วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 16:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2019, 05:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"มีสติ ฝึกภาวนาเป็นอริยทรัพย์ ติดตัวไปได้หลายหมื่นชาติ
ส่วนทรัพย์สมบัติทางโลก ชาติเดียวยังเอาไปไม่ได้"

....หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต




จิตตามธรรมชาติ

กายระเบิดเสียงดังมาก
“ความรู้” ที่มีอยู่นั้น “ละเอียดที่สุด”

วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่ เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลกๆมันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่า ไม่คิดมาก มีอาการสบายๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้านไกลประมาณสิบเส้น จากที่พักซึ่งเป็นวัดป่า เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม มีฝาแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึกว่า คู้ขาเข้าเกือบไม่ทัน

เอ๊ะ จิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมัน พอนั่ง จิตก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในบ้านมิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ ก็เงียบ ไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญภายใน “จิต” เหมือน “วัตถุสองอย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน”

“ดูจิต” กับ “อารมณ์” ตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนกระโถนกับกาน้ำ นี่ก็เลยเข้าใจว่า เรื่องจิตเป็นสมาธิ
นี่ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้น ก็ดูตัว “ผู้รู้” ขาดกันคนละส่วน จึงพิจารณาว่า "ถ้าไม่ใช่อย่างนี้มันจะใช่ตรงไหนอีก" มันเป็นอย่างนี้ “ไม่ติดกันเลย” ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ

จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่า “สันตติ” คือ “ความสืบต่อขาด” มันเลยเป็น “สันติ”
แต่ก่อนมันเป็น “สันตติ” ทีนี้เลยกลายเป็น “สันติ”

ออกมาจึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้นไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม
เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบไม่ได้ ของเหล่านี้ไม่มีในจิตมีแต่ "ความพอดี" หมดทุกอย่างในนั้น

ประสบการณ์การ “รู้ธรรม ๓ วาระ” ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉยๆ นี่แหละ ต่อมาจึงหยุด พักหยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลง จิต ยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศีรษะจะถึงหมอนมีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหน แต่มันน้อมเข้าไป น้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่ง ไปถูกสวิตซ์ไฟเข้า ไปดันกับสวิตซ์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้น “ละเอียดที่สุด” พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในจึงไม่มีอะไร แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไป ถึงหยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมา

คำว่า “ถอยออกมา” นี้ไม่ใช่ว่า “เราจะให้มันถอยออกมาหรอก” เราเป็นเพียง “ ผู้ดูเฉยๆ” เราเป็น “ผู้รู้” เท่านั้น อาการเหล่านี้ เป็นออกมาๆ ก็มาถึง ปกติจิตธรรมดา เมื่อ เป็นปกติดังเดิมแล้วคำถามก็มีขึ้นมาว่า "นี่มันอะไร?" คำตอบเกิดขึ้นว่า "สิ่งเหล่านี้ของเป็นเองไม่ต้องสงสัยมัน" พูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็ “น้อมเข้าไปอีก” เรา “ไม่ได้น้อม” “มันน้อมเอง” พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไปถูกสวิตซ์ไฟดังเก่า

ครั้งที่สองนี้ “ร่างกายแตกละเอียดหมด” หลุดเข้าไปข้างในอีก “เงียบยิ่งเก่งกว่าเก่า” “ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง” “เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควร” แล้วก็ถอยออกมา ตามสภาวะของมันในเวลานั้นมัน “เป็นอัตโนมัติ” “มิได้แต่ง” ว่าจงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้จงเข้าอย่างนั้น “ไม่มี” เราเป็นเพียง “ผู้ทำความรู้” “ดูอยู่เฉยๆ” มันก็ถอยออกมาถึงปกติ มิได้สงสัยแล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก

ครั้งที่สามนี้ “โลกแตกละเอียดหมดทั้งพื้นปฐพี” “แผ่นดินแผ่นหญ้าต้นไม้ภูเขาโลกเป็นอากาศธาตุหมด” “ไม่มีคนหมดไปเลยตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร”

เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนา ของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร “ดูยากพูดยาก” “ของสิ่งนี้ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย” “นานที่สุดที่อยู่ในนั้น” พอถึงกำหนดเวลา “ก็ถอนออกมา” คำว่า “ถอนเราก็มิได้ถอนหรอก” “มันถอนของมันเอง” เราเป็น “ผู้ดูเท่านั้น” ก็เลยออกมาเป็นปกติ “สามขณะ” นี้ใครจะเรียกว่าอะไรใครรู้เราจะเรียกอะไรเล่า พลิกโลกพลิกแผ่นดิน

ที่ เล่ามานี้...เรื่อง “จิตตามธรรมชาติทั้งนั้น” อาตมามิได้กล่าวถึงจิตถึงเจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น “มีศรัทธา” ทำเข้าไปจริงๆ เอา “ชีวิตเป็นเดิมพัน” เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว “โลกนี้แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด” “ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมด”

ทุกสิ่งทุกอย่างในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะเพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย “เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า” แต่มันก็เป็น “เราผู้เดียวเท่านั้น” แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้นแต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้นเราลงทางนี้มันต่างกับมนุษย์ไปหมดมันก็เป็นของมันเรื่อยๆไป
ท่านมหา ลองไปทำดูเถอะ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ไม่ต้องไปดูไกลอะไรหรอก “ดูจิตของเราต่อๆ ไป” มันอาจหาญที่สุดอาจหาญมาก นี่คือเรื่องกำลังของจิต เรื่องกำลังของจิตมันเป็นได้ถึงขนาดนี้’

(เทศนาธรรมคำสอน หลวงพ่อชา สุภัทโท)
(วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี)





“ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ภายใต้กฏของกาลเวลา
เวลาแก่แล้ว ต่อให้มีเครื่องสำอางค์
ราคาแพงขนาดไหน น้ำหอม จะหอมขนาดไหน
จะแต่งอย่างไร ก็ดูไม่สวย

เหมือนแต่งหน้าทาปากให้กับลิง
ลิงมันสวยที่ตรงไหน จึงอย่าไปสนใจ
กับความสวยงามของร่างกายเลย

ดูแลรักษาไม่ให้สกปรก ให้เรียบร้อยก็พอ
หันมาทุ่มเวลาให้กับการเสริมสร้างความสวยงาม
ทางด้านจิตใจจะดีกว่า”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"การเคารพพระพุทธเจ้า
เขาไม่ได้ดูกันที่ปาก เขาดูกันที่ศีล"
พระราชพรหมญาณ (วีระ ถาวโร)




"ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร
ไม่อาฆาตใคร พยาบาทใคร
ให้อภัยแก่คน ทุกจำพวก
ไม่เอาเรื่อง เอาราวกับใครเลย
ต้องพร้อมที่จะให้อภัยอยู่เสมอ
อย่างนี้ใจเราสบาย"

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร




“ความสุขในโลกนี้ อยู่กับความพอดี
จะหาความพอดีในโลกนี้ ไม่ได้เลย
เพราะความพอดี ไม่มีอยู่ในโลกนี้
แต่ความพอดี มีอยู่เฉพาะที่ใจเท่านั้น”

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 31 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร