแย่ลง .... ถ้าเป็นมากๆก็เป็นโรคจิต-โรคประสาทได้น่ะครับ
ดังนั้น ....สิ่งที่เราควรพยายามคือว่า ทำอย่างไรอารมณ์จะไม่ขุ่นมัว
เรื่องที่ว่า"จิต กับ สมอง จะแยกกันออกได้ไหม" นั้น เป็นเรื่องรอง
จะแยกออกได้ หรือ แยกออกไม่ได้ ก็ช่างมันเถิด.... ใจไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนก็ใช้ได้แล้ว

10.ทั้งจิต สมอง และๆลๆ .....ล้วนแต่ไม่ใช่เรา หรือ ของเราทั้งสิ้น

เจ้าของ:  ตรงประเด็น [ 03 ส.ค. 2009, 14:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ต่อเรื่อง จิต กับ สมอง อีกหน่อยครับ


1. ความรู้ในปัจจุบันนั้น เราทราบแล้วว่าพื้นที่บนสมองส่วนไหนที่ทำให้เกิดความคิดประเภทไหน แต่ยังไม่ทราบหมดทุกส่วน..... เพราะรอยโรคบนสมองบางส่วนทำให้เกิดความผิดปกติทางความคิดบางประเภทได้จริง แต่ความคิดของคนเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก แม้นแต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านนี้โดยตรงก็ยังไม่ทราบความซับซ้อนนี้ทั้งหมด.

แต่อย่างไรก็ตาม ........
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นสอนให้เรารู้วิธีของการรับรู้ว่า รับรู้อย่างไรแล้วไม่เป็นทุกข์ รับรู้อย่างไรแล้วเป็นทุกข์......


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังตอบสิ่งนี้ไม่ได้ อย่างมากก็อาจจะสามารถสังเคราะห์ยาคลายเครียดหรือยากล่อมประสาทมาช่วยบรรเทาความทุกข์ทางใจได้บ้าง แต่ก็อาจจะติดยาและมีผลข้างเคียงของการใช้ยาได้

2. อยากให้ลองอ่านเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างถาวรที่เกิดต่อสมองของพระภิกษุทิเบตที่เจริญเมตตาภาวนาจากกระทู้เก่าๆ...... ณ เวลาปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือสารสังเคราะห์ตัวไหนทำให้เกิดผลดีต่อสมองได้ชัดเจนอย่างนี้เลยน่ะครับ..... ดังนั้น ขออย่าลังเลเลยครับ ลงมือภาวนาเลยดีกว่า...... ความสงสัยก็ปล่อยมันเอาไว้อย่างนั้นแหละ ภาวนาเลยดีกว่า.....

3.อาจจะสงสัยว่า ถ้าจิตเป็นเพียงการทำงานของสมองแล้ว...... แล้วเรา-ท่านภาวนาและเรา-ท่านทำบุญกันอยู่นี้ทั้งหมดจะไม่หมดสิ้นเพียงตอนตายแล้วหรือ??? ความจริงนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ก็เห็นผลคือความทุกข์ทางใจลดลงกันเห็นๆเลยในปัจจุบันนี้น่ะครับ...... ส่วนเรื่องความสงสัยที่ว่า ตายแล้วจะไม่เกิดอีก หากจิตเป็นเพียงการทำงานของสมอง(ซึ่งจะหยุดตอนตาย)นั้น ไม่ต้องกังวลหรอกครับ.....
ตายแล้วไม่เกิดซิครับ ดีที่สุด!!!.....

เพราะถ้าเกิดอีก ก็ต้องตายอีกแน่ๆน่ะครับ.....
ทั้งการเกิดและการตายเป็นทุกข์ทั้งนั้น คนทั่วไปไม่เห็นความจริงข้อนี้ แต่พระพุทธเจ้าท่านเห็นชัดเลยน่ะครับ.....

บางท่านอาจจะกลัวว่าตายแล้วจะไม่ได้เกิด แต่ผู้ภาวนาแล้วเขาไม่กลัวเรื่องไม่เกิดกันหรอกน่ะครับ.
ความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ในคืนวันตรัสรู้นั้น ท่านบรรลุวิชา3ประการ ท่านเห็นตั้งแต่การเวียนว่ายตายเกิดของพระองค์เอง(บุปเพนิวาสานุสตินญาณ คือวิชาที่1) การเกิดตายของหมู่สัตว์(จุตูปปาตญาณ คือวิชาที่2) และสุดท้ายก็คือรู้การดับทุกข์ทั้งหมด คือรู้ทั้งการหมดทุกข์ในปัจจุบัน(สอุปาทิเสสนิพพาน)และตายไปแล้วไม่เกิดอีก(อนุปาทิเสสนิพพาน) ซึ่งก็คือ อาสาวักขยญาณ (คือวิชาที่3)ท่านทรงสอนไว้ว่าถ้าจะไม่เกิดก็ต้องดับกิเลสในใจให้หมดเท่านั้น ถ้ากิเลสในใจไม่หมดแล้ว อย่างไรก็ต้องเกิดอีกน่ะครับ.......

เจ้าของ:  murano [ 03 ส.ค. 2009, 20:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ตามความเข้าใจนะ...

จิตคือ software สมองคือ hardware ถ้า hardware ไม่ดี software ก็ทำงานผิดพลาด ที่ทางวิทย์เขาผลิตสารเคมีต่างๆ ให้ส่งผลต่อสมอง หรือพวกยาเสพติดต่างๆ ก็คือการแทรกแซง hardware

จริงๆ เราค่อนข้างเชื่อว่า ความฉลาด (IQ) นั้น น่าจะอยู่ที่จิต ไม่ใช่สมอง เพียงแต่เมื่อจิตดี สมองก็ต้องดีด้วย ความฉลาดจึงปรากฎออกมาได้
ในแนวคิดอันนี้ สมองจึงเป็น hardware ที่คอยรวบรวมข้อมูลต่างๆ และประมวลผลเพื่อให้จิตรับรู้ เพราะจิตนั้น ไม่ได้มีตัวตนในโลกวัตถุ จึงต้องอาศัยสมองและร่างกายในการรับรู้สิ่งต่างๆ หากสมองไม่ดี การประมวลผลผิดพลาด จิตก็ทำงานผิดพลาดไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราหิวข้าวนั้น จิตเป็นผู้หิว โดยอาศัยการประมวลผลจากสมอง ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากร่างกายมาอีกที เช่น ถึงเวลาที่ต้องได้รับอาหารตามปกติ (นาฬิกาชีวิต) น้ำตาลในเลือดต่ำ ฯลฯ เมื่อจิตรู้ว่า ร่างกายต้องการอาหาร จึงหิว
ปรากฎว่า ระหว่างนั้น เราไปสูบบุหรี่เข้า สารเคมีในบุหรี่ก็ไปขัดขวางข้อมูลในสมอง (ด้วยวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่) ทำให้ข้อมูลที่ว่า ร่างกายต้องการอาหารนั้น หายไป จิตก็เลิกหิว...

จิตทำงานกับสมองและร่างกาย อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน แยกกันไม่ได้ จิตเป็นเหมือน software เพราะสั่งการได้โดยไม่ต้องสนใจ hardware เช่นเวลาเราเดิน เราแค่คิดจะเดิน เราไม่ต้องสนใจเลยว่า กล้ามเนื้อตรงไหนต้องหดหรือคลายตัว หัวใจต้องเพิ่มเลือดมากขึ้นไหม เส้นเลือดต้องขยายขึ้น ต้องเอียงสะโพกไปด้านไหน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสคริปต์ที่อยู่ในสมองอยู่แล้ว อืมม... จริงๆ สคริปต์ก็เป็น software เหมือนกัน แต่เป็น software ระดับต่ำ (สัญชาติญาณ)

เจ้าของ:  murano [ 03 ส.ค. 2009, 21:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ในคนที่เป็นโรคทางสมอง เช่น โรคซึมเศร้า เราคิดว่าเกิดจากสมองทำงานผิดพลาด ส่งข้อมูลผิดๆ ไปให้จิต จิตจึงเศร้า (โดยที่ไม่มีเหตุให้เศร้า) ส่วนการโศกเศร้าที่เกิดจากการเสียไปของสิ่งที่รักนั้น จิตเป็นผู้เศร้า
และอย่างที่บอก จิตและสมอง ทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ เมื่อจิตเศร้าก็ทำให้สมองเกิดอาการต่างๆ ด้วย

ในเรื่องความรัก ที่ทางวิทย์เขาค้นพบว่า เกิดจากสารเคมีนั้น เป็นการมองในด้าน hardware อย่างเดียว ซึ่งเราคิดว่า ในอีกด้านหนึ่ง จิตนั่นแหล่ะที่เป็นผู้รัก เมื่อเกิดอาการรัก สมองจึงหลั่งสารเคมีต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองในโลกวัตถุ (อย่าลืมว่า จิตไม่มีตัวตนในโลกวัตถุ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับสมอง)
แล้วถ้านักวิทย์ ใส่สารเคมีเพื่อให้เกิดความรักล่ะ... นั่นเป็นผลทางกาย แต่ผลทางกายนี่แหล่ะ ที่จะทำให้จิตคิดไปว่า นี่ฉันรักเธอนี่หน่า... (ผลเหมือนกับฟีโรโมน คือ ทำให้ คิดว่า ฉันรักเธอ) ซึ่งเมื่อหยุดให้ยา ความรักก็จะหายไป จริงๆ ต้องบอกว่า ความชอบทางกายจะตรงกว่า...

ความรักที่จิตรักเอง จึงยั่งยืนกว่า เพราะมีเหตุกันมาแต่กาลก่อน (ทางพุทธเขาว่างั้น) แต่ถ้ารักแบบฟีโรโมน (ถูกสเป็ค) หรือรักแบบสายพันธุ์ดี ร่างกายต้องการผสมพันธุ์ (สวยหุ่นดี หรือสูงล่ำบึ๊ก) รักเหล่านี้จะไม่ยั่งยืน

เจ้าของ:  ตรงประเด็น [ 03 ส.ค. 2009, 21:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

murano เขียน:

ความรักที่จิตรักเอง จึงยั่งยืนกว่า เพราะมีเหตุกันมาแต่กาลก่อน (ทางพุทธเขาว่างั้น) แต่ถ้ารักแบบฟีโรโมน (ถูกสเป็ค) หรือรักแบบสายพันธุ์ดี ร่างกายต้องการผสมพันธุ์ (สวยหุ่นดี หรือสูงล่ำบึ๊ก) รักเหล่านี้จะไม่ยั่งยืน





:b20:

เจ้าของ:  murano [ 03 ส.ค. 2009, 23:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ในเรื่องของการค้นหาตำแหน่งต่างๆ ของสมอง ก็เป็นเรื่องการค้นหาทาง hardware เช่นสมองส่วนใด ทำหน้าที่ในการพูด การมองเห็น...
อย่างที่เคยบอก ภาษาต่างๆ นั้น เกิดจากพัฒนาการของสมอง ไม่ใช่จิต เพียงแต่สมองก้าวเข้ามาทำหน้าที่ แปล สิ่งที่จิตคิดอย่างรวดเร็ว แล้วจึงกลายเป็นคำพูดขึ้น (โดยที่เราแค่ คิด จะพูดเท่านั้น)
การมองเห็นก็เช่นกัน ในระดับของจิต จิตจะไม่รับรู้การมีอยู่ของโลกวัตถุ จึงต้องอาศัยดวงตาและสมอง ในการช่วยประมวลผลสิ่งที่เห็น นักวิทย์อาจค้นพบสมองส่วนการมองเห็น แต่เห็นแล้วเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่จิต... เห็นแล้วรู้สึกกลัว ความกลัวนี้ก็จะส่งผลให้สมอง นำไปสั่งการต่างๆ เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมรับมือ...

ส่วนเรื่องความจำนั้น อยู่ที่จิตหรือสมอง ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ง่วงแล้ว อิอิ

เจ้าของ:  murano [ 04 ส.ค. 2009, 10:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

มาต่อ... ความจำนั้นอยู่ที่จิตหรือสมอง

ความจำนั้น พอจะแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ระดับ คือระดับวัตถุและระดับจิต
2 ระดับนี้ อาจจะแยกได้ค่อนข้างยาก อย่างเช่นว่า ในขณะที่เราพิมพ์อยู่นี้ ก็เป็นความจำในระดับวัตถุ ตราบใดที่สมองยังไม่ถูกทำลาย (หรือตาย) เราก็จะยังจำได้ ความจำระดับนี้ ถ้าไม่ได้รื้อฟื้นขึ้นมาเรื่อยๆ ปล่อยทิ้งไว้นานเข้าๆ ก็จะลืมในที่สุด
แต่ถ้าการพิมพ์นี้ ทำให้เรา รู้สึก ครึ้มอกครึ้มใจ รู้สึกดี ความรู้สึกนี้จะเป็นกลายเป็นความจำในระดับจิต คือจำได้ว่าเรารู้สึกดี ในการพิมพ์ครั้งนี้ ความจำนี้ก็จะไม่สูญหาย...

แต่อย่าลืมว่า ในโลกวัตถุนี้ สมองทำงานอยู่เบื้องหน้า แม้จิตจะจำได้ แต่หากสมองถูกทำลาย (หรือมีความผิดพลาดบางอย่าง) ความจำในระดับจิต ก็อาจส่งผลออกมาไม่ได้ เช่น แม้เราจะผูกพันกับแฟนมากเท่าใด แต่หากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสูญเสียไป เราก็จะจำแฟนเราไม่ได้ (แฟนเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกวัตถุนะ) แต่ความผูกพันนั้น อยู่ในระดับจิต เราจะรู้สึกแปลกๆ กับคนๆ นี้

ถ้าสิ่งที่เราคิดนี้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เราก็พอจะอนุมานถึงลักษณะของ การระลึกชาติในระดับอภิญญาได้ คือมันจะไม่ใช่การย้อนภาพอดีตแบบดูภาพยนตร์ แต่จะเป็นการเห็นสภาพจิตในอดีตว่า เป็นจิตที่ผูกพันกับอีกจิตหนึ่ง และผูกพันในลักษณะใด หรือจิตรู้สึกอย่างไร ในขณะหนึ่งๆ
เช่นหากเรารู้สึกดีมากๆ กับการพิมพ์ครั้งนี้ วันหนึ่งในภพหน้าที่ห่างไกล หากเรามีอภิญญาในการระลึกอดีต เราก็จะเห็นในลักษณะที่ว่า จิตเรารู้สึกยินดีมาก ในการแสดงความคิดครั้งนี้ แต่เราจะไม่เห็นว่าเรากำลังเคาะคีย์บอร์ด เพราะการเคาะคีย์บอร์ดเป็นผลจากการสั่งการของสมอง ซึ่งเป็นการกระทำในระดับวัตถุ...
แต่เรื่องนี้ขอต๊ะไว้ก่อน จนกว่าเราจะได้ประสบกับอภิญญาระดับนั้น...

ทีนี้ ในความจำระดับวัตถุ มันมีความจำอีกประเภทที่เรียกว่า ทักษะ เป็นความจำที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ความจำนี้แม้จะเป็นระดับวัตถุ แต่จะถูกบันทึกลงเป็นสคริปต์ เมื่อทำได้แล้วครั้งหนึ่งก็จะไม่ลืมอีก (ในกรณีที่สมองไม่ได้ถูกทำลาย) ซึ่งวันหนึ่งนักวิทย์คงค้นหาพบ ว่าความจำทักษะนี้ อยู่ในส่วนใดในสมอง...

เจ้าของ:  murano [ 04 ส.ค. 2009, 10:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ที่เราเขียนนี้ เป็นแนวความคิดที่ยังไม่ได้ขัดเกลานะ มันอาจจะมีอะไรที่ขัดๆ ข้องๆ อยู่

มาขยายต่อเรื่องความรักที่มีเหตุกันมาแต่กาลก่อน...
จริงๆ มันไม่น่าจะใช่ความรักนะ แต่เป็นความผูกพันกันมากกว่า คือมันไม่ได้มีแรงดึงดูดมากมาย เหมือนกับความรักที่เกิดจากแรงผลักดันทางกาย
ความรักแรกพบ หรือความรักที่ให้ความรู้สึกรุนแรง เป็นความรักที่เกิดจากกายเป็นหลัก (ซึ่งจริงๆ ก็มีแรงผลักดันส่วนหนึ่งมาจากจิต) ความรักจากเหตุในกาลก่อน น่าจะให้ความรู้สึกยินดีมากกว่า ซึ่งจะส่งผลชัดขึ้นเมื่อความรักจากกายลดระดับลง หมายถึง หลังจาก 2 ปี ตามที่นักวิทย์ค้นพบ
แต่เหตุในกาลก่อน อาจไม่ใช่เหตุที่งดงามเสมอไปนะ...

แต่เรื่องนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในกฎแห่งกรรม มันไม่ได้มีแต่กรรมเก่า เราก็สร้างกรรมใหม่ ความผูกพันใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ เพราะงั้น อย่าคิดว่า หากไม่มีเหตุกันมาแต่กาลก่อนแล้ว จะอยู่ด้วยกันไม่ได้... และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาแยกแยะว่า สิ่งใดคือเก่า สิ่งใดคือใหม่

อย่างมงายในกฎแห่งกรรม

เจ้าของ:  murano [ 04 ส.ค. 2009, 12:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

เอาล่ะ มาเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย...

คำว่าจิตที่เราเขียนนั้น เป็นคำที่ใช้เพื่อความง่ายต่อการเข้าใจ จริงๆ แล้ว ก็ตามที่คุณ ตรงประเด็น ว่าไว้ จิตนั้นไม่ใด้เป็นก้อนๆ แต่เกิดดับตลอดเวลา จิตที่ดับก็จะส่งข้อมูลต่างๆ (รู้สึกเขาจะเรียกว่า ขันธ์ 5) ไปให้กับจิตที่เกิดใหม่ แล้วส่งต่อๆ กันไปเรื่อยๆ

เมื่อตาย จิตดวงสุดท้ายคือจุติจิต ซึ่งจะละทิ้งความจำระดับวัตถุทั้งหมด แล้วส่งสิ่งที่เหลือไปให้กับปฏิสนธิจิต ในภพภูมิต่อไป (สิ่งที่เหลือมีอะไรบ้าง ต้องให้พวกปริยัติมาขยายความ... อิอิ)
ขอแก้ไขเป็น... จุติจิต ก็ส่งข้อมูลต่างๆ ไปให้จิตดวงต่อไปตามปกติ เพราะความทรงจำในระดับวัตถุนั้น จะสูญไปกับสมอง จุติจิตอาจแตกต่างจากจิตธรรมดา ตรงที่ขาดการเชื่อมต่อกับร่างกายเท่านั้น

คำว่าจิตเกิดดับเป็นล้านครั้งใน 1 วินาทีนั้น อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้... คอมพิวเตอร์ที่เราใช้กัน ก็ส่งข้อมูลระดับพันล้านครั้งต่อวินาที ในระดับง่ายๆ สายแลนรุ่นเก่าก็ส่งข้อมูลระดับร้อยล้านบิตต่อวินาที
เป็นไปได้ไหมว่า จิตนั้น แท้จริงแล้วก็คือ กลุ่มของอนุภาคที่รวมตัวกันด้วยอะไรบางอย่าง (อนุภาคที่เกิดดับในพริบตานั้น ก็เป็นเรื่องปกติทางฟิสิกส์อยู่แล้ว) และอนุภาคที่กำลังจะดับ ก็ส่งคุณสมบัติต่างๆ ไปให้กับอนุภาคที่เกิดใหม่ มันมีความเป็นอมตะในแง่ที่ว่า มีการสืบเนื่องต่อๆ กันไป ชั่วกาลปาวสาน

ทีนี้ เมื่อจิตเกิดดับตลอดเวลา คำว่าความทรงจำของจิตนั้น จึงไม่ใช่การประทับแบบที่เราคิดกัน แต่เป็นการสืบทอดความจำ ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
เพิ่มเติมว่า... นี่อาจเป็นสาเหตุว่า เมื่อเวลาผ่านไปๆ ความทรงจำของเราจะค่อยๆ คลาดเคลื่อน และจะเป็นความทรงจำที่เรา อยากจำ ในที่สุด

หากนักวิทย์พยายามหาตำแหน่งความจำในสมอง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นการจัดเรียงของโครงข่ายประสาท ความจำที่ได้มาก็จะเป็นความจำแบบ ทักษะ หรือความจำระยะสั้น ที่จะถูกทดแทนด้วยโครงข่ายประสาทอันใหม่ (คือ ความจำใหม่ที่เข้ามา)

เพิ่มเติม... จิตเกิดดับตลอดเวลานั้น ทำให้เราคิดถึงระบบการรับข้อมูลเข้า-ส่งออก (input / output) ของคอมพิวเตอร์ จิตเกิด 1 ครั้ง ก็รับข้อมูล 1 ครั้ง หรือส่งออก 1 ครั้ง
คำว่าจิตที่เราใช้นั้น จริงๆ แล้วต้องพูดว่า กลุ่มของจิต มันมีหลายสิบดวง (ซึ่งต้องให้นักปริยัติมาอธิบายต่อ...) ลักษณะนี้ก็เหมือนกับโปรแกรม windows ที่มีหลายๆ โปรแกรมรันอยู่ในคราวเดียว แต่ถ้าการเทียบเคียงลักษณะนี้ ใช้ได้ ในกลุ่มของจิต มันก็ต้องมีจิตดวงใดดวงหนึ่ง ที่คอยควบคุมจิตอื่นๆ ทั้งหมด

เพิ่มเติม 2... นี่อาจเป็นเหตุที่ สมาธิทำให้เกิดปัญญา หรือเหตุใดเอกัคคตาจิต (จิตแน่วแน่เป็นหนึ่ง) จึงมีพลังในการขบคิด
เพราะหากจิตเกิดดับ 1 ครั้ง คือการทำงาน 1 ครั้ง การทำสมาธิหรือการมีเอกัคคตา ก็คือการลดการทำงานของจิตดวงอื่นๆ ทำให้จิตดวงที่ต้องใช้ในการขบคิด (ต้องถามพวกปริยัติว่า ดวงอะไร) มีเวลาทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น...
หากมีจิตที่ทำงานอยู่ 50 ดวง แต่ละดวงใช้การเกิดดับดวงละ 1 ครั้ง นั่นหมายความว่า จิตที่ใช้ขบคิดจะมีรอบการทำงาน 1 ครั้งในทุกๆ การเกิดดับ 50 ครั้ง แต่หากสมาธิทำให้จิตที่ทำงานอยู่เหลือเพียง 25 ดวง จิตที่ใช้ขบคิดก็จะมีรอบการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือทำงาน 1 ครั้งในทุกๆ 25 ครั้ง และหากสมาธิทำให้จิตที่ทำงานเหลือเพียง 5 ดวง พลังในการขบคิดจึงมากขึ้นกว่าปกติ 10 เท่า...

เจ้าของ:  murano [ 04 ส.ค. 2009, 13:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

คิดว่าอีกความเห็นนึง ก็น่าจะเพียงพอ...

ไปอ่านมาคร่าวๆ (เดี๋ยวค่อยอ่านลึก)
ตัวที่เป็นใหญ่ที่สุดก็คือ จิต นั่นแหล่ะ จิตนั้นมีหนึ่งเดียว แต่ตัวที่ทำหน้าที่ input-output คือ เจตสิก ซึ่งมี 52 ดวง คือมีการทำงาน 52 อย่าง ความถี่ในการทำงานยังไม่ทราบได้ ว่าจะกี่เมกะเฮิทซ์

พระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์ต่างดาวแน่ๆ เลย... เอ๊ะ หรือว่าเราอยู่ในโลก Matrix

เจ้าของ:  ตรงประเด็น [ 04 ส.ค. 2009, 14:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

มี ความเห็นของ อ.ระวี ภาวิไล มาลงประกอบ



ข้อวินิจฉัยเรื่องหทยรูป

โดย. อาจารย์ระวี ภาวิไล จากหนังสือ อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่.


๓๑.๑๐ ข้อวินิจฉัยเรื่องหทยรูป

ในขณะเดียวกันหลักฐานจากวิชาสรีรศาสตร์ และการแพทย์ปัจจุบันบ่งชัดเจน

ว่า ระบบประสาทกลาง ( Central Nervous System - CNS ) ซึ่งครอบคลุม

ตั้งแต่เนื้อเยื่อสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทที่แผ่กระจายออกไปทั่วร่างกาย

ของมนุษย์สัตว์มีความสัมพันธ์แน่นอนกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์สัตว์ โดยที่

ความชำรุดเสียหายของส่วนใดก็ตามของ CNS นี้จะมีผลกระทบกระเทือนถึง

ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมในลักษณะที่ตรวจสอบได้ในปฏิบัติการ

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้น่าพิจารณา CNS ในบทบาทที่ตั้งของจิตที่เป็นมโนธาตุ

และมโนวิญญาณธาตุรวม ๗๙ ดวง การที่ CNS แผ่กระจายอยู่ทั่วร่างกายของ

มนุษย์สัตว์ หมายความว่า ในขณะใดขณะหนึ่ง บางส่วนของ CNS นี้ จะเป็นที่

อาศัยเกิดของจิตบางดวง ซึ่งสรุปว่า ตัวหทยวัตถุอาจเลื่อนที่ไปที่ตำแหน่งใด

ของ CNS ก็ได้


หรือไม่เช่นนั้น CNS ทั้งระบบนั้นเอง คือ หทยวัตถุรูปปรมัตถ์.

เจ้าของ:  murano [ 04 ส.ค. 2009, 18:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตเหมือนกับหรือแตกต่างกับสมอง

ตอนแรกว่าจะพอแล้ว แต่เผอิญว่า คิดได้เพิ่มอีกนิดหน่อย...

หากเจตสิกเป็นหน่วย input-output ที่แบ่งการทำงานกัน ตามรอบของการเกิดดับของจิต นี่อาจเป็นต้นเหตุของคำว่าจริตนิสัย

ในทางคอมพิวเตอร์ มันมีคำว่า priority อยู่ แปลว่า ลำดับความสำคัญ ถ้าเจตสิกมี 52 ตัวที่ผลัดกันทำงาน เจตสิกบางตัวอาจมีลำดับความสำคัญมากกว่าเจตสิกตัวอื่น จึงมีรอบการทำงานที่มากกว่า
เช่น หากปัญญาเจตสิกเข้ามาทำงานมากกว่าเจตสิกอื่นๆ สมมุติในทุกๆ การเกิดดับ 30 ครั้ง (ในขณะที่เจตสิกตัวอื่นทำงานทุกๆ 52 ครั้ง) จิตนั้นก็จะแสดงออกถึงความมีปัญญาสูง (ไอคิวสูง)

เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจิตขึ้นอยู่กับเจตสิก แต่มันพ่วงกัน คือจิตฝักใฝ่ปัญญา จึงทำให้ปัญญาเจตสิกมีลำดับความสำคัญสูงกว่าเจตสิกตัวอื่น หรือหากจิตต้องการทำสิ่งใด เจตสิกตัวที่เกี่ยวข้อง (อาจมีหลายตัว) ก็จะยกลำดับความสำคัญขึ้นมา...

และเรื่องเจตสิกนี่เอง ที่เราคิดว่า น่าจะเป็นต้นเหตุของอาการในสมาธิหลายๆ อย่าง นิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเจตสิกหลายๆ ดวง ถูกลดทอนความสำคัญลงไป (แต่ไม่ใช่ดับ) เจตสิกที่เหลือ จึงมีรอบการทำงานที่สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเท่ากับมีพลังมากขึ้นนั่นเอง ในฌาณ 2 จึงมักมีนิมิตปรากฎ ก็ต่อเมื่อถึงฌาณ 3 เจตสิกที่เกี่ยวกับนิมิตความฝันจึงถูกบั่นทอนลง และถูกบั่นทอนลงจนหมดในฌาณ 4
แต่ภูมิเรายังไม่พอที่จะระบุว่า ในฌาณ 4 นั้น มีเจตสิกอะไรที่ยังเด่นอยู่... แค่ออกตัวเป็นแนวคิดเท่านั้น

หน้า 1 จากทั้งหมด 14 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/