วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 15:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2016, 04:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


บริกรรมภาวนา การฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

การฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ เพื่อเน้นแสดงบริกรรมภาวนา ที่มีเจตนาเพื่อการฝึกสติ เพราะโดยทั่วไปนั้นคำบริกรรมสามารถใช้เป็นอารมณ์ได้ทั้งในการฝึกสติ หรือใช้คำบริกรรมเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติสมถสมาธิ, แม้เจตนาของการแสดงบริกรรมภาวนาในครานี้ หมายอยู่ที่การฝึกสติเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก แต่ถึงอย่างไรก็ดีทั้งสติและสมาธิ ก็เกี่ยวเนื่องพัวพันกัน ดังนั้นเมื่อบริกรรมภาวนาเพื่อหมายฝึกสติ อย่างมีสติ ก็อาจเกิดฌานสมาธิจึงเลื่อนไหลลงภวังค์ขึ้นแทนได้บ้างเป็นธรรมดา ก็ไม่ต้องไปกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอๆเป็นธรรมดา แต่เมื่อมีสติก็ให้กลับมาอยู่กับการบริกรรมภาวนา, กล่าวคือถ้าต้องการฝึกสติ ก็อย่าให้เป็นไปในลักษณะของการใช้คำบริกรรมเพื่อเป็นอารมณ์กำหนดในการทำฌานสมาธิในระดับประณีต แต่เมื่อต้องการทำฌานสมาธิก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

....ส่วนการสำรวมระวังใจ ถ้าอยู่เฉยๆ ใจไม่มีเครื่องอยู่ ให้เอาคำบริกรรมอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องอยู่มาเป็นหลักผูกใจ เช่น พุทโธ อานาปานสติ ตามลมหายใจเข้าออก ยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหังก็ได้ เอาอันนั้นมาเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน นึกคิดอยู่เสมอๆจนเป็นอารมณ์ มีสติควบคุมจิตอยู่ตรงนั้นแหละ จิตอยู่ที่ใดให้เอาสติไปตั้งตรงไว้ในที่นั่น จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต รักษาจิต ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด ธรรมดาของจิตมันต้องมีคิดมีนึก (webmaster - ไม่มีเสียก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติไม่ได้เอาเลย) แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ เรียกว่า บริกรรมภาวนา
การบริกรรมภาวนานี้มิใช่ของเลว คนบางคนเข้าใจว่าเป็นของเลว เป็นเบื้องต้น ที่จริงไม่ใช่เบื้องต้น ธรรมไม่มีเบื้องตน ท่ามกลาง ที่สุดหรอก ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากสติอ่อนเมื่อไรก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น สติแก่กล้าเมื่อไรก็เป็นท่ามกลางและที่สุดเมื่อนั้น คือหมายความว่าสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใดๆทั้งหมด มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ แต่มันเป็นของมันเอง สติควบคุมจิตไปในตัว เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรสต่างๆ กายได้สัมผัส มันก็เป็นสักแต่ว่า สัมผัสแล้วก็หายไปๆ ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์ ไม่เอามาคำนึงถึงใจ อันนั้นเป็น มหาสติ แท้ทีเดียว
(webmaster - ถ้าบริกรรมอย่างมีสติ หมายถึงไม่ปล่อยให้เลื่อนไหลไปลงภวังค์ กล่าวคือไม่ลงลึกไปในฌานหรือสมาธิอันละเอียดจนเคลิบเคลิ้มท่องเที่ยวไปในภวังค์หรือเพลิดเพลินไปในนิมิต ก็จักเกิดประโยชน์อย่างมาก จะทำให้เห็นจิตคือคำบริกรรมนั้นๆ คำบริกรรมนั้นๆย่อมเป็นจิตสังขารอย่างหนึ่ง จึงเป็นการฝึกสติให้เห็นจิตหรือจิตสังขารอย่างหนึ่งหรือจิตตานุปัสสนาอย่างหนึ่งอย่างดียิ่ง ที่เมื่อสั่งสมอย่างถูกต้องดีงามแล้วก็จะเกิดอาการเห็นจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก) เช่น จิตมีโทสะ จิตมีราคะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯ. ตลอดจนยังเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ของจิต จิตจึงไม่ส่งออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน)
ถ้าจิตอ่อนเมื่อไร จิตจะส่งไปตามอายตนะทั้ง ๖ เมื่อนั้น เช่น ตาได้เห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร มันก็จะพุ่งไปตามรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินนั้นแหละ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเอาบริกรรมมาใช้อีก ให้จิตมันอยู่กับบริกรรมนั้นอีก บริกรรม คือ สัมมาอรหัง พุทโธ อานาปานสติ อะไรต่างๆก็ตาม ที่ท่านสอนแต่ละสำนักนั้น มันเป็นไปตามความชำนาญของแต่ละท่าน มันเป็นนโยบายของท่านต่างหาก แท้ที่จริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ ใครจะเลือกภาวนาบริกรรม อันใดก็ได้ ความต้องการคือ มุ่งหมายเอาสติอย่างเดียว เพื่อตั้งสติให้มั่นคง จึงว่าคำบริกรรมเป็นคู่กับการฝึกหัดจิต คำบริกรรมเปรียบเหมือนกับเครื่องล่อจิต เหมือนกับเด็กเล็กๆที่มันร้องไห้ เราเอาขนมมาล่อให้มันกิน มันก็หยุดร้อง จิตของเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เหมือนกัน คือว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังรักษาตัวเองไม่ได้ ยังต้องอาศัยคำบริกรรมอยู่ จึงเรียกว่าเป็นเด็ก คนเฒ่าคนแก่กระทั่งผมหงอกผมขาวก็ตาม ถ้ายังควบคุมจิตของตนไม่ได้ก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ ถ้าหากควบคุมจิตได้แล้ว แม้จะเป็นเด็กก็ตามนับเป็นผู้ใหญ่ได้ ในพุทธศาสนา ผู้บวชตั้งร้อยพรรษา โดยธรรมแล้ว ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ก็เรียกว่ายังเป็นเด็กอยู่ องค์ใดบวชในพรรษานั้นแต่ว่าควบคุมจิตได้ ก็เรียกว่าเป็นเถระ การรักษาจิตควบคุมจิตจึงต้องมีเครื่องอยู่ ได้แก่ การบริกรรม
จิตเป็นของสูงๆตํ่าๆ คือ ฝึกหัดไม่สมํ่าเสมอ สูงหมายถึงว่าเจริญขึ้นไป คือ มีสติควบคุมอยู่ ขณะที่มีสติควบคุมอยู่ก็กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ต่อสู้กับอารมณ์ได้ อะไรมาก็ไม่กลัว พอสัมผัสมากระทบเข้าจริงๆจังๆ อ่อนปวกลงไปเลย นั่นมันตํ่าลงไปแล้ว มันไม่เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงต้องหัดสติตัวนี้ให้แก่กล้า ให้แข็งแรงที่สุด....................





" มนุษย์เราถ้านำปัญญาไปใช้
ในทางที่ถูกต้องดีงาม
จะทำให้ตนและผู้อื่น
ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ถ้ามนุษย์เรา
นำปัญญาไปใช้ในทางที่ผิดแล้ว
โลกทั้งใบก็บรรลัยกัลป์ "

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม





"...คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีลมีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ขาว อนาลโย





“สมบัติอะไรก็ตามในโลกนี้ สู้ธรรมสมบัติภายในใจไม่ได้
สมบัติภายในใจเลิศเลอสุดยอดขอเพียงให้ใจกับธรรม
ได้สัมผัสกัน มันจะแสดงฤทธิ์เดชเป็นที่อัศจรรย์
เมื่อ “หัวใจได้ความสง่างาม” แล้วอยู่ใต้ร่มไม้ร่มใด ภูเขาลูกใด
ถ้ำหรือเงื้อมผาแห่งใด สถานที่แห่งนั้นย่อมพลอยสง่างาม
ตามไปด้วย “สติ” นี่เองจะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ไขไปสู่ประตู
พระไตรปิฏกภายใน เพื่อเปิดเข้าไปสู่ประตูพระนิพพาน…”

โอวาทธรรม....พระธรรมวิสุทธิมงคล(บัว ญาณสมฺปนฺโน)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร