ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

หลวงตามหาบัว สอนดูจิต
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=34616
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 22 ก.ย. 2010, 15:12 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงตามหาบัว สอนดูจิต

บทความนี้ ขอเชิญพิจารณาไปทำนองนี้นี้ว่า
หลวงตาสอนให้สังเกตูจิตใจของตนเอง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน
ท่านไม่ได้บอกว่า ให้เข้าฌาน ให้เข้าสมาธิ ทำเอกัตคตาให้ปรากฏ แล้วมาดุจิต ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้น

แต่ท่านให้วิธีการปฏิบัติที่เรียบง่าย ด้วยการดูอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ของตน แล้วให้พิจารณาลงไตรลักษณ์

อ้างคำพูด:
อย่าดูจิตคนอื่น หลวงตาพระมหาบัว


เราอย่าดูจิตคนอื่น
ให้ดูจิตของเราที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในความคิดความปรุงความสำคัญมั่นหมายนี้
มันเคยเบื่ออะไรบ้างมีใหม.....ไม่เคยมี
คิดปรุงวันยังค่ำ......เพลินคิดวันยังค่ำ
ไม่เคยเบื่อความคิดความปรุงของตนเลย
สำคัญมั่นหมายอันใดกับอารมณ์ใดก็ตาม
ขึ้นชื่อว่าเป็นกิเลสแล้ว

มันพออกพอใจหมุนติ้วกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน
เพราะฉะนั้นการเกิดการตายจึงไม่มีคำว่า...แก่ คำว่า...ชรา...คร่ำคร่า
จะต้องมีเกิดมีตายไปเรื่อยอย่างนี้
เพราะธรรมชาติกิเลสอันนี้ไม่เคยมีคำว่า..ชรา..คร่ำคร่าลงไป
แม้กฏ อนิจฺจํ ของธรรมท่านว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่แน่นอน ถือเป็นตัวของตัวไม่ได้
แต่เรื่องของกิเลสจะแปร...ก็แปรไปเพื่อกิเลส
เป็นทุกข์ก็เพราะ...กิเลสเป็นผู้บีบให้เป็นทุกข์
อนตฺตา ก็กิเลสเป็นผู้เสกสรรปั้นยอว่าเรา
ว่าของเราเอาเสียอย่างดื้อ ๆ ด้าน ๆ ที่ให้เราได้เชื่อได้เห็นอยู่
ทั้ง ๆ ที่ธรรมพระพุทธเจ้าประกาศกังวานอยู่นั้นแล
นี่ในเวลาที่จิตของเรายังไม่สามารถ...มันเป็นได้อย่างนี้ ดูหัวใจเราก็รู้


ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาองค์หลวงตาพระมหาบัว “จิตที่อยู่ในวงล้อมของกิเลส” เทศน์เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒


คัดลอกจาก เมขลา ลานธรรมเสวนา
http://variety.teenee.com/saladharm/29533.html

เจ้าของ:  ศรีสมร [ 25 ก.ย. 2010, 09:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว สอนดูจิต

อ้างคำพูด:
ที่คุณชาติฯ เอามาโพสต์ในกระทู้นี้ฉบับเต็มๆๆอยู่ใน

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๒

จิตที่อยู่ในวงล้อมของกิเลส

http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 42&CatID=3
คัดลอกมาบางส่วน
---------
เราอย่าดูจิตคนอื่น ให้ดูจิตของเราที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในความคิดความปรุงความสำคัญมั่นหมายนี้ มันเคยเบื่ออะไรบ้างมีไหม ไม่เคยมี คิดปรุงวันยังค่ำเพลินคิดวันยังค่ำ ไม่เคยเบื่อความคิดความปรุงของตนเลย สำคัญมั่นหมายอันใดกับอารมณ์ใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นกิเลสแล้ว มันพออกพอใจหมุนติ้วกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน เพราะฉะนั้นการเกิดการตายจึงไม่มีคำว่าแก่คำว่าชราคร่ำคร่า จะต้องมีเกิดมีตายไปเรื่อยอย่างนี้ เพราะธรรมชาติกิเลสอันนี้ไม่เคยมีคำว่าชราคร่ำคร่าลงไป แม้กฎ อนิจฺจํ ของธรรมท่านว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่แน่นอน ถือเป็นตัวของตัวไม่ได้ แต่เรื่องของกิเลสจะแปรก็แปรไปเพื่อกิเลส เป็นทุกข์ก็เพราะกิเลสเป็นผู้บีบให้เป็นทุกข์ อนตฺตา ก็กิเลสเป็นผู้เสกสรรปั้นยอว่าเราว่าของเราเอาเสียอย่างดื้อๆ ด้านๆ ที่ให้เราได้เชื่อได้เห็นอยู่ ทั้งๆ ที่ธรรมพระพุทธเจ้าประกาศกังวานอยู่นั้นแล นี่ในเวลาที่จิตของเรายังไม่สามารถมันเป็นได้อย่างนี้ ดูหัวใจเราก็รู้

เวลาฝึกหัดจิตใจเบื้องต้น พยายามจะทำภาวนาให้จิตมีความสงบ ทั้งๆ ที่มีครูมีอาจารย์มีตำรับตำราบอกสอนไว้แล้วก็ตาม แต่เวลาเข้าสู่สงครามคือขึ้นเวที ได้แก่การประกอบความพากเพียร จะเป็นท่านั่งท่ายืนท่าเดินก็ตาม ซึ่งเป็นท่าแห่งความเพียรที่เราได้ตั้งเอาไว้เพื่อชำระกิเลส มันจะล้มเหลวไปๆ เพราะถูกกิเลสบีบบังคับ ถูกกิเลสเตะถูกกิเลสยัน ให้เหลวแหลกแตกกระจายยึดหลักเกณฑ์ไม่ได้ เช่น ให้ภาวนาคำว่า พุทโธ ๆ นี้ไม่กี่วินาที เราไม่อยากจะพูดถึงนาทีเลย ก็ถูกกิเลสลัดปัดทิ้งลงไปเสีย เหลือตั้งแต่ความเผลอสติอันเป็นเรื่องของกิเลสทำงาน แล้วฉุดลากจิตใจของเราไปสู่อารมณ์นั้นสู่อารมณ์นี้ ทั้งๆ ที่เราอยู่ในท่าแห่งการประกอบความเพียร หรือท่ารบกับกิเลสนั้นแล เราก็ไม่มีโอกาสที่จะทราบได้ จิตของเราจึงหาความสงบไม่ได้

เพราะคำว่าความเผอเรอนั้น ไม่ใช่เป็นทางให้เดินเพื่อความสงบของใจ แต่เป็นทางให้เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน เพราะกิเลสผลักดันหรือฉุดลากให้ไปต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนั้นการเผลอก็เผลออยู่ไม่หยุดไม่ถอย ทั้งๆ ที่เราก็ภาวนาอยู่เช่นนั้นแลตามความเข้าใจของเรา แต่จิตหาความสงบไม่ได้เพราะเหตุไร ก็มางงในเจ้าของ งงอะไร ถ้าจะให้ความรู้เหนือกว่านั้นขึ้นไปก็คือว่า เพราะเผลอสตินั่นเอง ถ้าสติได้ตั้งกันตามจุดที่หมาย เช่น เรากำหนดพุทโธ นี่ในขั้นเริ่มแรก หรือจะกำหนดอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก ก็ให้ตั้งความรู้ลงที่จุดแห่งลมหายใจ ความรู้ที่เรียกว่าใจ และมีสติรับทราบให้เด่นขึ้นในความรู้นั้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จิตไม่มีโอกาสที่จะเถลไถลไปที่ไหนได้ มีธรรมะเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจด้วยสติอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตนั้นจะสงบตัวๆ เข้ามา แล้วกลายเป็นความสงบขึ้นที่ใจ

เมื่อใจเริ่มสงบเข้ามาเท่านั้น เราก็เห็นความสุขความสบาย และเห็นคุณค่าแห่งความสงบ ว่าเป็นผลแห่งความสบายขึ้นมา ในขณะเดียวกันเราก็เห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่าน ที่ถูกกิเลสผลักไปดันไปหรือฉุดลากไปในเวลาเดียวกัน แล้วเราก็มีความเข้มงวดกวดขันที่จะทำจิตของเราให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไปด้วยความมีสติ อย่างนี้เรามีทางที่จะทราบได้ นี่ในขั้นเริ่มแรกยากอย่างนี้

ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะทราบได้ว่ายากหรือง่าย ลำบากลำบนขนาดไหน เป็นกาลเป็นเวลาเป็นสถานที่ที่จะให้จับกันได้ เช่นเวลาใดจิตสงบไม่ได้เลย เวลานั้นก็หาความสบายไม่ได้ เวลาใดที่จิตมีความสงบแน่วแน่ลงได้ เวลานั้นความสบายความแปลกประหลาดก็ปรากฏขึ้นที่ใจของตัวเอง ทั้งสองนี้เป็นสักขีพยานให้เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายที่เป็นโทษคือความฟุ้งซ่านรำคาญ ทำให้เกิดความทุกข์ความทรมานก็ทราบได้ ฝ่ายเป็นคุณคือเป็นสุขเพราะความสงบของใจ ไม่ส่ายแส่ไปหาอารมณ์ที่เป็นพิษเราก็ทราบได้ จากหัวใจของเราผู้สัมผัสสัมพันธ์หรือผู้ปรากฏเสียเอง และพยายามก้าวเดินตามนั้น จะยากขนาดไหนก็ตาม

เรื่องของจิตที่อยู่ในวงล้อมของกิเลสแล้ว อย่างไรมันต้องฉุดต้องลากให้หาความสงบร่มเย็น ให้หาความเป็นอิสระอยู่โดยลำพังตนเองไม่ได้อยู่โดยดี จิตดวงใดก็จะต้องเป็นเช่นนั้น จึงต้องได้ใช้สติทุกเวล่ำเวลาทุกกาลสถานที่ สำหรับนักปฏิบัติแล้วต้องเป็นเหมือนนักมวยที่ต่อยกันบนเวทีเผลอไม่ได้ ต้องเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สติปัญญากำลังวังชามีเท่าไรทุ่มกันลงหมดในเวลานั้น นี่ก็เหมือนกัน การต่อสู้กับกิเลสจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย

คัดลอกมาบางส่วน อ่านฉบับเต็มที่ http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 42&CatID=3


ตามความเข้าใจของดิฉันนะค่ะ
เท่าที่อ่านธรรมเทศนาของหลวงตา ท่านสอนว่ากิเลสเกิดในใจเราอยู่ตลอด ยิ่งเราเผลอ นะ แม้เราทำความสงบของใจแล้วก็ยังต้องใช้กลอุบายสู้กับกิเลสอีก
ท่านยังเล่าประสบการณ์การต่อสู้กิเลสด้วยดังนี้


อ้างคำพูด:
สำหรับผมเองที่ได้มาแสดงให้เพื่อนฝูงฟังนี้ ถ้าจะพูดว่าอำนาจวาสนาของเราหยาบ นิสัยวาสนาของเราหยาบ อย่างนี้ผมก็ยอมรับ เพราะทำยากจริงๆ ทำยากถึงขาดน้ำตาร่วง เพราะสติก็มี ปัญญาก็มี แต่สู้กิเลสไม่ได้ ให้กิเลสฉุดลากหัวใจไปสู่อารมณ์ต่างๆ อันเป็นพิษเป็นภัยอยู่ต่อหน้าต่อตา สติมีแต่กำลังไม่พอ ปัญญามีแต่กำลังไม่พอ ก็ให้มันฉุดลากไปต่อหน้าต่อตา นี่ละในขั้นเริ่มแรกขั้นล้มลุกคลุกคลานเป็นอย่างนี้ มีตั้งแต่การต่อสู้ท่าต่อสู้ถ่ายเดียว แต่กำลังสติปัญญาไม่พอ

พยายามหาวิธีต่อสู้หลายแง่หลายกระทง เช่น ผ่อนอาหารบ้าง อดอาหารบ้าง อดนอนบ้าง เดินนานๆ บ้าง นั่งนานๆ บ้าง หลายวิธีการ เพราะหาแง่หาทางที่จะให้มีกำลังต่อสู้กับกิเลสคือความฟุ้งซ่านรำคาญ จนหาหลักหาเกณฑ์ภายในตัวไม่ได้นี้ ให้สงบตัวลงและเห็นได้อย่างชัดเจนภายในจิตใจ จึงต้องได้ใช้หลายวิธี ดังที่เคยนำมาแสดงให้หมู่เพื่อนฟัง ตามความถนัดแห่งจริตนิสัยของตนก็คือการผ่อนอาหาร การอดอาหาร ดังที่แสดงให้ฟังอยู่เสมอ อย่างอื่นในขั้นเริ่มแรก ไม่ปรากฏว่าสิ่งใดวิธีการใดที่ทำเจ้าของให้ปรากฏเป็นความสงบเย็นใจ และเป็นของแปลกประหลาดภายในจิตขึ้นมาให้เห็น

อ่านต่อได้ในฉบับเต็มๆค่ะ



คุณชาติฯควรโพสต์หัวข้อกระทู้ว่า จิตที่อยู่ในวงล้อมของกิเลส ธรรมเทศนาโดย หลวงตามหาบัว จะถูกต้องกว่าค่ะ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/