ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ความยากอยู่ที่"ความคิดสุดท้าย"
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=30176
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  พงพัน [ 20 มี.ค. 2010, 12:18 ]
หัวข้อกระทู้:  ความยากอยู่ที่"ความคิดสุดท้าย"

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งอันเนื่องกับการฝึกสมาธิวิปัสสนาในเรื่องความคิดที่ปรุงแต่งคือ เมื่อหลุดจากความคิดหนึ่งแล้ว มักมาติดที่ความคิดใหม่เสมอ "ความคิดตัวสุดท้าย" จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่คนผู้ขาดความชำนาญมักจับไม่ทัน ฉะนั้น คนที่สามารถจับความคิดสุดท้ายได้เร็วและปล่อยได้ทันทีจึงเรียกว่ามีทักษะ มีความชำนาญที่จะเคลื่อนไปกับ "ที่นี่เดี๋ยวนี้" ได้เก่งขึ้น

ผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ๆต้องการถามพระอาจารย์ว่า "ปฏิบัติธรรม" ทำกันอย่างไร ถ้าผู้คิดจะถามสามารถเห็นทันความคิดอันเป็นคำถามเหล่านั้น และปล่อยความคิดอันเป็นคำถามเหล่านั้นทันทีเหมือนกับดีดความคิดอื่นๆและอยู่กับปัจจุบันขณะจริงๆ เขาก็จะได้คำตอบของคำถามด้วยตนเอง นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมจริงๆ ทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือเคลื่อนให้ทันปัจจุบันจริงๆเท่านั้น

คนที่ชอบถามปัญหาต่างๆ เขามัวคิดยุ่งอยู่กับคำถามที่ตัวเองไม่รู้และคิดว่าเมื่อได้คำตอบแล้ว จะทำตามได้ ในขณะที่คิดยุ่งหาคำถามอยู่นั้นก็ถูกตัวความหลงครอบงำเข้าแล้ว ไม่ทันปัจจุบันจริงๆ ถ้าชำนาญและไวพอที่จะสลัดคำถามเหล่านั้นได้อย่างไม่ปรานีปราศรัย ไม่โลเล ปล่อยทุกความคิดไปเสมอเหมือนกันทั้งหมด ทำเช่นนั้นได้จะเข้าใกล้พระนิพพานทันที นี่คือความยากของการปฏิบัติ แต่ถ้าจับจุดให้ได้ว่า ต้องจับความคิดล่าสุดให้ทันเสมอและปล่อยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการต่อล้อต่อเถียง การปฏิบัติจะไปได้เร็วโดยไม่ต้องคิดถามอะไรมาก

คนที่จับหลักนี้ได้แล้ว จะไม่มีคำถามอีกเมื่อปฏิบัติอยู่ เพราะคำถามคือความคิด ถ้าเห็นทันว่าคำถามที่อยากถามเป็นความคิด แล้วรีบปล่อย แล้วจะถามอะไรอีก หมดเรื่องถามทันที ขณะนั้นก็กำลังก้าวเข้าใกล้พระนิพพานแล้ว

แต่การจะไม่คิดอะไรตลอดไปเลยนั้นย่อมทำไม่ได้แน่นอน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องมีการใช้ความคิด แต่เมื่อคิดทุกอย่างตามหน้าที่ในชีวิตเสร็จเมื่อไหร่ ก็ให้ปล่อยความคิดทันที ปล่อยทุกความคิด รวมถึงความคิดที่คิดจะไปปล่อยทุกความคิดด้วย ปฏิบัติได้แบบนี้ ก็เจอแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาแล้ว

เจ้าของ:  เช่นนั้น [ 20 มี.ค. 2010, 12:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความยากอยู่ที่"ความคิดสุดท้าย"

พระพุทธองค์ สอนอย่างไร เกี่ยวกับ การจัดการ "ความคิด" คลิกไปอ่านกัน

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๔๐๙๙ - ๔๒๐๗. หน้าที่ ๑๖๖ - ๑๗๐.

http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=4099&Z=4207&pagebreak=0

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจักจำนง วิตกใด
ก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลาย
สังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/