วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2019, 05:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


" สมาธิ " เกิดขึ้นเมื่อจิตรวมเป็นหนึ่ง
มันอาจจะก่อตัวขึ้นอย่างอ่อนๆหรือเด่นชัด
ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง
สิ่งที่สำคัญคือ " สติ " ซึ่งเป็นตัวคอยควบคุมจิต
และต้องไม่มีความอยาก
หรือความกลัวเข้ามาทำให้จิตมัวหมอง
สมาธิเป็นสภาวะจิตที่สงบนิ่ง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโยมได้เคยเข้าสู่สภาวะนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม โยมไม่เชื่อในความสามารถของตนเอง
เลยทำให้โยมเกิดความสับสน

พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา









#มัชฌิมาหมายถึงทางพอดี
"ของพอดีนั้นมีความสำคัญ
ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขาดความพอดี
ใช้ไม่ได้ ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาด
ความพอดี ก็เป็นบ้านไม่ได้ จีวร
เสื้อผ้าตัดยาวไปสั้นไป ก็ใช้ไม่ได้
อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้
ความเพียรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้"
#มัชฌิมาทางกลาง
"คือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดีให้พอดีนั่นเอง"

#ภูริทตฺตธมฺโมวาท
#พระครูวินัยธร_มั่น_ภูริทตฺโต
วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม
อ.เมือง จ.สกลนคร
[พ.ศ. ๒๔๑๓ – ๒๔๙๒]









"...เขาว่าโลกมันหวาน แต่มันมีภัยข้างหน้าคือความชราความแก่อยู่ข้างหน้า โลกมันเหมือนโรงละครใหญ่ มีการร้องไห้ หัวเราะ ดีใจ เสียใจ ร้องไห้ตลอดเวลานะเกิดแก่เจ็บตายมันมา โลกไม่ใช่สุขแท้ มันสุขปลอมๆ สุขอาศัยอามิสอยู่ เหมือนอาศัยร่มไม้อยู่ ตะวันสายมามันก็ย้ายหนีเราไป ย้ายจากเราไปเราก็ร้อนเหมือนกับเราอยู่ตามโลก ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามลูก ตามหลาน ตามพ่อ ตามแม่ เมื่อพ่อแม่สิ้นไป เราก็โศกเศร้าเสียใจ ความรักมากทุกข์มาก ความรักน้อย ทุกข์น้อย พระพุทธเจ้าว่าโลกมีทุกข์ตลอดเวลา ถ้าเรามาปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุขเกิดขึ้นมาก็จะปราบความทุกข์นั้นได้ ให้พิจารณาความทุกข์นั้นยิ่งๆขึ้นไป..”

คำสอนหลวงปู่อุดม ญาณรโต
วัดป่าสถิตย์ธรรมวนาราม ต.ศรีชมพู อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ







#ใช้ปัญญาสิ #ได้กายได้จิตมาจากบิดา มารดานี่มันยากแสนยาก พร้อมแล้วเพราะเป็นผู้สมบูรณ์ดี ไม่พิกลพิการ ต้องบังคับตนเอง ให้คิดในสิ่งที่ดี เลือกพูดในสิ่งที่ดี สร้างสรรค์และทำในสิ่งที่ดี มีประโยชน์ เอาเท่านี้ อยู่ในโลกย่อมเป็นสุข จะจากโลกนี้ไปก็เป็นสุขเช่นกัน เพราะจิตนี้ได้แก้ไขแล้ว พร้อมแล้ว และดีงามแล้ว เปรียบเหมือนเพชรที่ช่างได้เจียรไนแล้วย่อมมีค่ามีราคาแม้จะตกไปส่วนไหนของโลกย่อมเป็นเพชรลำ้ค่าอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง นี่เรียกว่าการปฎิบัติ

โอวาทธรรม
พระอาจารย์รังสรรค์
27พฤศจิกายน2562









การภาวนานั้น ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณาอุบายที่ถูกกับจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวไม่ได้ กิเลสมันพลิกแพลงเก่งต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร







..ธรรมะสวัสดีเช้านี้..
..แต่บุคคลบางคนนั้นก็ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนร่างกาย ร่างกายก็พอทนอยู่ได้ ประพฤติเป็นไปได้ตามสภาวะของร่างกาย เห็นด้วยอำนาจของกรรมที่เขาไม่มีอุปปีฬกกรรม-กรรมบีบคั้น เขาไม่เคยสร้างกรรมอย่างนั้นเอาไว้ ก็ทำให้บุคคลที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นคนที่โชคดี โชคดีที่เขาสร้างความดีมาแต่ชาติอดีตนั้น มาชาตินี้เขาก็จะสร้างความดีอีก มันก็จะทำให้เขาไปเกิดในที่ดีได้ตามอำนาจของกรรม
..นี่แหละพวกเราทั้งหลาย ขอพินิจพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญดูแล้วก็จะเข้าใจได้ง่ายๆว่า คนเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีอำนาจของกรรม ตามระดับกรรมที่จะให้ผลแก่บุคคลที่เกิดขึ้นมา เพราะรูปร่างกายเกิดขึ้นมาด้วยกรรม จะต้องมารับกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้ รับผลของกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้ กรรมก็เหมือนเงาติดตามเราที่เดินไปสู่แสงแดด แสงแดดส่องลงมาใส่รูปร่างกายของเรา เดินไปก็เป็นเงาตามเราไป ไปที่ไหนก็มีเงาของเราตามไป เหมือนอำนาจของกรรมที่บุคคลสร้างสมอบรมเอาไว้แต่ชาติอดีตที่ผ่านมาหลายชาติก็ดี กรรมนั้นก็ติดตามให้ผลบุคคลที่กระทำเอาไว้ ไม่ปล่อยปละละเลยหน้าที่ของกรรม เขาก็ตามบีบคั้นตามสนองอยู่
..เหตุฉะนั้นพวกเราควรที่จะเชื่อมั่น เพราะพระพุทธศาสนานี้สอนให้เชื่อมั่นเรื่องกรรม เรื่องกรรมดีและกรรมชั่ว กรรมชั่วคือกรรมอันเป็นบาปทั้งหลายนำให้สัตว์โลกมีความทุกข์ทรมาน สัตว์โลกสร้างกรรมดีเอาไว้ทำให้สัตว์โลกนั้นมีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนร่างกาย เรียกว่าอำนาจของกรรม เรามาพินิจพิจารณาแล้วเราก็จะเห็นได้ซึ่งตัวเราหรือตัวของบุคคลอื่น เราจะน้อมมาพินิจพิจารณาเพื่อจะให้รู้ว่า คนเราเกิดขึ้นมานี้อาศัยซึ่งกรรมจริงๆ..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..










"อันนี้เรื่องของโลกบังธรรม กรรมบังจิต
จิตเห็นผิดเป็นถูกไปได้ก็เพราะกรรมบังจิต
จิตเห็นผิดเป็นถูกก็จะทำความดีได้ยาก
เพราะฉะนั้นจึงให้เราอาศัยขันติ
คือ ความอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ
เราต้องยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อทำให้พร้อมทั้ง กาย วาจา จิต
...ให้ซื่อตรงต่อพระธรรมคือคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง อย่างหนักแน่นมั่นคง
ไม่เคลื่อนไหวหรือเอนเอียงไปตามอารมณ์ทั้งหลายทุกอย่าง"

คุณแม่ชีพิมพา วงศาอุดม








สมมุติว่าเราสร้างกำแพง เสร็จแล้วเราสังเกตว่าอิฐก้อนหนึ่งไม่ตรง อารมณ์เราเสีย แต่เมื่อเราดูภาพรวมเห็นว่า ๑ ใน ๑,๐๐๐ ไม่ตรง อีก ๙๙๙ ก้อนตรง เราจึงปล่อยวางความรำคาญใจได้ เป็นอันว่าอิฐก้อนเดียวมองด้วยภาพรวมถึงจะไม่ตรงก็ไม่เป็นไร
ในอีกกรณีหนึ่ง เราผลิตเครื่องจักรมีส่วนประกอบ ๑,๐๐๐ ชิ้น พอทำเสร็จแล้วปรากฏว่าชิ้นหนึ่งเสีย มองโดยภาพรวมก็เป็นแค่ ๑ ใน ๑,๐๐๐ แต่ถึงจะเป็นเพียงส่วนน้อยมากก็ยังมีผลทำให้เครื่องจักรทำงานไม่ได้
ในการมองศีลธรรม คนส่วนมากมองว่าเหมือนกำแพง มองว่าผิดศีลในเรื่องเล็กน้อยก็ไม่มีความหมายอะไรมาก เหมือนอิฐก้อน ๑ ใน ๑,๐๐๐ ที่ไม่ตรง
แต่พระพุทธเจ้าให้เราเข้าใจว่า ศีลธรรมเหมือนเครื่องจักรมากกว่า ถึงจะเป็นแค่ส่วนปลีกย่อยก็ทำให้ระบบศีลธรรมทั้งหมดพังได้ ใช้งานในการพัฒนาตนไม่ได้

พระอาจารย์ชยสาโร








..โชคดีที่สุดในชีวิตที่มีอยู่ ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ รีบขวนขวายรีบปฏิบัติ ต้องบังคับตนเองทำความดี อย่าไปให้คนอื่นบังคับ อะไรมันเป็นสิ่งที่ดีก็จะทำในสิ่งนั้น พูดอะไรเป็นสิ่งที่ดีเราก็เลือกพูดสิ่งนั้น
..ความคิดความอ่านออกมาจากใจของพวกเราก็เหมือนกัน เราจะหาวิธีคิดไปในทางที่ดี สร้างสรรค์พัฒนาความคิดความอ่านของตนเองไปในทางที่ดี จึงจะเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..









สิ่งที่เขามี...เขาเป็น เพราะเขาทำมา ไม่ใช่แค่ปรารถนาแล้วจะได้ ท่านจึงให้สร้างไว้พึ่งพาอาศัย เกิดมาได้เป็นคนสวยงาม ร่ำรวย ให้คิดนี่แหละคือบุญที่ทำไว้ ให้ระลึกถึงบุญเป็นอารมณ์ ให้รู้ตัวเลยว่า เราได้ทำบุญไว้ รักษาศีลไว้ เจริญภาวนาไว้ ผลที่เว้นบาปทำบุญสร้างสมความดีบารมีจนแก่กล้า ถ้ามิได้ทำไว้หรือทำชั่วไว้เกิดมาก็ทุกข์ก็ยากจน พยายามขวนขวายหาเงินหาทอง หาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เหมือนเราหาของที่ไม่มี หาอะไรก็ไม่เจอ เพราะไม่ได้ทำไว้ หาเท่าไหร่จึงไม่มี

...หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ...









" ภาวนาปธาน "
...คำว่า " ภาวนา " แปลว่า ทำให้เกิด ให้มี ให้เป็น คือ ทำกาย วาจา ใจ ให้เป็น สมาธิ ปัญญา หรือทำขันธสันดานของตนที่เป็นปุถุชน ให้เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา นับว่ากระทำให้เป็นไปในพระธรรมวินัยแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันต์ทีเดียว ที่มาแห่งภาวนามี ๔ ประการ คือ
๑. ปหานปธาน เพียรสละบาปอกุศล ให้ขาดจากสันดาน
๒. สังวรปธาน เพียรสำรวมระวังรักษา ไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๓. ภาวนาปธาน เพียรภาวนา ให้บุญกุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมสูญอันตรธาน
การ " ภาวนาปธาน " นั้นจำเป็นต้องบำเพ็ญภาวนาปธานทุกคนตลอดไป จึงเป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ บรรลุจตุปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในห้องพระไตรปิฏก
ถ้าไม่ได้บำเพ็ญภาวนาปธานนี้แล้ว ก็ไม่สำเร็จพระนิพพานเลยเป็นอันขาด การภาวนาปธานนี้ เป็นยอดแห่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งปวง...

ธรรมโอวาทหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต









" การปฏิบัตินั้น
คือ ทวนกระแส ทวนกระแสน้ำใจของเราเอง
ทวนกระแสกิเลส
อะไร ที่เป็นของทวนกระแสแล้ว มันลำบาก
พายเรือทวนกระแส ก็ลำบาก
สร้างคุณงามความดีนั้นก็ลำบากเสียหน่อยหนึ่ง
เพราะว่า ฅนเรามีกิเลส
ไม่อยากจะทำ
ไม่อยากจะยุ่งยาก
ไม่อยากจะอดทน
อยากจะปล่อยไปตามอารมณ์ เสียเป็นส่วนใหญ่
เหมือนน้ำน่ะแหละ
มันก็ไหลไปตามเรื่อง ของมัน
ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามน้ำก็สบาย
ลักษณะการปฏิบัติต้องฝืน
ต้องฝืนกิเลส
ฝืนใจของตัวเอง
ข่มจิตเจ้าของ
ทำความอดทนให้มากขึ้น
มันจึงเป็น...
การปฏิบัติทวนกระแสน้ำ."

(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง)







คำตอบของหลวงปู่ชา สุภทฺโท
ถาม : ผมง่วงเหงาหาวนอนอยู่มากครับ ทำให้ภาวนาลำบาก
ตอบ : มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้าท่านยังง่วงอยู่อีกให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะไปชนอะไรเข้าจะทำให้ท่านหายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่อีกก็จงยืนนิ่งๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่างเป็นเวลากลางวัน หรือนั่งริมหน้าผาสูง หรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างไรๆ ก็ไม่หายง่วงก็จงนอนเสีย เอนกายลงนอนอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นขึ้น จงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาหรือหลับต่ออีก เริ่มต้นมีสติระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น
ถ้าท่านง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารให้น้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีกห้าคำท่านจะอิ่ม จงหยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูใหม่อีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว ท่านต้องกะอาหารที่ฉันให้พอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ท่านต้องปรับตัวของท่านเอง

จาก มรดกธรรมเล่มที่ ๓๔ “คำตอบหลวงปู่ชา” หน้า ๒๙-๓๐







จะอยู่ในวัยไหนก็ตาม คำสอนของพระพุทธเจ้าเหมาะสมกับทุกวัย คำสอนของพระพุทธเจ้าเหมาะสมทุกกาลทุกเวลา
ไม่เหมือนกันกับเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องประดับประดาต่าง ๆ เครื่องประดับประดาของเด็กจะให้ผู้ใหญ่ใส่ไม่ได้ เครื่องของผู้ใหญ่จะให้เด็กใส่ก็ไม่ได้
แต่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เหมาะสมอยู่ทุกกาลทุกเวลา กับบุคคลทุกเพศทุกวัย

หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ






แม้พระอัครสาวกก็ยังมีอุปนิสัยเก่า เช่นพระสารีบุตร เวลาเทศน์ เทศน์ถึงพระนิพพาน แต่เวลาเจอคลองเล็กๆ กระโดดข้ามไปเลย ซึ่งไม่เหมาะสมกับความเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เรื่องนี้ จึงนำไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ก็ตอบว่าพระสารีบุตร เคยเกิดเป็นลิงมาหลายภพหลายชาติ ชอบกระโดด มาในชาตินี้ จึงยังมีอุปนิสัยเดิมมาให้เห็น
พระบางรูป เคยเกิดเป็นชาวนาชาวสวน มาในชาตินี้ จึงชอบทำสวนปลูกพืชผัก พระบางรูป เคยเกิดเป็นนายช่าง มาในชาตินี้ จึงชอบสร้างศาลากุฏิ พระบางรูปมีจิตใจบริสุทธิ์สะอาดใสแจ๋ว และเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม แต่เวลาเทศน์ มีแต่หีแต่xxx มีครั้งหนึ่ง หลวงปู่ลี นิมนต์เทศน์ที่วัดอโศการาม ญาติโยม แตกฮือ ลุกขึ้นเดินหนี
เพราะฉะนั้น การดูพระ ขอให้ดูภายในจิตใจของท่านเป็นสำคัญ

หลวงปู่ไม อินทสิริ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 57 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร