ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
วิธีสู้กับกามราคะ http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=37445 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | หัวหอม [ 24 มี.ค. 2011, 13:02 ] |
หัวข้อกระทู้: | วิธีสู้กับกามราคะ |
ถ้าเข้าใจปฏิจสมุปบาทซึ่งหมายถึงการที่สิ่งทั้งหลายเกิดมีขึ้นก็เพราะการอาศัยกัน ก็จะช่วยได้เยอะครับ ในส่วนของกามราคะก็จะอธิบายได้ดังนี้ 1. ขั้นผัสสะ คือถ้าเราเห็นรูป แล้วสักแต่ว่าเห็น ความกำหนัดในกามก็จะไม่เกิด 2.ขั้นเวทนา คือถ้าเราเห็นรูป แล้วไม่หยุดเป็นสักแต่ว่าเห็น ก็จะเกิดเป็นความรู้สึกชอบ ซึ่งตรงนี้แหละให้ระวังตัวให้มาก ถ้าสามารถหยุดอยู่ตรงนี้ได้ ก็จะเป็นสักแต่ว่าชอบ ทุกข์ก็จะยังไม่เกิด 3.ขั้นตัณหา คือถ้าเราเห็นรูป แล้วเกิดเป็นความรู้สึกชอบและไม่สามารถหยุดที่ตรงนี้ไว้ได้ ก็จะกลายเป็นตัณหาคือความอยากขึ้นมา ถ้าถึงขั้นเกิดเป็นตัณหาแล้วจะหยุดลำบากมากหรืออาจจะหยุดไม่ได้เลย ถ้าสามารถหยุดได้(ซึ่งก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคนเช่น นึกถึงผลเสียหายหรือความทุกข์ที่ตนเองเคยได้รับมา เป็นต้น) ทุกข์ก็จะยังไม่เกิด 4.ขั้นอุปาทาน คือถ้าเราเห็นรูป แล้วเกิดเป็นตัณหาคือความอยากแล้วไม่สามาถหยุดที่ขั้นนี้ไว้ได้ ก็จะกลายเป็นอุปาทานคือนึกคิดปรุงแต่งต่อ ตรงนี้แหละเป็นอันจบคือทุกข์เกิดแล้ว ก็จะเป็น ภพ ชาติ ชรา มรณะ แล้วก็วนกันอยู่ตรงนี้ไปเรื่อยๆ สรุปท่านจึงสอนให้หยุดอยู่ที่ขั้นผัสสะเป็นสำคัญเพราะจะทำให้เราไม่มีโอกาสหลงไปได้เลย แต่หากไปถึงขั้นเวทนาถ้าสติสัมปชัญญะเกิดก็จะหยุดได้ไม่ไปถึงขั้นตัณหา ขั้นตัณหานี้มันมีฤทธิ์มาก โดยทั่วไปมักจะหยุดไม่อยู่แล้ว ปฏิจสมุปบาทนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆเรื่องในชีวิตประจำวันของเรา กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่ออดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผลแล้ว ถ้าเราไม่อยากจะทำสิ่งใดที่เราคิดว่าไม่ดี ก็พยายามอย่านึกคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้น ให้หยุดอยู่ที่ขั้นผัสสะ ลองสังเกตุดูอดีตที่ผ่านมาก็ได้ เพราะเรานึกคิดปรุงแต่งในสิ่งๆนั้นใช่ไหม จึงส่งผลให้เราในเวลาต่อมาต้องทำในสิ่งๆนั้น ดังนั้นถ้าปัจจุบันเวลาเราเห็นอะไรหรือรู้สึกอะไรถ้าเราสามารถหยุดได้ คือสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารู้สึกไม่นึกคิดปรุงแต่งต่อ อนาคตเราก็จะสามารถไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ดีได้แน่นอน ปล. ผู้รู้ทั้งหลายต่างกล่าวว่า "การปฏิบัติธรรมย่อมนำสุขมาให้" พระอาจารย์มิซูโอะ คเวสโก วัดสุนันทวนาราม กล่าวว่า "สติเป็นธรรมเอก" |
เจ้าของ: | student [ 25 มี.ค. 2011, 02:23 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วิธีสู้กับกามราคะ |
อนุโมทนาครับ ดีมากครับ |
เจ้าของ: | ปฤษฎี [ 25 มี.ค. 2011, 03:21 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วิธีสู้กับกามราคะ |
การละนันทิในอารมณ์ รูปแบบต่างๆ (2) ละนันทิ โดยนัยแห่ง สัมมาสังกัปปะ ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใด ๆ มาก จิตย่อมน้อมไป โดยอาการอย่างนั้น ๆ ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง กามวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละเนกขัมมวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง กามวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง พ๎ยาปาทวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอัพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง วิหิงสาวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง วิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบเพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษ คือ การถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทรามเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอย่างนี้ เนกขัมมวิตก ย่อมเกิดขึ้น…อัพ๎ยาปาทวิตก ย่อมเกิดขึ้น…อวิหิงสาวิตก ย่อมเกิดขึ้น เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า เนกขัมมวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว… เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อัพ๎ยาปาทวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว… เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ก็อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้น เพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดวัน หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้นเพราะ อวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนัก กายก็เมื่อยล้า เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ เพราะเหตุนั้น เราจึงดำรงจิตให้หยุดอยู่ในภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเราประสงค์อยู่ว่าจิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อม ไปโดยอาการอย่างนั้น ๆ ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง เนกขัมมวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการออกจากกาม ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อัพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอัพ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอวิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมด เขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้. เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้ง ๆ พึงทำแต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโค ดังนี้ ( ก็พอแล้ว ) ฉันนั้นเหมือนกัน -มู. ม. 12/232-236/252 คัดลอกมาจาก http://watnapp.com/read/keep-cool/i035/ |
เจ้าของ: | ปฤษฎี [ 25 มี.ค. 2011, 03:28 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วิธีสู้กับกามราคะ |
ละนันทิในทุกๆอิริยาบถ ![]() พุทธบัญญัติ ไม่ให้ปล่อยจิตเพลินกับอารมณ์ (12) ละความเพลิน ในทุก ๆ อิริยาบถ ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังเดินอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม ( กามวิตก ) หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น ( พยาบาทวิตก ) หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่า ๆ ( วิหิงสาวิตก ) ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังเดินอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลส อยู่เนืองนิจ ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังยืนอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่า ๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังยืนอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจ ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังนั่งอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่า ๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังนั่งอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจ ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังนอนอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่า ๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังนอนอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจแล -จตุกฺก. อํ. 21/17/11. สำหรับอกุศลวิตกทั้ง 3 คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ไม่รับไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่เหลือ -ในขณะแม้เดิน ยืน นั่ง นอน คัดลอกมาจาก http://watnapp.com/read/keep-cool/i018/ ขอพระคุณ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสถฺถิผโล ![]() |
เจ้าของ: | ปฤษฎี [ 25 มี.ค. 2011, 03:41 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วิธีสู้กับกามราคะ |
ทิ้งภพโดยเร็ว พุทธบัญญัติ ไม่ให้ปล่อยจิตเพลินกับอารมณ์ (4) ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีประมาณน้อยชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้ -เอก. อํ. 20/46/203. คัดลอกจาก http://watnapp.com/read/keep-cool/i010/#content |
เจ้าของ: | narapan [ 25 มี.ค. 2011, 09:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วิธีสู้กับกามราคะ |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |