วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 20:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2020, 05:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"โรคขาดบุญกุศลก็ต้องเร่งเติมบุญกุศล
โรคขาดสติก็ต้องเร่งเติมสติ
โรคขาดปัญญาก็ต้องเร่งเติมปัญญา

ความไม่ประมาทในบุญกุศล สติปัญญา จะนำความสุขสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมมาให้“

โอวาทธรรม
พระอาจารย์คม อภิวโร








พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบสิ้น ชั่วไก่ดินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี ๓ ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
.
หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อยมันก็ถอนขึ้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่ ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีก ให้ภาวนาไปอย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละเป็นนิวรณ์ตัวร้าย ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน
.
หลวงปู่ขาว อนาลโย







"..นักปฏิบัติ
หลงติดอยู่ที่ความพอใจ และไม่พอใจ เป็นเครื่องอยู่
เอาความพอใจ และไม่พอใจเป็นเครื่องอยู่
เมื่อพอใจ ได้สมใจก็เป็นสุข
เมื่อไม่พอใจก็เกิดทุกข์
แต่ทั้งสุขและทุกข์ ก็ยังเป็นเงื่อนของสมมุติ
...
ไม่มีใครคิดที่จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างสุขกับทุกข์
เพราะตรงนั้นไม่มีทั้งความพอใจ และไม่พอใจ
แต่เป็นความพอ พอดี
ผู้ที่หลงเพลิน เล่นอยู่กับความพอใจ และไม่พอใจ
จึงได้หนังสือเดินทางแห่งการท่องเที่ยวของภพชาติ
ติดตัวไปตลอด
ความพอใจ และไม่พอใจ
เป็นอาหารชั้นยอดเยี่ยมของกิเลส.."

คุณแม่จันดี โลหิตดี









#การบริกรรมภาวนา

ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ ฌาน ๕ คือ การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไปเรียกว่า วิจารณ์
หลังจากนี้ ปิติ และ ความสุข ก็เกิดขึ้น...เมื่อ ปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปนนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

#ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า_อัปนนาจิต

#ถ้าเรียกโดยสมาธิเรียกว่า_อัปปนาสมาธิ

#ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียกว่า_อัปปนาฌาน

บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๕

#จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต
อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มี
ความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

#เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อ
จิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่ากายคตาปฏิปทา โดยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังโดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

#เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เป็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน

#และเมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น.

เมื่อเป็นเข่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของ
ความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรอัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

#ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔
ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าเพียงธาตุ ๔
ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น
ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้น สมถกรรมฐานและในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง...ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา.

#เมื่อฝึกฝนอบรมจิต ให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะ
ของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป.

#หลวงปู่เสาร์_กนฺตสีโล










...โดยมากคนเรามักเชื่อจิตใจตัวองนะ ถ้าหากขี้เกียจ ก็ขี้เกียจเลย หยุดเลย หยุดทำงานเลย ถ้าง่วงนอน ก็นอนเลย ถ้าเหนื่อย ก็เหนื่อยเลย เชื่อแต่ใจตัวเองอยู่อย่างนั้นนะ ถ้าอยากไปในด้านฝ่ายต่ำ ไปได้ง่ายนะ มันเป็นอย่างนั้นนะ แต่อะไรพอที่จะเป็นประโยชน...์แก่ตัวเองแล้ว จึงค่อยเชื่อมัน ถ้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แม้มันไม่อยากทำก็ข่ม บังคับฝืนกระแสมันเลย ถ้าด้านเสียประโยชน์ ด้านมัวเมาลุ่มหลง ด้านเพลิดด้านเพลิน

นี่เราตัดกระแสไว้บ้าง ตรงนั้นฝืนไว้บ้าง ส่วนมากไม่รู้จักวิธีฝืนวิธีข่มนะ เวลาควรที่พยุงท่านก็ให้พยุงเรื่องจิตใจ เวลาควรข่มก็ให้ข่ม เรียกว่า ทมะ ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไปตามยะถาใจของเรานะ ปล่อยไปตามเรื่องของใจไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องฝึกหัดจิตใจมันผิดจากทำนองครองธรรมคำสอนของท่าน เราต้องพยายามทวนกระแสอยู่เรื่อยนะมันจึงค่อยได้...

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ทวนกระแส : ๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๓











มรรคนี้ท่านพูดว่า ปัญญาเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบนะ

ปัญญาเห็นชอบ - เห็นอวัยวะทุกส่วนนะ มันแปรนะ มันประกาศอยู่นะ กินเข้าทางปากนะ มันแปรในท่ามกลางนะ หัวใจมันทำงานตึ้งตั้ง-ตึ้งตั้งอยู่นะ เอามือคลำดู มันเต้นตึ๊ก-ตึ๊ก ไม่ใช่อื่นไกล หัวใจมันทำงาน คล้ายๆ​ กับเครื่องจักรนะ โลหิตเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนให้มีชีวิตอยู่นะ นี้-เห็นธรรมในมัชฌิมะ

เห็นธรรมในครั้งสุดท้าย ปริโยสายนะ อ้าว-เห็นอาหารมันขยายออกมาทางทวารทั้งเก้า เป็นอุจจาระปัสสาวะ เป็นเหงื่อเป็นไคล ไหลออกมา เป็นขี้หูขี้ตา ให้เห็นเช่นนั้นนะ ให้ตรวจตราดูอยู่

เรามันไม่เห็นอย่างนั้นน่ะซี มันเส้นผมบังภูเขานะ มันยังเข้าใจว่า กายของเรานี่ยังเป็นก้อนอยู่ ยังเป็นตัวของเรา เป็นเมียของเรา เป็นลูกหลานของเรา สมบัติของเราอยู่นะ เห็นเช่นนั้นนะมันผิดนะ มันบ่ตรงกับคำว่า ศาสนาของสมณะโคดมประกอบด้วยเหตุผลนะ

นี่แหละ ตั้งอกตั้งใจ ให้ฉลาดแยบคายนะ ให้เห็นอสุภะมันไหลออกมานะ ให้เห็นความจริงว่ากายนี้ เกิดจริงๆ แก่จริงๆ ตายจริงๆ​ นะ ร่างกายนี้ เอาไปเผาจริงๆ เอาไปฝังไว้จริงๆ นะนั่น

เรามันเห็นรูปร่างของเราสวยนะ แน่ะ คนแก่ยิ่งร้ายใส่ฟันรองด้วยนะ อ้าว-ผมหงอกแล้วก็ย้อมด้วยนะ ย้อมทั้งเล็บ ย้อมทั้งปาก มันยิ่งร้ายนะ คนแก่น่ะ มันต้องสวยธัมมะนะ นั่น ...
.
หลวงปู่หลุย จันทสาโร









...เราบังคับ
ควบคุมปากของคนอื่นไม่ได้
จะพูดดีก็ได้ จะพูดร้ายก็ได้
แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือ..”ใจของเรา “
ไม่ให้ไปหลงยินดี
ไปเสียใจกับคำพูดของเขา
ปล่อยให้พูดไป
อยากจะพูดอะไรก็พูดไป
ถ้าไม่ยึดติดคำพูดของเขา
“ก็ไม่มีความหมาย”
ไม่มีน้ำหนัก.
.................................
.
คัดลอกกำลังใจ34 กัณฑ์ที่ 371
ธรรมะบนเขา 26/8/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี











ขันติ...

ใครทำถูกใจ หรือ ไม่ถูกใจเราก็ช่าง ให้อดทน อดทนนี้แหละดี เมื่อเราถูกด่าถูกว่าก็ให้เราอดทน แม้จะมีความทุกข์สักเท่าไหร่ ให้เก็บไว้ในใจคนเดียวก็พอ อย่าไปพูดให้คนอื่นเป็นทุกข์ และไม่สบายใจกับเราด้วย...

...คนเราไม่เหมือนกัน แต่เป็นมนุษย์เหมือนกัน จะให้ทุกคนทำให้ถูกใจเราหมด ก็เป็นไปไม่ได้เขาถูกด่า ถูกว่า ถูกติ เขาไม่ชอบใจอย่างไรเราก็ไม่ชอบใจอย่างนั้นเหมือนกันเขาไม่สบายใจอย่างไร เราก็ไม่สบายใจอย่างนั้นเหมือนกัน...

...ถ้าเราทุกข์นัก ก็แอบไปร้องให้เสียคนเดียวดีกว่า แทนที่จะไปทำให้คนอื่นทุกข์ด้วย..ฯ

: โอวาทธรรม
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล
วัดอนาลโยทิพยาราม อ.เมือง จ.พะเยา








#เมื่อบารมียังน้อยอยู่ แล้วทำไมไม่ยอมทำ ไม่ยอมสร้างกัน ตามธรรมดาของคนฉลาดแล้ว เมื่อของเรามีน้อยเราก็ต้องหาใส่ให้มันเต็ม ไม่ใช่เพิกเฉย

เหมือนกับเราทำนา คนฉลาดย่อมรื้อถอนหญ้าคาที่ขึ้นในนา ไม่ใช่ปล่อยให้มันขึ้นเต็มท้องนา เพราะฉะนั้น จะได้ผลน้อย ข้าวไม่โต
เมล็ดก็เล็ก อานิสงส์ย่อมน้อย

โอวาทธรรมคำสอน
หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ










บางคนให้ทานได้อย่างเดียว แต่เป็นทานขั้นสูง ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ให้ด้วยจิตว่างโดยไม่หวังอะไรตอบแทน บางคนเจริญสติภาวนา ได้ในขั้นต้น ทำทานไม่เป็น รักษาศีลได้บ้างไม่ได้บ้าง

คนมีหลายจำพวก หลายจริต เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่เรารู้ว่าเราเป็นเรา

เราเป็นเราในที่นี้ คือ เราอยากมีความสงบสุข ความสงบสุข สบายใจ ก็ไม่ได้เกิดที่ไหนได้เลย นอกจากที่ใจ จะทำให้ใจมันเย็นได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวาง ละ รู้จักให้อภัยกัน

อย่างเช่น เมื่อถูกยุงกัด แทนที่จะตบมัน เพราะโกรธที่มาทำให้เราเจ็บ คนที่ให้ทานเป็นก็น้อมนำว่า ยุงมันหิว ให้มันกินเลือดนิดเดียว ยอมทนเจ็บ อภัยให้มัน คือรู้จักให้อภัยทานแบบคนทำทานเป็น คนที่รักษาศีลเป็น เค้าก็จะรู้ว่า ถ้าตบมันเป็นปาณาติปาต เค้าก็จะไม่ทำ คนที่เจริญสติเป็น อาจจะให้อภัยได้โดยการน้อมนำว่า เรามีจิตที่เจริญแล้ว ย่อมมีความยับยั้ง มีความเมตตาต่อสัตว์ที่ไม่มีโอกาสได้เจริญสติ อภัยทานให้ เหล่านี้เป็นการชำระความโกรธ ด้วยธรรมข้ออภัยทาน

เมื่อเห็นคนที่ให้ทานไม่เป็น เช่น วิทยาทาน ไม่ยอมสอนการบ้านเพื่อน ทั้งๆที่ไม่ได้เสียอะไรเลย คนที่ทำทานเป็นก็ควรมีอภัยทาน ให้อภัยเค้า เพราะถ้าเค้ารู้จักให้ทาน เค้าคงไม่ทำแบบนี้ เราก็สอนซะเองเลย

เมื่อคนที่ทำทานเป็น พูดเรื่องศีล แต่พูดถูกๆผิดๆ เพราะเขาเพิ่งจะหัดรักษาศีล คนที่รักษาเป็นแล้ว ย่อมมีความเมตตาว่า เราจะไม่โต้ตอบด้วยคำพูดที่ส่อเสียด เพราะเราเป็นผู้ที่รักษาศีลเป็นแล้ว ย่อมให้อภัยแก่ผู้ที่รักษาศีลไม่เป็น จะช่วยเมตตา แนะนำตามภูมิของเรา

คนที่เจริญสติเป็นแล้ว เห็นความไม่พอใจเกิดได้แล้ว สามารถระงับความไม่พอใจที่เกิดขึ้น หากมีผู้ใดแสดงออกทาง กาย วาจา ใจ ให้ความไม่พอใจเกิดขึ้น เราจะระงับใจว่า เพราะเขาไม่มีสติ เจริญสติไม่เป็น ไม่สามารถยับยั้งการพูด การแสดงออก ไม่สามารถดูแลจิตใจตัวเองได้ เราย่อมให้อภัยทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติได้น้อยกว่าด้วยความเมตตา ผู้มีสติปัญญามากกว่า ย่อมหาความสงบสุขให้แก่ใจ ด้วยอภัยทาน

ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาแล้ว ย่อมอย่าให้ความโกรธ อย่าให้กิเลสควบคุมจิตใจ หากมีการพลั้งเผลอ เราก็ให้อภัยตัวเอง ยกโทษให้ตัวเอง เอาความผิดครั้งนี้ไปปรับปรุง ด้วยว่ากำลังสติยังน้อย ไม่ต่อเนื่อง รู้จักดูแลไม่ให้จิตเจือด้วยความทุกข์ ด้วยกิเลส โดยอภัยทาน

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป











#เอาธรรมมาเป็นอารมณ์แล้วใจจะสงบลง

“...ธรรมดาจิตมันเป็นอยู่อย่างนี้ มันแส่หาอารมณ์ ส่วนมากมีแต่อารมณ์เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจ ใจจึงได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเอาธรรมมาเป็นอารมณ์แล้วใจจะสงบลง มีธรรมเท่านั้นเป็นน้ำดับไฟ พอเราภาวนาจิตค่อยสงบลงๆ พอสงบลงมากแล้วก็สว่างไสวขึ้นมา จิตมันไขว่มันคว้ามันไม่มีที่ยึดที่เกาะท่านจึงสอนให้..ทางพุทธศาสนาสอนอย่างแม่นยำเลยว่าคำบริกรรม จะเป็นคำใดก็ตาม พุทโธ ธัมโม สังโฆ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรืออาการใด ๓๒ แม้ที่สุดว่าตายๆ เท่านั้นก็เป็นคำบริกรรมได้ จิตสงบได้..”

โอวาทธรรมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน











“..โดยปกติในชีวิตประจำวัน
เมื่อเกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจ
เราชอบระบายความรู้สึกออกไป
โดยการดุ หรือพูดอะไรให้คนอื่นเจ็บใจ

แต่ถ้าเรารู้สึกตัวแล้วไม่พูดอย่างงั้น
เราก็จะได้ธรรมะหลายข้อ

ความรู้สึกตัวว่ากำลังหงุดหงิด คือสติ
และการที่ไม่ทำตามความรู้สึกนั้น
คือความอดทน

เมื่อความเศร้าหมองในใจเราหาย
เกิดสำนึกในความไม่เที่ยงของอารมณ์
ความไม่เป็นตัวเป็นตนของอารมณ์
นั่นคือตัวปัญญา

#การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้”

พระอาจารย์ชยสาโร








“ #ธรรมชาติกิเลสมันบ่เคยส่งเสริมผู้ใดไปในทางดี

มันมีแต่สิพาเฮาคิดไปในเรื่องบ่ดี. ไห่ใจเจ้าของเศร้าหมอง. อดีตผ่านไปแล้วเอามาคิด. ใจเจ้าของกะเป็นทุกข์

เหตุปัจจุบันเป็นทุกข์ อนาคตมันกะผลเป็นทุกข์ ไห่ปฏิบัติดีเอาในปัจจุบันที่ตนเองมีอยู่ ปฏิบัติตนในศีลธรรมแล้วใจเจ้าของกะเป็นสุข ”

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม









#คนดีน่ะ_อยู่ที่ไหน

ก็มีคำตอบเกิดขึ้นว่า..คนดีอยู่ที่เรานี่แหละ

ถ้าเราไม่ดีแล้ว.เราจะอยู่ที่ไหนกับใครมันก็ไม่ดีทั้งนั้น.. จึงได้ถือเป็นคติสอนตนเองมาจนกระทั่งทุกวันนี้…

หลวงปู่ชา สุภัทโท









เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต
วางมันเสีย ไม่เสียดาย
ไม่กลัวตาย ก็ทำให้เราเกิดความสบายและเบาใจจริงๆ

โอวาทธรรม
หลวงปู่ชา สุภัทโท









#ความตายมันอยู่ที่ไหน

กลัวอะไร? คำตอบก็มีขึ้นว่า กลัวตาย ความตายมันอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวเราเอง

เมื่อรู้ว่าอยู่ที่ตัวเรา จะหนีพ้นมันไปได้ไหม? ไม่พ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด คนเดียวหรือหลายคน ในที่มืดหรือที่แจ้ง ก็ตายได้ทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น

เมื่อรู้อย่างนี้ ความกลัวไม่รู้ว่าหายไปไหน เลยหยุดกลัว ดูเหมือนคล้ายกับเราออกจากที่มืดที่สุดมาพบแสงสว่างนั้นแหละ

หลวงปู่ชา สุภัทโท









#เกิดธรรมสังเวช

หลวงปู่ชาท่านเล่าว่า.. ในระหว่างเฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่อ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม ทำให้ได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน

พิจารณาดูอาการที่เกิดดับของสังขารทั้งมวล และเกิดความสังเวชใจว่าอันชีวิตย่อมสิ้นลงแค่นี้หรือ?

จะยากดีมีจนก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย อันเป็นจุดหมายปลายทาง

อันความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น เป็นสมบัติสากลที่ทุกคนจะต้องได้รับ จะยอมรับหรือไม่ก็ไม่เห็นใครหนีพ้นสักราย…

หลวงปู่ชา สุภัทโท









..บวชชีพราหมณ์ กะพากันมาบวช มาขอศีล ยามแลงสี่โมงห้าโมง ..วิกาละโภชนา เวระมะณี..กะเลยบ่มี วิกาลโภชนา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ ข้าพเจ้าของดเว้นการบริโภคโภชนาหารหลังเที่ยงไปจนถึงวันใหม่ อันนี้กินจนอิ่มจั่งมาขอศีล บวชกะบวชบ่พอคืน ยามเช้ากะแตกไผ๋แตกมัน เลยบ่เห็นความทุกข์ ทุกข์จากความหิว ความกระหาย มันบวชหลอกจะของ บวชหลอกเล่นๆทำเล่นๆ พอเป็นพิธี บวชเล่น บวชลอง บวชครองประเพณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกครบเพื่อน บวชเปื้อนศาสนา มีทั้งบวชทั้งเบียด ทั้งเสียด มีโอกาสได้บวชให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ รักษาขัอวัตรตัวเองให้ดี ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนาเป็นวัตร ข้อวัตรนั้นล่ะเป็นข้อบุญ เพิ่นจั่งให้เฮารักษาข้อวัตรข้อปฏิบัติให้คงเส้นคงวา สม่ำเสมอ ถ้าบ่มีข้อวัตรแล้วกะเหมิ๊ดหล่ะคนเฮา เพราะหยัง เพราะบ่มีแนวมาวัดเด้ ข้อวัตรปฏิบัตินี้ล่ะแนววัดจิตวัดใจคนเฮา.."

คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร










“..ทำอะไรก็แล้วแต่.. อย่าพูดมากเกินไป.. อย่าคิดมากเกินไป.. มันเป็นการส่งจิตออกทั้งหมด

..จิตไม่มีที่เกาะเป็นตัวของตัวเองไม่ได้.. ท่านจึงให้อาศัยคำบริกรรม ให้มีคำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น..

.. ทำอะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันทำได้ ให้มันมีคำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่..เหมือนมีที่พึ่ง ไม่งั้นไม่มีจริงๆ.. มีแต่โดนกิเลสถลุงตลอดเวลา..”

“..ระลึกพุทโธอยู่.. ยังรู้สึกว่าตัวเองมีที่พึ่ง.. กระทบอารมณ์อะไรเข้ามา.. มันไม่สนใจแล้วทีนี้.. รู้ว่ามันเป็นพิษเป็นภัยทั้งนั้น..”

พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 64 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร