วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2020, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"เหตุไม่สร้าง หวังเอาแต่ผล"

คนโดยมากชอบทานแต่ผล ลงมือนิดเดียว นั่งนิดเดียว ภาวนานิดเดียว อยากเป็นพระอรหันต์แล้ว บริจาคทานเท่าหัวแม่มือ อยากได้เต็มแผ่นฟ้าแผ่นดิน รักษาศีลขณะจิตเดียว ออกไปบ้านก็ไปล่วงละเมิด ศีลห้าก็ไม่บริบูรณ์ แล้วอยากได้รับผลของศีลให้มากกว่าเหตุทีนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ ใครๆ ก็เหมือนกัน...

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต








เราทำดี… ก็ย่อมได้ดีตามกฎแห่งกรรม บุญนั้นแบ่งกันไม่ได้ บาปก็ช่วยกันรับไม่ได้ ใครทำใครก็ได้… ใครไม่ทำ…ก็ไม่ได้ การกระทำของเรา ขีดตัวของเราเอง ขีดดี…ก็ได้ดี ขีดชั่ว…ก็ได้ชั่ว…”เราขีดตัวเองหรือยัง”

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม










ผู้ทำสมาธิภาวนา มิใช่ผู้มีบุญวาสนาน้อย คนมีบุญวาสนามากต่างหาก จึงรักบุญกุศลส่วนละเอียดที่เกิดจากสมาธิภาวนา
ความน้อยเนื้อต่ำใจในเวลาจะทำสมาธิภาวนา เป็นกลมายาของกิเลส หลอกคนให้หลงไปตามมัน แล้วหยุดภาวนาเสียต่างหาก
กรุณาทราบกลของกิเลสไว้ จะได้ทำภาวนาสะดวกใจ ทนได้เท่าไรก็ทนไป เมื่อทนไม่ไหวก็พักไป เหมือนคนทำงานอื่นๆ นั่นแลจะเป็นไรไป ยังได้บุญทุกๆครั้งที่ภาวนา
ส่วนกิเลสมันไม่เห็นเอาบุญมาให้เรา เราจะเชื่อกลมันอะไรนักหนา ถ้าเชื่อมันมากก็ล่มจมได้ กรุณาทำไปตามกำลังความสามารถของเรานั่นแล
กิเลสคือความขี้เกียจ คือความว่าบุญน้อย วาสนาน้อย หรือความหยุดเสีย ไม่ทำ นั้น มันไม่ได้ให้ความดิบความดีอะไรแก่เราแม้นิดเดียว นอกจากมันคอยกระซิบกระซาบด้วยอุบายหลอกลวง ให้เราหลงไปตามมันเท่านั้น

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน









#ไม่เจริญวิปัสสนา
"ปัญญาจะเกิดอย่างไรได้
เมื่อปัญญาไม่มีจะเห็นอริยสัจ
ทั้ง ๔ อย่างไรได้ ผู้ปฏิบัติผิด
แม้ประพฤติเคร่งครัดทำตน
ให้ลำบากสักเพียงไร ก็ไม่สำเร็จ
ประโยชน์ซึ่ง มรรค ผล นิพพานได้”

#โอวาทธรรม
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต











...ไม่มีอะไรในโลกนี้
ที่จะทำให้เราหลุดพ้น
จากความทุกข์ จากความเครียดได้
นอกจาก..”ธรรมะ”.
................................
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 13 / 12 / 2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










เรื่อง “ของจริง ไม่ต้องอาศัยตำรา”

“การภาวนา” นั้นไม่ต้องสอนกันมาก ให้ดูลงไปที่ “กายใจ” เพราะกายและใจจะสอนเราเราเอง “ของจริง” นั้น ไม่ต้องอาศัยตำรา ไม่อาจเรียนจากตำรา ไม่อาจหาเอาจากสิ่งใด แม้แต่จากคำของหลวงปู่ก็สอนไม่ได้ แม้พูดไปเท่าใด ก็ไม่อาจเข้าถึงจิตถึงใจ หากไม่มีความเพียร ขอให้ทำให้มาก และใจเรานั่นแหละ มันจะสอนตัวเอง

โอวาทธรรม ข้อวัตร จริยาวัตร ปฏิปทาพระป่ากรรมฐาน
หลวงปู่อว้าน เขมโก อายุ ๘๑ปี
วัดป่านาคนิมิตร อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร












จิตและลมของเรานี้มีอยู่ถึง๕ชั้น

ชั้นที่ ๑ ลมหยาบที่สุดก็ได้แก่ ลมที่เราหายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” อยู่ขณะนี้

ชั้นที่ ๒ ลมที่หายใจผ่านลำคอเข้าไปแล้วเชื่อมต่อกับธาตุ ต่างๆ ภายในเกิดความสบายหรือไม่สบาย

ชั้นที่ ๓ ลมหยุดนิ่งอยู่กับที่หมด ไม่วิ่งไปมา ทุกๆส่วนในร่างกายที่เคยวิ่งขึ้นบนลงล่างก็หยุดวิ่ง ที่เคยไปข้างหน้า มาข้างหลังก็ไม่ไปไม่มา ที่เคยพัดในลำไส้ก็ไม่พัด ฯลฯ หยุดนิ่งสงบหมด

ชั้นที่ ๔ ลมที่ทำให้เกิดความเย็นและเกิดแสง

ชั้นที่ ๕ ลมละเอียดสุขุมมากจนเป็นปรมาณู แทรกแซงไปได้ ทั่วโลก มีอำนาจ ความเร็วและแรงมาก

รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี้ก็อยู่อย่างละ ๕ ชั้น เหมือนๆ กัน เช่น เสียงหยาบ

ชั้นที่ ๑ ก็ได้แก่ เวลาพูดจบแล้วดับไป

ชั้นที่ ๒ พูดไปแล้วยังดังอยู่ถึง ๒-๓ นาที จึงจะดับ

ชั้นที่ ๓ อยู่ได้นานมากแล้วจึงหายไป

ชั้นที่ ๔ พูดแล้วถึงพรหมโลก ยมโลก

และชั้นที่ ๕ เป็นเสียงทิพย์ พูดแล้วได้ยินอยู่เสมอ พูด ๑๐๐ ครั้ง ก็มีอยู่ทั้ง ๑๐๐ ครั้ง เสียงไม่สูญไปจากโลก เพราะอำนาจแห่งความละเอียดจึงสามารถแทรกแซงได้อยู่ได้ทุกปรมาณูในอากาศ

ฉะนั้น ท่านจึงว่า รูป รส กลิ่น เสียง ไม่สูญไปจากโลก เพราะโลกนี้เปรียบเหมือนกับจานเสียงที่อัดเสียงอะไรๆ ไว้ได้ทุกอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง หรือกรรมดี กรรมชั่วอันใด ก็ดีที่เรากระทำไว้ในโลก มันย่อมจะย้อนกลับมาหาเราเมื่อตายทั้งหมด

เหตุนั้น ท่านจึงว่า “บุญบาป” ไม่สูญหายไปไหน คงติดอยู่ในโลกนี้เสมอ จิตละเอียดที่สุด ซึ่งเปรียบเหมือน “ปรมาณู” นั้น มีอำนาจความแรงเหมือนกับดินระเบิดที่จมลงในพื้นแผ่นดิน แล้วก็สามารถระเบิดทำลายมนุษย์ให้ย่อยยับพินาศไปได้

ฉันใด จิตละเอียดที่จมลงในลมก็สามารถระเบิดคนสัตว์ให้พินาศย่อยยับเช่นเดียวกัน คือ เมื่อจิตละเอียดถึงที่สุดถึงขั้นนี้แล้ว ความรู้สึกในตัวตนของเราก็จะดับสิ้นไปไม่มีเหลือ จิตนั้นก็จะหมดความยึดถือในอัตภาพร่างกายตัวตนคนสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้นจึงเหมือนกับ “ปรมาณู” ที่ทำลายสัตว์ ทั้งหลายฉันนั้น

ท่านพ่อลี ธัมธโร











ถ้าอยากทราบว่าตนเป็นพระโสดาบันหรือไม่นั้น ก็มีแผนที่สอบคือ

สอบตนว่าตนเสียดายอยากล่วงละเมิดศีล ๕ หรือไม่
เสียดายอยากจะถือศาสดาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนาไปหรือไม่
เสียดายอยากจะจองเวรท่านผู้อื่นหรือไม่
เสียดายอยากจะเล่นอบายมุขหรือไม่
เสียดายอยากจะถือฤกษ์ดียามดีหรือไม่
เสียดายอยากจะค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษ ทั้งหลายเหล่านี้หรือไม่
ถ้าไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดทั้งหลายเหล่านี้แต่ต้นมาก็ตัดสินเอาเองว่าเรานี้แหละคือพระโสดาบัน
ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็เป็นโมฆะทั้งนั้น
ให้เข้าใจว่าสิ่งใดที่เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิด
เพราะเห็นชัดด้วยปัญญา ด้วยดวงตาเห็นธรรม
คือเห็นว่ามันเป็นเวรเป็นภัยจริงๆ ไม่มีศาลอุทธรณ์
ถ้าเราเห็นชัดอย่างนี้ความเสียดายอยากล่วงละเมิดของเราก็ไม่มี เราก็ไม่หนักใจด้วย คล้ายๆ กับเราเห็นหลุมถ่านเพลิงอย่างชัดแจ้ง เราไม่เสียดายอยากไปลุยเลย และก็ไม่สงสัยอีกด้วย
นี้แหละคือภูมิพระโสดาบัน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เป็นพายเรือในอ่าง ดังกล่าวมาแล้ว

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร











..ธรรมชาติของสังขารทั้งหลายทั้งปวง คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทุกๆเหล่าทุกๆภาวะ เมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็ไม่พ้นความเสื่อมความสิ้นไป จึงเรียกว่าอนิจจัง คือไม่เที่ยง ทุกขัง ความไม่ตั้งมั่น ความไม่คงทนอยู่กับที่เสมอไป และเป็นอนัตตา บังคับบัญชาให้อยู่ตามความปรารถนาหรือให้สมความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
..ธรรมะทั้งสามประการนี้ ซึ่งพุทธบริษัททั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายญาติโยม ตลอดจนพุทธบริษัทต่างๆที่มีศรัทธาเลื่อมใสในการฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ก็ได้ฟังและได้น้อมนำไปปฏิบัติเป็นหลักของใจ เพราะเป็นสภาพที่เป็นสัจธรรม เป็นความจริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีใครหลบหนีหรือหาวิธีการให้หลีกพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรืออนิจจังความไม่เที่ยง ทุกขังความเป็นทุกข์ และอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน ความบังคับบัญชาไม่ได้
..ไม่มีใครหลบไม่มีใครหลีกพ้นไปได้ จึงเรียกว่า เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของผู้ที่เกิดมาแล้ว อนิจจังคือความไม่เที่ยงนั้น แท้ที่จริงแล้วเมื่อเราได้รับฟังคำสอนรู้ในข้อนี้แล้ว พึงน้อมจิตน้อมปัญญาของตนมาดูพิจารณาสรีระร่างกายของตนเอง ที่เกิดมาแล้วไม่เที่ยงอย่างไร..

โอวาทธรรม...บางช่วงบางตอนพระธรรมเทศนา องค์หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร งาน ๑๕๐ ปีชาตกาลองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร จ.เชียงใหม่..วันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓..











ท่านว่าคนเราเกิดมาบนโลกนี้ ความแก่ความชรา มันก็ไล่ติดตามอยู่เสมอ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไล่ติดตามอยู่เสมอ มรณภัยคือความตาย ขยับใกล้เข้ามาทุกวันคืน ท่านเปรียบอุปมาเหมือนหมาไล่เนื้อในป่า สมัยโบราณเขาเอาหมาไปไล่เนื้อ ไล่สัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร เมื่อสุนัขมันเห็นสัตว์ป่ามันก็ไล่ ไป เมื่อสุนัขไล่ไปไล่อยู่ไม่หยุด ไม่หย่อนก็ย่อมมีเวลาทัน ทันเนื้อสัตว์ป่านั้น เมื่อทันที่ไหนมันก็กัดเอาจนเนื้อตัวนั้นตายไป

ที่เราเกิดมาแล้วนี้มันได้ชื่อว่า เหมือนหมาไล่เนื้อมาโดยลำดับ มันใกล้เข้ามาเป็นลำดับๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเตือนว่า ให้ภาวนามรณกรรมฐานไว้ มรณํ เม ภวิสสติ ให้พากันภาวนา ให้นึกถึงว่าความตายมันใกล้เข้ามา ไล่เข้ามาโดยลำดับ

อีกไม่นานความตายนั้นก็จะเข้ามาถึงตัวเราทุกคน แต่ทุกวันนี้มันก็ใกล้เข้ามา เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่าคนนั้น คนนี้ตาย พระเณร พระท่านผู้เฒ่าผู้แก่ตายไป นี่คือว่ามันเหมือนหมาไล่เนื้อ เมื่อมาทันเวลาใด หมามันไม่ได้ยกเว้น มันกัดเอาจนเนื้อตัวนั้นตายไป ชราความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ มรณภัยคือความตายอันมันไล่ติดตามตัวเรา อันมันไล่ติดตามเราท่าน ทั้งหลายอยู่นี้ ถ้าเราไม่รีบเร่งภาวนา ไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติให้ดีแล้ว เมื่อมรณภัย คือความตายมาถึงเข้าบุคคลผู้นั้น ย่อมมีความพลั้งเผลอ ลุ่มหลงเพราะไม่ได้ประกอบกระทำในภาวนาไว้ให้เพียงพอ ยิ่งเมื่อความแก่ชรา แก่ตัวมาเท่าไร พยาธิ โรคา มันก็มากขึ้น สติสตัง ก็ต้องตั้งขึ้นมา ให้มีสติ ความระลึกได้ จิตใจจึงจะตั้งมั่นในสมาธิภาวนาได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจิตใจก็จะฟุ้งไปซ่านมา แส่ส่ายหาอารมณ์ต่างๆ ไม่มีที่จบที่สิ้น

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
วัดถ้ำผาปล่อง
ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่









“จิตคิดไปถึงอะไร จิตก็ไปเกิดในภพในภูมินั้น”

“จิตทีแรกดวงที่มันจะดับลงทีแรกนั่นแหละ ถ้าเคยกราบผีอยู่ประจำ ใจใกล้จะขาดธาตุจะแตกขันธ์จะดับจิตก็คิดไปถึงศาลพระภูมิ คิดไปถึงผี เมื่อใจขาดคาตรงนั้น ก็เรียกว่าไปอุบัติอีกภพ ไปเกิดภพเป็นผี พอเข้าใจไหมทีนี้.. คิดถึง ความคิดคืออารมณ์ ก่อนตายมันจะคิดไปถึงอะไร คิดไปถึงศาลพระภูมิ อารมณ์นั้นก็ไปดับที่ศาลพระภูมิ เรียกว่าเอาศาลพระภูมิเป็นภพเป็นที่เกิด เราก็ไปเกิดเป็นผีเฝ้าศาลพระภูมิอยู่ จึงไม่อยากให้ไปทำอย่างนั้น..

..ที่นี้ถ้าคิดไปถึงนิมิต แปลว่าจะจวนเจียนจะขาดธาตุจะแตกขันธ์จะดับ คิดไปถึงอารมณ์ใหน อย่างสมัยพุทธกาล พระคิดไปถึงผ้าจีวร คือตัดผ้าจีวรเสร็จใหม่ๆยังไม่ได้คลุมไม่ได้ใช้.. พอกลางคืนก็มาก็เลยปวดท้องเจ็บท้องตาย ใจขาดก็คิดถึงผ้าจีวร เกิดเป็นเลนก็อาศัยอยู่ผ้าจีวร เกิดเป็นสัตว์เดรฉาน..

..ถ้าเราคิด ความคิดนี้เรียกว่าภพ อารมณ์นี้เรียกว่าภพ เป็นที่เกิดเป็นที่ตั้งของจิต จิตของเราเปรียบเสมือนเมล็ดพืช อารมณ์เปรียบเสมือนเนื้อนา ไร่ สวน ไปตกอยู่ที่ใหน อารมณ์ไปตกอยู่ที่ผ้าจีวร ก็ไปเกิดที่ผ้าจีวร ถ้าเคยกราบเคยไหว้ผี อารมณ์ก็ไปเกิดถึงศาลพระภูมิ ก็ไปจุติขึ้นที่ศาลพระภูมิ ก็ไปเป็นผี อายุผีนานนะ ผีกว่าจะมาเกิดอีก อย่าพากันไปสร้างศาลพระภูมิ อย่าพากันไปกราบนะ..ถ้าคิดถึงพญานาค ก็ไปกราบพญานาค ตายไปก็ไปเกิดเป็นลูกพญานาค เป็นสัตว์เดรฉานนั้นล่ะภพเป็นที่เกิดเป็นที่ตั้งของจิตคิดไปถึงอะไรจิตก็ไปเกิดในภพนั้นภูมินั้น”

โอวาทธรรม หลวงตาศิริ อินทรสิริ














#อย่างที่เรียกว่า_ตาย_นั่นแหละ

ร่างกายที่เราขอยืมเขามาใช้นี้ เจ้าของค่อยๆ มาตามทวงเอาคืนไปทีละอย่างๆ โดยเราไม่รู้สึกตัว

ผม เขาก็ค่อยๆ มาเอาคืนไปทีละเส้นสองเส้น คือหงอกไปๆ

ตา เขาก็ค่อยๆ มาเอาคืนไปทีละข้างๆ คือ ฝ้าฟางมืดมัวบอด

หู เขาก็ค่อยๆ มาเอาไปทีละนิด คือหูตึงอื้อหนวก

ฟัน เขาก็ค่อยๆ มาเอาทีละซี่ๆ เช่นนานๆ เขาก็มาโยกไปโยกมาแล้วก็หยุดเสียพักหนึ่ง แล้วก็ย้อนกลับมาโยกใหม่อีก หนัก ๆ เข้ามันก็ไปกระซิบบอกกับหมอฟันให้มาถอนออก

เนื้อหนังมันก็ค่อยๆ มาเฉือนไปทีละน้อย จนหย่อนย่นเหี่ยวแห้ง

หลัง มันก็ค่อยๆ มาดึงไปข้างหน้าจนคดงอ เหยียดไม่ได้

บางคนก็ต้องลงคลานหรือถือไม้เท้าเดินโซซัดโซเซหกล้มหกลุกไม่เป็นท่า แล้วในที่สุดมันก็มาเอาไปหมดทั้งตัวเลย

อย่างที่เรียกว่า ตาย นั่นแหละ"

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร













#จะเป็นเขาโคหรือขนโค

ดูจิตเสียอย่างเดียวให้มันเต็มที่ ดูจิตดวงที่เต็มที่แล้ว มันจึงเป็นเหมือนกงจักรนะ วัฏจักรนี้เป็นเหมือนกงจักร คือมันหมุนวน วัฏฏะ วน หมุน วัฏจักรมันเป็นกงจักรหมุนวน นี่วัฏจักรให้อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เป็นอย่างนี้ ทีนี้เอาวิวัฏจักร คือจิตที่พอตัวเรียบร้อยแล้วดู หมุนเป็นวัฏจักรตลอดรอบตัวเลย ธรรมชาตินั้นไม่มีหมุน ไม่มีเอนมีเอียง เรียกว่ากฎอนิจจังเข้าไม่ถึง เป็นอย่างงั้นตลอดอนันตกาล ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง คือจิตที่บริสุทธิ์แล้วเที่ยงตรง.แน่วอยู่อย่างงี้เลยนะ ส่วนที่นอกไปจากจิตที่บริสุทธิ์มันก็มีแต่จิตที่คลุกเคล้าไปด้วยส้วมด้วยถาน มันจึงหมุนรอบตัวของมันตลอดโลก

เมื่อเป็นอย่างงั้นโลกที่อยู่ในกงจักรแห่งความหมุนนี้ มันจะอยู่เป็นสุขได้ยังไง อยู่เป็นสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้มีธรรมเป็นเครื่องสกัดลัดกั้น หรือพักเครื่องบ้างเป็นบางกาลบางเวลา คนเราจะพอพักได้ ถ้าปล่อยให้กิเลสพาหมุนไม่มีใครพักได้เลย ฟาดตั้งแต่เศรษฐีกุฎุมพีลงมา ยศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำขนาดไหนไม่มีความหมายทั้งนั้น กิเลสขึ้นเหยียบอยู่บนหัวหมด บนหัวใจ ให้หมุนเหมือนกันหมดเลย เอานี่ดูมันถึงชัดเจน เอาธรรมชาติที่ไม่หมุนนี่ดูมันรอบตัวชัดเจน อันนี้จะหมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาพักเครื่องนะ วัฏจักรไม่มีเวลาพักเครื่องหมุนตลอด ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็หมุนอยู่อย่างงี้ สัตว์โลกตกลงไปตรงนี้ก็ถูกหมุนไปแบบเดียวกันหมดเลย ธรรมชาติที่ไม่หมุนมันดูแล้วมันรับกันได้ถนัดชัดเจน อันนั้นหมุน อันนี้ไม่หมุน เป็นอย่างงั้นวัฏจักร มันหมุนไปหมุนมา

เพราะฉะนั้นจึงให้อบรมจิต ถ้าจิตของเราได้รับธรรมมากน้อย ความหมุนนี่ก็จะไม่รุนแรง มีพักมีเบา เรียกว่ามีสงบจิตใจ ถ้าใครมีการภาวนาเป็นเครื่องแอบกันไป แทรกกันไปแล้ว คนนั้นจะมีเวลาพักผ่อนหย่อนตัว เวลามันยุ่งมากๆ จิตของเราเคยมีความสงบแล้ว เราจะเห็นโทษแห่งความยุ่งวุ่นวายนั้นมาก โอ๊ย วันนี้จิตยุ่งมาก ไม่ได้ละเข้าพักจิตเสียก่อน ถ้าจิตไม่เคยมีความสงบเย็นใจจากการภาวนาแล้วมันก็พักไม่ได้ มันก็หมุนอยู่ตลอดเวลา บ่นก็บ่น อะไรต่ออะไรทั้งบ่นทั้งหมุนอยู่อย่างนั้น ทีนี้พอจิตมีภาวนาได้รับความสงบแล้ว อ๋อ ความสงบเป็นอย่างนี้ จิตสงบเป็นอย่างนี้ มีความสุขสบายอย่างนี้ๆ จับได้แล้ว

ทีนี้พอไปเกิดเรื่องราวยุ่งเหยิงวุ่นวาย ตามโลกสงสารที่เขาเคยเป็นมานั้นเข้าไปแล้ว โอ๋ย วันนี้ยุ่งมาก ไม่เอาละ ต้องเข้ามาพักจิตเสียก่อน ต้องพักจากนั้นทั้งหมดเข้ามาสู่ความสงบสบาย พอถอนออกมาแล้วก็มีกำลังพอต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกันไปกับโลกวัฏจักรนะ ถ้าไม่มีเลยนี้ก็หมุนตลอดเลย มันต่างกันอย่างนี้ เพียงมีความสงบเป็นกาลเป็นเวลาด้วยจิตตภาวนาเท่านั้น เราก็พอหลบพอซ่อนได้แล้ว ถ้ายิ่งมีมากกว่านั้น ก็มีที่หลบที่ซ่อนได้สะดวกสบายมากขึ้นๆ กระแสของวัฏจักรหมุนอ่อนลงๆ ภายในใจของเรา ต่อไปเอาวัฏจักรให้ขาดสะบั้นจากจิตใจแล้ว หยุดกึ๊กเลย

เอ้าดูที่นี่ ดูความเป็นมาของเราที่เคยเป็นเป็นยังไง เป็นอย่างโลกทั้งหลายเป็น นั่น มันจับได้ปั๊บเลย เรากับโลกทั้งหลายไม่แปลกต่างกัน หมุนแบบเดียวกัน ทีนี้เราหยุดแล้วเป็นยังไง โลกยังไม่หยุด แล้วไม่หยุดมีจุดหมายปลายทางที่ไหน บางรายก็มีจุดหมายปลายทาง แต่ว่าน้อยมากนะ ที่ไม่มีจุดหมายปลายทางนี้มากต่อมาก ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงเทียบกับวัวตัวหนึ่ง ที่พระอานนท์ทูลถามถึงเรื่องว่า คนที่จะไปสวรรค์นิพพานกัน มีจำนวนมากน้อยเพียงไร แล้วคนจะตกนรกหมกไหม้ได้รับความทุกข์ความทรมาน จะมีมากน้อยเพียงไร ท่านก็ชี้ใส่วัวตัวหนึ่ง

ดูเอานั่นวัวตัวหนึ่ง คนที่จะไปตกนรกหมกไหม้ได้รับความทุกข์ความทรมานเท่ากับขนวัวเต็มตัวของมัน แต่ผู้ที่จะได้รับความสุขความเจริญจนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์นั้นมีเท่ากับเขาโค โคตัวหนึ่งมันมีสองเขา แต่ขนมันเต็มตัวใช่ไหม นี่เทียบถึงสัตว์โลกที่จะจมเท่ากับขนโคนี้เต็มโลก ผู้ที่จะหลุดพ้นไปเท่ากับเขาโค มีน้อยมากทีเดียว นี่ซีพระพุทธเจ้าไม่ท้อพระทัยได้ยังไง เอาเขาโคไปสู้กับขนโคได้ยังไงจึงท้อพระทัย แต่เขาโคมันยังมีอยู่ที่จะเป็นสาระอยู่ แม้มีน้อยก็ตะเกียกตะกายสอนโลกไปอย่างนั้นแหละ สอนประเภทเขาโค ส่วนขนโคไม่สอนมันแหละ มันสุดวิสัยแล้ว แล้วก็ประเภทเขาโคนี่แหละทำให้พระองค์ได้วางศาสนาเอาไว้เพื่อเขาโค ส่วนขนโคปล่อยไปเลย มีเฉพาะเขาโค ทรงอุตส่าห์แนะนำสั่งสอนที่นั่นที่นี่

แม้ที่สุดเวลาจะไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ก็ไปเล็งเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์แก่คนนั้นอีก อยู่ที่เมืองนั้น มีทิฐิมานะว่าตนเป็นพราหมณ์ชาติอริยกะ เช่นเดียวกับชาติพระพุทธเจ้า แต่วัยนั้นเราเป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อเป็นแม่ ปู่ย่า ตายาย ไม่สมควรที่จะไปเชื่อฟังสิทธัตถราชกุมารซึ่งเป็นพราหมณ์และชาติอริยกะด้วยกัน เสียเกียรติ เอาความแก่มาเป็นเกียรติ คิดแล้วก็ไม่ลงพระพุทธเจ้า พระองค์เล็งญาณทรงเห็นมีอุปนิสัยแล้ว สุดท้ายก็เสด็จไปปรินิพพานกรุงกุสินารา พอไปพราหมณ์คนนั้นก็ลงใจ มาทบทวนถึงเรื่องความเป็นของเจ้าของ ตั้งแต่เป็นพราหมณ์ชาติอริยกะตลอดวัย ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เราไม่ควรไปเคารพเด็ก ไปเชื่อฟังเด็ก บัดนี้สิทธัตถราชกุมารซึ่งเป็นชาติอริยกะด้วยกันก็จะตายเสียแล้ว ท่านบอกว่าท่านจะมานิพพานในเมืองนี้ คำพูดของท่านก็ไม่เคยผิดพลาดมาเลย เราไม่ไปหาท่านเวลานี้จะไม่มีเวลา ตายเปล่าๆ เอา ยังไงก็ยังไงต้องไป ตัดสินใจไป

พราหมณ์แก่คนนั้นแบกความชรามา ที่ยกตนว่าแก่กว่าสิทธัตถราชกุมารก็มา มาก็ถูกพระอานนท์ห้ามไม่ให้เข้า พระองค์ก็รับสั่งทันทีเลย บอกให้มา ให้เข้ามาเดี๋ยวนี้เลย เรามาที่นี่ก็เพื่อพราหมณ์คนนี้แหละ ว่างั้นพระพุทธเจ้านะ เข้ามาจึงมาทูลถามถึงเรื่องศาสนามีมากมาย ศาสนาไหนก็ว่าศาสนานั้นดีๆ แล้วจะให้ยึดถือศาสนาไหน พระองค์ก็สรุปความ เอา ไม่ต้องพูดมากละ เราเวลามีน้อย นั่นเห็นไหมกำหนดไว้แล้วความตายตัว ถึงระยะนั้นจะนิพพาน เวลาเรามีน้อยอย่าถามไปมากเลย ศาสนาใดมีมรรค ๘ มีอริยสัจ ศาสนานั้นมีมรรคผลนิพพาน สมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ คือ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ อยู่ในศาสนานั้น ศาสนาที่มีมรรค ๘ มีอริยสัจ ก็คือพุทธศาสนานั้นเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่น

พอเสร็จแล้วก็รีบให้พระอานนท์บวชให้ สอนศาสนาเกี่ยวกับเรื่องมรรค ๘ และผลที่จะได้ อริยะ ตั้งแต่ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ อยู่ในนี้หมด ว่างั้นเลย ถามศาสนาใด โอ๊ย มีมาก อย่าถามตถาคตเลยมันเสียเวลา คือพูดไม่เกิดประโยชน์ จะศาสนาอะไร พูดง่ายๆ ว่าอย่างนั้น ให้เอาอย่างนี้ ให้เอาจุดนี้ จับจุดนี้เลย อย่าไปหาคว้าโน้นคว้านี้ พระองค์รับสั่งให้พระอานนท์บวชให้เดี๋ยวนี้ เอ้า บวชแล้วให้รีบไปบำเพ็ญเพียรให้ได้ตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ เป็นปัจฉิมสาวกในคืนสุดท้ายคืนนี้ ซึ่งเป็นคืนของเราจะตาย พอบวชแล้วก็ไปอย่ามายุ่งกับการเป็นการตายของเรา ให้ดูการเป็นการตายของเจ้าของ อริยสัจมีอยู่ด้วยกันทุกคน ให้พิจารณาเรื่องอริยสัจ อยู่ในนี้ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ให้ดูนั้น

ทางนั้นก็ไปบำเพ็ญสมณธรรม พระองค์ปัดออกไปไม่ให้มาเกี่ยวข้อง พระองค์หมดทุกอย่างแล้ว ยังเหลือแต่จะทิ้งขันธ์ตามวาระของมันเท่านั้น ทางนู้นก็บรรลุธรรมปึ๋ง พอพระพุทธเจ้าท่านนิพพาน ทางนั้นก็บรรลุธรรมเป็นปัจฉิมสาวกขึ้นมา นี่ละเขาโคเขานี้แหละที่ทำให้พระองค์ลำบาก เข้าใจไหม เขาโคตัวถือทิฐิเก่ง ๆ เขาโคตัวนี้ทั้ง ๆ ที่จะไปได้อยู่มันยังไม่ยอมอยากไป มันจะสมัครตัวเป็นขนโคอีก ถือทิฐิมานะว่าเราแก่กล้าอย่างงั้นอย่างงี้ เป็นอริยกะ สิทธัตถราชกุมารนั้นเป็นหลานเป็นเหลน เสียเกียรติเรา เสียเกียรติเขาโค เข้าใจไหม เขาโคที่จะไปยังไม่ยอมไป ยังจะดึงตัวเองลงมาหาขนโคอีก พระพุทธเจ้าลากใส่เขาโค ไสเลย ไป ไปได้ นั่นปัจฉิมสาวก เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีองค์นั้น

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนา
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๖
เรื่อง จะเป็นเขาโคหรือขนโค
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร