วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2019, 04:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


(ในขณะทำสมาธิ)
จิตที่ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่าน เรามีข้อสังเกตดังนี้
ในเมื่อจิตของเรามีความคิด
แล้วก็มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่ขณะจิตที่มีความคิด
คิดสักแต่ว่าคิด
คิดแล้วปล่อยวางไป คิดแล้วปล่อยวางไป
ไม่ยึดอะไรไว้สร้างปัญหาให้ตนเองต้องเดือดร้อน
อันนี้ท่านเรียกว่า ปัญญาในสมาธิ หรือ สมาธิปัญญา
เป็นปัญญาที่เกิดจกาการภาวนา
เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
จิตคิดเอง สติตามรู้เองโดยอัตโนมัติ
ทีนี้ถ้าความคิดอันใดที่เกิดขึ้นแล้ว
ทำให้เราดีใจไป เสียใจไป ทุกข์ใจไป
เพราะสติอ่อน ตามรู้ไม่ทัน ไม่รู้จักปล่อยวาง
อันนี้เรียกว่า ความฟุ้งซ่าน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย






"..พุทโธ ระลึกถึงทั้งวันได้บุญทั้งวัน ระลึกถึงทั้งคืนได้บุญทั้งคืน ระลึกถึงทั้งสัปดาห์ได้บุญทั้งสัปดาห์ ระลึกถึงทั้งเดือนได้บุญทั้งเดือน ระลึกถึงทั้งปีได้บุญทั้งปี นี่ทั้งปี ปีหนึ่งเราระลึกถึงไม่ถึงสามครั้ง พุทโธ พุทธะคือตัวผู้รู้ คือรู้จิตใจตัวเองนั้นล่ะ ดวงธรรมคือตัวผู้รู้ นี่ไม่มองตัวเองกิเลสมันผลักดันให้ไปมองอย่างอื่น นอกจากหนทาง มันก็ไม่มีกำลัง
เพราะฉะนั้นเราอย่ามองข้ามตัวเอง อย่าดูถูกตัวเองว่าตัวเองบุญน้อย วาสนาน้อย ไม่ใช่ฐานะของเรา เรารู้ว่าน้อยไม่เจริญก็เลี้ยงดูปูเสื่อให้มันเจริญเติบโตขึ้น เหมือนกับเราเกิดมาใหม่ๆ เหมือนกับเราเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน มันไม่โตครั้งเดียว มันไม่แก่ครั้งเดียว ฝ่ายบุญกุศลก็เหมือนกัน มันมีน้อยก็เจริญทำให้มันเจริญขึ้นไปๆ มันก็เติบโต ท่านว่าวาสนาคือการกระทำ มันไม่มีก็ทำให้มีได้ มันมีน้อยก็ทำให้มันมีมากได้ เมื่อมันมากเข้าๆๆ เมื่อมันพร้อมมันก็จะให้ผล เมื่อมันให้ผลมันจะผลักดันจิตใจของพวกเราให้หยั่งเข้าถึงความสงบได้ จนกว่าจิตใจจะเข้าไปเห็นจิตใจของตนของตนนั้นล่ะดวงธรรม ตนของตนนั้นล่ะดวงศีล
..#สรุปแล้วของดีที่สุดคือจิตใจของพวกเราของใครของเราจิตใจแต่ละดวงๆนี่ของดีอยู่ตรงนี้.."

คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร






การส่งจิตออกไปข้างนอก
เพื่อรับสนองอารมณ์นั้นเป็นทุกข์.....(สมุทัย)
ผลของการส่งจิตออกไปข้างนอก
นั้นทำให้เกิดทุกข์.....(ทุกข์)
จิตที่เห็นแจ่มแจ้ง
ในวิถีแห่งการดับทุกข์.....(มรรค)
ผลของการที่จิตเห็น
อย่างแจ่มแจ้งในทุกข์.....(นิโรธ)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม






ทำสมาธิโดยการบริกรรมภาวนา
หมายถึงการท่องคำบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ
ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง เป็นต้น
ผู้ภาวนาท่องบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตสงบประกอบด้วยองค์ฌาณ
คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตสงบจนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างหายไป
เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งสว่างอยู่ ความนึกคิดไม่มี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ
พอรู้สึกว่ามีกาย ความคิดเกิดขึ้น ให้กำหนดสติตามรู้ทันที อย่ารีบออกจากที่นั่งสมาธิ
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้ปัญญาเร็วขึ้น …ในช่วงนี้ถ้าเราไม่รีบออกจากสมาธิ
ออกจากที่นั่ง เราก็ตรวจดูอารมณ์จิตของเราเรื่อยไป โดยไม่ ต้องไปนึกอะไร
เพียงแต่ปล่อยให้จิตมันคิดของมันเอง อย่าไปตั้งใจคิด ที่นี้พอออกจากสมาธิมาแล้ว
พอมันคิดอะไรขึ้นมา ก็ทำใจดูมันให้ชัดเจน ถ้าจิตมันคิดไปเรื่อย ๆ ก็ดูมันไปเรื่อย ๆ
จะคิดไปถึงไหนช่างมัน ปล่อยให้มันคิดไปเลย เวลาคิดไป เราก็ดูไป ๆๆๆ
มันจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มในความคิด แล้วจะเกิดกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ
กายเบา กายสงบ ได้กายวิเวก
จิตเบา จิตสงบ ได้จิตวิเวก
ทีนี้จิตสงบแล้ว จิตเป็นปกติได้ ก็ได้อุปธิวิเวกในขณะนั้น...

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย







เพียงแต่ หยุด ความคิดปรุงแต่ง และ หมด ความกระวน กระวาย เพราะ การแสวงหา เสีย เท่านั้น พุทธะ ก็จะ ปรากฏ ตรง หน้า

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล







"ถ้าถูกจริตมันก็สงบสบาย"
" .. "อันหนึ่งสมถะ อันหนึ่งวิปัสสนา" มันถูกกับจริตอันใด การภาวนามันสบาย ก็ให้เอาอันนั้น "ถ้ามันถูกกับจริต จิตก็สงบสบายไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น" จิตรวมอยู่ นั่นแหละมันถูกนิสัย "ครั้นมันไม่ถูกนิสัยแล้ว นึกพุทโธหรืออันใดมันก็ฟุ้งซ่าน" หายใจยาก หายใจฝืดเคือง "หมายความว่ามันไม่ถูกจริตของตน"
"อันใดมันถูกจริตมันก็สบายใจ" ใจสว่าง จิตไม่ฟุ้งซ่าน เบื้องต้นใครเอาอันใด ก็ต้องเอาอันนั้นเสียก่อน "พิจารณาอาการสามสิบสอง นี่เรียกว่าวิปัสสนา" เรียกว่าค้นคว้า "เมื่อเราบริกรรมพุทโธหรืออะไรก็ตาม บริกรรมแล้วมันไม่สงบ" เราก็ต้องค้นคว้าหาอุบาย มันเป็นการอบรมกันมันเป็นเรื่องปัญญา "จิตไม่สงบเราก็ต้องพิจารณาให้มันสงบ"
มันไม่สงบแล้วมันก็ไปที่อื่น "ไปสู่อารมณ์ภายนอกที่อื่น" เราก็ต้องเอามันมา ปลอบโยนมัน "ค้นคว้าให้มันพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังไปสุดตลอด" ให้มันครบถึงอาการ ๓๒ ใช้สัญญาค้นไป ค้นไป ไม่ให้มันไปที่อื่น ค้นไป บางทีมันลงความเห็นเรื่องปัญญา เราค้นไป ว่าไป "มันมีความเห็นตามแล้วมันก็สังเวช สลดใจ จิตมันจึงจะสงบลง" .. "

"อนาลโยวาท"
หลวงปู่ขาว อนาลโย







"พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ปล่อยวางอย่าไปยึดถือ ตัวกูของกู ตัวเราของเรา มันเป็นเพียงสมมุติ ให้เป็นตัวเราของเราเท่านั้นแหละ ธาตุแท้มันไม่ได้เป็นของใคร เมื่อมีเหตุ ปัจจัยเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้
เมื่อหมดเหตุ ปัจจัยมันไปไหน ก็ละลายลงไปสู่พื้นแผ่นดิน ธาตุดินก็ไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไหลไปสู่ธาตุน้ำ ไหลไปในอากาศ ธาตุลมก็ไปกับลม ธาตุไฟความร้อนความอบอุ่นมันก็ไปตามธาตุไฟ
ธาตุเหล่านี้เมื่อเขาไหลเข้าไปอยู่ในสภาพของเขา เขาก็ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างไร เพราะธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธรรมชาติประจำโลกประจำวัฎฎสงสารอันนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว มาถึงพวกเราภาวนาจะต้องให้รู้เข้าใจ จิตมายึดถือความทุกข์ความเวทนานี้เป็นความหลง"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร









"ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4"
ให้บรรดาเสนาอำมาตย์
วันพระเล็กนะ มาตรวจดูมนุษย์ทั่วโลก
ถ้ามนุษย์ไม่สนใจเรื่องศีลเรื่องธรรมคำสอน
ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สนใจเรื่องบุญเรื่องบาปแล้ว
บรรดาเทพเทวดาทั้งหลายที่เสวยความเป็นทิพย์
ท่านจะสลดสังเวช
วันพระใหญ่ทีนี้ ท้าวจตุโลกบาลไปสำรวจตรวจดูเอง
มีโอกาสกาลเวลาได้ยินได้ฟัง ไปศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า สนใจมากน้อยขนาดไหน
ความสำนึกตรงนี้
บรรดาท้าวจตุโลกบาลเวลาไปประชุม
ในชั้นดาวดึงส์ บรรดาเทพทั้งหลายน่ะ มาประชุมกันเอาข้อมูลอันนี้ล่ะสำรวจตรวจดูมนุษย์
ถ้าสำรวจตรวจดูมนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายไม่สนใจไม่เข้าใจ เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องศีลเรื่องธรรมนะ
เวลาเทวบุตรเทวดาไปประชุมกันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บรรดาเทวดาทั้งหลายสลดสังเวช เมตตาสงสารมาก
ทำไมเพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นน่ะ
มันจะไปอบายภูมิ ภพหน้าชาติหน้านะ
"อบายภูมิ คือภพภูมิที่หาความสุขไม่มี"

พระธรรมเทศนาหลวงปู่อุทัย สิริธโร
วัดเขาใหญ่เจริญธรรมญาณสัมปันโน
อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา








เป็นมนุษย์ต้องเป็นคนจริง ต้องซื่อสัตย์ ถ้าก้าวขึ้นศีลห้าแล้ว เลิศทันที ศีลห้านี้ถ้าบริสุทธิ์แล้วสมหวังหมด ทั้งรูปร่างกาย ทั้งสติปัญญา ท่านจึงกล่าวว่า สีเลนะสุคะติงยันติ ยังไม่ตายก็มีความสุข เพราะไม่มีเวรไม่มีภัย จิตดวงนี้ไม่ได้ทำกรรมทำเวรทั้งห้าเลย ไม่ทำอย่างเด็ดขาด จนศีลอยู่ในจิตนั้น
เบื้องต้นก็ต้องระวังระแวง เพราะจิตอันนี้เป็นอำนาจอันหนึ่ง บังคับสัตว์โลกทั้งหลายให้ทำทุกสิ่งทำอย่าง พอเอาศีลห้ามาเป็นพี่เลี้ยงของจิต จนอยู่ในจิต เป็นสมบัติของจิต เกิดในสวรรค์ก็มีความสุข กลับมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์จนที่สุดคือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะนึกอะไรได้หมด จนจิตพอตัว มีการตามรู้เกิดขึ้น เกิดทิพเนตร มองเห็นร่างกายนี้เป็นร่างกระดูก
สมัยที่หลวงปู่ไปอยู่กับหลวงปู่หนองแซง เดินบิณบาตตามท่านไป ท่านไม่พูดนะ พระปฏิบัติท่านไม่พูดไม่คุย พระแต่ก่อนท่านเดินนิ่งภาวนาไป ตาในท่านมองเห็นพวกเราเป็นร่างกระดูกทั้งร่าง ไปถึงวัดท่านว่า โอ้ย คนมานี้ มีแต่ร่างกระดูก นี่คือตาใน ต้องสร้างตรงนี้ ทำศีลห้าให้บริสุทธิ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วตาในจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เราเป็นฆราวาส ห้าตัวนี้พอแล้ว ไม่ต้องไปขอกับพระ ให้สังวรณ์ระวัง สิ่งที่ทำผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องคำนึง นับแต่วันนี้ต่อไปจะสังวรณ์ระวังให้สะอาด ไม่มีใครช่วยเราได้เวลาเราจะตาย มีเราตัวคนเดียว ผัวก็ไม่ได้ เมียก็ไม่ได้ ลูกก็ไม่ได้ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
แต่พระพุทธเจ้าไม่บังคับใครนะ ของดีไม่ต้องบังคับ พระพุทธเจ้าสอนความจริงล้วน ๆ ไม่บังคับใครให้นับถือ ใครอยากดีก็เอา ใครชอบขี้เกียจพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่า เอาเลย เดี๋ยวเจอเอง กุศลนี่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้นึกไว้เป็นประจำ จะชะล้างจิตใจ จิตใจจะผ่องใสฉาบล้างอยู่ตลอด กรรมห้าเวรห้า เราเป็นผู้ชำระเอง ไม่ต้องไปเขียนนะเจ้ากรรมนายเวร เจ้าของเป็นผู้ทำเอง ไม่มีใครทำให้หรอก หยุดทำซะ แค่นี้ก็พอ

โอวาทธรรม
หลวงปู่ปรีดา(ทุย) ฉนฺทกโร
วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ






...นิมิตก็เหมือนกับดูหนังดูละคร
ดูแล้วมันก็ติด
ไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นวิปัสสนา
ไม่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ปล่อยวาง
เวลาจิตไปเผชิญกับความทุกข์
จะไม่สามารถช่วยตัวเองได้
เพราะ..ไม่มีปัญญา.
.................................
ตอบปัญหาคาใจ เล่ม3 หน้า157
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







โยม : ทำไมศาสนาพุทธจึงมีแต่ให้ทาน เดี๋ยวก็ถวาย เดี๋ยวก็ถวาย นี่อย่างวันนี้ก็ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำ ถวายผ้าป่า กฐิน มีแต่ถวายเต็มไปหมดแสดงว่าจะได้บุญมาต้องเสียเงินเสียทองสิเจ้าค่ะ
หลวงปู่ : อือ บุญเป็นชื่อของความสุข ทำแล้วทุกข์อย่าทำ
โยม : โยมก็ไม่ได้ทุกข์ แค่สงสัยว่าทำไม ศาสนามีแต่การให้ทาน
หลวงปู่ : การทำบุญในพระพุทธศาสนาน่ะมีหลายแบบ มีหลายระดับ ระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา คนใจยังไม่สูงก็มัววุ่นอยู่กับทานอย่างเดียว คนใจสูงมาอีกหน่อยก็ทำบุญเรื่องศีล เมื่อใจถึงระดับแล้วเขาจะทำบุญด้วยการภาวนา
เพราะทานกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ศีลกำจัดกิเลสอย่างกลาง ภาวนากำจัดกิเลสอย่างละเอียด บางคนทำบุญแล้วไม่รู้เรื่องบุญก็มัวแต่หาว่ามีแต่ทานแต่ทาน คนบ้าทานก็ทำทานเอาหน้า ทำทานเอาตรา ทำทานเพื่อโฆษณา
แท้จริงแล้วจุดประสงค์เพื่อละตัวเรา เพื่อละของเรา อาศัยสิ่งของเพื่อละความเห็นแก่ตัว ละความถือตัวถือตน บางคนทำบุญทำทานไม่เป็นให้แล้วยังถือว่าเป็นเราเป็นของเรา บางคนทานแล้วประสงค์นั่น อธิษฐานนี่ วุ่นวายไปหมด
อันนี้ให้ทานเอาตัณหา ให้ทานเอาโลก ให้ทานเอากิเลส ทานที่แท้จริงต้องทานเพื่อละเพื่อทิ้ง เอาของมาทานให้หลวงปู่แล้วมาให้หลวงปู่เสกนั้นเป่านี่ อธิษฐานเอานั้นเอานี่ เหมือนหลวงปู่จะบันดาลให้ได้
คนที่เอาข้าวให้หมากินเขายังได้อานิสงส์มากกว่าคนพวกนี้ เพราะเขาให้ทานเพื่อละ ให้ทานเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ตกยาก เขาให้ทานโดยไม่มีความเป็นตัวเป็นตน ไม่อธิฐานเอานั้นเอานี่จากหมา ไม่ต้องบอกหมาว่า ต้องฉันของโยม ของหนู ของฉัน นั้นคนพวกนั้นเขาทานเพื่อละเพื่อวาง
คนที่วางตัววางตน ก็ไม่มีตัวไม่มีตน คนไม่มีตัวไม่มีตนมันจะทุกข์มาจากไหน เพราะมีตัว อะไรก็ของตัว ได้ตัวก็ได้ เสียตัวก็เสีย กระทบอะไรตัวก็กระทบ มันจึงทุกข์จึงยาก แต่ละตัวละตนเสียแล้วจะทุกข์กับอะไร ถ้าคุณเข้าใจอย่างนี้หลวงปู่เรียกคนเหล่านั้นว่าเขาทำทานเพื่อพึ่งพา ให้ทานเพื่อละ เพื่อวาง เขาจะไม่ทุกข์กับการให้ทาน เขาเป็นนักทานที่แท้จริง เข้าใจนะ..

โอวาทธรรม
พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร)
วัดสักกะวัน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 42 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร