วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2019, 04:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“ความรักผู้อื่นเสมอด้วยตนไม่มี” นี้เป็นพุทธศาสนาสุภาษิตมีความหมายว่า ทุกคนล้วนมีตนเป็นที่รักที่สุดด้วยกันทั้งนั้น เรารักตัวเราที่สุด ผู้อื่นก็รักตัวเขาที่สุด จะคิดจะพูดจะทำอะไรทั้งนั้น ต้องไม่ลืมนึกถึงพุทธศาสนาสุภาษิตบทนี้ นึกให้ฝังมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจได้เพียงไร ก็จะยิ่งดีเพียงนั้น

เรารักตัวเรา คนอื่นทุกคนก็รักตัวเขา เราไม่อยากให้ใครทำอะไรตัวเรา คนอื่นทุกคนก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นแก่ตัวเขาเหมือนกัน เราอยากให้ใครทำดีกับตัวเราอย่างไร คนอื่นทุกคนก็อยากให้เราทำดีกับตัวเขาอย่างนั้น

ผู้ใดสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำให้เป็นไปเพื่อไม่เป็นการให้ทุกข์ให้ร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก





หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ท่านสอนให้มีอิริยาบถสี่ที่เต็มด้วยสติ
เพราะฉะนั้นการภาวนา
ไม่ขึ้นอยู่กับท่วงท่า
แต่รักษาใจนั่นสำคัญกว่า
.
โอวาทธรรม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก





จิตของผู้มีบุญ

1. ไม่บ่น
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นปัญญา ทำให้ยอมรับต่อความเป็นจริงของชีวิต ทำให้รู้เห็นและเข้าใจถึงระดับวาสนาของตนและบุคคลอื่น ความเป็น ไปของชีวิตนั้นขึ้นตรงต่ออำนาจบุญกรรมที่ทำไว้ บ่นไปก็แค่นั้นเอง ที่ได้มา ที่มีอยู่ ที่เสียใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันคือ “ผลแห่งกรรม” อันเป็นสมบัติของเราเอง

๒. ไม่กลัว
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความเข้มแข็ง กล้าหาญ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นผู้มีบุญของตน เมื่อจะคิด จะทำอะไรลงไป ล้วนมีกำลังบุญมารองรับทั้งหมดทั้งสิ้น

๓. ไม่ทำชั่ว
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นตัวควบคุม บริหารจัดการ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดความกลัว ความละอายต่อบาป ต่อกรรม
ความผิดน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เห็นถึงความเสียหาย หลายภพหลายชาติ เห็นถึง ผลกระทบต่อครอบครัว ต่อโลกต่อสังคม อย่างมากมายมหาศาล

๔. ไม่คิดมาก
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดพลังแห่งความสงบ แห่งจิตแห่งใจ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่คิดเป็นทุกข์ ความคิดทุกความคิด ล้วนนำมาซึ่งความเบิกบานกายใจ ไม่คิดเบิกความทุกข์ มาใช้ก่อน

๕. รอได้ คอยได้
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความใจเย็น มีความยืดหยุ่น ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่ใจร้อน ใจเร็ว เห็นถึงจังหวะ และโอกาสของชีวิต

๖. อดได้ ทนได้
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นพลังงานเข้มแข็ง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้มีความอดทน ที่เป็นหนึ่งเป็นเลิศ มีความคิดที่ไม่หวั่นไหว เห็นความสำเร็จทุกชนิดมาจากความอดทน อดทนอย่างมีความสุข

๗. สงบได้ เย็นได้
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะเป็นสภาพให้เป็นคนที่สงบได้ เย็นได้ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่ร้อนรน กระวน กระวาย สับส่าย วุ่นวาย ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ในสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ใน เหตุการณ์ที่เลวร้าย ก็ทำใจได้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

๘. ปล่อยได้ วางได้
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นคนที่รู้จักการละ การวาง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่แบกทุกอย่างที่ขวางหน้า ยึดทุกอย่างที่เกิดขึ้น


๙. รู้ได้ ตื่นได้ และเบิกบานได้
เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความรู้ตื่น เบิกบาน ตามกำลังของบุญฤทธิ์ เป็นผู้รู้ ต่อความ เป็นจริงของชีวิต ไม่ปล่อยชีวิตให้ตกไปในกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจมีความอิสระเต็มที่ ทุกวันทุกเวลาทุกนาที


โอวาทธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน




ผู้ภาวนาบริกรรมพุทโธ

ต้องทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว

เมื่อหัดให้ช่ำชองชำนิชำนาญอย่างนี้นานๆเข้า

กิเลสความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง

มันค่อยหายไปเอง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี





#ไม่อยากทำบุญกับวัดกับวา

#มีโยมบอกอาตมาว่า

" ไม่รู้จะทำบุญวัดไหนดี เดี๋ยวนี้มีแต่วัดไม่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าวัดบ้าน วัดป่า วัดจีน วัดญวน ผมเคยไปบวช ไปสัมผัสมาแล้วทุกที่ จะเป็นวัดหลวงปู่ดังๆ หรือวัดเล็กๆ ก็ตามเถอะ ผมบอกตรงๆ ผมพวกปัญญาจริต ผมไม่ศรัทธาหรอก พวกโล้นห่มเหลือง เดี๋ยวนี้ผมใส่บาตรพ่อแม่ครับ ไม่ทำบุญกับพระหรอก เปลืองข้าวสุกข้าวสารปล่าวๆ "

#อาตมาได้ฟังแล้วจึงตอบเขาไปว่า

- สำหรับคนมีปัญญาชั้นตรี ก็จะเห็นว่า วัดดีก็มี วัดแย่ก็มี เราก็เลือกเอา

- สำหรับคนมีปัญญาชั้นโท ก็จะเห็นว่า "วัด" น่ะดีทุกวัด แต่ "ผู้มาบวช" ไม่ดีก็มี ที่ดีก็มี ต้องพิจารณาเฉพาะเป็นรายๆไป จะให้บวชมาแล้ว หมดกิเลส เป็นพระอริยะทุกรูปทันทีทันใด อันนั้นก็เพ้อเจ้อ

- สำหรับคนมีปัญญาชั้นเอก ก็จะเห็นว่า วัดก็ดี พระก็ดี สำคัญที่ตัวเราเองดีหรือยัง ความดีขั้นสูงกว่าที่เราทำได้ในตอนนี้ยังมีอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องขวนขวายในคุณธรรมนั้น จะพระ จะวัด จะใครก็ตาม ก็จะกลายเป็นครูของเราหมด สอนให้เราเรียนรู้ และเพิ่มพูนสติปัญญาเราตลอดเวลา พิจารณาได้ธรรมะตลอดสายเรื่อยไป

- สำหรับพวกคนโง่ที่สุด...ก็จะเห็นแบบโยมนี่แหละ " ไม่ดีทั้งหมด!" เพราะใจโยมแบกความเศร้าหมองมืดดำไว้จนหนักอึ้ง ประเภทเราดีคนเดียว คนอื่นเลวหมด เห็นแต่โทษเขา โทษเราไม่เห็น น่าสงสารเหลือเกิน เขาเลว เขาก็ไปแล้ว แต่ใจเรายังแบกความเลวเขาอยู่ แถมมาทุกข์กับความเลวเขาด้วย

วัดอื่นวัดไหนไม่สำคัญเท่า "วัดใจ" นะโยม แล้ววัดใจของโยมล่ะ เป็นอย่างไร วัดสะอาดดีไหม พระล่ะ เป็นพระที่ประพฤติดีไหม

หยั่งสติค้นเข้ามาข้างใน "วัดใจ" พระในใจของโยมน่ะ ท่านปฏิบัติอย่างไร เที่ยวเพ่นพ่านอันธพาล ไปเกะกะระรานใครเขาบ้าง ไปตั้งแง่หาเรื่องใครเขาบ้าง ได้ทำตนเป็นพญาช้างชูงวงด้วยความหยิ่งจองหอง ไปทั่วหรือปล่าว

วัดอื่น...วัดนอก
วัดใจ...วัดใน

ถ้าวัดในเสื่อม ต่อให้ไปวัดนอกที่ประเสริฐแค่ไหน มันก็เป็นทัพพีห่อนรู้รสแกง

มอง...ก็มองอย่างตากิเลส ฟัง...ก็ฟังอย่างหูกิเลส เพราะใจมันถูกครอบงำแล้วด้วยอคติ พอขาดสติ มันก็ปรุงแต่ง จับผิด ตั้งแง่หาเรื่อง วุ่นวายไป

"วัดนอก" น่ะเป็นสิ่งที่น้อมนำมาสู่ "วัดใน"

วัดนอกเป็นเครื่องมือทำความสะอาดวัดใน เป็นเรือนพักให้วัดใน เป็นความปิติสุข และเป็นสติ เป็นปัญญาให้แก่พระวัดใน

เมื่อ "วัดใน" ผ่องใส มีพระปฏิบัติงามๆ พำนักอยู่ประจำแล้ว อาจไม่ต้องมาวัดนอกก็ได้

ถ้าหาพระดีๆไม่พบ ไม่รู้จะไปทำบุญวัดไหน ก็จงมีสติเดี๋ยวนี้ ทำความรู้อยู่ในปัจจุบัน ทำกำลังใจประหนึ่งว่ากำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาดีที่สุด พระพุทธองค์ท่านประทับอยู่ที่ "วัดใจ" ของโยมนั่นแหละ มีพระอยู่ประจำวัดด้วยนะ ไม่เชื่อถามท่านเจ้าอาวาสวัดใจดูก็ได้ เวลาเราคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี เจ้าอาวาสวัดใจท่านก็จะเตือน เวลาเราทำดีเจ้าอาวาสวัดใจท่านก็ชม เคยสังเกตุไหม

ธรรมชาติสามัญสำนึกไงล่ะ...เจ้าอาวาสวัดใจ !

ธรรมชาติของใจนี้อัศจรรย์มาก ถ้าฝึกสติดีๆ จะไม่อยากทำบาปใดๆเลย มันจะปรากฏโทษความเศร้าหมองขึ้นมาทันที แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม

ที่เราดีใจเวลาทำบาปสำเร็จ เช่น โกงเงินเขามาได้ ขโมยของเขามาได้ ตกปลาได้ หรือสะใจเวลาศัตรูตกทุกข์ อันนั้นมันอารมณ์กิเลสชั่ววูบ พอมันได้สติ มันจะละอายชั่ว เร่าร้อนเป็นไฟเผา หวาดระเเวงกลัวภัย หรือนึกสงสารเมตตาผู้อื่นขึ้นมา ธรรมชาติของใจที่แสดงออกเหล่านี้ โยมเคยพินิจพิเคราะห์ไหม

ประเด็นเรื่องไม่ใส่บาตรพระสงฆ์ ทำบุญกับพ่อแม่ดีกว่า ไม่ขอทำบุญกับวัดวาพระสงฆ์รูปใด อาตมาก็ขออนุโมทนาด้วยครึ่งหนึ่ง

เพราะอะไรจึงครึ่งเดียว ?

เพราะว่าคุณธรรมของบิดามารดานั้นมาก บิดามารดาท่านให้ชีวิตร่างกายขันธ์ ๕ เรามา สอนเรา เลี้ยงดูให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีความเจริญรุ่งเรืองในทางโลก แต่ช่วยให้เราดับทุกข์ถึงพระนิพพานไม่ได้

สมบัติทางโลกให้ได้แค่ความสบายภายนอกจนตายเน่าเข้าโลงเท่านั้น แต่ไม่สามารถเอาชนะความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งปวงได้ จะรวย จะเก่ง จะมีชื่อเสียงเกียรติยศอย่างไรก็หนีความทุกข์ไม่พ้น

คนรวยๆอาจจะมีทุกข์มากกว่าคนจนๆด้วยซ้ำ

ถ้าประสงค์ความสุขอันจริงแท้ต้องศึกษาวิชชาพระพุทธเจ้า ซึ่งการศึกษาวิชชาพ้นทุกข์นี้ต้องพึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย

จะเลือกคบเฉพาะพระพุทธเจ้า และพระธรรมเท่านั้น ตัดขาดพระสงฆ์ ไม่คบพระสงฆ์...ไม่ได้ !

เพราะพระสงฆ์ที่ดี ท่านเป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยง และเป็นกัลยาณมิตรให้เราเข้าถึงธรรม

หลักของพระพุทธศาสนาคือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ละอัตตาตัวตน สู่อนัตตา และทะลุสุญญตา มีพระนิพพานเป็นที่สุด

คำว่าปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าปล่อยทิ้ง จนไม่ทำอะไร นอนขี้เกียจ ท่านสอนให้ขยัน อดทน ทำความเพียร เจริญสติมากๆ คนเรียนธรรมะจริงสังเกตุง่าย ยิ่งขยัน ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งอดทน ยิ่งอ่อนน้อม

เห็นใจโยมนะ อาจมีประสบการณ์ไม่ดีกับพระมาหลายเรื่องราว ขอให้มีสติในปัจจุบันว่า

เรื่องเศร้าหมองทั้งหมดนั้น...มันดับไปแล้ว !

ไม่มีประโยชน์จะไปยึดถือแบกความสกปรกเหล่านั้น

เวลาภาวนาให้ตั้งสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องมีอดีต ไม่ต้องมีอนาคต อย่าเป็นคนมีอนาคต เราต้องพร้อมตายเสมอ บางทีอนาคตที่เราวาดฝันไว้ เราอาจตายก่อนมันจะมาถึงก็ได้

ตัดทุกอย่าง กำหนดสติอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ยิ่งมีคำบริกรรม พุทโธๆๆๆๆ กำกับไว้เป็นหลักของสติด้วยยิ่งดี สติจะได้ต่อเนื่อง ไม่หลงอารมณ์ ไม่ส่งออกนอก จิตจะมีความตั้งมั่นได้ง่าย แรกๆก็ล้มลุกคลุกคลาน ถลอกปอกเปิก ต่อไปก็จะมีความชำนาญในการเข้าออกความสงบเอง

ยิ่งโยมบอกว่าเป็นพวกปัญญาจริต ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว มีสมาธิทรงตัว ต้องพิจารณาความตายมากๆ เวลาหมดไป อายุขัยหมดไปตลอดเวลา ระวังนะ ตายลงตรงนี้ไม่รู้สุคติคืออะไร กรรมฐาน ๔๐ กอง ประมวลมาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เกิด-ดับ เกิด-ดับ ซ้ำกันอยู่ตรงนี้ อนิจจังทั้งนั้น

โลกหวังนิจจัง ธรรมว่าอนิจจัง
โลกหวังสุข ธรรมว่าทุกข์
โลกหวังให้เป็นดังใจเรา ธรรมว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรเป็นของเราแท้

สายทางเดินมา "หยุด" ตรงใจกลางพระธรรมจักรพอดี อริยสัจจ์ ๔ จะเเสดงตัวทำลายอวิชชา ยุติวัฏจักร เมื่อนั้นจะเปิดเผยธรรมชาติที่อยู่เหนือความเกิดตาย อยู่เหนือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พิจารณามากๆ โยมจะพบความสุขที่จริงแท้ ความดีงามที่ไม่เกี่ยวข้องผูกมัดกับอะไร ไม่มีภาระ ไม่มีกังวล ไร้สิ่งใดต้องแบกหาม เป็นอิสระจากโซ่ล่ามคอ ตรวนล่ามขา กะลาครอบจิต

แล้วโยมจะพบพระพุทธเจ้าแท้ พระธรรมแท้ พระสงฆ์แท้ๆ จะสำนึกถึงพระคุณอันสุดประมาณของท่าน ณ วัดใจของโยม!

ใจเย็นๆ ตัดประเด็นคนชั่วๆ ออกไปก่อนนะ

บางกรณี พระที่เรานึกตำหนิ เราไม่ชอบใจ พระท่านอาจจะทดสอบจิตเราอยู่ก็ได้ พระดีๆแกล้งบ้าเพราะเบื่อโยมบ๊องๆ มึนๆ ก็มีเยอะ

เรื่องคนไม่ดี คนเลวน่ะมันมีเป็นธรรมดา แล้วเราจะเสียเวลาไปแบกความแย่ของเขาให้จิตใจเราเศร้าหมองทำไม ตลบกลับเป็นด้านปัญญาดีกว่า ไม่ขาดทุน

ถ้าแย่จริงๆก็ต้องช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เพียงฟังตามกันมาแล้วสรุปเอาเองอย่างอคติ ว่าคนนั้นเลว คนนี้ชั่ว ต้องพิจารณาเหตุผลอย่างถี่ถ้วน คนเรามักถูกอารมณ์ชักนำไปก่อนสติ

การปกป้องพระพุทธศาสนามีหลายวิธี และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ "การละชั่วของตัวเราเอง"

โยมสมัยนี้มุ่งแต่ "ทำบุญ" จนลืม "ละบาป" ทั้งที่ความจริงเพียงเราละบาปได้ มันก็เป็นความดีขึ้นมาแล้ว

ไม่ต้องเชื่ออาตมานะ อย่ายึดอาตมา เดี๋ยววันหนึ่งเกิดมีอะไรที่อาตมาทำไม่ถูกใจโยมเข้า โยมจะปรุงแต่งตกเป็นทาสอารมณ์เศร้าหมองอีกเหมือนเดิม

ให้ปฏิบัติให้เกิดผลประจักษ์ใจตนเอง โยมจะได้เป็นพยานให้พระรัตนตรัย เป็นพยานธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วจะรักพระสงฆ์ด้วยความจริงใจ จะเห็นความเสียสละ อดทนของพระดีๆท่าน จะรู้สึกสงสารท่าน ชื่นชมท่าน อนุโมทนากับท่าน เเละเป็นกำลังใจให้ท่านชำระกิเลสต่อไป

ฝึกวางอารมณ์ให้เป็น
ฝึกสติปัญญาให้รู้เท่าทัน

ถูกก็เป็นธรรม
ผิดก็เป็นธรรม
เหนือถูกเหนือผิดก็เป็นธรรม

อย่าไปเหมารวมว่าวัดไม่ดี พระไม่ดี วัดดีๆ ก็มีเยอะ พระดีๆ ก็มีมาก เลือกเนื้อนาบุญเอาตามวาสนานิสัย

สำคัญที่สุดก็ "วัดใน-วัดใจ" ของเรานี่เเหละ

กลับไปชำระ "วัดใจ" ของโยมให้สะอาดดีงามนะ ฝากกราบเรียน "ท่านเจ้าอาวาสวัดใจ" ของโยมด้วยว่า อาตมาเป็นกำลังใจให้ ขอถวายบุญกุศลที่อาตมากระทำไว้ดีแล้วให้ท่านได้ประโยชน์ด้วยเต็มที่ ขอให้ท่านตั้งใจบำเพ็ญต่อไปมากๆ

เดินไป เดินไป ไม่หยุด เดี๋ยวก็ถึงจุดหมาย

วันหนึ่งท่านจะเป็น "พุทธะ" ที่เบิกบาน

แล้วอย่าลืมมาช่วยดึงอาตมาไปพระนิพพานด้วยนะ ...อาตมาเองนี่ก็กิเลสเต็มขั้นเหมือนกัน...

พุทโธ พุทโธ พุทโธ

โอวาทก่อนฉันจังหัน
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี






โยมถาม...
กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาลที่เคารพ โยมสังเกตว่ากับคนอื่นๆ​ โยมจะใจเย็น มีเหตุผลเข้าอกเข้าใจ และเมื่อมีสิ่งใดมากระทบจะวางได้ไม่ยากแต่กับคนใกล้ตัว โยมกลับใจร้อน สิ่งใดที่ขัดใจก็จะไม่ยอมไม่ปล่อยผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย ไม่ทราบว่าโยมควรจะวางใจอย่างไรหรือมีอุบายในการพิจารณาแบบใด เพื่อให้สามารถก้าวข้ามสิ่งนี้ได้เจ้าคะ​ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
.
.
พรพอาจารย์ตอบ...
คุณควรหมั่นฝึกสติให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เวลามีอะไรมากระทบ และรู้สึกขัดใจหรือขุ่นเคืองใจ สติที่รู้ทันอาการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้ปล่อยวางมันได้อย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงเข้มข้นของอาการดังกล่าว​ ทำให้หักห้ามใจไม่เผลอพูดหรือทำอะไรในทางที่ไม่ถูกต้อง

ความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจตน (รวมทั้งอยากให้ถูกต้องตามแบบของตน)​ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณขุ่นเคืองใจเวลาเห็นสิ่งต่างๆ​ ไม่เป็นดั่งใจ คุณควรตระหนักว่านี้เป็นอาการอย่างหนึ่งของอัตตา หรือความยึดติดถือมั่นใน​ "ตัวกู​ ของกู" ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นจึงควรคลายความยึดติดดังกล่าวลงบ้าง เช่น เตือนตนอยู่เสมอว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ดั่งใจในทุกสิ่ง เผื่อใจไว้ล่วงหน้าว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา

เวลามีอะไรมากระทบแล้วรู้สึกขุ่นเคืองใจ ก็ให้รู้ว่า​ "ตัวกู​ ของกู" กำลังอาละวาดแล้ว ควรชี้หน้าด่ามันบ้าง อย่าปล่อยให้มันผยองหรือบงการจิตใจของคุณ​ อีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อมีเจอสิ่งขัดใจก็อย่าเพิ่งโกรธ ควรมองว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยขัดใจให้กิเลสเบาบาง หรือลดอัตตาให้น้อยลง

สุดท้ายก็คือ เวลาทำอะไร ลองทำให้ช้าลง ใจอยู่กับปัจจุบัน อาจทำให้คุณใจเย็นลงบ้าง และมีสติรู้ตัวได้ไวขึ้นเวลามีอะไรมากระทบ

ทั้งหมดที่พูดมามิได้หมายความว่า​ คุณควรปล่อยให้ความไม่ถูกต้องผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย​ การทักท้วง​ ตักเตือน เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำด้วยความโกรธ ซึ่งมีแต่จะเผาลนใจคุณให้เป็นทุกข์ คุณควรทำด้วยใจที่สงบ มีสติ นั่นคือทำกิจและทำจิตไปควบคู่กัน ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งต่อตัวเอง​ ผู้อื่น​ และส่วนรวม

พระอาจารย์ไพศาล​ วิสาโล


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร