วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 11:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2019, 05:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"...เมื่อคุณหมอ ไพบูลย์ ปุษปธำรง ได้ทำแผลให้เป็นที่เรียบร้อย ท่านธมฺมวิตกโกก็สวดมนต์อุทิศแผ่ส่วนกุศลให้ แล้ววันนั้นท่านได้กล่าวกับหมอว่า..."

" หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นของธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับตั้งแต่คราวปู่ย่าตายาย เมื่อครั้งโบราณกาลมาแล้ว ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างที่ทุกวันมีคนส่วนมากคิด คนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องอาศัยสังขารเป็นที่อยู่อาศัยปกติธรรมดาสังขารเราก็จะมีเวลาจำกัด ย่อมจะมีการเสื่อมและทรุดโทรมเป็นธรรมดา ฉะนั้นความตายจึงไม่เป็นสิ่งที่เสียหายตรงไหน หากแต่เป็นเพียงเปลี่ยนสภาพจากหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งเท่านั้น

อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา ซึ่งในปัจจุบันขณะนี้กำลังคุยกันอยู่ แต่เวลาได้ล่วงเลยดับไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอก็ได้ทำแผลให้อาตมาเสร็จ ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้าน ส่วนอาตมาก็จะต้องกลับกุฎิ และทุกคนในที่นี้ก็จะต้องกลับไปสู่ที่อยู่อาศัยของตน นี่ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่เรายังมีชีวิตอยู่ มีสังขารร่างกาย เมื่อเราได้ลุกจากไปแล้ว สถานที่นั้นก็จะว่างเปล่าปราศจากผู้คนไปชั่วขณะ เพราะเราได้แยกย้ายกันกลับไปสู่ที่พัก เหตุการณ์วันนั้นก็จะเป็นแต่เพียงอดีตเท่านั้น จะมีก็แต่ความทรงจำเท่านั้นแต่จะให้อดีตนั้นย้อนกลับมาใหม่ก็ไม่ได้

ดังนั้นการตายก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงการจากไป มิได้สูญไปไหน หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็สามารถที่จะระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ขออย่าประมาท"

ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต
(ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)









"นั่งภาวนาให้ได้บรรลุไปเกิดบนสูงๆหน่อย ไปเกิดบนสววรค์ ไปเกิดบนพรหมโลก ไปนิพพาน บางคนว่าถ้าจะไปนิพพานจะตาย โอ้ย !!! ไม่ตายน่า ไปนิพพานไม่ตายน่า จิตใจไม่ตาย ได้เกิดเป็นเทวดาก็ยังดี อยู่บนสววรค์นานๆหน่อย รอพระศรีอาริย์ลงมาเกิด ถ้าเกิดมาในยุคนั้น สบายเด้ อาจจะบรรลุธรรมหลุดพ้นก็เป็นได้ ไม่ต้องมาเกิดเป็นทุกข์อีก"

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร
วัดป่าวิเวกพัฒนาราม อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ








ในโอกาสหนึ่งที่ไปโปรดศิษย์ที่เวียงจันทร์

“ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปร่วมทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ซามา อจุตโต หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ และผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไปแล้วให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ หลังจากที่ทางเวียงจันทร์นิมนต์แล้ว มีสุภาพสตรีคนไทยท่านหนึ่งซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้านเธอเล่าว่า หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ซามา หลวงปูบุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา เมื่อมาถึงบ้านเธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปูชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าหลวงปู่ชอบเอง หลวงปู่หลุยท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องปรนนิบัติ หลังจากฉันจังหันแล้วก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าเผื่อท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่ เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า หลวงปู่มีลูกศิษย์มากจะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตา ต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร เธอเล่าว่า ในคืนนั้นเธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นานก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน รุ่งขึ้นพอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่า “ไหนว่า จะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย” หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว ถามว่า “ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

“ท่านยิ้ม แล้วตอบว่า “ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน” ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าหอมเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใครนอกจากรำพึงกันระหว่างสองสามีภรรยาก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง”
“เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เธอบอกว่าทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแลตนเพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน”

“วันหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม่ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้ เธอเล่าว่า กลิ่นในครั้งก่อนๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังเกี่ยวกับการทำจิตใจให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า “ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ” ง่ายๆ เช่นนี้ ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักกันที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้นจวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร”

“ท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน”

“สามีของเธอเป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่าจะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินไปขึ้นเครื่องที่เวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์ แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปรากฏว่ามีนำเสนอเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องบินของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่านมาในเครื่องบินนั้นด้วย ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบินได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบิน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา หลวงปู่ชอบท่านก็ยิ้มๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบมาทีไรก็มีพระให้เห็นทุกทีได้ครบทุกคนทั้ง ๖-๗ คน สามีของเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่า เราจะขอไอ้งั่งเถอะ “ไอ้งั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศสาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้นออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขอไอ้งั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ชอบท่านก็ควักออกมาจากย่าม แล้วก็ได้พระ งั่ง จริง”

“เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใดๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่แสดงเท่านั้น”

“เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความอ่อนน้อมถ่อมตนของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุ ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้”

ที่มา ชีวประวัติ พระคุณเจ้า
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าโคกมน
บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย










ถ้าเราทำอะไรหวังผลตอบแทน ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นทันที
ถ้าเราทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ทุกข์ทางใจไม่เกิดขึ้นทัน

โอวาทธรรม : หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
แสดงโดย : พระอาจารย์พุทธศาสตร์ พุทธาจาโร
ณ วัดอุตรดิตถ์ธรรมาราม วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๙








ทำทาน ศีล ภาวนา ทำไปเรื่อยๆ อย่าไปเร่งๆมัน เหมือนมะนาว ถ้ายังไม่แก่บีบมันก็ไม่มีน้ำ แต่ถ้ามันแก่สุกงอมเต็มทีแล้ว เอามาบีบน้ำมันก็ไหลโจกๆเลย ทำความดีทำไปเรื่อยๆ ทำไม่หยุดๆ

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่ทุย ฉันทกโร วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ









คนเรานั้น สิ่งที่ใหญ่ยิ่งที่สุดก็คือ " จิตดวงเดียว "
ส่วนอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เป็นเพียงสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องสนอง
ใจที่ตั้งไว้ดีแล้ว ให้ดียิ่งขึ้น
ถ้าใจของเราไม่ดีแล้ว
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ตอบสนองเหมือนกัน
ทำให้เราไม่ดียิ่งเหมือนกัน

หลวงพ่อทอง จันทสิริ








“จบ ป.๑
แต่รักษาศีล ๕ ได้
อาตมาเรียกว่า“บัณฑิต”
แต่ถ้าจบระดับสูงๆ แต่ยัง...
ชอบเอารัดเอาเปรียบคนอื่น
ทางพุทธศาสนาเรียกตรงๆ
ว่าเป็น “พาล”

ชยสาโรภิกขุ










“..ชีวิตนี้เป็นประดุจผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะที่คอยเก็บอานิสงส์ของกรรมดีชั่ว แล้วก็ให้ผลแก่เราเป็นผู้เสวย ถ้าเรานำชีวิตที่เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว น้อมพิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นภายในใจ ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนั่นแหละ จะเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทองขึ้นมาทันที เพราะร่างกายของคนนี้ไม่มีค่า มันมีค่าอยู่ที่หัวใจที่มีธรรม รูปธรรมทุกๆ อย่างจึงเป็นผ้าขี้ริ้ว นามธรรมคือหัวใจ ที่ฝึกปฏิบัติจนได้เห็นธรรมตามความสามารถ นั่นแหละเป็นทอง คือธรรมสมบัติอันล้นค่า ปรากฏเด่นขึ้นมาเป็นสักขีพยาน..”

(โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)










ที่ว่า "ของเรา" นั้นไม่จริง
แต่ "ความจริง" เท่านั้นเป็นของเรา
สิ่งที่เรายึดถือเป็นสมบัติครอบครองนั้น
มันเป็นสมบัติ "ของธรรมชาติ" ต่างหาก
ไม่ใช่สมบัติ "ของเรา"

"คนเรานี้มักสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง คือตอนแรกก็ยึดติดหวงแหนในสิ่งทั้งหลาย และในบุคคลทั้งหลายที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เมื่อไม่รู้เข้าใจความจริงและปฏิบัติให้ถูกต้องก็เกิดปัญหา ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง และก่อความเบียดเบียนกันกับผู้อื่น

ที่ว่าก่อทุกข์แก่ตนเองก็คือ มีความยึดติดผูกพันเกินไปจนทำให้มีความห่วงหวงแหนบีบคั้นใจตัวเอง ตลอดจนมีความทุกข์โศกเศร้าเหี่ยวแห้งใจในยามพลัดพราก ประการต่อไปก็ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่กันและกันในโลก เพราะเมื่อยึดติดหวงแหนก็ทำให้เห็นแก่ตน และเห็นแก่คนเฉพาะที่ตัวเองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งเกิดความลำเอียง แล้วก็ทำให้เกิดการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อเห็นแก่ตัวและกลุ่มพวกของตน อันนี้ก็เป็นต้นตอของปัญหาที่สำคัญในโลกมนุษย์

ไม่ใช่เพียงความยึดติดถือมั่นผูกพันเอนเอียงเท่านั้น มันยังพ่วงเอาความเข้าใจผิดมาด้วย ๒ ประการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญ คือ

ประการที่ ๑ คนเรานี้ทึกทักเข้าใจเอาเองว่า เรามีสิ่งต่างๆ เป็นเจ้าของสิ่งที่เรายึดถือครอบครองไว้ อันนั้นเป็นสมบัติของเรา เป็นของของเรา เรายึดถือคล้ายๆ กับว่ามันเป็นของของเราจริงจัง เมื่อมีความเข้าใจผิดยึดถือเป็นของเราจริงจังแล้วก็นึกว่าเราจะมีความสุขจากสิ่งเหล่านี้ มันจะให้ความสุขแก่เราแล้วจากนั้น

ประการที่ ๒ เมื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้ได้มาก ก็เข้าใจผิดต่อไปอีกว่าเรามีความเป็นอิสระจะทำอะไรก็ได้ เรายิ่งใหญ่ คนที่หาทรัพย์สินเงินทอง มีพวกพ้องบริวาร ครองอำนาจได้มากมาย ก็ถือว่าตัวนี้เก่ง เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นอิสระ มีอิสรภาพที่แท้จริง

ความเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ที่แท้แล้ว เป็นความเข้าใจผิด ลองมาพิจารณากันให้ถูกต้อง

ประการแรก ที่เราบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของของเราเป็นสมบัติของเรานั้น ที่แท้แล้วมันเป็นของเราจริงหรือเปล่า ที่จริงก็เป็นเพียงสมมติ คือว่าไปตามที่ตกลงกันในหมู่มนุษย์ที่ยอมรับการเข้าไปยึดถือครอบครอง ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกัน มันจะเป็นสมบัติของเราได้หรือเปล่า เอาแค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็เพราะโลกยอมรับ สังคมกำหนดกติกาขึ้น โดยสัมพันธ์กับการที่มนุษย์พัฒนาจิตใจขึ้นมา ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกันก็เป็นสมบัติของเราไม่ได้ ใครเขาจะมาทำอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะถือสิทธิได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราจริง แต่มันเป็นของธรรมชาติ คือ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง เราจะปรารถนาว่าให้มันเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น อะไรตามที่เราปรารถนาไม่ได้ แต่สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน สิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามปรารถนาของคนที่มายึดถือเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เราอยากให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ถึงอยากเท่าไร ถ้าไม่ทำเหตุปัจจัย ก็ไม่สำเร็จ มีแต่จะทำให้ช้ำใจ เพราะความอยากเป็นได้แค่สมุทัย ถ้าจะให้สำเร็จ ก็ต้องใช้ปัญญาทำการที่ตัวเหตุปัจจัย จึงจะเป็นมรรคและได้ผล เพราะปัญญาเป็นองค์ของมรรคาที่แท้ และสำเร็จด้วยการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัย

ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เรายึดถือเป็นสมบัติครอบครองนั้น มันเป็นสมบัติของธรรมชาติต่างหาก ไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นต้น เอาเข้าจริงมันก็หมุนเวียนไปตามคติของธรรมชาตินั่นแหละ มันไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของมนุษย์หรอก เราได้แต่มายึดถือกันตามสมมติชั่วคราวเท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่แน่นอน ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งของทั้งหลายและผู้คนที่เรายึดถืออยู่นี้เป็นของเราจริงหรือเป็นของธรรมชาติ ก็จะตอบได้ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา อันนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง มนุษย์มีความเข้าใจแบบพร่าๆ หลอกตัวเองไว้ว่า สิ่งที่เราไปยึดถือครอบครองนี้ ยิ่งยึดถือครอบครองไว้ได้มาก ก็จะทำให้เรามีความสุขได้มาก เพราะฉะนั้น คนจึงแสวงหากันใหญ่ แสวงหาลาภ ผลประโยชน์ ทรัพย์สิน เงินทอง เอาวัตถุอามิสต่างๆ มาบำรุงบำเรอความสุขของตนเอง ด้วยการบำเรอตา บำเรอหู บำเรอจมูก บำเรอลิ้น บำเรอสัมผัสกายของตน ถือว่าใครมีมากคนนั้นก็มีความสุขมาก นึกว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับว่านี่เป็นความสุขชนิดหนึ่ง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ แต่ปัญหาว่าเรารู้จักความสุขนั้นตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงของความสุขนั้นหรือเปล่าว่า มันแค่ไหน มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีต่อไปอย่างอื่นอีกไหม เป็นต้น ถ้าเรารู้ความจริงและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ความสุขนั้นก็ใช้ได้ และยังเป็นตัวต่อไปสู่ความสุขที่ยิ่งขึ้นไป แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความจริงแล้ว ความสุขชนิดนี้จะก่อความทุกข์ให้อย่างมหันต์ที่เดียว

ในหลักพระพุทธศาสนา ท่านถือว่าความสุขแบบใช้อามิสวัตถุมาเสพบำเรอตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัสกายนั้น ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรียกว่าความสุขจากการเสพอามิส หรือความสุขที่อาศัยวัตถุ ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เรียกเป็นภาษาพระว่า สามิสสุขแปลว่า ความสุขที่อาศัยอามิส เพราะเหตุที่ความสุขนั้นอยู่ที่สิ่งภายนอก เราจึงเห็นว่าถ้าเรามีวัตถุมากๆ เราก็จะมีความสุขมาก แต่มองอีกทีหนึ่ง พอหาวัตถุอามิสมากขึ้นๆ เราไม่รู้ตัวว่า ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าความสุขของเราและชีวิตของเราเองนี่ไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นหมด

เมื่อเอาความสุขของตัวเองไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น คนจำนวนมากก็ไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง พอไปหาสิ่งเหล่านั้นมามากขึ้นๆ คิดว่าตัวเองมีความสุขที่แท้กลายเป็นเอาความสุขของตัวเองไปไว้ที่สิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งในที่สุดไม่สามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนเอง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน กระวนกระวาย เพราะฉะนั้นคนที่ดำเนินชีวิตโดยวิธีนี้ จึงดำเนินชีวิตไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพ

มองอย่างผิวเผินเขาเข้าใจว่าตนเองมีอิสรภาพ โอ้โฮ นี่ฉันเป็นใหญ่ ฉันสามารถแสวงหาสิ่งทั้งหลายมาได้ตามใจชอบมากมาย ฉันมีความสุขมาก แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าตัวเองนั้นไม่มีความสุขที่เป็นของตนเองเลย ความสุขอยู่ข้างนอก ความสุขขึ้นกับสิ่งเสพเหล่านั้นหมดเลย ยามใดไม่มีสิ่งเหล่านั้น หรืออวัยวะ ชีวิตของตน ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของตนเสพอะไรไม่ได้ เช่น ยามป่วยไข้ หรือแก่ชรา ไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้นได้ ก็จะเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนกระวนกระวายอย่างหนัก พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้เท่าทันความจริงว่า ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอกซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ใช่ของเราจริงตามที่กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงที่จะให้ความสุข มันเป็นเพียงตัวประกอบของความสุขเท่านั้น ความสุขนั้นเราจะต้องสร้างสรรค์ให้มีในตัวเราให้มากขึ้น

คนที่ฉลาดจะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการที่จะพัฒนาตนเพื่อให้มีความสุขอยู่ในตัวเองมากขึ้นๆ เขาจะดำเนินชีวิตออกจากการพึ่งพาหรือจากความไม่มีอิสรภาพไปสู่ความมีอิสรภาพ อิสรภาพของมนุษย์นั้น คือ การที่มนุษย์สามารถอยู่ดีมีความสุขมากขึ้นโดยขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลงไม่ใช่อยู่ไปๆ ต้องขึ้นกับสิ่งภายนอกมากขึ้น

วิถีของมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ดูจะเป็นไปในทางตรงข้าม คือเข้าใจว่า ถ้ามีสิ่งเสพเหล่านั้นมากขึ้นตัวเองจะมีความสุข พร้อมกับการที่เข้าใจอย่างนี้ก็พัฒนาไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ ในที่สุดตัวเองก็เลยไม่มีอิสรภาพเหลืออยู่ กลายเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม มีความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นทาสของวัตถุภายนอกโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารักษาอิสรภาพและพัฒนาอิสรภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ถ้าเรารู้เท่าทันความจริง เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นถูกต้องโดยใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มคุณค่า ให้มันเป็นส่วนประกอบเสริมความสุข โดยที่ตัวเราเองสามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนมากขึ้นๆ

คนที่พัฒนาตัวเองมากขึ้น มีความสุขอยู่ภายในจิตใจของตนเองอยู่แล้ว แม้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นมาให้ความสุข ก็สามารถมีความสุขได้ เมื่อมีสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวประกอบเราก็มีความสุขส่วนเสริมขึ้นอีก มีมันเราก็มีความสุข ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ไม่ใช่คนที่เป็นทาสของสิ่งภายนอก ซึ่งมีสภาพที่ว่า มีมันจึงอยู่ได้ ถ้าขาดมันแล้วชีวิตหมดความหมาย อยู่ไม่ได้เลย

ฉะนั้น จะต้องพัฒนาชีวิตไปสู่ความมีอิสรภาพ ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของความสุขด้วย คือความสุขที่มีได้โดยอิสระของตนเอง ความสุขที่เป็นไทแก่ตนเอง ที่ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกมากเกินไป หรืออย่างน้อยมีความสุขที่เป็นอิสระของตนเองอยู่ภายในแล้ว ก็จะสามารถใช้อามิสวัตถุภายนอกเป็นเครื่องประกอบเสริมความสุขได้อย่างถูกต้อง และไม่เป็นโทษ นอกจากนี้ ยังโยงต่อไปถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ตาม"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์เรื่อง จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข








เมื่อถึงความสงบแล้ว

"ยังไม่จบนะ ภพยังไม่สิ้น
ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ
ที่มันไม่จบก็เพราะยังมีทุกข์อยู่
ให้เอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่พิจารณา
ต่อไปค้นหาเหตุผล จนกระทั่งจิต
ไม่ติดในความสงบ เพราะความสงบ
ก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมุติ
ก็เป็นบัญญัติอีก"

ที่ติดอยู่นี้ก็ติดสมมุติติดบัญญัติ

" เมื่อติดสมมุติติดบัญญัติ ก็ติดภพ
ติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจใน
ความสงบนั่นแหละ เมื่อหายความ
ฟุ้งซ่าน ก็ติดความสงบ ก็เป็นภพอีก
เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา
ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้."

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต
[ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ]​









“ลูกหลานให้พากันถือศีล ๕
ธรรมะจะปกป้องคุ้มครองผู้ปฎิบัติเอง
มีทางแต่จะพาให้ชีวิต
ไปทางสูงยิ่งๆขึ้นไป
จำเอาไว้นะลูกหลาน”

(โอวาทธรรม องค์หลวงปู่ทุย)










สังขารร่างกาย_นับวันผ่านไป

ใกล้ต่อความสิ้นสุด ยุติเข้าทุก
เวลานาทีความดีที่ควรจะได้
อย่าปล่อยให้ผ่านมือไปรีบยึด
รีบถือรีบบำเพ็ญ รีบลากรีบเข็น
รีบแจวรีบพายเวลาตะวันสาย
ร่างกายแก่แย่ลงจะได้ไม่เสียผล
สมกับเกิดมาในแดนพระพุทธศาสนา

มีศรัทธาฝึกฝนทรมานตน

ตามทางนักปราชญ์ ฉลาดใน
การรักษาตัว ไม่กลัวภัย คือ ความ
ทุกข์ทรมาน นั่งอยู่ก็เป็นสุข นอน
อยู่ก็สบาย จะอยู่ที่ใด ไปที่ใด ก็
มีบารมีธรรม ตามรักษา วาสนา
คุ้มครองย่อมเป็นปัจจัย ให้ถึง
ความ พ้นทุกข์ เป็น บรมสุข สิ้น
ทุกข์ ทางใจแน่นอน "เพราะคำสอน"
ของ​ #พระพุทธองค์ ที่ชี้แนะ ทาง..
โดยถูกต้อง บ่ทำให้ผิดทาง

โอวาทคติธรรม
หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต









เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วกำลังจิตของท่านผู้บริสุทธิ์จะเด่นผึงๆ เลยนะ

เรื่องความทุกข์ทั้งหลายจะไม่มีอำนาจเหนือจิตเหล่านั้นเลย

จิตนั้นจะฟอกตลอด
เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าโรคหายได้ด้วยธรรมะโอสถ คือการพิจารณา

เวลาตายก็ตายอย่างอาจหาญ

ยกตัวอย่างท่านอาจารย์กู่ของเรา ที่ท่านไปเสียที่บ้านโคกกะโหล่ง ท่านคงเป็นโรคมะเร็งนั่นแหละ เขาว่าเป็นฝีหัวปลาไหลเป็นอย่างนี้นานแล้ว และหนักๆ เข้า ท่านก็บอกว่าไม่ไหวแล้วนะ จะไม่ไหวแล้วผมจะไปเร็วๆ นี้

ท่านนั่งให้พระประคองอยู่
แล้วให้หมู่เพื่อนทั้งหลายทำความเข้าใจกับตัวเองให้ดีนะ ท่านสอนย่อๆ

"ขอให้อบรมใจให้ดีเถอะ จะไม่มีอะไรกระทบกระเทือนถึงจิตเลย ขอให้ทำจิตให้ดีนะ แล้วเวลาผมตายไปนี่ อย่าเข้าใจว่าผมตายไปนะ
ผมที่แท้จริงไม่ได้ตายนะ
นี่เป็นแต่ธาตุสลายตัวไปเพราะหมดกำลังของมัน เอาละนะ"

เท่านั้นแหละท่านก็ไปเลย

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน










พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น
ไม่อาจค้นพบได้ด้วยตำราต่างๆ

ถ้าท่านต้องการจะรู้เห็นจริง
ด้วยตัวของท่านเองว่า ...
พระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร
ท่านไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับ
ตำรับตำราเลย...

จงเฝ้า ดูจิต ของท่านเอง
พิจารณาให้รู้เห็นว่า ความรู้สึกต่างๆ
(เวทนา)เกิดขึ้นและดับไป อย่างไร ?

ความนึกคิด เกิดขึ้นและดับไป อย่างไร ?

อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย
จงมีสติอยู่เสมอ...

เมื่อมีอะไรๆเกิดขึ้นให้ได้รู้ได้เห็น
นี่คือทางที่จะบรรลุถึงสัจจธรรมของ
พระพุทธองค์

จงเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาติ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำขณะอยู่ที่นี่
เป็นโอกาสแห่งการฝึกปฏิบัติ เป็นธรรมะ
ทั้งหมด

เมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์อยู่
พยายามให้มีสติ ถ้าท่านกำลังเทกระโถน
หรือล้างส้วมอยู่ อย่าคิดว่าท่านกำลัง
ทำบุญทำคุณให้กับผู้หนึ่งผู้ใด มีธรรมะ
อยู่ในการเทกระโถนนั้น

อย่ารู้สึกว่าท่านกำลังฝึกปฏิบัติอยู่
เฉพาะเวลานั่งขัดสมาธิเท่านั้น...

โอวาทธรรมหลวงปู่ชา สุภัทโฺท








เวลาชีวิตจิตใจของคนที่จนตรอกจนมุมเข้ามาจริงๆ
วาระสุดท้ายที่ชีวิตสิ้นสุดลงต้องเป็นแบบนี้

จิตจะคิดไปต่างๆ เช่น คิดถึงคุณงามความดีบ้าง
คิดถึงความชั่วบ้าง
ถ้าเคยทำความดีไว้ พอคิดถึงความดี จิตเกาะปั๊บทันที
และเย็นไปเลย ยิ่งผู้ปฏิบัติความดีอยู่เรื่อยมาแล้ว
ไม่ต้องสงสัย
ความดีนั้นแลเป็นเพื่อนสอง เป็นมิตรสหาย
เป็นคู่พึ่งเป็นพึ่งตายได้อย่างแท้จริง
ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน








” ความจริงแล้วพระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้ปฏิเสธเรื่องภูติผี และวิญญาณต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีจริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมากราบไหว้ ยึดถือเป็นสรณะ พระพุทธองค์สอนให้เรารู้จักพึ่งตนเอง และยึดถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุด เรามีที่พึ่งสูงสุดดังนี้แล้ว คนเราก็ยังหลงงมงายต่อการกราบไหว้ อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากภูติผีปีศาจ ทั้งนี้ก็ด้วยความหลงผิด ความไม่รู้ และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากการหลงผิดเหล่านี้ของประชาชน ได้พยายามเน้นย้ำให้ประชาชนหลงงมงายมากยิ่งขึ้น ”

โอวาทธรรม
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา






เวทนาในจิตพระอรหันต์ไม่มี คือไม่มีเวทนาจิต
มีเฉพาะเวทนาทางกายอย่างเดียว
สุขไม่มี ทุกข์ไม่มี ไม่มีร้อนไม่มีหนาว
ที่จะเข้าไปสัมผัสภายในจิตใจ
เพียงแต่รับทราบเท่านั้น แต่ไม่ซึมซาบเข้าสู่ใจ
คือไม่ประสานกัน

ทีนี้เวลาจิตถึงขั้นจะปล่อยตัวจากร่างกายที่ครองตัวอยู่ คือจะปล่อยความรับผิดชอบ
จิตจะหดตัวเข้ามาหมด
ตา ไม่ใช่ตาบอด เลยบอดไปแล้ว เป็นยังไงเลยบอด
คือเหมือนท่อนไม้ท่อนซุงไปหมด
ไม่มีความหมายทั้งสิ้นเลย นี่เรียกว่า 99 เปอร์เซ็นต์
ถ้า 100 เปอร์เซ็นต์ จิตก็ขยับออกจากร่างนี้
ก็เรียกว่าตายแหละ

คือ 99 เปอร์เซ็นต์ เตรียมแล้วที่จะออกจากร่าง
ถ้าไม่ออกก็ย้อนกลับเข้ามาสู่ความรับผิดชอบ
ให้พากันจำไว้นะ จิตดวงนี้เป็นอย่างนี้นะ ลึกลับมาก

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน








อย่าบ้าดี หลงดี เมาดี
พุทธศาสนาสอนให้ เหนือดี เหนือชั่ว คือ มีจิตที่บริสุทธิ์

"ทุกศาสนาสอนให้ทำดีนั้นถูกแล้ว ๆ แต่พระพุทธศาสนาสอนเลยไปกว่านั้น คือให้มีจิตใจบริสุทธิ์ เหนือความหมายหรืออิทธิพลของความดี

ข้อนี้จะรู้ได้ต่อเมื่อได้สังเกตดูว่า เมื่อคนบ้าดี หลงดี เมาดี นั้นมันเป็นอย่างไร มันเป็นบ้าชนิดหนึ่งใช่หรือไม่?

เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำดี ชนิดที่ว่าไม่บ้าดี ไม่หลงดี ไม่เมาดี แล้วไม่อวดดี

ความรู้สึกบ้าดี หลงดี เมาดี อวดดีนี้ เป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งด้วย ในบรรดาสัญชาตญาณทั้งหลาย

สัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต คือสัญชาตญาณของ "ความมีตัวตน" คือมีความรู้สึกว่ามี"ตัวกู" หรือมี"ของกู" นี้พูดกันโดยตรง ๆ ตามความรู้สึกที่แท้จริง

เมื่อมีตัวกู มีของกู มันก็มีสัญชาตญาณที่จะยกตัวกู จะอวดตัวกู มันก็เลยชอบการยกตัวเอง ให้มันดีกว่าคนอื่น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังทำเป็น"

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายมาฆบูชา หัวข้อเรื่อง "พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้หยุดหรือติดอยู่ที่ความดี" พ.ศ. ๒๕๒๙








ร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ยังเป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







คนเรา ถ้าหากว่ามีสติอยู่แล้ว
เวลาจะตายจริงๆ ทุกขเวทนาทางกายจะต้องดับหมด ก่อนเวลาจิตออกจากร่าง

ส่วนพวกเรามันไม่เป็นอย่างนั้น
มันทิ้งเนื้อทิ้งตัวตกเตียงตกที่นอนและวุ่นวาย ตั้งแต่ยังไม่ตาย

ยังไม่จวนจะตายก็ดิ้นไปก่อนแล้ว มันเป็นอย่างนั้นนะ นี่เราไม่อยากพูดมาก มันกระเทือนลูกศิษย์หลวงตาบัวนั้นแหละมันไม่ไปไหน

มันติดตรงนี้แหละ พูดได้แค่นั้น

นี่พูดถึงเรื่องจิตตภาวนามันสำคัญมากอย่างนี้นะ

เวลาท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านมาปรุงมาคิดยุ่งอะไรกับหยูกยา
เวลาจำเป็นจริงๆ ใจท่านจะหมุนติ้วเข้ามาข้างในเลย

เป็นอะไรก็ตาม
ท่านจะไม่กลัวคำว่าเป็นว่าตาย
ดูความจริงเท่านั้น ว่าเป็นยังไง
เอาให้ถึงขีดถึงแดนในเวลายังไม่ตาย ดูกันให้ชัดเจน
เวลาตายแล้วก็หมดวิสัยที่จะดู

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน





ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ?

โยม : ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ?

หลวงปู่ชา : ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ ?

โยม : เชื่อครับ

หลวงปู่ชา : ถ้าเชื่อคุณก็โง่

คำพูดดังกล่าวของหลวงปู่เล่นเอาคนถามงง ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ ซึ่งหลวงปู่ชา ได้อธิบายไว้ว่า…

หลายคนถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า ถ้าบอกแล้วจะเชื่อไหม ถ้าเชื่อก็โง่

เพราะอะไร ?​ ก็เพราะมันไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้ ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป

ทีนี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้ามีพาผมไปดูหน่อยได้ไหม เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ทีนี้.. ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม อาตมาก็ถามว่า
พรุ่งนี้มีไหม ถ้ามีพาไปดูได้ไหม

อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้ ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี แต่สิ่งนี้มันเป็นของที่จะหยิบยก​ มาเป็นวัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี ไม่ต้องถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด​ อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา

หน้าที่ของเราคือ เราจะต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้ นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวานเสียแล้ว นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี อนาคตมันก็จะดีด้วย อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตคือชาติหน้า​ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง

หลวง​พ่อ​ชา​ สุ​ภ​ั​ท​โท​ วัด​หนอง​ป่า​พง​ ​จ.อุบล​ราชธานี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร