วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 20:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2009, 13:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


:b41: บทความนี้เป็นการนำเสนอหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งป่าไม้ถือว่าเป็นหัวใจของสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญและเกี่ยวโยงกับทรัพยากรน้ำ ดิน อากาศ สัตว์ป่า ทำให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและการดำรงชีพของมนุษย์
ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้สามารถนำเอาหลักคำสอนดังกล่าวของพระพุทธศาสนาไปปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
เบื้องหลังของการปฏิบัติต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม [๑]
เบื้องหลังของการปฏิบัติต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือแนวคิด ๒ ประการ คือแนวคิดพิชิตธรรมชาติ เป็นนายเหนือธรรมชาติ และแนวคิดเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ โดยถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จะต้องดำเนินชีวิตให้เอื้ออาทรสอดคล้องเป็นอันเดียวกันกับธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย มนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติย่อมได้รับผลกระทบทั้งในทางส่วนตัวและโครงสร้างอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ต้องมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม (Holistic View) คือต้องให้มนุษย์ ธรรมชาติและสังคมเป็นไปอย่างประสานสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ใช่แยกพัฒนาออกเป็นส่วน ๆ ข้อนี้เป็นนัยชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนายอมรับสรรพสิ่งและสรรพชีวิตเป็นศูนย์กลาง (All Beings Centred) ไม่ใช่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Beings Centred ) ดังที่เข้าใจกันแต่เดิมอีกแล้ว ซึ่งทำให้สรรพสิ่งและสรรพชีวิตอื่น ๆ ขาดคุณค่าในตัวเอง ถ้ามองอย่างเป็นองค์รวมให้ความสำคัญแก่สรรพสิ่งและสรรพชีวิตอย่างเสมอภาคกัน เป็นองคาพยพของกันและกัน ย่อมทำให้สรรพสิ่งและสรรพชีวิตประสบกับภาวะที่เป็นสุขตามสถานะของตน

พระพุทธศาสนากับขอบเขตของคำว่า “ต้นไม้”
ในพระพุทธศาสนา คำว่า ต้นไม้ มีคำที่ใช้เรียกอยู่หลายคำ เช่น รุกฺข (ต้นไม้) ภูตคาม (พืช) ดังนั้น ต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ รวมถึงพืชทุกชนิด รวมอยู่ในคำว่า “ภูตคาม” ทั้งสิ้น เพราะคำว่า “ภูตคาม” มีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงพืช ๕ ชนิด คือ [๒]
๑. พืชพันธุ์ที่เกิดจากเหง้า (หัว) คือพืชที่ใช้เหง้าขยายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้น, ขิง, ว่านน้ำ, ว่านเปราะ, อุตพิต, ข้าว, แฝก, แห้วหมู ฯลฯ
๒. พืชพันธุ์ที่เกิดจากลำต้น คือพืชที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตอน ได้แก่ ต้นโพธิ์, ต้นไทร, ต้นดีปลี, ต้นมะเดื่อ, ต้นเต่าร้าง, ต้นมะขวิด ฯลฯ
๓. พืชพันธุ์ที่เกิดจากข้อ (ปล้อง) คือพืชที่ใช้ข้อปลูก ได้แก่ อ้อย, ไม้ไผ่, ไม้อ้อ ฯลฯ
๔. พืชพันธุ์ที่เกิดจากยอด คือพืชที่ใช้ยอดปักก็งอกได้ ได้แก่ ผักบุ้งล้อม, แมงลัก, เถาหญ้านาง ฯลฯ
๕. พืชพันธุ์ที่เกิดจากเมล็ด คือ พืชที่ใช้เมล็ดเพาะ ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, งา ฯลฯ
นอกจากคำว่า ภูตคาม ดังกล่าว ยังมีคำว่า พีชคาม ที่ใช้ร่วมกับคำว่า ภูตคาม ซึ่งหมายถึง พืชหรือของเขียว ที่ถูกพรากออกจากที่แล้วยังสามารถงอกได้อีก เช่น ผักบุ้ง ถึงกระนั้นก็มีความหมายรวมอยู่ในคำว่า ภูตคาม ทั้งสิ้น

ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า
ในโคลิสสานิสูตร [๓] พระสารีบุตรกล่าวถึงข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า(อรัญญวาสี) ไว้ ๑๗ ข้อ ซึ่งภิกษุผู้อยู่ชายบ้าน (คามวาสี) ก็ควรประพฤติด้วยเช่นกัน มีเนื้อหาย่อ ๆ ดังนี้
“สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ พระสารีบุตรปรารภภิกษุชื่อโคลิสสานิ ผู้อยู่ป่า แต่มีความประพฤติย่อหย่อน (เห็นแก่ปัจจัย) มีธุระเข้ามาในที่ประชุมสงฆ์ จึงแสดงข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ ดังนี้
๑. ภิกษุผู้อยู่ป่าไปในสงฆ์ พึงเคารพในเพื่อนพรหมจารี
๒. พึงฉลาดในอาสนะ ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้แก่กว่า ไม่นั่งกันภิกษุผู้อ่อนกว่า
๓. ไม่พึงเข้าบ้านเกินเวลา พึงกลับแต่ยังวัน
๔. ไม่พึงเที่ยวไปในตระกูลก่อน หรือหลังอาหาร
๕. ไม่พึงฟุ้งซ้านและขี้บ่น
๖. ไม่พึงเป็นคนปากกล้าพูดมาก
๗. พึงเป็นผู้ว่าง่ายและคบมิตรที่ดี
๘. พึงสำรวม(ทวาร)ในอินทรีย์ทั้งหลาย (สำรวม ตา หู เป็นต้น)
๙. พึงรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร
๑๐. พึงประกอบความเป็นผู้ตื่น (ไม่เห็นแก่นอน)
๑๑. พึงลงมือทำความเพียร
๑๒. พึงมีสติตั้งมั่น
๑๓. พึงมีจิตตั้งมั่น
๑๔. พึงมีปัญญา
๑๕. พึงประกอบความเพียรในอภิธรรม อภิวินัยเพื่อสามารถตอบชี้แจงได้ เมื่อมีผู้ถาม
๑๖. พึงประกอบความเพียรในวิโมกข์อันสงบระงับ อันมิใช่รูป ก้าวล่วงรูป เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้ เมื่อมีผู้ถาม
๑๗. พึงประกอบความเพียรในอุตตริมนุสธรรม (ธรรมอันยิ่งของมนุษย์) เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้ เมื่อมีผู้ถาม
พระมหาโมคคัลลานะถามว่า ภิกษุผู้อยู่ป่าเท่านั้นหรือจึงควรประพฤติ หรือว่าแม้ภิกษุผู้อยู่ชายบ้าน ก็ควรประพฤติด้วย
พระสารีบุตรตอบว่า แม้ภิกษุผู้อยู่ป่ายังควรประพฤติ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า ภิกษุผู้อยู่ชายบ้านจะไม่ควรประพฤติ”

การปลูกต้นไม้ได้บุญ
พระพุทธศาสนาส่งเสริมให้บุคคลจัดการวิถีชีวิตของตน ให้สอดคล้องกับวิถีทางตามธรรมชาติให้มากที่สุดและอาจจะถือได้ว่า การวางผังเมือง และการวางแผนพัฒนาชุมชนนั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ด้วย
ในวนโรปสูตร [๔] ได้ยืนยันในเรื่องนี้ไว้ว่า
“เทวดาทูลถามว่า บุญย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อแก่ชนพวกไหน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในพระธรรมและสมบูรณ์ด้วยศีลแล้วย่อมไปสู่สวรรค์เล่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุญย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนที่ปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพาน โรงน้ำ บ่อน้ำ และศาลาที่พักอาศัย ทั้งชนเหล่านั้นยังตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล จึงไปสวรรค์อย่างแน่นอน”
(อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ
ธมฺมฏฺฐา สีลสมฺปนฺนา เต ชนา สคฺคคามิโน ฯ)
ในธรรมบท [๕] พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า “มนุษย์จำนวนมากทีเดียว ถูกภัยคุกคามแล้ว ต่างยึดเอาภูเขา ป่า สวน และต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ว่า เป็นที่พึ่งที่ระลึก” พวกเขาถือว่า สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเหล่านั้นเป็นที่อาศัยของอมนุษย์ผู้ทรงอำนาจ ซึ่งสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเสนอการถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ก็ตาม

เทวดา สัตว์ป่า และป่าไม้ : ความสัมพันธ์เชิงเอื้ออาทรต่อกัน
ในพยัคฆชาดก [๖] เล่าว่า พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลจากวิมานของพระโพธิสัตว์นั้น มีรุกขเทวดาตนหนึ่งสถิตอยู่ ราชสีห์และเสือโคร่งก็อยู่ในป่านั้นด้วย พวกมนุษย์กลัวราชสีห์และเสือโคร่งจึงไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า เทวดาทั้ง ๒ นั้นก็อยู่อย่างสงบสุขเรื่อยมา แต่รุกขเทวดาตนหนึ่งนั้นเหม็นกลิ่นซากสัตว์ที่ราชสีห์และเสือโคร่งกินเหลือทิ้งไว้ จึงนำเรื่องนี้ไปบอกแก่รุกขเทวดาที่เป็นพระโพธิสัตว์เพื่อจะได้ขับไล่ราชสีห์และเสือโคร่งให้หนีไปเสีย
พระโพธิสัตว์เตือนว่า ถ้าพวกเราขับไล่ราชสีห์และเสือโคร่งให้หนีไป เมื่อพวกมนุษย์ไม่เห็นรอยเท้าของราชสีห์และเสือโคร่งจักเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งวิมานของเราด้วย เป็นแน่แท้ พวกเรารักษาวิมานอยู่ได้ก็เพราะอาศัยราชสีห์และเสือโคร่งทั้ง ๒ นี้
รุกขเทวดาอีกตนหนึ่งไม่เชื่อฟังคำเตือนของพระโพธิสัตว์ จึงแสดงรูปอันน่ากลัว ทำให้ราชสีห์และเสือโคร่งหนีไป เมื่อพวกมนุษย์ไม่เห็นรอยเท้าของราชสีห์และเสือโคร่งจึงเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งวิมานของรุกขเทวดาทั้ง ๒ นั้น
จึงเห็นได้ว่า เมื่อรุกขเทวดาและสัตว์ป่ามีความเอื้ออาทรต่อกัน ป่าไม้รวมทั้งต้นไม้ที่เป็นวิมานคงไม่ถูกตัดทำลายไปอย่างแน่นอน

เปรียบเทียบป่าไม้กับธรรมชาติของมนุษย์
ป่าไม้ถูกหยิบยกขึ้นแสดงลักษณะพิเศษบางประการ เป็นการเปรียบเทียบกับธรรมชาติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีของมนุษย์ ทำให้ผู้ฟังธรรมเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น
๑.บุคคลเปรียบด้วยต้นไม้ ๔ จำพวก [๗]
๑) ต้นไม้กะพี้ มีไม้กะพี้เป็นบริวาร เช่นเดียวกับคนบาป ทุศีล แม้บริวารของเขาก็เป็นคนบาป ทุศีล
๒) ) ต้นไม้กะพี้ มีไม้แก่นเป็นบริวาร เช่นเดียวกับคนบาป ทุศีล บริวารของเขามีศีล มีกัลยาณธรรม
๓) ต้นไม้แก่น มีไม้กะพี้เป็นบริวาร เช่นเดียวกับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บริวารของเขาเป็นคนบาป ทุศีล
๔) ต้นไม้แก่น มีไม้แก่นเป็นบริวาร เช่นเดียวกับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บริวารของเขามีศีล มีกัลยาธรรม
๒. ญาติมากเปรียบด้วยต้นไม้หลายต้น [๘]
มีญาติมากเป็นการดี แม้ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลายต้นรวมกันเป็นหมู่ไม้เป็นการดี ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวถึงจะเป็นต้นไม้งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ย่อมพัดให้โค่นล้มลงได้

พุทธประเพณีเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ในปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ได้มีการประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาบางอย่างขึ้นเพื่อการอนุรักษ์การดูแลป้องกันและการบำรุงฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เช่น
๑. พิธีบวชต้นไม้ พิธีดังกล่าวมาจากการอุปสมบท โดยพระสงฆ์จะนำจีวรมาพันรอบต้นไม้ในแต่ละต้นที่มีการบวช เพื่อมิให้ประชาชนเข้าทำลาย จากพิธีดังกล่าวเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อีกทางหนึ่ง
๒. พิธีทอดผ้าป่าต้นไม้/พันธุ์ไม้ พิธีดังกล่าวมาจากพิธีทอดผ้าป่า โดยประชาชนจะนำต้นไม้มารวมกันไว้ที่วัด พระสงฆ์จะทำพิธีทอดผ้าป่าแล้วนำประชาชนไปปลูกต้นไม้ร่วมกันในบริเวณวัดและที่สาธารณประโยชน์
๓. พิธีการทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ พิธีดังกล่าวมาจากพิธีทำบุญต่าง ๆ เนื่องจากการปลูกต้นไม้มากจะได้ร่มเงาในการพักผ่อนหย่อนใจ พระสงฆ์จึงชักชวนให้ประชาชนรอบ ๆ วัดมาร่วมทำบุญดังกล่าว เพื่อจะได้มีต้นไม้ภายในวัดมากขึ้น วัดจะได้เป็นสถานที่ร่มรื่น
๔. พิธีสะเดาะเคราะห์ด้วยการปลูกต้นไม้ พิธีดังกล่าวมาจากพิธีสะเดาะเคราะห์ ประชาชนเชื่อว่าเมื่อชีวิตตกต่ำ ต้องมีการสะเดาะเคราะห์ พระสงฆ์จึงโน้มน้าวให้ประชาชนเอาต้นไม้มาปลูก จึงได้ทั้งการสะเดาเคราะห์ของตนเอง และเป็นการเพิ่มต้นไม้ให้ประเทศด้วย
ดิฉันอ่านแล้วคิดว่าเป็นสาระที่ดีมากๆ เลยนำมาฝากกัลยาณมิตรทุกๆท่านค่ะ
:b41: :b53: :b51: :b53: :b41:
ขอขอบพระคุณ http://www.thai-tour.com


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2009, 20:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ส.ค. 2009, 20:26
โพสต์: 1589

แนวปฏิบัติ: อรหัตตมัคค
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระไตรปิฎก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บัณฑิตจำนวนมาก ข้ามโอฆะได้เพราะอาศัยป่าและโคนไม้




บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ในกาลทุกเมื่อ
มีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว
ปรารภความเพียร มีตนส่งไปแล้ว
ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก
เขาเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา
ล่วงรูปสัญโญชน์ได้
มีภพเป็นที่เพลิดเพลินสิ้นไปแล้ว
ย่อมไม่จมในห้วงน้ำลึก ฯ


เจริญในธรรมครับ


แก้ไขล่าสุดโดย มหาราชันย์ เมื่อ 25 ต.ค. 2009, 20:19, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 64 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร