วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 09:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2017, 23:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

วันศุกร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น.
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พร้อมด้วยนายพนม ศรศิลป์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
เข้ากราบถวายสักการะถวายฎีกานิมนต์
“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)”
เพื่อเข้ารับพระราชทานสถาปนาเป็น
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ
โดยพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๑๘.๐๐ น.
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ได้สนทนาธรรมกับนายออมสิน
โดยมีรับสั่งให้กำลังใจรัฐบาล ขอให้ทำงานด้วยความสำเร็จลุล่วงด้วยดี


รูปภาพ

รูปภาพ

ทั้งนี้ บรรยากาศภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ
เป็นไปด้วยความสงบสำรวม
โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมาก
พยายามเข้าไปยังบริเวณที่ประทับ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ทรงได้เทศนาธรรมต่อสื่อมวลชน
และมีรับสั่งกับสื่อมวลชนว่า...

“ผู้ที่มาร่วมภายในงานก็ดี นักข่าว หรือผู้สื่อข่าวก็ดี ควรเห็นใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเราต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเข้าใจกันแล้ว ก็ควรที่จะประสานกัน ให้เป็นไปด้วยความงดงาม ดูดี ไม่ใช่ตุ้บตั้บๆ อย่างที่ทำกันทั่วไปอย่างทุกวันนี้ คิดว่างานนี้ครั้งนี้คงจะเป็นงานขั้นต้น ท่านทั้งหลายไม่ต้องแย่งกันจับภาพ เราจับภาพไปพร้อมๆ กัน แล้วมันจะสวยจะงาม แล้วสถานที่นี้ เราก็นึกดูแล้วกัน เป็นพระอุโบสถที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงสร้างไว้ พวกเรารู้กันดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย ไม่ว่าที่แห่งใดก็ตาม ก็ขอไม่ต้องยื้อแย่งกัน อาตมาจะนั่งให้ถ่ายอย่างดีๆ”

:b39: ที่มา :: http://www.tnews.co.th/contents/300855

รูปภาพ

ประกาศสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
เรื่อง ให้วัดย่ำระฆังและประชุมสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา
เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช


:b44: :b44:

งานสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็น ๑ ใน ๕ วัดในโลก
ที่ยังคงมีพิธี “จุดเทียนยังรุ่ง” ซึ่งหมายถึง จุดเทียนยันสว่าง
โดยคำว่า ยัง ก็คือ ยัน ในภาษาบ้านเรานั่นเอง
ซึ่งเทียนที่ใช้จุดนี้เป็นเทียนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมา
ทางวัดจะจุดตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. ถึง ๐๖.๐๐ น. ของอีกวันหนึ่ง
ขณะเดียวกันจะมีการเทศน์ ๑๓ กัณฑ์ คือเทศน์ยันเช้าจนกว่าเทียนจะดับ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าร่วมพิธีเดินเทียนช่วงใดก็ได้ตลอดทั้งคืน
โดยทางวัดและกระทรวงมหาดไทยจะให้จะเตรียมเทียนไว้ให้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2017, 23:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หมายกําหนดการ
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง


---------------

เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า เนื่องจากตําแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังว่างอยู่ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ และฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๐ ผู้เหมาะสมที่จะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และโดยที่ตําแหน่งสมเด็จพระสงฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานของฝ่ายสงฆ์ มีความสําคัญยิ่งในพระบวรพุทธศาสนาแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งทรงเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีสถาปนา ในท่ามกลางสังฆมณฑล ซึ่งพร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดต่าง ๆ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติในตําแหน่งที่มีความสําคัญและเชิดชูพระพุทธศาสนาสืบไป ดังมีรายการต่อไปนี้

วันอาทิตย์ ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๘ นาฬิกา เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์ซึ่งดํารงตําแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อพระสงฆ์ออกไปครองผ้าเสร็จแล้ว กลับเข้ามานั่งยังอาสน์สงฆ์ตามลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระราชโองการ สถาปนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จบ สมเด็จพระราชาคณะนำสวดคาถา “สงฆราชฏฺฐปนานุโมทนา” แล้วพระสงฆ์กรรมการมหาเถรสมาคมนำสวด “โส อตฺถลทโธ” แล้วสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับที่อาสน์สงฆ์ พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม ณ ท่ามกลางสังฆมณฑล ซึ่งมีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และถวายพระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ขณะนี้ พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามพระอารามทั่วราชอาณาจักรซึ่งชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆัง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑลตามลำดับแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบแล้ว สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับ ณ อาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ พระมหาเถระฝ่ายคณะธรรมยุตและฝ่ายมหานิกาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้ว สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จออกจากพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวนและจีน ส่วนพระสงฆ์นอกนั้นออกจากพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ


การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ หรือสายสะพายช้างเผือก

สํานักพระราชวัง
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐

:b39: ที่มา :: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/B/004/13.PDF

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2017, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b47: :b44: :b47:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2017, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เรื่องเล่าและคำสอน
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รูปภาพ
หลวงปู่อุทัย สิริธโร เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน


หลวงปู่อุทัย สิริธโร เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน จ.นครราชสีมา ได้บอกเล่าไว้ว่า “เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นพระมหาอัมพร อมฺพโร ได้เคยร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ที่วัดถ้ำขาม หลังเทือกเขาภูพาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระมหาอัมพรและพระมหาสาครร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมในสถานที่นั้นด้วยกัน ครั้งนั้นท่านได้ศึกษาธรรมะกับ หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัว และพระเถราจารย์จำนวนหลายองค์...ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน จ.นครราชสีมา โดยกล่าวถึง “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” ในบางช่วงบางตอนว่า

“...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า ทำใจให้สบาย ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่า ทำใจให้สบาย ในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่า จับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งจะไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”



:b44: คำสอนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ลูกศิษย์จำขึ้นใจ

“อยู่ให้เขาเบาใจ ยามจากไปให้เขาอาลัยถึง ไม่ใช่อยู่ให้เขาหนักใจ จากไปให้เขาไล่ส่ง อย่าทำเป็นตากระทู้ หูกระทะ เปรียบเทียบถึงหูกระทะที่มีหู แต่ไม่ได้ยิน ส่วนตากระทู้ คือ ต้นไม้มีตาเป็นปุ่มๆ แต่มองไม่เห็น จงตาดู หูฟัง นำแบบอย่างที่ดีงามมาปฏิบัติ”

“เขาสอนก็ฟัง เขาทำก็ดู เรียนรู้แล้วปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นสัตบุรุษ แต่ถ้าเขาสอนก็ไม่จำ เขาทำก็ไม่ดู เรียนรู้ก็ไม่ปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นควาย”

“เราไปอยู่กับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร เหรียญของท่านสักเหรียญ สักรุ่นเรายังไม่มีเลยนะ แต่สิ่งที่เราได้มาจากท่านอาจารย์ฝั้น ธรรมะที่ท่านสอนเราติดตัวเรามาถึงทุกวันนี้”

“เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญท่านอาจารย์ฝั้นสักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี”


รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)


:b44: เรื่องเล่าจากอดีตพระอาจารย์จำรัส พระเลขาฯ หลวงปู่ฝั้น
(ปัจจุบัน คือ คุณลุงจำรัส นรากร)


อนาคตังสญาณ เมื่อ ๕๒ ปีที่แล้วของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่บอกกับ “พระมหาอัมพร อมฺพโร” (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) เป็นที่รู้กันในวงพระป่ากรรมฐานว่าท่านพระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเถระที่มีพลังจิตแก่กล้า มีอภิญญาญาณ มีอนาคตังสญาณต่อพระมหาอัมพร ท่านพระอาจารย์ฝั้นจึงล่วงรู้เหตุการณ์ภายภาคหน้าที่พระมหาอัมพรจะได้เป็นสมเด็จ ณ วันนี้เหตุการณ์นั้นเป็นจริง

เมื่อประมาณปี ๒๕๐๘ ท่านเจ้าคุณพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธฯ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ตอนบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ได้เดินทางไปพร้อมกับพระมหาอัมพร, สามเณร ม.ล.ชัยนิมิตร ฯลฯ ไปถึงวัดป่าบ้านตาด กราบท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เพื่อฟังธรรมและฝึกนั่งกรรมฐานแล้วก็นอนที่วัด ครูบาอาจารย์วัดราชบพิธฯ ที่ไปด้วยกันในครั้งนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะถึง ๒ องค์ ท่านเจ้าคุณพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) นั้นคือ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ลำดับที่ ๕ อีกองค์หนึ่งก็คือ พระมหาอัมพร อมฺพโร เป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ลำดับที่ ๖ และต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการเดินทางไปภาวนาคราวนั้น ท่านเจ้าคุณพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร), พระมหาอัมพร อมฺพโร และคณะ นอกจากไปหาท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แล้ว ทางคณะได้เดินทางต่อเพื่อไปกราบและฟังธรรมกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร ด้วย โดยในครั้งนั้นท่านพระอาจารย์ฝั้นได้กล่าวกับพระมหาอัมพรว่า


“มหาฯ ภาวนาดีๆ นะ ต่อไปจะได้เป็นสมเด็จ”

ด้วยอภิญญาทางจิตที่สามารถหยั่งรู้อนาคตได้ล่วงหน้า ต่อมาพระมหาอัมพรก็ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์และเลี่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเป็นถึงที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ตามคำกล่าวของท่านพระอาจารย์ฝั้น และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในท้ายที่สุด

:b39: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล...
http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNe ... 0000014103
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.asp ... 0000014897
http://www.dra.go.th/th/mobile/content. ... -19-1-2306

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2017, 08:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อมฺพโร อัมพร ประสัตถพงศ์)”
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ขณะมีสิริอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘ ขึ้นเป็น
“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”

องค์ประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สืบต่อจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
อีกทั้งนับเป็นปฐม “สกลมหาสังฆปริณายก” ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง
สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต
ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต
วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ
ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ
พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร
ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”


:b44: คำแปล-คำอ่านพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ

๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(สม-เด็ด-พระ-อะ-ริ-ยะ-วง-สา-คะ-ตะ-ยาน)
: สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า

๒. สุขุมธรรมวิธานธำรง
(สุ-ขุม-ทำ-มะ-วิ-ทาน-ทำ-รง)
: ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน

๓. สกลมหาสงฆปริณายก
(สะ-กน-ละ-มะ-หา-สง-คะ-ปะ-ริ-นา-ยก)
: ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง

๔. ตรีปิฎกธราจารย
(ตรี-ปิ-ดก-ทะ-รา-จาน)
: ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก

๕. อัมพราภิธานสังฆวิสุต
(อำ-พะ-รา-พิ-ทาน-สัง-คะ-วิ-สุด)
: ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า “อมฺพโร”

๖. ปาพจนุตตมสาสนโสภณ
(ปา-พด-จะ-นุด-ตะ-มะ-สาด-สะ-นะ-โส-พน)
: ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยทรงพระปรีชากว้างขวาง
ในพระอุดมปาพจน์คือพระธรรมวินัย


๗. กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต
(กิด-ติ-นิ-ระ-มน-คุ-รุ-ถา-นี-ยะ-บัน-ดิด)
: ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และทรงเป็นครู

๘. วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ
(วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-นะ-ริด-ปะ-สัน-นา-พิ-สิด-ตะ-ประ-กาด)
: สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธา เลื่อมใส

๙. วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ
(วิ-สา-ระ-ทะ-นาด-ทำ-มะ-ทู-ตา-พิ-วุด)
: ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว
ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต


๑๐. ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร
(ทด-สะ-มิน-สม-มุด-ปะ-ถม-สะ-กน-ละ-คะ-นา-ทิ-เบด)
: ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช)
พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ ๑๐


๑๑. ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ
(ปะ-วิด-ทะ-เนด-ตะ-โย-พาด-วาด-สะ-นะ-วง-สะ-วิ-วัด)
: ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด
โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะคือสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร)


๑๒. พุทธบริษัทคารวสถาน
(พุด-ทะ-บอ-ริ-สัด-คา-ระ-วะ-สะ-ถาน)
: ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท

๑๓. วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร
(วิ-บูน-สี-ละ-สะ-มา-จาน-ระ-วัด-วิ-ปัด-สะ-นะ-สุน-ทอน)
: ทรงงดงามในพระวิปัสสานาธุระ ทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์

๑๔. ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ
(ชิน-นะ-วอน-มะ-หา-มุ-นี-วง-สา-นุ-สิด)
: ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า


๑๕. บวรธรรมบพิตร
(บอ-วอน-ทำ-มะ-บอ-พิด)
: ทรงเป็นเจ้าผู้ประเสริฐในทางธรรม

๑๖. สมเด็จพระสังฆราช
(สม-เด็ด-พระ-สัง-คะ-ราด)
: ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์



:b39: ที่มา : หนังสือพระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=53668

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.พ. 2017, 13:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2017, 20:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

ตราสัญลักษณ์ ออป
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งรัตนโกสินทร์

ย่อมาจาก

อ (อัมพร) : พระนามของพระองค์
ใช้ตัวอักษรเป็นสีแดง หมายถึง เป็นสีวันประสูติ วันอาทิตย์


อ (อมฺพโร) : พระนามฉายาของพระองค์
ใช้ตัวอักษรเป็นสีเหลือง หมายถึง
เป็นสีอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
และสีของผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นสมณคุณ


ป (ประสัตถพงศ์) : พระนามสกุลของพระองค์
ใช้ตัวอักษรเป็นสีฟ้าเทา หมายถึง
เป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพระชาติภูมิ


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2017, 07:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ”
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ณ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ (Wat Buddharangsee Stanmore)
นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย

:b50: :b49: ในภาพ : องค์ที่ ๓ จากขวา คือ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระปริยัติกวี”


:b47: :b39: :b47:

ปฐมสกลมหาสังฆปริณายกในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมสกลมหาสังฆปริณายกในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระปริยัติกวี” ได้เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตรุ่นแรกนำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ตามความประสงค์ของพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (Buddhist Society of NSW) โดยทางพุทธสมาคมฯ ได้มีหนังสือถึงมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียนเชิญให้นำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไปเผยแผ่ และเชิญให้มาสร้างวัดเพื่อเป็นศาสนสถานที่เคารพบูชาสักการะและปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วไปในเครือรัฐออสเตรเลีย

ครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” เป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จึงได้ส่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระขันติปาโล ชาวอังกฤษ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาในโอกาสนี้ ต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดไทยแห่งแรกในเครือรัฐออสเตรเลีย นามว่า วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ (Wat Buddharangsee Stanmore)

การเป็นผู้บุกเบิกนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในคราวนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ ได้ทรงวางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างมีรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคงในไพรัชประเทศ (ต่างประเทศ) มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำที่เครือรัฐออสเตรเลียหลายแห่ง ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระอักษร ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ที่โรงเรียนคิงส์สคูล (King’s School) นครซิดนีย์ และทรงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕

วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูนแห่งนี้ได้แบ่งภาคการศึกษาออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาคหนึ่งนักเรียนที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรจะได้รับยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) รับผิดชอบหลักสูตร วิชาในหลักสูตรได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงเลือกเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ วิชาที่ทรงสนพระราชหฤทัยคือประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตและปริญญาวิชาการทหารพร้อมกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘

วาระโอกาสนี้พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ อยู่เป็นประจำ...นี่จึงเป็นปฐมเหตุที่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีและมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระปริยัติกวี”
ทรงเวียนเทียนในการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
เมื่อครั้งเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ณ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ (Wat Buddharangsee Stanmore)
นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘


รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร” ทรงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ในพิธีเปิดวัดพุทธรังษี สแตนมอร์ (Wat Buddharangsee Stanmore)
นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา

----------

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือพระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐
(๒) ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช [สมเด็จพระมหามุนีวงศ์]
เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕ ข, วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
(๓) พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=54004

• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ กับ พระองค์ที่ ๒๐
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=53671

• ความหมายของพระนาม
“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=53668

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2017, 07:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ครอบครัวประสัตถพงศ์

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กับ “พระเทพสุเมธี (ไสว วฑฺฒโน)” เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (ธรรมยุต)
และเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม วรวิหาร
พระอนุชาร่วมพระชนกพระชนนี
ปัจจุบัน (ปี พ.ศ.๒๕๖๐) สิริอายุรวมได้ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕
บันทึกภาพเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๔


รูปภาพ
บันทึกภาพเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๒
เมื่อครั้งทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น
“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์


รูปภาพ
ทรงรับการถวายสักการะจากพระเทพสุเมธี (ไสว วฑฺฒโน)

รูปภาพ
บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

รูปภาพ
พี่น้องครอบครัวประสัตถพงศ์
จากทั้งหมด ๙ ท่าน ปัจจุบันเสียชีวิตไป ๑ ท่าน


--------------------

พระเทพสุเมธี (ไสว วฑฺฒโน) พระสุปฏิปันโนแห่งเมืองราชบุรี
พระอนุชาของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ กล่าวว่า...
“ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมดรวม ๙ คน มีผู้ชาย ๔ คน ผู้หญิง ๕ คน
อาตมาเป็นบุตรชายคนที่ ๔ ส่วนสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระพี่ชาย

วัยเด็กสมเด็จพระสังฆราชได้ไปเรียนหนังสืออยู่กับ
พระปิตุลา (ลุง) ที่เป็นนายทหารอากาศที่ จ.ลพบุรี
หลังจากนั้นอายุได้ประมาณกว่า ๑๐ ปี
ทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดตรีญาติ
หมู่ที่ ๖ ต.พงสวาย อ.เมืองราชบุรี หรือวัดใกล้บ้าน
พระองค์มีอายุห่างกับอาตมาประมาณ ๔-๕ ปี
เนื่องจากพระองค์เป็นลูกคนที่ ๒ ส่วนอาตมาเป็นลูกคนที่ ๔

ช่วงชีวิตของพระองค์จะใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.ราชบุรี
สมัยทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดตรีญาติ
หลวงปู่นุตรเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑ ของวัดตรีญาติ
ขณะนั้นสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)
มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะ และอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ
เดินทางมาพักอยู่ที่วัดตรีญาติ ทางสมเด็จพระสังฆราชได้คอยดูแลปรนนิบัติ
ทางสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีเกิดถูกใจ จึงได้พาไปอยู่ที่วัดราชบพิธฯ ด้วย

สมัยที่ยังทรงบรรพชาเป็นสามเณร
ช่วงนั้นอาตมาบวชเป็นสามเณรอยู่ที่ จ.ราชบุรี เหมือนกัน
ส่วนพระองค์ประทับอยู่กับสมเด็จพระราชาคณะที่วัดราชบพิธฯ ที่กรุงเทพฯ
และทรงอุปสมบทเป็นพระที่วัดนั้นเลย
สมัยก่อนพระองค์จะมา จ.ราชบุรี ทุกเดือน เพื่อมาเยี่ยมพระบิดากับพระมารดา
แต่หลังจากที่พระบิดาและพระมารดาสิ้น
พระองค์จะเสด็จเยี่ยมบ้างเมื่อมีภารกิจ หรือเมื่อมีโอกาส”


:b39: ที่มา :: http://www.matichon.co.th/news/456671

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2019, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พัดยศ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

:: พระศรัณย์ ปญฺญาพโล ที่พักสงฆ์อาพาธ อ.ปากช่อง


:b49: :b50: :b49:

พัดยศสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) มีลักษณะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พื้นบุผ้าตาดเงินสลับลูกคั่นผ้าตาดทอง ปักดิ้นเลื่อมเงินและทองแล่ง ขอบที่เป็นแฉกปักเป็นลายช่อใบเทศ ถัดเข้ามาปักลายน่องสิงห์อย่างลายเนื่องต่อเข้ามาปักเป็นลายเกลียวใบเทศกระหนาบแม่ลาย ซึ่งปักเป็นลายเกลียวกระหนก ชั้นที่ล้อมใจกลางพัดปักเป็นลายน่องสิงห์เนื่องกันทั้งสองข้าง

ใจกลางพัด เป็นรูปโคมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ปักเป็นรูปพระลัญจกร “พระราชโองการ” โดยแปลงมาจากพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขจากพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ด้วยการผูกลายตรงกลางเป็น “ตราจักรี” แวดล้อมไปด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ พัดวาลวิชนี-พระแส้จามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งอยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ส่วนด้านล่างของพัดยังมีพระสังวาลย์นพรัตน์ และแพรแถบที่ระบุข้อความอักษรขอมว่า “พระบรมราชโองการ” โดยในคราวนี้โปรดให้ผูกอักษรขอมเป็นคำว่า “พระราชโองการ” ตามพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ที่ยังมิได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก

ยอดพัดด้านบนเป็นงาแกะ เป็นฉัตรสามชั้น อันแสดงถึงฐานานุศักดิ์ของสมเด็จพระสังฆราชที่ครองพัดเล่มนี้ว่ามาแต่สามัญชน

ด้ามงาตัน คอพัดแกะลายเทพนม ซ่นเป็นเม็ดทรงมัณฑ์แกะลาย


โดยปกติพัดยศที่ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชที่มาแต่สามัญชนนั้น ใจกลางพัดจักปักเป็นลาย “ก้านต่อดอก” มีเพียงพัดยศสมเด็จพระสังฆราชที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ เพื่อถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ใจกลางพัดปักเป็น “พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๙” คือเป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร ตรงกลางมีพระมหาอุณาโลมอยู่ในวงพระแสงจักร มีพระรัศมีเปล่งออกโดยรอบวงพระแสงจักร

พัดยศสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์ปัจจุบันนี้ จึงเป็นเล่มพิเศษที่สร้างขึ้นประจำรัชสมัย

:b44: เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=46912

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2019, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

:b47: :b44: :b47:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2019, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระปฐมโอวาท
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


:b44: :b47: :b44:

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทานพระโอวาทแก่ประชาชนที่มาเข้าเฝ้า ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐ ความว่า

ขออำนวยพรแก่สาธุชนพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกาทุกคน ที่ท่านได้มีศรัทธาปสาทะ ความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ในวันนี้ ด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยกุศล ก็ขออนุโมทนาสาธุการด้วย (เสียงประชาชนกล่าวคำว่า สาธุ) ท่านทั้งหลายได้มากันในวันนี้ ก็เพื่อมาอำนวยพร หรือมาแสดงมุทิตาแก่อาตมา ผู้ได้รับสถาปนาเป็นอะไรนั้นก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว ยังไม่ต้องกล่าวซ้ำ ก็ขออนุโมทนาสาธุการขอบใจท่านอุบาสกอุบาสิกาทุกท่านที่มีจิตใจอันเป็นกุศลดังกล่าวแล้ว (เสียงประชาชนกล่าวคำว่า สาธุ) ท่านทั้งหลายก็มีธรรมะคือความดี ความงามประจำใจอยู่แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงรักษาความดี ความงามที่ท่านมีอยู่แล้วนี้ ให้คงที่ไว้ตลอดไป อาตมาจะไม่กล่าวอะไรมากมายก่ายกอง ขออย่าเพิ่งสาธุเร็วนัก ยังไม่ทันอะไรก็สาธุ ถ้าปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านก็จะกล่าวว่า สาธุบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ นี่เราที่พูดมานี้ไม่ได้พูดแบบวิถีการ หรือวิธีการ

เราพูดกันด้วยฐานะที่เราทั้งหลายเป็นพุทธศาสนิกชน บริษัททั้งสี่ ท่านทั้งหลายเป็นอุบาสก อุบาสิกา ๑ อุบาสก ๒ อุบาสิกา ๓ ภิกษุ ๔ ภิกษุณี เราก็ล้วนเป็นพุทธบริษัทด้วยกันก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรารักษาจิตใจที่เราเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยให้คงที่ไว้ อาตมาก็ขออนุโมทนาสาธุการกับท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ท่านรักษาความดีอันนี้ไว้อีกครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องกล่าวมากหรอก

หลักที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันทุกวันนี้ ก็ขอให้รักษาไว้ รวบยอดแล้วหลักธรรมะ หลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้เรายึดถือปฏิบัติ ก็มีอยู่ ๓ ประการดังที่ท่านทั้งหลายทราบแล้ว ปฏิบัติกันอยู่แล้วทั้งนั้น หลักศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างนี่แหล่ะ ถ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะว่ามันยาก สูง ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ทำกันอยู่ประจำทุกวัน

ศีลคืออะไร ตามหลักศัพท์เขาเรียกว่าปกติ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่ายังไงเราอย่าลืม ทำกายวาจาของเราให้อยู่ในภาวะปกติ นี่แหละศีล และเรามีศีลห้า จะปฏิบัติอย่างไรให้มันเป็นภาวะปกติได้ ถ้าจะคิดจริงๆ แล้ว ก็นึกถึงสภาวธรรมที่เป็นจริงว่า กาย วาจา กายน่ะธรรมชาติสร้างมาทำไม นึกถึงธรรมชาติ ให้ประกอบกิจการงาน วาจา ธรรมชาติสร้างมาทำไม สื่อสารให้เข้าใจกัน ถ้าเราสื่อสารมีภาษาของเรา เราสื่อสารให้เข้าใจกัน ถ้ากายเราไม่ปกติ กิจกรรมที่เรากระทำนั้น มันก็ไม่สัมฤทธิผลตามที่เราต้องการ นึกดูเอาก็แล้วกัน ท่านทั้งหลายล้วนแต่มีความรู้กันแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ว่ากายพิการ กายพิการนั้นเขาก็ทำของเขาได้ ตามภาวะปกติของเขา ที่นี้ตามปกติอย่างที่ท่านทั้งหลายนั่งกันอยู่ในที่นี้ ท่านก็มีกายวาจาปกติตามภาวะของเรา ทีนี้ก็ต้องนึกถึงธรรมชาติว่าสร้างกายวาจามาให้เราทำอะไรดังกล่าวแล้ว เราอยู่ในภาวะปกติไหม นึกเอาก็แล้วกัน เช้าขึ้นมาถ้าโยมเป็นครอบครัว กายวาจาไม่ปกติ ไม่มีเสียงอะไรเกิดขึ้น คิดเอาจริงไหม นี่ครั้งแรกจะง่ายหรือยากคิดเอาก็แล้วกัน

สองสมาธิ โอ๊ยไม่ไหวแล้ว เราหลับหูหลับตามานั่งโอ๊ยฉันทำไม่ได้ แต่ลองนึกดูก็แล้วกัน สมาธิคืออะไร ที่เรามาแปลกันมาว่าการทำใจให้ตั้งมั่น ทำใจให้เป็นหนึ่งเดียว คือจะทำอะไรก็ตั้งอกตั้งใจทำ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ช่างภาพที่ถ่ายภาพเราอยู่ทุกวันนี้ ขณะนี้ก่อนนั้นเขาถ่ายเป็นไหม ไม่เป็น เขามาศึกษา เขาตั้งใจศึกษา เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็ทำงาน เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ถ้าไม่ได้ตั้งใจศึกษา ไม่ตั้งใจทำงานที่ดี ให้ดีแล้ว เขาจะเป็นช่างภาพที่ดีไหม ใช่หรือไม่ ยากไหม แล้วท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่ จบชั้นปริญญากันมาทั้งนั้นเยอะแยะ ถ้าจิตใจเราไม่ตั้งมั่น เราไม่ตั้งใจศึกษา จบไหม ไม่จบ นี่แหละสมาธิ

เมื่อเรามีศีล มีกายวาจาเป็นปกติ มีสมาธิ ปัญญาจะไปที่ไหน ก็เกิดขึ้นตามลำดับ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอให้นึกถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเราเอาไว้ ๓ ข้อง่ายๆ นึกอยู่ทุกวันๆ เราทั้งหลายก็จะมีความสุขใจ เมื่อเรามีความสุขใจ ญาติของเราก็สุขใจ ทุกคนสุขใจแล้ว กิจกรรมอะไรมันก็เกิดขึ้นได้สบาย

อนึ่ง ท่านทั้งหลายได้มาประชุมกัน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้วว่าวัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเราทั้งหลายก็ได้ถวายพระนามท่านว่า พระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงสร้างขึ้น และในรัชสมัยของพระองค์ก็มีคำภาษิตอยู่บทหนึ่ง บางท่านก็ทราบแล้ว บางท่านก็คงไม่ทราบ เพราะฉะนั้นในฐานะที่ท่านเข้าอยู่มาในวัดนี้แล้ว อาตมาก็จะขอมอบภาษิตนี้ให้ท่านทั้งหลายไปปฏิบัติดู ภาษิตนั้นเป็นภาษาบาลี คำว่า สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ คำนี้ใช้ได้ทุกกาลเวลา ทุกรัชสมัย จนในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบันก็ทำได้ เราทั้งหลายในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทย เราสืบมาบางท่านก็หลายรัชกาล บางท่านก็สองรัชกาล บางท่านก็หนึ่งรัชกาล ก็รักษาคำนี้ไว้ ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความวุฑฒิสาธิกา ยังความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้

ขณะนี้เราก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว ประเทศของเรากำลังต้องการพัฒนา ต้องการให้ชาติของเรา ประเทศของเราพัฒนาเจริญๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายนำธรรมภาษิตนี้ไปนึกดู ไปคิดดู แล้วไปกระทำร่วมกับสามข้อแรก ความปกติกาย ความปกติวาจา ความตั้งใจทำงานในสิ่งที่เรากระทำ และมีปัญญาควบคุม รวมอยู่ในนี้เสร็จหมด เพราะฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ และยึดถือคำสอนของพระพุทธองค์ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่ต้องหลักให้มากๆ หลักศีล หลักสมาธิ หลักปัญญา และความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประเทศชาติของเรา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะทรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน

ขออำนวยพรให้ทุกท่านจงประสบผลสัมฤทธิ์ในกิจที่ท่านกระทำ และในการที่ท่านต้องการจะกระทำต่อไปในอนาคต จงประสบผลสัมฤทธิ์ดังจิตประสงค์จงทุกประการเทอญ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2020, 18:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำกราบทูลแสดงภักดีจิต
ของพระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน)
ในนามคณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐

:b47: :b42: :b47:

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อม ในนามคณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ผู้รับฉันทานุมัติมาสู่มหาสันนิบาต เฉพาะพระพักตร์แห่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ผู้เพิ่งได้ทรงรับพระราชทานมูรธาภิเษกาภิสิต ทศมนริศรราชโองการประกาศ อนุสนธิพระราชศรัทธาปสาทะแห่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เกิดมหาสังฆานุโมทนา ตลอดทั่วไทยรัฐสีมามณฑล รู้สึกเอิบอิ่มดวงกมล ในมหุดิฤกษ์มงคลสมัยในวาระนี้

เมื่อ ๗๐ ปีล่วงแล้ว สามเณรรูปหนึ่งจากจังหวัดราชบุรี ได้เข้ามาสู่บารมีพระมหาเถระรูปหนึ่ง ซึ่งสถิต ณ พระอารามหลวงกลางพระมหานคร ด้วยความเมตตาชักพาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี พระอารามนี้ ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงสถาปนา มีเจ้าอาวาสทุกยุคผู้ทรงกัลยาณประวัติจรัสเจริญ เป็นที่สรรเสริญพระคุณานุคุณ เป็นทุนแห่งภูมิประวัติ ฉายชัดกระทั่งปัจจุบัน

สามเณรรูปนั้น ณ วันนั้น คงไม่คาดฝันเป็นแน่แท้ว่า ณ วันนี้บัดนี้ จะได้เป็นทุนแห่งภูมิประวัติของวัดสืบไปตราบหน้า คงไม่ได้มาดหมายว่า จักต้องรับสมมติสัจจะ โดยสภาวะอันมีและอันเป็นเฉกเช่นไร

หากปรมัตถสัจจนัยอันเกรียงไกรปรากฏ สามเณรนั้นได้เติบใหญ่เป็นพระภิกษุผู้เรียบร้อยหมดจด ทรงอุดมปาพจน์เป็นประทีปสว่างไสว เคร่งครัดพระธรรมวินัยไม่ด่างพร้อย เป็นที่พึ่งของผู้น้อยผู้อยู่ใต้สมณาณัติ เป็นผู้ทรงศีลาจารวัตรวิปัสสนสุนทร เป็นศรีแห่งพระบวรพุทธศาสนา สมสมมติสัจจะแห่งพระมหาเปรียญ พระราชาคณะ สมเด็จพระราชาคณะ และพระผู้มีภารธุระอันดำเนินไปเป็นลำดับทุกขณะ ทุกวิสัยสภาวะโดยมหาเถรกรณธรรม

ส่วนสมมติสัจจะอันกล่าวนำประกอบไว้ ชอบที่จะตามเฉลยนัยสนองความ ได้แก่ พระอารามนั้น คือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระมหากษัตริย์เจ้าพระองค์นั้น คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปัยกาธิราชของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้มีพระราชโองการ

อดีตเจ้าอาวาสผู้ทรงพระกิตติยศฦๅชานั้น คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๑

อดีตเจ้าอาวาสอีกพระองค์หนึ่งผู้ทรงชุบเกล้าสามเณรรูปนั้น ก็คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๘

และเมื่อสามเณรรูปนั้นทรงรัตตัญญูอยู่เนิ่นไป ก็คือฝ่าพระบาท สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๒๐ ผู้ทรงเป็นหลักชัยคุ้มชีวิตคณะสงฆ์วัดราชบพิธทั้งมวล

หวนระลึกก่อนบัดนี้ ความสวามิภักดิ์จงรักบูชาที่เคยมา ต่อปรมัตถสัจจะตามความงามและความดี ที่คณะสงฆ์มีต่อฝ่าพระบาทเป็นฉันใด ตราบวันนี้ต่อเมื่อหน้าไป ก็ย่อมยังคงดำเนินไปฉันนั้นไม่ผันแปร

ส่วนความสวามิภักดิ์จงรักแน่แท้ต่อหน้าที่ ซึ่งเคยมีต่อสมเด็จเจ้าอาวาส โดยสมมติสัจจะแห่งสมณฐานันดร ที่คณะสงฆ์เคยมีต่อฝ่าพระบาทฉันใด ตราบวันนี้เมื่อหน้าต่อไป คงจักไม่เหมือนเดิม หากจักยิ่งเพิ่มไพบูลย์พูนทวีขึ้นกว่านั้น ด้วยความมุ่งมั่นพร้อมพรักสามัคคี ที่จะสนองพระกิจจานุกิจของฝ่าพระบาท ผู้ทรงสถิตที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ทรงเบาพระทัยไกลอนิฏฐารมณ์อย่างสุดเกล้าสุดกำลัง

บรรดาภิกษุวัดราชบพิธทุกรูป ขอรับประทานพรข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นความมุ่งหมายสูงสุด คือขอฝ่าพระบาท ทรงรักษาพระอนามัยให้ยิ่งเข้มแข็งมั่นคง เพื่อเสด็จสถิตธำรงในสุขุมธรรมวิธาน ทรงเป็นพุทธบริษัทคารวสถานอันร่มเย็น อยู่เช่นนี้ ตราบเท่าที่ชีวิตของปวงเกล้ากระหม่อมผู้เป็นบรรพชิตในพระอาราม จักสิ้นความเป็นไปแล้วทุกรูปทุกคน

ทีฆายุโก โหตุ วีสติมสงฺฆราชา
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

รูปภาพ
พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน ป.ธ.๑-๒, น.ธ.เอก)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ และเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
ผู้กราบทูลแสดงภักดีจิตในนามคณะสงฆ์วัดราชบพิธฯ

[พ.ศ.๒๕๖๒ ท่านได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์]

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร