ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
คนพาลนั้นเป็นไฉน http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=32622 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | jinje [ 16 มิ.ย. 2010, 10:11 ] |
หัวข้อกระทู้: | คนพาลนั้นเป็นไฉน |
![]() คนพาลนั้นเป็นไฉน ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ถ้าจะแบ่งบุคคลออกตามลักษณะของพฤติกรรม ที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวมแล้ว ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ บุคคลที่มีพฤติกรรมทางสร้างสรรค์ ประเภทหนึ่งและบุคคลที่มีพฤติกรรมในทางทำลายอีกประเภทหนึ่ง บุคคลประเภทแรก นักปราชญ์ท่านเรียกว่า "บัณฑิต" บุคคลประภทหลังท่านเรียกว่า "พาล" บุคคลทั้ง 2 ประเภทนี้จะปะปนกันอยู่ในสังคมทุกระดับ เราไม่สามารถจะวัดความเป็นพาลหรือบัณฑิตของบุคคลได้ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา หรือแม้แต่ตำแหน่งหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ บางคนต่ำต้อยทางเศรษฐกิจและการศึกษา ไม่โด่งดังในวงสังคมแต่มีพฤติกรรมแห่งความเป็นบัณฑิต ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ตรงข้ามบางคนอาจมีฐานะร่ำรวย มีตำแหน่งหน้าที่โดดเด่นในสังคม แต่มีพฤติกรรมของพาล ก็มีอยู่ดาดดื่นไป ปัญหามีอยู่ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพาลใครเป็นบัณฑิต ในเมื่อพาลและบัณฑิตต่างก็เป็นคนธรรมดาๆ เหมือนกัน นักปกครองทุกระดับ ซึ่งเป็นผู้มีภาระหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเป็นต้อง "พิทักษ์คนดีและตีคนชั่ว" ถ้าหากไม่รู้จักว่าพาลเป็นอย่างไร ก็คงไม่สามารถแยกแยะคนดีออกจากคนชั่วได้ เผลอๆ จะไปส่งเสริมคนชั่ว ข่มเหงคนดีเสียด้วยซ้ำไป คำว่า "พาล" เป็นคำที่มีรากฐานมาจากภาษาบาลี ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "อ่อนแอ หรือมีกำลังน้อย" เช่น พาลรุกฺโข แปลว่า ต้นไม้อ่อนๆ เป็นต้น เมื่อนำคำนี้มาใช้ในภาษาไทยเพื่อบอกคุณลักษณะของคน "คนพาล" จึงแปลว่า "คนอ่อนแอ หรือคนที่พ่ายแพ้" ซึ่งอาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป ที่มองว่าคนพาลต้องเข้มแข็ง กล้า, ไม่กลัวใคร แต่โปรดอย่าลืมว่า คนเรามีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ ร่างกายกับจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจจะต้องเจริญควบคู่กัน จึงจะจัดได้ว่าเป็นคนสมบูรณ์ คนที่มีร่างกายกำยำล่ำสัน แต่จิตใจอ่อนแอ เมื่อกระแสแห่งความชั่วพัดมากระทบก็ไม่อาจจะต้านทานได้ ดังนั้น คนพาลที่แปลว่า "คนอ่อนแอ" จึงมิได้หมายถึงความอ่อนแอทางร่างกาย แต่หมายถึงความอ่อนแอทางจิตใจ "พาล" เป็นเสมือนเชื้อโรคชนิดหนึ่ง เป็นเชื้อโรคทางจิตใจ เชื่อพาลนี้อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครและเมื่อใดก็ได้ เหมือนกับเชื้อโรคทางกายทั่วๆ ไป เมื่อเชื้อพาลเข้าเกาะที่จิตใจผู้ใดผู้นั้นจะเกิดความอ่อนแอทางจิตใจทันที หักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ตกเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ความเป็นคนเจ้าอารมณ์อาฆาตมาดร้าย และงมงายไร้เหตุผล ถ้าเชื้อพาลเข้าไปกัดกร่อนมากๆ จนจิตใจนั้นมืดบอด ไม่อาจรับแสงสว่างแห่งความดีได้ เราก็เรียกบุคคลเช่นนั้นว่า "อันธพาล" (อันธ แปลว่า มืดมน) ถึงแม้ว่า "พาล" จะเป็นโรคทางจิตใจ ซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ใดติดเชื้อโรคพาลมาบ้าง ถ้าผู้วินิจฉัยเป็นโรคพาลเสียเอง ก็ยิ่งจะวินิจฉัยไม่ได้เลย เราจึงต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของส่วนประกอบของมนุษย์ (ร่างกาย+จิตใจ) อีกประการหนึ่งคือ จิตใจมีอำนาจเหนือร่างกาย จิตใจเป็นผู้บงการให้ร่างกายแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาดังคำกล่าวที่ว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ฉะนั้นเราจะดูว่าผู้ใดติดเชื้อโรคพาลหรือไม่จึงอาจพิจารณาดูได้จากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล นักปราชญ์ทางศาสนาท่านสอนว่า คนที่เป็นพาลนั้น มักจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 1. ชอบชักชวนหรือแนะนำแต่ในทางที่ผิด (อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ) พาลประเภทนี้อาจจะเป็นคนใกล้ชิดกับเราในฐานะใดฐานะหนึ่งก็ได้ บางครั้งอาจจะเป็นผู้มีเจตนาดีปรารถนาดีต่อเรา แต่อย่าดูที่เจตนาเพียงอย่างเดียว จะต้องดูที่การชักชวนหรือแนะนำของเขา ถ้าชอบแนะนำในทางผิด เช่น แนะนำให้เราแก้ปัญหาด้วยการทุจริตต่อหน้าที่ หรือชักชวนให้เราสร้างความร่ำรวยด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น รวมความว่าเราดูที่การแนะนำชักชวนเป็นสำคัญ ถึงแม้การชักชวนนั้นจะมีเจตนาดีหรือไม่ไม่สำคัญ ถ้าชอบชักนำในทางผิดๆ ก็ลงความเห็นได้นั่นคือผู้ที่มีเชื้อโรคพาลเข้าครอบงำเสียแล้ว 2. ชอบเป็นคนธุระไม่ใช่ (อธุรายํ นิยุญฺชติ) คำว่า "ธุระ" หมายถึงหน้าที่การงาน ปกติบุคคลทั่วไปจะต้องเอาใจใส่กับการงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด และเปิดโอกาสให้คนอื่นทำงานตามหน้าที่ของเขา แต่คนพาลประเภทนี้จะไม่เอาใจใส่ในธุระการงานอันเป็นหน้าที่ของตนชอบไปยุ่งแทรกแซง อวดรู้อวดดีในหน้าที่การงานของคนอื่น เผลอๆ ขโมยเอาผลงานของคนอื่นไปเป็นของตนอย่างไร้มารยาท คำว่า "อธุราย นิยุญฺชติ" แปลตามตัวอักษรว่า "ย่อมประกอบในสิ่งที่มิใช่ธุระ" แต่นักปราชญ์บางท่าน แปลเอาความว่า "คนชอบเกะกะ" ซึ่งเป็นคำแปลที่ได้ความทางภาษาไทยชัดเจนที่สุด เพราะคนพาลประเภทนี้ชอบเกะกะจุ้นจ้านงานคนอื่น ถ้าถูกถามเรื่องงานคนอื่น เขาจะอธิบายได้ตลอด แต่พอถามถึงงานของตน เหลวทุกที 3. ชอบสิ่งที่ผิดๆ (ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ) คนที่มีเชื้อพาลแล้วชอบคิดเห็นในทางที่ผิด ที่เรียกว่าเห็นผิดเป็นชอบและขอสนับสนุนคนที่มีความผิดอีกด้วย จะทำอะไรก็ชอบทำแต่ในสิ่งที่ผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมชอบทั้งนั้น คือทำด้วยความชอบความสมัครใจ แต่สิ่งที่ถูกที่ควรกลับไม่อยากทำ แม้แต่เห็นคนอื่นกระทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ชอบตำหนิติเตียนว่าเป็นคนเซอะคนเซ่อ ไม่ทันสมัย ขี้ขลาดตาขาว สุดแท้แต่จะสรรหาถ้อยคำมาพูด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนพาลนั้นเป็นคนไม่รักดีนั่นเอง พฤติกรรมของพาลข้อนี้ ต่างจากข้อหนึ่งตรงที่ข้อหนึ่งนั้นชอบแนะนำชักชวนคนอื่นไปในทางที่ผิด ตนเองอาจจะไม่ทำแต่ข้อที่สามนี้จะกระทำด้วยตนเอง และชอบคนที่ทำผิดๆ ด้วย 4. พูดด้วยดีๆ ก็โกรธ (สมฺมาวุตฺโตปิ กุปฺปติ) การดูพฤติกรรมของพาลในข้อนี้ไม่ยาก เพียงแต่สังเกตจากการพูดคุยกับธรรมดานี้ก็รู้ ถ้าเราพูดด้วยดีๆ แล้วเขาโกรธ เช่นเราเห็นเขาเดินมา เราถามทักทายว่า "จะไปไหนครับ" แทนที่จะตอบเราดีๆ กลับตอบด้วยอารมณ์โกรธว่า "มันเรื่องอะไรของคุณ ฉันจะไปไหนมาไหนมันเรื่องของฉัน" ถ้าเราเจอลักษณะเช่นนี้ก็ลงความเห็นได้ทันทีว่า เชื้อโรคพาลเข้ากัดกร่อนเสียแล้ว 5. ชอบละเมิดวินัย (วินยํ โส น ชานาติ) คำว่า วินัยหมายถึงระเบียบข้อบังคับ ตลอดถึงตัวบทกฎหมายของบ้านเมืองด้วย คนพาลมักจะไม่รับรู้ระเบียบวินัยและสมัครใจที่จะละเมิดเสียด้วยเช่น กฎจราจรให้ข้ามถนนที่สะพานลอย หรือทางม้าลาย แต่คนพาลไม่ยอมรับรู้ ข้ามถนนตามใจชอบ คนพาลเป็นคนเกลียดวินัย เกลียดระเบียบต่างๆ ชอบที่จะฝ่าฝืนถือว่าโก้ว่าเก่ง เวลาตีความในกฎหมาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่พยายามตีความเข้าข้างตนเองเสมอ นักปกครองซึ่งมีภาระหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจะต้องพิทักษ์คนดีตีคนชั่วนั้น จะต้องพิจารณาดูว่า คนใดมีพฤติกรรมดังที่กล่าวมานี้บ้างหรือไม่ ถ้ามีเพียงบางข้อก็แสดงว่ามีเชื้อโรคพาลน้อย ถ้ามีครบทุกข้อก็เข้าขั้นอันธพาลทีเดียว ตรงข้ามถ้าผู้ใดไม่มีลักษณะดังกล่าวนี้เลย ก็แสดงว่าคนนั้นไม่มีความเป็นพาลในจิตใจ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ นักปกครอง ก่อนที่จะไปพิจารณาว่า ใครเป็นพาลหรือไม่ ก็ควรจะพิจารณาดูตัวเองเสียก่อนว่าตัวเองมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 อย่างนั้นบ้างไหม ถ้ามีก็ต้องรีบทำการรักษาเสีย เพื่อมิให้เชื้อขยายตัวออกไป พระท่านสอนว่า "คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังจัดว่าเป็นคนดีอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นพาล แล้วยังสำคัญตนผิดคิดว่าตนเป็นคนดี นั่นแหละคือ ยอดอันธพาลโดยแท้" ขอขอบคุณที่มาคะ http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.as ... 5477735996 |
เจ้าของ: | นิดหนึ่ง [ 08 ก.ย. 2010, 14:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: คนพาลนั้นเป็นไฉน |
กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ท่านก็ว่า เป็นพาลคะ ขอโมทนานะค่ะ สาธุ ![]() ![]() |
เจ้าของ: | ฟ้าใสใส [ 05 ต.ค. 2010, 12:23 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | Re: คนพาลนั้นเป็นไฉน | ||
โลกมนุษย์เป็นสถานที่สร้างกรรม โลกมนุษย์นี้เป็นสถานที่สร้างกรรมโดยเฉพาะ คนที่เกิดมาในโลกนี้ มีการสร้างกรรมกันหมดทุกคน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีก็มาสร้างในโลกมนุษย์ บารมีที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็เต็มอยู่ในโลกมนุษย์นี้ มีดวงตาเห็นธรรมมีสติปัญญา ละอาสวกิเลสตัณหาก็ละกันในโลกมนุษย์นี้ หรือ พระอรหันต์อริยสาวกก็เช่น เดียวกันก็ได้มาบำเพ็ญบารมีอยู่ในโลกมนุษย์นี้ จนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ ได้บรรลุธรรมในโลกมนุษย์นี้ หรือผู้จะไปตกนรกอเวจี ไปเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอสุรกาย ก็ทำกรรมชั่วอยู่ในโลกมนุษย์นี้เช่นกัน ฉะนั้น โลกมนุษย์จึงเป็นศูนย์กลางเป็นต้นทางของจิตวิญญาณ ที่จะไปท่องเที่ยวในวัฏ จักรอื่นต่อไป หรือเหมือนกับท่าอากาศยาน ใครต้องการไปเที่ยวที่ไหนประเทศ ใดก็ตีตั๋วไปสายการบินนั้น ๆ นี้ฉันใด ใครอยากจะไปสู่ภพไหนชาติใดก็สร้าง กรรมประเภทนั้น ๆ ผลของกรรมจะเป็นเครื่องบินพาท่านไปเอง ตามปกติแล้ว จิตวิญญาณไปเกิดในที่ไหนจะติดใจพอใจอยู่ในที่แห่งนั้น ถ้าได้เกิดในโลกมนุษย์ ก็จะมีความห่วงความอาลัยไม่อยากไปในภพไหนเลย ความห่วงความยินดีนี้เองจึง เป็นตัวถ่วงใจผูกใจเอาไว้ จะเข้าใจว่าโลกมนุษย์นี้มีความสุขดีแล้ว มีสิ่งให้เสพ สุขได้ตามใจชอบ ต้องการในสิ่งใดก็พอหาได้ อยากชมวิวทิวทัศน์ความสวยงาม ของโลกก็มีดู อยากสัมผัสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ถูกใจก็หาสัมผัส ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โลกมนุษย์นี้มีความงามงอนเหมือนราชรถ มีคำต่อ ไปว่า มีผู้โง่เขลาเท่านั้นข้องอยู่ ผู้มีสติปัญญาที่ฉลาดรอบรู้หาข้องอยู่ไม่ ถ้าเรา ใช้วิจารณญาณพิจารณาในคำสอนของพระพุทธเจ้าในบทนี้จะเป็นอุบายสอนใจตัว เองได้เป็นอย่างดี ผู้ที่มีความทุกข์เดือดร้อนใจ มีสาเหตุเนื่องจากไม่ยอมรับความจริง สิ่งใด ไม่ถูกใจไม่ชอบใจก็จะเกิดความรู้สึกรับในสิ่งนั้นไม่ได้ เป็นในลักษณะเข้าข้างตัว เอง ไม่ยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าสิ่งใดจะต้องให้เป็นไปตามใจชอบทั้งหมด ไม่ยืดหยุ่น มีความเห็นอย่างไร มีความเข้าใจเป็นอย่างไร ก็อยากให้สิ่งทั้งหมด เป็นไปตามความเข้าใจอย่างนั้น นี้คือศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของโลกไม่ทั่วถึง ไม่เข้าใจในกระแสโลกที่มีอยู่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง การศึกษาธรรมก็คือศึกษา หลักของธรรมชาติคือความเป็นจริง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีการตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้ว ก็เปลี่ยนแปลงไปหรือดับไป ความเข้าใจและความเห็นของคนเราย่อมแตกต่างกัน จะให้ทุกคนมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้ ความเห็นของนักปราชญ์บัณฑิตก็มีความเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเห็นของคนพาลสันดานชั่วก็ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ในโลกนี้มีทั้งนักปราชญ์และคนพาลอยู่ร่วมกัน ความคิดความ เห็นย่อมมีความแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา ถ้าหากคบกับนักปราชญ์ก็จะไม่มี ปัญหา เกิดขึ้น เมื่อจำเป็นจะต้องได้อยู่ในกลุ่มคนพาลก็ต้องหาทางออกที่ยืดหยุ่น อ่านนิสัยของคนพาลสันดานชั่วให้เข้าใจ ในธาตุแท้ของคนพาล มีความ ประพฤติเป็นอย่างไร คนพาลก็คือคนพาล จะเอาอะไรให้สมบูรณ์แบบไม่ได้ คน ที่ใจต่ำทรามการทำการพูดเขาไม่ได้คิดถึงเหตุและผล เขาก็จะทำจะพูดให้ถูกกับใจ เขาเท่านั้นเอง จะเอาความประพฤติในการทำการพูดของคนพาลให้ถูกกับความ ต้องการของเราทั้งหมดไม่ได้ ต้องรู้จักให้อภัยกับคนประเภทนี้ เพราะเขายังไม่มี สติปัญญารับผิดชอบในการทำการพูดของเขาได้ บัณฑิตกับคนพาลก็มีความอยากอยู่ในตัว แต่ใช้ความอยากที่แตกต่างกัน การทำกรรมก็ทำไปคนละอย่างกัน คำว่ากรรม ก็คือการกระทำทางกาย และ วาจามโนกรรมเป็นใหญ่เป็นประธานในความอยากทั้งปวง การทำทางกายและ วาจาจะออกมาจากความอยากของใจนี้ทั้งหมด การทำผิดทำถูก พูดผิดพูดถูกจะ เป็นผลสะท้อนเข้าหาใจ ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาของความอยากต้องแก้กันที่ใจนั้น คือ ความเห็น ความเห็นนี้เองจึงเป็นเข็มทิศให้ใจได้เป็นไป ถ้าใจมีความเห็น ชอบก็จะเป็นความอยากไปในทางที่ถูก ถ้าใจมีความเห็นผิดก็จะเกิดความอยากไป ในทางที่ผิด จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีการกระทำกรรมชั่วต่อไปยาวนาน และ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการพูดผิดทำผิดเกิดขึ้น ฉะนั้นความเห็นที่ประกอบด้วย ความอยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติธรรม เพราะความอยากยังเป็นดาบ สองคม ความอยากของคนพาลจะเป็นผลนำไปสู่ทุคติโดยถ่ายเดียว ความอยาก ของนักปราชญ์บัณฑิตจะเป็นผลนำไปสู่สุคติและส่งผลให้ถึงพระนิพพานได้ ดัง บาลีว่า ตณฺหาย ตรติ โอฆํ ตัณหาคือความอยากจะเป็นพลังส่งให้ผู้ปฏิบัติได้ข้ามพ้นไปจากโอฆสงสาร ผู้จะนำเอาตัณหาคือความอยากมาปฏิบัติให้เกิดผลดีได้ ผู้นั้นจะต้องมีสติปัญญาที่ดี มีความฉลาดรอบรู้ตามหลักความเป็นจริง ให้เป็นไป ตามไตรลักษณ์อยู่เสมอ หรืออย่างน้อยให้มีสติปัญญาฉลาดรอบรู้ในการบำเพ็ญ ความดีคือบุญกุศล ผู้จะบำเพ็ญบุญกุศลได้ผู้นั้นก็ต้องรู้จักบาปอกุศล ว่าการทำ บาปทำอย่างไร ผลของบาปเป็นอย่างไร ถ้าเข้าใจในบาปอกุศลดี มีหิริความ ละอายในการทำบาป โอตตัปปะ มคี วามกลัวต่อผลของบาปที่จะตามสนองแก่ตัว เอง ผู้นั้นก็จะเลือกทำแต่กรรมดี คือบุญกุศลตลอดไป จนกว่าจะได้เข้าสู่มรรค ผลนิพพาน ที่มา :: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ :: บ้านจอมยุทธ กราบอนุโมทนาบุญกับผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรอย่างสูงทุกท่านค่ะ ![]() ![]() ![]()
|
เจ้าของ: | ชาติสยาม [ 05 ต.ค. 2010, 12:48 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: คนพาลนั้นเป็นไฉน |
จะเป็นบัณฑิตหรือคนพาล ก็เป็นกัน "เป็นขณะๆ" เดี๋ยวพาล เดี๋ยวบัณฑิต หาคนพาลจริงๆไม่มี หาบัณฑิตจริงๆไม่มี แม้มหาโจรยังได้รับความรักจากญาติพี่น้อง เพราะอะไร เพราะโจรก็มีความดี เช่นปล้นเงินทองมาได้ ก็มาเลี้ยงคนที่ตนรัก เช่นพ่อแม่ ลูกเมีย นี่เรียกว่าชั่วขณะหนึ่ง ดีขณะหนึ่ง กล่าวได้ว่า คนที่รักโจร ไม่ได้รักที่ความชั่ว แต่รักที่ความดีของโจร ดังนั้น อย่าไปหมายมั่นว่า ชั่วแล้วจะไม่มีดี ดีแล้วจะไม่มีชั่ว ใครที่คิดว่าตนเป็นคนดีคนหนึ่ง เป้นบัณฑิตแล้ว ก็อย่าได้มั่นใจตัวเองนัก ว่าเรามีแต่ความดี ที่คิดว่าเป็นคนชั่ว ก็อย่าไปคิดว่า ตัวเราหาความดีไม่มี ดีชั่ว ต้องรู้จักละเอียดละออในการแยกแยะ ความดีมีผลผลิตเป้นความดี ความชั่วมีผลผลิตเป้นความชั่ว แยกกันเด็ดขาด ถ้าไม่รู้จักแยะแยะ ก็จะพูดออกมาว่า ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดี มีถมไป |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |