ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=30326
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  คนเกือบหลงทาง [ 25 มี.ค. 2010, 06:33 ]
หัวข้อกระทู้:  อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

หลังจากที่ไปฝึกงานเก็บชั่วโมงในร้านยา เป็นเวลาสัปดาห์กว่าๆ
วันละ 13 ชั่วโมงครึ่ง กระผมได้เข้ามาในกระทู้ธรรม พบสิ่งที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นรอยแยก รอยถลำลึก ให้ศาสนาพุทธได้ชอกช้ำและเกิดความแตกแยกกัน
ด้วยเหตุนี้กระผมจึงตั้งกระทู้นี้ขึ้น จึงเรียนโปรดให้ทางผู้มีบุญทุกท่านโปรดพิจารณา
ซึ่งถ้าหากทำให้ท่านใดขัดอกขัดใจ กระผมต้องขอกราบแทบเท้าขออภัย ณ ที่นี้ด้วย

อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธ?

ความจริงแล้วมันก็เรื่องเดิมๆ ที่ผู้รู้หลายๆท่านก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังจากพระอาจารย์หลายท่านๆ
ในความคิดของกระผมนั้น หน้าที่ของชาวพุทธ มีง่ายๆสั้นๆ
"ทำตนให้สมกับที่เป็นชาวพุุทธ"
แบบไหนถึงเรียกว่าเหมาะสม ?
เหมาะสมในที่นี้หมายถึง เน้นประเด็นไปที่การวางตนเป็นหลัก
เราจะวางตนอย่างไรในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ?
๑.การประพฤติตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เราควรนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาศึกษา เมื่อศึกษาก็ประพฤคิ
เพื่อบรรลุตามมหาปณิธาณของพระพุทธองค์ คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นั่นก็คือ การหมั่นดู หมั่นพิจารณา
พิจารณาอะไรบ้าง?
การหมั่นพิจารณาเห็นกายในกาย
การหมั่นพิจารณาเห็นจิตในจิต หรือพูดง่ายๆว่า การเจริญภาวนานั่นเอง

๒.ปกป้องพระพุทธศาสนา เราจะปกป้องพระพุทธศาสนาได้อย่างไร
เราจะปกป้องพระพุทธศาสนาเราจะปกป้องได้อย่างไร
สิ่งที่ผมเห็นคือ การกล่าวจาบจ้วงในพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งบางคนก็มองว่านี้เป็น
วิธีในการปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งกระผมไม่เห็นด้วยเลย
ผมคิดว่า เราจะปกป้อง เราควรจะอธิบายให้ชาวพุทธเข้าใจหลักธรรมที่แท้จริง
อย่าให้ข่าวลือ ข่าวลม ข่าวแล้ง ข่าวสารไม่มีมูล หลงตามไปว่าพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ทำไม่ถูกไม่ควร รังแต่จะเกิดอกุศลเอาเปล่าๆ
ดวงจิตกุศลที่คิดปกป้องพระพุทธศาสนาก็ดีจนอยากอนุโมทนาบุญด้วยแต่ว่าเมื่อพิจารณา
ในจิตจริงๆแล้วนั้น พบว่ามีดวงจิตซ้อน คือ มีโมหะเจือปนบ้าง โทสะเจือปนบ้าง ก็เลยกลายเป็นว่า กำไรหรือขาดทุนกันแน่
จึงอยากวิงวอนให้ผู้มีบุญบางท่านปรับวิธีในการปกป้องพระพุทธศาสนาใหม่
คือ เปลี่ยนจากการว่าร้ายพระภิกษุสงฆ์ เป็นการนำแสดงหลักธรรมที่แท้จริง ที่พึงสอน ให้แก่พุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้พุทธศาสนิกชนดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิต่อไป

สรุปความ

ประเด็นหลักๆก็คือการปกป้องพระพุทธศาสนา เราต้องเปลี่ยนวิธีการพูดใหม่
ไม่ใช่โจมตี แต่เราต้องป้องกัน เหมือนกับคน 1 คน เป็นโรคระบาดเราจะยิงจรวดใส่คนทั้งเมืองเลยหรอ มันน่าจะมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ ซึ่งความเห็นส่วนตัว คือ การสอนหลักธรรมคำสอนที่แท้จริง หมั่นให้พุทธศาสนิกชนหันมาสนใจตัวเอง
ซึ่งจะดีกว่าอย่างมาก ได้ทั้งกุศล ได้ทั้งประโยชน์ ทั้งปัจจุบันและภายหน้า

ขอบคุณที่รับฟังความคิดเห็นของคนด้อยปัญญาคนหนึ่ง ขอบพระคุณอย่างสูง

ผิดพลาดประการใดกระผมต้องเรียนขออโหสิกรรมด้วยครับ ขอบคุณครับ

เจ้าของ:  คนเกือบหลงทาง [ 25 มี.ค. 2010, 06:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

เพิ่มเติมนะครับ สอนหลักธรรม แก้หลักธรรม อันไหนควรแก้ อันไหนไม่สมควรแก้

ในสมัยพุทธกาลหลังจากที่พระนางมัลลิกาตาย พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มาถามความว่านางได้อยู่สวรรค์ชั้นไหน พระนางมัลลิกานั้นก่อนที่นางจะตาย
นางได้คิดถึงตอนที่นางโกหกสามีของนางได้ นางดีใจในความที่สามารถโกหกสามีของนางได้จึงตกนรกเป็นเวลา ๗ วัน
พระพุทธองค์รู้จิตว่า หากตอบพระเจ้าปเสนทิโกศลไปตามตรงอาจจะทำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ของพระเจ้าปเสนทิโกศลต้องเสื่อมลงเป็นแน่ พระพุทธองค์จึงใช้ฤทธิ์ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลลืมที่จะพูดบ้าง ไม่ได้เจอบ้าง จนกระทั่งมาถึงวันที่ ๘
พระพุทธเจ้าจึงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าพบ พระพุทธองค์จึงตอบคำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
บัดนี้ พระนางมัลลิกาได้เป็น นางอัปสรอยู่บนสวรรค์ชั้นสูง(จำชื่อสวรรค์ชั้นนั้นไม่ได้ ไม่แน่ใจ)

จากเรื่องได้ใจความว่า


การพูด การแก้ไขบางอย่าง ไม่ว่าจะโดยกายกรรม วจีกรรม หรือ โดยมโนกรรมนั้น ต้องพิจารณาถึงเวลาด้วย ถ้าเวลานั้นผู้ฟังยังไม่พร้อมก็อย่าพูด ถ้าผู้ฟังพร้อมแล้วค่อยพูด
คำว่าพร้อมแล้ว ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน คือ พร้อมด้วยปัญญา พร้อมด้วยศรัทธา ฯลฯ
หากคิดว่าเมื่อพูดหรือกระทำออกไปแล้วนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือ ให้ผลเสียมากกว่าผลดี
ก็ให้พึงระงับไว้ก่อน เก็บไว้อธิบายเฉพาะบุคคล หรือ ให้ผู้มากด้วยปัญญาท่านอธิบายและให้ความกระจ่าง
แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อที่ว่าจะได้โน้มน้าวพุทธศาสนิกชนถูก เรียกได้ว่า ถูกทั้งโดยธรรม ถูกทั้งใจ

กระผมก็ขอเพิ่มเติมเพียงเท่านี้ขอบคุณครับ :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  อินทรีย์5 [ 25 มี.ค. 2010, 19:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

ผมคิดว่า."หน้าที่ของชาวพุทธอยู่ที่การปฏิบัติ...." เมื่อปฏิบัติได้แล้วก้จะร้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรบ้าง
และคนที่ปฏิบัติจนจิตเป็นสมาธิ ย่อมเข้าใจหน้าที่นี้ได้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก
เพราะจิตที่เป็นสมาธินั้นจะประกอบด้วย 2 อย่างคือ
1.สติปัญญา คิดอะไรออกได้เร็วกว่าคนอื่นและหาวิธีแก้ไขปรับปรุงตัวเองได้และรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
2.จิตสงบและเป็น"สมาธิ"อยู่ได้นาน เพราะขจัดความฟุ้งซ่านได้หมดแล้ว

ที่ว่าจิตเป็นสมาธินี่ก็คือว่า จิตเป็นหนึ่ง
จิตเป็นหนึ่ง นั่นก็คือเอกัตคตา ถ้าหากว่าจิตยังวุ่นวายหรืออะไร ทำไปแล้วก้จะไม่ได้ผล

เจ้าของ:  จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ [ 25 มี.ค. 2010, 20:13 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

คุณผู้ใช้ชื่อว่า "คนเกือบหลงทาง" ความจริงแล้วคุณหลงทางไปไกลแล้วขอรับ ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าคุณหลงทางไปไกลแล้วนั้น ก็เพราะว่า คุณไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับความคิดของมนุษย์ ความชอบของมนุษย์ หากจะกล่าวว่า คุณเป็นคนเห็นแค่ตัว ก็อาจจะไม่ค่อยถูกต้องนัก ถ้าหากจะกล่าวว่า คุณเป็นคน ถือความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงหลักความจริงที่ว่า
ปุถุชน คนทั้งหลาย ที่นับถือ พุทธศาสนา ล้วนทำหน้าที่ของชาวพุทธอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ในด้านต่างๆของเขา สภาพแวดล้อมอะไรนั้น ในที่นี้ไม่กล่าวถึงนะขอรับ
เขาทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนทำหน้าที่ของชาวพุทธมาตั้งแต่จำความได้ หน้าที่ชาวพุทธของพวกเขาเหล่านั้น คือ สวดมนต์ ไหว้พระ ไปวัด ตักบาตร ทำบุญ ทำทาน บริจาคเงิน สิ่งของ ตามแต่กำลังความสามารถของเขา
สิ่งที่คุณเสนอความคิดออกมาว่า หน้าที่ของชาวพุทธต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นมันความคิดของคุณ บางคนก็อาจจะคิดอย่างคุณ แต่บางคน อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ ถือศีล อาจจะถือศีล ครบทั้ง ๕ ข้อ หรือบางคนก็อาจจะถือศีล เพียง ๔ ข้อ หรือ ๓ ข้อ เป็นอย่างน้อยก็มี
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนด
ถ้าจะอธิบายให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น ผู้ศรัทธาในศาสนาพุทธ จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรตามหลักศาสนา ก็ล้วนเป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ สมองสติปัญญา เวลา โอกาส สภาพแวดล้อม ฯ

เจ้าของ:  คนเกือบหลงทาง [ 26 มี.ค. 2010, 07:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

อย่างที่คุณ Sriariya พูดก็ถูกเหมือนกัน

ผมใช้คำพูดผิดไป แต่เป้าหมายของกระผมก็ คือ ในฐานะที่ท่านผู้เข้าชมเว็บนี้
คิดว่าทางใดน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการปกป้องพระพุทธศาสนา
เพราะตั้งแต่จำความได้ ข่าวสื่อมวลชนก็ประโคมข่าวว่าพระทำนั่นผิดบ้าง ทำนี่ผิดบ้าง
ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็อาจเสื่อมลงได้ และในบอรดการสนทนาทั่วไปก็เริ่มมีคนบางกลุ่ม
ที่มีวิธีการในการปกป้องพระพุทธศาสนาที่อาจให้ผลร้ายมากกว่าผลดี จึงอยากวิงวอนผู้มีบุญทุกท่าน
ร่วมคิด ร่วมแถลง ร่วมทำให้กระจ่าง ว่าในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธเราจะปกป้องพระพุทธศาสนาจากการ
ที่มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์เหล่าพระท่านที่ชาวพุทธศรัทธากันอยู่ ถ้าท่านทำผิดจริงเราจะวางกลอย่างไร
ให้ผู้ศรัทธาในศาสนาพุทธไม่เสื่อมศรัทธาไปด้วย สิ่งที่ผมต้องการจริงๆมีแค่นี้ขอบคุณครับ

ขอฝากไว้อีกเรื่องนะครับ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติตามสายหลวงพ่อท่านนั้น หลวงปู่ท่านนี้ ขอให้ท่านพึงจำไว้เสมอว่า เรามีพระบรมครูองค์เดียวกัน คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชาวพุทธแตกต่างกันที่เปลือก แ่ต่แก่นไม่แตกต่างกันนะครับ
๔๐ พระกรรมฐานที่พระพุทธองค์ประทานไว้ล้วนแต่เป็นทางสู่พระนิพพาน ขอบคุณครับ

ผิดพลาดประการใดกระผมต้องขออโหสิกรรมด้วยครับ ขอบคุณครับ

เจ้าของ:  natdanai [ 26 มี.ค. 2010, 11:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

คนเกือบหลงทาง เขียน:
ทางใดน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการปกป้องพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาไม่ต้องปกป้องหรอกครับ เพราะพุทธศาสนานั้นมิได้เสื่อม สิ่งที่เสื่อมคือ พุทธศาสนิกชน

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 26 มี.ค. 2010, 11:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

natdanai เขียน:
คนเกือบหลงทาง เขียน:
ทางใดน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการปกป้องพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาไม่ต้องปกป้องหรอกครับ เพราะพุทธศาสนานั้นมิได้เสื่อม สิ่งที่เสื่อมคือ พุทธศาสนิกชน



ถึง-อก-ถึง-ใจข้าพเจ้าจริงๆ
:b35:
ข้าพเจ้าชอบมากๆเลยคุณนัทดานาอิ

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 26 มี.ค. 2010, 12:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

ข้าพเจ้าคิดว่า หน้าที่ชาวพุทธคือการ"รู้"

พุทธแปลว่ารู้
ศาสนาพุทธคือศาสนาของผู้"รู้" ศาสนาของการ "รู้"
การ"รู้"เป้นใหญ่
(รู้ในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้นะ แต่หมายถึงกริยาของจิต)

ธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น กุศลธรรมา อกุศลาธรรมา หรืออัพยกตาธรรมมาก็ดี
ชาวรู้ ก็ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่รู้ ตามรู้ตามดู
เพียรรู้ในธรรมทั้งปวง ในธรรมเหล่านั้น รู้ลงในรูปนามของตน

หลวงพ่อชยสาโร ท่านว่า "ทุก วันนี้เราก็เป็นชาวพูดมากกว่าชาวพุทธ"

โอกาสนี้ขอเชิญอ่านพระธรรมเทศนา



***************************************


ปฏิบัติเพื่ออะไร...ชยสาโรภิกขุ


โดยมากชาวบ้านไปวัดที่พระสงฆ์ท่าน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะมีความรู้สึกชื่นใจ

พระเราก็เช่นเดียวกัน เห็นฆราวาสมีการเสียสละ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรม ก็รู้สึกชื่นอกชื่นใจ

วันนี้ อาตมาก็ได้มีโอกาสมาเยี่ยม มาให้กำลังใจ ให้ข้อคิด และหลักปฏิบัติแก่พวกเราร้อยกว่าคน
ที่ได้อุตส่าห์สละเวลา สละความสะดวกสบาย เพื่อมาฝึกอบรมตนตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์
อาตมาก็ ขอแสดงความรู้สึกยินดีและชื่นใจ


งานประเภทนี้อาตมาเคยตั้งชื่อ ว่า เป็นงานกินเกลือ
เพราะว่าส่วนมากพวกเราเคยกินแต่ด่างมาหลายปีแล้ว
รู้สึก ว่าขาดเกลือสักหน่อย เพราะฉะนั้นต้องมีงานกินเกลือ ทีนี้วิธีกินเกลือของเราก็ไม่มีอะไรนอกจากการขัดเกลากิเลสของตัวเอง



เรื่อง การประพฤติปฏิบัตินั้น จุดสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจในการกระทำหรืออย่างที่ภาษาพระเรียกว่า สัมมาทิฐิ

ความเห็นชอบเรื่องนี้ หลวงพ่อชาซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมา
เคย เตือนอยู่เสมอว่า อย่าลืม
อย่าปฏิบัติ เพื่อจะเอาอะไร
อย่าปฏิบัติ เพื่อจะได้อะไร
อย่าปฏิบัติเพื่อจะเป็นอะไร
แต่ปฏิบัติด้วยการปล่อย เพื่อการปล่อยวาง

ถ้าเรายังปฏิบัติด้วยความหวังว่าจะได้อะไรดีๆ เอาไปบ้าน เรามักจะผิดหวัง

ความจริงแล้ว ขออภัยนะ
วัดก็คล้ายๆ กับส้วม
มีหลายคนที่ชอบถามว่า คุณไปวัดได้อะไรบ้าง คุณไปวัดก็เหมือนกับคุณไปห้องส้วม คุณจะได้อะไรบ้าง ก็ไม่ได้อะไร แต่ว่าเราก็ได้ถ่ายของสกปรกออกไปก็มีประโยชน์เหมือนกัน


เพราะ ฉะนั้น แทนที่จะเห็นการปฏิบัติเป็นวิธีการที่จะได้ของดี
เราควรจะถือว่า เป็นโอกาสที่จะถวายความดีแก่พระศาสนา

เพราะว่าทุกวันนี้พวกเราใน ประเทศไทย
นับวันก็ห่างไกลจากพระศาสนา
จนกระทั่งมีคนในระดับปัญญาชน หลายคน ที่มีการพูด มีการแสดงออกต่างๆ
ที่ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าท่าน เหล่านั้น
ไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาเสียเลย
อย่างเช่นมี ข้าราชการผู้ใหญ่บอกว่า พระไม่มีหน้าที่รักษาป่า เป็นต้น


ถ้า เราอ่านในพระบาลีจะพบว่า พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนว่า
ตราบใดที่พระหรือนัก ปฏิบัติยังมีความยินดีในเสนาสนะป่า
พระพุทธศาสนาจะไม่เสื่อมหายจากโลก ตราบนั้น

เพราะฉะนั้น การอยู่กับป่า การอยู่กับต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้น


ปี นี้อาตมาได้รับนิมนต์ไปสอนธรรมะที่อเมริกา
มีบางคนถามอาตมาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนับถือศาสนาพุทธ
แต่ทำไม่ประเทศไทยยังมีคอรัปชั่น มาก ๆ มีปัญหามากๆ
ทำให้อัตราการฆ่าคนเป็นอันดับสองของโลก
ทำไมจึง มีปัญหามากๆ

อาตมาก็บอกไป ก็พูดเล่นๆ นะ
ตอบว่าอาจจะเป็นเพราะ ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทยเข้าโรงเรียนคริสต์
แล้วก็ทำปริญญาที่ อเมริกา

คือ จะไปโทษศาสนาพุทธไม่ได้ ไม่ใช่ว่าศาสนาพุทธมากไป
แต่ ศาสนาพุทธน้อยไป เรายังไม่เข้าใจถึงแก่นของศาสนาพุทธ
เรายังพอใจในสิ่ง ที่เป็นเปลือกของศาสนาเสียมาก


วิธีการที่เราจะเข้าถึงแก่นของ ศาสนาพุทธก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ว่า ทุกข์เกิดเพราะอวิชชา ทุกข์เกิดเพราะความหลง

การประพฤติปฏิบัติต้อง เป็นไปเพื่อขจัดเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ อวิชชานั้น

พูดง่าย ๆ
การประพฤติปฏิบัติธรรม คือการลดความโง่ขอตนเอง พูดภาษาชาวบ้านนะ

เพราะ ฉะนั้น ใครอ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ก็เท่ากับอ้างว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
ซึ่งไม่น่าเป็นความจริง

เรา มีเวลา เพราะว่าชีวิตเราประกอบด้วย กาย วาจา ใจ
และสิ่งเหล่านี้อยู่ นิ่งไม่ได้ ต้องมีการกระทำ ต้องมีการเคลื่อนไหว
อย่างที่พระท่านว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เพราะฉะนั้น การไม่ปฏิบัติไม่มีในโลก
เรา ก็ปฏิบัติกันอยู่ทุกคน แต่สำคัญว่าเราปฏิบัติอะไรกันอยู่

เราไม่มี ทางที่จะเลือกระหว่างการปฏิบัติและการไม่ปฏิบัติ
แต่ว่าเรามีทางเลือก ระหว่างการปฏิบัติสิ่งที่เป็นธรรมะ
กับการปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นธรรมะ หรือสิ่งที่เป็นอธรรม



วันนี้อาตมามีความชื่นใจที่เห็นญาติ โยมได้ตั้งใจ
เข้างานกินเกลือของวัดสวนโมกข์
มาขัดเกลาตัวเองเพื่อ เข้าถึงแก่นสารของพระพุทธศาสนา

แก่นสารของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน แก่นสารพระพุทธศาสนาอยู่ที่แก่นสารของชีวิตของตนนั่นเอง
เพราะว่าพุทธ ศาสนาเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของวัด ไม่ใช่เรื่องข้างนอก
แต่เป็น เรื่องของเราทุกคน

เพราะฉะนั้นเราต้องแสวงหาวิธีการดับความทุกข์ นั้น
เราต้องพยายามเข้าถึงอาการที่ปราศจากทุกข์
ซึ่งเราถือว่าเป็น สิ่งสูงสุดที่มนุษย์เข้าถึงได้ ทั้งผู้ชาย ทั้งผู้หญิง
ไม่ว่าเราเป็นคน ชาติไหนชั้นไหน
เราล้วนแต่มีโอกาสล้วนแต่มีความสามารถหรือมีศักยภาพ
ที่ จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสไม่มากก็น้อย

เราประพฤติปฏิบัติ เรามุ่งที่จะลดความโง่ของตัวเองทีละเล็กทีละน้อย
ไม่ต้องมักใหญ่ใฝ่สูง
ไม่ ต้องเอามากๆ เอาทีละเล็กเอาทีละน้อยก็ยังดี
ค่อยเป็นค่อยไป

และ ในการประพฤติปฏิบัตินี้อย่าไปเปรียบเทียบตนเองอับคนอื่น
จะเป็นทุกข์ฟรี ๆ ไม่ฉลาด
เรื่องนี้เราไปดูคนอื่นไม่ได้ ต้องดูตัวเอง
ต้องสังเกต การเคลื่อนไหวกายใจของตนเอง ให้เข้าใจว่า ชีวิตนี้คืออะไร
อันนี้มัน สนุกที่ตรงนี้ เรียกว่าจะมีความสุขที่ตรงนี้

แต่ว่า การที่เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างราบรื่น อันนี้เป็นของยาก
น้อยคนที่จะ เป็นอย่างนั้น ส่วนมากเราก็ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน
แต่ว่าเราควรที่ จะพิจารณาในแง่ของความจริงที่เรียกว่า ปัญญาเกิดจากการฟันฝ่าอุปสรรค

ยิ่ง มีอุปสรรคมากยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างปัญญามาก
ฉะนั้นผู้ที่มีอุปสรรคมากๆ เป็นผู้มีบุญมากน่าอิจฉา

ครูบาอาจารย์ของอาตมาเอง คือ หลวงพ่อชา ท่านมีปัญหามาก
ท่านอยู่ด้วยความอดทน จนในที่สุดท่านก็ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นมาได้
ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ น่าเคารพ
เป็นที่เคารพนับถือของคนไทยทั่วโลกในสมัยปัจจุบัน
ก็อาจจะ เป็นเพราะว่าท่านเคยผ่านความทุกข์มาแล้ว

เวลาท่านสั่งสอนลูกศิษย์ ลูกหา ท่านก็รู้จักปัญหาที่ลูกศิษย์กำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างถ่องแท้
ท่าน จึงสามารถเลือกคำสอนและธรรมะที่เหมาะสมกับจิตใจของลูกศิษย์ได้อย่างน่า อัศจรรย์

อาจจะเป็นได้ว่า ถ้าการประพฤติปฏิบัติของท่านง่ายกว่านี้ สบายกว่านี้ ท่านอาจจะไม่มีปัญญาในการสอนถึงขนาด

มองดูตัวเองก็ เหมือนกัน
ถ้าเรากำลังมีปัญหาก็อย่าไปท้อใจ อย่าหดหู่ใจ
แต่ปลอบใจ ตัวเองว่า ถ้าเราอดทน ถ้าเราไม่ท้อถอย ในที่สุดเราต้องผ่านพ้นอุปสรรคนี้ได้

เพราะพระพุทธองค์ทรงยืนยันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้เป็นกฏตายตัวของธรรมชาติ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม

ยอดของความดี หรือบุญสูงสุดคือการ ภาวนา เราภาวนากับความทุกข์
เราภาวนากับปัญหา เราไม่รังเกียจปัญหา อันนี้ก็จะเป็นการสร้างบารมี เป็นการชำระจิตใจของตนเอง แล้วในที่สุดเมื่อเราพ้นจากปัญหานี้ได้แล้ว เราจะมีความสามารถที่จะช่วยคนอื่นที่กำลังเจอปัญหานี้ได้อย่างดี ถ้าเรามองอย่างนี้แล้วก็ได้กำลังใจ

เรื่องการฝึกจิตนี้ก็เหมือนกับ การอบรมเด็ก ๆ จะด่าว่าอย่างเดียวก็ไม่ได้
จะปลอบใจเอาอกเอาใจอย่าง เดียวก็ไม่ได้
จะเอาอย่างใดอย่างเดียวไม่ได้
แต่เราต้องมีสติให้รู้ ว่าเวลาไหนควรปลอบใจ
เวลาไหนควรเอ็ดควรด่า ควรว่า ก็ต้องมีเหมือนกัน
เอา อย่างใดตายตัวไม่ได้

ทางสายกลางนี้มีการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเหมือน กันนะ
คือทางสายกลางไม่ใช่เราจะเอาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ว่ามันขึ้น อยู่กับการสร้างความรู้สึกที่สุขุมละเอียดอ่อนต่อความพอดี
และความพอดี นั้นหมายถึงความพอดีต่อการชำระกิเลส
เรามุ่งปัญญา มุ่งที่จะปล่อยวาง


คำ สั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงฟังง่ายก็มี ที่ฟังยากก็มี
คำสั่งสอนบางข้อ เราฟังแล้วก็รู้ลึกซึ้ง บางข้อฟังแล้วก็รู้สึกงง ไม่เข้าใจ
คำสอนบางข้อ นี้ฟังแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ หรือไม่ประทับใจ

แต่มีข้อหนึ่งเป็นธรรมที่ สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของนักปฏิบัติ
นั่นคือคำว่า นิโรธ คือ ความดับ

ถ้า เรายกเรื่องความดับขึ้นมาเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติ
อาจมีหลายคนที่ รู้สึกว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ค่อยดึงดูดจิตใจ
เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ ได้


อาตมาขอเปรียบเทียบกับเลื่อย เลื่อยไฟฟ้าที่กำลังตัดต้นไม้
เสียงดังเสียงน่ารำคาญ ฟังไปฟังมาก็รู้สึกเครียด
แล้วมันจะถึงจุด หนึ่งที่เครื่องนั้นดับ
ขอให้สังเกตตรงนี้ว่า เรารู้สึกอย่างไรบ้าง อันนี้ คือ ความดับ

ดับทุกข์มันจะอยู่ในลักษณะนี้ แล้วก็สังเกตต่อว่าหลังจากเสียงเลื่อยไฟฟ้าดับแล้ว
ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียง อะไรเลย ก็มีอยู่เหมือนกัน เช่นเสียงนก เสียงลมพัด
เสียงธรรมชาติก็ยัง มีอยู่ แต่ว่าเสียงเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรค
หรือไม่แระทบกระแทกต่อความ สงบที่เรากำลังเสวยอยู่

ความทุกข์ดับแล้วไม่ใช่ว่าจะไม่มีอะไร
สิ่ง ที่มีอยู่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ความปลอดโปร่ง
อาตมาเองก็ไม่ค่อยได้ใช้ คำว่าว่าง เพราะรู้สึกว่าคำนี้ค่อนข้างอันตราย
บางคนฟังแล้วก็เข้าใจผิด ก็มี เขาใช้คำว่า ปลอดโปร่งอาจจะดีกว่า


สมมติว่าเรามีห้องใหญ่ หรือศาลาหลังใหญ่
ถ้าหากว่าเปิดหน้าต่าง เปิดประตูอากาศถ่ายเท มีแสงสว่าง ถึงแม้ว่าห้องนั้นไม่ว่างมันก็มีเก้าอี้ มีคน มีโต๊ะ มีอะไรต่ออะไรบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่างทีเดียว
แต่เราไม่มีความรู้สึกว่า รก รู้สึกว่าปลอดโปร่ง

จิตใจของเราก็เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าความ ทุกข์ดับไปแล้วจะไม่มีอะไร
ชีวิตจะจืดชืดแห้งแล้ง ...ไม่ใช่

เมื่อ ความสกปรกหายไปแล้วจะมีอะไรไหม ...มันก็มีอยู่
... มีความสะอาด
ความ วุ่นวายหมดไปแล้วเราก็มีความสงบ

และความสงบที่ประกอบไปด้วยปัญญา เป็นความสงบที่ทนทาน
เราจะมีความเป็นกลางที่สมบูรณ์ บริบูรณ์ คือ อุเบกขาในระดับนี้


ไม่ใช่ความเฉยเมยหรือความเป็นกลางที่เกิด ขึ้น
เพราะเราไม่ยอมรับสิ่งภายนอก หรือว่าหลบหลีกจากสิ่งรบกวน แต่ว่าเป็นความเป็นกลางที่อาศัยปัญญา
(เพื่อ)รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตาม ความเป็นจริงว่าเป็นของไม่แน่

ดีใจก็ของไม่แน่
เสียใจก็ของไม่ แน่
สมหวังก็ของไม่แน่
ผิดหวังก็ของไม่แน่
ก้าวหน้าก็ของไม่แน่
ถอยหลังก็ของไม่แน่
อยู่กับที่ก็ของไม่แน่
อยากอยู่ก็ของไม่ แน่
ตื่นเต้นอยู่ก็ของไม่แน่
นี่มันสงบด้วยสัมมาทิฐิ

ความ สงบนี้เป็นความสงบที่กล้าหาญ
ความสงบที่เกิดจาก สมถะ เป็นสิ่งที่ดี

แต่ สิ่งที่เราขาดไม่ได้ คือปัญญาอันแหลมคม
หรือปัญญาที่มีพลังพอที่จะขจัด กิเลสได้
ย่อมเกิดจากจิตที่สงบเป็นฐานแต่ว่าความสงบที่เกิดจากสมถะภาวนา เป็นความสงบที่เปราะ
เป็นความสงบที่อ่อนแอ

ความสงบที่มุ่งหวัง ในการประพฤติปฏิบัติคือ
ความสงบที่เกิดจากการรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตาม ความเป็นจริง

ขออย่าลืมว่า เราปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงของชีวิต
ชีวิตของมนุษย์ต้องการความ จริง
ชีวิตของมนุษย์ต้องการความหลุดพ้นตัณหาที่เกิดขึ้นในจิตใจของ มนุษย์ในปัจจุบันนี้
ส่วนมากเกิดขึ้นจากการเก็บกดความต้องการในความเป็น อิสระ
ซึ่งเป็นความต้องการอันดั้งเดิมของมนุษย์

หลายสิบปีที่ แล้วมีนักปราชญ์ชาวยิว ชื่อ ฟรอยด์
ท่านมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมตะวันตกทุก วันนี้
อาจจะรวมถึงวัฒนธรรมตะวันออกด้วยอย่างมากมาย

ทิฐิหรือ ความคิดเห็นของเขามีข้อหนึ่งแล้วก็เป็นข้อสำคัญว่า
ศรัทธาในศาสนธรรม หรือความสนใจในเรื่องศาสนา
เกิดจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ

แต่ อาตมามีความเห็นตรงกันข้าม ความมัวเมาในเรื่องทางเพศเกิดขึ้นเพราะเราเก็บกดความต้องการทางศาสนา
อัน นี้เราต้องเห็น(ว่า)เรามีความต้องการ
ต้องการความจริง
ต้องการ สัจธรรม
ต้องการหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความโลภ ความโกรธ ความเหงา

ปัญญา...เรา ก็มีอยู่ทุกคน
แต่โดยปกติแล้วปัญญาดั้งเดิมของเราถูกความคิดฟุ้งซ่านของ จิตปรุงแต่ง
กลบเกลื่อนไว้หรือทับถมไว้

เราอยู่โดยชีวิตที่ ผิวเผิน ..
ลึก ๆ อยู่ในใจเรา เราก็มีความคิดถึงบ้าน
และพูดสำนวน ของหลวงพ่อชาคิดถึงบ้านที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของเราก็ แสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง
หรือว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดแก่เจ็บตายเป็น ธรรมดา

แต่เราก็สงสัยว่าทำไมเราไม่อิ่มสักที
ทำไมเรามีความ รู้สึกว้าเหว่อยู่ในใจ
บางครั้งก็รู้สึกกลัดกลุ้มใจ
รู้สึกว่าขาด อะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้ขาดอะไร
นี่แหละแสดงถึงอาการเก็บกด ความต้องการทางศาสนา

หันหลังใส่ประโยชน์ตน หันหลังใส่ประโยชน์ท่าน
ไป มั่วสุมกับสิ่งทรยศทั้งหลาย
รูปเป็นของทรยศ เสียงก็ของทรยศ กลิ่นก็ทรยศ รสก็ทรยศ การสัมผัสก็ทรยศ

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นเพื่อนกิน ไม่ใช่เพื่อนตาย

เพื่อนตายมีองค์เดียวคือ พระพุทธเจ้า
แล้วเราต้องการอะไรในชีวิต ต้องการเพื่อนกิน หรือต้องการเพื่อนตาย

ต้องการเพื่อนตายต้องเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ
เราต้องมีการเสียสละเพื่อศาสนธรรม

ทุก วันนี้เท่าที่อาตมาสังเกต ส่วนมากพวกเรา
พร้อมที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อศาสนา
เว้นในสิ่งเดียว คือ ผลประโยชน์ของตนเอง อย่างนี้เรียกว่า เข้าข้างตัวเอง
ยังไม่เข้าถึงศาสนา

เราต้องเข้าข้างพระพุทธเจ้า เสียบ้าง
เข้าข้างความจริงเสียบ้าง
เข้าข้างความถูกต้องเสียบ้าง

มี ศรัทธา มีความเข้มแข็ง พอที่จะอดทนต่อความยั่วยุของกิเลส

พร้อมที่ จะสละสิ่งที่ถูกใจ ถ้าหากว่าสิ่งที่ถูกใจเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อการเบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

เรา ต้องเป็นนักเสียสละ
แต่ว่ายิ่งสละออกไปมันก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งทิ้งของหนักก็ยิ่งมีความเบา
ยิ่งเขี่ยของสกปรกออกไปยิ่งมีความเบิก บานกับของสะอาด

ถ้าเราคลุกคลีอยู่กับความรู้สึก “ ฉัน “ “ ของฉัน “ ศาสนธรรมก็ไม่เกิด
เราต้องเห็นโทษเห็นภัยในความรู้สึกอันนี้ และปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อเอาชนะสิ่งนี้




ชีวิตนี้คือ อะไร ? คำว่า “ เรา “ หมายถึงอะไร
และสังเกตว่า เมื่อจะใช้คำว่า “ เรา “ นี้เราหมายถึงหลายสิ่งหลายอย่าง
เราเมื่อย เราหิวข้าว เรามีความสุข เราปวดร้าวใจ เราจำได้ เราจำไม่ได้ เราคิดว่า เราชอบ เราไม่ชอบ เราเห็นแล้ว เราได้ยินแล้ว นี่คำว่า “ เรา “ ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่เราหมาย ถึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราดูดีๆ จะเห็นว่า “ เรา “ หมายถึงสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ ขันธ์ “
เราหิวข้าว หมายถึง ว่าร่างกายหิวข้าว
เรามีความสุข หมายถึงสุขเวทนา เกิดขึ้นแล้ว
เรา จำได้ หมายความว่าความจำได้เกิดขึ้นแล้ว
เราชอบหมายถึงว่าความชอบเกิด ขึ้นแล้ว
เราเห็น หรือว่าเราได้ยินก็เป็น วิญญาณ นี่ปัญญามันเกิดขึ้นจากการพิจารณาตรงนี้


เราฝึกสมาธิภาวนาเพื่อ ทำจิตใจของเราให้มีความมั่นคงมีความแน่วแน่
แต่นั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ของการประพฤติปฏิบัติ
จิตใจของเราโดยปกติก็คล้ายกับเทียนที่อยู่ในสายลม

ถ้าเทียนอยู่ในสายลม เราจะอาศัยเทียนนั้นทำงานไม่ได้ เราต้องเอาเทียนออกจากสายลม เอาไว้ในที่สงัดจากลม
เราจึงจะอ่านหนังสือ ได้ เราจึงจะทำงานได้

จิตใจของเราก็เหมือนกัน อยู่ในสายลมแห่งความคิด
เราต้องเอาจิตออกจากสายลม ให้จิตสงัดจากความคิด
สงัดจากกาม สงัดจากนิวรณ์ แล้วก็ใช้จิตที่ผ่องใสนั้นให้มาดู
ดู สิ่งที่มีอยู่กับตัวเอง ไม่ต้องไปดูอื่นไกล
อันนี้วัตถุดิบมีอยู่หมด แล้วเรียบร้อยแล้ว
ไม่ต้องซื้อเข้ามา ไม่ต้องสั่งเข้ามา
มีแล้ว แต่ว่าเรายังไม่เห็น ยังไม่สนใจมันเท่าที่ควร


เรายังเป็น “ นักโทษ “
เรายังติดคุกติดตะรางแห่งความเพลิดเพลินกับสิ่งภายนอก
ความ เพลิดเพลินนั้นเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์อยู่เป็นธรรมดา

และ นอกจากติดคุกติดตะรางในความเพลิดเพลิน เรายังเป็นนักโทษในอีกความหมายหนึ่งคือความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต
ชอบโทษ คนอื่น ชอบเป็นนักโทษโทษคนนั้นโทษคนนี้
โทษพ่อแม่ โทษลูกหลาน โทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร
สิ่งที่เป็นโทษในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้เป็นแค่เงื่อนไข หรือเป็นปัจจัย หรือเป็นจุดกระตุ้น
ความทุกข์อยู่ที่ใจ


ฉะนั้น ขอให้สังเกตตัวเอง เวลาเราชักจะไปโกรธ ชักจะไปโทษคนอื่น
หรือสิ่งภายนอก ให้หยุดให้ระงับสิ่งเหล่านั้น แล้วค่อยมาดูตัวเอง นี่คืออะไร
มันเกิด อย่างไร มันอยู่อย่างไร มันดับอย่างไร นี่เราต้องการความเข้าใจเรื่องนี้

อย่า ไปเข้าใจว่าความสงบอยู่ที่การหนีความวุ่นวาย
หรือหนีจากสิ่งกระทบ
การ กระทบเป็นของธรรมดา
แต่ว่าการกระทบอย่าให้เกิดการกระแทกก็แล้วกัน
กระทบ เฉยๆ แล้วก็ดับไป

ทำชีวิตให้เหมือนกับระฆัง
ระฆังวัด ระฆังวัดนี่สร้างประโยชน์ด้วยการกระทบ พอมีอะไรมากระทบก็เอวัง !
มันก็ ไพเราะ แล้วก็เกิดประโยชน์ด้วย
ไม่เคยมีระฆังที่ไหนบ่นว่ามีการกระทบ บ่อยแล้วตึงเครียด กดดัน มีแต่ความภูมิใจวาได้สร้างประโยชน์ให้มีการกระทบเถอะ มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีการกระทบ แต่ว่ากระทบแล้วเป็นอย่างไร นี่แหละเราช่วยได้ นี่แหละการปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้


ชีวิตของเรา ยุ่งไหม แล้วทำอย่างไรมันจึงไม่ยุ่ง
คือ มันต้องมีของยุ่ง ๆ อยู่รอบตัวของเราเป็นธรรมดา

แต่ถึงแม้มันมายุ่งกับเราเราก็ไม่ต้อง ไปยุ่งกับมัน
ถ้าจิตใจของเรามีสติ มีความรู้ตัวอยู่ว่าเดี๋ยวนี้จิตใจของเราอยู่ในสภาพเช่นไร
เป็นบุญไหม เป็นบาปไหม เป็นกุศลไหม เป็นอกุศลไหม มันก็จะป้องกันตัวได้

เดี๋ยว นี้เรากำลังทำอะไรอยู่
เดี๋ยวนี้เรากำลังทำเพื่ออะไร พูดอะไรอยู่ พูดเพื่ออะไร พูดเพื่อสร้างประโยชน์ไหม หรือว่าพูดเพื่อฆ่าเวลา
ความ จริงการฆ่าเวลานี้น่าจะผิดศีลข้อปาณาติบาต เป็นความเลวนะ
มันเป็นสิ่ง ไม่ดี ให้เห็นโทษในสิ่งที่ไม่ดีแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ..ฆ่าเวลา
เวลาเรา มีน้อย น้อยมาก


ทัศนะของนักปฏิบัติ
คือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะได้ถ้าเรามีสติ
ถ้าเรามีปัญญา
เราไม่ลืม ตัว

การที่เราจะแบ่งแยกว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นชั่ว สิ่งนั้นโชคดี สิ่งนั้นโชคร้าย
เราจะไม่คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

เราถือว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มากระทบนั้นเป็นการท้าทายสติปัญญาของเรา
มองชีวิตเป็นการ ท้าทาย

ไม่ใช่ว่าไปประสบกับสิ่งที่น่ารัก น่าชอบใจแล้วก็ดีใจหัวเราะ
แต่ว่า(พอ)ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็ ร้องไห้ ..
...อย่างนี้ชีวิตของเราก็ขรุขระไป ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ ความราบรื่นเกิดขึ้น ถ้าเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงอยู่เสมอ


จิต ใจที่มีความเข้มแข็งอย่างนี้ เป็นจิตใจที่ได้รับการบำรุงเลี้ยงโดยสติ
และ ในเรื่องนี้การนั่งสมาธิภาวนาเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะว่าถ้าเราไม่นั่ง สมาธิภาวนา สติของเรานี้มันเงอะงะ มันไม่ทันกิเลส
กิเลสมันคล่องแคล่ว ว่องไว สติก็ตามไม่ทัน ถ้าหากว่าเราไม่นั่งสมาธิภาวนาบ่อยๆ
นั่งสมาธิ เพื่อเป็นการเจริญสตินั่นเอง



สติที่เราสร้างในระหว่าง
การ นั่งสมาธิภาวนาก็จะช่วยให้เราอยู่ในโลกท่ามกลางคนเห็นแก่ตัว ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว

อยู่กับคนที่มีความโลภมาก ๆ โดยความสันโดษมักน้อย

อยู่กับคนขี้โกรธด้วยใจเมตตา มีความเอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์

ให้อภัยคนอื่นด้วยความเป็นมิตร
ไม่ ได้ถือคติหนังจีนว่า แค้นนี้ต้องชำระ
แต่ถือคติพุทธว่า แค้นนี้ต้องให้อภัย
อยู่กับคนที่มีแต่ความหลงด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม


ในเรื่องนี้เราเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ คือไม่ต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนพระก็ได้
มันเป็นการเผยแพร่ เราเผยแพร่ด้วยคุณธรรม

ในการสวดมนต์ เราสวดคำสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ข้อหนึ่งว่า
พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าพระสงฆ์


ทีนี้สมมติว่าเราเป็นผู้ตั้งอก ตั้งใจปฏิบัติ
เป็นผู้ที่พยายามรักษาความสดชื่นของจิตใจไว้
เป็นผู้ ที่มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
โดยไม่มีความเลือกที่รักมักที่ชัง
คน รอบข้างเขามาพูดกับเรา เขามาสัมพันธ์กับเรา เขาก็ได้รู้สึกชื่นใจ เขาก็ได้รู้สึกสบายใจ เพราะการพูดคุยกับเรา หรือการสัมพันธ์กับเรา

ฉะนั้น จิตใจของเขามีความสุขที่เป็นบุญ
จิตใจของเขาเป็นบุญ เพราะเราเป็นเหตุ
ฉะนั้น ในกรณีนี้ น่าจะเรียกว่าเราเป็นเนื้อนาบุญของเขา

แม้ว่าเราไม่เป็น เนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่เหมือนพระอริยสงฆ์
เราก็ยังสามารถเป็นเนื้อนาบุญ อันเล็ก ๆ ของเพื่อนมนุษย์ได้แค่นี้ก็น่าภูมิใจแล้ว
แค่นี้ก็เป็น ประโยชน์แก่ครอบครัว แก่สังคม แก่โลกอย่างมหาศาลแล้ว
จะเป็นการเผยแพร่ พระพุทธศาสนาที่ยอดเยี่ยม

แต่ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น
ทุก วันนี้เราก็เป็นชาวพูดมากกว่าชาวพุทธ
พูดจริงแต่ไม่ค่อยทำ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
บ่นแต่ว่า เขาไม่เคารพเรา
ลูกหลานคนสมัยนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อน ทุกวันนี้เขาไม่เคารพคุณยายเหมือนสมัยก่อน
เราก็บ่น แต่เขา
เรียกว่าเป็นนักโทษ โทษคนอื่นแล้วก็ไม่ได้ดูตัวเองว่าน่าเคารพไหม
ว่าแต่เขาไม่เคารพ เราน้อยใจ ไม่ได้ดูที่คุณธรรมของตัวเอง

พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ รับผิดชอบ
ไม่ใช่รับแต่ชอบไม่รับผิด ต้องรับทั้งสองอย่าง

เรา ต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วก็ทำความดี

แต่ว่าทำความดี เพื่อความดี
ทำ ความดีเพราะรักความดี
แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี
ก็ถ้าเราเป็น คนดี แล้วจะเป็นทุกข์

หลายปีที่แล้วมา หลวงพ่อชา ลงไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ
มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะ ฝ่ายมหายานมาถามหลวงพ่อชา
เรื่องการปฏิบัติว่า

“ คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์
กับคนปฏิบัติเพ่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนสูงกว่ากัน “

หลวงพ่อชาตอบว่า
“ อย่าเป็นอะไรเลย
พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย
พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็น เลย
แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย
เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที "

คืออย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เป็นคน อย่าเป็นคนดี

ถ้า เป็นคนดีแล้วต้องรำคาญคนไม่ดี

ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ
ไป ที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ
เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่เลิกแล้วดูคน อื่นสูบ ก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่าติดดี

ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดีท่านก็ไม่ให้เราติด
เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ

คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทฤษฏี ไม่ใช่ปรัชญา
แต่ มันเป็นความจริงอันลึกซึ้งที่ปรากฏอยู่ในใจของนักปฏิบัติ
ที่เราพยายาม เอามาพูดเป็นภาษาคน

แต่ที่เราพูดมันไม่ใช่ตัวธรรมะ
ตัวธรรมะ เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ต้องเห็น ต้องสัมผัสอย่างประจักษ์แจ้งอยู่ในใจของเรา


ถ้าเราเข้าถึงธรรมะแล้วเรียกว่าเกิดปัญญา
แล้วสิ่งที่จะ ต้องเกิดตามคือ ความกรุณา
เห็นว่าเราเป็นอย่างไร เขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างไร เราเป็นอย่างนั้น

สังเกตตัวเองว่ากิเลสเกิดขึ้นเอง เราไม่ได้เชิญมันมา ไม่ได้ชวนมันมา
อยู่นั่นมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป ดับไปแล้วไม่รู้ไปไหน แต่ว่ามันก็ครอบงำ

เราเห็นว่า เราเคยโกรธ
เรา ก็ไม่อยากจะไปโกรธใคร
แต่ว่าเขาพูดอย่างนั้น เราก็อดไม่ได้

ถ้า เราสังเกตตัวเองว่า เวลามันโกรธมันเกิดขึ้นเอง มันก็ดับไปเอง
ทีนี้ เมื่อคนอื่นเขามาโกรธเรา ให้รู้จักมันไว้ เราเป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น
เขาคงไม่อยากจะโกรธเราหรอก แต่ว่าความโกรธมันเกิดเอง มันอยู่เอง มันไปเอง
อันนี้แหละวิปัสสนา เราก็ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้
แล้วก็เห็นกิเลสเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป
แล้วก็เห็นของเราเป็นอย่าง นั้น ของเขาก็เป็นอย่างนั้น
ก็ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกันเลย
แล้วก็ มาดูตัวเองว่าตัวเองนี้ก็พยายามเป็นนักปฏิบัติที่ดี
พยายามเป็น พุทธมามกะที่ดี

แต่ว่าบางครั้งบางคราวก็หลงผิดพลาด
แต่ว่าอดทำ ไม่ได้ อันนี้เราเป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น
เขาเป็นอย่างไรเราก็ เป็นอย่างนั้น
จิตใจของเรานี้ยังไม่เข้มแข็ง ต้องให้อภัยตัวเอง เมตตาตัวเองแล้ว ก็เมตตาคนอื่นด้วย



ส่วนมากเท่าที่สังเกต คนขี้โกรธ
ขี้โกรธเพราะว่าไม่เมตตาตัวเอง ไม่รักตัวเองในทางที่ถูกต้อง
เมื่อ เราไม่เมตตาตัวเอง เราจะไปเมตตาคนอื่นได้อย่างไร
เหมือนกับว่าเราอยากจะ ไปทำทานแต่ว่าเราไม่มีสตางค์ เราจะไปทำอย่างไร
ก็เหมือนกันเราไม่มี เมตตาอยู่ในใจตัวเอง จะไปให้คนอื่นได้อย่างไร


ทุกวันนี้ก็มีแต่ คนส่ง ส.ค.ส.เต็มบ้านเต็มเมือง
ไม่รู้ว่าคนที่ส่ง ส.ค.ส. มีความสุขที่จะให้คนอื่นสักกี่คน
ชาวพูด ..พูดเฉย ๆ

เราก็ต้อง มีความสุขภายในใจเราจึงจะให้คนอื่นได้สร้างความสุขภายในใจ
นี่เป็น ประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างมาก ไม่มีความขัดแย้งเลย
ระหว่างการสร้าง ประโยชน์ตนกับสร้างประโยชน์คนอื่น

เราปลีกตัวมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เป็นการช่วยโลก เป็นการช่วยสังคมอย่างดี
เพราะว่าความสงบหรือความเข้าใจ ในเรื่องตัวเองที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติที่นี่
เราจะเก็บไว้เป็น เรื่องส่วนตัวไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกคนเดียว
เราอยู่กับคน อื่น เพราะฉะนั้นความดีความชั่วของเราต้องแผ่ไปถึงคนอื่นเป็นธรรมดา


เรา จะช่วยคนอื่นเราต้องช่วยตัวเองด้วย
เพราะว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน
อยากจะช่วยคนอื่นอย่างถูกต้องให้ได้ผล
มันก็ ต้องฉลาดในการชนะกิเลสของตัวเอง เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ
เพราะว่าเจตนา ที่ดีไขว้เขวเป็นอย่างอื่นได้ง่าย แต่เราไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้อุบาย
ไม่ รู้กลมายาของกิเลส จิตใจของเรานี้ อย่าไปเชื่อมัน มันตลบแตลงที่สุดเลย
อย่า เชื่อความคิดของตัวเอง มันเป็นของทรยศ !


อะไร ๆ เกิดขึ้นมันไม่แน่ มันไม่แน่
เรื่องสัมมาทิฐิอยู่ตรงนี้ อยู่กับคำง่าย ๆ 'ไม่แน"
ชอบก็ไม่แน่ ไม่ชอบก็ไม่แน่
จะไปก็ไม่แน่ จะอยู่ก็ไม่แน่

ให้ เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวเองเป็นเรื่องน่าขำ
อย่าไปเอาจริง เอาจังกับมันมากเกินไป
อย่าไปถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เป็นของสาธารณะ
อารมณ์ มันเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของเรา

เราไม่มีน.ส.3 ในเรื่องเหล่านี้ซื้อไม่ได้
มันเป็นของธรรมชาติเพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นของธรรมชาติ ให้มันเป็นของธรรมชาติไป
อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปมั่วสุมกับมันมาก ถ้าอย่างนั้นมันจะเกิดปัญหา

ดูตัวเองให้มาก สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปให้เกิดปัญญา
แล้วเอาปัญญาที่ได้เหล่านั้นมา ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งที่จะสร้างประโยชน์แก่โลก สร้างชีวิตที่น่าภูมิใจ

ให้เราทุกคนมีส่วนในการสืบต่ออายุของพระ พุทธศาสนา
เมืองไทยมีดีก็เพราะพระพุทธศาสนา
เมืองไทยมีเสียก็เพราะ ขาดพระพุทธศาสนา
ฉะนั้นปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีได้
ถ้าหากว่าเราบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยกาย วาจาใจ ของเรา
ด้วยการประพฤติปฏิบัติ


อย่าคิดเอง…..
….สิ่ง ที่เรา “ รู้เอง “ กับสิ่งที่เรา “ คิดเอง “ นี้มันต่างกันนะ
แต่ถ้าเรา คิดปรุงแต่ง สองอย่างนี้มันจะรวมเป็นอันเดียวกัน
เช่น สมมติมีใครทำอะไรสักอย่างซึ่งเป็นผลเสียต่อเรา
และเราก็ไม่รู้เจตนาของ เขา เลยคิดว่าเขา “ อาจจะ “ แกล้งเราก็ได้

คิดปรุงแต่งไปมาในคำว่า “ อาจจะ “
จนมันกลายเป็น “ คงจะ “
แล้วในที่สุดคำว่า คงจะ ก็กลายเป็นข้อมูล เป็นความแน่นอน
คือ มีความเปลี่ยนแปลง มีความกำเริบในความคิด จาก คำว่า อาจจะ เป็น คงจะ
เป็น แน่ใจ ว่าเป็นอย่างนั้น เลยเกิดความโกรธ เคียดแค้นใครคนนั้นเข้าทั้งๆ
ที่เรา ไม่มีข้อมูลอะไรแน่นอนว่าเขาแกล้งเรา แต่เรา คิดเอง
เราฝึกจิตให้ตั้ง มั่นเป็นสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญารู้เอง หยุดความคิดปรุงแต่ง……




ชยสา โรภิกขุ
- นามเดิม ฌอน ชิเวอร์ตัน ( Shaun Chiverton )
- พ.ศ. 2501 เกิดที่ประเทศอังกฤษ
- พ.ศ. 2521 ได้พบกับท่านอาจารย์สุเมโธ ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ ถือเพศเป็นอานาคาริกะ ( ปะขาว ) อยู่กับท่านอาจารย์สุเมโธ 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย
- พ.ศ. 2522 บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2523 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีหลวงพ่อชา เป็นพระอุปัชฌาย์
- ปัจจุบัน รักษาการเจ้าอาวาส วัดป่านานาชาติ ต. บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ที่มา http://www.dhamma.in.th/board/viewtopic ... e794a6cfcd

เจ้าของ:  คนดีที่โลกลืม [ 26 มี.ค. 2010, 17:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อะไรคือหน้าที่ของชาวพุทธกันแน่?

หน้าที่ของชาวพุทธแต่ละคนไม่เหมือนกัน หน้าที่ของคุณคือ รักษาศีล 5 ให้ได้ แล้วหัดภาวนาและเจริญกรรมฐาน ทำให้ได้ระดับหนึ่ง จึงค่อยคิดทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างอื่น

ถ้ายังเอาตัวเองไม่รอด ป่วยการจะคิดไปทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างอื่น

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/