วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 09:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2020, 05:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก คือการรักษาใจ
การรักษาสิ่งใดๆ ในโลก รักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกคือใจ ยอดเยี่ยมของใจกะคือธรรม จงรักษาใจไว้ให้ดี ได้ใจตนแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจตนแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน จบ"

หลวงปู่เบ็ง ฐิตธัมโม








"...การตั้งจิตแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ กะคือกันกับเฮาโยนหินลงน้ำนิหล่ะ แฮงคลื่นมันกะค่อยกะเพื่อมออกไปจนสุดฝั่ง อำนาจแห่งความเมตตากะคือกัน กระแสจิตเฮาฮอดใส เขากะได้ทั่วฮอดนั้น..."

โอวาทธรรม
หลวงปู่ปั่น สมาหิโต
วัดป่าศิริดำรงวนาราม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร











...แล้วสักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป
ทุกคนต้องไปด้วยกันหมด
เวลามาก็มาตัวเปล่าๆ
เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ
"ใจ..มาตามลำพัง"
มาด้วยอำนาจของ
บุญบาปที่ได้ทำมา

...ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์
ก็เป็นวาระของบุญส่งผลให้มาเกิด
การจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้
อย่างน้อยต้องเคยรักษาศีล ๕ มา

...ถึงแม้จะไม่ได้รักษาทุกวัน
หรือตลอดเวลา ถ้าเคยมีศีล ๕
ก็ถือว่ามีสิทธิ์ ขึ้นอยู่กับว่า
มีมากมีน้อย ถ้ามีมากโอกาสที่จะ
ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีมาก
ถ้ามีน้อยโอกาสก็น้อย.
..................................
.
จุลธรรมนำใจ10 กัณฑ์371
ธรรมะบนเขา 26/8/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี














#การบริกรรมภาวนาให้จิตอยู

ณ จุดเดียว คือ พุทโธ เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ ฌาน ๕ คือ การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไปเรียกว่า วิจารณ์
หลังจากนี้ ปิติ และ ความสุข ก็เกิดขึ้น...เมื่อ ปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปนนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปนนาจิต

ถ้าเรียกโดยสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน

#บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่_๕

จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่ากายคตาปฏิปทา โดยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังโดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน

และเมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น.

เมื่อเป็นเข่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรอัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

"ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้น สมถกรรมฐานและในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง...ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา.."

"เมื่อฝึกฝนอบรมจิต ให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป.."

#หลวงปู่เสาร์_กนฺตสีโล











#หาคนดี_มีศีลธรรมในใจ..

"หายาก ยิ่งกว่า เพรชนิลจินดา
ได้คนเป็นคนดี เพียงคนเดียว
ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ
เพราะเงินเป็นล้านๆ​ ไม่สามารถทำ
ความร่มเย็น ให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดี ทำประโยชน์.."

#ใจนี่แล "คือสมบัติ อันล้ำค่า
จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติ
ต่อใจ ดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิด
สักร้อยชาติ​ พันชาติ ก็คือผู้เกิด
ผิดพลาด นั่นเอง..”

#โอวาทคติธรรมคำสอน
#พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#วัดป่าสุทธาวาส_อำเภอเมือง
#จังหวัดสกลนคร









จงคิดอยู่เสมอว่า เรามีเวลาเหลืออยู่แค่วันนี้ หรือชั่วโมงนี้ จะได้รีบกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มิใช่มานั่งโกรธนั่งเกลียดนั่งคิดริษยากัน เสียเวลาโดยเปล่าประโยขน์

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม










ลูกทุกคนต้องใส่ใจ เมื่อพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยอย่าเกี่ยงกันนะ บางคนเกี่ยงกันนะเพราะมีลูกหลายคน ผู้อยู่ใกล้เขาอยู่ใกล้อยู่หรอก ให้เขาดู ให้เขาพาไปหาหมอ พวกอยู่ใกล้ก็ว่าคอยผู้อยู่ไกล เพราะไม่ใช่พ่อของเราคนเดียวนี่ พี่น้องทุกคนก็เป็นพ่อเป็นแม่เหมือนกัน ทำไมให้เรารับภาระคนเดียว การไปหาแพทย์หาหมอไม่ใช่ว่าไม่ได้จ่ายเงิน มันต้องได้จ่าย ทำไมจะให้เรารับภาระคนเดียว มรดกไม่ใช่ว่าเรารับคนเดียว พี่น้องรับทุกคน ก็เลยเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา
พ่อแม่เลี้ยงลูกหลายคน จะพึ่งพาอาศัยใครเป็นสัดส่วนก็ไม่ได้ ก็เลยเป็นลักษณะอย่างนั้น มีมากต่อมากนะ เวลาลูกตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ที่ไหนก็วิ่ง ถ้าหากว่านั่งรถมา ใจอยู่กับลูกนู้นนะ เหยียบ ๑๒๐ ก็ยังไม่พอ เหยียบ ๑๔๐ เหยียบ ๑๕๐ เพื่อมาหาลูก แต่พ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวไปตีกอล์ฟกับหมู่ก่อนก็ได้แล้วจึงค่อยไป โดยมากลูกๆทั้งหลายเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพวกเราฟัง ๆ นะ สรุปแล้วก็คือให้รู้จักหน้าที่ พ่อแม่เลี้ยงดูเรา เราก็ควรจะทดแทนพระคุณ ตอบแทนบุญคุณของท่าน พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ พ่อแม่เลี้ยงดูเรามาแล้วเราสมควรยิ่งจะต้องเลี้ยงท่านตอบ ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้สมควรควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน อันนี้เป็นหน้าที่ลูกทุกคนจะต้องคำนึงและคิดอยู่เสมอ

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา "หน้าที่บุตรเมื่อพ่อแม่เจ็บป่วย"
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕










อย่าไปตำหนิติโทษผู้อื่น ให้ติเจ้าของ.. ให้แก้เจ้าของเอง
สิแก้จั๋งใด๋ก็ให้ฟ่าวแก้

หลวงปู่ศรี มหาวีโร







"..พระบ่ได้อยู่ที่หัวโล้นกับผ้าเหลืองเด้อ พระกะอยู่กับจิตใจผู้มีศีลมีธรรม บ่ว่าศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด กะเป็นพระได้คือกัน ขั่นบ่มีศีลกะเป็นพระบ่ได้ เป็นได้แต่ผ้าเหลืองห่มตอเท่านั้น.."

คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร









"พวกเราทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันนี้ เป็นญาติกันนะ
ญาติความเกิด ญาติความแก่ ญาติความเจ็บ
ญาติความตาย ฉะนั้น พวกเราอย่าเอารัดเอาเปรียบกัน
ให้มีธรรมไว้ในใจ"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท









"ใครจะเป็นอะไรมาเกิด มันไม่สำคัญหรอก
มันสำคัญอยู่ที่ว่า ปัจจุบันนี้เราจะเอาดีได้รึเปล่า เท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่าไปสนใจกับมันเลย เรื่องอดีตชาตินี่
ปัจจุบันนี้ สำคัญที่สุด"

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย









"วันหนึ่งๆ ขอให้อยู่กันด้วยศีล ด้วยธรรม มีสติธรรม
ปัญญาธรรม เป็นเครื่องกลั่นกรองจิตใจ กาย วาจา
อยู่โดยสม่ำเสมอเถิด

อย่าอยู่กันด้วยความอิจฉาพยาบาท อาฆาตจองเวร
และเคียดแค้นแก่กันและกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นฟืนเป็นไฟ
ไม่ควรนำมาเผากัน สำหรับมนุษย์เรา"

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร