วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 15:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2019, 05:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ความทุกข์ แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพรากจากกันกำลังรอเราอยู่ข้างหน้ากัน :

ถ้าคนมีความสุขทางใจแล้ว ทางร่างกายนี้สบายมาก อยู่แบบนอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย สบาย ชอบซะอีก ไม่วุ่นวาย ดีกว่านั่งโต๊ะกิน ต้องใส่สูทต้องผูกเนคไท กว่าจะกินข้าวได้นี่ต้องแต่งตัวให้เหนื่อย แล้วก็ต้องกินแบบเรียบร้อย ต้องกินแบบถูกต้อง ต้องใช้ช้อนนี้ ต้องใช้ช้อนนั้น โอ๊ย เหนื่อย กว่าจะกินอิ่ม สู้กินแบบนอนกับดินกินกับทรายดีกว่า หรือฉันในบาตรนี่ สบาย ไม่ต้องใช้ช้อน ใช้มือนี่แหละ หยิบเอาสบาย หม่ำเอาสบาย นี่แหละถ้าใจมีความสุขแล้ว เรื่องการกินอยู่ทางร่างกายนี้ง่ายมาก ง่ายสุดง่ายเลย แล้วก็จะอดอยากขาดแคลนอย่างไรก็ไม่บ่น ไม่เดือดร้อน เพราะใจอิ่มตลอดเวลา ใจมีอาหารตลอดเวลา ร่างกายมันก็ไม่บ่น ไอ้ที่บ่นกันก็คือใจ ใจที่ไปหลงคิดว่าตัวเองเป็นร่างกาย จึงต้องให้ร่างกายอยู่ดีกินดี พอร่างกายไม่อยู่ดีกินดีก็บ่นขึ้นมา เท่านั้นเอง

แต่ใจที่มีปัญญาแล้วจะรู้ว่า ใจไม่ได้เป็นร่างกาย ความสุขของใจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การอยู่ดีกินดีของร่างกาย ความสุขของใจอยู่ที่ความสงบ พอรักษาความสงบได้ตลอดเวลาแล้ว ทีนี้ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา มีกินก็กิน ไม่มีกินก็อดไป อยู่ไม่ได้ก็ปล่อยให้มันตายไป ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องตายอยู่ดี มีกินหรือไม่มีกิน ดังนั้น ร่างกายไม่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับใจที่มีความสงบ ใจที่มีความสุข ใจนี่แหละที่ศาสนาพุทธสอนให้เรามาศึกษาและมาปฏิบัติกัน

ตอนนี้ใจของเรามีแต่ความทุกข์อยู่ทุกรูปแบบ ทุกข์กับทุกเรื่อง ทุกข์กับทุกคน แม้แต่เสียงระฆังยังทุกข์เลย เห็นไหม ได้ยินเสียงระฆังหน่อยก็ทุกข์แล้ว กลายเป็นปัญหาประเด็นของบ้านเมืองขึ้นมากับเสียงระฆังลูกเดียว ใจมันไม่มีความสุขแล้วมันทุกข์กับทุกอย่าง ทุกข์กับเสียง ทุกข์กับรูป ทุกข์กับกลิ่น ได้กลิ่นขยะมาเดี๋ยวก็ไปร้องเรียนที่เขตอีกแล้วซิ ว่ากลิ่นขยะของใครมานี่ มันจะมีปัญหาตลอดเวลา ถ้าเราหาความสุขผ่านทางร่างกาย

แต่ถ้าเราหาความสุขผ่านทางใจแล้วจะไม่มีปัญหา กลิ่นก็กลิ่นเถอะ มันโชยมาก็ห้ามมันไม่ได้ โชยมาก็ปล่อยมันโชยไป เราก็ดมไป เราหายใจก็ต้องหายใจก็หายไป หายบ่อยๆ พอชินกับมันแล้ว ดีไม่ดีจะชอบมันซะอีก คนที่เขาไปหากินแถวกองขยะ ทำไมเขาหากินได้ ทำไมเขาไม่รู้สึกรังเกียจกับกลิ่นในกองขยะล่ะ เขากลับชอบกลิ่นในกองขยะเพราะเป็นแหล่งทรัพย์ของเขา เป็นขุมทรัพย์ของเขา เขาไปเก็บเศษขยะมาขาย เก็บขวดพลาสติกกระป๋องอะไรต่างๆ เดี๋ยวเขาก็ได้เงินมาซื้ออาหารกินแล้ว

ดังนั้น มันอยู่ที่การปรับใจ ถ้าปรับใจแล้วกลิ่นเหม็นขนาดไหนก็อยู่ได้ อย่างนั้น พนักงานดูดส้วมเขาจะมาดูดส้วมให้เราได้อย่างไร เขาอยู่กับมันจนกระทั่งเขาชิน สัปเหร่อทำไมเขาอยู่กับศพได้ พวกคนที่เขาไปเก็บศพมูลนิธิปอเต๊กตึ้งนี่ ทำไมเขาไปเก็บศพได้ เพราะเขาอยู่กับมันจนชินล่ะ พอมันชินแล้ว มันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่คนที่ไม่ชิน คนที่จู้จี้จุกจิกนี่แหละจะเป็นปัญหามาก กลิ่นแบบนี้ก็ไม่เอา กลิ่นแบบนั้นก็ไม่เอา สีอย่างนี้ก็ไม่เอา สีอย่างนั้นก็ไม่เอา ร้อนไปหน่อยก็ไม่เอา เย็นไปหน่อยก็ไม่เอา อะไรไปหมดนี่

พอมีเงินมีทองแล้วความจู้จี้จุกจิกมันจะออกมาแล้ว จะออกลวดลายต่างๆ แล้ว เสื้อผ้าต้องเป็นแบบนั้น รองเท้าต้องเป็นแบบนี้ วุ่นวายไปหมด จานต้องเป็นอย่างนี้ ม่านต้องเป็นแบบนั้น เฟอร์นิเจอร์ต้องเป็นแบบนี้ พอมีเงินใว้บันดาลแล้วกิเลสมันจะออกมาแล้ว ตัวจู้จี้จุกจิกต่างๆ แล้วมันได้อะไร มันก็ม่านก็เป็นม่านเหมือนกัน เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นเฟอร์นิเจอร์เหมือนกัน เตียงก็เป็นเตียงเหมือนกัน ไม่มีมันก็อยู่ได้

นี่วัดนี้ไม่เห็นมีเฟอร์นิเจอร์ก็ยังอยู่ได้ ไม่เห็นต้องวุ่นวายไปกับมันเลย ลองใจมีความสุขแล้ว มันอยู่กับอะไรก็ได้ อยู่กับธรรมชาติง่ายที่สุด ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องไปดูแลรักษา ที่นี่ไม่ต้องมีคนตัดหญ้า ไม่ต้องมีคนมาแต่งต้นไม้ ให้ธรรมชาติมันแต่งให้ ให้ธรรมชาติมันตัดให้ ทุกอย่างอยู่กับธรรมชาติสบาย ถ้าใจมีความสุขแล้ว มันอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างสบายไม่วุ่นวาย ไม่จู้จี้จุกจิก ที่จู้จี้จุกจิกก็เพราะความอยากนี่แหละ ความชอบไม่ชอบ มันมีฝังอยู่ในใจ แต่ถ้าทำใจให้สงบแล้ว ความชอบไม่ชอบมันจะถูกกำจัดไป ความอยากต่างๆ ก็จะถูกกำจัดไปหมด แล้วใจก็จะอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างมีความสุข

นี่คือสิ่งที่เราต้องมาทำกันให้ได้ ตอนนี้เรากำลังเดินเข้าสู่ความทุกข์กัน ความทุกข์กำลังรอเราอยู่ข้างหน้ากัน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย กำลังรอเราอยู่ข้างหน้ากัน การพลัดพรากจากกัน กำลังรอเราอยู่ข้างหน้ากัน เรารีบมาเปลี่ยนกระบวนการหาความสุข มาหาความสุขด้วยการมาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติ มานั่งสมาธิ มาใช้ปัญญากัน มาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากัน แล้วต่อไปเราก็จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนกับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ต้องเดือดร้อนกับการพลัดพรากจากกัน
...............................
สนทนาธรรมบนเขา พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี






พุทโธ ธัมโม สังโฆ นิละวิเศษสุด อิหยังสิมาสู้พระพุทธเจ้าไปได้ ของดีมีแค่นี้ละ มีอยู่ในจิตในใจ ใจมีพุทโธ ใจมีธัมโม ใจมีสังโฆ นี้ละวิเศษบ่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด

คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม







เวลาพระให้ศีล จะลงท้ายด้วยคำว่า
"สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย"
แล้วเราก็รับว่า สาธุ...สาธุ...สาธุ ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าหมายถึงอะไร เข้าใจเอาว่า สาธุไปตามรูปแบบพิธีกรรม
ความจริงไม่ใช่ ถ้ารู้ความหมาย จะลึกซึ้ง คือพระท่านบอกให้คนที่รับศีลไปนั้น เมื่อรับแล้ว-รักษาได้ดีแล้ว อานิสงส์จะเกิด ดังนี้
สีเลนะ สุคะติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
ตัสมา สีลัง วิโสทะเย = เพราะเหตุนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด
เห็นมั้ย...อย่าทำเป็นเล่นไป............
รักษาศีลจะไม่ตกนรก รักษาศีลจะมีเครื่องกิน-เครื่องใช้ ทรัพย์สินเงินทอง และศีลที่รักษาดีแล้ว จะทำให้ถึงพระนิพพานได้
แล้วพระท่านก็ย้ำ "ตัสมา สีลัง วิโสทะเย" คือพระบอกว่า เพราะเหตุนี้ พวกท่านทั้งหลาย พึงรักษาศีลให้หมดจด!
พระที่บอกนี้ .............
ไม่ใช่หลวงพ่อ-หลวงพี่-หลวงตา ที่ให้ศีลนะ
หากแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสบอกไว้ ณ ครั้งพุทธกาล

หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
วัดปางกึ๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่








"ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา"

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพรมหาเถร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆบริณายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ กรุงเทพมหานคร







อย่าหมดศรัทธาในการทำความดี อย่าไปสงสัยในคนทำชั่วว่าทำไมเขายังเสวยสุขอยู่ เพราะยังไม่ถึงเวลา เปรียบได้เหมือนรถยางรั่ว รั่วต้องใช้เวลานานกว่าลมจะหมด

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่สามดง จนฺทโชโต









"นี่แหละ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกข์เพราะความอยาก ทุกข์เพราะไม่ได้ตามความต้องการ ความเกิดเป็นทุกข์ ความเจ็บความแก่ความตายเป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเท่านั้น เนื้อเอ็นกระดูกธาตุขันธ์อันนี้ก็จะผุพัง ทุกคนหนีไม่พ้น"

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่ลี ถาวโร
วัดป่าหนองทับเรือ อ.เนินมะปราง
.
ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว
แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น
นโยบายในทางโลกีย์ใดๆก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น
พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต
เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง
ศาสนาทางมิจฉาทิฐิ ก็นับวันจะแสดงปฏิหาริย์
คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ
ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม
ให้สมควรแก่แก่ธรรมดังไฟที่กำลังใหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด
ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร
ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก
ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์
ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆและแยบคายด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ
และสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก
พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน
จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา
อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ
.
บันทึกโดยพระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต จากหนังสือ"เพชรน้ำหนึ่ง”
โอวาทครั้งสุดท้างของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต






"มารไม่มี บารมีไม่เกิด”
พึงระวังมาร 8 ตัวนี้ให้ดี
โดย ครูบาศรีวิชัย พระอริยสงฆ์

ในชีวิตคนเรานั้น “มาร”มาในรูปแบบต่างๆ เพื่อทดสอบว่า เราเป็นผู้มีบุญบารมีระดับใด

พึงระวังมาร 8 ตัวนี้ให้ดี

1.“มาร” มาช่วยเสริมสร้างบุญบารมีหากเราคิดเป็น มีธรรมในใจจริง

2. “มาร” เข้ามาในชีวิต เพื่อให้เรารู้ว่า กฏแห่งกรรมมีจริง ผลแห่งกรรมมีจริง

3. “มาร” มาในรูปแบบคู่ชีวิต เจ้ากรรมนายเวรมีแต่เรื่องปวดหัว เรื่องร้อนในใจ เข้ามาเพื่อให้เรารู้สึกตัว รู้จักที่จะฝึกจิตให้อดทน รู้จักยับยั้งชั่งใจไม่กระทำบาปกรรมตอบสนอง รู้ดีรู้ชั่ว ไม่สร้างเวรกรรมใหม่ผูกพันกันหนักขึ้นไปอีก

4. “มาร” มาในรูปแบบเพื่อนรอบตัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่ทำงาน เพื่อนบ้าน เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ เข้ามาทดสอบจริยธรรม คุณธรรมของเราว่าเราอยู่ในระดับ เข้ามาเพื่อให้เราได้เห็นทางสว่างขึ้น พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เข้าใจโลกและธรรมมากขึ้น

5. “มาร” มาในรูปแบบเงินทั้งการอัตคัดขัดสน เพื่อให้เราจักความจริงแท้ของธรรมชาติ ได้รู้จักตน รู้จักพอประมาณ รู้จักใช้ชีวิตที่พอเพียง ไม่ประมาท เกิดปัญญาในการมีชีวิตโดยไม่เอาเงินเป็นที่ตั้งก็มีความสุขได้

6. “มาร” มาในรูปแบบเงินมากมายที่ยั่วยวนให้เราหลงใหล มาทดสอบกิเลสว่า ทดสอบคุณธรรมว่าเราดีจริงหรือไม่

7. “มาร” มาในรูปแบบปัญหาในเนื้องานที่เราทำ ทำให้เรา”ตื่น” ที่ต้องแสวงหาปัญญาในทางแก้ไข ทำให้เรารู้ว่า”ปัญญา”ของเราอยู่ในระดับไหน ต้องเสริมเพิ่มเติมอย่างไร

8. “มาร”มาในรูปแบบการขัดขวางการสร้างบุญ ทำให้เรารู้คุณค่าของ”บุญ” ที่แท้จริง มาเสริมให้เรามีจิตใจ มีศรัทธา ไม่ยอท้อในการสร้างบุญบารมีมากขึ้น

ขอให้พิจารณา”มาร”ในความเป็นจริง ในแง่มุมที่เกิดผล
ขอ”บุญบารมี” จงบังเกิดแก่ท่านทุกคนเทอญ

โอวาทธรรมครูบาศรีวิชัย









"ให้ระลึกอยู่ในใจเสมอว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ป่าช้าอันเป็นที่ฝังศพภายนอก และป่าช้าที่ฝังศพภายในคือตัวเราเอง เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุอยู่ในตัวเราตลอดเวลา ทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน"

หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต







การสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
ตอนที่​ ๒๑ (มี​ ๒๘ ตอน)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า

" อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ "

และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า " อัปปมาทธรรม " สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔ , ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "

สมเด็จพระสังฆราช​เจ้า​ กรมหลวงวชิรญาณสังวร(เจริญ​ สุวฑฺฒโน)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 46 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร