วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2020, 20:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


คำนำ

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาเหมือนมหาสมุทร ซึ่งเต็มไปด้วยรัตนะคือทรัพยากรอันมีค่ามากมาย สุดแต่ใครจะมีสติปัญญานำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
พระพุทธศาสนามีธรรมหรือคำสอนหลากหลาย ผู้ที่สนใจสามารถจะศึกษาได้ในหลายมิติหรือหลายแง่มุม สุดแต่จะสนใจหรือสุดแต่จะต้องการรู้อะไร หรือจะต้องการได้อะไร เสมือนการค้นหาทรัพยากรในมหาสมุทร ฉะนั้น

การศึกษาพระพุทธศาสนาในมิติแห่งปรัชญาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจหรือมองเห็นลีลาของพุทธธรรมในแง่ของเหตุผล หรือในลีลาของปรัชญา ซึ่งอาจจะช่วยให้ได้รับรสของพุทธธรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เนื่องจากการศึกษาพุทธธรรมในเชิงปรัชญาก็คือกระบวนการการคิดการตีความตามเหตุผลเท่าที่สติปัญญาของผู้ศึกษาจะอำนวยให้ได้
ฉะนั้น ผู้เรียบเรียงจึงถือว่า เรื่องราวและแง่มุมต่างๆ ที่ผู้เรียบเรียงนำเสนอในหนังสือนี้ เป็นเพียงทรรศนะของผู้เรียบเรียงที่นำเสนอให้ผู้อ่านได้พิจารณาเท่านั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องคิดหรือเข้าใจอย่างที่ผู้เรียบเรียงคิดและเข้าใจ

ผู้เรียบเรียง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2020, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


-พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?
-พระพุทธเจ้ารู้อย่างไร
-พระพุทธเจ้าสอนอะไร ?
-พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร

ตรัสรู้อะไร, รู้อย่างไร, สอนอะไร, สอนอย่างไร

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2020, 20:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร


คำว่า “ตรัสรู้” เราแปลมาจากคำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” หรือ “สัมมาสัมโพธิ” ซึ่งมีความหมายว่า “รู้เองโดยชอบ” ซึ่งก็มีความหมายอีกขั้นหนึ่งว่า “รู้ถูกต้องตามเป็นจริง” ฉะนั้น สิ่งที่เราน่าวิเคราะห์ในคำว่า ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้าก็คือ

- พระพุทธเจ้ารู้อะไร ?
- พระพุทธเจ้ารู้อย่างไร ?

มีพระสูตรหลายสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์รู้อะไร หรือว่า สิ่งที่พระองค์รู้แล้วทำให้พระองค์ประกาศตนว่าเป็น “พุทธะ” นั้น คือ อะไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความจริงที่พระองค์รู้หรือ ตรัสรู้ นั้น คือ อะไร ?

ในธรรมนิยามสูตร (หรือ อุปปาทสูตร) พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า

พระตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (คือ สิ่งที่มีที่เป็นตามสภาพของมัน) ก็มีอยู่แล้ว มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน มีความเป็นไปอย่างแน่นอนตามธรรมชาติของมัน นั่นคือ

สังขาร (คือสิ่งที่ปรุงแต่งหรือสิ่งผสม) ทั้งปวงล้วนเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง)

ล้วนไม่คงที่ (ทุกขัง)

ธรรม (คือสิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นสิ่งปรุงแต่งและสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง) ล้วนเป็น อนัตตา

พระตถาคตตรัสรู้ความจริงดังกล่าวนั้นแล้ว จึงบอกให้รู้ แสดงให้เห็น ตั้งไว้เป็นกฎ กำหนดเป็นหัวข้อ เปิดเผยให้แจ้ง จำแนกให้ละเอียด ทำให้เข้าใจง่าย (องฺ.ติก.20/576/368)

ใจความของพระสูตรนี้ก็คือ สิ่งที่มีอยู่ ซึ่งพุทธศาสนาเรียกรวมๆว่า ธาตุ นั้น ไม่ว่าจะมีใครรู้หรือไม่รู้จักมัน มันก็มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น คือ มีอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบความมีอยู่ของธาตุทั้งหลายเหล่านั้น แล้วจึงทรงนำมาบอกสอนตามที่ทรงรู้เห็นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หากถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรือ ว่ารู้อะไร

คำตอบก็คือ ทรงรู้สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมัน สิ่งที่มีอยู่นั้น พุทธศาสนา เรียกรวมๆ ว่า ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “สิ่งที่ทรงภาวะของตนไว้” ธาตุ หรือ สิ่งที่มีอยู่ดังกล่าว หากจำแนกออกไป ก็มี ๒ อย่าง คือ รูปธาตุ กับ อรูปธาตุ

รูปธาตุ คือ ธาตุที่เป็นสสาร
อรูปธาตุ คือ ธาตุที่เป็นอสสาร

ธาตุทั้งสองอย่างยังจำแนกออกไปได้อีกมากมายหลายลักษณะ ทั้งที่พุทธศาสนา เรียกว่า นานาธาตุ อเนกธาตุ (องฺ.ทสก.24/21/35) หรือ ธาตุนานัตตะ (สํ.สฬา. 18/543/350) แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้

สิ่งที่เป็นธาตุทุกชนิดมีลักษณะร่วมคือมิใช่สัตว์ มิใช่ชีวิต ว่างจากอัตตา (นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ) และเป็น กลาง กล่าวง่ายๆก็คือ ยังไม่เป็นอะไร
แต่เมื่อธาตุเหล่านั้นมาประกอบกันหรือมารวมกันในลักษณะต่างๆ ดังที่เรียกว่า สังขาร. กาย. ขันธ์ จึงได้ชื่อว่า เป็นสิ่งต่างๆขึ้น ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และสิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่พุทธศาสนาเรียกว่า อุปาทินกสังขาร และอนุปาทินกสังขาร

ประเด็นต่อไปก็คือสิ่งที่มีอยู่ (ธาตุ) เหล่านั้น มีอยู่อย่างไร

พระพุทธองค์ก็ทรงรู้หรือทรงค้นพบว่า สิ่งที่มีอยู่เหล่านั้น ทั้งที่เป็นรูปธาตุ และอรูปธาตุ มีอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม

ธรรมฐิติ คือ มีอยู่หรือดำรงอยู่ตามธรรมดา หรือ ตามธรรมชาติของมันเองไม่มีใครสร้างหรือควบคุม

ธรรมนิยาม คือ มีความแน่นอนในความเป็นไป หรือ มีความเป็นไปอย่างแน่นอนตามธรรมชาติของมันเอง ไม่มีใครคอยกำกับควบคุม

สภาวะที่เรียกว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยามนั้น คือ อย่างไร ?

พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงว่าได้แก่ลักษณะที่เรียกว่า สามัญญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ

อนิจจัง ไม่เที่ยงหรือเปลี่ยนแปลง
ทุกขัง ไม่คงที่ หรือ ไม่คงอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งตลอดไป
อนัตตา เพราะเป็นอนิจจัง และทุกขัง จึงมิใช่อัตตา หรือ ไม่มีอยู่ อย่างอัตตา (เที่ยง นิ่ง คงที่)

กล่าวโดยสรุป ก็คือ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการเห็นหรือพบความจริงตามที่มีอยู่แล้ว
แต่การเห็นหรือการพบของพระองค์นั้น ทรงเห็นด้วย “ตาใจ” ที่เรียกว่า “ญาณ” การเห็นลักษณะนี้ พุทธศาสนาเรียกว่า “ญาณทัสสนะ” คือ เห็นด้วยญาณ และการเห็นด้วยญาณเท่านั้น จึงจะเป็นการเห็นอย่างถูกต้องตามจริง

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเรียกการเห็นในลักษณะนี้ให้ชัดเจนลงไปว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ซึ่งแปลว่า “การเห็นด้วยญาณตามที่มีที่เป็น” โดยใจความก็คือการเห็นด้วยญาณตามจริง



ในอีกพระสูตรหนึ่ง ได้ทรงแสดงไว้ว่า สภาวะที่เรียกว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยามนั้น ก็คือขบวนการของอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง (สํ.นิ.16/61/30)

สภาวะที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ กระบวนการของธรรมชาติที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น และอิงอาศัยกันดับไป โดยใจความก็คือ สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันและกันทั้งในการเกิดขึ้น และในการดับหรือสลายไป

พระพุทธองค์ได้ทรงสรุปกระบวนการดังกล่าวนี้ลงเป็นหลักการสั้นๆ ว่า

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ (สํ.น.16/64/33)

หลักการดังกล่าวนี้เอง ที่ทรงเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท

เพื่อให้เห็นตัวอย่างของกระบวนการอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท ชัดเจน พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงกระบวนการของชีวิตมนุษย์ให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ

มีชรามรณะ ก็เพราะมีชาติ
มีชาติ ก็เพราะมีภพ
มีภพ ก็เพราะมีอุปาทาน
มีอุปาทาน ก็เพราะมีตัณหา
มีตัณหา ก็เพราะมีเวทนา
มีเวทนา ก็เพราะมีผัสสะ
มีผัสสะ ก็เพราะมีสฬายตนะ
มีสฬายตนะ ก็เพราะมีนามรูป
มีนามรูป ก็เพราะมีวิญญาณ
มีวิญญาณ ก็เพราะมีสังขาร
มีสังขาร ก็เพราะมีอวิชชา

นี้เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของชีวิต กระบวนการดับของชีวิตก็ตรงกันข้าม คือ ชรามรณะดับ ก็เพราะชาติดับ ชาติดับก็เพราะภพดับ ฯลฯ (ม.มู.12/447/480)

และกระบวนการของชีวิตมนุษย์นั้น กล่าวโดยสรุปก็คือกระบวนการเกิด และ ดับ ของทุกข์ นั่นเอง กระบวนการนี้ เป็นสิ่งจริงแท้ ไม่คลาดเคลื่อนไม่เป็นอย่างอื่น เป็นมูลเหตุอันแน่นอนในธาตุนั้น (ตถตา อวิตถตา อนญฺญถตา อิทปฺปจฺจยตา) (สํ.นิ. 16/61/31)

ผู้เห็นกระบวนการของปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่สงสัยเกี่ยวกับที่สุดส่วนอดีต ที่สุดส่วนอนาคต และปัจจุบันที่เป็นอยู่

การตรัสรู้ดังกล่าวนี้ มีลักษณะเป็นสากล คือ เป็นลักษณะของผู้รู้จริงทั้งปวง ไม่ว่าผู้รู้จริงนั้นจะเป็นใคร ทั้งในอดีตในอนาคตและในปัจจุบัน ย่อมรู้กันและรู้เรื่องเดียวกัน คือ อริยสัจสี่
(สํ.มหา.19/1704/543)

และเรื่องอริยสัจสี่ โดยใจความก็คือกระบวนการของเหตุและผล กล่าวคือ

ทุกข์ (ผล) มี ก็เพราะมีสมุทัย (เหตุ)
นิโรธ (ผล) มี ก็เพราะมีมรรค (เหตุ)
หรือ
ทุกข์มี ก็เพราะมีตัณหา (สมุทัย)
ทุกข์ดับ (นิโรธ) ก็เพราะตัณหาดับ (ละได้ด้วยมรรค)

ฉะนั้น หลักการของอริยสัจสี่ ก็คือ กระบวนการของอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง อริยสัจสี่ จึงเป็นรูปย่อของปฏิจจสมุปบาท
เนื้อหาของอริยสัจสี่ ก็เป็นเรื่องเดียวกับกับปฏิจจสมุปบาท คือ แสดงถึงกระบวนการเกิดของทุกข์ ซึ่งเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด (สมุทัยวาร) และ
กระบวนการดับของทุกข์ ซึ่งเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสายดับ (นิโรธวาร)
โดยสรุปกระบวนการดังกล่าวลงได้เป็นหลักการย่อๆ คือ

ทุกข์มี เพราะมีสมุทัย
นิโรธมี เพราะมีมรรค


การตรัสรู้มีลักษณะเป็นสากลดังกล่าวแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้เรื่องเดียวกัน และตรัสรู้ด้วยวิธีการเดียวกัน คือ ปฏิบัติตามมรรค ๘ หรือ มัชฌิมาปฏิปทา ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเปรียบเทียบการตรัสรู้ของพระองค์ว่าเหมือนการเดินไปตามหนทางเก่าที่พระพุทธเจ้าในอดีตได้เดินมาแล้ว และเมื่อพระองค์เดินไปตามทางนั้น จึงได้เห็นกระบวนการของปฏิจจสมุปบาทว่าชรามรณะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนเห็นซากเมืองโบราณที่เรียงรายไปตามทางสายเก่านั้น ฉะนั้น (นครสูตร - สํ.นิ. 16/253/128)

ข้อควรเข้าใจไว้ในตอนนี้ก็คือ อริยสัจสี่ ก็ดี ปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นความจริงที่มีอยู่แล้ว (คือ เป็นธาตุประเภทธรรมธาตุ) และมีอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม อิทัปปัจจยตา นั่นเอง

ในโรหิตัสสสูตร พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

ก็ถ้าหากเราไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลกในเรือนร่าง มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา และมีใจครองนี้ (สํ.สคา.15/298/89)

ใจความของพุทธพจน์นี้ ก็คือ พระองค์ทรงบรรลุถึงที่สุดโลก คือ รู้จบโลก อันได้แก่ ร่างกาย อันมีสัญญา และมีใจครองนี้ จึงได้ชื่อว่าถึงที่สุดทุกข์ หรือ พ้นทุกข์

และในอัสสาทสูตรที่หนึ่ง ได้ตรัสแสดงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า

เรายังไม่รู้ยิ่ง ซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริงอย่างนี้เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ... เพียงนั้น (สํ.ขนฺธ.17/60/35)

ใจความของพุทธพจน์ใน ๒ พระสูตรนี้ก็คือ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ความจริงของขันธ์ ๕ หรือ ความจริงของชีวิตนั่นเอง และขันธ์ ๕ หรือ ชีวิตนั่นเอง คือ เนื้อหาของอริยสัจสี่
ดังที่ทรงสรุปไว้ว่า โดยสังเขป อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ทุกข์ (สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา - วิ.มหา. 4/14/19)

ความจริง หรือ สิ่งที่มี ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้หรือทรงค้นพบนั้น นอกจากอริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ แล้วยังทรงพบเห็นความจริงอีกมากมาย
ทรงสรุปไว้เป็นประเภทหรือเรื่องสำคัญๆ ๑๐ ประเภท คือ

๑.ฐานาฐานญาณ รู้ว่าอะไรเป็นไปได้อะไรเป็นไปไม่ได้
๒.วิปากญาณ รู้ว่ากรรมอะไรมีผลอย่างไร
๓.ปฏิปทาญาณ รู้แนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่ภพภูมิต่างๆ
๔.นานาธาตุญาณ รู้ว่าในจักรวาลนี้มีธาตุต่างๆมากมาย
๕.นานาธิมุตติกญาณ รู้แนวโน้มของจิตใจมนุษย์ว่ามีมากมายหลายอย่าง
๖.อินทรียปริโยปริยัติญาณ รู้ความบกพร่องสมบูรณ์ทางสติปัญญาของคน
๗.วุฏฐานญาณ รู้วิธีปฏิบัติเพื่ออกจากกิเลส
๘.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ระลึกชาติในอดีตของตนเอง
๙.จุตูปปาตญาณ รู้การเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลาย
๑๐. อาสวักขยญาณ รู้ความหมดกิเลสของตน
(องฺ.ทสก.24/21/34)

ความรู้ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ กล่าวโดยสรุปก็มี ๓ ลักษณะ คือ
- สิ่งที่มีก็รู้ว่ามี สิ่งที่ไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
- สิ่งที่เลวก็รู้ว่าเลว สิ่งที่ดีก็รู้ว่าดี
- สิ่งที่ยังมีที่ยิ่งกว่า ก็รู้ว่ายังมีที่ยิ่งกว่า สิ่งที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า ก็รู้ว่าไม่มีอะไรยิ่งกว่า
(องฺ.ทสก.24/22/39)

บรรดาสิ่งทั้งหลายที่ทรงรู้นั้น ก็สรุปได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ

- บางสิ่งเป็นสิ่งที่ควรรู้ ก็ทรงรู้แล้ว (ญาตยฺยํ ญสฺสติ)
- บางสิ่งเป็นสิ่งที่ควรเห็น ก็ทรงเห็นแล้ว (ทฏฺฐยฺยํ ทกฺขติ)
- บางสิ่งเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ก็ทรงทำให้แจ้งแล้ว (สจฺฉิกตยฺยํ สจฺฉิ)

และทรงสรุปว่า บรรดาความรู้หรือญาณทั้งหลายนั้น ยถาภูตญาณ คือ ความรู้ตามจริง ถือว่ายอดเยี่ยม (องฺ.ทสก.24/22/39)

สรุปได้ว่า หากกล่าวในภาพรวมหรือในความหมายที่ครอบคลุม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่แล้ว
ดังแสดงในธรรมนิยามสูตร
หากกล่าวในภาพเล็กหรือในความหมายที่เป็นความมุ่งหมายเฉพาะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ เพราะการรู้ความจริงคืออริยสัจสี่ อันเป็นความจริงของชีวิตเท่านั้น ที่ทำให้ตรัสรู้ คือ ถึงภาวะรู้แจ้งรู้จริงพร้อมกับความสิ้นไปของกิเลสทั้งปวง ดังทรงแสดงในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2020, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้ารู้อย่างไร

ประเด็นต่อมาในเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ ทรงรู้อย่างไร ? วิธีการรู้หรือกระบวนการตรัสรู้ของพระองค์นั้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเล่าไว้ในหลายพระสูตร เช่น ในโพธิราชกุมารสูตร ได้ทรงเล่าถึงความดำริตั้งแต่เริ่มแรกของพระองค์ว่าทรงดำริอย่างไร จึงออกบวช จนกระทั่งได้ตรัสรู้แล้วแสดงปฐมเทศนา คือ เริ่มประกาศพระศาสนา ในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า

๑. เริ่มแรกพระพุทธเจ้าก็ทรงมีแนวคิดว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่อาจได้มาด้วยความสุข แต่ต้องได้มาด้วยความทุกข์ แสดงว่าขณะนั้นพระองค์ก็มีแนวคิดไปในทางลัทธิอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งเป็นลัทธิที่นิยมแพร่หลายอยู่ในยุคนั้น

๒. สิ่งที่พระองค์ต้องการค้นหานั้นก็คือ อะไรคือความดี หรือ สิ่งที่ดี (กึ กุศล) พร้อมทั้งค้นหาว่า อะไรคือ อนุตรสันติวรบท อันได้แก่ วิธีการหรือแนวปฏิบัติอันยอดเยี่ยมที่จะนำไปสู่สันติ คือ บรมสุข

๓. ด้วยพระดำริดังกล่าวแล้ว จึงตัดสินพระทัยออกบวช และเริ่มต้นการแสดงหาโดยการเริ่มศึกษาลัทธิวิธีของบรรดาเจ้าลัทธิที่สำคัญๆในยุคนั้นก่อน มีอาฬารดาบส และอุทกดาบส เป็นต้น แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่พบสิ่งที่พระองค์พยายามค้นหา คือ กึ กุศล

๔.จากนั้น จึงทรงพยายามค้นหาด้วยวิธีการของพระองค์เอง คือ ด้วยวิธีการทรมานกายด้วยวิธีต่างๆ (ทุกรกิริยา) ซึ่งเป็นแนวทางที่พระองค์เคยดำริมาแต่เริ่มแรกแล้ว จึงได้ทรงประจักษ์ด้วยพระองค์เองว่า การทรมานตนนั้น ไม่ทำให้บรรลุความดีอะไร จึงทรงเลิกวิธีการแบบอัตตกิลมถานุโยค

๕. จากนั้น ทรงเริ่มบำรุงร่างกายให้แข็งแรงเป็นปกติแล้ว เริ่มต้นการบำเพ็ญเพียรทางจิตคือ การบำเพ็ญสมาธิภาวนา จนบรรลุฌาน ๔

๖. เมื่อจิตสงบ เป็นสมาธิ ปราศจากกิเลสใสสะอาดแล้ว จึงทรงน้อมจิตไปรู้สิ่งที่พระองค์ประสงค์จะรู้ คือ
เรื่องแรกที่ทรงน้อมจิตไปรู้ คือ อดีตชาติของพระองค์ เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

เรื่องที่สองที่ทรงน้อมจิตไปรู้ คือ การเกิดการตายของสัตว์อื่น เรียกว่า จุตูปปาตญาณ

เรื่องที่สามที่ทรงน้อมจิตไปรู้ คือ อริยสัจสี่ เมื่อทรงเห็นอริยสัจสี่ ก็ทรงเห็นว่า จิตของพระองค์บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เรียกว่า อาสวักขยญาณ

จากข้อความในพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นกระบวนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

- ร่างกายมีกำลัง
- สงัดกาม สงัดอกุศลธรรม
- จิตสงบ เป็นสมาธิ
- จิตบริสุทธิ์ ผ่องใส
- เกิดพลังรู้ คือ ญาณ
- เห็นทุกสิ่งตามจริงแล้วจิตพ้นจากกิเลส
- เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
- เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าสิ้นชาติ (ม.ม.13/505-508/458)

ลักษณะของการรู้ด้วยญาณนั้น มิใช่ส่งจิตออกไปรู้ หรือ คิดเอาหรือว่าเป็นการเข้าใจด้วยการคิด
แต่ความจริง หรือ สิ่งที่ต้องการรู้ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “ธรรม” นั้น มาปรากฏต่อจิต ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายไว้ในบางพระสูตรว่า “สมาหิเต จิตฺเต ธมฺมา ปาตุภวนฺติ” ความว่า เมื่อจิตสงบ ความจริงย่อมปรากฏ หรือว่า ความจริงย่อมปรากฏในจิตที่สงบ (สํ.ฬา.18/144/98)

พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติบรรลุผล คือ ความหลุดพ้นมี ๕ อย่าง คือ
๑.ศรัทธาถูกต้อง
๒.สุขภาพสมบูรณ์
๓.ไม่โอ้อวดมายา
๔.เพียรพยายาม
๕.มีปัญญาในธรรม

หากขาดองค์ประกอบเหล่านี้ แม้จะมีผู้สอนดีแค่ไหน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ คือ ไม่บรรลุผลสูงสุดตามที่มุ่งหวัง

หากประกอบด้วยองค์ประกอบเหล่านี้พร้อม และได้ผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี ย่อมประสบความสำเร็จ ในกรณีของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า อย่างช้าไม่เกิน ๗ ปี และอย่างเร็วภายในเวลาชั่วค่ำ (ม.ม.13/518/472)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2020, 05:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

พระสูตรที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรเป็นครั้งแรกก็คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (สํ.ม.19/1664/528) อันเป็นปฐมเทศนานั่นเอง
ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ครบถ้วน สิ่งที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในพระสูตรนี้ ก็คือ

๑.ทรงชี้ให้เห็นว่า บรรดาลัทธิวิธีที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในอินเดียยุคนั้น ซึ่งมีมากมาย สรุปได้เป็น ๒ กลุ่ม หรือ ๒ แนวทางคือ

@ กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่พัวพันอยู่กับกามสุข
@อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติที่เป็นการทรมานตนให้ลำบาก

ลัทธิวิธีทั้ง ๒ นี้ เป็นวิธีการที่ผิด โดยทรงชี้ให้เห็นว่า วิธีแรกนั้นเป็นของต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน ของคนมีกิเลสหนา ไม่ประเสริฐ และไร้ประโยชน์
ส่วนวิธีที่ ๒ นั้น เป็นการทำตนให้ลำบากเปล่า ไม่ประเสริฐและไร้ประโยชน์

๒.ทรงประกาศวิธีการใหม่ที่รงค้นพบด้วยพระองค์เอง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๘ ประการ ที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ซึ่งสรุปลงในหลักการสำคัญ ๓ ประการคือ

-สีลสิกขา
-จิตตสิกขา
-ปัญญาสิกขา
(ม.มู.12/508/549) (ศีล สมาธิ ปัญญา)

มัชฌิมาปฏิปทา เป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดจักษุ ญาณ อภิญญา สัมโพธะ และนิพพาน เป็นที่สุด

๓. ทรงแสดงว่า การปฏิบัติตามแนวทางของ มัชฌิมาปฏิปทา ทำให้พระองค์รู้อริยสัจสี่ อันเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากใครมาก่อน ความจริงที่ทรงรู้ที่เรียกว่า อริยสัจนั้นก็คือ

-ทุกข์
-เหตุให้เกิดทุกข์
-ความดับทุกข์
-วิธีการที่นำไปสู่ความดับทุกข์

สาระสำคัญของอริยสัจทั้งสี่ข้อก็คือ เรื่องทุกข์ และเรื่องทุกข์ทั้งหมดนั้น โดยสรุปก็คือ อุปาทานขันธ์ หรือ ชีวิต ฉะนั้น เรื่องอริยสัจสี่ ก็คือ เรื่องความจริงของชีวิตนั่นเอง

๔.การรู้อริยสัจสี่นั้นคือ การเกิดจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลกะขึ้นในความจริงเหล่านั้นใน ๓ ลักษณะ คือ

๑) รู้สภาวะ หรือ ตัวความจริงแต่ละอย่างว่า คืออะไร เรียกว่า สัจจญาณ
๒) รู้หน้าที่ คือ รู้ว่าจะต้องปฏิบัติต่อความจริงแต่ละอย่างนั้นอย่างไร เรียกว่า กิจจญาณ
๓) รู้เชิงประเมินหรือตรวจสอบ คือ รู้ว่าสิ่งควรรู้และความทำในข้อ ๒ ข้อแรกนั้นได้กระทำเรียบร้อยแล้วหรือยัง เรียกว่า กตญาณ

@ ลักษณะของสัจจญาณ คือ
รู้ว่า
-ทุกข์ คือ ชาติชรามณะ = ชีวิต
-เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา
-ความดับทุกข์ คือ ตัณหาดับไม่เหลือ
-วิธีการที่นำไปสู่ความดับทุกข์ คือ มรรค มีองค์ ๘

@ ลักษณะของกิจจญาณ คือ
รู้ว่า
- ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรรู้
- ตัณหา เป็นสิ่งควรละ
- นิโรธ เป็นสิ่งควรทำให้แจ้ง
- มรรค เป็นสิ่งควรทำให้สมบูรณ์

@ ลักษณะของกตญาณ คือ
รู้ว่า
- ทุกข์ รู้แล้ว
- ตัณหา ละแล้ว
- นิโรธ ทำให้แจ้งแล้ว
- มรรค ทำให้สมบูรณ์แล้ว

และญาณทั้ง ๓ นี้ รวมเรียกว่า ยถาภูตญาณ (ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ)

๕. หลังจากเกิดญาณทั้ง ๓ แล้ว พระพุทธองค์จึงทรงประกาศพระองค์ว่า ได้ตรัสรู้แล้ว (อภิสมฺพุทฺโธ) สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น กล่าวโดยสรุป ก็คือ

๑.หลักความจริง คือ อริยสัจสี่
๒.หลักความรู้ คือ ญาณ ๓
๓.หลักปฏิบัติ คือ มัชฌิมาปฏิปทา
๔.เป้าหมายของการปฏิบัติ คือ ปัญญา (จักษุ ญาณ อภิญญา สัมโพธะ) และนิพพาน

ในอภยราชกุมารสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า ทรงสอนอะไร และไม่ทรงสอนอะไร เพราะเหตุไร โดยทรงแจกแจงไว้ ดังนี้

๑.สิ่งไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคน ไม่ทรงสอน
๒.สิ่งจริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคน ไม่ทรงสอน
๓.สิ่งจริง แท้ มีประโยชน์ แม้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคน ทรงรู้จักเวลาสอน
๔.สิ่งไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ แม้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคน ไม่ทรงสอน
๕.สิ่งจริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์ แม้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคน ไม่ทรงสอน
๖.สิ่งจริง แท้ มีประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคน ทรงรู้จักเวลาสอน

จากเนื้อความในพระสูตรนี้ สรุปได้ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น คือ

- จริง
- มีประโยชน์
- เหมาะสมแก่กาละเทศ

ส่วนคนจะพอใจหรือไม่พอใจนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และจากเนื้อความในพระสูตรนี้ ยังให้นัยแก่เราอีกประการหนึ่ง คือ สิ่งที่จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์เสมอไป ความจริงบางอย่างก็ไม่มีประโยชน์ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ความจริง กับ ความมีประโยชน์ เป็นคนละอย่างกัน

ในทำนองเดียวกัน ความพอใจ กับ ความจริงก็เป็นคนละเรื่องกัน และความพอใจ กับ ความมีประโยชน์ก็เป็นคนละเรื่องกัน

ส่วนสิ่งที่ไม่จริงนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้ลงไปประเด็นเดียว คือ ไม่มีประโยชน์

ในจูฬมาลุงโกยวาทสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงเรื่องที่พระองค์ทรงสอน และไมทรงสอนเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์ และเรื่องที่ทรงพยากรณ์

เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ทรงสอนได้แก่เรื่อง

เรื่องโลก
- โลกเที่ยง
- โลกไม่เที่ยง
- โลกมีที่สุด
- โลกไม่มีที่สุด

เรื่องอัตตา
- ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
- ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน

เรื่องตายเกิด-ตายสูญ
-สัตว์ตายแล้ว คงมีอยู่
- สัตว์ตายแล้ว ไม่มีอยู่
- สัตว์ตายแล้ว มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี
- สัตว์ตายแล้ว มีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่

เรื่องเหล่านี้รวมเรียกว่า อัพยากตปัญหา คือ ปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะและนิพพาน
เรื่องที่ทรงพยากรณ์ คือ ทรงสอนได้แก่ เรื่องอริยสัจสี่ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ฯลฯ เป็นไปเพื่อนิพพาน

ทั้งนี้ เพราะทรงมองชีวิตว่าเป็นเสมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ จะมัวโอ้เอ้อยู่กับเรื่องอื่นๆ ที่ไร้สาระไม่ได้ ควรจะต้องรีบหาทางถอนลูกศรอาบยาพิษนั้นออกให้เร็วที่สุด และวิธีที่จะถอนลูกศรดังกล่าวนั้นได้ก็คือ วิธีการแบบอริยสัจสี่นั่นเอง (ม.ม.13/150-2/147)

ตามเนื้อความในพระสูตรนี้ เรื่องที่พระพุทธศาสนา หรือ พระพุทธเจ้าสอนก็คือหลักการเพื่อการถอนทุกข์หรือแก้ทุกข์ของชีวิตเท่านั้น

ฉะนั้น ในอลคัททูปมสูตร พระองค์จึงตรัสสรุปไว้ว่า เรื่องที่พระองค์สอนนั้นมีเรื่องเดียว คือ เรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น (ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ)

และในพระสูตรเดียวกันนี้ ได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่ทรงสอนนั้น เปรียบเสมือนแพอาศัยข้ามฟาก เมื่อข้ามฟากได้แล้วก็ไม่ต้องแบกเอาแพไปด้วย
ควรจอดไว้ในน้ำ หรือ ยกวางไว้บนบกแล้วก็เดินทางต่อไปโดยไม่ต้องกังวลใดๆ ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมคืออุปกรณ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายของชีวิต เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว เราจึงไม่ควรแบกเอาอุปกรณ์เหล่านั้นไว้อีก
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ผู้บรรลุเป้าหมายสูงสุดแล้ว ย่อมไม่ยึดติดในสิ่งใดทั้งที่เป็นธรรมและอธรรม

และได้ทรงแนะนำไว้ด้วยว่า ผู้ที่ศึกษาธรรม เพื่อให้ได้ประโยชน์จากธรรม ต้องพิจารณาไตร่ตรองเนื้อหาหรือความหมายของธรรมด้วยปัญญา มิฉะนั้น ก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการศึกษาธรรม (ม.ม.13/279-286/268)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเทียบสิ่งที่ทรงรู้กับสิ่งที่ทรงสอนว่า สิ่งที่ทรงรู้นั้น เปรียบเสมือนใบไม้ทั้งป่า
ส่วนสิ่งที่ทรงสอนเปรียบเสมือนใบไม้ ๒-๓ ในในกำมือ ทั้งนี้ เพราะเลือกสอนเฉพาะสิ่งที่จริงและมีประโยชน์เท่านั้น
ความจริงมากมายที่ทรงรู้แต่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ทรงนำมาสอน (สีสปาสูตร - สํ.ม.19/1712/548)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2020, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7503

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
ทุกคำในพระไตรปิฏกคือความจริงตรงจริงตรงปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงตรงปัจจุบันที่ตรงสัจจะไม่เปลี่ยนทุกที่ทุกเวลา
คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เคยเปลี่ยนแต่มีคนคิดจะเปลี่ยนสิกขาเอาตามใจกูให้รับเงินได้
เช่นพระพุทธเจ้ามีวินัยที่พระภิกษุรับได้แค่ปัจจัยสี่คือ1.อาหาร2.ที่อยู่3เครื่องนุ่งห่มและ4.ยารักษาโรค
พอกาลเวลานานมาแล้วก็อ้างว่าพระไตรปิฏกเชื่อถือไม่ได้อยากได้เงินอยากทำธุรกิจซื้อขายได้แบบชาวบ้าน
พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชเพื่อทำตามสิกขาบทถ้าทำไม่ได้ก็ลาสิกขาได้คือนึกได้และรู้สึกตัวแล้วก็ลาสิกขา
ตอนที่พระอรหันต์500รูปสังคายนาพระไตรปิฏกโดยมีพระอานนท์ที่บรรลุอรหันต์ตามที่พระพุทธเจ้าทำนาย
ว่าหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว3เดือนพระอานนท์จะบรรลุอรหันต์เขาจึงกำหนดวันสังคายนาไว้
พระอรหันต์ชุมนุม499รูปในวันสังคายนาเว้นว่าง1ที่และอานนท์หายตัวแว๊บมานั่งตรงนั้นในที่ประชุมไม่สงสัย
เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้ล่วงหน้าแล้ว...ข้อสังเกตุพระพุทธเจ้าทำนายไว้ว่าพันปีที่3ไม่มีพระอรหันต์เชื่อมั๊ย
อย่าหลงตัวเองนักเลยชาวบ้านไม่ต้องบวชก็บรรลุอนาคามีได้ถ้าบวชแล้วไม่ทำงานไม่ใช้เงินซื้อขายไม่ได้
แล้วที่บวชเข้าไปทำลายสิกขาบทห้ามรับเงินเนี่ยต้องตกนรกคิดเองได้ไหมล่ะก็โลภมากรับเงินทุศีลรอตกนรก
นับถือพระพุทธเจ้าแต่ไม่ทำตามพระองค์ถามหน่อยสิพระพุทธเจ้าเอาสมบัติในวังมาแจกสาวกที่บวชหรือไม่
https://youtu.be/WbAPg7Gz3Lc
:b12:
:b12: :b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2020, 17:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร

ลักษณะและวิธีสอนของพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่ในพระสูตรต่างๆ หลายพระสูตรที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทางมีวิธีการสอนหลากหลายวิธีตามความเหมาะสมแก่บุคคลผู้รับการสอน เช่น สอนด้วย

วิธีเทศนา
วิธีสนทนา
วิธีอุปมาอุปไมย
วิธีเล่าเรื่องสาธก (ชาดก)
วิธีใช้อุปกรณ์
วิธีใช้เหตุการณ์จริง
วิธีแสดงฤทธิ์ เป็นต้น

แต่ทุกวิธีการดำเนินไปภายใต้หลักการสำคัญ ๓ ประการ ดังปรากฏในโคตมสูตร คือ

๑.สอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น (อภิญญาย)
๒.สอนอย่างมีเหตุผล เพื่อให้ผู้ฟังไตร่ตรองเห็นตามได้ (สนิทาน)
๓.สอนในสิ่งที่ผู้ฟังสามารถนำไปปฏิบัติ และได้รับผลจริงตามควรแก่การปฏิบัติ (สัปปาฏิหาริยะ)

หลักการสำคัญ ๓ ประการนี้ จึงถือได้ว่าเป็นหลักการสอน หรือ ปรัชญาการสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงใช้เป็นหลักในการสอนของพระองค์มาโดยตลอด และถือได้ว่าเป็นหลักการสอนของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปด้วย (อง.ติก.20/565/356)

จะเห็นได้ว่า หลักการสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นเน้นเรื่องศรัทธาหรือความเชื่อ แต่เน้นเรื่องความรู้ความเข้าใจ เน้นเรื่องเหตุผล และเน้นเรื่องการปฏิบัติจริง หลักการดังกล่าวนี้ โดยใจความก็คือ

-สอนให้รู้
-สอนให้คิด
-สอนให้ทำ

ในบางพระสูตร ก็จะพบว่าพระพุทธองค์ทรงสอนโดยเน้นการใช้เหตุผล กล่าวคือ ทรงเน้นให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ทรงสอนว่ามีความเป็นจริงอย่างไร ดังเช่นในอปัณณกสูตร (ม.ม. 13/103/100) ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ

๑.ทรงแนะว่า แม้จะไม่นับถือใครเป็นศาสดา ก็ควรจะมีหลักปฏิบัติไม่ผิดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความสุขของชีวิต

๒.ทรงแนะว่า เรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้านั้น เมื่อพิจารณาด้วยผลเหตุแล้วก็จะเห็นได้ว่า

- ถ้าการทำชั่ว ไม่มีผลจริงและโลกหน้าก็ไม่มีจริง คนทำชั่วแล้วตายไปก็ไม่ได้ไม่เสีย เท่ากับเสมอตัว

- ถ้าการทำชั่วมีผลจริง และโลกหน้ามีจริง คนทำชั่วแล้วตายไปก็มีหวังไปทุคติ เท่ากับเสีย หรือขาดทุน

-แม้การทำชั่วไม่มีผลจริง และโลกหน้าไม่มีจริง คนทำชั่วก็ยังเป็นที่นินทาของคนทั่วไปในโลกนี้ เท่ากับเสียหรือขาดทุนอยู่ดี

-ถ้าการทำดี ไม่มีผลจริง และโลกหน้าไม่มีจริง คนทำดีแล้วตายไปก็ไม่ได้ไม่เสีย เท่ากับเสมอตัว

-ถ้าการทำดี มีผลจริง และโลกหน้ามีจริง คนทำดีแล้วตายไปย่อมมีหวังไปสุคติ เท่ากับได้หรือมีกำไร

-ถ้าการทำดี ไม่มีผลจริง และโลกหน้าไม่มีจริง คนทำดีก็ยังเป็นที่สรรเสริญของคนทั่วไปในโลกนี้ เท่ากับยังได้หรือยังมีกำไร

โดยใจความก็คือ เรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้าหน้า หากพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะเห็นได้ว่า การดำเนินชีวิตโดยมีความเชื่อเรื่องกรรม และเรื่องโลกหน้าเป็นหลัก มีแต่เสมอตัว กับ ได้กำไร

ส่วนการดำเนินชีวิตโดยไม่มีความเชื่อเรื่องกรรม และเรื่องโลกหน้าเป็นหลัก มีแต่เสมอตัว กับ ขาดทุน

๓. ทรงชี้ให้เห็นว่า คนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม และเรื่องโลกหน้านั้น มีแนวโน้มไปทางชอบทำชั่วมากกว่าชอบทำดี ส่วนคนที่มีความเชื่อเรื่องกรรม และเรื่องโลกหน้านั้น มีแนวโน้มไปทางชอบทำดีมากกว่าชอบทำชั่ว

ในประเด็นนี้เท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นว่า เรื่องกรรมนั้นเป็นพื้นฐานของเรื่องศีลธรรม คนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรมจึงมักเป็นคนไม่มีศีลธรรม กล่าวได้ว่า หลักกรรมเป็นภาคทฤษฎีของศีลธรรม ส่วนศีลธรรมเป็นภาคปฏิบัติของหลักกรรม

๔.ทรงแสดงให้เห็นว่า เรื่องกรรม เรื่องโลกหน้า และเรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยทำให้เราอุ่นใจได้ว่า ชีวิตนี้จะไม่ขาดทุน เรียกว่า อปัณณกธรรม และเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากล
ไม่ว่าใครจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาอะไร เมื่อปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับผลเหมือนกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสอนของพระพุทธองค์ มิได้ทรงมุ่งให้คนมานับถือพระองค์ว่าเป็นศาสดาหรือเป็นผู้วิเศษที่จะช่วยบันดาลสิ่งทั้งหลายให้แค่ผู้นับถือ แต่ทรงมุ่งให้ผู้ฟังหรือผู้รับการสอนจากพระองค์ได้รับประโยชน์จากคำสอนของพระองค์ หรือ นำเอาคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต โดยคนเหล่านั้นจะนับถือพระองค์ว่าเป็นศาสดาของเขาหรือไม่ไม่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความในตอนต้นของอปัณณกสูตรดังกล่าวมานี้เป็นตัวอย่าง

การสอนของพระพุทธองค์ในลักษณะดังกล่าวนี้ ในบางพระสูตร พระองค์ก็ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น ในพรหมจริยสูตร ที่ได้ตรัสไว้ว่า

พรหมจรรย์นี้ เรามิได้ประพฤตเพื่อหลอกลวงคน เพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ เพื่ออานิสงส์คือลาภ สักการะและความสรรเสริญ เพื่อความเป็นเจ้าลัทธิ เพื่อหักล้างลัทธิอื่น เพื่อให้คนเห็นว่าเป็นผู้วิเศษ ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อความสำรวม เพื่อลดละกิเลส เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ (องฺ.จตุกฺก.21/25/33)

พระพุทธพจน์ในพระสูตรนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงหลักการสอนอย่างกว้างขวางที่สุดของพระพุทธองค์แล้ว ยังเท่ากับเป็นการประกาศท่าทีหรือหลักการในการประกาศศาสนาของพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรวมด้วย

และจากท่าทีหรือหลักการของพระพุทธองค์ดังกล่าวมานี้เอง ที่ได้กลายมาเป็นลักษณะของพุทธศาสนิกชนโดยรวมนับแต่อดีตจนปัจจุบันด้วย ดังจะเห็นได้ว่าการเผยแผ่หรือสั่งสอนพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนไม่ว่าในที่ใดไม่นิยมที่จะกระทบกระทั่งหรือเบียดเบียนศาสนาอื่น

ในบางพระสูตรแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าพระพุทธองค์จะสอนพระศาสนาด้วยท่าทีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็ยังมีบางคน (โดยเฉพาะนักบวชของบางลัทธิในขณะนั้น) มองดูการสั่งสอนพระศาสนาของพระพุทธองค์ว่า เป็นการพยายามลบล้างลัทธิศาสนาอื่น พยายามแย่งศาสนิกจากลัทธิศาสนาอื่น เป็นต้น ดังปรากฏในอุทุมพริกสูตร พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอธิบายแก้ความเข้าใจผิดของคนเหล่านั้น ใจความว่า

เรามิได้สอนเพราะอยากได้อันเตวาสิก (คือ ศิษย์) เพราะอยากให้ท่านละทิ้งอุเทศ (คือ ลัทธิเดิม) ของท่าน เพราะอยากให้ละทิ้งอาชีวะเดิมของท่าน เพราะอยากให้ท่านตั้งอยู่ในอกุศลธรรม เพราะอยากให้ท่านตกไปจากกุศลธรรม
แต่เราสอนเพื่อว่า ท่านจะได้ละอกุศลธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ที่ท่านยังละไม่ได้ เพื่อว่าท่านจะได้เจริญมรรคปัญญาและผลปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยปัญญาของตนเอง

(ที.ปา.11/31/90)

พุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ เป็นการย้ำให้เห็นถึงลักษณะและวิธีสอนของพระพุทธองค์ว่า มิได้ทรงมุ่งหักล้างหรือรุกรานใคร
แต่ทรงมุ่งเพียงเพื่อให้ผู้รับการสอนได้ประโยชน์จากคำสอนของพระองค์ หรือนำเอาสิ่งที่พระองค์สอนไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อตัวเขาเองเท่านั้น โดยที่คนเหล่านั้นจะนับถือหรือไม่นับถือพระองค์ มิใช่ประเด็นสำคัญ

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น สรุปได้ว่าหลักการสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ ทรงเลือกสอนเฉพาะสิ่งที่จริงและมีประโยชน์ ตามความเหมาะสมโดยมุ่งประโยชน์ของผู้รับการสอนเป็นสำคัญด้วยการสอนให้รู้ สอนให้คิดและสอนให้ทำ เพื่อเขาจักได้ละสิ่งที่ควรละ เจริญสิ่งที่ควรเจริญ ได้ด้วยปัญญาความสามารถของตัวเขาเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2022, 11:51 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2023, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ค. 2023, 19:23 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร