ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ใช้สมาธิตามธรรมชาติพิจารณาขันธ์๕สู่การรู้แจ้งในธรรม
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=31775
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  พงพัน [ 17 พ.ค. 2010, 23:04 ]
หัวข้อกระทู้:  ใช้สมาธิตามธรรมชาติพิจารณาขันธ์๕สู่การรู้แจ้งในธรรม

ธรรมเทศนาโดยท่านพุทธทาส ภิกขุ

เราจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลงว่าเป็นตัวเป็นตนนี้ให้ละเอียด
คำสอนประเภทนี้เรียกกันว่า พหุลานุสาสนี
พหุล แปลว่ามาก อนุสาสนี แปลว่าคำสอน
พหุลานุสาสนี จึงแปลว่า คำสอนที่สอนมากที่สุด
คือพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้มากเป็นพิเศษกว่าเรื่องทั้งหลาย
เป็นใจความสรุปได้สั้นๆ ว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตา และถือว่าเป็นคำสอนที่เป็นตัวพระพุทธศาสนา
เพราะฉนั้น อาตมาจึงชักชวน รบเร้าท่านทั้งหลายให้เกิดความสนใจในเรื่องส่วน ๕ ส่วนนี้
หรือเรื่องเบญจขันธ์นี้ และอย่าถือว่าเป็นเรื่องที่น่าล้อเลียน ถึงกับนำมาล้อกันเล่น


เรื่องนี้เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ทั้งที่จะมองกันในแง่ปรัชญาหรือจะมองกันในแง่วิทยาศาสตร์หรือจะมองกันในฐานะเป็นศาสนาก็ตามที เป็นตัวเรื่องสำคัญ ที่ถ้ารู้จักตามที่เป็นจริง อุปาทานก็สลายไป ตัณหาทุกชนิดไม่มีทางเกิด
ความทุกข์ก็ไม่มีเพราะเหตุนี้

อาตมาขอบรรยายแนว หรือลำดับของการรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรไปเสียเลย
ครั้งแรกสุด อาตมาได้บอกว่าพุทธศาสนาคือวิชชา หรือวิธีปฏิบัติให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ถัดมาก็บอกให้รู้ว่า ที่ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
และบอกให้รู้ว่า สัตว์หลงไปในสิ่งที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็เพราะอำนาจของ”อุปาทาน”
ถึงได้ติดแน่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น


แล้วบอกให้ทราบต่อไปว่า”ไตรสิกขา”เป็นวิธีปฏิบัติ สำหรับจะให้ตัดอุปาทานได้
และบอกให้ทราบในที่สุดว่า “ขันธ์ห้า” หรือส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลกนี้เอง
เป็นที่ตั้ง ที่เกาะของ”อุปาทาน” ฉะนั้นเราจะต้องศึกษาให้รู้จักตัว”ขันธ์ห้า”หรือ”โลก”ทั้งสิ้นนี้

อาตมายังได้บอกให้ทราบเป็นพิเศษอีกว่า เรายังมีโชคดี ที่ว่าปัญหาต่างๆ
ที่เข้าไปสะสมอยู่ในใจของเรานั้น เมื่อมากเข้ามากเข้า ถึงพร้อมด้วยการศึกษา
ถึงวันดีคืนดี โอกาสหนึ่งคำตอบอาจจะออกมาเองได้ ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ
หรือในขณะที่จิตมีลักษณะอย่างที่เรียกว่า กัมมนิโย คือควรแก่การงานทางจิต

ในบัดนี้ อาตมาอยากจะบอกให้ทราบต่อไปถึงข้อที่ว่า การที่จิตเป็นสมาธินั้น
มิได้หมายความว่า จะต้องมีการกระทำตามแบบตามพิธีรีตอง
หรือที่เป็นเทคนิคต่างๆนั้นโดยตรงอย่างเดียวก็หาไม่

โดยที่แท้แล้วสมาธิอาจจะมีได้โดยทางตรง ตามธรรมชาติซึ่งปราศจากเทคนิคใดๆ
ที่มนุษย์กำหนดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วตามสมควรในคราวก่อนๆ
เราจึงได้สมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง และสมาธิที่เกิดมาจากการปฏิบัติบำเพ็ญตามวิธีที่เป็นเทคนิคโดยเฉพาะนั้น ก็อีกอย่างหนึ่ง

ในกรณีที่เราประสงค์นั้นมันมีผลอย่างเดียวกัน คือเมื่อเป็นสมาธิแล้วก็นำไปใช้พิจารณา
หรือว่าการพิจารณาจะดำเนินไปได้โดยง่ายโดยตัวมันเอง
ดังนี้ก็ได้
แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า สมาธิที่เกิดตามธรรมชาตินั้น
มักจะพอเหมาะพอสมแก่กำลังของปัญญาที่จะทำการพิจารณา

ส่วนสมาธิที่เกิดตามวิธีของการบำเพ็ญเป็นเทคนิคโดยเฉพาะนั้น
มักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป หมายความว่าเหลือใช้
และยังเป็นเหตุให้คนหลงติดชะงัก พอใจแต่เพียงแค่สมาธินั้นก็ได้
เพราะว่าในขณะที่จิตเป็นสมาธิเต็มที่นั้น ย่อมเป็นความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสบายชนิดหนึ่ง
ซึ่งให้เกิดความพอใจ จนถึงกับหลงติดหรือหลงเหมาเป็นมรรคผลไปเสียเลยก็ได้

โดยเหตุนี้สมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่เหมาะสมกับการพิจารณานั้นจึงไม่เสียหลาย
ไม่เสียเปรียบอะไรกับสมาธิตามแบบวิธีเทคนิคนัก ถ้ารู้จักประคับประคองทำให้เกิดให้มี
และให้เป็นไปด้วยดี

ข้อความต่างๆในพระไตรปิฎกเอง มีเล่าถึงแต่เรื่องการบรรลุมรรคผลทุกชั้นตามวิธีธรรมชาติ
ในที่พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง หรือในที่ต่อหน้าผู้สั่งสอนคนอื่นๆก็มี
โดยไม่ได้ไปเข้าป่า นั่งตั้งความเพียรอย่างมีพิธีรีตอง กำหนดอะไรต่างๆ
ตามวิธีเทคนิคอย่างในคัมภีร์ที่แต่งใหม่ๆ ชั้นหลังเหล่านั้นเลย
โดยเฉพาะในกรณีแห่งการบรรลุอรหัตผลของภิกษุปัญจวัคคีย์ หรือชฎิล ๑,๐๐๐ รูป
ด้วยการฟัง อนัตตลักขณสูตร และ อาทิตตปริยายสูตร ด้วยแล้ว
จะยิ่งเห็นว่าไม่มีการพยายามตามทางเทคนิคใดๆเลย
เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดตามวิธีธรรมชาติแท้ๆ


นี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ดี หรือเป็นเหตุผลได้ดีว่าสมาธิตามธรรมชาตินั้น
ย่อมรวมอยู่ในความพยายามเพื่อจะเข้าใจแจ่มแจ้ง และต้องมีอยู่ในขณะที่มีความเห็นอันแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัวอย่างไม่แยกจากกันได้
และเป็นไปได้เองตามธรรมชาติ แม้ในกรณีที่ท่านทั้งหลายนั่งฟังอาตมาบรรยายอยู่ที่นี้
ถ้าท่านเข้าใจคำบรรยายหรือถึงกับพิจารณาตามไปอย่างแน่วแน่ตามคำบรรยายนั้น
ก็ย่อมแสดงว่ามีสมาธิพร้อมอยู่ในนั้น นี่แหละ เป็นลักษณะของสมาธิที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ

ซึ่งตามปรกติถูกมองข้ามไปเสีย เพราะมีลักษณะดูมันไม่ค่อยขลัง ดูมันไม่ค่อยจะศักดิ์สิทธิ์
มันไม่ค่อยจะเป็นปาฏิหาริย์อะไร คือไม่ค่อยจะเป็นที่น่าอัศจรรย์อะไร

แต่โดยที่แท้แล้วคนเรารอดตัวมาได้กันเป็นส่วนใหญ่ ก็โดยอำนาจสมาธิตามธรรมชาตินี้เอง
แม้การบรรลุมรรคผล เป็นพระอรหันต์ต่างๆชนิด ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือในที่อื่นๆอีกมาก
ก็ด้วยอาศัยสมาธิตามธรรมชาติทำนองนี้
ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้มีความประมาทในเรื่องของสมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติทำนองนี้เลย มันเป็นเรื่องที่เราอาจจะได้ก่อน ทำได้ก่อน หรือได้อยู่แล้วเป็นส่วนมาก
ควรจะประคับประคองมันให้ถูกวิธีให้มันเป็นไปด้วยดีถึงที่สุด ก็จะมีผลเท่ากัน
เหมือนกับผู้ที่บรรลุพระอรหันต์ไปแล้วเป็นส่วนมากไม่เคยรู้จักนั่งทำสมาธิแบบเทคนิคใหม่ๆ ต่างๆเลยแม้แต่นิดเดียว

เจ้าของ:  student [ 18 พ.ค. 2010, 03:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ใช้สมาธิตามธรรมชาติพิจารณาขันธ์๕สู่การรู้แจ้งในธรรม

ขันธ์ ๕
รูป ได้แก่รูปร่างกาย
สัญญา ได้แก่ ความจำได้หมายรู้
เวทนา ได้แก่ การเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆ
สังขาร ได้แก่ ความคิด เป็นเจตสิกทั้งหมด คิดดี คิดไม่ดี คิดกลางๆเฉยๆ ก็เป็น อัพยากฤต คือไม่ดีไม่ชั่ว
วิญญาณ ก็คือจิตนั่นเอง

(สังขารในขันธ์๕ กับ สังขารในพระไตรลักษณ์ไม่ใช่ตัวเดียวกัน)

สรุปขันธ์๕ก็ตกอยู่ภายใต้กฏของพระไตรลักษณ์ย่อลงเหลือนามกับรูป

นักปฏิบัติ ต้องเห็นและยอมรับ ปรมัตถสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นความจริงอย่างแท้จริง
"ปล่าว ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นามรูปมันเกิดขึ้น นามดับรูปแตกไปต่างหาก มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่ไช่เรา ไม่ไช่ตัวไช่ตน นามรูปต่างหาก ช่างมันเถิด"

อ้างอิงจากหนังสือวิปัสสนาภาวนา ของ ฐิตวณฺโณ ภิกฺขุ 2/2535

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/