วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2019, 04:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง "ทำนาไม่ได้เอาแต่ข้าวอย่างเดียว"
เคยมีพระผู้ใหญ่เรียนถามท่านพ่อลี ว่า " ท่านพ่อลีก็เป็นพระผู้ใหญ่สายกรรมฐาน ทำไมท่านพ่อจึงพาญาติโยมประชาชน สร้างแต่พระ สร้างแต่เจดีย์ "
ท่านจึงตอบได้น่าฟังว่า " เกล้ากระผมทำนา ไม่ได้เอาแต่ "ข้าว" (มรรคผล) "เฟือง" เราก็เอา (บุญกุศล) "แกลบ" เราก็เอา (นิสัยเนกขัมมบารมี) "
ญาติโยมทั้งหลายนั้น "บารมียังไม่พอ" ยังต้องเกิดตายอีกหลายภพหลายชาติ จึงยังต้อง "อาศัยบุญกุศล" ท่านพ่อลีรู้ว่า ท่านสอน "ภาวนา" จะได้ผลกับคนเพียงบางส่วนเท่านั้น ท่านจึงพาญาติโยม "สร้างพระ" เพื่อคนเหล่านี้จะได้ "บุญกุศล" ติดตัว

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร





กตัญญูรู้คุณมารดาบิดา
ครั้งหนึ่งผมได้นำเพื่อนๆนักศึกษาไปกราบองค์หลวงปู่ที่สนามบิินสุวรรณภูมก่อนที่ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาช้ากว่าเพื่อนพอมาถึงท่านจึงเมตตาถาม
หลวง...ทำไมมาช้า
รุ่นพี่...ไปฟังเทศน์อยู่เจ้าค่ะ
หลวงปู่...พระท่านเทศน์เรื่องอะไร
รุ่นพี่...ท่านเทศน์เรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่เจ้าค่ะ
หลวงปู่...ท่านสอนให้กตัญญู แล้วการกตัญญูต่อมารดาบิดาทำยังไง อะไรคือความกตัญญู แล้วเรากตัญญูหรือยัง หรือแค่ฟังเฉยๆ
หลวงปู่...เป็นนักเรียนนักศึกษาเราก็ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่ไปหาเที่ยวเล่นไม่เป็นประโยชน์ นี่ก็เรียกว่ากตัญญูนะ

โอวาทธรรมสั้นๆกลางสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี58
หลสงปู่ทองอินทร์ กตปุญโญ






ในฐานะศิษยานุศิษย์ เราต้องแสดงความเคารพในบริขารของครูบาอาจารย์ อย่างเช่น ราวตากผ้า แก้วน้ำ กาน้ำ อาสนะ หรือของใช้ส่วนตัวของท่านก็ดี เราต้องแยกเก็บไว้ต่างหาก ศิษย์จะเอาของใช้ส่วนตัวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ไปใช้ไม่ได้เด็ดขาด อันนี้นับเป็นอริยประเพณีในการเคารพในครูบาอาจารย์ของพระกรรมฐาน ที่เมื่อเราได้เข้ามาศึกษากับองค์ท่านแล้ว เราก็ต้องเคารพในองค์ท่านด้วย ดังที่มีอยู่ในพระวินัยที่ว่า การที่ศิษย์ไปใช้บริขารครูบาอาจารย์นั้น ต้องถูกปรับอาบัติทุกกฏ
นอกจากนี้ ในที่นั่งหรือที่นอน หรือแม้แต่ในสถานที่ของครูบาอาจารย์ก็ดี ก็ให้ถือว่าเป็นที่ ๆ ศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าศิษยานุศิษย์ควรให้ความเคารพด้วยเช่นกัน อย่างในที่นั่งที่นอนของท่าน เราก็ไม่ควรจะไปนั่งเล่น หรืออย่างในทางเดินจงกรมของท่านก็ดี เราจะไปเดินเล่นในบริเวณนั้นโดยขาดความเคารพ อันนั้นห้ามเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าเราปัดกวาดทำความสะอาด สิ่งเหล่านี้คือ อาจาริยวัตร วัตรปฏิบัติของศิษย์ที่พึงมีต่อครูบาอาจารย์
(โอวาทธรรม หลวงพ่ออินทร์ถวาย)





“ถ้าขาดภาวนา
ปัญญาก็ไม่เกิด
การภาวนา ปัญญามันค่อยเกิด
ค่อยมีขึ้น ต้องอาศัยภาวนา
เพราะทุกอย่างมันออกจากจิต”

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ
วัดผาเทพนิมิต จ.สกลนคร





"ถ้าใครไม่ฝึก ปล่อยให้ลอยลมไปตามกิเลส ก็นานกว่าจะพ้นทุกข์
การละกิเลส ไม่มีใครสามารถละให้ใครได้ ต้องฝึก ต้องฝืนเอาเอง"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ





วันหนึ่งๆ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะนอน ให้ไหว้พระเสียก่อนเรียบร้อยแล้วนั่งภาวนา เอา เพียง ๑๐ นาทีนี้เป็นยังไง ในรอบวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงขอเพียง ๑๐ นาทีเป็นการภาวนา เพื่ออบรมจิตใจเราให้สงบอารมณ์วุ่นวายทั้งหลาย จะได้หรือไม่ได้ ต้องทดสอบเจ้าของ บังคับเจ้าของ ไม่อย่างนั้นหาความดีไม่ได้นะ ไม่ได้มากละ เอาวันหนึ่งเวลาจะหลับนอนขอให้ได้ ๑๐ นาทีก็ยังดี ใน ๒๔ ชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง ๖๐ นาทีขอเพียง ๑๐ นาทีเท่านั้นจะไม่ได้เหรอบังคับตัวเอง ภาวนาให้ได้วันละ ๑๐ นาที เอ้ามันจะตายจริงๆ หรือ ว่างั้นนะ บังคับตัวเอง วันคืนหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงขอเพียง ๑๐ นาทีมาบำเพ็ญจิตใจ ซึ่งเป็นของมีคุณค่า ธรรมอันมีคุณค่าเข้าหัวใจตนเองเพียง ๑๐ นาทีเท่านี้ไม่ได้เหรอ บังคับเข้าต้องได้ ว่างั้นเลย เช่นให้ทานเป็นประจำ หรือไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนาขอ ๑๐ นาทีเป็นประจำ นอกจากนั้นให้ท่านทั้งหลายเสาะแสวงหาเองเพื่อความดีสำหรับท่านทั้งหลายเอง ครูบาอาจารย์เป็นแต่เพียงผู้บอกผู้ชี้แนวทาง การกระทำเป็นเรื่องของเราทั้งหลายเอง ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้

เรื่องนั่งตลอดรุ่ง หามรุ่งหามค่ำพูดเพื่ออะไร เราพูดเพื่อเป็นคติ นี่ไม่ได้ถึงตลอดรุ่งอะไรเพียงขอ ๑๐ นาทีเท่านั้น ขอจากท่านทั้งหลายเพื่อฝึกทรมานตนให้เป็นคนดีสำหรับเรา นี่ฟาดตลอดรุ่งๆ ไม่เห็นตายวะมาสอนท่านทั้งหลายอยู่เวลานี้ ขอเพียง ๑๐ นาทีให้ไปปฏิบัติดัดแปลงตัวเองทำไมจะไม่ได้วะ เราเป็นลูกศิษย์มีครูจำให้ได้นะ

อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการภาวนานี้มีอานิสงส์มากนะ ใครจะเอาพุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้มากำกับใจเป็นคำบริกรรม เช่น พุทโธๆ เป็นต้น มีสติกำกับใจของตน กำกับคำบริกรรมของตนในช่วงเวลา ๑๐ นาที เอาให้ได้ ว่างั้นนะ ถ้าท่านทั้งหลายอยากเป็นคนดี ต้องบังคับตนเองนะ

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี





“คิดมาก ก็ทุกข์มาก
คิดน้อย ก็ไม่ใช่ไม่ทุกข์
เหตุแห่งทุกข์ ไม่ได้มาจาก
คิดมาก หรือ คิดน้อย
แต่มันอยู่ที่เราจะคิด”...

โอวาทธรรม:องค์หลวงตาพวง สุขินทริโย
วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร





ขันติ ความอดทนนี้ เป็นของ
ที่มีประโยชน์มากมาย … เป็นหนทาง
ที่นักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านสรรเสริญ
การงานอะไร ให้สำเร็จลุล่วงไปได้นั้น
ก็อาศัย ต้องมีขันติ ความอดทนกันทั้งนั้น ด้านการนั่งทำสมาธิ นั่งเจริญเมตตา ภาวนา
ฝึกฝน อบรมจิตใจนั้น ก็เหมือนกัน
ก็อาศัย ซึ่ง "ขันติ" ความอดทน

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
วัดอรัญญวิเวก บ้านปง อ .แม่แตง จ .เชียงใหม่






"ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ที่ใจ"

กิเลสไม่ใช่อยู่ในกาย มันอยู่ในใจ
ตัวผู้รู้ ตัวนึก ตัวคิด นั้นล่ะมันอยู่ในนั้นทั้งหมด
ไปให้ความสำคัญเรื่องนั้น ไปให้ความสำคัญเรื่องนี้
เรื่องทั้งหลายออกไปจากใจทั้งหมด
มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา
เรื่องทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วด้วยใจ
ใจตัวนั้นแหล่ะคือตัวผู้รู้ คือนามธรรม
เป็นตัวการใหญ่ ในหลักของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ครูบาอาจารย์จึงให้
มองไปถึงจุดนั้น จุดตัวผู้รู้ ตัวนึกคิด ตัวนามธรรมจุดนั้น
เรื่องทั้งหลายทั้งปวง ออกมาจากจุดนั้นทั้งหมด
ตัวนั้นเป็นตัวการใหญ่ วิชชาก็อยู่ในนั้น อวิชชาก็อยู่ในนั้น
กิเลสก็อยู่ในนั้น ผู้รู้แจ้งเห็นจริงก็อยู่ในนั้น
เหมือนกับพวกเราท่านทั้งหลาย แต่ก่อนเราไม่รู้ ก.ไก่ ข.ไข่
แต่บัดนี้เมื่อเราเรียนรู้ ก.ไก่ ข.ไข่แล้ว มีความรู้ขึ้นมาแล้ว
แล้วตัวที่ไม่รู้มันหายไปไหน มันก็หายไปอยู่ในนั้นล่ะ
ที่มันไม่รู้ แต่ก่อนมันไม่รู้ มันก็อยู่ในนั้นอีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ในหลักธรรมคำสอนของพุทธะ
ที่ท่านได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ท่านไม่ได้ตรัสรู้ที่ไหนนะ พวกเราท่านทั้งหลาย
ท่านตรัสรู้ในพระทัย ในใจของพระองค์เอง
รู้แจ้ง เห็นจริง ตามสภาพแล้วก็ปล่อยวาง
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ขนาดร่างกายสังขาร ยังไม่ใช่ตัวตนของเรา
เราจะไปยึดมั่นอย่างอื่น ว่าเป็นเนื้อหนังมังสา
ว่าเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ ว่าเป็นสามีภรรยาลูกหลาน
เงินคำทรัพย์สมบัติจะเป็นของเรา
จะเป็นของเราได้อย่างไร เป็นของใช้ชั่วคราวเท่านั้นเอง
ไม่ใช่ของที่จะยึดมั่นถือมั่น นี้ล่ะหลักธรรมคำสอนของพุทธะ
พอถึงจุดนั้น เราต้องปล่อยว่างอย่างนั้น
แต่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ยังครองธาตุขันธ์อยู่ เราก็ดำเนินไปตาม
ธาตุขันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เราอย่าไปถือว่าอันนี้คือเนื้อ คือหนัง
เราจะไม่หนีไปไหน อันนั้นคิดผิดเสียแล้ว
เมื่อเราอยู่ทางโลก อาหารร่างกายเราก็ต้องมี
อาหารจิตใจ ที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงปล่อยวาง ก็ต้องมี
เพราะฉะนั้นให้พวกเราท่านทั้งหลาย
ให้แบ่งแยกให้ออกว่า การเป็นอยู่นั้นคืออะไร
ทางด้านจิตใจนั้นคิดอย่างไร ที่จะพ้นทุกข์ในวัฏะสงสารได้

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา "ธรรมทวนกระแสโลก"
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๙






จะถามว่าขันธ์คืออะไรอยู่ที่ไหน ขันธ์ก็แปลว่ากองนั่งอยู่นี่ล่ะ คือกองรูป นี่ขันธ์หนึ่ง ขันธ์ที่สอง คือเวทนา คำว่าเวทนานี้คือความเสวยนี้ให้เข้าใจ สุขก็สุขเวทนา ทุกข์ก็ทุกข์เวทนา ทีนี้เมื่อมันเฉยๆอยู่ มันไม่ปรุงไม่แต่ง มันไม่มีคิดไม่นึก มันอื่อทื่ออยู่นี้ นี่ท่านให้เรียกว่า อุเบกขาเวทนาอีกเด้นี ไม่เจ็บไม่ร้อน ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปไม่เป็นอะไร มันเฉยๆ นี่ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน ขันธ์ที่สาม คือสัญญา ท่านแยกออกไป สัญญาความจำได้หมายรู้ จำทุกสิ่งทุกอย่างล่ะ ทั้งจำทั้งระลึกรู้ ทีนี้เรื่องระลึกรู้นี้ เรื่องดีมันก็ระลึก เรื่องชั่วมันก็ระลึก ไม่ดีไม่ชั่วมันก็ระลึกเหมือนกัน เขาด่าเขาว่า เขาทำผิดอกผิดใจตั้งแต่ยังไม่มี พ.ศ.พุ้น ระลึกขึ้นมามันก็แดงขึ้นมาเผาจิตใจตัวเองพิษของมัน นี่สัญญา ขันธ์สี่ คือ สังขาร สังขารนี้ก็สังขารร่างกายและสังขารจิตใจ ความคิดก็เป็นสังขาร ความนึกก็เป็นสังขาร ความปรุงก็เป็นสังขาร ความแต่งก็เป็นสังขาร กิริยาการเกิดๆดับๆ นี้ก็เรียกว่าสังขาร ขันธ์ที่ห้า คือ วิญญาณ ความรับรู้ รู้ทางตาเรียกว่าจักขุวิญญาณ รู้ทางหูเรียกว่าโสตวิญญาณ รู้ทางจมูกเรียกว่าฆานวิญญาณ รู้ทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ รู้ทางกายเรียกว่ากายวิญญาณ รู้ทางใจเรียกว่ามโนวิญญาณ นี่มีเท่านี้ ธาตุทั้งสี่ ขันธ์ทั้งห้า อายตนะทั้งหก รวมย่นเข้ามารวมอยู่ในดวงจิตดวงใจนี้ จิตใจมาแบกมาหาม มายึดมาถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล ว่าเป็นของกูของมึง "..ถ้ามีสติ ถ้ามีปัญญา กายก็คือกาย จิตก็คือจิต เวทนาก็คือเวทนา จิตก็คือจิต สัญญาก็คือสัญญา จิตก็คือจิต สังขารก็คือสังขาร จิตก็คือจิต วิญญาณก็คือวิญญาณ จิตก็คือจิต.." นั้นนะ ถ้ามันรู้ มันไม่เข้าไปยึด แต่ถ้ามันไม่รู้มันก็เข้าไปยึด...

พระธรรมเทศนา:องค์หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม





"เฝ้ามองเรื่องของตัวเองมากกว่าที่จะไปเฝ้าดู
เฝ้ามองเรื่องของคนอืน เมื่อไม่ไปเฝ้าดูเฝ้ามอง
เรื่องคนอื่น เราก็ปล่อยวางได้

ตัวของตัวเองไม่ได้พิจารณาเลย
ไม่รู้ว่าตัวของตัวเองเป็นทุกข์ เป็นสุขอย่างใด
นั่นแหละ ทุกข์จึงมีหลายเท่าเพราะเราปล่อยใจ
ให้ไปคิดแต่เรื่องของคนอื่น"

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ






"เราเกิดมาแบบโลกเขาเกิดกัน
แต่เราจะปฏิบัติธรรม
และตายแบบธรรมครองใจ
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
เราตายแล้วเราจะไม่กลับมาเกิด
ในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล"

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน)






อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วทำให้เราหมดความคิด
เราทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ปัจจุบันชั่วขณะหนึ่ง
พอเราได้มองเห็นหน้าเห็นตา
ของจิตดั้งเดิมของเราว่าเป็นอย่างไร
ในเมื่อเราอบรมสมาธิให้มากๆแล้ว
ในเมื่อมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว
จิตของเรานี้มันยิ่งมีความคิดมาก
ยิ่งกว่าความคิดวุ่นวายเดี๋ยวนี้
แต่ความคิดที่มีสติเป็นตัวกลางสำคัญนั้น
ย่อมไม่เป็นการหนักอกหนักใจและก่อทุกข์ก่อยากให้แก่ใคร
เพราะฉะนั้น การทำสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย






โสดาปตฺติผล
ที่เรียกว่าสังโยชน์ทั้ง ๓ นั้นคือ
๑. สกฺกายทิฏฺฐิ "ความเห็น"เป็นเหตุให้ถือว่าก้อนกายนี้เป็นของตน
๒. วิจิกิจฉา "ความลังเล" เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในความดีที่เราเชื่อถือกันคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความจริงหรือไม่
๓. สีลพฺพตปรามาส "ความลูบคลำ" อยู่ในสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น กล่าวให้สั้น ก็ได้แก่
"การที่ยึดถือความดีทั้งหลาย อันเป็นส่วนของกิริยาภายนอก เป็นต้นว่า
"รักษาศีล" หรือทำข้อวัตรปฏิบัติ ก็ยึดถือเอาแต่อาการของกายของวาจาเท่านั้น ศีลก็รักษากันแต่สิกขาบท
"สมาธิ" ก็ได้แต่กิริยานั่งโด่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นออกจากตนได้ ยังคอยยึดเอาความดีอันเกิดจากกิริยานั้นอยู่
โสดาปตฺติผล ท่านได้ดำเนินในไตรสิกขา คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" ได้ "รู้แจ้งเห็นจริง" ใน "อริยสัจ ๔" จึงจะได้ "ละสังโยชน์ ๓ ประการ" ออกจาก ดวงใจของท่าน
จึงได้หลุดเข้าไปใน “กระแสของนิพพาน”
โสดาที่ท่านได้ “ละขาด” แล้ว ใจท่าน “ไม่ข้อง”อยู่ใน “ลัทธิประเพณี”
“ศีล” ของท่าน เข้าถึง “ตัวจริงของศีล” ศีลก็ปราศจาก "กาลเวลา"
ปุถุชนนั้น จะต้องมอบหมายความดีให้ "กิริยาภายนอก" อยู่ เป็นต้นว่าศีลอยู่กับวัน ๘ ค่ำ อยู่กับวัน ๑๕ ค่ำ อยู่ในพรรษา อยู่ในเดือนปี แล้วยึดกันอย่างมั่นคง ถ้าใครทำไม่ถูกตามประเพณีลัทธินั้นๆ แล้ว ก็หาว่าไม่เป็นศีลเป็นธรรม
ในที่สุดก็เลยหาโอกาสทำความดีได้ยาก นี่แหละจึงเรียกว่า “ไม่รู้จักหลักเกณฑ์แห่งความดีทั้งหลาย”
“เครื่องกั้นแห่งความดี” เป็นต้นว่า “ทาน ศีล ภาวนา” ที่เคยถือกันมาว่า วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ ที่เราเรียกว่าบุญนั้นแหละ เป็นเครื่องกั้นแห่งความดี
โสดา อุปมาเปรียบเหมือนบุคคลที่แจวเรือถูกร่องลงแหล่งแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแต่ที่จะลอยไปสู่ปากน้ำสมุทรสาคร กล่าวคือ "อมตนฤพาน" นั้นถ่ายเดียว
ที่แสดงออกมานี้เป็นความเห็นส่วน "โลกุตตรภูมิ" ของจิตทั้งหลาย ฉะนั้นผู้ฟังทั้งหลายให้ "ไตร่ตรองดู"

ท่านพ่อลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ






“ผู้ใดที่คิดว่าเกิดมาแล้ว
จะต้องมีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้
คนผู้นั้นจะต้องผิดหวังอย่างที่สุด
เพราะความจริงแล้ว ในโลกนี้
เขาไม่มีความสุขให้แก่ใครเลย
จึงให้ปล่อยปลดเปลื้องเครื่องรกรุงรังในหัวใจเสียให้หมด
ปล่อยเสีย วางเสีย จะได้เบาสบายขึ้นบ้าง”...

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร