วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2019, 05:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#ท่านธมฺมวิตกฺโก
ตัดกิเลสหมดทุกอย่าง​ แม้แต่เงินตรา
ที่ใช้แลกเปลี่ยนตามกฏหมาย
ก็มิเคยเห็นและแตะต้อง เครื่องตกแต่ง
เพื่อประดับบารมีภายในกุฏิก็หามีสิ่งมีค่า
มาตั้งโชว์ให้รกหูรกตาแม้แต่สิ่งเดียวไม่
สิ่งที่ประดับบารมีของท่าน ก็คือตำรับ
ตำราและหนังสือธรรมวินัยต่าง ๆ เป็น
จำนวนมาก
ส่วนที่เป็นที่จำวัดนั้น ก็เป็นที่เฉพาะ
องค์ท่านเท่านั้น โดยมีผ้าจีวรเก่า ๆ ปูกับ
พื้นเพียง ๒-๓ ผืน และมีมุ้งหลังเล็ก ๆ อยู่
หลังเดียวเท่านั้น
สิ่งที่สะดุดตาและเตือนใจแก่ผู้พบเห็น
คือโครงกระดูกและหีบศพ ๑ หีบ ที่วาง
ไว้ให้เป็นเครื่องขบคิด
โครงกระดูกที่ท่านนำเข้าไปไว้ในกุฏิ
ของท่าน ก็เพื่อไว้นั่งพิจารณาและปลง
อนิจจัง ว่าสังขารของมนุษย์เรานั้นมัน
ไม่เที่ยงแท้
มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ผลที่สุดก็เหลือแต่
โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นเถ้าถ่านไป
ในที่สุด
ส่วนหีบศพนั้นเล่า ท่านธมฺมวิตกฺโกได้
สั่งให้ญาติซื้อมาไว้เมื่อบวชได้พรรษา ๒
และท่านได้บอกกับญาติโยมให้ทราบว่า
การที่สั่งให้ต่อหีบศพมาไว้นั้นก็เพื่อที่จะ
ไว้ใส่ตัวท่านเอง เมื่อเวลาดับขันธ์ จะมิต้องทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ผู้อยู่ข้างหลัง และหีบศพใบนี้ท่านเคยลงไปทำวิปัสสนากรรมฐานบ่อยครั้งนัก นับเป็นสถานที่ที่สงบแห่งหนึ่งที่ท่านปฏิบัติธรรม
ในกุฏิของท่านจะหาไฟฟ้าใช้แม้แต่
ดวงเดียวก็ไม่มี แม้แต่น้ำที่ท่านใช้ดื่มฉัน
อยู่ทุกวันก็เป็นแต่น้ำฝนทั้งสิ้น
ภาชนะที่ท่านใช้ก็เป็นกะลามะพร้าวขัด
ท่านชี้แจงว่าของสิ่งนี้เป็นของสูง ไม่มี
มลทินอะไรติดอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว
#ท่านได้ให้เหตุผลว่า
“ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์เราเป็นที่
พอเพียงอยู่แล้ว จะวุ่นวายกันไปทำไม
ยิ่งเป็นภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัย
ก็ยิ่งลำบาก น้ำฝนเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ดื่มฉัน
ก็เกิดอาบัติน้อยมาก ยิ่งไฟฟ้าด้วยแล้วก็
ถือว่าไม่เป็นที่สำคัญเลย เพราะดวงอาทิตย์
ได้ให้แสงสว่างแก่โลกมุนษย์เราตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น เราจะทำอะไรก็ควรรีบ ๆ
ทำเสีย เมื่อพระอาทิตย์สิ้นแสงแล้วก็หมด
เวลาที่เราจะทำอย่างอื่น นอกเสียจากทำ
สมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐานแต่อย่างเดียวเท่านั้น”

#ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตย์
#วัดเทพศิรินทร์_กรุงเทพฯ









#ความอยาก
"นี่ให้เข้าใจว่า​ นั่นแหละ
คือหน้าตาของตัณหา
อยากให้มันเป็น อยากให้
มันลงเร็วๆอันนั้นแหละ
มันตัวร้ายล่ะ หน้าดำละ
ความอยากของมันมืดละ
ให้ตั้งใจไว้ เจตนาไว้ว่า
เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่า
จะเอาเลือดเนื้อชีวิตจิตใจ.."
#ถวายบูชา_พระพุทธเจ้า
#พระธรรมเจ้า_พระสงฆ์เจ้า
"ตลอดวันตาย"
อย่างนี้ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา
อยากมันก็เป็นตัณหาเสีย
ยืนขวางหน้าเสีย ยิ่งไม่ลงละ
เอาละ ให้พากันทำไป.."

#หลวงปู่ขาว_อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู








ปฏิบัติคืออะไร
ปฏิบัติกาย ปฏิบัติวาจา
และปฏิบัติดวงใจของเจ้าของ
ให้หมดจากความเห็นผิด
สร้างจิตใจของตน
ให้มันมีความเห็นถูก
เห็นถูกในทางพระพุทธศาสนา
ผลสุดท้ายก็เอาธรรมพินิจ
จิตของพวกเราก็เลยสูงขึ้น
สูงกว่าความโลภ สูงกว่าความโกรธ
สูงกว่าความหลง ผลสุดท้ายจิต
ก็เป็นกองกาลกุศล คือ " จิตเป็นบุญ"

คำสอนหลวงปู่ตื้อ








เรื่อง "ธรรมทาน การแชร์ธรรมะ"
(วิสัชนาธรรมโดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต)
(วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

ถาม : การแชร์ธรรมะของครูบาอาจารย์ จะได้อานิสงส์อย่างไร ?

พระอาจารย์ : การแชร์ธรรมะ ก็ได้ทำทาน ได้ธรรมทาน การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง บางทีเราส่งธรรมะดีๆให้เพื่อนไป แล้วขณะนั้นเขากำลังเสียใจเศร้าใจ พอเขาอ่านธรรมะปั๊บ เขาได้หายทุกข์เลย หรือคนกำลังคิดฆ่าตัวตายพอดี พอมาได้อ่านธรรมะแล้ว โอ้ย! เรื่องอะไรจะต้องไปฆ่าตัวตาย ฆ่ากิเลสดีกว่า เหมือนองคุลีมาล องคุลีมาลก็จะไปฆ่าคน พอพระพุทธเจ้าบอก อย่าไปฆ่าคน ให้ฆ่ากิเลส องคุลีมาลพอหันมาฆ่ากิเลส ก็เลยได้เป็นพระอรหันต์เลย
การแชร์ธรรมะ อานิสงส์ก็คือ
การให้ "ธรรมทาน" นั่นเอง

โอวาทธรรมพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต









"การภาวนาไม่ใช่ของง่าย ต้องอาศัยการฝึกหัดอบรมตน เป็นสิ่งที่ลำบากพอสมควร ยกเว้นว่าจะมี ปุพเพจะ กตปุญญตา มาก่อน ต้องมีความเพียรไม่ขาดสาย พิจารณาอย่าทิ้งจากหลักกายหลักใจ อย่าส่งใจไปกับสิ่งภายนอก จะรู้จะเห็นก็อยู่ที่ใจดวงนี้ จะค่อยเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา เหมือนมะพร้าวที่มีอ่อนแล้วจึงค่อยแก่ มันค่อยเป็นไปเรื่อยๆจนมันแก่กล้าขึ้นมาในใจ ปัญญาเกิด ปัญญาเป็นแสงสว่าง นัตถิปัญญา สมาอาภา"

หลวงปู่แสง ญาณวโร








เราวนเวียน เวียนวน อยู่ในสังสารวัฏนี้นานเท่าไหร่แล้ว
มีอวิชชาเป็นหัวหน้า มีตัณหาเป็นไกด์
จัดภพมาล่อ เอาภพมาขาย ภพนั้น ภพนี้ ปราณีต สวยงาม
สวรรค์บ้าง พรหมบ้าง เจ้าฟ้า เจ้าสวรรค์ มหาจักรพรรดิ
ชาย หญิง ท่องในภพน้อยภพใหญ่
วนไป วนมา เวียนไป เวียนมา ร้อยชาติ แสนชาติ
หยุดไม่ได้ ออกไม่ได้ ถูกกดดัน ถูกบีบคั้น
ด้วยความเผลอ ความเพลิน นันทิราคะ

ไม่เหนื่อยกันบ้างหรือไร ?
ถ้าไม่เหนื่อย ก็ท่องเที่ยว เดินทางกันต่อไป
แต่มีหลายดวงจิต ที่เริ่มเหนื่อยล้า อ่อนแรง
หมดกำลังที่จะเดินทางสู่ภพน้อย ภพใหญ่กันแล้ว

แล้วจะไปไหนกันดี ?
เดินตามรอยบาทพระศาสดา ดีไหม ?

"สุคะโต" เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี ดีขนาดไหน
ดีขนาดที่ว่า ไปแล้วไปลับ ไปแล้วไม่กลับมา
แสดงว่าที่ที่ท่านไปนั้น คงไปดีจริง ๆ
ถ้าไปไหนแล้วยังต้องกลับมา แสดงว่าที่ที่ไปยังไม่ดีจริง

เดินตามรอย แล้วจะลอยตามท่าน
ทำตามที่ท่านตรัส ทำตามที่ท่านสอนจนจิตเบา
ตราบใดที่ยังมีการเจริญมรรค
ตราบนั้น โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์

โอวาทธรรม พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ









เราต้องฝึกเป็นคนที่ทำในสิ่งที่ทำได้ยาก
พยายามทำให้ได้
อย่าเป็นคนหนีสิ่งที่ยาก หรือเลือกทำแต่อะไรที่ง่าย
มันจะไม่แกร่งกล้า
ที่จะทำความดีที่ทำได้ยาก
เช่น การสละ การละสิ่งที่เห็นแก่ตัว
ใจที่สละ ใจที่ยอมนั่นแหละ
เป็นจิตใจที่สูงส่ง
เมื่อทำได้ เราจะเห็นถึงความปลื้มใจ สุขใจ

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี










กรรมวิธีชนะใจ
เรามาหาธรรมะที่วัด ก็เหมือนมาขุดทองคำ ตักเอาตวงเอา เดินบ้าง นั่งบ้าง ยืนบ้าง ภาวนาบ้าง ใจดีขึ้น...ดีขึ้น สมาธิมากขึ้น...มากขึ้น กลับไปบ้านก็สบาย ใจเย็นไม่โกรธใครแล้วก็ไม่หงุดหงิดไม่งุ่นง่าน มีมากระทบจริงแต่ว่าใจมันวางเฉย
เขาทำไม่ถูกใจจริง แต่มันก็เฉยๆ เขาพูดไม่ถูกหูจริงๆ แหละแต่ใจก็เฉยๆ เมื่อก่อนพูดไม่ได้ เอาเรื่องเลย แต่เดี๋ยวนี้มันทำใจได้
มาเรียนรู้ธรรมะที่วัด ก็คือมาเรียนกรรมวิธีที่จะทำใจ กรรมวิธีการเดินอย่างมีสติ เดินอย่างไร กรรมวิธีในการนั่งนั่งให้สงบอย่างไร กรรมวิธีนอนนอนอย่างไร ยืนอย่างไร กินอย่างไร อย่างเช่น กินกำหนดภาวนาไว้ที่ขากรรไกรเคี้ยวไปรู้ กลืนก็รู้อะไรอย่างนี้ เรียกว่า รู้จักกรรมวิธีในการกินกรรมฐาน นั่นเอง
กรรมฐานนอน นอนอย่างไรให้มีสติ ภาวนาอย่างไรจนหลับไป ตื่นขึ้นมาภาวนาต่อ
กรรมฐานเดิน เดินอย่างไรไม่ให้คิดมาก เดินให้รู้ใจ เดินให้รู้การเคลื่อนไหว
กรรมฐานนั่ง นั่งก็หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” ภาวนาเรื่อยไป หรือ “ยุบหนอ พองหนอ” หรือ “สัมมา อรหัง” ก็ได้
กรรมฐานยืน ยืนก็ให้รู้ตัวว่าตัวเองยืนไม่ล้ม ตัวเองยืนแต่ไปนึกถึงที่โน่นที่นี่ ไม่รู้กรรมฐานยืน ยืนอยู่ที่ไหนก็รู้อยู่ที่นั่น เรียกว่า รู้ตามความเป็นจริง
แต่ถ้ารู้ใจก็รู้ตามความเป็นจริงเหมือนกัน ต้องละเอียดอ่อน เช่น เราโกรธเรารู้ทัน ก็ดับโกรธได้ รู้ตามความเป็นจริง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป รู้ว่าเราโลภคิดโลภโมโทสัน อยากร่ำอยากรวยก็รู้ทันว่านั่นมันโลภแล้ว มันฟุ้งแล้ว รู้ทันก็ดับไป เราลืมตัวไม่คิดถึงความตาย เราก็รู้ว่าเราหลง เราลืมความตาย เราประมาท เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า รู้ทันความหลง

อ้างอิง : หนังสือ กระแสธรรม
โดย หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ












..บัดนี้ ข้อที่ 3 หิริ ก็คือความละอายต่อบาปทุจริต คือความชั่วทางกายก็ดี ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าเราเป็นผู้มีความละอาย เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ละอายต่อบาปที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไปทำความชั่วโดยทางร่างกายของเราก็ดี ดังได้กล่าวมาทั้งหลายเหล่านั้น มันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น มีความทุกข์เกิดขึ้นแก่ตนเองและบุคคลอื่น จะนำมาซึ่งความเดือดร้อน เราก็ควรที่จะละอายว่า โอ..เราไม่ไปทำบาปความชั่วด้วยกาย เราไม่ทำบาปความชั่วด้วยการพูดจาปราศรัย เราไม่คิดทำบาปความชั่วภายในจิตใจ สิ่งที่ไม่ดีทุจริต ก็เรียกว่าความชั่วทางกาย
..ความชั่วทางวาจา ความชั่วทางจิตใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เหตุฉะนั้นเราก็ควรพากำพินิจพิจารณาในเรื่องอย่างนี้ ให้มีความละอายต่อบาปทุจริตทั้งหลายดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะยึดปฏิบัติ
..ข้อที่ 4 โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ถ้าหากเราไปทำบาปความชั่วทางกายนั้น บาปความชั่วทั้งหลายที่ควรกระทำอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งเบียดเบียนการทุบตีกัน ฆ่าฟันรันแทงยิงกันตายอย่างนี้ หรือเป็นโจรเป็นขโมยก็ดี ฆ่าเจ้าเอาของ ผิดประเวณีทั้งหลายก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรกระทำ เป็นความชั่วทั้งหลายจะทำให้เสียหายและเกิดทุกข์ขึ้น
..เราก็เลยสะดุ้งกลัวต่อบาปความชั่วที่ตนเองทำ ที่ตนเองพูด ที่ตนเองคิด อันจะทำให้เรานี้มีความทุกข์เกิดขึ้นในภายหลัง เราก็ต้องกลัว กลัวแล้วก็ไม่กล้าที่จะไปทำบาปความชั่วทางกาย กลัวไม่กล้าพูดชั่วทางวาจา ก็รักษาวาจาของตนเอาไว้ ไม่ไปพูดจาปราศรัยให้เกิดบาปทางวาจา
..เรามีจิตใจ เราก็รักษาจิตใจของเราไม่ให้คิดเป็นบาปเกิดขึ้นภายในจิตใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าสะดุ้งกลัวต่อบาปที่จะเกิดขึ้น และควบคุมดูแลตนเองไว้ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมกาย วาจา จิตใจ และความคิดของตนเองเอาไว้ เพราะเรากลัวว่าจะเป็นบาปความทุกข์เกิดขึ้น
..ถ้าหากคิดได้อย่างนี้เราก็ไม่กล้าทำบาปความชั่วทั้งหลายดังได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นต้น เราก็จะมุ่งไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น สร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตน นี่ก็เรียกว่าโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปทั้งหลายที่จะติดตามตนเองมา ก็เลยไม่กล้าทำบาปความชั่วทั้งหลายเหล่านั้น..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..










..ใครมาเกิดบนตัก พอมาเกิดบนตัก มันใหญ่เท่ากันกับแม่มัน ก็ให้มันออกมานั่ง นั่นเป็นลูกของคนนั้น เมืองสวรรค์เป็นอย่างนั้น แต่ถ้านั่งอยู่ห่างๆกันอย่างนี้ เกิดมันมาเกิดตรงกลางนี่ ก็แย่งว่าเป็นลูกของตนเอง มันยังแย่งลูกอยู่ พระอินทร์ต้องเจรจา มันยังมีกิเลสอยู่นะพวกเมืองสวรรค์ ไม่ใช่ไม่มี เขาจึงมาเกิดอีก
..เรานั่งอยู่ทุกคนนี่แหละ อาจจะไปหลายรอบแล้วก็เป็นได้ แต่มันไม่รู้จักจำเฉยๆ ทีนี้เมืองสวรรค์ ความรักของเขานั้น คู่ครองของเขานั้น เขาจะมองหน้ากัน ยิ้มยิ้ อยู่แค่นั้นแหละ มีแค่นั้นอยู่ในปราสาท แสดงว่าคนนั้นเป็นคู่ของเขาถ้าเขามีสองคนในปราสาทนั้น
..อาตมาไปพบปราสาทแก้วหลังใหญ่ เกือบเท่าวิหาร ภรรยาอยู่ข้างหนึ่ง สามีก็อยู่ข้างหนึ่ง อยู่หลังเดียวกันนั่นแหละ เป็นสามีภรรยากัน เขามองกันยิ้มยิ้ม มีแค่นั้นแหละเมืองสวรรค์ เขาบอก เขายิ้มยิ้มมองหน้ากันแค่นั้น แสดงว่าเป็นคู่กัน บางปราสาทมันมีคู่เดียว บัดนี้ บางปราสาทมันเต็มไปหมด เขาก็ไปตามระดับของเขา น่าเที่ยวนะ เที่ยวแล้วไม่อยากกลับเลย แต่ว่ากลับไปได้ไม่มีปัญหาหรอก
..อาตมานั่งศาลาหลังเก่า มันไปปรากฏอยู่เมืองสวรรค์ อาตมาไปชมแล้ว ไปถามเขาในเมืองสวรรค์ นี่เป็นปราสาทของใคร.." ก็ท่านนั่งฉันข้าวทุกวันของโยมอยู่วัด เขายังไม่ตาย เจ้าของเขา มันก็มีอยู่บนสวรรค์ปรากฏคอยอยู่แล้ว ทางนี้เสร็จ ทางนั้นก็เสร็จ "..เจดีย์เป็นทองคำหมดเลย เจดีย์นี่ แม่บัวใสอยู่ เป็นปราสาทของแม่บัวใส แม่บัวใสเป็นเจ้าของ อยู่ชั้นล่าง ชั้นบนบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเขาอยู่เขาสร้าง เป็นอย่างนั้น ใครสร้างกุฏิก็ได้ตามกุฏิ นั่นแหละ หลังน้อยก็ได้ปราสาทน้อย หลังใหญ่ก็ปราสาทใหญ่ ตามของใครของมัน..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..









อานิสงส์ของการเดินจงกรมมี
(๑) เดินทางบ่มีเจ็บแข้งเจ็บขา
(๒) ทำให้อาหารย่อย
(๓) ทำให้เลือดลมเดินสะดวก
(๔) เวลาเดินจงกรมไป ๆ มา ๆ จิตจะลงเป็นสมาธิได้
ถ้ามันรวมลงเวลาเดินจงกรมได้ สมาธิของผู้นั้นไม่เสื่อม
(๕) เทพยดาถือพานดอกไม้มา สาธุ ๆ มาอนุโมทนา
.
นี่เป็นอานิสงส์ของการเดินจงกรม บางวันเมื่อครั้งอยู่กุฏิเก่าตรงข้างเจดีย์ อาตมาเดินจงกรม มันหอม ๆ หมด ทั่วหมด หอมอิหยังนี่มันไม่เหมือนดอกไม้บ้านเรา มันแม่นเทพยดามาอนุโมทนา ถือพานดอกไม้มาอนุโมทนา
.
เรื่องเดินนี่มันเรื่องหัดสติ จะใช้นึกพุทโธไปพร้อมกันกับเท้าที่ก้าวไปก็ได้ ยังไงก็ได้ อย่าให้จิตมันออกไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทั้งอดีตและอนาคต ให้อยู่ที่จิตเท่านั้น อาตมากำหนดพุทโธ ๆ อยู่ที่จิต เท้าก็เดินไป กำหนดอยู่ที่จิต ไม่ให้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใด ๆ ส่วนทางเดินจงกรม ก็ไม่เลือกทิศเลือกทาง ได้หมด แล้วแต่มันจำเป็น ในที่เหมาะสม เดินไปเพื่อแก้ทุกข์เวทนา
.
ท่านอาจารย์มั่น ท่านว่าให้เดินตัดกระแสของโลก จากทิศตะวันออกไปตะวันตก ท่านว่าตัดกระแสของสมุทัย ให้ตัดกระแส แต่ถ้ามันจำเป็น มันยังไม่มีบ่อนที่เหมาะสม ก็ไม่เป็นไร เดินมันไปอย่างนั้นเพื่อแก้ทุกขเวทนาดอก
.
หลวงปู่ขาว อนาลโย









อดีตที่ล่วงผ่านมาแล้ว อย่าไปคำนึงถึงเลย มันก็ออกไปจากปัจจุบันนี้แหละ
อนาคตก็เหมือนกัน มันก็ออกไปจากปัจจุบันนี้แหละ อย่าไปคำนึงถึงเลย
คุมมันเข้า ให้ดูหัวใจตัวเอง อย่าไปดูหัวใจคนอื่น เรื่องของเขา เรามีหน้าที่ของเรา
นักปฏิบัติต้องตัดอย่างนั้นนะ ถ้าไม่ตัดออกอย่างนั้น ก็จะโลเลอยู่อย่างนั้นแหละ
เดี๋ยวก็วิ่งไปนั่น ไปนี่ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะต้องให้ถูกใจตัวเองหมด
อยู่อย่างนั้นเป็นอย่างนั้นก่อนที่จะเป็นบ้านะ มันบ้าตัวนี้แหละ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี








ในเรื่องกาย แม้ไม่ภาวนา แต่กายก็ยังรู้จักแก้ตัวเองได้ เช่นร้อนก็เข้าร่ม หิวก็หายากินเป็น เจ็บปวดตรงไหน ก็ช่วยตัวเอง แต่เรื่องของใจ ถ้าเราไม่ศึกษาไม่ภาวนา มันจะไม่รู้อะไร เรามีความโกรธ เราจะพอใจ คนโกรธคือคนพอใจ เราพอใจที่จะโกรธ คนทุกข์ ก็พอใจที่จะทุกข์ เพราะเขาไม่เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกตัว สัมผัสกับความปกติ เขาก็พอใจที่จะโกรธ
บางคนถึงกับพูดว่า “เอ้อ...ถ้ากูได้โกรธละก็ กูตายก็ไม่ลืม” เรายึดเอาไว้ ถือเอาไว้ ผูกเอาไว้ บางทีถึงกับพูดว่า “ถ้ากูไม่ได้ฆ่ามันละก้อ กูไม่ยอม” ก็เกิดการฆ่า เกิดดับ เกิดการเบียดเบียนกันเพราะความโกรธ เขาพอใจ เขาไม่เคยสัมผัสกับความปกติของจิตว่า จิตนี้ไม่รู้อะไร ถ้าเราไม่ฝึก แม้จะมีความรู้เป็นวิชาการก็ตาม ถ้าขาดจากการ ฝึกตน จากการภาวนาแล้ว เราจะโกรธจนตาย ทุกข์จนตาย
เมื่อฝึกให้มีความรู้สึกตัว ก็เกิดความปกติ เป็นชีวิตที่มีหลัก เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ ถ้าจะถามพวกเราทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ว่า เดี๋ยวนี้ มีใครบ้างที่คิดว่า เราพึ่งจิตใจของเราได้ เราจะไม่เป็นอะไร บางคนอาจไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร บางทีจิตใจฟู ๆ แฟบ ๆ ทั้ง ๆ ที่ให้ทาน ทั้ง ๆ ที่รักษาศีล ทั้ง ๆ ที่ทำดีอยู่ คนที่เรารักก็กลายเป็นคนที่เราโกรธ คนที่เราชอบก็กลายเป็นคนที่ไม่ชอบ กลายเป็นสิ่งที่เบียดเบียนเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จิตใจประเภทนี้ถือว่าเป็นที่พึ่งไม่ได้
ถ้าเราเข้าถึงความปกติเมื่อใด เราจะเป็นที่พึ่งตัวเรา ถ้าจะเรียกว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ก็คือเป็นที่พึ่งตนเองได้ จะอยู่ตรงที่ไม่เป็นอะไร อยู่ตรงที่ปกติ จึงเป็นชีวิตที่ปลอดภัย เป็นชีวิตที่ไม่มีภัย
การฝึกสติเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะปลอดภัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้มีความรู้สึกตัวเหมือนเป็นชีวิตที่ได้ที่อยู่ คืออยู่ตรงที่ไม่เป็นอะไร ในที่สุดก็อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ถ้าจะมองถึงรูปกาย เห็นชัดแจ้งเรื่องของรูปก็เห็นแจ้งในลักษณะของรูปว่าคืออะไร แม้แต่เขานินทา เขาสรรเสริญ เขาดุด่า ก็รู้แจ้งว่า ทำไมเขาด่าเรา เราก็มอง เข้าใจเขา คนมีความรู้สึกตัวจะยอมรับความแตกต่างระหว่างความคิด รู้จักหลบ รู้จักหลีก คนมีความรู้สึกตัว เกี่ยวข้องกับสิ่งใด จะเข้าใจ จะรู้แจ้ง โบราณว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” คือว่า “หลบเป็น”
ถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัว ไม่มีความปกติเป็นหลักก็ ชนทุกอย่าง จิตใจของเราก็จะชนทุกอย่าง ความโกรธก็ชน ความทุกข์ก็ชน ความรักความชังก็ชน จนโทรมหมด เพราะไม่รู้หลบ ไม่รู้แจ้ง หลวงพ่อเคยเปรียบว่า ถ้ามันเป็นชีวิตมือสอง มือสาม มีแต่รอยชน รอยเจ็บ รอยปวด รอยรัก รอยแค้น รอยได้ รอยเสีย โทรมไปหมด ไม่รู้จักซ่อม ถ้ามีความรู้สึกตัว มันจะซ่อมให้เป็นปกติ มันเปลี่ยนได้ทันที

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ









พากันเบิ่งดีๆกิเลสนี่ !!
มันออกหน้าออกตาเฮาตลอดเวลา
เมื่อมีสิ่งได๋มากระทบ จะชอบใจ,เสียใจ,โกรธ,
กิเลสมันกะเหมือนฮังมดแดงส้ม(รังมดแดง)
เวลาเฮาไปแหย่มัน มันกะแตกฮัง(รัง)
แม่มันกะรุมกัด ใจคนที่ยังมีกิเลส
มันกะเหมือนฮังมดแดงดีๆนี้เอง

โอวาทธรรมองค์หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร
วัดป่าวิเวกพัฒนาราม อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ









” สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สิเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย
หลายคนชอบไปหาของดีวัดโน้นวัดนี้ เที่ยวไปตามหาพระเกจิพระดังเพื่อเอาของดี แต่เราทุกคนลืมของดีที่มีอยู่มากับตัวแล้วคือ “ศีล” และลืมของดีที่อยู่ที่บ้านแล้วคือ “พ่อแม่” เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปหาของดีที่ไหน แค่เราดูแลรักษาของดี “ศีลและพ่อแม่” รักษาของสิ่งนี้ให้ดี นั้นแหละเป็นของดีที่ดีที่สุดแล้ว ”

โอวาทธรรม
หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม
วัดราชายตนบรรพต (เขาต้นเกตุ) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์








” ใครที่ลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นตัวพอกพูนกิเลสตัณหาในใจ หากได้มาศึกษาจากซากศพเหล่านี้ อาจจะได้สิ่งดีๆ กลับไป หรือใครที่มัวแต่หลงเงาตัวเอง เอาแต่ชื่นชมเปลือกนอก ผลของการมาดูอาจารย์ใหญ่หรือซากศพมนุษย์ ที่เป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนชีวิตของผองผู้คน ไม่มีใครหนีพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงน่าจะทำให้ผู้มาดูเก็บไปเป็นข้อคิดเตือนใจ และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า เรารู้ว่าอนาคตจะต้องตาย มีสภาพไม่ต่างจากซากศพที่นอนอยู่เบื้องหน้าที่รอวันเปื่อยเน่า เราจึงควรจะหมั่นสรรค์สร้างคุณงามความดีไว้เป็นหลักฐานให้ลูกหลานได้เห็นคุณค่าในตัวเรา เมื่อเราเห็นปลายทางของเราอย่างนี้ เราก็จะไม่อยู่ในความประมาท ไม่ขาดสติในการกระทำใดๆ ทั้งปวง ”

#โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่เมือง พลวัฑโฒ
วัดป่ามัชฌิมาวาส บ้านดงเมือง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์








"สติเป็นเครื่องขัดใจ มีสติมากเท่าใดใจก็บริสุทธิ์
อย่าเอาแต่ใจตัวเอง ตามใจตัวเอง ให้เอาสติมีสติ
อย่าอยู่กับความหลง ให้อยู่กับความรู้สึกตัว ให้ตื่นจากความหลง
ทำความหลงให้แจ้ง เรามีสติเป็นหลักเอาไว้ เวลาที่มันหลง
มันจะไม่เอา เพราะเห็นว่าความหลงมันผิด มีความรู้สึกตัวจึงจะถูก"

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ






จะอยู่ในสังคมโลก หรือจะอยู่คนเดียว ณ ที่ไหนก็ตาม ถ้าจิตของเราไม่ขึ้นไม่ลงกับอารมณ์ที่มากระทบ นั่นแหล่ะเราอยู่รอดจุดหมายของการปฏิบัติชั้นใด
ไม่ว่าการให้ทาน การปฏิบัติศีล การเจริญภาวนาก็มีจุดหมายใหญ่สำคัญอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ควบคุมตัวเอง ไม่ยินดียินร้าย เราอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปกติ

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ









กิเลสก็คือหัวหนามเราดีๆ นี่เอง เราจะยอมให้มันฝังจมอยู่ในหัวใจตลอดเวลา มันก็ฝังจมอยู่อย่างนั้น ใจเน่าเฟะอยู่ใน “วัฏสงสาร” เป็นที่น่าเบื่อหน่ายรำคาญไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องการอยู่หรือ? การเป็นคนเน่าเฟะน่ะ จงถามตัวเองอย่าไปถามกิเลส จะเพิ่มโทษเข้าอีก ถ้าไม่ต้องการต้องต่อสู้มัน เมื่อต่อสู้แล้วต้องมีทางชนะจนได้ หรือจะแพ้กี่ครั้งก็ตาม แต่จะต้องมีทางชนะมันครั้งหนึ่งจนได้ ลงชนะครั้งนี้ต่อไปก็ชนะไปเรื่อยๆ ชนะๆๆ เรื่อยไปเลย กระทั่งไม่มีอะไรจะมาให้เราต่อสู้ เพราะกิเลสหมดประตูสู้แล้ว!
.
คำว่า “ชนะ” นั้นชนะอะไร! ก็ชนะความขี้เกียจด้วยความขยัน ชนะกิเลสด้วยวิริยธรรมน่ะซี แล้วก็พ้นจากทุกข์ นี่แหละการแก้ปัญหาเรื่องความเกิดตาย คือแก้ที่ดวงใจ มีจุดนี้เท่านั้นที่ควรแก้ที่สุด เป็นจุดที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นจุดที่ถูกต้องในการแก้ แก้ที่ตรงนี้ แก้ที่อื่นไม่มีทาง
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙










ความทุกข์คือความมืด
ปัญญาคือความสว่าง
แสงสว่างเข้าไปสู่ที่ใด
ความมืดย่อมสลายไปจากที่นั่น
ปัญญาเกิดขึ้นที่ใด
ทุกข์ย่อมดับลงที่นั่น

สมเด็จพระญาณสังวร







ยินดีกับของได้
พอใจกับของที่มี
ถึงจะเป็นคนที่มีความสุข
หา”ความมี” ออกจากใจ
ถึงจะพ้นทุกข์

หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด











” ความเชื่อผิดๆ เรื่องการใส่บาตรและถวายสังฆทาน อาหาร ยา ฯลฯ ”

ถาม : การใส่บาตร และ การถวายอาหาร แด่พระควรเป็นอาหารสด แต่ถ้าบางคนการถวายมาม่าหรือของแห้งที่จะต้องเอาไปประกอบอาหารใหม่จะบาปหรือไม่?

ตอบ : ไม่บาปหรอก เพียงแต่ว่าพระท่านเก็บไว้ไม่ได้

อาหาร ที่เป็นอาหารนี้ ท่านเก็บไว้ได้เพียงแค่ช่วงระยะเที่ยงวันเท่านั้นเอง หลังจากเที่ยงวันแล้ว ส่วนที่เป็นอาหารนี้ ท่านต้องสละไปหมด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสะสมของไว้ในกุฏิของตน แต่ทรงอนุญาตให้สะสมไว้ในคลังของวัดได้ เช่น ถ้าญาติโยมอยากจะถวายของให้เก็บไว้นานๆ อย่าไปใส่บาตร อย่าไปประเคนกับมือ

อย่างที่อาตมารับของนี้ ส่วนใหญ่จะให้วางไว้เฉยๆ ถ้าญาติโยมวางไว้เฉยๆนี้ ถือว่าพระยังไม่ได้รับประเคน พระยังเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดอายุ เวลาต้องการจะใช้ก็ให้ลูกศิษย์หยิบมาประเคนให้ จึงจะใช้ได้ แต่..ถ้ารับประเคนด้วยมือเอง ของมันจะมีอายุ

ของพระ ท่านแบ่งไว้ 3 ชนิดด้วยกัน

1) “อาหาร” – ชนิดอาหารนี้มีอายุแค่..ถึงเที่ยงวัน

หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถึงแม้รับตอนนี้ก็หมดอายุทันทีเลย ใครถวายมาม่า ถวายปลากระป๋องมา รับปั๊บนี้ก็ต้องสละแล้ว เก็บไว้กินพรุ่งนี้ไม่ได้ เรียกว่า อาหาร

ดังนั้นถ้าของเป็นอาหารอยากจะถวายพระให้เก็บไว้นานๆ เอาวางตั้งไว้เฉยๆ ตั้งไว้ตรงหน้าก็ได้ บอกขอถวาย อันนี้ก็ได้เท่ากับถวายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องทำให้มันถูกพระวินัย พระยังไม่ถือว่าเป็นของของตน เป็นของของส่วนกลางอยู่ ถือเป็นของคณะสงฆ์ แต่เวลาต้องการจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคน เอาไปเก็บไว้ที่กุฏิไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่ที่เก็บของของวัด วัดจะมีที่ที่เก็บของส่วนกลางไว้ ของทั้งหมดที่ไม่ได้รับประเคนก็ให้เอาไปไว้ที่นั่น เวลาจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์เอามาประเคนให้อีกที พวกอาหารก็มีอายุเพียงครึ่งวัน เช้าถึงเพล

2) “เภสัช ตามพระกำหนดมี 5 ชนิด คือ พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง”

– ท่านอนุญาตถ้ารับประเคนนี้ท่านให้เก็บไว้ได้ ๗ วัน และฉันได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงถือว่าเป็นยา

– สมัยก่อนเขาคงกินพวกยา พวกนี้รักษาอาการเจ็บท้องปวดท้อง มันคงจะไปเคลือบกระเพาะหรือไปทำอะไร ท่านก็เลยอนุญาตให้มีเภสัช 5 ชนิดด้วยกัน (พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง)

– พวกนี้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน พอหลังจาก 7 วันแล้วถ้ายังมีเหลืออยู่ ก็ต้องสละให้คนอื่นไป

– สละให้กับพระด้วยกันไม่ได้ ต้องสละให้ฆราวาสญาติโยมไป ลูกศิษย์ลูกหาไป หรือเอาไปทำบุญทำทานไป

3) “ยา(รักษาอาการเจ็บป่วย) “ จริงๆ เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาอะไรต่างๆ

– เก็บไว้ที่กุฏิด้วย เพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะได้หยิบได้ทันท่วงที

– ถ้าเป็นยานี้ถวายได้ตลอดเวลา และเก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันเสื่อม นอกจากตามที่เขาเขียนไว้ที่ในสลาก เสื่อมไปตามวันที่เขาเขียนไว้ในสลากเท่านั้น

นี่คือเรื่องของการประเคนของให้กับพระ เราต้องรู้จักแยกแยะ แต่สมัยนี้ญาติโยมไม่รู้กันก็เลยรวมกันหมดเลยที่เขาใส่ในกระเเป๋งสีเหลืองนี้ เขาอยากจะถวายให้ครบทั้ง 4 คือ ปัจจัย 4 ยาก็ใส่เข้าไป อาหารก็ใส่เข้าไป จีวรก็ใส่เข้าไป ถึงแม้จีวรจะเอามาห่มไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นผ้าเหลืองๆ ชิ้นหนึ่งก็ถือว่าเป็นจีวรแล้ว กระเเป๋งก็คงถือว่าของถวายมั๊ง… ไว้ครอบหัวเวลาฝนตก

– ทำบุญก็อยากจะถวายปัจจัย 4 ให้ครบ เขาก็เลยใส่มา แล้วมาถึงก็บังคับให้พระรับประเคน ให้วางไว้เฉยๆ ก็กลัวว่าไม่ได้บุญอีก

– บางทีบางคนขนกลับไปก็มี พอบอกว่า “ให้วางไว้เฉยๆ ได้ถวายแล้ว” ฉันไม่ได้บุญ ท่านไม่รับฉันไม่ได้บุญ ฉันไปดีกว่าไปถวายที่อื่นดีกว่า อย่างนั้นก็มีเพราะการไม่รู้ ไม่มีการสอนไม่มีการบอก

– แล้วพระที่มาบวชใหม่ทีหลังก็ไม่รู้เรื่อง เขาเอาอะไรมาถวายก็รับประเคนหมด แล้วเขาก็แบบถือว่าไปว่ากันใหม่ คือตอนนี้รับประเคนแบบหลอกๆไปก่อน รับประเคนให้ญาติโยมดีอกดีใจ แล้วค่อยไปแยกแยะของทีหลัง ของที่เป็นอาหารก็เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าอยากจะได้อะไรค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคนให้ใหม่ เขาทำกันแบบนี้

ซึ่งทางสายวัดป่าท่านไม่ทำ ท่านทำแบบไม่หลอก ทำแบบจริงๆ เลย บอกประเคนไม่ได้ก็ประเคนไม่ได้ วางไว้ต้องวางไว้ เพื่อจะได้สอนญาติโยมไปในตัว

– ญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดป่าจึงได้บุญด้วย ได้ปัญญาด้วย ได้บุญ คือ ความสุขใจ แล้วก็ได้ปัญญาได้ความรู้ที่ถูกต้องในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แทนที่จะส่งเสริมให้พระปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย เพราะด้วยความเกรงใจญาติโยม

นี่คือเรื่องของการถวายของ ที่เราต้องควรจะศึกษา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี











เพราะรักชีวิตเราจึงกลัวตาย เพราะรักครอบครัวเราจึงกลัวความพลัดพราก เพราะรักความสุขเราจึงกลัวความทุกข์ ความกลัวเปรียบเสมือนเงาของความรัก
เมื่อมีเหตุคุกคามสิ่งและบุคคลที่เรารักความกลัวมักจะเกิดขึ้น และคนส่วนใหญ่ทนความกลัวและความรู้สึกไร้อำนาจที่จะป้องกันสิ่งที่กลัวนั้นได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ไม่ชอบรู้สึกกลัวมักจะปล่อยให้จิตโกรธผู้ที่ทำให้กลัวหรือผู้ที่เชื่อว่าหรือคาดคะเนว่าเป็นเหตุ เสน่ห์ของความโกรธคือการดับความกลัวชั่วคราวและความรู้สึกมีพลัง โทษคือความใจร้อนและความหยาบของจิตที่โกรธย่อมมีผลกระทบต่อปัญญาที่ตัองใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหา
พุทธศาสนาสอนให้เรารักด้วยปัญญา สำนึกในความไม่แน่นอนของชีวิตของตนและคนรอบข้างอยู่เสมอ ปัญญาเกิดขึ้นความกลัวก็น้อยลง ความกลัวน้อยลงความโกรธก็น้อยลง ความโกรธน้อยลงจิตจะมีความพร้อมเพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละเหตุการณ์

พระอาจารย์ชยสาโร









การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตน คือใจเป็นเยี่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม
รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน
ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจคือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต








...เพียงแต่ฟังธรรมอย่างเดียว
แต่ไม่ทำทาน ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา
"จะไม่ได้..ความสงบ..ที่มหัศจรรย์นี้"
.
เหมือนกับการดูโฆษณาเพียงอย่างเดียว
ถ้าไม่ไปซื้อสินค้าที่เขาโฆษณา
ก็จะไม่ได้สินค้าที่เราต้องการ.
................................
.
ธรรมะโดนใจเล่ม4 หน้า89
ธรรมะในศาลา 20/9/2558
พระอาจารยืสุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









การอยู่ด้วยกันให้มีศีลเสมอกัน มีทิฐิเสมอกัน จึงจะได้ดี ศีลเสมอกันก็เริ่มที่ศีล ๕ นั่นเอง ถ้าทั้งสองฝ่ายตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ เรียกว่าถึงจะมีความผิดพลาด ถึงจะมีปัญหาเกิดขึ้น เป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าศีลแม้แต่ข้อเดียวลดลงจะเป็นจุดเสื่อมของชีวิตคู่ได้ ศีลข้อที่ ๔ จะเป็นข้อที่ยากที่สุดก็ได้ เพราะอะไร เพราะคนไม่ค่อยจะเห็นความสำคัญของการงดเว้นจากการพูดเท็จโดยเด็ดขาด เราทุกคนจะมีเงื่อนไขว่า ในบางกรณีจำเป็นสมควรจะพูดเท็จ ตัวนี้เป็นตัวอันตราย เป็นตัวไวรัสที่จะคอยขยายตัว ขอแนะนำว่าอย่าให้มีการพูดเท็จต่อกันและกันเลย แม้แต่ในเรื่องเล็กเรื่องน้อย ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกจะพูด ก็พูดเลยว่าเรื่องนี้ไม่สะดวกจะพูดตอนนี้ ขอเวลาก่อน ไม่ใช่ต้องเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างในใจ เพราะบางสิ่งบางอย่างเป็นแค่อารมณ์ชั่วแวบเท่านั้นเอง ไม่ต้องพูด เพราะบางทีความรู้สึกที่ไม่จริงไม่จัง พอพูดออกมาแล้วรู้สึกมีน้ำหนักมากขึ้น เหมือนเป็นของจริงของจังมากขึ้นเพียงเพราะเราได้พูดออกไป เวลาเรามีอารมณ์ ซึ่งจะต้องมีเป็นบางครั้งบางคราวแน่นอน แม้แต่คู่รักก็ต้องมีบางเวลาที่รู้สึกไม่รักกันเลย รู้สึกไม่พอใจกันเลย น้อยใจกัน ก็อย่าให้มันค้างคืน หรือค้างคาไป ให้แก้ปัญหาทุกวัน ให้มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน

พระอาจารย์ชยสาโร








ร่างกายของเรา มันประชุมกันด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม
ว่าง จากการ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ
มันจึงเป็น ของว่าง
รูปไม่เที่ยง ไม่ใช่เป็นตัว เป็นตน
เวทนาไม่เที่ยง มันเป็นของว่าง

ขันธ์ทั้งห้ามันเป็นอย่างนี้
แล้วมันก็จะกลับเปลี่ยนกัน

ร่างกายของเรานี้ อาหารต่างๆ ส่วนมากอาหารที่เรามาบริโภค ก็เป็นการหนุนธาตุดิน

ส่วนที่เป็นน้ำ ก็หนุนธาตุน้ำ เพราะมันหนุนกันอยู่อย่างนี้

เสร็จแล้ว มันก็แยก แตกสลาย คืนสู่ธรรมชาติของเขา

ดิน คืนสู่ดิน
น้ำ คืนสู่น้ำ
ลม คืนสู่ลม
ไฟ คืนสู่ไฟ

องค์หลวงตาสมหมาย อตฺตมโน
เทศนาวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ ที่บ้านแหลม


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร