วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2019, 05:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


.. " ถ้าเราปฏิบัติจริงๆ​ เช่นการนั่งสมาธิตลอดรุ่ง มันก็จะรู้จะเห็นได้แน่นอน นี่ส่วนใหญ่นั่งนานไปเกิดทุกขเวทนาก็กลัวตาย ไม่เอาจริงจัง ทั้งที่มันก็เกิดตายมาหลายชาติแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยปฏิบัติ ก็ไม่เคยเห็นมีใครตายจริง มีแต่ได้รับผล คือความสงบของใจ​ "..

หลวงปู่ลี​ กุสลธโร








#การพิจารณากายนี้แล
"ชื่อว่าปฏิบัติ อันนักปราชญ์
ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นต้นแสดงไว้ มีหลายนัย
หลายประการ ท่านกล่าวไว้
ในมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่า
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใน
มูลกรรมฐานเรียกว่า เกสา โลมา
นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะ
สอนเบื้องต้นแห่งการบรรพชา
เป็นสามเณร และใน
ธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า
[ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ]​
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ดังนี้
บัดนี้เราก็เกิดมาแล้วมิใช่หรือ?
ครั้นเมื่อบุคคลมาปฏิบัติให้เป็น
โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณา
ในตนนี้แล้วเป็นไม่ผิด เพราะ
พระธรรมเป็น อกาลิโก มีอยู่ทุกเมื่อ
อาโลโก สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและ
กลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังเลย "

#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต








#สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
จะต้องหมุนไปตามกรรมเก่าที่ได้ทำเอาไว้
และในระหว่างนั้น ก็ได้ทำกรรมใหม่เพิ่มขึ้น
อีก และกรรมใหม่นั้นทั้งหมดจะกลายเป็นกรรมเก่าต่อไปอีก ไม่มีสิ้นสุด เป็นเหตุและ
ผลของกันและกัน เชื่อมโยงกันไปไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น มีความเกี่ยวเนื่องกันไป
#ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า
"สังสารวัฏ" หรือ "วงกลมแห่งสายกรรม" ซึ่ง
จะเชื่อมโยงกันไประหว่างนาทีนี้กับนาทีหน้า หรือชั่วโมงนี้กับชั่วโมงหน้า วันนี้กับวันหน้า เดือนนี้กับเดือนหน้า ปีนี้กับปีหน้า จนถึงชาติ
นี้กับชาติหน้า สับสนแทรกแซงกันวุ่นวายไปหมด รู้ได้ยากมาก ว่าอันไหนเป็นเหตุ และอันไหนเป็นผลกันแน่ เหตุและผลดังกล่าวมานี้ สายกรรมที่ประจำของบุคคลหนึ่งจึงแปลกจากบุคคลหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
#การทำกรรมของคนเราในโลกนี้
ย่อมจะให้ผลบานปลายเสมอ คือทำกรรม
น้อยแต่ให้ผลมาก คิดดูซิปลูกข้าวเม็ดเดียว
ได้ผลหลายสิบเม็ด เรียนหนังสืออยู่ ๔-๕ ปี
แต่ได้รับผลความรู้อยู่ ๖๐-๗๐ ปี บางคนไปขโมยของเขาอยู่ประมาณ ๓๐ นาที แต่ต้อง
ไปติดคุกเสีย ๕-๖ ปี สิ่งเหล่านี้เห็นกันอยู่
ทั่วไป ผลของกรรมที่เราทำก็เหมือนกัน

#โอวาทธรรมคำสอน
#หลวงปู่เปรื่อง_ฐานังกโร
[วัดสันติวัฒนา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์]









#การภาวนา
"ก็คือการมีสติสัมปชัญญะ
คอยตักเตือนตนเองอยู่เสมอ
ไม่ให้เกิดความประมาท ความ
มัวเมา​ มีอินทรียสังวร ละเว้นบาป
อกุศล​ แม้เพียง​ เล็ก​น้อย
จำเป็นต้องอาศัยความหมั่น
ความพยายามทางกาย ทางวาจา
ทางใจของตน
จึงจะรักษาตนให้รอดปลอดภัย
ในธรรมของพระพุทธเจ้าได้...
ต้องกระทำให้มาก เจริญให้มาก
ให้เป็นไปติดต่อ ไม่ขาดวรรคขาดตอน.."

#โอวาทธรรมหลวงปู่แหวน_สุจิณโณ








อาตมาคิดว่าหลักธรรมที่ทุกคนควรมีอย่างยิ่งก็คือ การรักษาศีลนั่นแหละ เป็นการปฏิบัติธรรมอันวิเศษสุด จะนับถือไม่ครบทั้ง ๕ ข้อก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำได้ทุกข้อเลยมันก็ยิ่งดี

โอวาทธรรม: หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่าจันทรังสี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี








ความไม่เที่ยงของร่างกาย
ร่างกายธาตุขันธ์ก้อนนี้ แม้จะรักษาดีเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง มีเงินมีทองเท่าไหร่ล้าน เท่าไหร่โกฏิ มียศถาบรรดาศักดิ์เท่าไหร่ก็ตาม ก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด ยกตัวอย่างพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้า ของเรา พระองค์ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐเลิศโลกถึงขนาดนั้น แต่แล้วธาตุขันธ์ก็ต้องแปรสภาพไปเหมือนกัน นี้ให้เราคิดอย่างนี้ แล้วเร่งสร้างคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติให้ได้เต็มที่

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระเทพวิสุทธิมงคล
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด








คำว่าบุญ ไม่ใช่เอาซองขาวไปปล้นไปจี้บังคับให้เขาทำบุญ บุญอยู่กับครอบครัวเรานั่น!! สงเคราะห์ให้คนในครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อน
พอครอบครัวพอแล้ว ค่อยแบ่งสละมา พระก็ต้องอยู่ด้วยความมักน้อยสันโดษสันตุฏฐีตามมีตามได้....

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่คาอาจารย์
องค์หลวงปู่ปรีดา(ทุย) ฉนฺทกโร
วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ









"...บ่มีเงิน​ มีข้าวกินกะอยู่​ได่ บ่มีบ้านใหญ่​ มีกระท่อม​กะนอนได่​ บ่มี​รถ​ขี่​ เดินตีน​เปล่า​ๆ​ กะไปได่​ แต่ขั่นบ่มีพระธรรม​ จิตใจ​มืดบอด​ อยู่​จั่งได๋กะบ่ได่​ เด้อลูก​หลาน​เด้อ.."

หลวง​ปู่​จื่อ​ พนฺธมุตฺโต








ชาติไหนๆขออย่าได้เกิดในตระกูลมิจฉาทิฎฐิ
องค์หลวงปู่จันทา ถาวโร องค์ท่านได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดสกลนคร วันหนึ่งท่านเดินจงกรม นิมิตเห็นสามเณรที่อยู่ด้วยกันนอนตายข้างหน้า ท่านจึงพิจารณาว่านี่คืออะไร จึงทราบว่าสามเณรจะป่วยตาย
ท่านจึงเดินไปบอกสามเณรว่าจะป่วยตายให้รีบสร้างคุณงามความดี และให้บอกพ่อแม่ให้ถวายสังฆทาน
สามเณรจึงเดินทางไปบอกพ่อกับแม่ในหมู่บ้านนั้น พ่อแม่เณรพอได้ฟังดังนั้น ก็พูดว่า อวดอุตริ ครูบาอาจารย์ใหญ่ๆไม่เห็นพูดแบบนี้ นี่พึ่งบวชได้ไม่กี่พรรษา มาอวดรู้ ไม่ใช่พระ
อีกไม่กี่วันสามเณรก็ป่วยหนักจริงๆ เป็นไข้มาลาเรียท่านก็บอกสามเณรให้ไปบอกพ่อแม่อีก พ่อแม่เณรก็เฉย สามเณรนอนร้องให้ บ่นกับตัวเองทำไมวาสนาถึงเป็นแบบนี้ ตัวเองกำลังจะตายพ่อแม่ยังไม่สนใจ
องค์หลวงปู่จันทาท่านจึงบอกสามเณรให้ภาวนา พุทโธๆ และเตือนสติสามเณรนี่แหละโทษของการเกิดในตระกูลมิจฉาทิฎฐิ
ให้สามเณรอธิษฐาน ไม่ว่าชาติหน้าไหนๆขออย่าได้เกิดในตระกูลมิจฉาทิฎฐิอีกเลย ในคืนนั้นสามเณรก็สิ้นใจตาย

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
องค์หลวงปู่จันทา ถาวโร
วัดป่าเขาน้อย อ.วังทรายมูล จ.พิจิตร










ต้องปฏิบัติถึงก่อนจึงสอนคนอื่น กรรมฐานหลงลิ้น สอนตายตั้งเพิ่น สอนโตสอนบ่ได้ ไฟสิไหม้มือลุน กรรมฐานหลงตน ดีแต่สอนคนอื่น แต่กลับสอนตนเองไม่ได้ ไฟจะตามเผาตัวเองในวันข้างหน้า

#โอวาทธรรมะ#หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม







"...ละกิเลสตัวไหนยากที่สุด..."
คราวหนึ่ง ขณะอยู่กับหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้พูดคุยกันถึงเรื่องกิเลส จึงขอโอกาสกราบเรียนถามหลวงปู่ท่านว่า...
เด็กวัด - หลวงปู่ครับ...กิเลสตัวไหนละยากที่สุดครับ?
หลวงปู่ - นิ่งสักพัก แล้วชี้มาที่ผู้ถาม...การที่เห็นลูกศิษย์ลูกหาที่มากราบไหว้ ที่มีความทุกข์ ที่เดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องต่างๆ เห็นแล้วอยากให้เค้าพ้นทุกข์ อยากให้เค้ามีความสุข นี่ละยากมาก ความเมตตาที่อยากให้ทุกคนสมปรารถนา นี่เป็นกิเลสอย่างละเอียดนะ ละยากมาก

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






"ภัยพิบัติมากขึ้นเพราะจิตใจมนุษย์ต่ำลง
โลกนี้หมุนไปตามจิต
เมื่อใดจิตมนุษย์ มีคุณธรรม มีความเจริญภายในใจ
เป็นไปในทางที่ดี เมื่อนั้นโลกก็จะสุขสงบ
แต่เมื่อใดที่จิตใจมนุษย์หมกมุ่นรุ่มร้อน ด้วยกิเลส
เมื่อนั้น โลกก็หมุนไปสู่ความเสื่อม
มีแต่ความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
ฝนฟ้าจะวิปริต แผ่นดินจะไหว ภูเขาไฟปะทุ
สารพัดภัยพิบัติ จะเกิดขึ้น"

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร








"...สติน่ะทำเท่าไรไม่ผิด...เพราะสติคุ้มครองจิต..."

"...การฟังธรรมก็เปรียบได้แก่การเตรียมทัพสัมภาระสำหรับทำการงาน ครั้นเตรียมมาแล้ว เครื่องกลเครื่องไกที่เตรียมมาแล้ว ไม่ทำก็ขึ้นขี้สนิมเปล่า ฉันใดก็ดีการสดับรับฟังโอวาทการสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อย่างเดียวกัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้เท่านนั้นแหละ ครั้นเราเชื่อคำสอนของพระองค์แล้ว เป็นผู้ดำเนินตาม เป็นผู้ลงมือดำเนินตาม เราเองกระทำด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้นจะว่าโดยย่อ ๆ เท่านั้นแหละ อาตมาไม่มีความพูดหลายเพราะอยู่ป่าอยู่ดง จะว่าให้ฟังย่อ ๆ พอเป็นหลักดำเนินปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย ศาสนา คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตามตู้ตามใบลาน อันนั้นเป็นผู้บอกทาง ผู้จะดำเนินตามศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือก้อนธรรมอยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรา แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ ให้พากันหัดทำสติให้ดี ให้สำเหนียกให้แก่กล้า สติน่ะทำเท่าไรไม่ผิด สติน่ะให้มันมีกำลังสติดีแล้ว จิตมันจึงรวม เพราะสติคุ้มครองจิต เพราะสติก็แม่นจิตนั่นแหละ หากลุ่มลึกกว่า ครั้นใจนึกขึ้นว่าสติ ก็ใจนั่นแหละเป็นผู้นึกขึ้นเรียกว่า "สติ" เพราะสติก็แม่นใจนั่นแหละ พวกเดียวกัน เพราะเหตุนั้นพวกเราต้องอบรมสติ ครั้นมีสติแก่กล้า ทำให้มันดีแล้ว ไม่พลาด ทำก็ไม่พลาด พูดก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด ย่อมถูกไม่ผิด พากันทำเอา..."

จากหนังสือ "อนาลโยบูชา"
พระธรรมเทศนาหลวงปู่ขาว อนาลโย







อมตะธรรม..
คำสอน พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
..พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ นี้เกิดแล้วก็ดับ มันเกิด-ดับ เกิด-ดับเท่านั้น หาอย่างอื่น นอกนั้นไม่มี
ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนถาวรอยู่ มันเป็นอยู่อย่างนั้น
ท่านจึงสอนว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยง แต่คนเราทั้งหลายมองไม่เห็น เราว่าเป็นของเที่ยง จึงขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา
ที่ท่านเห็นธรรมะก็คือท่านเห็นตรงนี้ ที่ท่านตรัสรู้ธรรมะก็คือตรัสรู้ตรงนี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น เห็นชัดเรื่องขันธ์ ๕ นี้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา จิตก็ปล่อยวาง
เห็นแต่ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น มันเกิด-ดับ เห็นสิ่งที่เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรมัน นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง
เห็นง่ายๆ คิดง่ายๆ ว่ามันเกิด-ดับเท่านั้นแหละ วูบเดียวก็เกิดขึ้นมา วูบเดียวก็ดับไป หาสิ่งใดจะมาเกิด-ดับไม่มีนอกจากสุขกับทุกข์ ทุกข์มันเกิดแล้วก็ดับไป สุขเกิดแล้วก็ดับไป มันเป็นเรื่องเท่านี้เอง
ถ้าเราไม่รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เหมือนว่าเราจะไม่รู้ธรรมะ ถ้าเรารู้ธรรมะ ก็เห็นเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ หมดทางที่จะแก้ไข เรียกว่าเห็นโลก
เห็นโลกเป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่ต้องแก้ไข ถ้าเห็นแล้วใจสบาย เห็นโลกตามเป็นจริง อย่างนั้นก็เรียกว่าบรรลุธรรมะ
คือ เห็นรูปเห็นนามนี้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เมื่อเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เราก็เห็นออกจากตัวของเรา ออกจากตนของเรา “ก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน มีแต่ขันธ์ ๕” ..

เห็นตามเป็นจริง
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี










สมาธิวิธี
โดย หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

๑. วิธีนั่งสมาธิ

ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาวางทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้ายอุชุ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง
คือ ไม่ให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และอย่าก้มนักเช่นอย่างหอยนาหน้าต่ำ อย่า
เงยนักเช่นอย่างนกกระแต้ (นกกระต้อยตีวิด) นอนหงายถึงดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง อุชุ จิตฺตํ
ปณธาย ตั้งจิตให้ตรงคืออย่าส่งใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และอย่าส่งใจไป
ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างหวา พึงกำหนดรวมเข้าไว้ในจิตฯ

๒. วิธีสำรวมจิตในสมาธิ

มนสา สํวโร สาธุ สำรวมจิตให้ดี คือ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์
อยู่ที่ใจ นึกอยู่อย่างนี้จนใจตกลงเห็นว่า อยู่ที่ใจจริงๆ แล้วทอดธุระเครื่องกังวลลงได้ว่า ไม่ต้อง
กังวลอะไรอื่นอีก จะกำหนดเฉพาะที่ใจแห่งเดียวเท่านั้น จึงตั้งสติกำหนดใจนั้นไว้ นึกคำบริกรรม
รวมใจเข้าฯ

๓. วิธีนึกคำบริกรรม

ให้ตรวจดูจิต เสียก่อน ว่าจิตคิดอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ารัก หรือน่าชัง
เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความรัก เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่าชัง
พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความชัง ไม่ตั้งเที่ยง พึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้นให้เป็นคู่กันเข้าไว้ที่
ตรงหน้าซ้ายขวา แล้วตั้งสติกำหนดใจตั้งไว้ในระหว่างกลาง
ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง เปรียบอย่างถนนสามแยกออกจากจิตตรงหน้าอก ระวังไม่ให้จิตแวะไป
ตามทางเส้นซ้าย เส้นขวา ให้เดินตรงตามเส้นกลาง แต่ระวังไม่ให้ไปข้างหน้า ให้กำหนดเฉพาะ
จิตอยู่กับที่นั่นก่อน แล้วนึกคำบริกรรมที่เลือกไว้จำเพาะพอเหมาะกับใจคำใดคำหนึ่ง เป็นต้นว่า ?พุ
ทโธ ธัมโม สังโฆ? ๓ จบ แล้วรวมลงเอาคำเดียวว่า ?พุทโธๆๆ? เป็นอารมณ์เพ่งจำเพาะจิต จนกว่า
จิตนั้นจะวางความรักความชังได้ขาด ตั้งลงเป็นกลางจริงๆ แล้วจึงกำหนดรวมทวนกระแสประชุมลง
ในภวังค์ ตั้งสติตามกำหนดจิตในภวังค์นั้นให้เห็นแจ่มแจ้ง ไม่ให้เผลอฯ

๔. วิธีสังเกตจิตเข้าสู่ภวังค์

พึง สังเกตจิตใจเวลากำลังนึกคำบริกรรมอยู่นั้น ครั้งเมื่อจิตตั้งลงเป็นกลาง วางความรัก ความชัง
ทั้งสองนั้นได้แล้ว จิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ (คือจิตเดิม) มีอาการต่างๆ กัน บางคนรวมผับลง บางคนรวม
ปึบลง บางคนรวมวับแวมเข้าไปแล้วสว่างขึ้นลืมคำบริกรรมไป บางคนก็ไม่ลืม แต่รู้สึกว่าเบาในกาย
เบาในใจที่เรียกว่า กายลหุตา จิตฺตลหุตา กายก็เบา จิตก็เบา กายมุทุตา จิตฺตมุทุตา กายก็อ่อน จิตก็
อ่อน กายปสฺสทฺธิ จิตฺตปสฺสทฺธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ กายุชุกตา จิตฺตชุกตา กายก็ตรง จิตก็ตรง กา
ยกมฺมญํญตา จิตฺตกมฺมญฺญตา กายก็ควรแก่การทำสมาธิ จิตก็ควรแก่การทำสมาธิ กายปาคุญฺญตา
จิตฺตปาคุญฺญตา กายก็คล่องแคล่ว จิตก็คล่องแคล่ว หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเมื่อย หายหิว หาย
ปวดหลังปวดเอว ก็รู้สึกว่าสบายในใจมาก ถึงเข้าใจว่าจิตเข้าสู่ภวังค์แล้วให้หยุดคำบริกรรมเสีย
และวางสัญญาภายนอกให้หมด ค่อยๆ ตั้งสติตามกำหนดจิตจนกว่าจิตนั้นจะหยุด และตั้งมั่นลงเป็น
หนึ่งอยู่กับที่ เมื่อจิตประชุมเป็นหนึ่งก็อย่าเผลอสติ ให้พึงกำหนดอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะนั่งเหนื่อย นี้
แลเรียกว่าภาวนาอย่างละเอียดฯ

๕. วิธีออกจากสมาธิ

เมื่อจะ ออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา ในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแล้วนั้น ให้พึงกำหนดจิตไว้ให้ดี แล้วเพ่ง
เล็งพิจารณาเบื้องบนเบื้องปลายให้รู้แจ้งเสียก่อนว่า เบื้องต้นได้ตั้งสติกำหนดจิตอย่างไร พิจารณา
อย่างไร นึกคำบริกรรมอะไร ใจจึงสงบมาตั้งอยู่อย่างนี้ ครั้นเมื่อใจสงบแล้ว ได้ตั้งสติอย่างไร
กำหนดจิตอย่างไร ใจจึงไม่ถอนจากสมาธิ พึงทำในใจไว้ว่า ออกจากที่นั่งนี้แล้ว นอนลงก็จะ
กำหนดอยู่อย่างนี้จนกว่าจะนอนหลับ แม้ตื่นขึ้นมาก็จะกำหนดอย่างนี้ตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง
นอน เมื่อทำในใจเช่นนี้แล้วจึงออกจากที่นั่งสมาธิ เช่นนั้นอีกก็ถึงทำพิธีอย่างที่ทำมาแล้วฯ

๖. มรรคสมังคี

มรรค มีองค์อวัยวะ ๘ ประการ ประชุมลงเป็นเอกมรรค คือ ทั้ง ๗ เป็นอาการ องค์ที่ ๘ เป็นหัวหน้า
อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือจิตเป็นผู้เห็น สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ ก็คือจิตเป็น
ผู้ดำริ สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือจิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือ
จิตเป็นผู้คิดทำการงาน สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต สัมมาวายาโม
ความเพียรชอบ ก็คือจิตเป็นผู้มีเพียรมีหมั่น สัมมาสติ ความระลึกชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ระลึก ทั้ง ๗ นี้
แหละเป็นอาการ ประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งจิตไว้ชอบ ก็คือความ
ประกอบการกำหนดจิตให้เข้าสู่ภวังค์ได้แล้ว ตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้เป็นเอกัคคตาอยู่ในความเป็น
หนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้ง ๘ ลงเป็นหนึ่ง หรือ
เอกมรรคก็เรียก มรรคสมังคีนี้ประชุมถึง ๔ ครั้ง จึงเรียกว่า มรรค ๔ ดังแสดงมาฉะนี้ฯ

๗. นิมิตสมาธิ

ในเวลาจิตเข้าสู่ภวังค์และ ตั้งลงเป็นองค์มรรคสมังคีแล้วนั้น ย่อมมีนิมิตต่างๆ มาปรากฏในขณะจิต
อันนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงตั้งสติกำหนดใจไว้ให้ดี อย่าตกใจประหม่ากระดากและอย่าทำ
ความกลัวจนเสียสติและอารมณ์ ทำใจให้ฟุ้งซ่านรั้งใจไม่อยู่ จะเสียสมาธิ นิมิตทั้งหลายไม่ใช่เป็น
ของเที่ยง เพียงสักว่าเป็นเงาๆ พอให้เห็นปรากฏแล้วก็หายไปเท่านั้นเองฯ

นิมิตที่ปรากฏนั้น คือ อุคคหนิมิต ๑ ปฏิภาคนิมิต ๑
นิมิต ที่ปรากฏเห็นดวงหทัยของตนใสสว่างเหมือนกับดวงแก้ว แล้วยึดหน่วงเหนี่ยวรั้ง ให้ตั้งสติ
กำหนดจิตไว้ให้ดี เรียกว่า อุคคหนิมิต ไม่เป็นของน่ากลัวฯ
นิมิต ที่ปรากฏเห็นคนตาย สัตว์ตาย ผู้ไม่มีสติย่อมกลัว แต่ผู้มีสติแล้วย่อมไม่กลัว ยิ่งเป็นอุบายให้
พิจารณาเห็นเป็นอสุภะ แยกส่วนแบ่งส่วนของกายนั้นออกดูได้ดีทีเดียว และน้อมเข้ามาพิจารณา
ภายในกายของตนให้เห็นแจ่มแจ้ง จนเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายสังเวชสลดใจ ยังใจให้ตั้งมั่นเป็น
สมาธิมีกำลังยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิตฯ

๘. วิธีเดินจงกรม

พึงตั้งกำหนดหนทางสั้นยาวแล้ว แต่ต้องการ ยืนที่ต้นทาง ยกมือประนม ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งความสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาคุณ
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้ใจของข้าพเจ้าสงบระงับ
ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาดรู้แจ้งแทงตลอดใน
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเทอญ
แล้ว วางมือลง เอามือขวาจับมือซ้ายไว้ข้างหนึ่ง เจริญพรหมวิหาร ๔ ทอดตาลงเบื้องต่ำ ตั้งสติ
กำหนดจิตนึกคำบริกรรมเดินกลับไปกลับมา จนกว่าจิตจะสงบรวมลงเป็นองค์สมาธิ ในขณะที่จิต
กำลังรวมอยู่นั้น จะหยุดยืนกำหนดจิตให้รวมสนิทเป็นสมาธิก่อนจึงเดินต่อไปอีกก็ได้ ในวิธีเดิน
จงกรมนี้กำหนดจิตอย่างเดียวกันกับนั่งสมาธิ แปลกแต่ใช้อิริยาบถเดินเท่านั้นฯ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า การทำความเพียรคือฝึกหัดจิตในสมาธิวิธีนี้
มีวิธีที่จะต้องฝึกหัดในอิริยาบททั้ง ๔ จึงต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดจิตบ้าง นอนสี
หไสยาสน์บ้าง เพื่อให้ชำนาญคล่องแคล่ว และเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอฯ

๙. วิธีแก้นิมิต

มีวิธีที่จะแก้นิมิตได้เป็น ๓ อย่างคือ

วิธีที่ ๑ ทำความนิ่งเฉย

คือ พึงตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้ให้มั่นคง ทำความสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ในสมาธิ แม้มีนิมิตอะไรๆ มา
ปรากฏ หรือรู้เห็นเป็นจริงในจิตอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหวไปตาม คือ ไม่ต้องส่งจิตคิดไป จะเป็นความคิดผิดที่เรียกว่า จิตวิปลาส แปลว่า ความคิดเคลื่อนคลาด แปลกประหลาดจากความจริง นิ่งอยู่ในสมาธิไม่ได้ ให้บังเกิดเป็นสัญญา ความสำคัญผิดที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส แปลว่า หมายมั่น
ไปตามนิมิตเคลื่อนคลาดจากจิตผู้เป็นจริงทั้งนั้น จนบังเกิดถือทิฎฐิมานะขึ้นที่เรียกว่า ทิฎฐิวิปลาส
แปลว่า ความเป็นเคลื่อนคลาดจากความเป็นจริง คือเห็นไปหน้าเดียว ไม่แลเหลียวดูให้รู้เท่าส่วนใน
ส่วนนอก ชื่อว่าไม่รอบคอบ เป็นจิตลำเอียง ไม่เที่ยงตรงเมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่ควรส่งจิตไปตาม เมื่อไม่ส่งจิตไปตามนิมิตเช่นนั้นแล้ว ก็ให้คอยระวังไม่ให้จิตเป็นตัณหาเกิดขึ้นคือ ไม่ให้จิตดิ้นรนยินดี
อยากเห็นนิมิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นก็ดี หรือยินร้ายอยากให้นิมิตนั้นหายไปก็ดี หรือแม้ไม่อยากพบไม่
อยากเห็นซึ่งนิมิตที่น่ากลัวก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ตัณหาถ้าเกิดมีในจิตแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้ว ก็ให้รีบระงับดับเสีย คือถอนความอยากและความไม่อยากนั้นออกเสีย เมื่อนิมิตมีมาก็อย่ายินดี
เมื่อนิมิตหายไปก็อย่ายินร้าย หรือเมื่อนิมิตที่น่ากลัวมีมาก็อย่าทำความกลัว และอย่าทำความคดโกง อยากให้หายไปก็ไม่ว่า ไม่อยากให้หายไปก็ไม่ว่า อยากเห็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเห็นก็ไม่ว่า ให้เป็นสันทิฏฐิโกคือ เห็นเอง อยากรู้ก็ไม่ว่า ไม่อยากรู้ก็ไม่ว่า ให้เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะกับจิต ตั้งจิตไว้
เป็นกลางๆ แล้วพึงทำความรู้เท่าอยู่ว่าอันนี้เป็นส่วนจิต อันนั้นเป็นส่วนนิมิต แยกส่วนแบ่งส่วนตั้งไว้
เป็นคนละอัน รักษาเอาแต่จิตกำหนดให้ตั้งอยู่ เป็นฐีติธรรมเที่ยงแน่ว ทำความรู้เท่าจิตและนิมิตทั้ง
สองเงื่อน รักษาไม่ให้สติเคลื่อนคลาดจากจิต ทั้งไม่ให้เผลอสติได้เป็นดีสติมา ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ วิ
เนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ถอนอภชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้แล้ว ก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย
เมื่อประกอบข้อปฏิบัติอันนี้อยู่อย่างนี้ สติก็ตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่นประชุมกันเป็นสมาธิดังนี้ เรียกว่า ญาต
ปริญญา แปลว่า รู้เท่าอารมณ์ฯ

วิธีที่ ๒ ตรวจค้นปฏิภาคนิมิต
คือ เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังประชุมกันอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาดีแล้ว พึงฝึกหัดปฏิภาคนิมิตให้ชำนาญ
คือ เมื่อเห็นรูปนิมิตมาปรากฏในตาในจิต เห็นเป็นรูปคน เด็กเล็ก หญิงชาย หนุ่มน้อย บ่าวสาว หรือ
แก่เฒ่าชราประการใดประการหนึ่งก็ตาม แสดงอาการแลบลิ้นปลิ้นตา หน้าบิดตาเบื่อน อาการใด
อาการหนึ่งก็ตาม ให้รีบพลิกจิตเข้ามากลับตั้งสติผูก ปัญหาหรือทำในใจก็ได้ว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่
เที่ยง จะแก่เฒ่าชราต่อไปหรือไม่ เมื่อนึกในใจกระนี้แล้วถึงหยุดและวางคำที่นึกนั้นเสีย กำหนดจิต
พิจารณานิ่งเฉยอยู่ จนกว่าจะตกลงและแลเห็นในใจว่า เฒ่าแก่ชราได้เป็นแท้ จึงรีบพิจารณาให้เห็น
แก่เฒ่าชราหลังขดหลังโขสั่นทดๆ ไปในขณะปัจจุบันทันใจนั้นแล้วผูกปัญหาถามดูทีว่า ?ตายเป็น
ใหมเล่า หยุดนิ่งพิจารณาอยู่อีกจนกว่าจะตกลงเห็นในใจได้ว่า ตายแน่ตายแท้ไม่แปรผัน จึงรีบ
พิจารณาให้เห็นตายลงไปอีกเล่า ในขณะปัจจุบันทันใจนั้น ?เมื่อตายแล้วจะเปื่อยเน่าตายทำลายไป
หรือไม่ หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก ?จนกว่าจิตของเราจะตกลงเป็นว่าเปื่อยเน่าแตกทำลายไปหรือ
ไม่ หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่าเปื่อยเน่าแตกทำลายไปได้แท้แน่
ในใจฉะนี้แล้ว ก็ให้รีบพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าแตกทำลายจนละลายหายสูญลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ
เป็นลม เป็นไฟ ไปตามธรรมดา ธรรมธาตุธรรมฐีติ ธรรมนิยามะ แล้วพลิกเอาจิตของเรากลับทวน
เข้ามาพิจารณากายในกายของเราเอง ให้เห็นลงไปได้อย่างเดียวกัน จนกว่าจะตกลงและตัดสินใจ
ได้ว่าร่างกายของเรานี้ ก็แก่เฒ่าชรา ทุพพลภาพแตกตาย ทำลาย เปื่อยเน่าไปเป็นเหมือนกัน
แล้วรีบตั้งสติ พิจารณาเห็นเป็นแก่เฒ่าชราดูทันที และพิจารณาให้เห็นตายลงไปในขณะปัจจุบัน
แยกส่วนแบ่งส่วนออกดูให้เห็นแจ้งว่า หนังเป็นอย่างไร เนื้อเป็นอย่างไร กระดูกเป็นอย่างไร ตับไต
ไส้พุงเครื่องในเป็นอย่างไร เป็นของงามหรือไม่งาม ตรวจดูให้ดีพิจารณาให้ละเอียดจนกว่าจะถอน
ความยินดียินร้ายเสียได้ แล้วพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าผุพังลงถมแผ่นดินไป
ภายหลังกลับพิจารณา ให้เห็นเป็นคืนมาอีก แล้วฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้จนกว่าจะชำนาญหรือยิ่งเป็นผู้
มีสติได้พิจารณาให้ เนื้อ หนัง เส้น เอ็น และเครื่องในทั้งหลาย มีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น เปื่อยเน่าผุ
พังลงไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า จึงกำหนดเอาร่างกระดูกนั้นเป็นอารมณ์ทำไว้ในใจ
ใคร่ครวญให้เห็นแจ้งอยู่เป็นนิจ จนกว่าจะนับได้ทุกกระดูกก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้ก็เป็นอันแก้นิมิตได้ดีที
เดียวฯคราว นี้ถึงทำพิธี พิจารณาเป็นอนุโลม ถอยขึ้นถอยลง คือตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้ว เพ่ง
พิจารณาให้เห็นผมอยู่บนศีรษะมีสีดำ สัญฐานยาว ก็จะหงอกขาวลงถมแผ่นดินทั้งนั้น และพิจารณา
ให้เห็นขนซึ่งเกิดตามชุมชนตลอดทั่วทั้งกายนอกจากฝ่ามือฝ่าเท้า ก็จะลงถมแผ่นดินเหมือนกัน
พิจารณาเล็บที่อยู่ปลายนิ้วเท้านิ้วมือ ให้เห็นเป็นของที่จะต้องลงถมแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น พิจารณา
ฟันซึ่งอยู่ในปากข้างบนข้างล่างให้เห็นแจ้งว่าได้ใช้เคี้ยวอาหารการ กินอยู่เป็นนิจ แต่ก็จะต้องลงถม
แผ่นดินเหมือนกันคราวนี้พิจารณาหนัง เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหลัง
หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ยังชีวิตนี้ให้ตั้งอยู่ได้แล้วเป็นไป ถ้าถลกหนังนี้ออกหมดแล้วก็ต้องตาย ตาย
แล้วต้องถมแผ่นดิน พิจารณาเห็นความจริงฉะนี้แล้วเลิกหนังออกวางลงไว้ที่พื้นดิน พิจารณาเส้น
เอ็นให้เห็นแจ้งว่า เส้นเอ็นทั้งหลายรัดรึงกระดูกไว้ให้ติดกันอยู่ เมื่อเลิกเส้นเอ็นนี้ออกหมด
แล้วกระดูกก็จะหลุดจากกันผุพังลงถมแผ่นดินทั้ง สิ้น แล้วกำหนดเลิกเส้นเอ็นนี้ออกเสียกองไว้ที่พื้น
ดิน พิจารณาร่างกระดูกให้เห็นแจ้งว่า กระดูกในร่างกายนี้มีเป็นท่อนๆ เบื้องต่ำแต่กระดูกกระโหลกศีรษะลงไป เบื้องบนแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นมา เห็นได้กระจ่างสมควร
แล้วเพ่งเล็งพิจารณาดูเครื่องในทั้งหลายให้เห็น ว่า ปอดอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน ดวงหฤทัยอยู่ที่
ไหน ใหญ่น้อยเท่าไร เห็นตับไต ไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีรูปพรรณ
สัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสันวรรณะเป็นไฉน เครื่องในทั้งแวงนี้ เป็นที่ประชุมแห่งชีวิตก็จริง แต่ก็จะ
ต้องลงถมแผ่นดิน เมื่อพิจารณาเห็นฉะนี้แล้วจึงกำหนดให้ขาดตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน ยังเหลือแต่
ร่างกระดูก จึงพิจารณาดูกระดูกกระโหลกศีรษะเป็นลำดับลงมา กระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกหัว
ไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกเอว กระดูกตะโพก กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง กระดูกพื้น
เท้า พิจารณาอย่างนี้เรียกว่า อนุโลมฯคราวนี้พึงพิจารณาเป็นปฏิโลม คือพิจารณาถอยกลับขึ้น
เบื้องบนตั้งแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นไปตลอดถึงกระดูกกระ โหลกศีรษะ พิจารณาทบทวนกลับจากศีรษะ
ถอยลงมาตรงหน้าอกนั้นให้มั่นคงทำในใจว่า ร่างกายทั้งหมดนี้มีจิตเป็นใหญ่ประชุมอยู่ที่จิต จึง
กำหนดรวมจิตเข้าให้สงบ แลตั้งอยู่เป็นเอกัคคตา วิธีที่ ๒ นี้เรียกว่า ตีรปริญญา แปลว่า ใคร่ครวญ
อารมณ์ฯขอเตือนสติไว้ว่า ในระหว่างกำลังพิจารณาอยู่นั้น ห้ามไม่ให้จิตเคลื่อนจากที่คิด ระวังไม่
ให้ส่งจิตไปตามอาการ จิตจะถอนจากสมาธิ ถ้าจิตถอนจากสมาธิเป็นใช้ไม่ได้ ข้อสำคัญให้เอาจิต
เป็นหลัก ไม่ให้ปล่อยจิต ให้มีสติเพ่งเล็งให้รอบจิต พิจารณาให้รอบกายรักษาใจไม่ให้ฟุ้ง จึงไม่ยุ่ง
ในการพิจารณาฯ

วิธีที่ ๓ เจริญวิปัสสนา

คือ เมื่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกหัดจิตมาถึงขั้นนี้ มีกำลังพอพิจารณาปฏิภาคนิมิตได้ชำนาญคล่อง
แคล่วเป็นประจักขสิทธิ ดังที่อธิบายมาแล้ว และกำหนดจิตรวมเข้าไว้ในขณะจิตอันเดียว ณ ที่หน้า
อก ตั้งสติพิจารณาดูให้รู้รอบจิต เพ่งพินิจให้สว่างแลเห็นร่างกระดูกทั่วทั้งกาย ยกคำบริกรรม
วิปัสสนาวิโมกขปริวัตร ขึ้นบริกรรมจำเพาะจิตว่า

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา

ให้ เห็นร่างกระดูกทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือเอา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ กำหนดให้เห็น
กระดูกทั้งหลายหลุดจากกันหมด ตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน
คราว นี้ตั้งสติให้ดี รักษาไว้ซึ่งจิต อย่าให้เผลอ ยกคำบริกรรมวิปัสสนานั้นอีก เพ่งพิจารณาจำเพาะ
จิตให้เห็นเครื่องอวัยวะที่กระจัดกระจายกองไว้ที่พื้นดิน นั้น ละลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม
เป็นไฟ ลงถมแผ่นดินไปหมด
กำหนด จำเพาะจิตผู้รู้ เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นที่อาศัยของ
สัตว์ทั้งโลก ก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนี้เสียให้
เห็นเป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น รวบรวมเอาแต่จิตคือผู้รู้ ตั้งไว้ให้
เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่ และวางลงเป็นอุเบกขาเฉยอยู่กับที่ คราวนี้จะแลเห็น
จิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้าวล่วงจากนิมิตได้ดี มีกำลังให้แลเห็นอำนาจอานิสงส์ของจิตที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในของตนในการที่จะกระทำความเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป

วิธีที่ ๓ นี้ เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้แล้ว

โอวาทธรรม หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม








“ดูตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง เรียกว่าดูที่ตัวเราก่อน ไม่ต้องไปดูคนอื่น ส่วนมากแล้วคนเรามักชอบโทษคนอื่นไม่ชอบโทษตัวเอง
มันเหมือนกับเรามองดูขนตาของเรา แต่มองเท่าไรก็มองไม่เห็น บอกไม่ถูกว่ามันมีกี่เส้น มันยาวขนาดไหน มันไม่เห็นอะไรเลย การที่เรามองดูตัวเองไม่เห็น เพราะเราขาดสติปัญญา”

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป











"....การ...ทำความเพียร
ของผู้ตั้งใจ จะข้ามโลก
ไม่ขอเกิดมาแบกหาม กองทุกข์
นา นา ชนิดอีกต่อไป

ต้องเป็นความเพียรชนิดเอาตายเข้าแลกกัน
เฉพาะผมเอง ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอน
หมู่คณะ

มิได้นึกว่า ชีวิตจะยังเหลือเดนมาเลย
เพราะความมุ่งมั่นต่อธรรม แดนหลุดพ้น
มีระดับสูงเหนือชีวิต...ที่ครองตัวอยู่

การ...ทำความเพียรทุกประโยค
และ ทุกอิริยาบถได้ตั้งเข็มทิศไว้เหนือชีวิต
ทุกระยะ
ไม่ยอมให้ความอาลัยเสียดาย ในชีวิต
เข้ามากีดขวาง ในวงความเพียรเลย
นอกจาก ความบีบบังคับของจิตที่เต็มไปด้วย
ความหวังต่อทางหลุดพ้น เท่านั้น
เป็นผู้บงการ แต่...ผู้เดียวว่า

ถ้า...ขันธ์ทนไม่ไหว
จะแตกตายไป ก็ขอให้แตกตายไป
เราเคยตายมาแล้ว จนเบื่อระอา

ถ้าไม่ตายขอให้รู้ธรรมที่พระองค์
รู้...เห็น
อย่างอื่น ไม่ปรารถนาอยากรู้ อยากเห็น
เพราะ...เบื่อต่อการรู้เห็นมาเต็มประดาแล้ว

บัดนี้...เราอยากรู้เพียงอย่างเดียว
คือ...สิ่งที่เรารู้แล้ว
ไม่ต้องกลับมาลุ่มหลงเกิด-ตาย อีกต่อไป
สิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่ง ของเราใน...บัดนี้..."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต









ให้พิจารณาเรื่องกามกิเลส ชนะอันนี้ได้ชนะได้หมดไม่ชนะอันนี้อย่ามาคุย คุยได้ก็ไม่รู้เรื่อง นี้แหละสุดยอดแห่งกรรมฐาน มนุษย์สร้างภพสร้างชาติก็เพราะตัวนี้แหละไม่พิจารณาตัวนี้ จะพิจารณาอะไร...

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท









พิจารณาให้เห็นตามความจริง
มรณะ ธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต
ทุกคนมีความตายเป็นที่สุด
ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้
ฉะนั้น ถ้าหากเราพยายามควบคุมจิตใจอยู่ได้ กำหนดอยู่ได้ พิจารณาให้เห็นตามเรื่องของธาตุของขันธ์ว่า เรามาอาศัยเขาอยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เดี๋ยวธาตุก้อนนี้มันจะแตกสลายแปรสภาพอยู่แล้ว แต่ในระยะนี้ เราไม่ตื่นตกใจอะไรหรอก โน้น เวลาเจ็บ เวลาป่วย เวลาไข้ขึ้นมา ใกล้จะตายขึ้นมานั้นหละ จึงจะรู้สึกตัว จึงกลัว

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระเทพวิสุทธิมงคล
วัดประชารมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด









“คุณสมบัติของผู้ที่จะบรรลุธรรม”

ถ้ามีปัญญาที่สามารถตัดกิเลสได้ก็บรรลุได้ ถ้าขจัดความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้ก็บรรลุธรรมได้ แต่ส่วนใหญ่มันจะตัดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ ... เพราะถ้าไม่มีสมาธิ ใจจะไม่มีกำลังที่จะไปตัดกิเลส ถึงแม้จะมีมีด แต่ไม่มีกำลังไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงก็ตัดไม่ได้ แต่ถ้ามีเรี่ยวมีแรงแล้วมีมีดก็จะสามารถฟันกิเลสฆ่ากิเลสให้ตายได้

ตอนนี้เรามีปัญญาที่เกิดจากการฟังธรรม แต่ใจของเรานี้อ่อนปวกเปียกเหมือนเด็กทารก ไม่มีกำลังที่จะเอาปัญญาเอามีดของพระพุทธเจ้านี้ไปฆ่ากิเลสได้ เราจึงต้องมาฝึกสมาธิกัน เพื่อทำให้จิตนี้แข็งแรงเหมือนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นเด็กทารก คนที่ไม่มีสมาธินี้ก็เป็นเหมือนเด็กทารก ใจจะอ่อนปวกเปียก จะโลเล จะไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะเป็นคนหนักแน่น มีหลัก มีเกณฑ์ มีพลังที่จะทำอะไรต่างๆ ได้

ดังนั้น การฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างเดียวถ้าไม่มีสมาธินี้ ยากที่จะบรรลุได้ ผู้ที่บรรลุจากการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ส่วนใหญ่เขามีสมาธิกันแล้ว เช่นในครั้งพุทธกาล ครั้งที่ พระพทุธเจ้าทรงแสดงธรรมให้กับบรรดานักบวชทั้งหลาย พวกนี้เขามีฌานมีสมาธิกันแล้ว แต่เขาไม่มีปัญญา พอเขาได้ปัญญาจากพระพุทธเจ้า เขาก็เอาปัญญานั้นมาฆ่ากิเลสได้ทันทีเลย บรรลุธรรม ได้ในขณะที่ฟังเพราะเขามีสมาธิแล้ว เขามีกำลังที่จะเอามีดที่พระพุทธเจ้าหยิบยื่นให้ไปฆ่ากิเลสของเขา แต่พวกเรานี้ตรงกันข้ามกัน พวกเรามีมีด เราฟังเทศน์ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เรารู้ว่ากิเลสคืออะไร แต่เราไม่มีกำลังที่จะไปฆ่ามัน

ดังน้ัน เราต้องมาฝึกสมาธิกันก่อน คือถ้าเรา ฟังเทศน์แล้วไม่บรรลุ เรายังตัดกิเลสไม่ได้ ... ก็แสดงว่าเราไม่มีกำลังไม่มีสมาธิ เราก็ต้องมาฝึกสมาธิกัน ถ้าเรามีสมาธิแล้วเราเอาธรรมะท่ีพระพุทธเจ้าสอนให้เราเอามาใช้ เราก็จะสามารถเอามาฆ่ากิเลส ฆ่าตัณหาต่างๆให้หมดไปจากใจได้ เราก็จะสามารถบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ได้

หนังสือ: สติธรรม
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน










"...จิตทุกดวง วิญญาณทุกดวงนะ ที่เป็นเทวดานางฟ้า เวลาจุติลงมาจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ตั้งใจไว้ว่า เมื่อได้เกิดแล้วจะสร้างบุญสร้างกุศล สร้างคุณความดีให้ดีกว่าเดิม เพื่อจะให้ดีกว่าเดิมดังที่เป็นอยู่
แต่พอได้เกิดแล้ว ส่วนมากลืม ลืมในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ ลืมหมด เพราะหลง แทนที่จะสร้างบุญสร้างคุณความดีกันต่อ กลับไปสร้างบาปสร้างกรรมเสียแล้ว ทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำเข้าไปอีก นี่แหละคนเรา มนุษย์เรา มีจำพวกเดียวที่ไม่หลงในชีวิต คือจำพวกที่เป็นพระอริยบุคคล ชั้นพระโสดาบัน ที่ลงมาเกิด นอกนั้นหลงหมดลืมหมด..."

หลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่










"...สมถะ คือ การบริกรรม
วิปัสสนา(คือ)การค้นคว้าอาการ ๓๒ นี่แหละ
ค้นไป ไม่ส่งจิตไปที่อื่น
เวลาเราทำสมาธิ เราต้องตั้งใจว่า...
เวลานี้เราจะทำหน้าที่ ของเรา
หน้าที่ของเราคือ...
จะกำหนดให้มีสติ ประจำใจ
ไม่ให้ มันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก
ให้มีสติ ประจำใจอยู่ ไม่ให้ ไปภายนอก
เดี๋ยวนี้ หน้าที่ของเราจะภาวนา
จะทำหน้าที่ของเรา ไม่ต้องคิดการงานข้าง
นอก
เมื่อออกแล้ว จะทำอะไรก็ทำไป
เวลาเราจะทำสมาธิ ทำความเพียร ของเรา
ต้องตั้งสัจจะลง
ตั้งใจกำหนดอยู่ ในสกนธ์กายนี้
กำหนดสติให้รู้ กับใจ
เอาใจรู้ กับใจ
ให้จิตอยู่ กับจิต
กำหนดจิตขึ้น ให้ทำให้มันพอ
อาศัย ศรัทธา วิริยะ
เหตุทำให้มาก ๆ อันนี้แหละก้อนธรรม
พระพุทธเจ้าว่า...ก้อนธรรม อันนี้แหละ..."

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู









..ความจำเสื่อม สมองเสื่อมนั้น จิตมันจำได้แต่ร่างกายพูดไม่ได้ สมองไม่ทำงาน แต่จิตเขารู้จัก บางทีเขายิ้มอยู่ จิตมีความรู้สึก แต่ปากมันใช้งานไม่ได้ พูดไม่ได้ ตัวส่งใช้งานไม่ได้ เครื่องแบตเตอรี่ทำงานอยู่ แต่ฟิวส์มันขาด ไฟฟ้ามันเลยจ่ายออกไปข้างนอกไม่ได้ เปรียบเทียบอย่างนั้น
..ประสาท คือฟิวส์ เขาเรียกว่าคนฟิวส์ขาด แต่ใจของเราเหมือนหม้อแบตตเตอรี่ ลองดูๆ คิดอยู่ในใจ แต่ปากไม่พูดสักที ไม่มีเสียงออก ตั้งใจนั่นแหละตัวจิต พวกเราท่านทั้งหลาย เคลื่อนไหวไปมาได้ เพราะอาศัยจิตใจของพวกเราเป็นผู้สั่งงาน ไม่ใช่สมองสั่ง สมองมันเป็นระบบประสาทเฉยๆ แต่จิตวิญญาณเป็นผู้รับรู้ ผู้มีความคิดนึกระลึกอยู่นั่นเองเป็นผู้สั่ง
..สั่งให้เราจับนู่นจับนี่ สั่งให้เรายืนขึ้นนั่งลง สั่งให้เราเหยียดแข้งเหยียดขาอะไรต่างๆ สั่งให้เราทำการทำงาน หลายสิ่งหลายอย่าง อยู่ในปัจจุบันนี้ก็ล้วนแล้วแต่จิตใจทั้งนั้นสั่งงาน เหตุฉะนั้นพวกเราพินิจพิจารณาให้เข้าใจว่ารูปร่างกายนี้ ถ้าปราศจากจิตวิญญาณแล้ว เขาเรียกว่า คนตาย เท่านั้นเอง..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..









#ทำบุญหนักๆ
ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ อนันตริยกรรม คือกรรมที่หนักที่สุด ผมพอทราบแล้ว แต่ผมอยากทราบว่า ทำบุญที่ให้ผลหนักๆ มีบ้างไหมครับ?

หลวงพ่อ : มีๆ เอาหนักกี่ตันล่ะ ถวายของเป็นตันๆ ซิ หนักเท่านั้นแหละ อย่างสร้างพระพุทธรูป ๘ ศอก หนัก ๒ ตัน ใช่ไหม (หัวเราะ)
ความจริงบุญหนักๆ ก็มีหลายอย่าง อย่างที่ญาติโยมนำสังฆทานมาเป็นแถวๆ นี่บุญหนักที่สุด จอมหนักเลย
"ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง"
เบารึ?

ผู้ถาม : แล้วอย่างถวายแบบชุดเล็กๆ ล่ะครับ?

หลวงพ่อ : นี่ฉันพูดถึงบุญนะ ไม่ใช่พูดถึงของ อานิสงส์ที่จะพึงได้ แม้แต่การถวายของ แม้เพียงนิดหน่อย
อย่าง พระสารีบุตร ถวายผ้ากว้างคืบ ยาวคืบ แล้วข้าวหยิบมือหนึ่ง กับนิดหนึ่ง น้ำหน่อยหนึ่ง ถวายเป็นสังฆทานแก่พระสงฆ์
แม่ที่อยู่เป็นเปรต เป็นนางฟ้าไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ นี่แหละบุญหนัก นี่จริงๆนะ "สังฆทาน" เป็นยอดอานิสงส์ในด้าน "อามิสทาน" ที่สูงไปกว่านี้อีกอย่าง คือ "วิหารทาน"
และนอกจากนั้น ถ้าจะเอาหนักอีกโดยไม่ต้องใช้วัตถุ คือ "อภัยทาน" กับ "ธรรมทาน" ๒ อย่างนี้ไม่ต้องใช้วัตถุ ความจริงอย่าง อาจารย์ยกทรง (เป็นผู้อ่านปัญหาที่ญาติโยมถามมา) ทำนี่ก็เป็นมหากุศลนะ บุญใหญ่มาก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ"
การให้ธรรมเป็นทานชนะทานทุกอย่าง
ถ้าเวลาตายนะ ก่อนจะตายหมาจะหอน

ผู้ถาม : เอะ! ทำไมอย่างนั้นล่ะครับ?

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เพราะอะไรรู้ไหม เทวดามารับมาก เพราะ "ธรรมทาน" องค์ต้น "ท่านโฆษกเทพบุตร" ท่านเคยทำไว้ไงล่ะ

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
จาก "ธัมมวิโมกข์" ฉบับที่ ๔๓๘ เดือนกันยายน ๒๕๖๐ หน้า ๘๓ - ๘๔










"...อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเลย..."
"...วิปัสสนานี้มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา
มีสุคติภพคือมนุษย์และโลกสวรรค์เป็นไปในเบื้องหน้า
หากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว
อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือ ศีล ๕ และกุศลธรรมบท ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนักเพราะอันตรายชีวิตทั้งภายในภายนอกมีมากต่างๆ
การที่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่งเหตุนั้นเราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเลย..."

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล












ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา ความอยากอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นบารมีของตน แต่ไม่ใช่ทุกคนนะที่มีปัญญา

บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก เพราะเข้าใจว่า การมาปฏิบัติก็เพื่อระงับความอยาก ความจริงน่ะ ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ลองพิจารณาดูก็ได้

ทุกคน แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราก็ตาม ที่ท่านออกมาปฏิบัติ ก็เพื่อจะให้บรรเทากิเลสทั้งหลายนั้น

แต่ว่ามันต้องอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากให้มันสงบ และก็ไม่อยากให้มันวุ่นวาย ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีความฉลาดในการกระทำอย่างนั้น เพราะว่ามันปนกันอยู่ อยากทั้งสองอย่างนี้มันมีราคาเท่า ๆ กัน

อยากจะพ้นทุกข์มันเป็นกิเลส สำหรับคนไม่มีปัญญา อยากด้วยความโง่ ไม่อยากมันก็เป็นกิเลส เพราะไม่อยากอันนั้นมันประกอบด้วยความโง่เหมือนกัน คือทั้งอยาก ไม่อยาก ปัญญาก็ไม่มี ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค ซึ่งพระพุทธองค์ของเรา ขณะที่พระองค์กำลังทรงปฏิบัติอยู่นั้น ท่านก็หลงใหลในอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านหาอุบายหลายประการ กว่าจะพบของสองสิ่งนี้

ทุกวันนี้เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทั้งสองอย่างนี้มันกวนอยู่ เราจึงเข้าสู่ทางไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ความเป็นจริงนี้ทุกคนที่มาปฏิบัติ ก็เป็นปุถุชนมาทั้งนั้น ปุถุชนก็เต็มไปด้วยความอยาก ความอยากที่ไม่มีปัญญา อยากด้วยความหลง ไม่อยากมันก็มีโทษเหมือนกัน “ไม่อยาก” มันก็เป็นตัณหา “อยาก” มันก็เป็นตัณหาอีกเหมือนกัน

ทีนี้ นักปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องว่า จะเอายังไงกัน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ถูก เดินกลับไปข้างหลังก็ไม่ถูก จะหยุดก็หยุดไม่ได้เพราะมันยังอยากอยู่ มันยังหลงอยู่ มีแต่ความอยาก แต่ปัญญาไม่มี มันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหา ถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกันเพราะอะไร? เพราะมันขาดปัญญา

ความเป็นจริงนั้น ธรรมะมันอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงความอยากกับความไม่อยากนั่นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้อยากบ้าง เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจริงทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่คนละตัว แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน

พระพุทธเจ้าของเรา และสาวกทั้งหลายของพระองค์นั้นท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ “อยาก” ของท่านนั้น เป็นเพียงอาการของจิตเฉย ๆ หรือ “ไม่อยาก” ของท่าน ก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉย ๆ อีกเหมือนกัน มันวูบเดียวเท่านั้น ก็หายไปแล้ว

ดังนั้น ความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลาแต่สำหรับผู้มีปัญญานั้น “อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน “ไม่อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น “สักแต่ว่า” อยากหรือไม่อยากเท่านั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นแต่ "อาการของจิต" อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเรามาตะครุบมันอยู่ใกล้ ๆ นี่มันก็เห็นชัด

ดังนั้นจึงว่า การพิจารณานั้น ไม่ใช่รู้ไปที่อื่น มันรู้ตรงนี้แหละ เหมือนชาวประมงที่ออกไปทอดแหนั่นแหละ ทอดแหออกไปถูกปลาตัวใหญ่ เจ้าของผู้ทอดแหจะคิดอย่างไร? ก็กลัว กลัวปลาจะออกจากแหไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจมันก็ดิ้นรนขึ้นระวังมาก บังคับมาก ตะครุบไปตะครุบมาอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวปลามันก็ออกจากแหไปเสีย เพราะไปตะครุบมันแรงเกินไป

อย่างนั้นโบราณท่านพูดถึงเรื่องอันนี้ ท่านว่าค่อย ๆ ทำมัน แต่อย่าไปห่างจากมัน นี่คือปฏิปทาของเรา ค่อย ๆ คลำมันไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นแหละ

อย่าปล่อยมัน หรือไม่อยากรู้มัน ต้องรู้ ต้องรู้เรื่องของมัน พยายามทำมันไปเรื่อย ๆ ให้เป็นปฏิปทา ขี้เกียจเราก็ทำไม่ขี้เกียจเราก็ทำ เรียกว่าการทำการปฏิบัติ ต้องทำไปเรื่อยๆอย่างนี้

ถ้าหากว่าเราขยัน ขยันเพราะความเชื่อ มันมีศรัทธาแต่ปัญญาไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ขยันไป ๆ แล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมากมาย ขยันไปนาน ๆ เข้า แต่มันไม่ถูกทาง มันก็ไม่สงบระงับ ทีนี้ก็จะเกิดความคิดว่า เรานี้บุญน้อยหรือวาสนาน้อย หรือคิดไปว่ามนุษย์ในโลกนี้คงทำไม่ได้หรอก แล้วก็เลยหยุดเลิกทำเลิกปฏิบัติ

ถ้าเกิดความคิดอย่างนี้เมื่อใด ขอให้ระวังให้มาก ให้มีขันติ ความอดทน ให้ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเราจับปลาตัวใหญ่ ก็ให้ค่อย ๆ คลำมันไปเรื่อย ๆ ปลามันก็จะไม่ดิ้นแรงค่อย ๆทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ไม่ช้าปลาก็จะหมดกำลัง มันก็จับง่าย จับให้ถนัดมือเลย ถ้าเรารีบจนเกินไป ปลามันก็จะหนีดิ้นออกจากแหเท่านั้น

ดังนั้น การปฏิบัตินี้ ถ้าเราพิจารณาตามพื้นเหตุของเรา เช่นว่า เราไม่มีความรู้ในปริยัติ ไม่มีความรู้ในอะไรอื่น ที่จะให้การปฏิบัติมันเกิดผลขึ้น ก็ดูความรู้ที่เป็นพื้นเพเดิมของเรานั่นแหละอันนั้นก็คือ “ธรรมชาติของจิต” นี่เอง
มันมีของมันอยู่แล้ว เราจะไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่ หรือเราจะไม่ไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่

อย่างที่ท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะก็คงมีอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่พลิกแพลงไปไหน มันเป็นสัจจธรรม

เราไม่เข้าใจสัจจธรรม ก็ไม่รู้ว่าสัจจธรรมเป็นอย่างไร นี้เรียกว่า การพิจารณาในความรู้ของผู้ปฏิบัติที่ไม่มีพื้นปริยัติ

ขอให้ดูจิต พยายามอ่านจิตของเจ้าของ พยายามพูดกับจิตของเจ้าของ มันจึงจะรู้เรื่องของจิต ค่อย ๆ ทำไป ถ้ายังไม่ถึงที่ของมัน มันก็ไปอยู่อย่างนั้น

ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า ทำไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด บางทีเรามาคิด “เออ ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าทำไม่ถูกที่มัน มันจะรู้อะไร” อย่างนี้เป็นต้น ก็ต้องไปเรื่อย ๆ ก่อน แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นในสิ่งที่เราพากเพียรทำนั้น

มันเหมือนกันกับบุรุษที่ไปสีไฟ ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ แล้วจะมีไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย ให้เป็นไฟเร็วๆ แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจ แล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน

ถ้าทำไปเรื่อยๆอย่างนี้ เหนื่อยก็หยุด มีแต่เหนื่อยอย่างเดียวก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วย เลยไปกันใหญ่ แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ไม่เอาไฟ ก็ทิ้ง เลิก ไม่สีอีก แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก เขาได้ลองทำแล้ว

ก็จริงเหมือนกันที่ได้ทำแล้ว แต่ทำยังไม่ถึงจุดของมันคือความร้อนยังไม่สมดุลกัน ไฟมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งที่ความจริงไฟมันก็มีอยู่ อย่างนี้ก็เกิดความท้อแท้ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ละอันนี้ไปทำอันโน้นเรื่อยไป อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น

การปฏิบัตินั้น ปฏิบัติทางกายทางใจทั้งสองอย่าง มันต้องพร้อมกัน เพราะอะไร? เพราะพื้นเพมันเป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็มีกิเลสแต่ท่านมีปัญญามากหลาย พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เหมือนกับเรา

เมื่อความอยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้จัก เมื่อความไม่อยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้จัก บางทีก็ร้อนใจ บางทีก็ดีใจ ถ้าใจเราไม่อยาก ก็ดีใจแบบหนึ่ง และวุ่นวายอีกแบบหนึ่ง ถ้าใจเราอยาก มันก็วุ่นวายอย่างหนึ่ง และดีใจอย่างหนึ่ง มันประสมประเสกันอยู่อย่างนี้

อันนี้คือปฏิปทาของผู้ปฏิบัติเรา

อ่านใจธรรมชาติ]
โอวาทธรรมหลวงปู่ชา สุภัทโท หนังสือ หมวด: โพธิญาณ









"...การให้ด้วย​ความเต็มใจ​นั้นมีอานิสงส์​มหาศาล​ ของที่​ให้​แม้​จะ​น้อย​ แต่ให้​ด้วย​ความเต็ม​ใจ​ ก็​มี​อานิสงส์​มากกว่า​เงิน​จ​ำ​น​วน​มาก​ แต่​ให้​เพราะ​อยาก​ได้หน้า​หรือ​ให้​แต่​เสียดาย​ เรา​เหลือ​กิน​เหลือ​ใช้ก​็ให้​ไปเถอะ​ เลี้ยง​คน​ไม่​ท​ำ​ให้​จน​ลง​หลอก​ ทรัพย์​สมบัติ​ทั้ง​หมด​เป็น​ของ​โลก​ ตายไปเอาไปไม่ได้​ ความ​มีน้ำใจ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ เราอยากให้ใครดีกับเรา​ เราต้องดีกับเขา​ก่อน ทำอะไรด้วยความตั้งใจ​ที่​ดี​ ความ​บริสุทธิ์​ใจ..."

หลวงปู่​ไพบูลย์​ สุมังคโล









"...สัตว์โลกต่างกันด้วยอำนาจของกรรม..."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เตือน คนประเภทนี้...ขนาดยมบาลยังเกลียดกลัว อยู่ในนรก ยังพาเดือดร้อนฉิบหาย คิดได้ต้องรีบระวังตน

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ สายธรรมยุต ชาวไทย ท่านเป็นพระป่าผู้เป็นที่รู้จักและเป็นพระอาจารย์คนสำคัญของหลายสำนักการปฏิบัติธรรม หลวงปู่มั่นไม่เคยถือสมณศักดิ์หรือสมบัติใดๆ นอกจากในพุทธบัญญัติไว้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าท่านเป็นพระแท้ผู้ควรค่าแก่การยึดเป็นแบบอย่างที่แท้จริง

พระพุทธศาสนาเถรวาทสายพระป่าแผ่ไปไกลในวงกว้าง จนทำให้ได้รับสมัญญานามจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายว่า "พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" ผู้สมควรเอาเป็นแบบอย่างทุกประการ

หลวงปู่มั่น ฝากโอวาทธรรมคำสอนไว้​ ดังนี้...

“คนดีแต่ละคนมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกองและเห็นคุณค่าแห่งความดีของตนที่จะทำต่อไปมากกว่าเงิน​ แม้จะจนก็ยอมจน ขอแต่ให้ตัวดีและโลกมีความสุข

แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี ขอแต่ได้เงินแม้ตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิดถึงจะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรก็ตาม ขนาดนายยมบาลเกลียดกลัวไม่อยากนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อนฉิบหายก็ไม่ว่า ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ ส่วนจะผิดถูกประการใด
ถ้าบาปมีค่อยคิดบัญชีกันเองโดยเขาไม่ยุ่งเกี่ยว

คนดีกับคนชั่วและสมบัติเงินทองกับธรรม คือคุณงามความดีผิดกันอย่างนี้แล

ใครมีหูมีตาก็รีบคิดเสียแต่บัดนี้ อย่าทำให้สายเกินไป จะหมดทางเลือกเฟ้น การให้ผลก็ต่างกันสุดแต่กรรมของตนจะอำนวย จะทักท้วงหรือคัดค้านไม่ได้ กรรมอำนวยให้อย่างใดต้องยอมรับเอาอย่างนั้น

ฉะนั้น​ สัตว์โลกจึงต่างกัน ทั้งภพกำเนิด รูปร่าง ลักษณะ จริต นิสัย สุข ทุกข์ อันเป็นสมบัติประจำตัวของแต่ละราย แบ่งเบาแบ่งหนักกันไม่ได้ ใครมีอย่างไรก็หอบหิ้วไปเอง ดีชั่ว สุขทุกข์ก็ยอมรับ ไม่มีอำนาจปฏิเสธได้ เพราะไม่ใช่แง่กฎหมาย แต่เป็นกฎของกรรม...”

โอวาทธรรม​พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)











ถ้ารู้เห็นเอาไว้ยึดแล้ว เกิดโทษ
การประพฤติปฏิบัติ
เราปฏิบัติเพื่อจาคะ ความสละ

ติดความรู้ก็ผิด ติดความเห็นก็ผิด
รักษาศีล ติดศีล ก็ผิด
รักษาธรรม ติดธรรม ก็ผิด
ผู้ที่ไปติดศีล ติดธรรม
ติดแต่แค่ความรู้ ไม่รู้จักปล่อยวาง
ทำให้เกิดทิฏฐิมานะ
ทะนงตัวว่าดีกว่าคนอื่น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย








" คำว่าสติ...
ก็รู้ ในปัจจุบัน
สัมปชัญญะรู้ ในปัจจุบัน
รู้ ในตน รู้ ในใจ เรานี้แหละ

รู้ ในปัจจุบัน...
รู้ ละความโกรธ ความโลภ ความหลง
ราคะ กิเลส ตัณหา เหล่านี้
ละ ออกให้หมด
ละ ออกจากใจ
ละ อยู่ตรงนี้แหละ

สติ...
ถ้าได้กำลังใจแล้วมันก็สว่าง
ตั้งจิต ตั้งใจ กำหนดเบื้องต้น
คือ การกำหนดจิต หรือกำหนดศีล
คือกาย ก็บริสุทธิ์ วาจา ก็บริสุทธิ์
ใจ ก็บริสุทธิ์
กำหนด นำความผิดออกจาก...
กาย วาจา ใจ ของตน

เมื่อ...
กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ สมาธิ ก็บังเกิดขึ้น
รู้ แจ่มแจ้ง ไปหาจิต หาใจ
กายนี้ ก็รู้แจ้ง
รู้แจ้งใน กาย ในใจ ของตนนี้

สติปัฏฐาน ๔
สติ...มีเพียงตัวเดียว
นอกนั้น ท่านจัดไปตามอาการ
แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่จุดเดียว
คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว
นอกนั้นคือ...เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน
เพราะ...มีอาการเป็นอย่างเดียวกัน."

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง









"...อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเลย..."

"...วิปัสสนานี้มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา
มีสุคติภพคือมนุษย์และโลกสวรรค์เป็นไปในเบื้องหน้า
หากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว

อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือ ศีล ๕ และกุศลธรรมบท ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนักเพราะอันตรายชีวิตทั้งภายในภายนอกมีมากต่างๆ

การที่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่งเหตุนั้นเราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเลย..."

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 25 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร