วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 03:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2020, 10:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำตอบนั่นเป็นส่วนหนึ่ง ดู ลิงค์นี้ประกอบด้วย

ความยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=56022

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2020, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ อภิธรรม ๗ มีความหมายอย่างไร

ผมอยากรู้ธรรมเป็นอย่างมากพอกับผมรักชอบเรียกกฎหมาย ผมจบนิติศาสตร์ ผมศึกษาธรรมและพระอภิธรรม โดยเฉพาะอภิธรรมที่แบ่งกายเป็น ๒๘ กับอภิธรรม ๗ มีความอย่างไร และพระอภิธัมมัตถสังคหะทั้ง ๙ ปริจเฉทมีอะไรบ้าง จะหาหนังสือธรรมและอภิธรรมได้ที่ไหน ฯลฯ

สุวิทย์ ชัยภูมิ


ตอบ. คุณสุวิทย์ ชัยภูมิ

๑.ที่พระอภิธรรมแบ่งกายเป็น ๒๘ นั้น น่าจะหมายถึงรูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป รูปใหญ่หรือรูปหลัก ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และ อุปาทายรูป อีก ๒๔ รวมเป็น ๒๘
อุปาทายรูป หมายถึง รูปที่อาศัยมหาภูตรูปอยู่ เช่น สี กลิ่น รส เป็นต้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปเหมือนกัน ท่านเรียกว่า ปสาทรูป ขอให้คุณสุวิทย์ทราบไว้เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอไปพลางๆก่อน ขืนอธิบายมหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ ก็ต้องพูดกันนานหลายหน้า

อภิธรรม ๗ เป็นชื่อคัมภีร์อภิธรรม ที่ท่านย่อว่า “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ” สัง = สังคณี วิ = วิภังค์ ธา = ธาตุกถา ปุ = ปุคคลบัญญัติ กะ = กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบหลายร้อยข้อ ยะ = ยมก และ ปะ = ปัฏฐาน รายละเอียดมีตั้ง ๑๒ เล่มพระไตรปิฎก จาระไนกันไม่ไหวครับ

๒. อภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉทหรือ ๙ บทนั้น มีดังนี้

ฯลฯ

เขาตอบจนจบ แต่ตรงนี้เอาแค่นี้พอ (เท่านั้นสำหรับผู้ไม่เรียนก็ปวดหัวแล้ว) ข้ามไปเอาท่อนสุดท้ายเลย (นึกถึงคุณโรสและแฟนคลับ)


ขออวยพรให้คุณสุวิทย์ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์และขอร้องให้อ่านธรรมพื้นฐานอันจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั้งต่อตนเองและสังคมให้มากก่อน
ในกรณีนี้ ขอแนะนำให้อ่านหนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ถ้าหาซื้อยากกรุณาไปขอยืมพระเณรที่เรียนนักธรรมชั้นตรีอ่านบ้างก็ได้ รับรองว่าได้ประโยชน์แน่ ขนาดท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี (ขณะนั้น) ยังเอ่ยปากเล่าว่า ได้อาศัยหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือดำเนินชีวิตตลอดมา (และได้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างดีด้วย)

ชาวพุทธส่วนมากที่ไม่สนใจศาสนาก็ไม่สนใจเสียเลย พอจับสนใจเข้าก็สนใจเสียสูงเกินไป มักจะเอียงตกขอบไปข้างใดข้างหนึ่ง ที่สนใจธรรมะเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีน้อย

ขอให้ชาวพุทธเราช่วยกันเพิ่มเติมส่วนที่ยังพร่องอยู่นี้ให้มาก ศาสนาพุทธก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง

วศิน อิทสระ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 13 ก.ค. 2020, 16:11, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2020, 12:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เข้าเรื่องต่อ



@ ๑. ทำอย่างไรจึงจะถึงพระนิพพานในชาตินี้ ๒. เกิดความเบื่อหน่ายขณะครองเพศฆราวาส เลยวางตัวไม่ถูก จะทำอย่างไรดี

ดิฉันเป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจในศาสนาและหลักธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่สนใจ จนพบความทุกข์อย่างมหันต์ ทุกข์ทั้งในหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว
ความทุกข์เกาะกินมากมายจนถึงเกือบจะหนีด้วยการฆาตกรรมตัวเองด้วยความโง่เขลา แต่แล้วปัญญาธรรมก็เกิด ซึ่งในขณะนั้น (มาทราบภายหลังหลังจากปฏิบัติธรรมแล้ว) ว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตมีตัวตนอยู่ เราก็จักพ้นบ่วงทุกข์เหล่านี้ไปไม่ได้ ทุกข์ที่นี่ดับ ต้องมีทุกข์อื่นตามมาอีก ดับๆ เกิดๆ เป็นอยู่เช่นนั้น เพราะตัวตนยังมีอยู่หนีไม่พ้นแน่ วูบที่มีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น เกิดเบื่อหน่ายในตัวตน เบื่อหน่ายในทุกสิ่งรอบตัวตามทันที คิดอยากหาทางพ้นไปเสียจากตัวตนอันนี้ จึงหันมาสนใจเรียนปริยัติธรรมอยู่ ๒ ปี คิดว่าการเรียนธรรมะจะพ้นทุกข์ แต่แล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงหันมาใช้วิธีปฏิบัติ
เริ่มมาได้ปีกว่าๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ หยุดความกระวนกระวายใจทั้งหลายได้ และตัดความโกรธอย่างเฉียบพลันได้ คือ ตัดอายตนะภายนอกที่จะกระทบอายตนะภายในอันปรุงแต่งให้จิตมี โลภะ โทสะ โมหะเสียได้

ปัจจุบันเบื่อชีวิตฆราวาส เบื่อการคลุกคลีกับหมู่คณะ ที่ใดจัดบวชเนกขัมมะจะไปทุกที่ และเมื่อโรงเรียนปิดเทอมจะไปปฏิบัติตามสำนักที่เลือกเฟ้นทั้งคณาจารย์และแนวการสอนว่าถูกต้องแล้ว เพื่อหลีกเร้นไปหาที่สัปปายะทั้งบุคคลและสถานที่
อารมณ์ปัจจุบันนึกโน้มไปทางธรรมมากกว่าทางโลกเสียแล้ว แต่เหตุที่จะละไปไม่ได้ เพราะต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ซึ่งท่านชราแล้วทั้งคู่
ดิฉันมีอาชีพเป็นครู เลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่อยู่ ปรนนิบัติท่านทั้งสองอยู่เพราะเป็นลูกคนสุดท้อง และยังไม่มีครอบครัว และได้นำธรรมะที่ง่ายๆ พื้นๆคุยเล่าให้แม่ฟัง ทำให้ท่านคลายความยึดถือและละวางได้บ้างบางครั้ง ซึ่งแต่เดิมท่านเพียงแต่ศรัทธาทำบุญเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการปฏิบัติธรรม
ส่วนดิฉันได้แจ้งประจักษ์ในธรรมอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทุกประการ และจะไม่ขอพึ่งที่พึ่งอื่นใดนอกจากพระรัตนตรัย นี่คือที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งทางโลกเป็นสมมติทั้งสิ้น ขอกราบเรียนถาม ดังต่อไปนี้

๑.ทำตนอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร จึงจะใกล้พระนิพพาน และถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้

๒.เกิดความเบื่อหน่าย เห็นการแตกดับในทุกสิ่งที่จับต้องแล้ว เบื่อหน่ายละวาง สลดใจอยู่ ดวงจิตนี้เป็นอย่างไร เพราะรู้ว่าในทางโลกที่ต้องดำรงชีวิตอยู่แบบฆราวาสวิสัยกับแบบทางธรรมที่เห็นอยู่ คิดอยู่นี้ เป็นสิ่งสวนทางกันจึงเริ่มวางตัวไม่ถูก
ในเมื่อยังมีอาชีพอยู่แต่ก็ยังละไปไม่ได้ (ในทางด้านร่างกาย) แต่จิตใจละได้มากแล้ว อยากให้อาจารย์อธิบายให้กระจ่างชัดกว่านี้

ขอความกรุณาอาจารย์ได้โปรดตอบให้กระจ่างชัดเพื่อเป็นธรรมทาน เพราะรู้สึกว่าเวลาไปหาพระเพื่อซักถามข้อปฏิบัติทางจิต ท่านตอบไม่กระจ่างชัด ทั้งๆที่ท่านก็เป็นพระปฏิบัติเหมือนกัน อาจารย์จะกรุณาตอบเป็นส่วนตัว หรือ ทางหนังสือก็ได้ค่ะ

ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม


ตอบ. คุณผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

ขอแสดงความยินดีต่อการเดินทางสายใหม่ของคุณและเป็นทางที่ถูกต้องจนสามารถเอาชนะทุกข์ได้ การศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นอุปกรณ์อันสำคัญในการนำชีวิตไปสู่ความสุขและความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อย่างที่คุณได้รับอยู่

การปฏิบัติมารดาบิดาเป็นหน้าที่อันสำคัญประการหนึ่งของลูก ขอให้คุณทำต่อไปจนกว่าท่านจะสิ้นชีพ เพราะการปฏิบัติมารดาบิดาด้วยน้ำใจอันงามนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งของชีวิตเหมือนได้อยู่ใกล้พระอรหันต์และได้ปรนนิบัติพระอรหันต์เป็นลาภอันประเสริฐของคุณแล้ว แม้ว่าจะสละเหย้าเรือนไปบวชไม่ได้เพราะติดอยู่กับเรื่องนี้ ก็ขอให้ให้คิดว่าได้ทำสิ่งที่ประเสริฐยิ่งในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
นอกจากนี้คุณยังเข้าใจชักจูงท่านให้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา โดยนำธรรมะง่ายๆ มาสนทนาให้ท่านฟัง ถือว่าเป็นการตอบแทนท่านอย่างยอดเยี่ยมอีกประการหนึ่ง
ผมขออนุโมทนาจริงๆ สอดคล้องกับพระพุทธดำรัสที่ว่า การทำมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธา ไม่มีศีลให้มีศีล ไม่มีจาคะและปัญญาให้มีจาคะและปัญญานั้นเป็นการตอบแทนท่านอย่างยิ่งและอย่างถูกต้องด้วย

การที่คุณปลงใจยึดเอาธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่เอาอย่างอื่นเป็นที่พึ่งนั้นก็เป็นความถูกต้องอีก เพราะพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของเราก็ทรงสอนเช่นนั้น ทรงสอนให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่ง หรือพึ่งตนเองโดยมีธรรมเป็นหลักนั่นเอง

คุณถามว่า

๑. จะทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร จึงจะใกล้พระนิพพาน และถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้ ตอบว่า ขอให้ดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ พระองค์เอง และพระอรหันตสาวกทั้งหลายปฏิบัติได้ผลมาแล้ว พยายามพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาในสิ่งทั้งปวง

๒. ความเบื่อหน่าย ต่อวิถีของโลกที่คุณมีอยู่นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในธรรมอย่างสม่ำเสมอ นิพพิทาญาณ (ความรู้สึกเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง) ย่อมเกิดขึ้น และต้องการจะพ้นไป แต่จะเป็นอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้น ย่อมเห็นสิ่งต่างๆเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง ทำให้อยู่กับสภาพที่เป็นที่เป็นทุกข์ได้โดยไม่ต้องทุกข์ คือ กายยังไม่ออกแต่จิตออกแล้ว ขอให้รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้
คุณจะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเป็นอันมากและอยู่เป็นสุขด้วย
ในระยะนี้ ขอให้เพิ่มพูนความกรุณาให้มากๆ เพื่อแก้ความรำคาญของจิต คือ จิตจะเกิดรำคาญอะไรที่เป็นโลกๆ ไปเสียหมด อีกหน่อยจะหายไปเอง เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตมแต่ไม่ติดตม ใบบัวอยู่กับน้ำแต่ไม่ติดน้ำ ผู้คุมอยู่ในคุกแต่ไม่ติดคุก

ขอความเจริญในธรรมพึงมีแก่คุณตลอดไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2020, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


@ อยากทราบความหมายของกามสุขัลลิกานุโยค

อาตมามีความสงสัยในบทของปฐมเทศนาที่ว่าด้วย “กามสุขัลลิกานุโยค” มีคำแปลและมีความหมายว่าอย่างไร เพราะในบทหลายแห่งบ่งว่า “กามให้ผลเป็นทุกข์” เหตุนี้ จึงมีจดหมายมาเพื่อให้อาจารย์ช่วยไขข้อความนี้ให้ด้วย
พระ อภิชาโต

ตอบ. พระอภิชาโต

กามสุขัลลิกานุโยค แปลตามตัวว่า การประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข (กามสุข+อัลลิกะ+อนุโยค)

กามสุข แปลว่า ความสุขในกาม

กามคือสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสด้วยกาย) เรียกว่า วัตถุกาม อย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า กิเลสกาม หมายเอาตัวความใคร่ ความพอใจ ความหมกมุ่น ติดพันในวัตถุกามนั้น ดังเทวดาภาษิตในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๐๓) ว่า “สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม” แปลว่า “ความกำหนัดเพราะความดำริ นั่นเอง คือ กามของคน (หาใช่สิ่งสวยงามทั้งหลายไม่)” พระพุทธเจ้าทรงรับรองเทวดาภาษิตนี้ว่าถูกต้อง
พระองค์เองทรงทักกามว่า เกิดจากความดำริเหมือนกัน ดังพระพุทธพจน์ว่า

“ดูก่อนเจ้ากาม เราได้เห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจาก ความดำริ นี่เอง เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก เมื่อเป็นดังนี้ เจ้าจะมีอีกไม่ได้” (กามสูตร ขุททกนิกาย เล่ม ๒๙ ข้อ ๒)
ตามทรรศนะทางพระพุทธศาสนา กามเป็นความสุขอย่างหนึ่งของสัตว์โลก แต่ถือเป็นความสุขชั้นหยาบ และยังเจืออยู่ด้วยโทษ และให้ทุกข์มาก จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง ไม่หมกมุ่นเกินไปในกามสุข นั้น

“สุขโสมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือ รสอร่อยของกาม (กามอัสสาทะ) ทุกข์โทมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือโทษของกาม (กามาทีนวะ) แต่เรากล่าวว่า กามมีรสอร่อยน้อย มีโทษมาก” (พระพุทธพจน์)

เมื่อทรงแสวงหาทางพ้นทุกข์อยู่ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเข้มงวด มีอุปมา ๓ ข้อ ปรากฏขึ้นแก่พระองค์ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม้สด ชุ่มอยู่ด้วยยาง ซ้ำยังแช่น้ำอยู่ด้วย เมื่อนำมาสีกันเพื่อให้เกิดไฟ ย่อมไม่สำเร็จ ฉันใด บุคคลผู้ที่ยังมิได้ชักกายชักใจออกจากกามก็ ฉันนั้น ย่อมไม่อาจตรัสรู้ได้ แม้จะมีความเพียรพยายามอย่างเข้มงวดสักเท่าใดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อตรัสรู้แล้ว เมื่อทรงแสดงธรรมเป็นหนแรกแก่ปัญจวัคคีย์ จึงทรงแสดงเรื่องกามสุขัลลิกานุโยค (การหมกตัวอยู่กับกามสุข) ว่าเป็นเรื่องของชาวบ้าน (คัมโม) เป็นของปุถุชน (โปถุชชนิโก) ไม่ประเสริฐ (อนริโย) ไม่มีประโยชน์ (อนัตถสัญหิโต)

เวลานั้น ปัญจวัคคีย์ เป็นนักบวช มุ่งความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง จึงทรงแสดงเช่นนี้เพื่อเร้าใจให้สลัดกามสุขเสียโดยสิ้นเชิง มุ่งสู่โลกุตรธรรม

อีกข้อหนึ่ง ที่ทรงแสดงในลำดับต่อมาคือ อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบตนให้ลำบากนานัปการ) ทรงแสดงว่า ทำให้เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐและไม่มีประโยชน์
ต่อจากนั้น ทรงแสดงทางสายกลาง คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ว่าเป็นมรรคอันประเสริฐ นำไปสู่ความดับทุกข์อย่างแท้จริง ต่อจากนั้น จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔

ข้อควรสังเกตว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ก่อนที่จะแสดงอริยสัจ ๔
มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐของชาวพุทธ
ชาวพุทธทุกคนควรถือเอามรรคนี้เป็นทางดำเนินชีวิตของตน แม้จะยังละกามสุขไม่ได้ก็ตาม แล้วค่อยๆยกระดับชีวิตขึ้นสู่ความสุขที่อยู่เหนือกามสุข ประณีตกว่ากามสุข กล่าวคือ ฌานสุข และนิพพานสุข โดยลำดับ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 10:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กท. ถาม-ตอบ จบแล้ว จากหนังสือนี้ก็จบแล้ว

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 11:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไปจะลงเสริมเท่าที่ติดค้างที่ว่า ญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณ ครอบไตรสิกขา วิปัสสนาญาณ ๙ วิสุทธิ ๗ วิปัสสนูปกิเลส (ฟุ้งซ่านธรรม) ต่อ

เริ่มที่ก่อน


สำเหนียก กำหนด, จดจำ, คอยเอาใจใส่, ฟัง, ใส่ใจคิดที่จะนำไปปฏิบัติ, ใส่ใจสังเกตพิจารณาจับเอาสาระเพื่อจะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ (คำพระว่า สิกขา หรือ ศึกษา)

(สังขาร ๓ นัย)

สังขาร 1. สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, ตรงกับคำว่า สังขตะ หรือ สังขตธรรม ได้ในคำว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้ เป็นต้น 2. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดี หรือ ชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ มีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล ที่กลางๆ เป็นอัพยากฤต ได้แก่ เจตสิก ๕๐ อย่าง เป็นนามธรรมอย่างเดียว, ตรงกับสังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น
อธิบายอีกปริยายหนึ่ง สังขารตามความหมายนี้ ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำ ได้แก่ สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรม หรือ ปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่าง
คือ
๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา
๒.วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา
๓.จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา 3.
คือ
๑.กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
๒.วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก และวิจาร
๓.จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา

สังขาร ๒
คือ
๑.อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง
๒. อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมไม่ครอบครอง แปลโดยปริยายว่า สังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ไม่มีใจครอง

สังขารทุกข์ ทุกข์เพราะเป็นสังขาร คือ เพราะเป็นสภาพอันถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น จึงต้องผันแปรไปตามเหตุปัจจัย เป็นสภาพอันปัจจัยบีบคั้นขัดแย้ง คงทนอยู่มิได้

สังขารโลก โลกคือสังขาร ได้แก่ ชุมนุมแห่งสังขารทั้งปวงอันต้องเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย

สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ถึงขั้นเกิดความวางเฉยในสังขาร, ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ รู้เท่าทันสภาวะของสังขารว่าที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นต้นนั้น มันเป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงเลิกเบื่อหน่าย เลิกคิดหาทางแต่จะหนี วางใจเป็นกลางต่อมันได้ เลิกเกี่ยวเกาะและให้ญาณแล่นมุ่งสู่นิพพานอย่างเดียว (ข้อ ๘ ใน วิปัสสนาญาณ ๙)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือ เห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น

วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่ถึงขั้นเป็นวิปัสสนา, ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตามเป็นจริง

วิปัสสนาภูมิ ภูมิแห่งวิปัสสนา, ฐานที่ตั้งอันเป็นพื้นที่ซึ่งวิปัสสนาเป็นไป, พื้นฐานที่ดำเนินไปของวิปัสสนา 1. การปฏิบัติอันเป็นพื้นฐานที่วิปัสสนาดำเนินไป คือ การมองดูรู้เข้าใจ (สัมมสนะ. มักแปลกันว่า พิจารณา) หรือ รู้เท่าทันสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นอนิจจะ ทุกขะ อนัตตา อันดำเนินไปโดยลำดับ จนเกิดตรุณวิปัสสนา ซึ่งเป็นพื้นของการก้าวสู่วิปัสสนาที่สูงขึ้นไป 2. ธรรมที่เป็นภูมิของวิปัสสนา คือ ธรรมทั้งหลายอันเป็นพื้นฐานที่จะมองดูรู้เข้าใจ ให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริง ตรงกับคำว่า “ปัญญาภูมิ” ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท และ ปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย, เฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเน้น ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นที่รวมในการทำความเข้าใจธรรมทั้งหมดนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 11:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นส่วนๆก่อน

วิสุทธิ ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น
คือ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล (ได้แก่ ปาริสุทธิศิล,ศีลตามเพศภูมิของตน)

๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต (ได้แก่ สมาธิ ๒ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ)

๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฐิ (ได้แก่ นามรูปปริคคหญาณ)

๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย (ได้แก่ปัจจัยปริคคหญาณ)

๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทาง หรือมิใช่ทาง (ได้แก่ ต่อสัมมสนญาณ ขึ้นสู่อุทยัพพยญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา เกิดวิปัสสนูปกิเลส แล้วรู้เท่าทันว่า อะไรใช่ทาง อะไรมิใช่ทาง)

๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน (ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ นับแต่อุทยัพพยญาณที่ผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เกิดเป็นพลววิปัสสนา เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ)

๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ (ได้แก่ มรรคญาณ ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น แต่ละขั้น)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 11:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนาญาณ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา
มี ๙ อย่าง
คือ
๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป

๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นเฉพาะความดับเด่นขึ้นมา

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว

๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ

๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย

๖.มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย

๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง

๘.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร

๙. สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 17:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนูปกิเลส อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, สภาวะที่ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด,สภาพอันน่าชื่นชม ซึ่งเกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนาในขั้นที่เป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา) แต่กลายเป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา โดยทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงชะงักหยุดเสีย ไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ

มี ๑๐ คือ

๑.โอภาส แสงสว่าง ซึ่งรู้สึกงามเจิดจ้าแผ่ซ่านไป สว่างไสวอย่างไม่เคยมีมาก่อน

๒. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ รู้สึกเต็มเปี่ยมไปทั่วทั้งตัว

๓. ญาณ ความหยั่งรู้ที่เฉียบแหลมคมกล้า รู้สึกเหมือนว่าจะพิจารณาอะไรเป็นไม่มีติดขัด

๔.ปัสสัทธิ ความสงบเย็นเกิดความรู้สึกว่าทั้งกายและใจสงบสนิท เบา นุ่มนวล คล่องแคล่ว แจ่มใสเหลือเกิน ไม่มีความกระวนกระวาย ความกระด้าง หนัก ความไม่สบาย หรือความรำคาญขัดขืนใดๆเลย

๕.สุข มีความสุขที่ประณีตละเอียดอ่อนลึกซึ้งอย่างยิ่งแผ่ไปทั่วทั้งตัว

๖.อธิโมกข์ เกิดศรัทธาแรงกล้าประกอบเข้ากับวิปัสสนา ทำให้จิตใยความมีความผ่องใสอย่างเหลือเกิน

๗.ปัคคาหะ ความเพียรที่ประกอบ ซึ่งพอเหมาะพอดี เดินเรียบ ไม่หย่อนไม่ตึง

๘.อุปัฏฐาน สติที่กำกับชัด มั่นคง ไม่สั่นไหว จะนึกอะไร ก็รู้สึกว่าระลึกได้คล่องแคล่วชัดเจน เหมือนดังแล่นไหลไปถึงหมด

๙.อุเบกขา ภาวะจิตที่ราบเรียบ เที่ยง เป็นกลางในสังขารทั้งปวง

๑๐.นิกันติ ความพอใจติดใจที่สร้างความอาลัยในวิปัสสนา มีอาการสงบ สุขุม ซึ่งความจริงเป็นตัณหาที่ละเอียด แต่ผู้ปฏิบัติไม่สามารถกำหนดจับได้ว่าเป็นกิเลส (วิสุทฺธิ.3/270-272 วิสุทฺธิ.ฎีกา 3/510-516)


ธรรมทั้งหมดนี้ (เว้นแต่นิกันติ ซึ่งเป็นตัณหาอย่างละเอียดสุขุม) โดยตัวของมันเอง มิใช่เป็นสิ่งเสียหาย มิใช่เป็นอกุศล แต่เพราะเป็นประสบการณ์ประณีตล้ำลึกที่ไม่เคยเกิดมีแก่ตนมาก่อน จึงเกิดโทษ เนื่องจากผู้ปฏิบัติไปหลงสำคัญผิดเสียเองว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นอะไรๆต่างๆเป็นการบรรลุมรรคผลกระมั่ง นั่งคิดฟุ้งไป

วิปัสสนูปกิเลส นี้ ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านที่บรรลุมรรคผลแล้ว ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ปฏิบัติผิดทาง และไม่เกิดขึ้นแก่คนเกียจคร้าน ผู้ทอดทิ้งกรรมฐาน แต่เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนามาอย่างถูกต้องเท่านั้น


ในพระไตรปิฎก เรียกอาการฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิดเอา โอภาส เป็นต้น นั้นเป็นมรรคผลนิพพาน ว่า “ธัมมุทธัจจะ(ธรรมุธัจจ์ ก็เขียน) แต่ท่านระบุชื่อ โอภาส เป็นต้น นั้น ทีละอย่าง โดยไม่มีชื่อเรียกรวม,

“วิปัสสนูปกิเลส” เป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา (พูดสั้นๆ ธรรมุธัจจ์ ก็คือ ความฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิดต่อวิปัสสนูปกิเลส)

เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาน้อย จะฟุ้งซ่านเขวไป และเกิดกิเลสอื่นๆตามมาด้วย,
ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาปานกลาง ก็ฟุ้งซ่านเขวไป แม้จะไม่เกิดกิเลสอื่นๆ แต่จะสำคัญผิด,
ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้า ถึงจะฟุ้งซ่านเขวไป แต่จะละความสำคัญผิดได้ และเจริญวิปัสสนาต่อไป,
ส่วนผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้ามาก จะไม่ฟุ้งซ่านเขวไปเลย แต่จะเจริญวิปัสสนาก้าวต่อไป,

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ คือ เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น พึงกำหนดรู้เท่าทันด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่า สภาวะนี้ (เช่นว่า แสงสว่างไสวเจิดจ้า = โอภาส) เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็จะต้องดับสิ้นไป ฯลฯ เมื่อรู้เท่าทัน ก็ไม่หวั่นไหว ไปฟุ้งไปตามมัน คือ กำหนดได้ว่ามันไม่ใช่มรรค ไม่ใช่ทาง แต่วิปัสสนาที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ ซึ่งดำเนินไปตามวิถีนั่นแหละเป็นมรรคเป็นทางที่ถูกต้อง

นี่คือเป็นญาณที่รู้แยกได้ว่ามรรค และมิใช่มรรค นับเป็นวิสุทธิข้อ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

วิปัสสนาตั้งแต่ญาณเริ่มแรก (คือ นามรูปปริจเฉทญาณ) จนถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นี้ ท่านจัดเป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา)

ส่วนวิปัสสนาตั้งแต่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไปแล้ว (จนถึงสังขารุเปกขาญาณ) จัดเป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง ที่แรงกล้า หรือ อย่างเข้ม (พลววิปัสสนา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2020, 11:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปริญญา แปลว่า การกำหนดรู้ หรือ ทำความรู้จัก หมายถึง การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วนหรือรอบด้าน แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ (ขุ.ม.20/62/60 วิสุทธิ.3/230)

๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือ รู้ตามสภาวลักษณะ ได้แก่ รู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้น ตามสภาวะของมัน เช่นรู้ว่า นี่คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ นี่คือสัญญา สัญญาคือสิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้หมายรู้ ดังนี้เป็นต้น (รู้ว่าคืออะไร)

๒.ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ รู้ด้วยปัญญาที่หยั่งลึกซึ้งไปถึงสามัญลักษณะ ได้แก่ รู้ถึงการที่สิ่งนั้นๆ เป็นไปตามกฎธรรมดา โดยพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า เวทนาและสัญญา นั้น ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น (รู้ว่าเป็นอย่างไร)

๓.ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้ คือ รู้ถึงขั้นที่ทำให้ถอนความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่งนั้นๆ ได้ ไม่เกิดความผูกพันหลงใหล ทำให้วางใจ วางท่าที และปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง เช่น เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ก็ละนิจจสัญญา เป็นต้น ในสิ่งนั้นๆ ได้ (รู้ว่าจะทำอย่างไร)

-รู้ว่าคืออะไร
-รู้ว่าเป็นอย่างไร
-รู้ว่าจะทำอย่างไร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 16 ส.ค. 2020, 08:36, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2020, 12:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัดเอาแค่นี้

ประเพณีปฏิบัติคงดำเนินมาเช่นนี้ จนมาถึงยุคของพระอรรถกถาจารย์ ท่านได้นำเอาแบบแผนและรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติเหล่านั้น มาเรียงบันทึกไว้ในคัมภีร์ ดังตัวอย่างที่เด่น คือ ในวิสุทธิมัคค์

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ นอกจากแสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกด้านกิจกรรมภายนอกแล้ว ยังแสดงลำดับขั้นของความเจริญก้าวหน้าภายใน คือ การที่ปัญญาแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับๆ จนตรัสรู้อย่างที่เรียกลำดับญาณด้วย เค้าโครงทั่วไปของการปฏิบัติ ท่านถือตามหลักการของไตรสิกขา แล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ ๗

ส่วนขั้นตอนของความเจริญปัญญาภายใน (วิปัสสนาญาณ) ท่านขยายความจากเนื้อหาบางส่วนในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ (ขุ.ปฏิ.31/มาติกา/1-2; 94/72-159/109)

ในที่นี้ จะแสดงระบบการปฏิบัติที่สรุปตามแนวของคัมภีร์วิสุทธิมัคค์นั้น (วิสุทธิ.1/1-3/376)

ต่อไปนี้ คือ สรุปสาระสำคัญของวิสุทธิมัคค์ทั้งหมด

ก. ระดับศีล (อธิศีลสิกขา)

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล คือ ประพฤติดี เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีศีลบริสุทธิ์ตามภูมิขั้นของตน

ข. ระดับสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)

๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิต หรือพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิต จนเกิดสมาธิ พอเป็นบาท หรือ ปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ว่า ได้แก่ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ

ค. ระดับปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)

1) ญาตปริญญา คือ รู้จักสภาวะ

- ขั้นทุกขววัฏฐาน คือ กำหนดทุกขสัจจ์

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็น นาม รูป ตามสภาวะที่เป็นจริง ทำให้ระงับความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล เสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด บางทีเรียกเป็นญาณ อย่างหนึ่ง มีชื่อว่า

0) นามรูปปริจเฉทญาณ (๑)* หรือเรียกว่า สังขารปริจเฉท บ้าง นามรูปววัฏฐาน บ้าง หมายถึง ความรู้จักรูปธรรม นามธรรม ว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ พอนับได้ว่าเป็นของจริง ก็มีแต่รูปธรรม และนามธรรมเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นรูป จักขุประสาท แสง และรูป หรือสี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณ หรือการเห็น เป็นนามธรรม ดังนี้ เป็นต้น

- ขั้นสมุทัยววัฏฐาน คือ กำหนดสมุทัยสัจจ์

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจนแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย หรือ ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูป ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ตาม ตามแนวกฎแห่งกรรมก็ตาม ตามแนวกระบวนการรับรู้ก็ตาม ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ตาม หรือ ตามแนวอื่น ก็ตาม ว่านามธรรม และรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน อันเป็นความรู้ที่ทำให้สิ้นความสงสัยเกี่ยวกับกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต และปัจจุบัน ความรู้นี้กำหนดเป็นญาณขั้นหนึ่ง บางทีเรียกว่า

0) นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ (๒) แปลว่า ญาณที่กำหนดปัจจัยของนามรูป
ญาณขั้นนี้ เรียกได้หลายชื่อ ว่า ธัมมัฏฐิติญาณ บ้าง ยถาภูตญาณ บ้าง สัมมาทัสสนะ บ้าง
ผู้ประกอบด้วยญาณขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า เป็น “จูฬโสดาบัน” คือ พระโสดาบันน้อย เป็นผู้มีคติ คือ ทางไปก้าวหน้า ที่แน่นอนในพระพุทธศาสนา

2) ตีรณปริญญา คือ รู้สามัญลักษณะ หรือ หยั่งถึงไตรลักษณ์

-ขั้นมัคคววัฏฐาน คือ กำหนดมรรคสัจจ์ (เฉพาะข้อ ๕)

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทาง หรือ มิใช่ทาง คือ ยกเอารูปธรรม และนามธรรม ทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ (รวมความก็อยู่ในขันธ์ ๕ นั่นเอง) จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เรียกว่า เกิดเป็น ตรุณวิปัสสนา คือ วิปัสสนาญาณอ่อนๆ

ในช่วงนี้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว หรือ หลงยึดเอาวิปัสสนูปกิเลสนั้นว่าเป็นทางที่ถูก ถ้าหลงไปตามนั้น ก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก้ไขได้ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นั้นไม่ใช่ทาง แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทางพ้นจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทาง หรือมรรคาแท้จริง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป
เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ.

0)สัมมสนญาณ (๓) แปลว่า ญาณที่พิจารณา หรือ ตรวจตรา (นามรูปตามแนวไตรลักษณ์)

เมื่อพิจารณาด้วยสัมมสนญาณไปจนญาณแก่กล้าขึ้น เริ่มมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรมว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่มีแล้วก็มีขึ้น มีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป มองเห็นการเกิดและดับสลาย ทั้งโดยปัจจัย และเป็นขณะๆ ไป ก็เริ่มเกิดญาณใหม่เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนา
แต่ยังเป็นญาณใหม่ๆ อยู่ และญาณนี้ตอนนี้เอง ที่เรียกว่า ตรุณวิปัสสนา หรือ ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณอย่างอ่อนๆ)

ผู้ได้ตรุณวิปัสสนานี้ เรียกว่า “อารัทธวิปัสสนา” (ผู้เริ่มเห็นแจ้ง หรือ ผู้ได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว) และในตอนนี้ วิปัสสนูปกิเลส เช่น โอภาส คือ แสงสว่างแสนงาม เป็นต้น จะเกิดขึ้น ชวนให้หลงผิดและติดใจ ถ้ารู้เท่าทันก็ผ่านพ้นไปได้ กำหนดแยกว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทางได้แล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นวิสุทธิข้อนี้

3) ปหานปริญญา คือ รู้ถึงขั้นละความหลงผิด ถอนตัวเป็นอิสระได้

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน

โดยสาระแท้ๆ หมายถึงวิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอดด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ๘ กับ วิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณ
แต่พูดกว้างๆ วิสุทธิข้อนี้ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ นั่นเอง คือ นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เป็นต้นไป จนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน หรือสุดวิปัสสนา วิปัสสนาญาณ ๙ มีดังนี้

๑) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือ เรียกสั้นๆ ว่า อุทยัพพยญาณ (๔) ญาณอันตามเห็นความเกิดดับชัดเจน
พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์จนเห็นปัจจุบันธรรมที่กำลังเกิดขึ้น และดับสลายไปๆ ชัดเจน เข้าใจภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง
ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาตามความอยากของใคร
หยั่งรู้ว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น ครั้นแล้ว ก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด
เมื่อเกิดการรับรู้หรือเคลื่อนไหวใดๆ ในแต่ละขณะ ก็มองเห็นนามธรรม รูปธรรม และตัวรู้หรือผู้รู้ ที่เกิดขึ้น แล้วทั้งรูปธรรม นามธรรมและตัวรู้นั้น ก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด
เป็นความรู้เห็นชัดแก่กล้า (พวลวิปัสสนา) ทำให้ละนิจจสัญญา สุขสัญญา และอัตตสัญญาได้

๒) ภังคานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า ภังคญาณ (๕) ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับ ที่เป็นจุดจบสิ้น มองเห็นแต่อาการที่สิ่งทั้งหลายดับๆไป เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนจะต้องดับสลายไปทั้งหมด

๓) ภยตูปัฏฐานญาณ เรียกสั้นว่า ภยญาณ (๖) ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นแต่ความแตกสลาย อันมีแก่สิ่งทั้งปวงหมดทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว
สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

๔) อาทีนวานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า อาทีนวญาณ (๗) ญาณอันคำนึงเห็นโทษ
คือ
เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า นิพพิทาญาณ (๘) ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ

๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ (๙) ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย
คือ
เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือ ปฏิสังขาญาณ (๑๐) ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง
คือ
เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลาย ขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

๘) สังขารุเปกขาญาณ (๑๑) ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
คือ
เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า มันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา หรือเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง
จึงวางใจเป็นกลางเรียบเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขัดใจติดใจ ในสังขารทั้งหลาย

แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย
ญาณข้อนี้จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด และเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรค อันเป็นที่ออกจากสิ่งที่ยึด หรือ ออกจากสังขาร

๙) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (๑๒) ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ
คือ
เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ

ต่อจากอนุโลมญาณ ก็จะเกิด โคตรภูญาณ (๑๓) (ญาณครอบโคตร คือ ญาณที่เป็นตัวต่อ ระหว่างภาวะปุถุชน กับ ภาวะอริยบุคคล) มาคั่นกลาง แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป

โคตรภูญาณนี้ ท่านว่าอยู่ระหว่างกลาง ไม่จัดเข้าในวิสุทธิ ไม่ว่าข้อ ๖ หรือ ข้อ ๗ แต่ให้นับเข้าเป็นวิปัสสนาได้ เพราะอยู่ในกระแสของวิปัสสนา

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค ๔ หรือ มรรคญาณ (๑๔) นั่นเอง ซึ่งเกิดถัดจากโคตรภูญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดแล้ว ผลญาณ (๑๕) ก็เกิดขึ้น ในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ตามลำดับของแต่ละขั้นของความเป็นอริยบุคคล ความเป็นอริยบุคคล ย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้
เป็นอันบรรลุที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือ ไตรสิกขา หรือ การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งหมด

ถัดจากบรรลุมรรคผลด้วยมรรคญาณ และผลญาณแล้ว ก็จะเกิดญาณอีกอย่างหนึ่งขึ้นพิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้น พระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เรียกว่า ปัจเวกขณญาณ (๑๖)
เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นหนึ่งๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 16 ส.ค. 2020, 08:37, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2020, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


- ญาณต่างๆ ที่มีเลขลำดับกำกับอยู่ ( )* ข้างหลังนั้น ได้แก่ญาณที่ในสมัยหลังๆ ได้มีการนับรวมเข้าเป็นชุด เรียกว่า ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ อันเป็นที่รู้จักกันดีในวงการบำเพ็ญวิปัสสนา โดยเฉพาะใช้ในการตรวจสอบที่เรียกว่า “ลำดับญาณ” และพึงทราบว่า ในญาณ ๑๖ นี้ เฉพาะมรรคญาณ และผลญาณ สองอย่างนั้น เป็นญาณขั้นโลกุตระ ส่วนอีก ๑๔ อย่างที่เหลือเป็นญาณขั้นโลกียะทั้งสิ้น


อนึ่ง พึงสังเกตว่า วิปัสสนาญาณ ๙ นั้น คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนับรวม สัมมสนญาณ (๓) เข้าในชุดด้วย จึงเป็น วิปัสสนาญาณ ๑๐ (สงฺคห.55)

จบข่าว :b1:

หลักการปฏิบัติที่จัดเป็นระบบ

จากพุทธธรรมหน้า 475

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2020, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย มันมีมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไม่ยึด ว่างทางธรรมก็อย่างที่ท่านพุทธทาสว่านี่

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2020, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ปฏิบัติร้อยจะทั้งร้อยตกม้าตายวนกันอยู่ที่เมื่อประสบกับอาการปีตินี่แหละ


วิปัสสนูปกิเลส (เกิดเมื่อปฏิบัติถึงตรุณวิปัสสนา) ในบาลีเรียก ฟุ้งซ่านธรรม

๑. โอภาส เห็นแสงสว่าง แสงสีต่างๆ

๒. ปีติ ๕ อย่าง (จะเกิดขึ้น) ดังนี้
1. ขุททกาปีติ มีลักษณะดังนี้
1.1 เยือกเย็น ขนลุกตั้งชันไปทั้งตัว
1.2 ร่างกาย มึน ตึง หนัก
1.3 น้ำตาไหลพราก
1.4 ปรากฏเป็นสีขาวต่างๆ

๒. ขณิกาปีติ มีลักษณะดังนี้
2.1 เป็นประกายดังฟ้าแลบ
2.2 ร่างกายแข็ง หัวใจสั่น
2.3 แสบร้อนตามเนื้อตามตัว
2.4 คันยุบยิบ เหมือนแมลงไต่ตามตัว

๓. โอกกันติกาปีติ มีลักษณะดังนี้
3.1 ร่างกายไหวโยก โคลงแคลง บางครั้งสั่นระรัว
3.2 สะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า
3.3 น้ำลายสอในปาก คลื่นไส้ อาเจียน
3.4 มีอาการคล้ายๆละลอกคลื่นซัด
3.5 ปรากฏมีสีม่วงอ่อน สีเหลืองอ่อน

๔. อุเพงคาปีติ มีลักษณะดังนี้
4.1 มีอาการคล้ายๆกายสูงขึ้น ตัวเบา ตัวลอย
4.2 คันยุบยิบ เหมือนมีตัวไร ตอมไต่ตามหน้าตา
4.3 ท้องเสีย ลงท้อง
4.4 สัปหงกไปข้างบ้าง ข้างหลังบ้าง
4.5 หัวหมุนไปมา
4.6 กัดฟันบ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง
4.7 กายงุ้มไปข้างหลังบ้าง ข้างๆบ้าง
4.8 กายกระตุก ยกแขน ยกขา
4.9 ปรากฏสีไข่มุก สีนุ่น

๕. ผรณาปีติ มีลักษณะดังนี้
5.1 ร่างกายเยือกเย็นแผ่ซ่านไปทั้งตัว
5.2 ซึมๆไม่อยากลืมตา ไม่อยากเคลื่อนไหว
5.3 ปรากฏเป็นสีคราม สีเขียว สีบงกด

๓. ญาณ (ความรู้) ปรากฏว่า ตัวมีความรู้เปรื่องปราชญ์ หมดจด อย่างไม่เคยมีมาก่อน

๔. ปัสสัทธิ มีความรู้สึกสงบเยือกเย็น ทั้งกายและใจ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย สงบเงียบดังเข้าผลสมาบัติ

๕. สุข ได้แก่ วิปัสสนาสุข รู้สึกว่ามีความสุขที่สุด อย่างไม่เคยพบมาก่อน ยินดี เพลิดเพลิน ไม่อยากออกจากการปฏิบัติ อยากจะพูด อยากจะบอก ผลที่ตนได้ แก่ผู้อื่น

๖. อธิโมกข์ (สัทธา) มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นต้น อย่างแรงกล้า

๗. ปัคคาหะ (ความเพียร) ขยันเกินควร ตั้งใจปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย ไม่ถอย จนเกินพอดี

๘. อุปัฏฐานะ (สติ) สติมากเกินไป ระลึกถึงแต่เรื่องในอดีตและอนาคต จนทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสีย

๙. อุเบกขา รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดี ยินร้าย ใจลอย หลงๆลืมๆ เป็นต้น อะไรมากระทบก็เฉย ขาดการกำหนด ปล่อยใจไปตามอารมณ์

๑๐. นิกันติ (ติดใจ) พอใจในอารมณ์ต่างๆ มีโอภาส เป็นต้น ตื่นหลงผิดคิดไปว่า ตนคงบรรลุ มรรค ผล นิพพานแล้ว เหตุไม่เคยพบมาก่อน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 105 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร