ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

เอกลักษณ์ของกัลยาณมิตร
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=58598
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  รสมน [ 06 ก.พ. 2020, 05:49 ]
หัวข้อกระทู้:  เอกลักษณ์ของกัลยาณมิตร

#ถ้ามีสติกำหนดเข้ามา
"จะรู้ทุกเวลาว่าจิตของเรามีราคะไหม
หรือหายแล้วไม่มี ก็จะรู้จำเพาะตนนี้
ดูโทสะ มีอยู่หรือหายโทสะแล้ว ดูโมหะ
ความโง่เขลาความหลง ยังมีอยู่ก็จะรู้
หรือจิตของเรามันหายโทสะหายโมหะ
แล้วก็จะรู้ พระพุทธองค์จึงให้พิจารณา
เข้ามาให้เห็น เห็นอันนี้เรียกว่าเห็นธรรม
จิตของตนเป็นอย่างไร จิตของตนเป็นกุศล
มีเมตตา มีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หรือมัน
ยังมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ก็จะรู้
แล้วจะได้แก้ไขตัวมัน รีบปลดเปลื้องออกไป รีบเร่งทำความเพียร ขับไล่สิ่งที่เศร้าหมอง
คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ออกไป ให้มันเบาบางไป ออกจากขันธสันดาน ดวงจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องทำให้คนบริสุทธิ์ ทำให้คนมี
สิริ มีโภคทรัพย์ ก็เพราะคนเป็นผู้ทำความดี
มีศีล ศีลที่บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นที่มาแห่งโภคทรัพย์.."

#อนาลโยวาท
#หลวงปู่ขาว_อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู​ (พ.ศ. ๒๔๓๑ -๒๕๒๖)











"...ถ้าเราไม่ปฏิบัติกรรมฐานให้เป็น เราจะทำอย่างไร เมื่อตกอยู่ในกองทุกข์มาก

แล้วที่แน่ ๆ ก็คือความตาย เราจะต้องเผชิญต่อความตาย เราจะทำอย่างไรถ้าหากว่าเราตายอย่างจิตเศร้าหมอง

เมื่อจิตเศร้าหมองก็ย่อมไปสู่อบาย ตอนจะตายถ้าหากเราจิตเศร้าหมอง อันเกิดจากความกลัวตายบ้าง เกิดจากความห่วง ห่วงทรัพย์ ห่วงสมบัติ ห่วงญาติ ห่วงลูกหลาน จิตมันเศร้าหมองก็ไปสู่อบาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า..
'จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติปาฏิกังขา'
เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หวังคือต้องไปเกิดในอบายภูมิ

ฉะนั้น คนที่จะตายด้วยจิตที่ไม่เศร้าหมองมีส่วนน้อย ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมให้เป็น ความตายมาถึงก็จะทำใจไม่ถูก กระวนกระวาย กระสับกระส่าย จิตดับลงก็ไปสู่อบายหมด

ฉะนั้น ควรที่เราจะสนใจในการฝึกจิต ฝึกกรรมฐานให้เป็น การฝึกกรรมฐานก็ไม่ได้ฝึกที่ไหน ฝึกในตัวเรานี้ ฝึกในกายในใจนี้

ฝึกการเป็นผู้มีสติระลึกรู้ในตัวเอง แต่ต้องระลึกไปถึงการปล่อยวางเป็น ถ้าเรายังปล่อยไม่เป็น ปฏิบัติไปก็กลับยิ่งทุกข์ เห็นทุกข์แล้วก็กลับกลายเป็นทุกข์ เพราะจริง ๆ ในสังขารร่างกายมันเป็นก้อนทุกข์

เมื่อสติจิตใจเราหันมาพิจารณาดู มันก็จะเจอความทุกข์ เมื่อเจอความทุกข์ ถ้าไม่รู้จักฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวางเป็น มันกลับกระวนกระวาย เจอทุกข์แล้วกระวนกระวายก็ยิ่งทุกข์

ฉะนั้น การปฏิบัติต้องฝึกไปถึงขั้นปล่อยวางได้ด้วย ฝึกการกำหนดรู้ทุกข์แต่ปล่อยวางต่อความทุกข์ ร่างกายของเรามันมีทุกข์ทั้งนั้น ทุกส่วนมันมีปวด มีเจ็บ มีเหนื่อย มีเมื่อย เป็นทุกข์ เราก็กำหนดดูรู้ความทุกข์ แต่ว่าไม่ทุกข์ด้วย

แม้จิตใจมันเกิดสภาวะของกิเลสขึ้นมา เราก็กำหนดรู้ ดูจิตใจว่าขณะนี้ใจมันเกิดกิเลส เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดมานะ ทิฏฐิ เวลาที่มีสติไปกำหนดรู้ก็ให้กำหนดรู้อย่างปล่อยวาง

หลักของการเจริญวิปัสสนามีอยู่ว่าสภาวะใดปรากฏก็ให้กำหนดรู้ ขอบคุณ สภาวธรรมอันนั้น แล้วก็กำหนดรู้ด้วยความปล่อยวาง

อย่างเวลาที่เรานั่งปฏิบัติไป จิตมันฟุ้ง ก็กำหนดดูความฟุ้ง แต่อย่าไปฟุ้งกับมันด้วย ให้ดูเฉยๆ กำหนดดู ดูไปเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดอะไรต่อ ไม่ต้องไปจัดการ หักล้าง ผลักไสอะไรทั้งหมด ดูเฉยๆ

การดูเฉย ๆ คือจะดูอย่างปล่อยวาง อาการของความฟุ้งนั้นมันจะคลี่คลายของมันเอง

ถ้าเราทำตรงนี้เป็น ในชีวิตประจำวันของเราถ้าเรามีสติ ไปหยั่งรู้ใจเราเมื่อไร แล้วเราเจอว่าใจเราไม่สบาย ใจเราฟุ้ง พอมีสติระลึกรู้ ปล่อยวางเป็น อาการเหล่านั้นมันก็จะคลายหายไป

จิตเราก็คืนสภาพ โปร่งเบาขึ้น กรรมฐานมันได้ประโยชน์ตรงนั้น ตรงที่สามารถจะคลี่คลายความทุกข์ได้

เวลาที่เราวุ่นวาย ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่การงานไป อย่างเช่น สมองมันชักเครียด เราคิดมาก คิดการงานมาก วิจัย วิจารณ์ รู้สึกสมองเครียด เราก็ตั้งสติกำหนดดูความรู้สึกในสมอง ดูจิตใจดู จิตเราจะต้องคิดมาก จิตเราจะต้องวุ่นวาย พอเรามีสติเข้าไปรู้ไปดูด้วยความปล่อยวาง วางเฉย เราจะสังเกตว่าอาการเหล่านั้นมันจะคลี่คลาย

จิตมันจะคลายจากความฟุ้งซ่าน จากความวิตกกังวล สมองมันก็จะคลายตัวตาม ความเครียดมันก็จะหายไป เราก็ได้อยู่อย่างสงบสุขขึ้น มีวิธีการที่จะคลี่คลายความทุกข์ให้ตนเอง..."

โอวาทธรรม
โดยพระวิปัสสนาจารย์
‪‎ท่านเจ้าคุณ‬ ‪‎พระภาวนาเขมคุณ‬
(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)











...วิธีฟังธรรม ท่านก็สอน
"ให้ฟังด้วยสติ ด้วยความตั้งใจ"
ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องอื่น
"มีหน้าที่รับฟังอย่างเดียว"

...ฟังไปแล้วก็พิจารณาตามไป
ถ้าเข้าใจก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา
ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ก็ปล่อยไปก่อน
แสดงว่ายังฟังไม่มากพอ
พอที่จะให้เกิดความเข้าใจได้
"ต้องฟังไปอีกหลายๆครั้ง"
แล้วก็จะเข้าใจไปเอง

..เหมือนกับเวลาเราบอกอะไรให้ใครฟัง
บางคนพูดคำเดียวก็เข้าใจ
บางคนก็ต้องขยายความ
ต้องอธิบายหลายๆครั้ง
ถึงจะเข้าใจ.
........................................
.
จุลธรรมนำใจ 5 กัณฑ์ที่ 240
ธรรมะบนเขา 17/9/2549
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









การที่เรากราบไหว้บูชาผีนั้น​ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนักสำหรับชาวพุทธ​

ถ้าเราไปกราบไหว้บูชาผีแล้ว​ พระไตรสรณคมน์เราจะเศร้าหมองไม่ศักดิ์สิทธิ์​ ทำให้ผีมาทำอันตรายแก่เราได้​ แก่ครอบครัวเราได้​ มาแกล้งมาทำให้คนภายในครอบครัวของเรา​ และทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยได้​

การนับถือผีนั้นมักจะให้โทษมากกว่าให้คุณ​ และทำให้เราเป็นบาปอีกด้วย

หลวงปู่พัน​ ฐิตธัมโม








แผ่เมตตาไม่มีประมาณไปในจักรวาล ทำให้จิตเป็นสุข.
เรื่องพรหมวิหาร4 นี้ทิ้งไม่ได้.. ต้องมีประจำใจ

โอวาทธรรม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง








“กรรมของใคร กรรมของเรา”
ต่างคนก็ต่างใช้กรรมของใครของเรา
หมาก็ใช้กรรมของมัน มันเกิดมา
มันไม่อยากจะเป็นหมาหรอก แต่มันเกิด
ใครๆก็อยากจะเป็นเศรษฐี สูงส่งด้วยกันทั้งนั้น
แต่ทุกคนมันมีกรรม กรรมของใครกรรมของเรา
กรรมคือการกระทำของเราในอดีต
เราก็อยากจะเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่ใช่หรอ
สิ่งไหนที่สุขที่สุด สบายที่สุด ร่ำรวยที่สุด
ยศถาบรรดาศักดิ์สูงที่สุด
เราอยากเป็นอย่างนั้นใช่ไหม...ใช่
แต่เราทำไมเป็นไม่ได้ เพราะกรรม
คือการกระทำของเราในอดีตมันส่งไม่ถึง
ทุกคนก็มีกรรมของใครของเรา
สัตว์สาลาสิง ช้าง ม้า วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่
คนหูหนวกตาบอด ต่างคนก็ต่างมีกรรมของใครของเรา
เพราะฉะนั้น พวกเราให้ดู ให้มองโลก...ให้เป็นธรรมชาติ
สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นไปอยู่ด้วยอย่างนี้
บางทีเขาก็มาเบียดเบียนเรา เราจะทำอย่างไรได้
เพราะเราถูกขังอยู่ในตะกร้าใบเดียวกัน อยู่ในกรงเดียวกัน
คือโลกวัฏสงสาร
แล้วจะไม่ให้กระทบกระเทือนกันเสียเลยก็คงเป็นไปไม่ได้
เมื่อกระทบกระเทือนกันแล้วก็อดทนอดกลั้น
แต่ถ้าอดทนอดกลั้นแล้วไม่ไหว เราก็เดินหนีซะ
ถ้าเดินหนียังไม่ไหวยังได้ยินก็ปิดหูตัวเอง
ปิดใจตัวเองเข้าไปอีก พุทโธ พุทโธ สำทับเข้าไปอีก
อีกไม่นานหรอกต่างคนก็ต่างตายแล้ว
ถ้าตายแล้ว...เราก็เอาอะไรไปด้วยไม่ได้
เขาก็เช่นเดียวกัน
เขาก็ใช้กรรมของเขา เราก็ใช้กรรมของเรา ต่างคนก็ต่างไป
เราไปเราจะมีอะไรไปนอกจากบุญกับบาป
ไม่มีใครที่จะเอาอย่างอื่นไปได้
แต่ขนาดกระดูกตัวเองยังเอาไปด้วยไม่ได้
ก็ยังทิ้งไว้ในโลกอีก ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่ต้องพูดถึง
เราจะไปคิดอะไรมากมาย ถ้าเราวางที่ใจได้
พยายามฝึกหัดวางที่ใจ
ปล่อยวางที่ใจได้ ถึงจะวางไม่ได้ตลอดก็เถอะ
วางได้ชั่วขณะหนึ่งก็เป็นบุญเป็นคุณอย่างมาก
แต่ถ้าเราวางไม่ได้ ไม่ได้นะ... เสียศูนย์นะ
หนักอกหนักใจ คิดไป นอนไม่หลับ ตาแดงเข้าๆ
เพราะว่ามันแบก...แบกอยู่ในใจ
ถ้าเราวางอยู่ในใจ พยายามฝึกหัดวางที่ใจนะ
ถ้าเราพยายามคิดปล่อยวางที่ใจ
ทีนี้พอเราจะทำงานสิ่งไหนเราก็ทำได้
เพราะเราทำงาน ไม่ใช่งานทำเรา
แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้คิดอย่างนั้น
ไม่ได้คิดปล่อยวางในใจอย่างนั้นแล้ว
งานมันจะทำเรานะ เราจะเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นขอให้พวกเรา รู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักทำ
ทำให้ดีที่สุด จึงจะร่มเย็นเป็นสุข
นี้ล่ะ...หลักของพระพุทธศาสนา

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “มีสติ มุ่งมั่น ปล่อยวาง หนทางสู่มรรคผล”
แสดงธรรมเมื่อ เช้า วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔









"ธรรมทั้งหลายเกิดจากจิต
ไปหาข้างนอกหาไม่เห็นหรอก มันไม่มี
หาตรงไหน ไม่มี
จึงว่าหาลงไปที่จิต หาลงไปที่จิต แล้วดับ ดับที่จิตนั้น
ธรรมทั้งหลายเกิดจากจิต ดับก็ดับที่จิตนั้น
ธรรมทั้งหลายเกิดจากจิต และดับไปก็เพราะเหตุนั้น
เหตุคือจิต ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นภายนอก
นอกจากจิต ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้
เรื่องธรรมทั้งหลาย
ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล
เกิดจากจิตทั้งนั้น
ธรรมที่เป็นฝ่ายบวก ธรรมที่เป็นฝ่ายลบ
ธรรมที่เป็นฝ่ายสว่าง ธรรมที่เป็นฝ่ายมืด
เกิดจากจิตทั้งนั้น
จึงว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้น ให้มองหาจิต
จิตอันนี้ล่ะเป็นสมุฏฐาน เป็นฐานที่เกิดของธรรมทั้งนั้น"

พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร
(หลวงปู่แบน ธนากโร)
วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร










.. “การแสดงออกของสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในใจนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด คิดได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง ทุกอิริยาบถ ไม่มีหยุด ไม่มีวันเสาร์ วันอาทิตย์ ไม่มีวันพระวันโกน ไม่มีเดือน ปี นาที โมง ที่จิตไม่คิดปรุง
.
ซึ่งส่วนมากคิดแต่เรื่องเหลวไหล นำไฟกิเลสมาเผาใจเปล่าๆ หาสาระแก่นสารที่เป็นประโยชน์ และความร่มเย็นภายในใจไม่ค่อยมี
.
ทั้งนี้เพราะความคิดปรุงเหล่านี้ออกมาจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ออกมาจากสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ที่ฝังอยู่ในใจมากต่อมาก คิดปรุงเท่าไร ก็ส่งผลเป็นทุกข์เข้าไปเผาลนจิตมากเท่านั้น จะหมดจะสิ้นไปได้อย่างไร
.
เพราะความคิดนี้ผลิตสิ่งที่ไม่มีค่านั้นให้เพิ่มตัวขึ้นมาภายในใจเรื่อยๆ หมุนเวียนกันไป หมุนเวียนกันมาอยู่อย่างนั้น จึงไม่มีเวลาจบสิ้นกันได้.."

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๘









"เมื่อจะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเมื่อใด
ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รักของตน
จึงไม่ควรทำลายตน เหมือนตนเป็นที่รังเกียจ
เกลียดชังอย่างยิ่ง จนถึงต้องทำลายเสีย
การคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เป็นการทำลายตน
อย่างแน่แท้"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ









"เอกลักษณ์ของกัลยาณมิตร คือ
เป็นผู้ดึงความดีของเราให้ปรากฏ"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/