วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 04:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2020, 04:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#จะรักษาศีล #ควรรักษาปาก #ควบคุมวาจาเอาไว้ด้วย
จะรักษาศีลนั้นไม่ยากเลย นอกจากมีสติกำกับจิตไม่ให้คิดชั่วผิดศีลแล้ว ปากคือ วาจานี้ก็เป็นด่านสำคัญเป็นแม่ทัพใหญ่ในการรักษาศีลไม่แพ้กัน ปากอย่าไปสั่งฆ่าสั่งทำลายชีวิตสัตว์ชีวิตคน ปากอย่าไปสั่งให้ทำผิดกฎหมาย ลักเล็ก ขโมยน้อย เอารัดเอาเปรียบใคร ปากไม่ไปพูดเกี้ยวพาราศี ลูกเขาเมียใครเพราะใจรักไปเรื่อยไม่มีขอบเขต ปากงดพูดคำเท็จ คำไม่จริง ส่อเสียด เพ้อเจ้อนินทา ว่าร้ายกล่าวร้ายคนอื่น สุดท้าย ปิดปากไว้อย่าเอานำ้ดองของมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลายเข้าไปกรอกปากตัว อันเป็นการขาดสติ ไม่รู้ตัว ทำให้ล่วงละเมิดศีลไปได้ทุกข้อ ให้รักษาปากไว้ให้ดี ส่วนมากจะเป็นประเภทผีเจาะปาก ปากพาจน พ่นพิษไปเรื่อย นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาสู่ตน ก็เพราะปากพาไป พูดไปพาล่มจมนี่มีมากมาย นี่จะรักษาศีลจึงต้องให้ระวังปากเอาไว้ด้วย ให้เป็นผู้พูดน้อย ทำให้มาก ก็จะปลอดภัยในการล่วงละเมิดต่อศีลได้

โอวาทธรรม
พระอาจารย์รังสรรค์
21 เมษายน 2563







" เวลาเป็นของมีค่าสูง
อย่าประมาทเวลาอันเล็กน้อย

จงรีบทำความดีใส่ตนเสีย
โดยเร็ว อย่าเห็นว่า
เป็นของสายเสียแล้ว
จะทำไม่ได้ "

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร










" คนเราอายุ 30 ลืมหน้า
40 ลืมหลัง 60-70 ลุกก็ยาก
นั่งก็ยาก หลังจากนั้นก็ร้อง
โอย หนังเหี่ยวเขี้ยวหล่น
ตาหม่นตามัว หัวหงอกหัวขาว

เฒ่าแก่แล้วควรพิจารณา
ดูกายตัวเราให้ชัด อุ้มลูก
แล้วก็ยังว่าค่อยให้หลานแถม

คนที่มีเงินพอหมื่นพอแสน
แล้ว ก็ยังให้ได้ถึงล้านถึง
โกฏิเล่า หลงเลี้ยงคราบเน่า
ไว้รอวันตาย เราทั้งหลาย
ควรที่จะหาช่องทางดี

อย่าประมาททางศีล
ทางทาน อายุสังขารเรา
มันบ่อยู่ที่เก่า เป็นอันรู้เฒ่า
ชราไป ให้คิดไว้บ่อยๆ "

โอวาทธรรม
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา










"...ดูครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา อย่างพ่อแม่ครูจารย์มหาทองสุก ท่านเรียนมาจนได้ประโยค ๖ ประโยค ๗ ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านสอนพุทโธให้อยู่กับพุทโธ ที่เรียนมานั้นให้เก็บเข้าตู้เข้าหีบ อย่านำเอามาเป็นสัญญา อย่านำเอามาเป็นอารมณ์ ท่านให้เรียนพุทโธอยู่เป็นปีสองปี ท่านพูดให้ฟัง เวลาเมื่อจิตจะเป็นนั้นจิตอยู่กับพุทโธ เวลาจิตจะเป็นเกิดแสงสว่างขึ้น คล้ายกันกับเดินไปกลางทางแล้วสะดุด

ทำให้ศรีษะเราโน้มเอียงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนเราจะล้มลง แต่ด้วยสันชาตญาณของเราก็ตึงตัวเรากลับอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพื่อไม่ให้ตัวเราล้ม ทำให้หน้าเราเงยขึ้นอย่างรวดเร็ว พอหน้าเงยขึ้นก็เกิดแสงสว่างจ้าขึ้นทุกทิศทาง ปรากฏว่าเราไปยืนอยู่ห่างจากกอองกระดูกที่มีมากมาย จิตท่านรวมได้เป็นอย่างนั้นนะ ท่านทำอยู่อย่างนั้นละ ท่านว่าไม่ให้จิตคิดเรื่องอื่น พอจิตถอนขึ้นมา พอจิตถอนขึ้นมา ไม่รู้ว่าความแจ้งความสว่างมาจากไหนล่ะ ท่านตั้งความอยากๆ ให้มันเห็นเหมือนเก่า ก็ได้เห็นอยู่นิดหน่อย ท่านก็ว่าถึงเวลาต้องไปปฏิบัติหลวงปู่มั่น ไปปัดกวาดในศาลา ไปปัดกวาดในกุฏิหลวงปู่มั่น เห็นหลวงปู่มั่นท่านนั่งอยู่ด้านนอกก็เข้าไปกราบ ท่านก็เลยเทศน์ ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของอยาก ไปทำเหตุให้มันพอดอกผลมันจะเกิดเองอย่างชาวนาเขาไม่ได้ปรารถนารวงข้าวแต่รวงข้าวมันเกิดขึ้นเองถึงคราว ชาวนาปลูกข้าวก็ปรารถนาเอาเมล็ดข้าว

ถ้าไปตั้งความอยาก จะไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ท่านเลยกลั้นความอยาก พอจิตใจคิดไปทางอยาก ท่านก็มากำหนดไม่ให้อยาก พอจิตอยู่กับพุทธะอีก จิตรวมลงปุ๊บ เกิดแสงสว่างมากขึ้นและนานขึ้นเป็นอย่างนั้นนะ ครูบาอาจารย์ท่านเห็นมา แต่นี่พวกเรามันไม่เห็น เวลาทำการงาน เวลาปฏิบัติก็ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะใจมันไม่เห็น ถ้าฝึกให้มันเห็นแล้ว มันไม่มีเกียจคร้านเลย โอ๊ยถ้ามีคนมาหา มันก็กลัวว่าจะเสียเวลาทำความพากความเพียร ถึงขนาดนั้นนะ เพราะมันทำงานทางใจ ธรรมมันก็เกิดขึ้นอยู่อย่างนั้น เรื่องนั้นเรื่องนี้ ขอให้เกิดขึ้นเถอะ เราจะรู้ขึ้นด้วยตนเองเลยว่าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า..."

(จากหนังสือที่ระลึก "๙๐ ปีเศรษฐีธรรม")
หลวงปู่ลี กุสลธโร











“ให้ตั้งสัจจะ”

การปฏิบัติ เราจะเดินก็ให้ตั้งสัจจะไว้ว่า
จะเดินเท่านี้ เท่านั้น
หรือเราจะนั่งวันหนึ่ง คืนหนึ่ง
หรือถ้าเราสู้ไม่ไหวก็เอาแต่พอสมควร
ให้ตั้งใจจริงๆ
กำหนดตั้งสัจจะไว้ในจิตใจ
ละความมัวเมาออกให้หมด
คอยกำหนดจิตเข้ามาสู่ภายในใจให้เบิกบาน
ตั้งความสัตย์ว่าจะภาวนา
เป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้

หรือถ้าจะเดินก็ให้กำหนด
จะรักษาจิตใจของเรา
ให้แช่มชื่นเบิกบาน
ไม่ปล่อยใจให้เป็นธรรมเมา
รักษาจิตใจให้ตั้งอยู่
เฉพาะธรรมโม

อย่าละความเพียรพยายาม
ให้เพียรไปติดต่อกัน
จะเป็นวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งก็ได้
เช่นตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดคืน
จะไม่นอนอย่างนี้
ตั้งสัจจะไว้อย่างนี้จะเป็นการดี
ตั้งสัจจะต่อพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
แล้วตั้งใจให้ดี
คอยระวังรักษาจิตใจของเรานั้นแหละ
ให้ผ่องใสตลอดไป

ให้พยายามรักษาความดี ความหมั่น ความขยัน
ของเราไว้ ให้สละความเกียจคร้านออกไปเสีย
ปกติจิตของเรานี้มักจะไหลไปสู่ความเกียจคร้าน
ความลุ่มหลง

เราต้องพยายามหาอุบาย
มาเตือนตนอยู่เสมอ
ด้วยความเพียร
ความหมั่น ให้รักษา กาย วาจา ใจ
ของเราให้บริสุทธิ์ในสิกขาวินัย
นำความชั่ว ออกจากกาย
จากวาจา จากใจ

อาศัยความเพียรเป็นไปติดต่อ
จึงจะชนะความเกียจคร้านได้
ความมัวเมา ความประมาทอันใดมี
ก็ให้ละเสียให้วางเสีย
ทำจิตใจของเราให้ตั้งอยู่ในธรรมโม

พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้
ต้องอาศัยความเพียร ความหมั่นขยัน
ไม่เช่นนั้นจิตจะตกไปสู่ความเกียจคร้าน

เราต้องตักเตือน ข่มขู่
ชักจูงแนะนำจิตของเรา
ด้วยอุบายแยบคาย
ถ้าจิตใจมันเกียจคร้าน
เราต้องหาอุบายมาตักเตือน ชักจูงแนะนำ
ให้มีความกล้าหาญ
ร่าเริง ให้เกิดความอุสาหะ
ขยันหมั่นเพียร
ไม่ปล่อยให้จิตนั่งเฉยเกียจคร้าน

เราต้องละความเกียจคร้าน
ความไม่ดีของจิตด้วยอบรมภาวนาอย่างนี้
ถ้าเราตักเตือนชี้นำด้วยอุบายอันชอบ
ในที่สุดจิตก็จะฟังเหตุผล
เกิดความมุมานะพยายามในความเพียร
เราต้องข่มขู่ตักเตือนบ่อยๆ
ในสมัยที่จิตนิ่งเฉยต่อความเพียร

ถ้าเราคอยประคับประคองจิต
ด้วยอุบายข่มขู่ตักเตือนด้วยอุบาย
แยบคาย จิตย่อมจำนวนต่อเหตุผล
ระวังรักษาสติไว้อย่าให้หลงลืม
ฝึกหัดให้เกิดความรู้ความฉลาด
เกิดขึ้นในจิตในใจของตน

จิตของเรา ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา
มันจะให้เรานอนท่าเดียว
ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้
เราต้องหาอุบายมาข่มขู่
ตักเตือน

อุบายใดที่ยกขึ้นมาชี้แจง
แล้วจิตยอมเชื่อฟัง
นั่นแหละคืออุบายที่ควรแก่จิต
ในลักษณะนั้นและในขณะนั้นๆ
ถ้าเราไม่ข่มขู่ชี้โทษโดยอุบายที่ชอบ
ใครเขาจะมาตักเตือนเรา

บางครั้งจิต ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา
มันจะวางเฉยในอารมณ์ ทั้งหมด
ในลักษณะเช่นนี้แหละ เราต้องหาอุบาย
มาทำให้จิตตื่นให้ได้
เช่นไหว้พระสวดมนต์ หรือยกธรรมบทใด
บทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา

ให้ตั้งอยู่ในความหมั่นความเพียร
ในคุณงามความดีของตน
พยายามเพ่งดูในจิตใจในใจ
ของเรานี้แหละ ถ้าไม่อาศัยความขยันหมั่นเพียร
ไม่ได้ จิตเรานี้มันมักจะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ
เป็นอดีต อนาคตไป
เราต้องหาอุบายมาชี้แจงให้ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม

ถ้าเราไม่หมั่นหาอุบายมาอบรมจิตแล้ว
ส่วนมากจะเกิดความเฉื่อยชา วางเฉย
ดังนั้นอุบายจึงเป็นของสำคัญ
ยกขึ้นสู่การพิจารณาชี้แจง ให้จิตอาจหาญ
ร่าเริง เห็นแจ้งในจิตในใจของเรา

ถ้าจิตยิ่งเกิดเกียจคร้านเท่าไร
เราก็ต้องเพิ่มความพยายามตักเตืออน
โดยอุบายให้มากขึ้น ให้เท่าเทียมกัน
จนเกิดความขยันขันแข็ง
เบิกบานผ่องใส

ให้ตั้งอกตั้งใจ ตั้งสัจจะ
ตรงต่อคุณพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ ให้เกิดความอุตสาวิริยะ
ความพากเพียรในภาวนา
ในคุณความดี

ให้ตั้งอยู่ในสิกขาวินัย
ในความหมั่นเพียร
ให้ตั้งสัจความเพียรไว้
อย่าเป็นคนเกียจคร้าน
พระพุทธเจ้าสั่งสอน
ให้เราตั้งอยู่ในมรรค ในผล

ให้พยายามรักษาจิตรักษาใจ
ของเรา อาศัยความองอาจกล้าหาญ
จึงจะผ่านอุปสรรคไปได้

“ให้รักษาตา รักษาหู รักษาจมูก
รักษากาย รักษาใจของตน
ในทุกอิริยาบถ ยืนเดิน นั่ง นอน ”
.

พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๓
แสดงแก่พระภิกษุ วันที ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

คัดตัดตอนบางส่วนจาก
“จากหนังสือโครงการหนังสือบูรพาจารย์
เล่ม ๓ หน้า ๓๓๙-๓๔๑
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่

















ตั้งสัจจะต่อพระพุทธ.ธรรม.สงฆ์.แล้วตั้งใจให้ดี. คอยระวังรักษาจิตใจของเรานั้นแหละ.ให้ผ่องใสตลอดไป

โอวาทธรรมหลวงปู่แหวน









"ตายทุกลมหายใจ"

นี้แหละ...อันนี้ก็คือพูดถึงความตาย
ถ้าเราไม่ระลึกถึงเสียเลย
เราก็จะลืมตัวนะ ลูกหลานนะ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า
ท่านให้ระลึกถึงความตาย
ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงให้ระลึกถึงความตาย
เพราะความตาย
เป็นที่หวาดระแวง เป็นที่น่ากลัวที่สุด
ของสรรพสัตว์ ไม่ว่ามนุษย์ล่ะ
สัตว์ตัวไหนก็ตาม ถ้าไปทุบ ไปฆ่า ไปตีมัน
ไปสังหารมัน มันกลัวที่สุด
ไม่มีอะไรที่จะกลัวยิ่งกว่าความตาย
ทั้งที่มันก็ทุกข์ยากลำบาก เป็นสัตว์เดรัจฉาน
มนุษย์ของเราก็เหมือนกัน
ถึงจะหาเช้ากินค่ำ ทุกข์ยากขนาดไหนก็ตาม
ก็ไม่มีใครอยากตายอีกเหมือนกัน
ถึงจะทุกข์ยากลำบาก ก็ยังอยากอยู่อยู่
เพราะฉะนั้น...ความตาย เป็นสิ่งที่น่ากลัว
กลัวที่สุด คือความตาย
ถึงใคร เขาจะมาแย่งมาชิงเอาทรัพย์สมบัติ
ที่เรารักขนาดไหน เราก็ให้ได้ ขอชีวิตอินทรีย์ว่างั้น
โจรขึ้นไปปล้นบ้าน จะขนอะไรก็ขนเถอะ
แต่ว่าอย่าฆ่า ขอชีวิตไว้เถอะ
ถ้ายังมีชิวิตอยู่ ก็พร้อมที่จะหาสมบัติอย่างอื่นได้อีก
ถ้าตายไปแล้วแปลว่าจบ
เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า
รักชีวิตนี้ ยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ ทั้งหลายทั้งปวง
นี้แระ...คือทำไมพระพุทธเจ้าจึงให้ระลึกถึง
เพราะว่า พวกเราเป็นอยู่
ถ้าหากว่าไม่ระลึกถึงความตายของตนเอง
พวกเราจะหลงระเริง ลืมตัว
คิดว่าตัวเองจะไม่ตาย

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา "ตายทุกลมหายใจ"
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑











ให้ตั้งอยู่ในความหมั่นความเพียร. ในคุณงามความดีของตน. พยายามเพ่งดูในจิตใจในใจของเรานี้แหละ

โอวาทธรรมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ










"ใช้คนเดียว สุขน้อย สุขสั้น
รู้จักแบ่งปัน สุขมาก สุขนาน"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ








“ขันติ ความอดทนต่อบิดามารดาของตน
ไม่ว่าจะมีเรื่องน้อยใจ เรื่องอะไร ก็แล้วแต่
ห้ามไม่ให้ทะเลาะกับพ่อแม่ ไม่ให้ทำหน้ายักษ์
หน้ามาร เข้าใส่พ่อแม่ หรือในบางเรื่องที่เราถูก
ก็ห้ามต่อว่าพ่อแม่อย่างเอาเหตุเอาผล อย่างเด็ดขาด

เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้น บางครั้ง
กับเพื่อนกับฝูง หรือเพื่อนร่วมงานเขากลั่นแกล้งเรา
ทุกอย่างสาระพัด เรายังอดทนระงับโทสะเอาไว้
อดทนเก็บความโกรธไว้ในใจ

แล้วกับพ่อแม่เรา ที่มีบุญคุณต่อเราอย่างที่สุด
เหนือกว่าเจ้านาย ผู้บังคับบัญชาทั้งหมด
ทำไมเราจะยอมทน ยอมยกให้พ่อแม่ไม่ได้”

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป










"เวลาตายแล้ว เราจะเอาอะไรติดเนื้อติดตัวไป
ไม่เห็นมีอะไร นอกจากบุญกับบาป ก็พยายาม
คัดเลือกตัวเอง สร้างแต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ไม่ดี
ก็ปัดออกๆ เพราะเป็นภัยแก่ตัวเอง"

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 88 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร