วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 07:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2007, 09:55
โพสต์: 1632


 ข้อมูลส่วนตัว


บทความนี้ ดูคล้ายจะไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมทางศาสนา แต่ความจริงแล้วเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของพฤติกรรมที่ต่อเนื่องมาจากสภาพสภาวะจิตใจ ที่เรียกว่า
“พรหมวิหารสี่”อันได้แก่
เมตตา คือ ความรักใคร่ กิริยารักใคร่
กรุณา คือ ความสงสาร กิริยาสงสาร
มุทิตา คือ ความพลอยมีความยินดี
อุเบกขา คือ ความวางเฉยในอารมณ์ฯ

อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับ “สัปปุริสธรรม” อันหมายถึง
“ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่างคือ
๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
๒.อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
๓.อัตตัญญุตา รู้จักตน
๔.มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ
๕.กาลัญญุตา รู้จักกาล
๖.ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน
๗.ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล;
(คัดจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฎก ป.อ.ประยุตฺโต)
และธรรมข้ออื่นๆ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาตามเหตุผล เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาเถิด
“แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย กับ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ”
ในช่วงเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ มีข่าวการขัดแย้งในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล ฝ่ายที่เคยได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล ก็พยายามที่จะสนับสนุนกฎหมายให้ออกมาเพื่อบังคับและลงโทษเหล่าแพทย์และพยาบาล ทางฝ่ายแพทย์และพยาบาล ต่างก็ออกมาคัดค้าน กฎหมายที่พวกเขาคิดว่าไม่เป็นธรรมสำหรับพวกเขา ทำให้เกิดความยากต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง อาจจะเป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หรืออาจจะเห็นใจทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าจึงใคร่ที่จะให้คำชี้แนะ ให้ข้อคิดหรือเป็นข้อมูล ต่อท่านทั้งหลาย ทั้งผู้ที่เคยได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล รวมไปถึง แพทย์และพยาบาลทั้งหลาย อีกทั้งยังรวมถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ อันจะยังประโยชน์เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ดังนี้.
ข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นว่า ไม่ควรออกกฎหมายที่มีรายละเอียดไปในทางบังคับขู่เข็ญหรือสร้างความวิตกกังวล หรือทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากวิชาชีพแพทย์และพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีความเสี่ยงมากเพราะมองไม่เห็นระบบการทำงานของร่างกายได้ด้วยตา อีกทั้งระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อน ยากที่จะทำความเข้าใจ,ยากที่จะรู้ได้อย่างจำเพาะเจาะจงในบางโรคบางอาการ ถ้าเป็นไปได้ “พระราชบัญญัติ คุ้มครองและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล” ควรมีรายละเอียดไม่ซับซ้อน หรือไม่คลุมเครือ หรือมีรายละเอียดที่เป็นไปในทางข่มขู่บังคับหรือทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ โดยมีรายละเอียดอย่างชัดเจน พอสังเขป ดังนี้.-
“หากผู้ป่วยรายใด ได้รับความเสียหายจากการรับการรักษา จากแพทย์และพยาบาล ไม่ว่าจะโดยความประมาทเลิ่นเล่อก็ดี ,จากความไม่มีความรู้ของแพทย์และพยาบาลก็ดี, จากความไม่สามารถวินิจฉัยโรคในตัวผู้ป่วยก็ดี, จากความผิดปกติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพพยาธิในตัวผู้ป่วยเองก็ดี, จากการใช้หรือจ่ายหรือจัดยาผิดประเภท ,หรือใช้หรือจ่ายหรือจัดยาเกินขนาด,หรือใช้หรือจ่ายหรือจัดยาอันทำให้ระบบการทำงานในร่างกายของผู้ป่วย ทำงานล้มเหลวก็ดี, และได้ตรวจสอบจนพบสาเหตุอันทำให้ผู้ป่วยเสียหายดังกล่าวไปข้างต้น, ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถขอรับการช่วยเหลือหรือขอรับสินไหมทดแทน ตามสมควร,ตามความจำเป็นของครอบครัว จาก(อันนี้ก็ให้พิจารณากันว่า ควรยื่นขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน) ซึ่งอาจจะตั้งเป็นกองทุนหรืออาจจะมีงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับการนี้โดยเฉพาะ และถ้าหากจะมีการพิจารณาโทษแพทย์และพยาบาล ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดของแพทย์และพยาบาลที่จะวินิจฉัย ตามสมควรต่อเหตุผล ซึ่งความจริงแล้วพวกเขารู้และเข้าใจในวิชาชีพของพวกเขาดีอยู่แล้ว
อนึ่งยังมีบุคคลากรทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ เช่น เภสัชกร หรือพนักงานหรือบุรุษผู้ช่วยพยาบาลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจ่ายยาสำหรับคนไข้นอก โอกาสที่จะมีข้อผิดพลาดในการจ่ายยา แทบจะไม่เลยหรืออาจจะไม่มีเลย ถ้าบุคคลเหล่านั้นรู้วิธีการโดยละเอียดรอบคอบ ดังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยไปรับการรักษา พอเขาจัดยาเสร็จเขาก็เรียกชื่อ และถามว่า “ป่วยเป็นโรคอะไร” แค่นี้ข้อผิดพลาดในการจ่ายผิดคน ก็หมดไป แต่เหตุการณ์การจ่ายยาผิดคนนั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมาก อันนี้ก็ต้องพิจารณากัน สอนกัน ตั้งเป็นกฎระเบียบในสถานพยาบาลนั้นๆ ส่วนคนไข้ในการจัดยาจ่ายยา ก็อยู่ที่พยาบาลว่าจะมีความเอาใจใส่ ตรวจตราโดยละเอียด หากมีการตรวจตราอย่างดี โอกาสผิดพลาดย่อมไม่มีอย่างแน่นอน และที่ข้าพเจ้าเสนอแนะไปดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า.-
ตามธรรมดา หรือตามปกติทั่วๆไป แพทย์และพยาบาลและอื่นๆ ล้วนมีจรรยาบรรณอีกล้วนยึดถือจรรยาบรรณกันอยู่แล้ว จรรยาบรรณ คือ “การประพฤติ การปฏิบัติ ของผู้ประกอบอาชีพการงานที่ได้กำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมชื่อเสียงเกียรติคุณ” (คัดย่อจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒) และจรรยาบรรณเหล่านั้นแท้จริงก็คือ หลักศีลธรรมทางศาสนาทั้งสิ้น ถ้าแพทย์และพยาบาล ฯ มีศีลธรรมยึดถือศีลธรรม ปฏิบัติตามศีลธรรม จรรยาบรรณย่อมมีอยู่ในหัวใจ มีอยู่ในความคิดอย่างแนบแน่นเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณ ก็ว่าได้ ไม่มี แพทย์หรือพยาบาล ฯ คนใดอยากให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการรักษา ที่เขียนอย่างนี้ไม่ได้เข้าข้างนะขอรับ แต่เขียนตามความรู้ ตามหลักการและเหตุผล และเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของวิชาชีพ แพทย์และพยาบาล
แพทย์และพยาบาล ได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับรักษาดูแลผู้ป่วยตามหลักสูตรเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ดูแลอภิบาลผู้ป่วย ตรวจ วินิจฉัย ให้การรักษา ด้วยการ จัดยา จ่ายยา ใช้ยา และ หมายรวมไปถึงวิธีการรักษาในรูปแบบอื่นๆ เช่นตรวจเลือด ตรวจความดัน ตรวจอวัยวะภายในต่างๆ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น แต่แพทย์และพยาบาล ฯ ก็เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชน เฉกเช่นเดียวกันกับบรรดาผู้ที่เข้ามารับการรักษา ก็คือผู้ป่วยทั้งหลายนั่นแหละ แพทย์และพยาบาลฯต้องอาศัยประสบการณ์ และความรู้ ความจำ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการตรวจและวินิจฉัยโรค รวมไปถึงการดูแลรักษาอภิบาล ไม่ใช่เรื่องง่ายในการตรวจวินิจฉัยโรค บางอาการก็วินิจฉัยโรคได้ง่าย บางอาการก็วินิจฉัยโรคไปตามขั้นตอนหรือวินิจฉัยโรคตามอาการที่ผู้ป่วยแจ้งให้ทราบ หรือวินิจฉัยโรคโดยการครวจด้วยอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งมีอาเจียนด้วย แพทย์ผู้รักษาก็ย่อมวินิจฉัยจากอาการตามความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ไปตามขั้นตอน บางครั้งถ้าปวดท้องด้านขวา มีอาเจียนก็อาจวินิจฉัยว่าเป็น “ไส้ติ่งอักเสบ” แต่ความจริงแล้วก็อาจจะป่วยเป็นโรคลำไส้เล็กส่วนปลายอักเสบก็ได้ หรืออาจจะเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต้นอักเสบก็ได้ หรืออาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ก็ได้ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นการวินิจฉัยอาการของโรคบางครั้งต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งข้อผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปได้ บางครั้งผู้ป่วยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการช๊อค ไม่สามารถรักษาหรือวินิจฉัยโรคได้ทันท่วงทีก็มีอยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าเองก็เคยเข้ารับการตรวจรักษาเนื่องเพราะปวดท้อง ต่อมาก็มีอาการเรอบ่อย ขั้นแรกแพทย์ก็วินิจฉัยว่า เป็นโรคกระเพาะ หรืออาจจะเป็นมะเร็งในลำไส้ ต้องตรวจโน่น ตรวจนี่ ตรวจกันอุตลุต และแพทย์ก็แนะนำ(สั่งนั่นแหละ)ให้รับประทานอาหารบ่อยๆ จนในที่สุดก็วินิจฉัยว่า ระบบการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหารผิดปกติ แพทย์แนะนำว่าอย่าใส่กางเกงที่คับ ให้ใส่หลวมๆ แต่ท่านทั้งหลาย รู้ไหมว่า ข้าพเจ้าตอนนั้น อ้วนฉุ เพราะรับประทานอาหารบ่อยตามแพทย์สั่งไปแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาไม่นาน ข้าพเจ้าถูกไอเย็นเข้าแทรกขณะไปวิ่งออกกำลังประกอบกับร่างกายอาจจะดื่มน้ำน้อยไป ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจสูบฉีดโลหิตผิดปกติ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ค่าความเป็นกรดความเป็นด่างในร่างกายผิดปกติ มีอาการปวดอย่างรุนแรงไปทั่วทั้งร่างกาย บางจุดที่ปวดเป็นจุดที่เคยเจ็บป่วยมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการหนาวเพราะร่างกายค่อนข้างแข็งแรง แต่ก็มีอาการเหนื่อยและปวดอย่างรุนแรงมากเจ็บและปวดเท้าที่เคยบาดเจ็บมาก่อนจนต้องเดินกระเผลก ข้าพเจ้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์ก็จัดยาให้ตามอาการ ทานยาก็ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น อาการไม่ทุเลา จำต้องใช้วิธีดั้งเดิมคือดื่มน้ำมูตรยาดองไปประมาณ ๓ วันพักผ่อนอีกประมาณสัปดาห์กว่าๆ ก็หายเป็นปกติ นี้เป็นเพียงยกตัวอย่างให้ได้คิดพิจารณากันว่า อาการป่วยของร่างกายบางครั้ง ไม่มีในตำราอาจตรวจแต่วินิจฉัยอย่างตรงจุดไม่ได้รับประทานยาไม่ได้ผล อาการไม่ดีขึ้นทรุดลงด้วยซ้ำก็มี
สำหรับทางด้านตัวผู้ป่วยทั่วไปที่เข้าไปรับการรักษา แน่นอนย่อมมีสภาพทางจิตใจที่ไม่ค่อยดีนัก หากไม่ได้รับกำลังใจ หรือมีความท้อแท้หดหู่ ก็อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่ หรือสภาพพยาธิภายในร่างกายเกิดรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ทันก็มีอยู่ อีกประการหนึ่ง ระบบการทำงานของร่างกายผู้ป่วย อาจอ่อนแอ เช่นไม่ได้รับอาหารหรือธาตุอาหารหรือน้ำอย่างเพียงพอ ต่อมต่างๆทำงานผิดปกติ,คลื่นไฟฟ้าหัวใจและสมองทำงานผิดพลาดไม่สมดุลกัน ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการที่ไม่คาดคิดอย่างปัจจุบันทันด่วนก็มีไม่น้อยเช่นกัน
เมื่อผู้สูญเสีย หรือผู้ที่ได้รับความเสียหายประสบเหตุการณ์ก็ย่อมมีความต้องการที่จะได้รับการชดใช้ตามสมควรต่อเหตุ ไม่ใช่แพทย์และพยาบาล ประมาทเลิ่นเล่อ แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ได้รับการชดใช้ เพราะผู้สูญเสีย อาจประสบกับความลำบาก ประสบกับความทุกข์ทั้งทางใจและทางกาย ในการดำรงชีวิต แต่ก็ไม่ควรเรียกร้องให้ออกกฏหมายมาบังคับเอาผิดกับแพทย์และพยาบาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ถ้าหากจะกล่าวในทางที่เป็นความจริงแล้ว ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของแพทย์และพยาบาล ก็คือหน่วยต้นสังกัดหรือเจ้ากระทรวงหรือรัฐบาล จึงจะถูกต้องที่สุด ดังนั้นถ้าทำอย่างที่ข้าพเจ้าได้เสนอแนะไป ย่อมจะมีผลดีมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ประการที่สำคัญยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายควรได้รู้ และทำความเข้าใจเอาไว้ว่า “กฏหมาย ไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้ายข่มขู่คนดีหรือผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ และกฎหมายก็ไม่ได้มีไว้ทำร้ายข่มขู่ คนที่ประพฤติชอบ ประพฤติสุจริต หรือคนที่ทำงานสุจริต แต่กฎหมายมีไว้เพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดอง สร้างประโยชน์ สร้างความยุติธรรม สร้างความสงบสุข ให้กับประชาชน”
อีกประการหนึ่ง การที่จะออกกฎหมายสำหรับใช้บังคับการทำงานของบุคคลในวิชาชีพบางอย่างบางวิชาชีพ อย่างไม่ถูกต้อง ก็ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ต้องพิจารณาถึงลักษณะการทำงานของวิชาชีพนั้นๆอย่างถี่ถ้วน ขอให้ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องได้คิดพิจารณาอย่างละเอียด ถ่องแท้
จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)
๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ (แก้ไขเพิ่มเติม ๒๐ ก.ย. ๒๕๕๔)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 135 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร