วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2019, 05:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


โยม..อย่าลืมนะ หน้าที่ของเรานั้น ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา ธรรมะอย่างนี้...ใครๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้

หลวงปู่ชา สุภทฺโท





...ผู้ที่เสียสละทำประโยชน์ส่วนรวมเพื่อผู้อื่น จะมีกิน
ไม่หมด ไม่อด ไม่อยาก ตลอดทุกภพทุกชาติ...

หลวงพ่อกานต์ วรธัมโม
วันอาทิตย์ ที่ 15 กันยายน 2562 เวลา : 14.00 น
ณ วัดอุตรดิตถ์ธรรมาราม




...การเจ็บปวดเมื่อนั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าว่าให้สู้กับมัน มันจึงจะเห็นทุกขเวทนา นั่งสมาธิมันเจ็บให้ดูมัน มันเกิดมาจากไหน เวทนามันก็เวทนาต่างหากไม่มีตัว เราก็พิจารณาให้รู้เท่านั้นแหละ ของไม่มีตนมีตัว มันเกิดขึ้นก็เกิดจากร่างกายเนื้ออย่างหนึ่ง แล้วก็มันรู้สึกถึงจิต รู้ถึงกัน จิตก็ไปยึด ยึดมันก็เจ็บ หนักเข้าก็ไม่สู้มัน ต้องสู้มัน มันจะเห็น
พระพุทธเจ้าว่ากำหนดให้รู้ทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากเหตุ คืออยากเป็น อยากมี ความอยากเป็นอยากมี ความอยากมันเกิดมาแต่เหตุ เหตุมันเกิดมาจากไหน เหตุมาจากความไม่รู้ ไม่รู้เท่ากาย
จนกระทั่งความคิดทั้งหลายเข้ามามันก็ไม่รู้ทั้งนั้น คือมันโง่เรียกว่าอวิชชา เป็นเหตุให้สัตว์ผู้ไม่รู้เท่าเกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความอยากเป็นอยากมี เป็นเหตุให้วนเวียนเรียกว่าสังสารจักร์วัฏฏกา เวียนอยู่อย่างนั้น เป็นเหตุให้เราเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
กรรมดีเหมือนพวกคุณหมอก็ดี ไม่เจอะทุกข์ปานใด เกิดมาไม่เสียชาติเกิดเป็นมนุษย์ มิหนำได้เกิดมาพบโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดมาในปฏิรูปประเทศ ประเทศอันสมควร คือประเทศมีพระพุทธศาสนา ประเทศมีนักปราชญ์อาจารย์เพื่อนแนะนำสั่งสอน ประเทศอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นมงคล
พวกท่านทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท อตฺตสมฺนา ปณิธิ ผู้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ อาชีพเลี้ยงชีพภายนอกดีโดยชอบธรรม โอวาทคำสั่งสอนก็ไม่ประมาททุกสิ่งทุกอย่าง มีการจำแนกแจกทาน มีการสดับรับฟัง แล้วก็ปฏิบัติตามดำเนินตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ธรรมทั้งหลายมีกายกับใจเท่านั้นแหละ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจที่มันรู้เท่าแล้วก็มีความหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ทางความชั่วมันก็รู้เท่า แล้วมันก็เอาอยู่นั่นแหละ ไปยึดภพน้อยภพใหญ่อยู่นั่นแหละ พวกเรายังนับว่าไม่เสียที แม้ยังไม่มีความเบื่อหน่ายก็ยังเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เอาทรัพย์สมบัติ คืออริยทรัพย์ให้ได้ให้เกิดให้มีอยู่ในหมู่ของตน อยู่ในสันดานของตนสะสมไว้
อัตภาพร่างกายเป็นของไม่มีสาระแก่นสาร ทรัพย์ภายนอกก็ไม่มีสาระแก่นสาร ชีวิตของพวกเรา ความเป็นอยู่ก็ไม่มีสารแก่นสาร เรามาพิจารณารู้อย่างนี้แล้ว เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งทำคุณงามความดีประกอบขึ้น รีบเร่งสะสมอริยทรัพย์ ศีลของเราก็บริบูรณ์ไม่มีด่างพร้อย ตามภาวะของตน ศีล ๕ ศีล ๘ เดี๋ยวนี้พวกท่านกำลังอบรมสมาธิ กำลังจะเอาทรัพย์อันนี้ เรียกว่าอริยทรัพย์ ศีลก็เป็นอริยทรัพย์อันหนึ่ง สมาธิก็เป็นอริยทรัพย์
หมั่นอบรมจิตใจ ปัญญาก็เป็นอริยทรัพย์ หมั่นอบรมจิตใจ เวลาเราเข้าสมาธิ จงให้สติประจำใจ กำหนดสติให้แม่นยำ รักษาจิตใจของเราให้อยู่กับที่ และให้จิตใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กิจการงานของเราเคยทำมาอย่างไรก็ดี เวลาเข้าที่ให้ปล่อยวางให้หมด ความรัก ความชัง อดีต อนาคต วางปล่อยวาง ไม่ให้เอาใจใส่เรื่องนั้นๆ ให้มีสติประจำ ไม่ให้มันไปตามอารมณ์เหล่านั้น
ครั้นควบคุมสติได้แล้ว จิตมันอยู่คงที่แล้ว อยู่กับกายของตนแล้ว ให้มันเห็นกายของตนนั่นแหละ สิ่งอื่นอย่าให้มันมาเป็นอารมณ์ของใจ ครั้นจะเพ่งเอาอารมณ์ ก็ต้องเพ่งเอาอัตภาพสกนธ์กายของตนนี้ ให้มันเห็น มันกรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พระพุทธเจ้าแจกไว้หมดแล้ว
ไม่ใช่คน ไม่ใช่คน แต่ไปยึดถือมัน ผมไม่ใช่คน ขนไม่ใช่คน เล็บไม่ใช่คน เราจะมาถือว่า ตัวว่าตนอย่างไรล่ะ ฟันก็ไม่ใช่คน ฟันมันต้องเจ็บต้องคลอน ต้องโยก ต้องหลุด อันนี้มันไม่ใช่ของใคร
สิ่งเหล่านี้เป็นของกลางสำหรับให้เราใช้ เราต้องหมายเอาใจไว้เสียก่อน แท้ที่จริงก็ไม่ใช่ของเราอีกนั่นแหละ ถ้าใจเป็นของเราแล้ว เราบอกว่าเราบังคับคงจะได้ อันนี้ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แล้วแต่มันจะไป ถึงคราวมันจะเป็นมันถือกำเนิดขึ้น มันยังไงมันก็ไม่พัง จะตีมันก็ไม่พังอีกแหละ
เพราะเหตุนั้นมันจึงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องรู้เท่ามัน เวลาเราภาวนา อย่าให้มันอะไรเข้ามาเป็นอารมณ์นอกจากสังขารตัวนี้ มันก็ให้เห็นเป็นอนิจจัง ให้เห็นไตรลักษณ์ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก เห็นเป็นไตรลักษณ์ แล้วก็ให้เห็นเป็นปฏิกูลสัญญาของโสโครกน่าเกลียด ให้เห็นมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา
แล้วก็ไม่ใช่จริงๆ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก ไต หัวใจ ตับ ม้าม พังผืด อาหารใหม่ อาหารเก่า มันไม่ใช่เราทั้งนั้น ถ้าแจกออกไปไม่ต้องไปยึดถือนะ ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าว่า
เรายังไม่ยึดถือว่าผมของเรา ขนของเรา เล็บของเรา ฟันของเรา อันนั้นแหละห้าม บางทีจิตของเราใจของเราถูกกับอันหนึ่งอันใด ก็เอาอันเดียวเท่านั้นแหละพระพุทธเจ้าแจกไว้ แต่ว่าจริตของคนนิสัยของคน มันถูกอันไหนก็เอาอันนั้นแหละ จิตมันหยุดจิตมันสงบกับพุทโธ จิตใจกับพุทโธ มันก็อยู่กับพุทโธ
อาตมามันถูกกับพุทโธ ตั้งใจเอาไว้ ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดเอาสติรักษาใจไว้ เอาพุทโธไม่เผลอสติ ให้เห็นพุทโธตั้งอยู่กลางใจนี้ ไม่สบายเลยหาย อาตมานิสัยถูกกับพุทโธ บริกรรมอัฐิกระดูก บางทีมันก็ถูก ถูกมันก็ปรากฏเห็นกระดูกหมดทั้งสกนธ์กาย
พระพุทธเจ้าต้องการให้จิตมันเห็นจิต มันไม่เห็นให้บริกรรมให้เห็น ต้องการให้มันเบื่อหน่าย ให้มันเห็นว่าไม่ใช่ตน สิ่งเหล่านี้ ธาตุทั้ง ๑๘ ก็ดี ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น อายตนะก็ดีตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น เรามาสำคัญว่าหู ว่าจมูก ว่าตา ว่าลิ้น ว่ากาย ว่าใจเป็นของเรา เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น นั่งก็ให้มีความเจ็บ เจ็บบั้นเอว ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขาอะไรนั้น สมาธิก็ต้องออก ท่านจึงให้สู้มัน ไม่ต้องหลบมัน เราจะสู้ข้าศึกก็ต้องอย่างนั้นแหละ ต้องมีขันติความอดทน ทนสู้กับความเจ็บปวดทุกขเวทนา ดูมัน จิตมันถูกอันใดอันหนึ่ง
เมื่อเราสกัดกั้นไม่ให้มันแส่ส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น เรียกว่ากามคุณ ๕ ไม่ให้ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันจะอยู่ที่ มันก็ว่างอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เข้ามาคลุกคลีดวงจิตแล้ว จิตตั้งมั่นเรียกว่าจิตว่าง ไม่มีอะไรมาพลุกพล่าน เหมือนกันกับน้ำในขัน หรือน้ำอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อมันไม่กระเพื่อมแล้วมันนิ่ง ก็เห็นสิ่งทั้งปวงอยู่ในก้นขัน ต้องเห็น เห็นอันนี้ เห็นแล้วเราต้องสละปล่อยวาง มันจะเห็นโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ
เรามี เราจะได้พยายามละถอนสิ่งเหล่านี้ออก ปล่อยจิตว่างแล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่ง ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอารมณ์มาฉาบทาดวงจิตแล้ว ดวงจิตใส ดวงจิตขาว จิตก็เย็น มีแต่ความสบาย มีความสุขรู้เท่าสังขาร รู้เท่าสิ่งทั้งปวง รู้เท่าความเป็นจริงแล้ว เกิดอันใดอันหนึ่งก็ดี หรือไม่ก็ครบรอบก็ดี เมื่อพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว จิตของเราไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะจะมาถึงก็ตาม ทุกขเวทนาเจ็บปวดมาถึงก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น
เมื่อรู้เท่าความเป็นจริงแล้ว ความติฉินนินทาก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น เสื่อมลาภก็ตาม เสื่อมยศก็ตาม เสื่อมสรรเสริญรักชอบก็ตาม ไม่เอาใจใส่เอามาเป็นอารมณ์ มันก็มีความสุขเท่านั้น
จะหาความสุขใส่ตนก็มีแต่ฝึกฝนทรมานตนนั่นแหละ
พระพุทธเจ้าท่านว่า สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ให้ทรมานจิตฟอกฝนจิตของเรา ฝนจิตให้มันว่าง ให้มันรู้เท่าความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตนั่นแหละจะทำประโยชน์มาให้ในชาตินี้ คือนำความสุข คือนิพพานมาให้ หรือจิตเรายังไม่พ้น ก็จะนำสวรรค์มาให้ นำเอาความสุขมาให้ตราบเท่าตลอดเวลา ตราบเท่าชีวิต แล้วมีสติคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป...

หลวงปู่ขาว อนาลโย





ใครเพียร ใครอาจหาญ ใครอดทน ในการต่อสู้กับกิเลสตัวฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นจะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจในโลกนี้ ในบัดนี้ และในดวงใจนี้ ไม่เนิ่นนานเหมือนการท่องเที่ยวที่เจือไปด้วยสุขด้วยทุกข์อยู่ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรม เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนเรื่อง กาย วาจา จิต มิได้สอนเรื่องอื่น ทรงสอนให้ปฎิบัติฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากาย เรียกว่า..กายานุปัสสนาสติปัฏฐานหัดสติให้มากในการค้นคว้า เรียกว่า..ธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง การประกอบความพากเพียร ทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า...

โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต





ปฏิบัติธรรม วัดผลอย่างไร?

“เมื่อเราได้ทุนและเครื่องประกอบในการเดินทางแล้ว ต่อไปนี้ ก็จะเข้าสู่การเดินตามมรรค ได้บอกแล้วว่า ตัวทางที่เดินก็คือ “มรรค” มรรคมีองค์ ๘ ประการ อันนี้ทราบกันแล้ว ไม่ต้องบรรยายในรายละเอียด และก็ได้บอกแล้วด้วยว่า การฝึกชีวิตให้ดำเนินตามมรรค หรือการทำตัวให้เดินไปตามมรรคนั้นคือสิกขา หรือการศึกษา ดังได้อธิบายแล้วว่า การศึกษากับมรรคสัมพันธ์กันอย่างไร

ทีนี้ต่อไป ก็จะพูดถึงการตรวจสอบหรือวัดผล เมื่อกี้นี้ได้บอกให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเองโดยดูว่าโลภ โกรธ หลง มีน้อย หรือมาก ได้ลดละให้เบาบางหรือหมดไปหรือยัง แต่นั้นเป็นการตรวจสอบ โดยพูดเชิงลบอย่างรวบรัด

ก) ดูกุศลธรรมที่เพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปมีการวัดด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศล-ธรรม คือจะต้องดูว่า กุศลธรรมเจริญขึ้นมาแทนที่อกุศลแค่ไหน หลักการวัดความเจริญในการเดินตามมรรค หมวดหนึ่งมี ๕ อย่าง

ประการที่ ๑ ดูว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นความดีงามมากขึ้นหรือไม่ มีความมั่นใจแม้แต่ในโพธิสัทธา เชื่อในศักยภาพของตนเองที่จะพัฒนาขึ้นไปหรือไม่ เมื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็เรียกว่า มีศรัทธามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลธรรมที่เจริญเพิ่มขึ้น โดยสรุป คือดูว่ามีศรัทธา มีความเชื่อมีความมั่นใจในกุศลธรรมในความดีงามต่างๆ มากขึ้นหรือไม่

ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป มีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม อันนี้เป็นส่วนที่แสดงออกภายนอกในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น ต้องเอามาวัดดูด้วยว่าเราดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มั่นคงในสุจริตมากขึ้นไหม มีระเบียบวินัยราบรื่นดีไหม มีความสัมพันธ์กับโลกกับมนุษย์กับสังคมดีขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่า มีศีล ดีขึ้นไหม

ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับได้ค้นคว้าอะไรต่างๆ มากขึ้นไหม ได้เรียนรู้มากขึ้นและกว้างขวางเพียงพอไหมในธรรมที่จะปฏิบัติต่อๆ ไป หรือในสิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หรือในการพัฒนาตน ได้ประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลของความรู้มากขึ้นหรือไม่ เรียกสั้นๆ ว่ามีสุตะ มากขึ้นไหม

ประการที่ ๔ มีความลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม กิเลสต่างๆ โดยเฉพาะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัวนี่ละได้ มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงบ้างไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นไหม มีจิตใจกว้างขวางโปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่ามี จาคะ มากขึ้นไหม

ประการสุดท้าย คือปัญญา ได้แก่ความรู้ความเข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตรวจสอบว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไหม เรารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงมากเพียงใด เรามองเห็นเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายชัดเจนดี สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์พัฒนาให้เป็นผลดีหรือไม่ อันนี้เป็นตัวแกนแท้ที่ต้องการ เป็นตัวคุมทั้งหมด

ตกลงว่า หัวข้อนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการตรวจสอบความเจริญ คือดูว่ามีศรัทธามากขึ้นไหม มีศีลมากขึ้นไหม มีสุตะมากขึ้นไหม มีจาคะมากขึ้นไหม และมีปัญญามากขึ้นหรือไม่

หลักนี้เรียกว่า “อริยวัฒิ” แปลว่า ความเจริญของอริยชน ความเจริญแบบอารยะ ได้แก่ หลักวัดความเจริญหรือพัฒนาการของอารยชน

ถ้ามีความเจริญเพียงว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นอย่างเดียว แต่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้นไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง หรือมีโทสะมีความเกลียดชังมีกิเลสต่างๆ มากขึ้น ก็เช่นเดียวกัน

ข) ดูการทำหน้าที่ต่อธรรมต่าง ๆ
ที่จริงหลักตรวจสอบมีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งเป็นการดำเนินตามอริยสัจ ๔ กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่การดำเนินตามหลักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔ ในการปฏิบัติจึงต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่

อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อ ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด ก็ถือว่าเราได้เดินทางผิดแล้ว

อริยสัจข้อที่หนึ่ง ทุกข์ คือตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์ ก็คือหน้าที่ที่เรียกว่าทำความรู้จัก ท่านเรียกว่า กำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหน มีขอบเขตเพียงใด เราจะแก้ปัญหา เราจะแก้ความทุกข์ เราต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา ถ้าจับไม่ถูกแล้วก็เดินหน้าไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน แล้วก็เรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด

เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไม่มีหน้าที่ไปเอาปัญหามาวุ่นวายใจ มาเก็บมากังวลใจมาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ นี้เป็นประการที่หนึ่งคือรู้จักตัวปัญหา ตามที่เป็นจริง

อริยสัจข้อที่สอง สมุทัย คือเหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัย ก็คือสืบสาวค้นหามันให้พบ ให้รู้ว่ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วละมันให้ได้ แก้ไขกระบวนการให้สำเร็จ คือกำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์ ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน

อริยสัจข้อที่สาม นิโรธ คือความดับทุกข์ การแก้ปัญหาสำเร็จหรือภาวะปราศจากปัญหา เป็นความมุ่งหมาย การแก้ปัญหาสำเร็จคืออะไร จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ กระบวนการแก้เป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่ามันคืออะไรและเป็นไปได้แล้ว เราก็มีหน้าที่ต่อมันคือ บรรลุถึง หรือ เข้าถึง แต่การที่จะเข้าถึงมัน คือจะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะกำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แก้ปัญหาได้ก็ดี จะต้องไปสู่ข้อสุดท้าย คือ มรรค

อริยสัจข้อที่สี่ มรรค มรรคเป็นทางเดินก็คือข้อปฏิบัติ ซึ่งเรามีหน้าที่คือ ลงมือทำ เป็นข้อสุดท้าย ต้องลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิตของมรรคเป็นต้นไปทีเดียว

ธรรมทั้งหมด จัดเข้าในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งสิ้น

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์ หรือที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องประเภทหนึ่งนั้น จัดเข้าในจำพวกที่เรียกว่าทุกข์ ซึ่งเป็นปัญหาและสิ่งที่ต้องเผชิญ
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สอง จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่เป็นโทษ ก่อทุกข์ภัย หรือเป็นสาเหตุของปัญหา
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สาม จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่พึงประสงค์ หรือเป็นจุดหมาย และ
สิ่งทั้งหลายประเภทที่สี่ จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่จะต้องทำ หรือเป็นวิธีปฏิบัติ
และเราก็มีหน้าที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง อย่างที่หนึ่งทำความรู้จัก กำหนดให้ถูก อย่างที่สองกำจัดสาเหตุ อย่างที่สามคือเข้าถึงจุดหมาย และอย่างที่สี่ คือลงมือทำหรือลงมือเดินทาง

หลักการนี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือ ในเวลาที่ไปเกี่ยว- ข้องกับธรรม ก็ควรจะจัดให้ถูกด้วยว่า ธรรมนั้นอยู่ในประเภทไหนใน ๔ ข้อนี้ เมื่อจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ว่าหน้าที่ต่อข้อนั้นคือเราจะต้องทำอะไรอย่างไร

ธรรม ๔ ประเภทนั้น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะตามหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อมัน คือ

๑. สิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์ เป็นปัญหา เป็นที่ตั้งของปัญหาหรือเป็นจุดเกิดปัญหาเมื่อมนุษย์ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เรียกว่า ปริญไญยธรรม คือ สิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หรือทำความรู้จัก

ตัวอย่าง เช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิต โลก ความผันผวนปรวนแปร วิปโยค โศกเศร้า ผิดหวัง ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด ความจำ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ไตรลักษณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๒. สิ่งทั้งหลายที่เป็นจำพวกเหตุก่อทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา เรียกว่า ปหาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องละเลิก แก้ไข กำจัด

ตัวอย่าง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว ความถือตัว ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความเกลียดชัง ความริษยา ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความเฉื่อยชา ความฟุ้งซ่าน ความระแวง ความประมาท ความโง่เขลา ฯลฯ (อกุศลมูล กิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อวิชชา อุปาทาน สังโยชน์ นิวรณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๓. สิ่งทั้งหลายที่พึงประสงค์ เป็นจุดหมายที่ควรทำให้สำเร็จ หรือควรได้ควรถึง เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องเข้าถึงหรือประจักษ์แจ้ง

ตัวอย่าง เช่น ความสงบ ความร่มเย็น ความบริสุทธิ์ ความปลอดโปร่งโล่งเบา ความผ่องใส ความเบิกบาน ความไร้ทุกข์ ความสุขที่แท้ สุขภาพ ภาวะปลอดพ้นปัญหา ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ฯลฯ (วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน และธรรมอื่นทำนองนี้)

๔. สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ต้องทำต้องบำเพ็ญเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องทำให้มีให้เป็นขึ้น ให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนขึ้น หรือต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ

ตัวอย่าง เช่น เมตตา ไมตรี หรือมิตรภาพ กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ ความขยันหมั่นเพียร ความมีกำลังใจ ฉันทะ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ (มรรค ไตรสิกขา สมถะ วิปัสสนา และธรรมอื่นทำนองนี้)

รายละเอียดของธรรม ๔ ประเภท หรือการจัดประเภทสิ่งทั้งหลายในโลกมีอย่างไร จะไม่กล่าวในที่นี้ แต่พูดง่ายๆ ว่า หลักนี้ท่านให้ใช้ในการตรวจสอบวัดผลสำเร็จในการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรมว่า

สิ่งที่ควรกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้หรือรู้จักแล้วหรือไม่
สิ่งที่ควรแก้ไขกำจัด เราได้แก้ไขกำจัดแล้วหรือยัง
สิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง เราได้ประจักษ์แจ้งแล้วแค่ไหน และ
สิ่งที่ควรปฏิบัติจัดทำให้เกิดให้มีขึ้นจนบริบูรณ์ เราได้ปฏิบัติจัดทำแล้วเพียงใด
ค) ดูสภาพจิตที่เดินถูกระหว่างทาง
ในการปฏิบัติธรรม คือ ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือฝึกฝนพัฒนาตนไปนั้น ระหว่างการปฏิบัติ พัฒนาหรือศึกษาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ควรจะสังเกตดูสภาพจิตใจของตนไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

ในกรณีทั่วไป ถ้าไม่มีเหตุพิเศษ เมื่อปฏิบัติถูกต้องจิตเดินถูกทางก้าวหน้าดี ก็จะเกิดมีสภาพจิตที่ดีงามสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นทั้งคุณสมบัติของจิตนั้น และเป็นลักษณะของการปฏิบัติที่ได้ผล

ลักษณะของจิตที่เดินถูกทางนั้น ที่ควรสังเกตมี ๕ อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งทอดต่อกันตามลำดับ คือ

๑. ปราโมทย์ ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ

๒. ปีติ ได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น

๓. ปัสสัทธิ ได้แก่ ความรู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่น ระงับลง เย็นสบาย

๔. สุข ได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น

๕. สมาธิ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน

พอสมาธิเกิดขึ้น จิตใจก็มีสภาพเหมาะแก่งาน ที่ท่านเรียกว่าเป็น
กัมมนีย์ พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนา คิดการ และเป็นที่ทำงานของปัญญาอย่างได้ผลดี และสมาธิก็อาศัยองค์ธรรม ๔ อย่างแรกนั่นแหละช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น

สภาพจิต ๕ อย่างนี้ เป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีงามโดยตัวของมันเอง และเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จึงควรพยายามทำให้เกิดขึ้น และการทำสภาพจิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

เพียงแค่ข้อที่ ๑ มีปราโมทย์ ทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานไว้มากๆ เมื่อปราโมทย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง จิตเดินดีแล้ว ท่านให้ความมั่นใจว่าจะลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย ดังคาถาธรรมบท ที่ ๓๗๖, ๓๘๑ ว่า…

“ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ
ลำดับนั้น เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้น
ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน
อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ
ภิกษุผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า มากด้วยปราโมทย์ จะพึงบรรลุสันติบท ที่สงบระงับสังขาร เป็นสุข”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือเรื่อง “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”









"มองตัวเองให้มากจึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไป ไม่รู้ตัว
เพราะนิสัยคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร
พุทธศาสนาก็ยืนยันว่า "สอนตนดีแล้ว จึงสอนท่านผู้อื่น" จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เรื่องอุปสรรคในโลกทั้งปวง และก็เป็นยาวิเศษทั้งปวงไปในตัว
เป็นเหตุให้เข็ดหลาบโลกทั้งปวงไปในตัว แบบถี่ถ้วนแยบคายด้วยซ้ำ
มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์

โอวาทธรรม หลวงปู่หล้า เขมปัตโต







...ถ้าเรามีสติ
เราจะรู้อยู่ตลอดเวลาว่า
เรากําลังคิดอะไร
กําลังจะพูดอะไร
และกําลังจะทําอะไร

.
เราจะสามารถ
ควบคุมการกระทําของเรา
การพูดของเรา
และความคิดของเราได้

.
จึงขอให้เราให้ความสําคัญ
ต่อการ ..”ตั้งสติ” อยู่เสมอ
พยายามตั้งสติอยู่เรื่อยๆ

.
แล้วต่อไป
เวลาจะทําจิตใจให้สงบ
ก็จะไม่ยากเย็นอะไร
นั่งพุทโธๆ..เดี๋ยวเดียว
จิตก็รวมลงสู่ความสงบได้.

.......................................
.
ธรรมะโดนใจ เล่ม1 หน้า14
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






...เพราะฉะนั้น
พยายามปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

"แล้วมารักษาใจ มาแก้ใจ"
มาควบคุมใจ บังคับใจ
ให้อยู่อย่างสงบ..."เป็นอุเบกขา"

ให้ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่คือ.."เป้าหมายของการปฏิบัติ".

..................................
.
จุลธรรมนําใจ 21 กัณฑ์ที่ 410
ธรรมะบนเขา 28/3/2553
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวราราฒฯ ชลบุรี






"ความสงบนี้สำคัญมาก
ถ้าไม่สงบ จะไม่เห็นกิเลส
ถ้ามีความสงบ พอไปสัมผัสรับรู้อะไร
แล้วใจกระเพื่อมขึ้นมา ก็จะรู้ทันทีว่า
กิเลสโผล่ออกมาแล้ว
...
ระดับของใจที่ไม่สงบ ต้องกระเพื่อมแรง
หน้าดำคร่ำเครียด ร้องห่มร้องไห้
ถึงจะเห็นว่า ใจทุกข์

สำหรับใจที่สงบ
เพียงแต่คิด เพียงแต่อยาก เท่านั้นเอง
ก็จะเห็นว่า ใจทุกข์แล้ว"

หลวงพ่อสุชาติ อภิชาโต


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร