วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 327 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 22  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 20:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือเล่มนี้ หน้า ๔๑ (ตัดมาที่หน้านี้ก่อน)

รูปภาพ

ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรมกันไม่ชัด ระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร

จริยธรรม “ธรรมคือความประพฤติ” “ธรรมคือการดำเนินชีวิต” หลักความประพฤติ, หลักการดำเนินชีวิต 1. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม (ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ จริยธรรม เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 20:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรมกันไม่ชัด ระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร

งานของผู้พิพากษา ว่าโดยทั่วไป ก็คือตัดสินคดีเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เรื่องที่คนทำและพูด เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะตัดสินได้ดี มีความมั่นใจที่สุด และทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติได้สูงสุด ผู้พิพากษาก็น่าจะเป็นผู้ที่เจนจบในเรื่องที่เรียกกันว่า "จริยธรรม"

ในตอนก่อน ได้บอกแจ้งขอให้ตระหนักไว้ เพื่อป้องกันความสับสนว่า จริยธรรม ในที่นี้ มิใช่มีความหมายอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไปในปัจจุบัน และบอกไว้ด้วยว่าจะอธิบายเหตุผลข้างหน้า ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้

ตัวจริยะ/จริยธรรมที่แท้ ได้พูดไปข้างต้นในก่อนแล้ว ในตอนนี้ ต้องการแยกจริยะแท้นั้นออกไป จากความหมายอย่างอื่นที่อาจจะทำให้เข้าใจสับสน แต่จะพยายามพูดให้น้อย

การที่แยกมาทำความเข้าใจต่างหาก ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างเด่นชัด และช่วยป้องกันความสับสนได้ดียิ่งขึ้น

"จริยธรรม" ที่พูดแล้วก่อนหน้า เป็น "จริยะ" ในระบบของธรรม ในสายความคิดของพระพุทธศาสนา ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของศัพท์มาแต่เดิม

ส่วน "จริยธรรม" ที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ใหม่ไม่นาน ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ และถ้าดู จากที่มาที่ไปและความเป็นมาเป็นไปของคำว่า "จริยธรรม" นั้นเอง ก็จะ มองเห็นได้ว่าเป็นคำ ที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนตลอดมา

แม้จนบัดนี้ ในเมืองไทยเรายังพยายามหาทางลงตัวกับการให้ความหมายแก่คำว่า "จริยธรรม" (พยายามจนกระทั่งไปๆ มาๆ ความหมายอาจจะแปลกไปจากคำฝรั่งเดิม ซึ่งเป็นต้นศัพท์ที่เราเอามาบัญญัติเป็นจริยธรรมนี้)

ความรู้เข้าใจและความคิดของสังคมไทยที่คืบคลานมาในการให้ความหมายและการใช้ คำศัพท์ที่สำคัญอย่างคำว่า จริยธรรม นี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

ที่ว่า "จริยธรรม" เป็นคำเกิดใหม่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมานี้ ก็คือ มันเกิดขึ้นมาในฐานะเป็นคำศัพท์บัญญัติ เพื่อใช้แสดงความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" (ถ้าเป็น ethics ก็แปลเป็นศัพท์บัญญัติในวิชาปรัชญาว่า จริยศาสตร์ และในวิชา รัฐศาสตร์ว่า จริยธรรม จริยศาสตร์ หรือ บางทีก็ตรงกับคำว่า code of conduct ที่เราแปลว่า จรรยาบรรณ)

เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติสำหรับคำฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จริยธรรมนั้น ตามความหมายของคำที่เป็นต้นบัญญัติของมัน คือ ต้องเข้า ใจความหมายของคำว่า "จริยธรรม" ตามความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" นั้น ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องตรงไปตรงมา

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทราบว่า จริยธรรม หรือ ethic คืออะไร ก็ไปเปิดดูใน dictionary หรือ ใน encyclopedia ของฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ในฐานะมีหน้าที่บอกความหมายของถ้อยคำ ที่ใช้กันอันเป็นที่ยอมรับในภาษาไทย ได้แสดงความหมายของ "จริยธรรม" ว่า "ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม

ตามความหมาย พจนานุกรม บอกไว้นี้ จริยธรรมก็มีความหมายเหมือน กับ "ศีลธรรม" ที่เราใช้กันมาในสังคมไทยนานแล้วก่อนจะมีคำบัญญัติว่า จริยธรรม นี้

ยิ่งเมื่อไปเทียบกับตำราฝรั่ง ก็ให้ความหมายของศีลธรรม และจริยธรรม moral และ ethic ปนเปกันไปจนแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน

แต่ที่สำคัญก็คือ ที่พูดกันอยู่ทั่วไปนั้น ความหมายของคำเหล่านี้ ตัวผู้พูดเองก็คลุมเครือ บางทีก็พูดไปอย่างนั้นเอง คล้ายเป็นคำ โก้หน่อยๆ ตัวคนพูดก็ไม่ชัด คนฟังก็พร่าๆ

พอมองเข้าไปในวงวิชาการ ก็เห็นชัดว่าความพร่ามัวคลุมเครือนั้นปรากฏออกมา ในการเถียงกันของนักวิชาการเอง ที่ยุติไม่ได้ เช่นว่า จริยธรรม (ethic) กับ ศีลธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน จะเอา อย่างไรกันแน่ และถ้าต่างกันแล้ว ต่างกันอย่างไร

แง่ที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก ก็คือ เราจะบัญญัติศัพท์ขึ้นมา ใหม่สำหรับคำฝรั่งว่า "ethic" แต่เราพยายามไปหาคำเก่าในภาษาบาลีมาใช้ และคำที่สำเร็จขึ้นมาคือ "จริยธรรม" นี้ ก็เป็นคำก้ำกึ่ง

ที่ว่าก้ำกึ่ง คือ เราไปเอาคำจากภาษาบาลี ๒ คำมาจับต่อกันเพื่อมาใช้ใน ความหมายใหม่ที่เราต้องการ (ให้ตรงกับฝรั่ง) แต่ในคำที่จับเอามารวมกันนั้น ศัพท์ที่เป็นตัวยืน (จริย) มีความหมายทางวิชาการของมันอยู่แล้ว ซึ่งเทียบกับความหมายใหม่ที่ต้องการได้ในบางแง่ แต่ไม่ตรงกันจริง
ส่วนอีกคำหนึ่ง (ธรรม) ที่เอามารวมเข้า ก็เป็นคำกว้างๆที่ไม่ช่วยแยกความหมายออกไป แล้วแทนที่จะบอกให้ชัดไปเลยว่า ที่เราเอามาใช้นี้ เป็นเรื่องต่างหาก และต่างออกไป แต่เรากลับใช้แบบปนเปกัน ก็จึงทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น

ถ้าจับหลักไม่ได้ แล้วไปค้นหาที่ไปที่มาในภาษาบาลี พอไปเจอคำ ว่า "จริยธรรม" ในคำว่า "ภิกขาจริยธรรม" (บาลีเป็น "ภิกฺขาจริยธมฺมํ" แปลว่า ธรรมคือภิกขาจริยา หรือ ภิกขาจาร ได้แก่ การเที่ยวไปเพื่ออาหาร คือการเที่ยวขออาหาร - เช่น ธ.อ.๖/๓๒) ก็คงยิ่งงงกันใหญ่

หันกลับไปดูความสับสนที่พูดถึงเมื่อกี้ (คำว่า บางท่าน ที่จะพูดต่อไป นี้ รวมทั้งบางสถาบัน หรือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย)

ในระยะไม่นานมานี้ จนถึงขณะนี้ มีบางท่านในวงวิชาการ บอกว่า "จริยธรรม" กับ "ศีลธรรม" มีความหมายไม่เหมือนกัน

ทีนี้ ท่านที่ว่า จริยธรรม กับ ศีลธรรม ต่างกันนั้น ก็ไม่ลงกันอีก บางท่านว่า จริยธรรม มีความหมายกว้างกว่า ศีลธรรม หมายถึงกฎเกณฑ์สำหรับประพฤติปฏิบัติทั่วไป แต่ศีลธรรมหมายถึง หลักสำหรับประพฤติดีประพฤติชอบ หรือความประพฤติปฏิบัติที่ประกอบด้วยคุณความดี

ส่วนบางท่านก็ว่า ศีลธรรม มีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม ดูง่ายๆ ในพจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า "ศีลธรรม" ว่า "ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ศีลและธรรม, ธรรมในระดับศีล" เมื่อพูดว่า ศีลและธรรม ก็ย่อมคลุมหมด

ที่ชัดแน่ก็คือ เมื่อคนไทยยังไม่มี (คำว่า) "จริยธรรม" ดังเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก (คำว่า) "จริยธรรม" (คำว่า) "จริยธรรม" ยังไม่เข้าไปในโรงเรียน หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมีวิชาศีลธรรม (แม้ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ยังมีวิชาศีลธรรม) และ ศีลธรรมนั้นก็รวมทั้งคุณธรรม ด้วย ต่างจากเวลานี้ ที่จริยธรรมไม่รวมคุณธรรม ต้องพูดแยกกันว่า "คุณธรรม และจริยธรรม" ศีลธรรม จึงมีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม

เวลานี้ เมื่อมีคำว่า "จริยธรรม" ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามแยกความหมายออกไปทุกคำว่า "คุณธรรม" "จริยธรรม" และ "ศีลธรรม" ต่างกันอย่างไร (ดูเหมือนว่า ขณะที่เรายังยุ่งอยู่กับการแยกความหมายของถ้อยคำ คนและสังคมก็ทรุดลงไปในทุกธรรม อย่างน้อย ศีลธรรมก็ทำท่าจะหมดไป)

บางท่านว่า "จริยธรรม" หมายถึงหลักความประพฤติที่พึงทีพึงปฏิบัติทั่วไป ส่วน "ศีลธรรม" หมายถึงหลักความประพฤติที่เป็นคำสอนของศาสนา หรือจริยธรรมที่มาจากศาสนา

(แถมยังเอาคำฝรั่งมาสนับสนุนด้วยว่า จริยธรรม คือ ethic ส่วน ศีลธรรม คือ moral และ ว่า moral เป็นหลักความประพฤติตามคำสอนของศาสนา แต่ถ้าเราไปดูคำอธิบายของฝรั่งเอง พอพูดถึง ethic ก็อธิบายด้วย moral พอพูด ถึง moral ก็ว่าคือ ethical มิฉะนั้น ก็ต้องออกไปที่คำพื้นๆ ว่า เป็นเรื่องของ right conduct ไม่ไปไหน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2018, 10:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


“จริยธรรม” ก็ยังคลุมเครือสับสน “จริยธรรมสากล” ก็จึงยิ่งพร่ามัว


ที่จริง การเอาคำว่า “จริยธรรม” มาเทียบกับคำว่า “ศีลธรรม” อย่างที่ว่ามานั้น ก็เป็นเพียงการพยายามคิดความหมายขึ้นมาใหม่โดยที่ตัวผู้เทียบก็ไม่ได้สืบสาวความหมายที่แท้จริงของคำทั้งสองนั้นอย่างจริงจัง เมื่อพูดออกไปเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่ง ก็ยิ่งพาให้คนทั่วไปพลอยสับสนไปด้วย

พวกหลังที่พูดเทียบเคียงอย่างนั้น มักเป็นเพราะต้องการจะก้าวต่อไปอีก โดยมีเป้าหมายที่จะเอาเรื่องจริยธรรมสากลเข้ามา

ท่านพวกนี้ก็จะพูดต่อไปว่า ในโลกปัจจุบันที่ถึงกันทั่วนี้ ศีลธรรมหรือจริยธรรมของศาสนาทั้งหลายกำหนดวางไว้แตกต่างกัน บางทีก็ขัดแย้งกัน ควรหันไปใช้จริยธรรมที่เป็นของกลางๆ ที่ยอมรับกันทั่วทุกหนแห่งเป็น “จริยธรรมสากล”

ที่จริง คำว่า “จริยธรรมสากล” ก็เป็นคำพูดที่ไม่ลงตัว แม้แต่ตัวศัพท์ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน พอจะเอาความหมาย ก็ยิ่งไม่มีความชัดเจน

“จริยธรรมสากล” คืออย่างไร อยู่ที่ไหน จะแก้ปัญหาความแตกต่างได้จริงหรือไม่

เบื้องแรก ควรย้ำไว้ก่อนว่า “จริยธรรมสากล” ยังเป็นเพียงเรื่องที่บางคนบางกลุ่มพยายามคิดจะให้มีขึ้น มีการพูดถึงบ้างประปราย ยังไม่เป็นที่ยอมรับกว้างขวาง และยังไม่ลงตัวที่จะเป็นหลักให้ชัดขึ้นมาได้


ก) เรื่องสืบเนื่องมาจากว่า เมื่อชาวตะวันตกพ้นออกมาจากสมัยกลางของยุโรป (พ้นเมื่อ ค.ศ.1453/พ.ศ.๑๙๙๖) แล้ว ศาสนาคริสต์ก็ได้เสื่อมจากอำนาจที่เคยควบคุมรัฐและสังคม และต่อมาก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ที่ผู้คนนิยมวิทยาศาสตร์ และตื่นเต้นกับความเจริญในยุคอุตสาหกรรม สังคมมีแนวโน้มทั่วไปที่ผลจากศาสนา (คริสต์) และมองเห็นไปว่าหลักความประพฤติ (ศีลธรรม/จริยธรรม) ที่ศาสนาสอนไว้ว่า เป็นเทวโองการหรือเทพบัญชาลงมานั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีจริง แต่ที่แท้เป็นเรื่องที่มนุษย์นี่เองบัญญัติกันขึ้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนสมัยใหม่นั้นจึงโน้มไปในทางที่จะไม่เชื่อถือและไม่ใส่ใจในเรื่องศีลธรรม/จริยธรรม


ข) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ศีลธรรม/จริยธรมก็เป็นของจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ ซึ่งคนจะอยู่กันโดยไม่มีหลักที่จะควบคุมความประพฤติไม่ได้ ถึงจะมีกฎหมายบังคับ ก็ไม่เพียงพอ เมื่อศาสนาคริสต์เสื่อมอำนาจอ่อนกำลัง คนส่วนหนึ่งก็หันไปฟังนักปราชญ์ที่อธิบายเรื่องศีลธรรม/จริยธรรมอย่างที่พยายามให้เป็นเหตุเป็นผล คือพวกนักปราชญ์ด้านจริยศาสตร์ แต่นักปราชญ์ทั้งหลายโดยมากก็ยุ่งกับการแสดงหลักการหรือลัทธิของตนออกไปเป็นส่วนตัวบ้าง แก่กลุ่มพวกหรือลูกศิษย์ของตัวบ้าง มักจะอยู่แค่ถกเถียงแสดงเหตุผล แต่ไม่ได้พัฒนาวิธีการหรือมาตรการที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง และนักปราชญาเหล่านั้นก็เถียงกันเองไม่ลงกัน ดังนั้น นักปราชญาเหล่านั้นก็เพียงได้ช่วยให้ความคิดทางจริยธรรม มีการพัฒนาในเชิงเหตุผลมากขึ้น หรือบางคนมีอิทธิพลในวงการการศึกษา ก็อาจจะให้ผลในทางปฏิบัติชัดขึ้นบ้าง แต่คนทั่วไปก็ยังปฏิบัติไปตามหลักคำสอนที่เป็นเทวโองการของศาสนาอยู่นั่นเอง ทั้งที่ในแง่ความเชื่อถือและความสนใจก็จืดจางคลางแคลงหรือง่อนแง่นคลอนแคลน ในภาวะเช่นนี้ เรื่องศีลธรรม/จริยธรรมก็ค่อนข้างโหวงเหวงเคว้งคว้าง


แต่ข้อสำคัญก็คือ ถึงแม้นักปรัชญาเหล่านี้จะแยกตัวจากความเชื่อของศาสนา โดยมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล (บางคนพยายามทำให้ความเชื่อของศาสนากลายเป็นสิ่งที่มีเหตุผล) แต่เขาก็ยังมองความหมายของศีลธรรม/จริยธรรมในแง่เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติ และเป็นเรื่องแยกต่างหากนอกวงวิทยาศาสตร์ ทำให้เสียโอกาสและไม่สามารถหยั่งลึกลงไปในความจริงของธรรมชาติที่จะโยงประสานแดนทั้งสองให้เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ค) ในยุคสมัยใหม่นั้น ในโลกตะวันตก ศาสนาคริสต์ได้แตกออกเป็น ๒ นิกายแล้ว (เริ่มแยกเมื่อ ค.ศ. 1517/ พ.ศ.๒๐๖๐) โดยเฉพาะในนิกายที่แยกออกไป คือโปรเตสแตนต์ได้ค่อยๆ แตกนิกายย่อยๆออกไปมากมาย ต่อมาเมื่อชาวยุโรปต่างกลุ่มต่างชาติหนีภัยการข่มเหงบีฑาทางศาสนาและการเมืองไปอยู่ในอเมริกา คนชาติใหม่คืออเมริกันนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ถือนิกายโปรเตสแตนต์ แต่สังกัดนิกายย่อยๆ ที่แตกต่างกัน อันสอนหลักความเชื่อถือและหลักความประพฤติที่แปลความหมายไปคนละอย่างๆก็เกิดปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนว่าจะสอนหลักศีลธรรม/จริยธรรมแบบนิกายย่อยใด ทำให้มีความขัดแย้งแตกแยกกันอย่างรุนแรงและยึดเยื้อ แก้ปัญหาไม่ตกตลอดเวลาเป็นร้อยปี *

ตอนนี้แหละ ในอเมริกานี่เองเป็นจุดตั้งต้น ก็เริ่มเกิดแนวคิดที่มาเรียกกันว่า “จริยธรรมสากล” คือมีผู้เลือกและรวบรวมหลักความประพฤติ อันเป็นหลักศีลธรรมสามัญที่ไม่ขัดต่อหลักของนิกายใด ดังที่สถาบันธรรมจริยาศึกษา (Character Education Institute ตั้งเมื่อ ค.ศ.1911/พ.ศ.๒๔๕๔) ได้เป็นแกนนำจัดทำ “ประมวลหลักศีลธรรม” (morality codes) ขึ้นมา แล้วโรงเรียนทั้งหลายก็รับไปใช้ ถือว่าเป็นสากลหรือเป็นกลางๆที่ร่วมกันได้


จากนั้น ความก้าวหน้าในแนวทางนี้ก็ดำเนินต่อมา จนมีบุคคลสำคัญที่ได้คิดหาทางยุติปัญหาความแบ่งแยกระหว่าง (นิกาย) ศาสนา โดยมิใช่เพียงรวบรวมกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติทางศีลธรรมมาประมวลกันไว้เท่านั้น แต่วางหลักที่ลงลึกได้เนื้อหาสาระเป็นหลการทางปรัชญาด้วย ได้แก่ จอห์น ดิวอี (John Dewey 1859-1952) ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า The (American) civil Religion คือ ศาสนาประชาราษฎร์ (ของอเมริกัน) แต่ทำไปทำมา ที่ว่าเป็นสากล ก็คือสากลของอเมริกา (เท่านั้น)


ความคิดในเรื่องจริยธรรมสากลในอเมริกา เดินหน้าต่อมา บุคคลที่เด่น คือ นักจิตวิทยาการศึกษาที่ชื่อ ลอเรนซ์ โกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg 1927-1987) ซึ่งได้เสนอทฤษฎีพัฒนาการทางศีลธรรม (moral development) ที่ถือว่า การพิจารณาวินิจฉัยในทางจริยธรรม โดยถือความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล (universal ethical principle) เป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นสูงสุด ความคิดของทางผู้นี้ได้ทำให้จริยธรรมสากลปรากฏตัวมีฐานะสำคัญขึ้นมาอีก


อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนำทฤษฎีเข้าสู้ปฏิบัติการ ซึ่งโกลเบอร์ก จัดลำดับพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น ๓ ระดับ (ระดับก่อนบัญญัติ-ระดับบัญญัติ-ระดับเหนือบัญญัติ) และซอยแต่ละระดับเป็น ๒ ขั้น รวมทั้งหมดเป็นพัฒนาการ ๖ ขั้น ก็น่าเสียดายว่า พอเอาเข้าจริง โกลเบอร์กได้ตัดขั้นที่ ๖ (ขั้นถือจริยธรรมสากลเป็นเกณฑ์วินิจฉัย) ออกจากการใช้วัด โดยยอมรับว่าเป็นขั้นที่เขาคิดสร้างขึ้นจากสถานการณ์สมมติ เป็นขั้นที่น้อยคนเหลือเกินจะก้าวไปถึง และเขาไม่พบตัวอย่างในกลุ่มคนที่ใช้ทดลอง พูดง่ายๆ ก็คือเขาไปยังไม่ถึงจริยธรรมสากล

จริยธรรมสากลในความคิดของโกลเบอร์กนี้ นับว่าเป็นความก้าวหน้าในโลกตะวันตก ที่จะทำให้จริยธรรม (มีเค้าของการ) เชื่อมโยงจากบัญญัติเข้ามาต่อกับสภาวะ แม้ว่าความคิดของเขายังดูจะไม่ชัดเจน และเขาต้องตัดมันออกไปจากการใช้งานจริง


แม้ว่าโกลเบอร์กจะล่วงลับไปแล้ว แต่ความคิดก็ยังเป็นที่ยอมรับนับถือมาก ดังที่เกณฑ์วัดอันไม่ครบ ๖ แต่ตัดเหลือ ๕ ขั้น ที่ท่านให้ไว้นี้ ยังมี การใช้อยู่ในวงการจิตวิทยาการศึกษาในเมืองไทย


ง) อย่างที่เล่าแล้วว่า ความคิดของโกลเบอร์กทำท่าจะโยงจากบัญญัติเข้าหาสภาวะ แต่ก็มาเลือนรางขาดตอนเสีย ไม่ผ่านทะลุตลอดโล่งไป หลังจากโกลเบอร์กแล้ว นักแสวงหาจริยธรรมสากลก็มี แต่กลับไปวนเวียนอยู่กับวิธีคัดเลือกรวบรวมหลักความประพฤติที่เข้ากันได้ ที่ต่างพวกต่างลัทธิยอมรับ เอามาประมวลไว้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าได้แต่เพียงเรื่องพื้นๆ ลงลึกไม่ได้ เสี่ยงต่อการที่จะเป็นจริยธรรมแบบ syncretic ที่คลุกเคล้า หรือไม่ก็จับฉ่ายไปเลย


จ) ยังมีแง่มุมปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ที่น่าสังเกต หรือพึงระวัง ซึ่งจะทำให้จริยธรรมที่เรียกว่าสากลนั้น ไม่เป็นสากลจริง หรือไม่ได้ผลจริง เช่นว่า เท่าที่พูดๆกันมา จริยธรรมสากล ก็เป็นแค่จริยธรรมของฝรั่ง เหมือนคำว่า เสื้อผ้าชุดสากล ก็คือเสื้อผ้าแบบฝรั่งของชาวตะวันตก อย่างนี้ก็ไม่ใช่สากลจริง สากลจริง ก็ต้องทั่วทั้งโลก


ทีนี้ นอกจากจริยธรรมเทวบัญชาของศาสนาตะวันตก ที่ฝรั่งสมัยใหม่ผลออกมาแล้ว จริยธรรมตามทฤษฎีและทัศนะของนักปราชญ์นักปราชญาของฝรั่งก็แตกต่างกันมากมาย ยากนักที่จะหาหลักกลางที่ยอมรับร่วมกันได้จริง


ยิ่งกว่านั้น นักแสวงหาคัดจัดประมวลจริยธรรมสากลเองนี่แหละ ตัดเองก็ไม่ใช่เป็นปราชญ์ใหญ่ต้นความคิดทางจริยธรรม ได้แต่มาคัดเลือกหลักของพวกนักปราชญ์บ้าง ของวัฒนาธรรมประเพณี เป็นต้น นอกจากการเลือกสรรนั้นจะขึ้นต่อสติปัญญาสามัตถิยะของเขาแล้ว พวกที่เป็นนักเลือกสรรนั้น ต่างบุคคลต่างกลุ่มต่างคณะก็มีความคิดตัดสินใจเลือกแตกต่างกันอีก กลายเป็นจริยธรรมสากลของกลุ่มนั้นคณะนี้ บางทีก็ขัดแย้งกัน จะทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น


แล้วปัญหาซ้อนก็คือ จริยธรรมสากลชุดที่มีการเลือกสรรตกลงในหมู่พวกตนแล้วนำเสนอขึ้นมา ไปๆมาๆ กลายเป็นศาสนาหรือลัทธิใหม่ขึ้นอีกรายการหนึ่งต่างหาก ซึ่งมีไว้เพื่อรอเวลาที่จะวิวาทขัดแย้งกับรายการอื่นๆต่อไป (เหมือนในอดีตมากครั้ง ที่ขบวนการเพื่อปรองดองรวมศาสนา ได้กลายเป็นศาสนาใหม่ขึ้นมา เพื่อจำนวนศาสนาที่จะขัดแย้งกันในโลกนี้)


ฉ) ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งทางจริยธรรมที่ผุดเด่นขึ้นมาในยุคเทคโนโลยีก้าวไวและก้าวไกลนี้ คือ การตัดสินใจในเรื่องยุ่งยากใจที่เกิดศัพท์ใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่าชีวจริยธรรม (bioethics) เช่น การทำโคลนนิ่ง การปฏิบัติต่อเด็กผิดปกติในครรภ์ การจัดการกับ stem cells ตลอกจนเรื่องจำพวกสิทธิที่จะตาย การุณยฆาต การทำแท้ง เป็นต้น อันเป็นปัญหาเก่าที่ยังใหม่อยู่เสมอ พอเจอปัญหาเหล่านี้ จริยธรรมสากลที่เป็นชุมนุมหลักจริยธรรมพื้นๆ ก็ยากจะมีอะไรมาเพิ่มพูนภูมิปัญญา จึงมักได้แค่เข้ามาร่วมวงของการว่ายวนอยู่กับปัญหา อย่างในเมืองฝรั่งเวลานี้ ความคิดความเข้าใจก็ขัดแย้งแตกต่างกันไป แค่ออกกฎหมาย ต่างรัฐก็ออกกฎหมายกำหนดในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน


ว่าโดยรวม ในที่สุด ไม่ว่าจริยธรรมสากลจะไปถึงไหน ก็คือจริยธรรมนั่นเอง ดังนั้น จุดอ่อนที่แท้ของมันจึงอยู่ที่ปัญหาซึ่งอยู่ในตัวของจริยธรรมเอง ถ้าจริยธรรมยังพร่องพร่ามัวอยู่ จริยธรรมสากลก็ไม่อาจพ้นปัญหาไปได้


จากที่ได้พูดไปแล้ว ควรจับมาย้ำไว้เป็นจุดสังเกตสำคัญว่า

๑.ชาวตะวันตกเจ้าของศัพท์ ethic ที่เราเอามาแปลเป็นไทยว่า “จริยธรรม” นั้น ตามปกติ เขามองความหมายของคำนี้เพียงแค่เป็นหลักหรือกฎเกณฑ์ทางความประพฤติที่แสดงออกภายนอก เฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคม (ต่างจากที่พูดแล้วว่า “จริยะ” คำเดิม หมายถึงการที่จะต้องทำต้องประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่เป็นเหมือนเสียงเรียกร้องจากกฎธรรมชาติ


๒. ชาวตะวันตก แม้แต่ที่เรียกว่าเป็นนักปราชญ์สำคัญๆ โดยทั่วไป มักใช้คำว่า “จริยธรรม” คือ ethic โดยหมายถึงบัญญัติธรรมหรือไม่ก็ใช้อย่างคลุมๆ เอาบัญญัติธรรมเป็นหลักและเห็นจริยธรรมเป็นเงาๆ * (เช่น ในเกณฑ์วัดพัฒนาการทางจริยธรรม ๕-๖ ขั้น ของโกลเบอร์ก จะเห็นได้ชัดว่าจริยธรรมของเขาในระดับต้น เป็นเรื่องของบัญญัติธรรมทั้งนั้น)


๓. เนื่องกันกับสองข้อต้นนั้นก็คือ เมื่อ “จริยธรรม” ที่เป็นคำใหม่นี้ เขาหมายถึงเพียงหลักการกฎเกณฑ์ความประพฤติภายนอก ที่เป็นบัญญัติธรรม ก็ชัดอยู่แล้วว่าจริยธรรมตามความหมายของเขานั้น ไม่เกี่ยวกับความจริงตามสภาวะ ไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงไปถึงกฎธรรมชาติ


เมื่อจริยธรรมมีความหมายแค่นี้ ความเป็นจริยธรรมสากลของเขาจึงอยู่ที่ว่ามันเป็นของกลางๆ ที่เข้าได้กับทุกพวกทุกฝ่าย หรือที่ทุกพวกทุกฝ่ายยอมรับได้ ต่างจากจริยธรรมสากลในความหมายที่ว่า เมื่อเป็นความจริง ก็เป็นสากลในตัวของมันเอง เพราะไม่ว่าใครจะยอมรักหรือไม่ มันก็มีผลต่อทุกคนทุกพวกทุกฝ่าย ไม่ต้องรอใครมาเห็นด้วย


ถ้าเป็น “จริยะ” ตามความหมายในระบบของธรรม ๓ ที่ว่าข้างต้น ก็ไม่ต้องแยกว่าเป็น จริยธรรมสากล หรือไม่สากล เพราะความเป็นสากลอยู่ที่ความเป็นจริง มิใช่อยู่แค่ที่ความเป็นกลาง


ความจริงนั่นแหละ ทั้งเป็นสากล คือทั่วกันหมดทั้งสิ้น และเป็นกลาง คือไม่เข้าใครออกใคร เมื่อเป็นจริยะ ตามหลักการที่ว่ามา ถึงจะไม่บอกว่าเป็นสากล ก็เป็นสากลอยู่ในตัวเอง เพราะมีความจริงที่ทำให้มีความเป็นสากลอยู่แล้วในตัว

……..

ที่อ้างอิง * ตามลำดับ

* แม้ในปัจจุบัน อเมริกาก็แก้ปัญหานี้ไม่จบสิ้น ดังเช่นเมื่อผู้เรียบเรียงไปอเมริกาในระยะ พ.ศ.๒๕๒๔ คุณแม่ของเด็กนักเรียนประถม ที่เมืองเล็กๆในรัฐ Massachusetts เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของลูกว่า ตอนเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) คุณครูเล่าและอธิบายเรื่องอีสเตอร์ให้เด็กๆฟัง แต่คำอธิบายของคุณครูเป็นไปตามความเชื่อของนิกายย่อยที่คุณครูนั้นนับถือ เมื่อเด็กกลับบ้านเล่าให้คุณแม่ฟัง ปรากฏว่าคำคุณครูขัดกับความเชื่อแห่งนิกายของครอบครัวนั้น คุณแม่โกรธมาก จะประท้วงเอาเรื่องกับทางโรงเรียน

* คงต้องถือว่าความสับสนนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของเราเอง ที่แปล ethic นั้นว่า จริยธรรม แทนที่จะแปลด้วยถ้อยคำที่เป็นบัญญัติธรรม ... เทียบกับ ethics ที่ในความหมายหนึ่ง เราแปลว่า จรรยาบรรณ ซึ่งเป็นบัญญัติธรรมอย่างชัดเจน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2018, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรมกันไม่ชัดระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร



นิติ (นิติ, นิด) น. นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนำ, อุบายอันดี (ป.นีติ)

นิติบัญญัติ (กฎ) น. การตรากฎหมาย


บริหาร (บอริหาน) ก. ออกกำลังกาย เช่น บริหารร่างกาย; ปกครอง เช่น บริหารส่วนท้องถิ่น; ดำเนินการ, จัดการ, เช่น บริหารธุรกิจ; กล่าวแก้ น. ดำรัสสั่ง เช่น ราชบริหาร, คำแถลงไข เช่น พระพุทธบริหาร (ป. ส. ปริหาร)

ตุลา (แบบ) น. คันชั่ง, ตราชู; ชื่อมาตราวัดน้ำหนักมคธ

ตุลาการ น. ผู้ตัดสินอรรถคดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2018, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สี่ความหมายของ "ตุลาการ" ส่องถึงงานสำคัญของผู้พิพากษา

ในแง่ความหมายของถ้อยคำ ที่โยงไปถึงธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ในที่นี้ ขอกล่าวไว้ ๔ ความหมาย

๑. "ตุลา" แปลว่า เที่ยงตรง คงที่ เท่ากัน สม่ำเสมอ

ความหมายนี้มีในพระไตรปิฎก ท่านใช้อธิบายการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระโพธิสัตว์ถืออุเบกขา ดำรงอยู่ในธรรม โดยมีความสม่ำเสมอ คงที่ เป็นอย่างเดียวกัน ไม่เอนเอียงไหวโอนขึ้นๆลงๆ ไปกับความชอบใจหรือขัดใจ ใครจะนอบนบเคารพไหว้หรือใครจะด่าจะหยามเหยียด ใครจะบำเรอสุข หรือใครจะก่อทุกข์ให้ เหมือนดังผืนแผ่นดิน ซึ่งไม่ว่าใครจะใส่ฝังของดีมีค่าของสะอาดหรือใครจะเทราดสาดของสกปรกลงไป ก็คงที่สม่ำเสมอทั้งหมด (เช่น ขุ.พุทฺธ. ๓๓/๑๘๒/๔๓๒...) ทั้งเป็นกลาง และเป็นเกณฑ์ คือ ไม่เอนเอียง ไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่เข้าใคร ออกใคร และถือธรรมดำรงธรรมมีธรรมเป็นมาตรฐานที่จะยึดเป็นแบบหรือใช้ตัดสิน ความหมายนี้ จะเห็นว่าตรงกับเรื่องอุเบกขา

๒. "ตุลา" แปลว่า ตาชั่ง ตราชู คันชั่ง

ในแง่นี้ งานของผู้พิพากษา คือ การเป็นเครื่องวัด เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐานที่ตัดสินความถูกต้อง หรือเป็นเหมือนผู้ถือ ผู้ยก ผู้ชูคันชั่ง (ภาษาบาลีใช้คำว่า "ตุลาธาร" คือผู้ทรงไว้ซึ่งตุลา) ซึ่งทำหน้าที่ชั่งวัด เบื้องแรกย่อมรู้ความยิ่งหรือหย่อน ขาดหรือเกิน ถูกหรือผิด แล้วก็จะต้องประคองธำรงรักษาให้ตราชั่งเสมอกัน เท่ากัน ให้คันชั่งเที่ยง ตรงแน่ว เสมอกันเป็นนิตย์

๓. "ตุลา" แปลว่า ตราชู

นี้ ในพระไตรปิฎกบางแห่ง หมายถึง บุคคลที่เป็นตัวแบบ เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐาน (ในข้อก่อน หมายถึงงาน ข้อนี้หมายถึงบุคคล) เช่น พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระสาวกในพุทธบริษัททั้ง ๔ (เช่น องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๗๖/๒๒๒) เริ่มด้วยบรรดาภิกษุสาวก ว่ามีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นตุลา ส่วนในหมู่ภิกษุณีสาวิกา ก็มี พระเขมา และพระอุบลวรรณา เป็นตุลา แล้วในหมู่อุบาสกสาวก ก็มีตุลา ๒ คน (จิตตะคฤหบดี และหัตถกาฬวกะ) เช่นเดียวกับในหมู่อุบาสิกาสาวิกา ก็มีอุบาสิกา ๒ คน เป็นตุลา (นางขุขชุตตรา และเวฬุกัณฎกีนันทมารดา)

ผู้พิพากษา ในฐานะตุลาการ เป็นตุลา คือ เป็นตราชู เป็นตัวแบบ เป็นมาตรฐานซึ่งตั้งไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ที่คนทั้งหลายจะพึงพัฒนาตนหรือ ประพฤติปฏิบัติตัวให้เสมอเสมือน คือมีธรรมเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น จะเรียกว่าเป็นยอดสุดของสังคมก็ได้

๔. "ตุลา" นั่นแล ได้มาเป็น "ตุลาการ"

ซึ่งแยกศัพท์ได้ ๒ อย่าง คือ เป็น ตุลา+อาการ หรือ ตุลา+การ

อย่างแรก ตุลา+อาการ แปลว่า ผู้มีอาการดังตุลา หมายความว่า มีความประพฤติ มีการปฏิบัติตัว หรือดำเนินงานทำกิจการเหมือนเป็นตุลา ในความหมายอย่างที่กล่าวแล้ว คือ เหมือนเป็นตราชู ตาชั่ง ที่รักษา ตัดสิน และบอกแจ้งความถูกต้องเที่ยงตรง

อย่างที่สอง ตุลา+ การ แปลว่า ผู้ทำตุลา (ผู้ทำดุล) หรือผู้สร้างตุลา (ผู้สร้างดุล) หมายความว่า เป็นผู้ทำให้เกิดความเท่ากัน เสมอกัน ความลงตัว ความพอดี ความสมดุล หรือดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้มุ่งไปที่ความยุติธรรม


อย่างไรก็ดี ตุลา หรือ ดุล นี้ มีความหมายกว้างออกไปอีก คือ ธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความถูกต้องชอบธรรม หรืออะไรในทำนองนี้ก็ตาม เมื่อยังดำรงอยู่ ยังเป็นไปอยู่ในชีวิต และสังคม ก็จะทำให้มีดุล คือทำให้ชีวิตและสังคมอยู่ในภาวะที่มีความประสานสอดคล้อง ลงตัว พอดี มีดุลยภาพ ซึ่งหมายถึงความมั่นคงมีสันติสุข ผู้พิพากษาเป็นตุลาการ คือเป็นผู้สร้างดุลนี้ให้แก่สังคม

ตุลา ดุล หรือ ดุลยภาพ นี้ สำคัญอย่างไร เห็นได้ไม่ยากว่า ดุลยภาพนี้แหละ ทำให้มีความมั่นคง และทำให้ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน เช่น เราสร้างอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหนึ่งขึ้นมา ถ้าส่วนประกอบทั้งหลายประสานสอดคล้อง เข้ากัน ลงตัว พอดี ที่เรียกว่าได้ดุล ก็จะเป็นหลักประกันในขั้นพื้นฐานว่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้น จะมั่นคงดำรงอยู่ได้ดี

แต่ถ้าเสียดุล เช่น แม้จะมีเสาที่แข็งแรงมาก แต่เสานั้นเอนเอียง แค่นี้ อาคารเป็นต้นนั้น ก็อาจจะพังลงได้ง่ายๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2018, 16:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมทำให้ทุกอย่างเข้าที่ ลงตัว ได้ดุล หรือมีดุลยภาพ ในเมื่อธรรมนั้นกว้างขวางซับซ้อนนัก แต่ธรรมนั้นก็อยู่ในระบบสัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด หลักธรรมต่างๆ ที่ท่านจัดไว้ ก็เป็นระบบย่อยที่โยงต่อไปทั่วถึงกันในระบบรวมใหญ่ เมื่อพูดถึงหลักธรรมสักชุดหนึ่ง ก็จึงโยงถึงกันกับธรรมอื่นได้ทั่วทั้งหมด และในที่นี้ ก็ได้ยกหลักธรรมสำคัญชุดหนึ่งมาเน้นย้ำไว้แล้ว คือ หลักพรหมวิหาร ๔

หลักพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นระบบแห่งดุลยภาพครบบริบูรณ์อยู่ในตัว เราจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมสังคมให้ถูกต้องอย่างได้ดุลตามระบบนั้น ดังที่ได้อธิบายแล้วว่า
ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติ เราเมตตา
ยามเขาทุกข์ เรากรุณา
ยามเขาสุขสำเร็จ เรามุทิตา
ยามเขาจะต้องรับผิดชอบตามธรรม เราอุเบกขา

การปฏิบัติทางสังคมอย่างถูกต้องครบตามสถานการณ์เหล่า นี้ เป็นการรักษาดุลยภาพอยู่ในตัวแล้ว แต่หลักพรหมวิหาร ๔ นี้ ยังเป็นระบบพิเศษที่สร้างดุลยภาพกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่งด้วย คือข้อที่ ๔ นอกจากเป็นตัวดุลให้อีกสามข้ออยู่ในภาวะพอดี เป็นระบบดุลยภาพในชุดของมันเองแล้ว มันยังเป็นภาวะได้ดุลหรือภาวะมีดุลยภาพของจิตใจ อันเป็นฐานที่จะสร้างดุลยภาพชีวิต และดุลยภาพของสังคมทั่วทั้งหมดด้วย

เมื่อพูดให้จำเพาะ จับที่หลักพรหมวิหาร ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาโดยตรง ก็อาจจะให้ความหมายของ "ตุลาการ" ได้อย่างสั้นๆว่า คือ ผู้สร้างดุลให้แก่สังคมด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ

เมื่อผู้พิพากษา ปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการเต็มตามความหมายทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมา ก็ย่อมรักษาธรรม และดำรงสังคมไว้ได้
แต่มิใช่เฉพาะผู้พิพากษาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ในการรักษาความดีงามให้แก่สังคม รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม และรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ในธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามธรรมนี้ โดยมีผู้พิพากษา คือตุลาการ เป็นตราชู เป็นแบบอย่างให้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2018, 18:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พรหมวิหาร 3 ข้อแรกนั้น ยังหนักทางด้านความรู้สึก แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่เป็นหลักประกันว่ามีปัญญาหรือไม่ และในที่สุด ความรู้สึกนั้นๆ ถูกต้องดีจริงหรือไม่ จะต้องรู้โดยมีปัญญาที่จะบอกให้ตัดสินได้


เขาอยู่เป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตรมีเมตตาปรารถนาดี นี่ก็เป็นความรู้สึกที่ดี (เมตตา) เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ นี่ก็เป็นความรู้สึกทีดี (กรุณา) แล้วเขาได้ดีมีสุข เราก็มุทิตาพลอยรู้สึกยินดีด้วย ก็เป็นความรู้สึกทีดีทั้งนั้น (มุทิตา)


แต่ไม่ใช่แค่นั้น จะต้องมีปัญญารู้ความจริงด้วยว่า มันเป็นความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ในกรณี นั้นๆ ที่จะไปช่วยคนที่ว่าเดือดร้อน หรือจะไปยินดีส่งเสริมคนที่ว่ามีสุขสำเร็จ บางครั้งจะต้องรู้ลึกซึ้งลงไปอีกว่า ความจริงมันเป็นอย่างไรในเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราจะอยู่แค่กับความรู้สึกไม่ได้ จะต้องมีความรู้เข้าใจความจริง คือ มีปัญญากำกับด้วย

ตอนนี้แหละที่ว่า ต้องมีปัญญารู้ว่าการที่จะทำจะปฏิบัติการอะไรด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ใน กรณีนั้นๆ มีความจริงเป็นอย่างไร เป็นการถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เมื่อรู้ ความจริงแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติจัดดำเนินการไปโดยให้เป็นไปตามความถูก ต้อง เพื่อรักษาธรรม เพื่อประโยชน์แก่สังคม และเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่ ชีวิตของเขาเองในระยะยาว


อุเบกขา ซึ่งสำคัญมาก ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา เป็นจุดประสานเข้าสู่ดุลยภาพ ระหว่างความรู้ กับ ความรู้สึก หรือ เอาความรู้ มาปรับดุลความรู้สึกให้ลงตัว พอดี

เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นความรู้สึกที่ดี แต่ถึงจะเป็นความรู้สึกที่ดี ก็เลยเถิดได้

ส่วนอุเบกขา แม้จะเป็นความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา คือมีปัญญามาให้ความรู้ แล้วความรู้ก็มาปรับความรู้สึกให้เข้า ดุล ก็เป็นอุเบกขาขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะลงตัว พอดี เข้าที่ เรียบ สงบ เป็นกลาง

อาการที่วางตัวเป็นกลาง หรือมีความเป็นกลางนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการหยุด ไม่ขวนขวายตามกรุณา หรือมุทิตา ไม่ไปช่วยขัดขวางตำรวจที่จับมา ไม่ แสดงความยินดีชื่นชมที่เขาลักขโมยมาได้สำเร็จ


การไม่ขวนขวายนี้ บางทีก็เรียกให้สั้นว่า เฉย หรือ วางเฉย แต่ไม่ใช่เฉยเฉยๆ หรือเฉยเมย แต่เฉยเพราะจะรักษาธรรม คือ เปิด โอกาสแก่ธรรม ที่จะว่ากันไปหรือจัดการกันไปตามธรรม ตามระเบียบแบบ แผน กติกา กฎหมาย ฯลฯ นี่แหละคือข้ออุเบกขา

ต้องระวัง ที่คนไทยเราแปล อุเบกขา ว่า “เฉย” บอกแล้วว่า เฉย ในที่นี้ คือ ไม่ขวนขวายตาม 3 อย่างแรก ในกรณีที่จะเสียธรรม หรือจะทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง คือ ไม่ขวนขวาย เพราะถ้าขวนขวายไปแล้ว จะไม่ถูกต้อง ก็จึงหยุดขวนขวาย


แต่คนไทย แปลว่า “ เฉย” นั้น มัก ว่ากันไปโดยไม่ค่อยรู้เข้าใจ หรือไม่ค่อยอธิบายกันให้ชัด ทำให้เข้าใจผิด เพี้ยน กลายเป็นเฉยเมย เฉยเมิน เฉยมึนงง เฉยเฉื่อยแฉะ จนถึงเฉยโง่ ก็ เลยเสียหาย

ตัวคำว่า “อุเบกขา” เอง ในภาษาพระท่านก็ให้ระวังอยู่แล้ว ท่านจำแนกแยกอุเบกขาไว้ถึง 10 อย่าง ว่าอย่างรวบรัด ก็แบ่งเป็นฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย พูดกันง่ายๆ ก็ถามว่า อุเบกขา ที่ว่า เฉย นั้น เฉยเพราะอะไร ? ง่ายที่สุด คือ เพราะรู้ กับ เพราะไม่รู้

คนไม่รู้ก็เฉย เพราะแกไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ก็เลยเฉย เรียกว่า เฉยไม่ รู้เรื่อง แล้วก็ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง เฉยอย่างนี้ พระท่านเรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ เป็นอกุศล เป็นบาป


ส่วนอีกเฉยหนึ่ง เป็นความเฉยด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจ พอ รู้แล้วก็วางตัวได้พอดี หรือลงตัวเข้าที่ เพราะมองเห็นแล้วว่า เราจะปฏิบัติการอะไร อย่างไร เมื่อไร จึงจะไปสู่จุดหมายแห่งความลุรอด ปลอดภัย ให้เกิดความถูกต้อง ความดีงาม ฯลฯ ตอนนี้ ก็เลยอยู่ในลักษณะเฉย หรือวางตัวเรียบสงบไว้ หรือเป็นกลางไว้

บางทีการเฉยก็เป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเกิดสถานการณ์ร้ายขึ้นมา คนไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็เฉย คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ก็โวยวายโว๊กว้ากไป

แต่คนที่รู้เข้าใจสถานการณ์ชัดเจน และมองออกว่า เมื่ออะไรเกิดขึ้น เราจะ ดำเนินการอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เขาอาจจะเตรียมการพร้อมอยู่ในใจ ว่าถึงขั้นตอนนั้นๆ จะทำอย่างนั้นๆ คนนี้ก็ดูเฉยเหมือนกัน

ความเฉยด้วยปัญญานี้ เป็นอุเบกขา ในความหมาย ของพรหมวิหารข้อที่ 4 คือ เฉยด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง และ จะรักษาธรรม ความถูกต้อง ในเมื่อการทำตามสามข้อแรกในกรณีนั้นๆ ปัญญา บอกว่าผิด เป็นความไม่ถูกต้อง เสียความเป็นธรรม เมื่อปัญญาบอกอย่าง นั้น เราก็หยุด ก็เลยทำให้เราเฉยด้วยอุเบกขานี้ ก็จึงบอกว่าอุเบกขา ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา

ในพระไตรปิฎก ตอนที่บรรยายอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็อธิบายด้วยคำว่า “ตุลา” คือบอกว่า พระโพธิสัตว์นั้น ไม่ว่าจะประสบอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) หรืออนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) เขาจะทำร้าย หรือจะเอาใจ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง อยู่ในธรรม เที่ยงตรง คงที่ สม่ำเสมอ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2018, 19:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุเบกขา 1. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุและรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง 2. ความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2018, 07:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน อะไรต่ออะไรคลุมเครือไปหมด รู้ก็รู้กันอย่างพร่าๆ มัวๆ แล้วก็เลยเว้าๆ แหว่งๆ ผิดๆ พลาดๆ เพี้ยนๆ จึงทำให้ปัญญาอ่อนแอหรือเกิดความอ่อนแอทางปัญญา เป็นอันตราย เป็นตัวกีดกั้นขัดขวางความความเจริญก้าวหน้า

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เป็นตัวอย่างสำคัญของความไม่ชัดเจนในสังคมไทย มันเป็นคุณธรรม เป็นจริยะพื้นฐานของสังคมมนุษย์ แต่เราเข้าใจกันผิดเพี้ยนมาก จะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้ได้

พูดได้เลยว่า ถ้าเอาพรหมวิหารเข้ามาอยู่ในหลักที่แท้ไม่ได้ สังคมจะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ สังคมจะดีแน่นอน มีแค่ ๔ ตัวนี้ สังคมก็ได้หลักประกันแล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 05:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ร.10 มีพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษา ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

https://prachatai.com/journal/2018/03/7 ... um=twitter


รูปภาพ


ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิตและสัมคมมนุษย์ ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง แต่ผู้พิพากษา เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เพราะถือว่าผู้พิพากษา เป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

ในการที่จะรักษาสังคมไว้นั้น ท่านผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในขั้นปฏิบัติการเลยทีเดียวว่า เราจะต้องรักษาสังคมให้อยู่ดี มีความสุขความเจริญโดยเฉพาะมีความมั่นคงอยู่ได้ ด้วยความเป็นธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจที่มีพรหมวิหาร ๔ ประการ อันมีอุเบกขาลงไปอยู่ในธรรม ที่ปัญญาบอกให้แล้ว ก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตา ซึ่งเป็นที่แสดงออกของอุเบกขา แล้วก็มั่นใจแน่ว่าแนบสนิทอยู่กับธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 10:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยุติ 1. (ยุดติ) ก. ชอบ, ถูกต้อง. (ป.ยุตฺติ ส. ยุกฺติ)

ยุติธรรม น. ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล

ยุติ 2. (ยุดติ) ว. ตกลง, จบ, เลิก


ยถากรรม “ตามกรรม” ตามปกติใช้ในข้อความที่กล่าวถึงคติหลังสิ้นชีวิต เมื่อเล่าเรื่องอย่างรวบรัด ทำนองเป็นสำนวนแบบในการสอนให้คำนึงถึงการทำกรรม

ส่วนมากใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา เช่นว่า “กุลบุตรนั้น เมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว ก็ทำให้ตำแหน่งเศรษฐีในเมืองนั้น ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรม” (คือไปเกิดตามกรรมดีและชั่วที่ตัวได้ทำไว้)

“พระราชาตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญทั้งหลายแล้วไปตามยถากรรม” (คือไปเกิดตามกรรมดีที่ได้ทำ)
ข้อความว่า “ไปตามตามยถากรรม” นี้ เฉพาะในอรรถกถาชาดกอย่างเดียวก็มีเกือบร้อยแห่ง, ในพระไตรปิฎก คำนี้แทบไม่ปรากฏที่ใช้ แต่ก็พบบ้างสัก ๒ แห่ง คือ ในรัฐปาลสูตร (ม.ม.13/449/409) และเฉพาะอย่างยิ่งในอัยยิกาสูตร (สํ.ส.15/401/142) ที่ว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า พระอัยยิกาซึ่งเป็นที่รักมากของพระองค์ มีพระชนม์ได้ ๑๒๐ พรรษา ได้ทิวงคตเสียแล้ว ถ้าสามารถเอาสิ่งที่ค่าสูงใดๆแลกเอาพระชนม์คืนมาได้ ก็จะทรงทำ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับความจริงของชีวิต และทรงสรุปว่า “สรรพสัตว์จักม้วยมรณ์ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ทุกคนจักไปตามกรรม (ยถากรรม) เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คนมีกรรมชั่วไปนรก คนมีกรรมดีไปสุคติ เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมดี...”

มีบ้างน้อยแห่งที่ใช้ยถากรรม ในความหมายอื่น เช่น ในข้อความว่า “ได้เงินค่าจ้างทุกวันตามยถากรรม” (คือ ตามงานที่ตนทำ)

ในภาษาไทย ยถากรรม ได้มีความหมายเพี้ยนไปมาก กลายเป็นว่า “แล้วแต่จะเป็นไป, เรื่อยเปื่อย, เลื่อนลอยไร้จุดหมาย, ตามลมตามแล้ง” ซึ่งตรงข้ามกับความหมายที่แท้จริง

(นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ชาวพุทธบ้านเราเอาศัพท์ (คำพูด) ของเขามาพูดมาใช้แล้ว เข้าใจความหมายของเขาผิดพลาดคลาดเคลื่อน, กรรม อีกตัวหนึ่ง)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทของกรรม

กรรมนั้น เมื่อจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ

๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ

๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี หรือกรรมดี หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ


แต่ถ้าจำแนกตามทวาร คือทางที่ทำกรรม หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น ๓ คือ

๑. กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย

๒. วจีกรรม กรรมทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา

๓. มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ

เมื่อจำแนกให้ครบตามหลักสองข้อที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีกรรมรวมทั้งหมด ๖ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็นอกุศล กับ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่ละอย่าง ที่เป็นกุศล (องฺ.ติก.20/445/131 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 20:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การกระทำทางกาย ทางวาจา เป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม ผลของมันไม่หายไปไหน ทำแล้วมันจะไปตกตะกอนรวมกันอยู่ที่จิตใจ ที่เป็นนามธรรม ซึ่งถมอะไรๆลงไปไม่รู้จักเต็ม เหมือนกับมหาสมุทรไม่เต็มด้วยน้ำฉะนั้น ตัวอย่าง ที่เขาฆ่าสัตว์มาตั้งแต่เป็นเด็ก

อ้างคำพูด:
เวลาผมนั่งสมาธิ พอภาวนาไปซักพัก เริ่มตัดภาวนาไปแล้วทีนี้ก็จะเกิดอาการขนลุกเย็นทั้งตัว แล้วหลังจากนั้นก็จะมีภาพ คน สัตว์ แมลง ที่เราเคยทำร้ายเคยทำให้เค้าตาย หรือเจ็บลอยมาให้เห็น คือ แปลกใจว่า
บางเรื่องเป็นเรื่องที่นานมาก บางเรื่องเป็นเรื่องสมัยเด็กๆอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งบางทีนึกถึงยังนึกไม่ออกเลย เพราะนานมาก แต่พอมานั่งสมาธิ ก็ลอยมาให้เห็นเฉยเลย


ด้านที่เป็นกุศลก็ทำนองเดียวกัน แต่มีข้อสังเกตด้านที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ค่อยชัดเหมือนอกุศล เพราะว่า จิตที่คิดจะทำแรงขับต่ำกว่าจิตที่คิดทำบาป อกุศล เช่น เราจะยิงนก เล็งแล้วเล็งอีก ตั้งใจแล้วตั้งใจอีก มั่นใจว่าถูกแน่ๆจึงเหนี่ยวไก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 20:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกาย เขียน:
ร.10 มีพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษา ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

https://prachatai.com/journal/2018/03/7 ... um=twitter


ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิตและสัมคมมนุษย์ ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง แต่ผู้พิพากษา เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เพราะถือว่าผู้พิพากษา เป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

ในการที่จะรักษาสังคมไว้นั้น ท่านผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในขั้นปฏิบัติการเลยทีเดียวว่า เราจะต้องรักษาสังคมให้อยู่ดี มีความสุขความเจริญโดยเฉพาะมีความมั่นคงอยู่ได้ ด้วยความเป็นธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจที่มีพรหมวิหาร ๔ ประการ อันมีอุเบกขาลงไปอยู่ในธรรม ที่ปัญญาบอกให้แล้ว ก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตา ซึ่งเป็นที่แสดงออกของอุเบกขา แล้วก็มั่นใจแน่ว่าแนบสนิทอยู่กับธรรม



ศาลน้อมนำพระราชดำรัสในหลวงอำนวยความยุติธรรมกับประชาชน

https://www.khaosod.co.th/politics/news_795074

ผู้พิพากษา เปรียบเหมือนกับยมบาล ต้องมีความเที่ยงตรง ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ไม่ว่ามีว่าจน ไม่เห็นแก่อามิส ไม่เห็นแก่หน้า ไม่ลูบหน้าปะจมูก ว่านี่พวกเรา นั่นพวกเขา มีมาตรฐานเดียว ถ้าทำอย่างนี้ได้ สังคมก็สงบสุข คนก็ยึดกฎกติกา เคารพกฎหมาย แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็อย่างที่ผ่านๆมา คิกๆๆ

https://scontent.fbkk5-6.fna.fbcdn.net/ ... e=5B0DC147

https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... =3&theater

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 08:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ว่าฯ แจงอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีตึกใหญ่กลาง “เขาค้อ” เผยหลักฐานไม่ชัด

รูปภาพ


https://www.prachachat.net/general/news-125324

:b32:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 327 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 22  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 35 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร