วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2020, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ การแผ่เมตตาจำเป็นต้องแผ่ให้เทวดาหรือสัตว์ที่อยู่ในนรกด้วยหรือไม่

ถาม. การแผ่เมตตา จำเป็นต้องแผ่ให้เทวดา พรหม อสุรกาย หรือ สัตว์ที่อยู่ในนรก เปรต ด้วยหรือไม่ แต่ตัวดิฉันแผ่ให้ด้วย แต่ก่อนดิฉันไม่เชื่อว่าชาตินี้ ชาติหน้า นรก สวรรค์ ผีสาง เทวดา มีจริง แต่เมื่อแผ่เมตตาทุกวัน ดิฉันกลับมีความเชื่อว่าสิ่งนี้มีจริง ถ้าหากว่าจำเป็นต้องแผ่ให้ อาจารย์มีความเห็นว่าควรใช้คำแผ่เมตตาว่าอย่างไรคะ

ตอบ. การแผ่เมตตานั้น ทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ ๒ วิธีคือ แผ่เจาะจงบุคคล (โอทิสสผรณา) หมายถึง เมื่อสำรวมจิตดีแล้ว นึกในใจหรือออกเสียงเบาๆ ว่าขอให้ ก. หรือ ข. มีความสุข ในขณะแผ่เมตตานั้น ถ้าเรานึกเห็นหน้าเขาและว่าเขามีหน้าสดชื่น เบิกบานด้วยก็ยิ่งดี
อีกวิธีหนึ่ง คือ การแผ่ทั่วไปหรือไม่เจาะจง (อโนทิสสผรณา) อย่างที่ผู้ถามแผ่อยู่ คือแผ่เมตตาถึงสัตว์โลกทุกจำพวกเสมอหน้ากัน ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ การแผ่เมตตาอย่างนี้ ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัปปมัญญา แปลว่า ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต

ท่านสอนให้แผ่เมตตาหรือกรุณาจนรู้สึกว่ามีเมตตาต่อคนทุกคนและสัตว์ทุกหมู่เหล่าเสมอหน้ากัน ท่านเรียกเมตตาอย่างนี้ว่า สีมสัมเภท แปลว่า ทำลายแดน คือ ไม่มีขีดคั่นระหว่างเราและผู้อื่น มีเมตตาเท่ากันระหว่างตนเอง คนที่ตนรักหรือรักตน คนที่เฉยๆ กับตน และคนที่เป็นศัตรูกับตน ทำจิตให้มีเมตตาเท่ากัน

ท่านยกตัวอย่างว่า ถ้าเรานั่งอยู่ในที่หนึ่งหลายคน มีทั้งคนที่เรารัก คนที่ชังเรา คนที่เฉยๆ กับเรา และตัวเรา ถ้ามีโจรถือดาบเข้ามาขอชีวิตของใครสักคนหนึ่งในกลุ่มนั้น ท่านว่าให้เขาเลือกเอาเอง จะเอาชีวิตคนไหนก็ได้ ทั้งนี้เพราะเรามีเมตตาต่อคนทุกคนเสมอกัน รวมทั้งตัวเราเองด้วย

มีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า ศาสดาของพระพุทธศาสนาว่า “ทรงมีพระทัยเสมอกันในบุคคลต่อไปนี้ คือ
๑. คนแม่นธนูที่พระเทวทัตต์ส่งมาเพื่อยิงพระองค์
๒. พระเทวทัตต์เอง ผู้ปองร้ายพระองค์
๓. โจรองคุลิมาล
๔. ช้างธนบาลหรือช้างนาฬาคีรี ซึ่งพระเทวทัตต์ปล่อยมาให้ทำร้ายพระองค์
๕. พระราหุลผู้เป็นโอรส

เมื่อแผ่เมตตามากเข้า จิตย่อมอ่อนโยน สว่างสงบ ทำให้เชื่อเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น อย่างที่ผู้ถามประสบด้วยตนเองอยู่แล้ว ความเชื่อเรื่องเล่านี้มีประโยชน์กว่าไม่เชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางประพฤติปฏิบัติจริยธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานให้คนประพฤติจริยธรรม ทำความดี เว้นความชั่วด้วยความมั่นใจ เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

คำแผ่เมตตานั้น นึกในใจหรือออกเสียงเบาๆ ว่า “ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

ถ้ามีโอกาสก็ควรแผ่เมตตาทางกายด้วย คือ ทำอะไรๆ ด้วยเมตตา มีเมตตาทางวาจา คือ พูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา เป็นต้น อันที่จริงในการทำความดีต่างๆ นั้น เราควรแสวงหาโอกาสเอาบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้โอกาสมาถึงอย่างเดียว บางคนแม้โอกาสมาถึงแล้วก็ไม่ยอมทำ ปล่อยให้โอกาสเสียไปทุกวันๆ ตัวอย่างเช่นการช่วยเหลือกันในรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น หรือการทำความดีต่อคนในบ้าน เช่น พ่อแม่ เป็นต้น ก็เป็นรายรับทางคุณงามความดี ในชีวิตประจำวันด้วย นี่คือโอกาสท่าถึงอยู่ทุกวัน

การแผ่เมตตานั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่ถ้าจะให้ประเสริฐยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ต้องทำด้วยเมตตาและพูดด้วยเมตตาอยู่เสมอ การช่วยเหลือเขาเมื่อจำเป็นนั้น ดีกว่ามัวแต่พร่ำภาวนาหรือสวดอ้อนวอนหลายเท่านัก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2020, 19:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ ทำบุญแล้วต้องอธิษฐานจึงจะได้บุญมากจริงหรือ

ถาม. การทำบุญนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตร ใส่เงินทำบุญหรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะที่ทำนั้น ใจดิฉันจะอิ่มเอิบในบุญ น้อยครั้งนักที่ดิฉันจะขอพรในขณะที่ทำลังทำบุญ น้องสาวดิฉันเขาอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า ในขณะที่ทำบุญ ถ้าไม่ขอพรหรืออธิษฐานอะไรเลย ผลบุญที่ได้จะน้อยกว่าการอธิษฐาน อาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ

ตอบ. การทำบุญนั้นจะขอพรหรืออธิษฐานหรือไม่ก็ตาม ก็คงได้บุญอยู่นั่นเอง บุญจะให้ผลตามประเภทของบุญนั้นๆ เช่น คนที่หมั่นให้ทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เสมอ บุญจะอำนวยผลให้เป็นคนไม่จน ไม่อดอยาก คนที่หมั่นรักษาศีลจะเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย เป็นต้น เปรียบเหมือนเราปลูกต้นมะม่วงย่อมมีผลมะม่วง ปลูกทุเรียนย่อมได้รับผลทุเรียน เข้าหลักพระพุทธภาษิตที่ว่า ปลูกหรือหว่านพืชชนิดใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

เมื่อเราได้รับผลของพืชตามชนิดที่เราปลูกแล้ว เราอาจแปลงผลนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นได้ด้วยตามที่เราต้องการ โดยการนำผลนั้นๆ ไปขาย ได้เงินมาแล้วเอาไปซื้อที่ดินหรือบ้านหรือรถยนต์ก็ได้ เรียกว่า ปลูกมะม่วงหรือทุเรียนหรือปลูกข้าว แต่ได้รับผลเป็นบ้าน เป็นที่ดิน แต่พูดอย่างนี้ข้ามขั้นตอนไปขั้นตอนหนึ่ง ที่จริงต้องได้ผลมะม่วงหรือทุเรียนก่อน แล้วจึงเอาผลมะม่วงหรือทุเรียนไปขาย ได้เงินมาไปซื้อที่ดินหรือบ้าน

ทำนองเดียวกัน การทำบุญแล้วอธิษฐาน นอกจากจะได้รับผลของบุญตามประเภทที่ทำแล้ว ยังจะได้ผลรวมตามที่เราอธิษฐานอีกด้วย

คนโบราณ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ท่านจะมีคำอธิษฐานอย่างหนึ่งว่า ขอให้สิ้นกิเลส ท่านจะให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาก็ตาม ท่านจะตั้งจิตอธิษฐาน หรือจารึกไว้ที่ถาวรวัตถุซึ่งท่านสร้างนั้นว่า “ขอให้อำนวยผลให้เป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลส” แปลว่า ท่านปรารถนาสมบัติคือนิพพาน

เมื่อท่านตั้งจิตไว้สูงอย่างนั้น มนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติก็เป็นสิ่งที่จะต้องได้อยู่แล้วและได้โดยไม่ยาก เพราะฉะนั้น การทำบุญแล้วอธิษฐาน จึงเป็นการร่วมเอาผลบุญเข้าด้วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนรวมเอากระแสน้ำเล็กๆ หลายๆ สายเข้าด้วยกันให้ไหลไปทางเดียว ย่อมจะไหลแรง หรือเปรียบเหมือนดวงไฟที่มีกระจกรวมแสงให้พุ่งไปจุดเดียว แสงสว่าง ย่อมจะแรงกว่าดวงไฟที่แสงพร่าออกไปทุกทิศ

การทำบุญแล้วอธิษฐานจึงเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อยทีเดียว แต่โปรดอย่าเอาเรื่องนี้ไปปนกับพวกสร้างวิมานในอากาศ คือ เอาแต่อ้อนวอนขอนั่นขอนี่โดยไม่ทำอะไรหรือหวังผลโดยไม่ทำเหตุ

พระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนให้ใครสร้างความหวังล้มๆ แล้งๆ แต่สอนให้สร้างความหวังโดยสร้างเหตุก่อนแล้วจึงค่อยหวังผล ถ้าสร้างเหตุดีแล้วสมบูรณ์แล้ว ผลย่อมมีมาเอง แม้ไม่หวังก็ย่อมได้ผลตามควรแก่เหตุ

ลองคิดดู คนที่ทำความชั่วนั้น ใครบ้างที่หวังผลชั่ว แต่ผลชั่วก็เกิดขึ้นแก่เขาตามสมควรแก่เหตุอยู่เสมอ ในทางดีก็ทำนองเดียวกัน พระพุทธองค์เคยตรัสว่า เปรียบเหมือนแม่ไก่ที่ฟักไข่ดีแล้ว ลูกไก่ก็ต้องเจาะกระเปาะฟองไข่ออกมาจนได้

คนที่อบรมจิตดีแล้ว แม้จะไม่หวังความสิ้นกิเลสก็ต้องสิ้นกิเลสเข้าวันหนึ่งจนได้ รวมความว่า ขอให้เราหวังผลโดยการสร้างเหตุที่ดี

อนึ่ง ถ้าสร้างเหตุที่ดีแล้ว แม้ไม่หวังผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติธรรมดา เหมือนท่านปลูกมะม่วงไว้ แม้จะต้องการเพียงร่มเงาเท่านั้น แต่ธรรมชาติธรรมดาของมะม่วงเป็นต้นไม้มีลูก ท่านย่อมได้รับลูกของมันไปด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2020, 19:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม. ถ้าอธิษฐานให้ถึงนิพพาน คิดว่าเกินเอื้อมกว่าความดีที่เราทำ ทำให้ไม่อยากอธิษฐานไปไกลขนาดนั้น อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ตอบ. ผลขอให้อธิษฐานให้ถึงนิพพานเลย ถึงจะยังไม่ถึงก็ได้อย่างอื่นมาแทน ในเส้นทางแห่งนิพพานมีผลพลอยได้มากมาย อย่างน้อยการระลึกถึงก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดังพุทธวจนะที่ว่า นิพฺพานาภิรโต มจฺโจ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ บุคคลผู้ยินดีในนิพพาน ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” เมื่อใจยินดีในนิพพานแล้ว แม้จะยังไม่ถึง แต่จิตมีเป้าหมายแน่นอน

ถ้าไม่ตั้งจุดไว้ก็ไม่รู้จะไปไหน ทำให้ว้าเหว่เต็มที ฉะนั้น ไปนิพพานดีกว่า ถ้าเราผิดหวังในโลกนี้ เราก็สบายใจ เพราะโลกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง เราเพียงแต่อาศัยอยู่อาศัยเดินทางเท่านั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2020, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ ใส่บาตรแล้วต้องกรวดน้ำด้วยหรือ

ถาม. เมื่อใส่บาตรแล้วต้องกรวดน้ำเสมอหรือเปล่าคะ ถ้าต้องกรวดน้ำ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ อธิษฐานให้ใคร

ตอบ. การกรวดน้ำ โดยความหมายที่แท้จริงแล้วก็คือ การอุทิศส่วนบุญที่เราทำแล้วแก่ผู้อื่น เช่น มารดาบิดา ปู่ย่า ตายาย หรือผู้มีอุปการคุณอื่นๆ หรือใครก็ตามที่เราต้องการอุทิศส่วนบุญให้ เราต้องการอุทิศให้ใครก็นึกถึงชื่อของคนนั้น ขอให้เขาได้รับส่วนแห่งบุญที่เราทำแล้วนี้ด้วย อุทิศให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้

การกรวดน้ำโดยไม่ต้องใช้น้ำเทลงก็ได้ เขาเรียกว่า กรวดแห้ง คือ ใช้วิธีนึกเอาดังกล่าวแล้ว ถ้าเราไม่อุทิศให้ใคร เราก็ได้ของเราคนเดียว

การอุทิศให้ผู้อื่นทำให้เรามีคุณธรรมเพิ่มขึ้นจึงได้บุญมากขึ้นด้วย โดยนัยดังกล่าวมาเมื่อใส่บาตรแล้ว ถ้ากรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้อื่นหรือสัตว์โลกทั้งปวงด้วยได้ก็ดี ไม่กรวดก็ไม่ผิด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2020, 19:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@นิพพานอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์หรือไม่

ถาม. นิพพานอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์หรือไม่ ดิฉันคิดว่า ไม่อยู่ ปัญญาดิฉันยังน้อย หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่าทำไม ขออาศัยความรู้ความสามารถของอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยค่ะ

ตอบ. นิพพานไม่อยู่ในอนิจจัง ทุกขัง แต่อยู่ในอนัตตา
กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า นิพพานไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง แต่เป็นอนัตตา ในความหมายว่าไม่มีตัวตนที่จะยึดมั่นถือมั่นได้
นิพาพานเที่ยงในความหมายว่า ไม่เกิด ไม่ดับ คือ มีอยู่อย่างนั้น บุคคลเป็นผู้รู้แจ้งนิพพาน เข้าถึงนิพพาน
อันที่จริงนิพพาน แปลว่า ดับ แต่หมายถึงดับเพลิงกิเลส และเพลิงทุกข์
นิพพานจึงเป็นสุข (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ = นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า) พระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพานระดับสูงสุดแล้วไม่มีทุกข์ทางใจ มีบ้างก็เฉพาะทุกข์ทางกายอันเป็นธรรมดาของสังขารร่างกายที่มีการเจ็บป่วยทรุดโทรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2020, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ ๑.บริจาคทานโดยระบุ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม จะได้บุญหรือเปล่า ๒. พระธาตุกับอัฐิต่างกันอย่างไร ๓. มดปลวกแมลงสาบขึ้นบ้าน ฆ่าสัตว์เหล่านี้บาปหรือไม่

ดิฉันได้ยึดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างสม่ำเสมอ และได้พยายามเจียดเวลามานั่งสมาธิเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย เห็นจะต้องบอกว่าพยายามจะเอาชนะความขี้เกียจ ดิฉันมีปัญหาใคร่ขอเรียนถาม ดังนี้

1. ในการบริจาคทานเพื่อสังคมสงเคราะห์ผู้ที่ได้รับมหันตภัยต่างๆก็ดี การบริจาคเพื่อการสร้างพระพุทธรูปก็ดี เพื่อการสร้างโบสถ์วิหารก็ดี การจะออกชื่อผู้สร้างทานนั้นๆด้วย หรือไม่ออกชื่อ ส่วนใหญ่จะกำกับไว้ว่า “ผู้ประสงค์ออกนาม” ผลบุญกุศลที่ได้รับแตกต่างกันอย่างไรคะ

2.เท่าที่ดิฉันได้อ่านประวัติของท่าน อาจารย์มั่น ภูริทัตโต มา ทราบว่าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุภายหลังจากที่ได้มีคนนำไปบูชา ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า พระธาตุ ว่าแตกต่างกับอัฐิอย่างไร ในแง่รูปพรรณสัณฐานและอื่นๆ ถ้ามี (ถ้าอาจารย์จะกรุณาเพิ่มเติมด้วยค่ะ)

3. อาจารย์คะ จริงเท็จแค่ไหนคะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) ยังมีพระชนมชีพอยู่นั้น ชาวพุทธไม่ได้บูชาพระด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ คือ หมายถึงธูป เทียน ดอกไม้ รวมไปถึงน้ำมนต์ แล้วถ้าหากว่าเราไม่บูชาพระด้วยเครื่องสักการระนี้ เพียงแต่ยกมือไหว้เพียงอย่างเดียวจะได้หรือไม่ เพราะมีผู้รู้หลายท่านอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เท่าที่ดิฉันอ่านพบ มันขัดแย้งอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
ดิฉันจึงขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยชี้แจงถึงที่มาของการบูชาพระด้วยธูป เทียน ดอกไม้ ให้ดิฉันได้กระจ่างบ้างเถอะค่ะ

4. ในกรณีการแผ่เมตตาที่อาจารย์ได้อธิบายว่าขณะแผ่เมตตานั้นต้องออกชื่อคนที่เราแผ่เมตตาให้ด้วยนั้น บังเอิญทีเดียวว่าดิฉันได้พบกับบุคคลหนึ่งซึ่งเขาประกอบอาชีพสุจริตหาเช้ากินค่ำแต่อายุมากแล้ว ดิฉันนั้นเกิดความสงสารอยากให้เขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ แต่ไม่ทราบชื่อเขา ขณะที่ดิฉันแผ่เมตตาให้เขาดิฉันเพียงนึกเห็นหน้าเขา ผลบุญบารมีเหล่านี้เขาจะได้รับบ้างหรือไม่คะ

5. อาจารย์คะ ศีลข้อ ๑ คือ ห้ามฆ่าสัตว์ แต่ดิฉันยังไม่เข้าใจในศีลข้อนี้ดีพอ เพราะว่าบ้านดิฉันค้าขายย่อมมีสินค้ามากมาย ผลพลอยได้คือจะเป็นที่อยู่อาศัยของมด ปลวก แมลงสาบ แมงมุมมากมาย พร้อมทั้งทำลายสินค้าดิฉันเสียหามาก ถ้าดิฉันฆ่าเขาตาย ย่อมจะผิดศีล ถ้าไม่ฆ่าผลเสียมันมีมากต่อสินค้า (อาชีพ) ของดิฉัน
อาจารย์ช่วยอธิบายเกี่ยวกับศีลข้อนี้ให้ถ่องแท้ด้วยค่ะ และอีกประการหนึ่ง คือ การฆ่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหารเพื่อนำไปถวายพระรวมทั้งรับประทานเอง จะผิดศีลข้อนี้มากน้อยประการใดคะ

(ผู้แสวงหาทางสงบ)

ตอบ. ผู้แสวงหาทางสงบ

1. ผลบุญไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกนามหรือไม่ออกนามผู้ทำ แต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้ คือ

๑. เจตนา หมายถึง ความเต็มใจในการบริจาค ทำด้วยความเลื่อมใส มีเจตนาดีทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้มีจิตเลื่อมใส, กำลังให้มีใจชื่อบาน, ให้แล้วไม่เสียดายไม่เสียใจภายหลัง, มีศรัทธาเต็มเปี่ยม อย่างนี้เรียกว่า เจตนาสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยเจตนา

๒. บุคคลผู้รับทาน เป็นผู้มีศีลมีธรรมหรือเป็นผู้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เช่น คนตกทุกข์ได้ยาก กำลังขาดแคลนต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ผลของทานก็มีผลมากขึ้น เป็นการให้แก่ผู้ฝึกฝนอบรมตนดีแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมากเหมือนหว่านพืชลงในดินดี อย่างนี้ เรียกว่า วัตถุสัมปทา

๓.ปัจจัย คือ สิ่งที่ให้นั้นเป็นของที่เราได้มาโดยชอบธรรม ได้มาโดยสุจริต เปรียบเหมือนเมล็ดพืชดี อย่างนี้ เรียกว่า ปัจจัยสัมปทา

๔.ผู้รับมีคุณพิเศษ เช่น พระอริยบุคคลที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ท่านนิโรธสมาบัติ ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง มิได้ฉันอาหารเลย เมื่อออกมาหิวมาก การทำบุญกับผู้เช่นนั้นในโอกาสเช่นนั้น จึงถือว่าถวายแก่ท่านผู้มีคุณพิเศษในโอกาสพิเศษ อย่างนี้ เรียกว่า คุณาติเรกสัมปทา

องค์ประกอบข้อที่ ๔ นี้ค่อนข้างจะหายากสักหน่อย แต่ถ้าพรั่งพร้อมด้วยองค์ประกอบเพียง ๓ ประการข้างต้นก็คือว่าเป็นบุญที่ให้ผลมากแล้ว ถ้าองค์ประกอบหย่อนหรือบกพร่องไป ผลบุญก็พลอยพร่องหรือน้อยไปด้วย ผู้ทำบุญจึงควรศึกษาเรื่องวิธีทำบุญพอสมควรเพื่อจะได้ทำบุญให้ถูกต้องและมีผลมาก

2. กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก นิยมเรียกว่า พระธาตุ ผมไม่เองไม่เคยเห็นพระธาตุเลย ไม่ว่าของท่านผู้ใดทั้งนั้น และไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อน เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาเล่ากัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นพระธาตุจริงหรือไม่ รู้สึกว่ามีกันเกร่อไปหมด

อย่างไรก็ตาม ทางพระพุทธศาสนา (คัมภีร์ชั้นอรรถกถา และฎีกา) ได้แสดงเจดีย์ไว้ ๔ ประเภท
คำว่า เจดีย์ หมายถึง สิ่ง หรือ สถานที่ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา เป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม เจดีย์ ๔ นั้น คือ

๑.ธาตุเจดีย์ สถานที่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า (รวมถึงพระธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ด้วย)

๒. บริโภคเจดีย์ หมายถึง สถานที่บรรจุสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยทรงใช้ เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นต้น

๓.ธรรมเจดีย์ สถานที่บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลาน หรือ หนังสือที่จารึกพระพุทธพจน์

๔.อุทเทสกเจดีย์ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น

การกราบไหว้บูชาเจดีย์ทั้ง ๔ นี้ ด้านใดด้านหนึ่ง ส่งกระแสจิตระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เป็นพุทธานุสติ ย่อมได้ปีติปราโมทย์ ทำให้จิตชื่นบานเป็นสุข เป็นมงคลข้อหนึ่งที่ว่า บูชาบุคคลหรือสิ่งที่ควรบูชา (ปูชา จ ปูชะนียานํ) และพยายามถ่ายแบบท่านผู้ที่ควรบูชานั้น คือ พยายามดำเนินตามรอยท่านก็จะสำเร็จประโยชน์แก่ชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว

3. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเองไม่ยึดถือว่าจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงประการเดียว คือ จะเคารพสักการะพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ก็ได้
ถ้าไม่มีดอกไม้ ธูป เทียน จะน้อมจิตคารวะด้วยการไหว้กราบหรือแสดงกิริยาอย่างอื่นอันเป็นการเคารพก็ได้ สำคัญอยู่ที่ใจ
การบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน นั้น ทำให้บรรยากาศเป็นศาสนามากขึ้น ก็ดีเหมือนกัน ที่เถียงกันอยู่นั้นเป็นเพียงแต่ในรูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหาสาระที่แท้จริงตามพระพุทธโอวาท
ถ้าเอาตามพระพุทธโอวาทแล้วพึงระลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ก่อนปรินิพพานว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ฐานะของตน ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูกต้อง ผู้นั้นชื่อว่าบูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

บางคนแสดงความเห็นว่า บูชาพระพุทธเจ้าด้วยธูป ๓ ดอก หมายถึง พระคุณทั้ง ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ

บูชาพระธรรมด้วยเทียน ๒ เล่ม อธิบายว่า พระธรรมแบ่งเป็น ๒ คือ พระธรรมและพระวินัย

บูชาพระสงฆ์ด้วยดอกไม้ อธิบายว่า พระสงฆ์เหมือนดอกไม้ที่จัดหรือร้อยให้เป็นระเบียบแล้ว

คำอธิบายอย่างนี้ อาจพอฟังได้แต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ความจริงเราบูชาพระรัตนตรัยพร้อมๆกันไป แม้จะมี ดอกไม้อย่างเดียว ก็บูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้
มีแต่ธูปอย่างเดียวก็เหมือนกัน ไม่ควรแยกบูชาให้สับสนวุ่นวายไปเปล่าๆ

4. การแผ่เมตตานั้น ถ้าจำชื่อเขาไม่ได้หรือไม่รู้จักชื่อจะเพียงแต่นึกถึงหน้าเขาก็ได้แล้วส่งกระแสจิตแผ่เมตตาไปให้ เขาจะได้รับหรือไม่นั้นอยู่ที่สภาพจิตของเขาด้วย เปรียบเหมือนคลื่นวิทยุส่งไปแล้วจากสถานี ใครจะรับได้หรือไม่ก็สุดแล้วแต่เครื่องรับของเขา และการปรับคลื่นให้ตรงกับคลื่นส่งด้วย ถึงอย่างไรคนแผ่เมตตา ก็ยังได้สภาพจิตที่ดีของตน

5. การฆ่าสัตว์ซึ่งพร้อมด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต องค์ ๕ นั้น คือ

1.สัตว์มีชีวิต
2.รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
3.จิตคิดจะฆ่า
๔.พยายามให้การฆ่า
๕.สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

แต่บางทีในการครองชีวิตประจำวันของเรามีปัญหาที่จะต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างในกรณีของผู้ถาม ถ้าไม่ทำเราก็ลำบากมาก ถ้าทำก็ผิดศีล
ตัวอย่างเปรียบเทียบ เมื่อชาวนาปลูกข้าวไว้ หนูยกทัพมากินข้าวเป็นอันมาก ถ้าไม่ปราบหนู ข้าวก็เสียหายหมด ชาวนาอดข้าว ลูกเล็กเด็กแดงพลอยเดือดร้อนกันไปหมด ข้าวเป็นอาหารหลักที่เลี้ยงพลเมืองทั้งประเทศอยู่ ชาวนาควรทำอย่างไร
กรณีที่ปลวกขึ้นบ้าน เจ้าของบ้านควรทำอย่างไร ปล่อยให้ปลวกกินบ้านจนพังแล้วตัวเองไม่มีที่อยู่อย่างนั้นหรือ

อีกกรณีหนึ่ง มีข้าศึกยกกองทัพมาประชิดเมืองจะเอาประเทศไทยเป็นของเขา ทหารไทยควรทำอย่างไร กรณีเหล่านี้ตัวอย่างที่เปรียบเทียบกันได้กับเรื่องของผู้ถาม
ข้อให้พิจารณาพระพุทธพจน์ที่ว่า ให้ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน ผู้ปฏิบัติธรรมไม่เหมาะสมแก่ฐานะของตนย่อมอยู่ไม่ได้ หรือถ้าอยู่ได้ก็อยู่อย่างเดือดร้อน ลำบากยากาเข็ญ
มนุษย์เรามีปัญญามาก บางครั้งต้องพิจาณาเลือกทำสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดเป็นเรื่องๆไป ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จหรือเป็นกฎตายตัว นี่แหละที่ภาษาทางจริยศาสตร์เรียกว่า Prima facie duty ภาษาธรรมะเรียกว่า ธรรมสัจจะ บ้าง การณวิสิกตา บ้าง

หลักอันนี้ ทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างยืดหยุ่นได้ ไม่หละหลวมเกินไป และไม่เครียดหรือซีเรียลเกินไป ดำเนินชีวิตได้ตามทางสายกลาง ลงมือกระทำในสิ่งที่เห็นว่าควรทำโดยไม่ลังเลท้อแท้ มีความสุขอยู่ได้พอสมควรแก่ภาวะและฐานะของตน
จุดมุ่งหมายหลักของพระศาสนาคือการที่ชาวพุทธสามารถนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่พอนับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็เป็นอันตัดหนทางของตนทำอะไรไม่ค่อยได้เสียหมด
ถ้าชาวพุทธพยายามปฏิบัติธรรมให้เหมาะสามแก่ฐานะของตนแล้ว พระพุทธศาสนาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ขอให้ท่านผู้แสวงหาทางสงบได้พบกับความสงบเถิด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2020, 19:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรก (สัตว์ ตามศีลข้อ ๑ พระพุทธองค์หมายถึงมนุษย์ คือ ฆ่ามนุษย์)

สัตว์ผู้ติดข้องใน รูปารมณ์ เป็นต้น” สิ่งที่มีความรู้สึก และเคลื่อนไหวไปได้เอง รวมตลอดทั้งเทพ มาร พรหม มนุษย์ เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ในบาลีเพ่งเอา มนุษย์ ก่อนอย่างอื่น, ไทยมักเพ่งเอาดิรัจฉาน

สมถะ ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต, ธรรมยังจิตให้สงบระงับจิตอุปกิเลสนิวรณ์, การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ

สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานคือสมถะ, กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, งานฝึกจิตให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ


กัมมัฏฐาน ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจ และเจริญปัญญา

สมถภาวนา การเจริญสมถกัมมัฏฐานทำจิตให้แน่วแน่เป็นสมาธิ

สมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นยาน หมายถึงผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน จนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ

วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา

วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือ เห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม, ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น

ภาวนา การทำให้มีให้เป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ, การพัฒนา
การฝึกอบรม หรือการเจริญพัฒนา มี ๒ อย่าง คือ

1. สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตใจให้อยู่กับความดีงามเกิดความสงบ
2. วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งชัดความเป็นจริง

อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกัน คือ

1.จิตตภาวนา ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใสพร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ
2. ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์

ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา, ความดีที่ทำด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบมีคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา (จิตตภาวนา) และฝึกอบรมเจิญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ปัญญาภาวนา)

ภาวนาปธาน เพียรเจริญ, เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่มียังไม่เกิด ให้เกิดให้มีขึ้น

ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ

ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตผล และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป

เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)

ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2020, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

@ ๑.จะข้ามสมถกรรมฐานไปทำวิปัสสนาเลยจะได้หรือไม่ ๒. ทำวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะได้อะไร

กระผมใคร่ขอกรามเรียนถามอาจารย์ ดังต่อไปนี้

ก.วิปัสสนาคืออะไร
ข.วิธีการทำวิปัสสนาทำอย่างไร
ค.ระหว่างสมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐานเป็นบาทฐานของกันหรือไม่ หากจะข้ามสมถกรรมฐานไปทำวิปัสสนาเลยจะได้หรือไม่ และในฆราวาสวิสัยที่ต้องมีภาระหนักอยู่กับการงานอาชีพ และครอบครัวจะทำหรือประยุกต์ทำวิปัสสนาได้เพียงใด
ง. ขอความกรุณาอธิบายวิปัสสนาญาณ ๑๖ ทุกข้อตามสมควร
จ.ผลของการทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างไร

ปุถุชน หมายเลข ๑


คำตอบยาว คคห.ล่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2020, 08:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอบ. คุณปุถุชน หมายเลข ๑

ก. วิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะแห่งชีวิต ไม่ใช่เห็นตามที่ปรากฏ คำว่า เห็นตามที่เป็นจริง นั้นมีความหมายดีมาก
บางทีพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า เห็นด้วยปัญญา แต่ต้องเป็นสัมมาปัญญา หรือ สัมมาทิฐิก็ได้ คนที่ไปยึดมั่นถือมั่นในลาภ ยศ ว่าเป็นของแท้ของจริงนั้น เพราะไม่ได้เห็นด้วยปัญญา เหมือนดูละครแล้วนั่งร้องไห้บ้าง โกรธเคือง บ้าง เพราะหลงใหลไปว่าเป็นเรื่องจริง
ลืมไปว่าเขาแสดงให้เราดูหรือเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น ชีวิตก็ของเราก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงภาพมายาอันไม่หยุดนิ่ง จึงไม่ควรยึดมั่น เพราะยึดมั่นไม่ได้ ไปยึดมั่นเข้าก็เป็นทุกข์และเป็นโทษ
ถ้ามีวิปัสสนาจิตอยู่อย่างนี้เสมอก็จะแก้ปัญหาได้และเปลื้องทุกได้มากทีเดียว

ข. วิธีการทำวิปัสสนา มีหลายวิธี เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน (นอนทำระวังหลับ :b32: ) มีสติระลึกรู้อิริยาบถอยู่ตลอดเวลา เมื่อยืนสติอยู่ที่การยืน เมื่อเดินนั่งหรือนอนสติอยู่ที่อิริยาบถนั้นๆ สติไม่ขาดลอยไปที่อื่น

คุณจะสังเกตว่ามีบ่อยที่เราเดินอยู่แต่สติและจิตไม่ได้อยู่ที่การเดิน แต่ลอยไปที่อื่น ที่เราเรียกว่า “ใจลอย” เมื่อใจลอย ใจก็ออกไปรับทุกข์

เมื่อใจอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังทำ พูด เดิน ยืน เป็นต้น แล้วความทุกข์ใจจะไม่มี ความทุกข์ใจนั้นเกิดขึ้นเพราะไปเหนี่ยวอารมณ์ในอดีตมาคิด บ้าง กังวลถึงอนาคต บ้าง
แต่พอทำวิปัสสนา เอาจิต และสติมาอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ความทุกข์ก็เข้าไม่ได้ นี่แหละ ท่านจึงว่าทำวิปัสสนาแล้วแก้ทุกข์ได้ และได้เห็นทุกข์ไปในตัวด้วย เห็นทุกข์โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เหมือนเราเห็นงูไม่ได้มากัดเราก็ได้ถ้าเราไม่ไปเล่นกับมัน

ค. และ จ. คำถามสองข้อนี้ ที่จริงต้องอธิบายมาก แต่จะพยายามพูดสั้นๆ เพียงพอเข้าใจ

สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นบาทฐานของกันและกันอยู่ทั้งในทางโลกและทางธรรม
คนที่ทำงานอยู่กับโลก ก็จำเป็นต้องอาศัยความสงบ และการเห็นถูกต้องตามเป็นจริง จึงจะทำงานไปได้ด้วยดีและถูกต้องเหมาะสม คือ ต้องอาศัยนความสงบของจิต (สมถะ) และความสงบว่างของจิต (วิปัสสนา) จึงจะสามารถทำหน้าที่การงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
คำอธิบายนี้เป็นการตอบคำถามตอนปลายของหัวข้อนี้ที่ว่า ฆราวาส ที่ทำงานอยู่และมีครอบครัวจะประยุกต์ทำวิปัสสนาได้เพียงใด ฆราวาสนั้นมีสิทธิ์บรรลุธรรมทางพระพุทธศาสนาได้ทุกระดับจนถึงเป็นอรหันต์ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วท่านต้องบวช (อันนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่บวชทุกคนเป็นอรหันต์ไปแล้ว)

กล่าวในธรรม ในส่วนที่เป็นกระบวนการทางจิตโดยตรงเพื่อพัฒนาปัญญาหรือญาณทัสสนะหรืออภิญญา สมถะ (สมาธิ) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ผู้บำเพ็ญธรรมทางสายเจโตวิมุตติ (สมถะ) ย่อมต้องอาศัยสมาธิอันมั่นคงในการพัฒนาจิตไปสู่อภิญญา (ความรู้ยิ่งต่างๆ) มีพุทธภาษิตมากมายซึ่งแสดงในเรื่องนี้

แม้ผู้บำเพ็ญธรรมทางสายปัญญาวิมุตติ คือ เจริญวิปัสสนาเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิโดยตรงแต่สมาธิก็เกิดขึ้น กับ วิปัสสนานั้นได้ พอให้วิปัสสนาปัญญามีกำลังพอที่จะตัดกิเลสได้ สมาธิในรูปที่แฝงอยู่อย่างนี้ท่านเรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ แปลว่า สมาธิในวิปัสสนา อยู่ในระดับระหว่างขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) กับ อุปจารสมาธิ (สมาธิที่จวนจะแน่วแน่)
แม้ขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ก็เป็นวิปัสสนาสมาธิได้ เพราะผู้เจริญวิปัสสนา ย่อมมีสมาธิชนิดนี้เกิดขึ้นได้เสมอ
วิปัสสนานี้แหละ บางทีท่านเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบเพราะอาศัยวิปัสสนาภาวนา
อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบเพราะอาศัยสมถภาวนาหรือเพ่งอารมณ์ของสมถะ
ส่วนลักขณูปนิชฌาน นั้น เพ่งลักษณะ คือ ไตรลักษณ์นั่นเอง

คำว่า ฌาน ใน ๒ คำนี้ มีความหมายไม่เท่ากัน
อารัมมณูปนิชฌาน หมายถึง ฌานตั้งแต่ ๑-๘ หรือ สมาบัติ ๘
ลักขณูปนิชฌาน หมายถึง วิปัสสนา มรรคและผล

ตามที่กล่าวมาโดยย่อนี้ จะเห็นว่า สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน อิงอาศัยกันอยู่มากทีเดียว
จะทำสมถกรรมฐานอย่างเดียวก็ได้ ถ้าต้องการเพียงจิตสงบ และควบคุมกิเลสไว้ได้ (ตัดไม่ได้) เหมือนยาคุมโรคไม่ให้กำเริบ แต่ไม่หายขาด
จะทำวิปัสสนกรรมฐานอย่างเดียวก็ได้ ถ้าต้องการติดกิเลสได้อย่างเดียวโดยไม่ต้องการอภิญญาต่างๆ

ตอนต้นที่สามารถควบคุมกิเลสไว้ด้วยอำนาจฌานนี้แหละ เรียกว่า เจโตวิมุตติ
ส่วนตอนปลายที่สามารถตัดกิเลสได้ด้วยวิปัสสนาท่านเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ พระอริยบุคคลประเภทนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า อุภโตภาควิมุตต์ แปลว่า หลุดพ้นโดยส่วนทั้งสอง
ส่วนผู้ดำเนินตามสายวิปัสสนาอย่างเดียว ท่านเรียกว่า ปัญญาวิมุตต์
จะเห็นได้ว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้นมิใช่เป็นจุดหมายในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือไปสู่จุดมุ่งหมาย คือ ความหลุดพ้น และยังต้องอาศัยปัญญาอีกด้วย

ผลของการบำเพ็ญวิปัสสนานั้นมีมาก ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนต้น (ข้อ ข.) คือ ช่วยให้ทุกข์เข้าไม่ถึง มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข อันไม่มีโทษในปัจจุบัน ทำให้กิเลสเบาบาง และถ้าทำให้มากก็สามารถบรรลุมรรคผลเป็นอริยบุคคลเป็นการพัฒนาชีวิตขึ้นสู่ระดับสูงสุดเท่าที่ชีวิตนี้ควรจะไปให้ถึง

ง. วิปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณ (ความรู้) ในวิปัสสนา หรือ ความรู้พิเศษเฉพาะท่านผู้เจริญวิปัสสนา จัดเป็น ๙ ก็มี เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ จัดเป็น ๑๖ ก็มี ๙ ก็รวมอยู่ใน ๑๖ นั่นเอง มีลำดับ ดังนี้

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่กำหนดรู้นามและรูป ในการเจริญวิปัสสนานั้นต้องกำหนดรู้ว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป
ถ้ายกขันธ์ ๕ มาเป็นตัวอย่าง นาม ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
รูป ก็คือ ร่างกาย

แต่อันที่จริง คำว่า รูป มีความหมายกว้างมาก สิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า สสาร และพลังงาน นั้น ทางพระพุทธศาสนาจัดเข้าเป็นรูปหมด

ในการจงกรม นั้น การเคลื่อนไหวมือ และ เท้าเป็นรูป

ส่วนจิตที่สั่งให้มือเท้าเคลื่อนไหว เป็นนาม

ตาเป็นรูป หูเป็นรูป ภาพที่ปรากฏแก่ตา เสียงที่มากระบท หู ก็ล้วนเป็นรูปทั้งสิ้น
แต่จักษุวิญญาณ ความรู้ทาง ตา และโสตวิญญาณ ความรู้ทางหู เป็นนาม

การกำหนดรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเพียง รูป กับ นาม เท่านั้น หาใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่

สัตว์บุคคลเป็นต้น นั้น เป็นเพียงสิ่งสมมติ หาใช่ปรมัตถสัจจะไม่ ความรู้อย่างนี้แหละ เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ

๒. ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้เหตุปัจจัย คือ รู้ว่าผลทั้งหลาย ย่อมเนื่องมาจากเหตุ
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะเสวยวิมุตติสุขทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ (ในที่นี้หมายถึงผู้รู้) มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งว่า ธรรมทั้งหลาย (คือ สิ่งทั้งหลาย) ย่อมเกิดแต่เหตุ” แต่ทรงอุทานในวาระต่อมาว่า “เมื่อใดๆ ... เพราะมารู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

รวมความว่า เป็นญาณที่กำหนดรู้เหตุผลว่า ผลเกิดเพราะมีเหตุ และผลดับเพราะสิ้นเหตุปัจจัย
รูปกับนามนั้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน
บางที นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่น คนที่ใจเป็นทุกข์สีหน้าก็เศร้าหมอง กิริยาอาการบอกว่าเป็นทุกข์ นอกจากเสแสร้าง นั่นก็เพราะใจแสร้งก่อน
บางที รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล เช่น ร่างกายหิวเพราะเหตุปัจจัย คือ อาหาร ทำให้จิตใจกระวนกระวาย หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน โกรธง่าย เป็นต้น ญาณที่กำหนดรู้เหตุรู้ผล เรียกว่า ปัจจัยปริคคหญาณ

๓.สัมมสนญาณ ญาณกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ คือ พิจารณารูป นาม นั่นเอง โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
โดยปกติธรรมดาเราก็เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว แต่ในวิปัสสนาจะเห็นมากขึ้น ความเจ็บปวดเมื่อยขบของรูปขันธ์จะปรากฏชัดเจนมากสำหรับผู้ทำวิปัสสนา
แต่พอสมาธิดีขึ้น จิตสงบลงความเจ็บปวดต่างๆ ก็หายไป
ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาจะเห็นความไม่เที่ยงของรูปธรรม นามธรรม ความเป็นทุกข์และความเป็นอนัตตาของรูปนามอยู่เสมอ แต่ในขั้นนี้ต้องใช้ความคิดช่วยด้วยพอสมควร

๔.อุทยัพพยญาณ ญาณเห็นความเกิดและความดับของรูปนามชัดเจนขึ้น พอเห็นไตรลักษณ์ชัดเข้าจิตจะดับวูบเป็นคราวๆ ผู้เจริญวิปัสสนาอาจรู้สึกว่า วูบลงไปเหมือนตกจากที่สูง เพราะจิตดับให้เห็นต่อหน้าต่อตา

ที่จริงความเกิดดับของรูปนามนั้น มีอยู่เสมอ แต่ไม่ปรากฏแก่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ปรากฏชัดสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา เหมือนความชื้นหรือไอน้ำมีอยู่เสมอในอากาศ แต่ไม่ปรากฏแก่เรา พอเอาแก้วน้ำแข็งวางไว้ความชื้นหรือไอน้ำก็ปรากฏให้เห็นที่แก้วน้ำแข็ง
การเห็นความเกิดดับของรูปนามนี้มีประโยชน์ กับ จิตใจมาก พระพุทธองค์ตรัสยกย่องผู้เห็นเช่นนี้ไว้ว่า “แม้มีชีวิตอยู่วันเดียวก็ประเสริฐกว่าผู้มีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่ได้เห็นความเกิดดับของรูปนาม

๕. ภังคญาณ ญาณเห็นความดับแห่งรูปนาม เนื่องจากการเกิดดับของรูปนาม นั้น เกิดติดๆกัน
ส่วนที่เกิดเห็นไม่ชัด เห็นแต่ดับอย่างเดียว หรืออาการที่ดับนั้น เป็นที่สนใจมากกว่า
เมื่อเห็นอยู่เช่นนั้น ย่อมละนิมิต ๓ อย่างได้ คือ
อุปปาทนิมิต ความสำคัญหมายว่าเกิด
ฐิตินิมิต ความสำคัญหมายว่าตั้งอยู่ และ
ปวัตตนิมิต ความสำคัญหมายว่าเป็นไป
คงเหลือแต่เห็นความแตกดับอย่างเดียว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมคลายความกำหนัดเสียได้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มัจจุราช (คือความตาย) ย่อมแลไม่เห็น ซึ่งบุคคลผู้พิจารณาโลกเหมือนเห็นฟองน้ำและพยับแดด”

๖. ภยตูปัฏฐานญาณ เห็นสังขารหรือนามรูปปรากฏเป็นของน่ากลัว เห็นสังขารในอดีตดับแล้ว คำนึงถึงสังขารในอนาคตว่า คงต้องดับเหมือนกัน
ท่านเปรียบเหมือนมารดา ซึ่งมีบุตร ๓ คน เป็นกบฏต่อพระราชา เมื่อเห็นบุตรคนที่ ๑ และที่ ๒ ถูกประหารชีวิตแล้ว ก็ทอดอาลัยในบุตรคนที่ ๓ ปลงว่า คงถูกประหารชีวิตเช่นกัน
ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัวเหมือนเห็นหลุมถ่านเพลิงอันลุกโชติช่วง และเห็นหลาวอันแหลมคม

๗. อาทีนวญาณ เห็นโทษของสังขารทั้งปวง ไม่ปรารถนาสังขารทั้งปวง ภพทั้ง ๓ ปรากฏเป็นดุจหลุมถ่านเพลิง สังขารทั้งปวงปรากฏประดุจหัวฝี ลูกศร และโรคร้าย น่าคับแค้น ไม่มีรส เต็มไปด้วยกองแห่งโทษนานาประการ เหมือนป่าชัฎแม้จะมีอาการว่าน่ารื่นรมย์ แต่ก็เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด น้ำเป็นประดุจมีจระเข้ หรือปลิง อาหารประดุจเจือด้วยยาพิษ ที่อยู่อาศัยเหมือนถูกไฟไหม้ จึงไม่ยึดมั่นผู้พันด้วยตัณหาอุปาทาน

๘. นิพพิทาญาณ ญาณที่เกี่ยวกับความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้น ไม่ต้องการภพหรือกำเนิดใดๆ เพราะเห็นว่ามีภพก็มีทุกข์ตามมาด้วย จิตจึงน้อมไปในความสงบมากขึ้น

๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ต้องการความหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง จากสังขารทั้งปวง เหมือนเขียดที่อยู่ในปากงู ไก่อยู่ในกรง เนื้อที่ติดบ่วงหรือคนติดคุก เป็นต้น

๑๐. ปฏิสังขาญาณ คือ การพิจารณาหาทางเพื่อให้พ้นไปจากรูปนามอันน่าเบื่อหน่าย เปรียบเหมือนคนหาปลาจับเอาสัตว์ชนิดหนึ่ง ทีแรกดีใจคิดว่าเป็นปลา แต่พอยกขึ้นไปพิจารณาเห็นเป็นงู จึงตกใจขว้างให้พ้นไป
คนทั้งหลายยินดีพอใจในสังขารเหมือนคนจับปลาพอใจในปลา แต่สังขารเป็นสิ่งที่มีทุกข์โทษมากเหมือนงู ผู้เบื่อหน่ายในสังขารแล้ว จึงต้องการพ้นไปเสีย และพิจารณาหาทางเพื่อความพ้น ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเมื่อมาถึงตอนนี้ ก็จะปฏิบัติอย่างขะมักเขม้นยิ่งขึ้น

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในสังขาร ด้วยเห็นว่า เป็นทางแห่งความหลุดพ้น คือ ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หวงแหน ไม่ยึดถือ เหมือนชายที่หย่าขาดจากภรรยาแล้ว ไม่สนใจต่อเธออีกต่อไป เมื่อถึงญาณนี้ สติปัญญาจะดีขึ้น รู้สึกปลอดโปร่ง จิตใจสงบดี ความรู้สึกต่างๆ ละเอียด สุขุม ลมหายใจจะเบาลงมาก เพราะจิตละเอียดนั่นเอง

๑๒. อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอนุโลมอริยสัจ คือ ความรู้เห็นตามเป็นจริงตามที่ญาณทั้งหลายประการข้างต้น ประมวลมาให้เห็น
เปรียบเหมือนผู้พิพากษาพิจารณาคดีตามข้อมูลที่มีผู้เสนออย่างถูกต้อง ตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูก สามารถตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องตามเหตุผลที่แท้จริง พระราชาผู้ประทับนั่งฟังอยู่ทรงเห็นด้วยทุกประการ อนุโลมญาณเปรียบเหมือนพระราชา ส่วนญาณอื่นๆ ข้างต้นเปรียบเหมือนคณะผู้พิพากษา

๑๓. โคตรภูญาณ แปลว่า ญาณคร่อมโคตร คือ ช่วงเวลาที่จิตกำลังเปลี่ยนสภาพจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยชน ระหว่างนั้น จะเรียกว่าปุถุชนก็ไม่ใช่ อริยชนก็ไม่ใช่ เหมือนช่วงเวลาใกล้รุ่งหรือใกล้ค่ำ เป็นกึ่งกลางระหว่างกลางคืนกับกลางวัน หรือเหมือนคนข้ามแม่น้ำด้วยเรือ เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว เขาก้าวขึ้นสู่ฝัง ขาอีกข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ ขาอีกข้างหนึ่งอยู่บนฝั่งแล้ว
เรียกไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า เขาอยู่ในเรือหรืออยู่บนฝั่ง นี่เป็นกระบวนการวิวัฒนาการสำหรับสิ่งทั่วไปด้วย


๑๔. มรรคญาณ ญาณในมรรค ญาณที่ทำหน้าที่ตัดกิเลส เหมือนยาเข้าไปตัดโรคอย่างเด็ดขาดไม่กำเริบไม่เกิดขึ้นอีก มรรคญาณเกิดขึ้นแล้วจะปิดอบายได้โดยประการทั้งปวง ญาณนี้ไม่ถอยกลับอีก
ผู้มาถึงขั้นนี้แล้วเป็นโสดาบันอย่างแน่นอน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

๑๕. ผลญาณ ญาณเป็นผล คือสืบเนื่องมาจากมรรคญาณนั่นเอง เหมือนความสุขสบายที่เป็นผลของการหายจากโรค ในที่นี้ หมายถึงพ้นจากโรคคือกิเลส กิเลสนั้นไม่กลับกำเริบขึ้นอีก ที่ท่านเรียกว่า อกุปปาวิมุตติ นิพพานก็ปรากฏขึ้นในลำดับนี้ คือ เป็นความสุขสงบที่ยั่งยืนตลอดไป ไม่ต้องทุกข์ทรมานเพราะเรื่องนั้นอีก

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ คือ การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละสำหรับพระอริยบุคคล ๓ ระดับต้น กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
ส่วนพระอรหันต์นั้น ปัจจเวกขณญาณ มีเพียง ๑ คือ พิจารณากิเลสที่ละแล้วอย่างเดียว กิเลสที่ยังไม่ได้ละไม่ต้องพิจารณาเพราะไม่มีแล้ว

เรื่องญาณ ๑๖ นี้ ยังมีรายละเอียดอยู่อีกบ้างแต่เขียนอย่างย่อพอเห็นแนวทางตั้งแต่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากำหนดรูปนามจนถึงมรรคผลนิพพาน และการพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วเป็นที่สุด ไม่ทราบว่าจะซ้ำกับที่คุณปุถุชนหมายเลข ๑ เคยอื่นหรือไม่ ถ้าคุณไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้นจากที่เคยรู้อยู่แล้ว ก็ขอให้คิดเสียว่า ถามเผื่อคนอื่นที่ยังไม่เคยรู้ก็แล้วกัน

(ขอขอบคุณที่ถามมา วศิน อินทสระ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2020, 09:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำความเข้าใจความหมาย สมมติ บัญญัติ ให้ชัด เมื่อเข้าใจชัดแล้วพูดได้โล่งใจ ถ้าไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ชัดพูดแล้วรู้สึกขัดแย้งกับความรู้เราเอง มันตัน เช่น พูดว่า คน มนุษย์ หมู หมา กา ไก่ ฯลฯ


สมมติ (สํ+มติ) การรู้ร่วมกัน, การตกลงกัน, การมีมติร่วมกัน หรือ ยอมรับร่วมกัน.

การที่สงฆ์ประชุมกันตกลงมอบหมาย หรือ แต่งตั้งภิกษุให้ทำกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สมมติภิกษุเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี สมมติภิกษุเป็นภัตตุเทศก์ เป็นต้น ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ตกลงกันว่า ต่างว่า

เพื่อให้เห็นความหมายสมมติชัดเทียบกับสมมติเทพ

สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหรือยอมรับร่วมกันของมนุษย์ ได้แก่ พระราชา พระราชเทวี (ข้อ ๑ ในเทพ ๓)

บัญญัติ การตั้งขึ้น, ข้อที่ตั้งขึ้น, การกำหนดเรียก, การเรียกชื่อ, การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ

บุคคล “ผู้กลืนกินอาหารอันทำอายุให้ครบเต็ม” คนแต่ละคน, คนรายตัว; อัตตา, อาตมัน; ในพระวินัย โดยเฉพาะในสังฆกรรม หมายถึง ภิกษุรูปเดียว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2020, 07:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไตรสิกขา + วิสุทธิ ๗ + วิปัสสนาญาณ ๙ +วิปัสสนูปกิเลส หรือฟุ้งซ่านธรรม ก็ร่วมอยู่ด้วยในโสฬสญาณนั่นด้วย จะลงตอนท้าย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2020, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ



@ ๑. ที่ว่าจิตเป็นดวงนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร ๒. เจริญสติควบคู่ไปกับการทำงานได้หรือไม่

มีปัญหาขอรบกวนเรียนถามอาจารย์ เป็นข้อๆ ดังนี้

๑.ขอความกรุณาช่วยอธิบายคำว่า จิตเป็นดวงๆ เป็นอย่างไร

๒.สันตติ การสืบต่อ หมายความอย่างไร

๓.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งความหลุดพ้น จะต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเจริญสมถภาวนาควบคู่ไปด้วย เคยได้ยินอาจารย์บางท่านบรรยายธรรมบอกว่า ถ้าจะให้ถึงมรรคผลนิพพานเร็วจะต้องเจริญภาวนาทั้ง ๒ อย่าง อยากทราบว่าจริงหรือไม่ และจะต้องแบ่งเวลาอย่างไร จะไม่สับสนหรือที่เจริญวิปัสสนาอยู่จะต้องเปลี่ยนอารมณ์มาเจริญสมถะ
แต่ก็ได้ยินอาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกว่า เจริญวิปัสสนาแล้วไม่จำเป็นต้องเจริญสมถะ เพราะในการเจริญวิปัสสนาก็มีอารมณ์สมถะควบคู่อยู่แล้ว จึงอยากทราบว่า อย่างไหนจึงจะถูก

๔. ผู้ที่เจริญวิปัสสนาทุกวันแต่ไม่ได้ญาณอะไรเลยจะถึงมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ และที่เจริญสมถะจนได้ฌานแล้วจึงมาต่อวิปัสสนาจะถึงมรรคผลนิพพานเร็วใช่ไหม

๕.พระอรหันต์ท่านยังมีความกังวลในงานที่ยังทำไม่เสร็จหรือไม่

๖.เวลาทำงานอยู่ถ้าเจริญสติไปด้วย จะเป็นการยากไหม

๗.เวลาเดินไปตามถนน จะต้องกำหนดอย่างไรจึงจะเป็นปัจจุบันอารมณ์และจะต้องกำหนดว่าอย่างไร เวลาจะพูดต้องกำหนดไหม และกำหนดว่าอย่างไร
ถ้าเดินตามถนนแล้วต้องกำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ รถจะไม่ชนตายหรือ

๘.ผู้ที่ยังต้องไหว้เจ้าหรือไหว้พระภูมิ จะเป็นการเสียพระรัตนตรัยหรือไม่

๙.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งหวังความสิ้นภพสิ้นชาติจะต้องเคลื่อนไหวอิริยาบถหรือจะทำอะไรก็ทำอย่างช้าๆ หรือ แล้วจะไม่เสียงานหรือในเมื่อเรายังต้องทำงานเลี้ยงชีพ และจะไม่ผิดปกติธรรมดาแก่ผู้พบเห็นหรือ (เพราะเห็นเราทำอะไรฝืนๆอิริยาบถ คงจะคิดว่าเราเสียสติ)

๑๐.เวลาฟังธรรมหรืออ่านหนังสือจะต้องเจริญสติว่าอย่างไร

๑๑. ไม่มีเวลาปฏิบัติสมาธิภาวนา อาศัยว่าเห็นอะไรก็นำมาพิจารณาเป็นพระไตรลักษณ์ และว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเราก็ระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ทุกขณะๆ อย่างนี้ จะเรียกว่าเราอยู่กับอารมณ์วิปัสสนาไหม

๑๒.ที่ว่าด้วยความต้องการเป็นทุกข์ อยากทราบว่าเป็นทุกข์อย่างไร

๑๓.ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันจนกว่าจะดับขันธ์อีกหรือไม่

๑๔.ผู้ที่ไม่ได้ออกบวชแต่ปฏิบัติขัดเกลากิเลสอยู่กับบ้านจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบวช

๑๕.คุณธรรมของพรอรหันต์มีอะไรบ้าง

๑๖.การให้ทานจะต้องคิดว่าให้เพื่ออะไรจึงจะได้อานิสงส์แรง

๑๗.เวลาให้ทานไม่ได้กรวดน้ำด้วยน้ำจริงๆ แต่กรวดน้ำในใจโดยเอ่ยชื่อ-สกุล อย่างนี้จะถึงผู้รับไหม และถ้าเราอุทิศบุญให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เขาจะได้รับไหม

“ผู้อยากหลุดพ้น”


คำตอบหน้าข้างล่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2020, 17:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอบ. ผู้อยากหลุดพ้น

๑.จิตเป็นดวงนั้นเป็นเพียงสมมติเรียก เพราะไม่ทราบว่าจะเรียกเป็นอย่างไรดี ทำนองเดียวกับที่เราเรียกโต๊ะเป็นตัว เรียกช้างเป็นเชือก เป็นต้น เช่น โลภจิตดวงหนึ่ง โทสจิตดวงหนึ่ง โมหจิตดวงหนึ่ง เป็นต้น
จะเรียกเป็นอย่างอื่นไม่เรียกเป็นดวงก็ได้ แต่เป็นคำสมมติเรียกจนเป็นที่รู้จักกันเสียแล้ว โดยเฉพาะในวงการอภิธรรม
จะเรียกตามลักษณะก็ไม่ได้ เพราะจิตไม่ได้เป็นดวง แต่เป็นกระแส ความรู้สึกเกิดดับติดต่อกันเป็นกระแส เหมือนกระแสไฟฟ้าหรือเปลวเทียนเปลวตะเกียงที่ยังมีเชื้ออยู่และเกิดดับรวดเร็วมาก
กล่าวกันว่า กระแสไฟฟ้าเกิดดับวินาทีละ ๕๐-๖๐ ครั้ง แต่จิตเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก แต่อาศัยสันตติ คือ ความสืบต่อหรือความต่อเนื่อง จึงไม่ขาดสายลงได้ เหมือนเครื่องฉายภาพยนตร์ ที่ฉายภาพติดต่อกัน ให้เลื่อนไปวินาทีละประมาณ ๑๖ ภาพ เราก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราว ที่จริงในฟิล์มเป็นภาพนิ่งทั้งนั้น

เป็นอันตอบข้อ ๒ ไปด้วยในตัวแล้ว

๓. การเจริญสมถควบคู่ไปกับวิปัสสนาก็ได้ คือ บางเวลาเจริญสมถะ บางเวลาเจริญวิปัสสนาแม้ในวันเดียวกัน แต่อย่าเปลี่ยนอารมณ์บ่อยนัก
ส่วนที่อาจารย์อีกท่านหนึ่งบอว่าเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็พอเพราะมีสมถะควรคู่อยู่ด้วยแล้วนั้นก็ถูกเหมือนกัน คือขณะทำวิปัสสนานั้น จิตย่อมสงบไปด้วยเห็นแจ้งไปด้วย คือ ทั้งสงบและสว่างไปพร้อมๆกัน แต่สว่างมากกว่าสงบ ท่านเรียกสมาธิซึ่งแฝงอยู่ในวิปัสสนานี้ว่า วิปัสสนาสมาธิ
ถ้าเจริญสมถะอย่างเดียวย่อมได้ความสงบมาก แล้วอาศัยความสงบนั้นเป็นพื้นฐานยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาย่อมละกิเลสได้เช่นกัน
ในการตัดกิเลสต้องใช้วิปัสสนาหรือปัญญา ในการควบคุมกิเลสต้องใช้สมถะหรือสมาธิ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ต้องไปด้วยกันอย่างนี้ จึงจะชำระตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นได้

๔. คำว่า ญาณ ที่ผู้ถามถึงนั้น หมายถึงญาณอะไร ญาณ ในวิปัสสนาหรือวิปัสสนาญาณ ๙ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ผู้จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จะต้องผ่านญาณเหล่านี้ บางคนญาณเกิดขึ้นเร็ว ติดต่อกัน บางคนก็เกิดขึ้นช้า ค่อยๆก้าวไปทีละญาณ
แต่ถ้าหมายถึงญาณซึ่งเป็นกลุ่มของอภิญญา เช่น บุพเพนิวาสานุสติญาณ เจโตปริยญาณ เป็นต้นแล้ว ต้องเดินตามสายสมถะหรือสมาธิจนได้ฌาน ๔ (ฌาน มิใช่ญาณ) แล้วจึงเลี้ยวเข้าทำญาณต่างๆ อันเป็นอภิญญาต่อไปจนถึงอาสวักขยญาณ ญาณอันทำให้สิ้นกิเลสเป็นญาณสุดท้ายของอภิญญา ๖ ทางสายนี้ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป ทางสายวิปัสสนาทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และเหมาะกว่าสำหรับฆราวาสผู้ยังอยู่ในสังคม

๕.จริงๆแล้วผมไม่รู้คำตอบข้อนี้ ไม่แน่ใจว่าท่านมีหรือไม่ แต่ความกังวลอันมีกิเลสเป็นมูลฐานนั้น ท่านพระอรหันต์ไม่มีแน่ คำว่า ไม่มีกังวล (อกิญจโน) เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ แต่น่าจะหมายถึงความกังวลเพราะกิเลสอันทำให้วิตกกังวล และฟุ้งซ่านไปอย่างปุถุชนหรือพระอริยบุคคลระดับต้น เช่น พระโสดาบัน ถ้าให้สันนิษฐานเข้าใจว่าคงไม่มีความกังวลแม้ในเรื่องการงานที่ยังทำไม่เสร็จ

๖.ทำยาก แต่สติเป็นสิ่งต้องมีในกิจทั้งการทั้งปวง (สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา) จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น

(กรัชกายตอบเสริมคำถามข้อ ๖. เวลาทำงานอะไรๆใจไม่ลอยคุมสติให้อยู่กับสิ่งที่เราทำขณะนั้น นี่ก็เท่ากับทำงานไปด้วยเจริญสติไปด้วยแล้ว
แต่ไม่ยังงั้นน่าซี่ ส่วนมากคนเรามือทำงานจับนั่นหยิบนี่ไปด้วย ใจก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปด้วยคิดถึงคนนั้นคนนี้ไปด้วย, อ่านหนังสือไปด้วย ปล่อยใจลอยฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่นๆไปด้วย กำลังของสติจึงอ่อน
บางทีงานยุ่งงานมาก ทำนั่นนี่ไป ว๊ายจำไม่ได้ว่าเอาปากกาไปไว้ตรงไหน เอาแว่นตาไปวางตรงไหน หลงๆลืมๆ (ดู ความหมายสติสัมปชัญญะข้างล่าง)


๗. กำหนดก็ได้ แต่ต้องมีสติกำหนดหนทางและรถด้วย จึงจะปลอดภัย อนึ่ง สัมปชัญญะนั้นท่านสอนให้รู้ตัวอยู่เสมอ แม้เวลาเหลียวซ้ายเหลียวขวาด้วย เวลาพูดก็มีสติระลึกรู้และรอบคอบ คิดเสียก่อนพูด ไม่ใช่พูดก่อนคิด (ซึ่งโดยธรรมดาเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คนทุกคนต้องคิดก่อนพูดเสมอ ข้อแตกต่างอยู่ที่คิดรอบคอบหรือไม่เท่านั้น)

(กรัชกายตอบเสริมคำถาม ข้อ ๗. ขวา ย่าง หนอ ซ้าย ย่าง หนอ เอาไว้ฝึกหัดพัฒนาจิตที่บ้านเราทำคนเดียวเงียบๆ อย่าไปเดินทำตามถนนหนทางเป็นอันขาด รถจะชนตายอย่างว่า ต่อให้ถนนว่างไม่มีรถก็ไม่ควรทำ เดี๋ยวคนเขาเห็นจะคิดว่าไอ้หมอนี่มันบ้า ไม่รู้จักกาลเทศะ ข้ามถนนไฟแดงข้ามตรงทางม้าลายให้รีบๆเดินข้าม วิ่งก็ได้ แต่ขณะเดินขณะวิ่ง เรารู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังวิ่งอยู่ วิ่งทำไม วิ่งข้ามถนน แล้วจะเดินไปไหนใจอยู่กับเนื้อกับตัว เดินก็ระวังจะตกท่อ ไม่เดินใจลอยจะชนคนเข้า)

๘.ไม่เสีย เพราะยังเลื่อมใสพระรัตนตรัย ไหว้พระภูมิ จัดเข้าในการบูชาเทวดา เป็นเทวตานุสติ ในอนุสติ ๑๐ ข้อ สำคัญอยู่ที่ว่า รู้ได้อย่างไรว่าที่ศาลพระภูมิมีเทวดาหรือไม่

๙.เคลื่อนไหวอิริยาบถอย่างธรรมดาก็ได้ แต่ที่เคลื่อนไหวช้าๆ อย่างที่บางแห่งสอนนั้นก็สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆ เพื่อให้สติสัมปชัญญะตามทันอิริยาบถ

๑๐. เอาสติไว้ที่หนังสือ และการฟัง

๑๑. อยู่ ถูกต้องแล้ว

๑๒. ทุกครั้งที่เกิดความต้องการ ย่อมก่อในเกิดความกระวนกระวายตลอดเวลาที่ยังสนองความต้องการไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ สุภาษิตทางจริยศาสตร์ก็มีทำนองนี้เหมือนกัน ท่านกล่าวว่า “A feeling of wants is always painful.” ความรู้สึกต้องการเป็นทุกเสมอ โดยเฉพาะความต้องการซึ่งมีกิเลสเป็นแรงจูงใจหรือเป็นเครื่องเร้า

(แรงจูงใจคนมีสองอย่าง คือ ตัณหาฉันทะ ๑ ธรรมฉันทะ ๑)

๑๓.ไม่ต้อง เพราะท่านทำให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว แต่จะเรียกว่าท่านอยู่ด้วยสติย่อมได้ เหมือนเราอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งโตเต็มที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพื่อความเจริญเติบโตของต้นไม้อีก แต่อาศัยต้นไม้นั้นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

๑๔.ได้ การออกบวชเหมาะสมสำหรับผู้ต้องการเดินทางลัดรีบไปให้ถึงเร็วๆ แต่ถ้าบวชแล้วมัวโอ้เอ้อยู่ก็ไปไม่ถึงไหนเหมือนกัน

๑๕. ละโลภ โกรธ หลงได้เด็ดขาด มีศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์

๑๖.ให้เพื่อสละกิเลส

๑๗.ใช้ได้ อุทิศบุญแก่ผู้มีชีวิตอยู่ก็ได้เหมือนกัน

(วศิน อินทสระ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2020, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตามแบบในนวโกวาท ธรรมวิภาคพูดไว้สั้นๆ ว่า

ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือ

๑. สติ ความระลึกได้

๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

องฺ.ทุก.20/119 ที.ปาฎิ.11/290

สติ กับ สัมปชัญญะ มาคู่กัน

สติ ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือ กุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำ, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้

สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้ มักมาคู่กับสติ

สัมปชัญญะ ๔ ได้แก่

๑. สาตถกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักว่าตรงตามจุดหมาย)

๒.สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ หรือ ตระหนักว่าเกื้อกูลเหมาะกัน)

๓.โคจรสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นโคจร หรือตระหนักในแดนงานของตน)

๔. อสัมโมหปชัญญะ (รู้ชัดว่าไม่หลง หรือตระหนักในตัวสภาวะ ไม่หลงใหล ไม่สับสนฟั่นเฟือน)


กำหนด (-หฺนด) ก. หมายไว้, ตราไว้. น. การหมายไว้, การตราไว้ ฯลฯ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิต ฯ หน้า 97

กำหนดอารมณ์ที่มากระทบก็เพื่อให้สติสัมปชัญญะมันทันอารมณ์ทุกๆขณะ ไม่หลงไม่ลืม นี่คือการฝึกหัดพัฒนาจิตใจ ซึ่งที่พูดกันว่า กำหนดทันปัจจุบันอารมณ์ ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันขณะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2020, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เข้าเรื่องต่อ คิกๆๆ

@ มีวิธีทำให้จิตว่างได้อย่างไร

มีวิธีทำให้จิตว่างได้อย่างไรคะ

หนูฝ้าย



ตอบ. หนูฝ้าย

ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง “จิตว่าง” เสียก่อน คำนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุนำมาใช้ก่อนคนอื่นในเมืองไทย
ความหมายของท่าน คือ ว่างจากตัณหา อุปาทาน หรือ ว่างจากความอยาก (ตัณหา - ตัณหาฉันทะ) และจากความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) เมื่อจิตว่างจากตัณหา อุปาทานก็เป็นจิตบริสุทธิ์ สะอาด ผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง อย่างน้อยก็ในขณะที่ว่างนั้น ในพระบาลีมีกล่าวเสมอว่า “จิตหลุดพ้นเพราะความไม่ถือมั่น”

เข้าใจว่าท่านผู้ถามคงจะทราบความหมายเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่ถามว่า จิตว่างคืออะไร เป็นอย่างไร แต่ถามถึงวิธีทำให้จิตว่างเลยทีเดียว

วิธีทำให้จิตว่างโดยรวบยอดก็คือ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆไว้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เพราะจริงๆแล้วสิ่งทั้งหลายมิใช่เรา และมิใช่ของเรา มันเป็นเพียงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยส่งต่อเนื่องกันที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท บ้าง ปัจจยาการ บ้าง อิทัปปัจจยตา บ้าง เห็นอย่างนี้ รู้อย่างนี้ เรียกว่า รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่เห็นตามที่มันปรากฏ ซึ่งเป็นมายา

วิธีที่จะไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นก็คือ

๑. พิจารณาให้เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เราเข้าไปยึดถือแล้วจะไม่ก่อให้เกิดโทษนั้นไม่มีในโลก (นตฺเถตํ โลกสฺมึ ยํ อุปาทิยมานํ อนวชฺชํ อสฺส) ที่ทุกข์ๆกันอยู่นั้น ลองพิจารณาดู สอบสวนดูเถิด มันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ที่หยาบๆมองเห็นได้ชัด เช่น ยึดถือทรัพย์สินสมบัติ คู่รักคู่ครอง บุตร ภรรยา สามี เป็นต้น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วทุกข์หรือไม่เล่า ถามตัวเองก็ได้ โดยสมมติบัญญัติแล้วจริง มันเป็นของเรา เรายึดเขาว่าเป็นของเรา เขาก็ยึดเราว่าเป็นของเขา ยึดกันไปยึดกันมา ก็เลยนุงนังไปหมด พลอยทุกข์กับเขาไปด้วยมากมาย ขอบเขตแห่งความยึดถือขยายออกไปเท่าใด ทุกข์ก็ขยายขอบเขตออกไปเท่านั้น เรียกว่าทุกข์เพราะยึด ถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์
ตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง เช่น เขาด่าเรา - เรายึดว่าเขาด่าเรา เราก็ทุกข์ ถ้าไม่ยึดว่าเขาด่าเรา - เราก็ไม่ทุกข์ คนด่าจะทุกข์เสียเอง เหมือนเอาไข่ไปทุบกับหิน ไข่แตก หินคงเป็นหินอยู่เหมือนเดิม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำตนเป็นเหมือนภูเขา คือ ภูเขาไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ฉันใด บัณฑิต ย่อมไม่หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น

๒.เมื่อพิจารณาให้เห็นโทษของความยึดถือแล้ว ต่อไปก็หัดปล่อยวางทีละอย่าง สองอย่าง ทีละเล็ก ทีละน้อย ปล่อยวางได้เพราะเห็นด้วยปัญญาว่า สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป สมบัติที่เราอยากได้กันนักหนาก็มาคู่กับวิบัติ สรรเสริญมาคู่กับนินทา เห็นสมบัติวิบัติเป็นของคู่กันอย่างนี้ก็พอปล่อยวางได้

สมบัติกับวิบัติ นินทากับสรรเสริญ การยกย่องคู่กับการดูหมิ่น มันตรงกันข้ามก็จริง แต่มันจะให้โทษให้ทุกข์แก่ผู้ยึดถือเสมอกัน เช่น ก้อนไฟกับก้อนน้ำแข็ง เมื่อใครไปจับเข้า มันให้ความทุกข์แก่มือทั้งสองอย่าง พิจารณาเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ย่อมปล่อยวางได้ เหมือนเราอยากจะปล่อยวางก้อนไฟและก้อนน้ำแข็งเสีย

ความยึดถืออย่างละเอียด เช่น ยึดถือขันธ์ ๕ (อุปาทานขันธ์) ว่าเป็นตัวตนของตนนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในฐานะเป็นความทุกข์โดยรวบยอด ทุกข์เพราะมีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นก้อนทุกข์ โดยสภาวะของมันเอง เอาเพียงรูปกายของเราอย่างเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย มันก่อให้เกิดความทุกข์ความวุ่นวายปานใดก็เห็นๆกันอยู่ เมื่อมันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์อย่างนี้แล้ว ถ้าปล่อยวางเสียได้ก็ไม่ต้องทุกข์
พระพุทธองค์ตรัสว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนัก การปล่อยวางภาระอันนั้นเสียได้เป็นความสุข ความยินดีพอใจใน ขันธ์ ๕ ชื่อว่า ยินดีในทุกข์
ฯลฯ
ปฏิบัติตาม ๒ ข้อดังกล่าวมาคงพอทำให้จิตว่างจากความยึดถือได้บ้างกระมัง ถ้ามันว่างแล้วก็พยายามทำเรื่อยๆไป ถ้าหยุดเสียก็จะไม่ว่างอีก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 43 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร