วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2021, 11:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ขุททกนิกายภาค ๑
เอกนิบาต
๑. อปัณณกวรรค
อปัณณกชาดก

ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ในพระเชตวันมหาวิหาร ตรัสอปันณกธรรมเทศนานี้ก่อน ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์สหายของท่านเศรษฐี.

ความพิสดารมีว่า วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของตน ให้ถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นอันมาก และนํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย และผ้าเครื่องปกปิด ไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น สละเภสัชและผ้าถวายแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง

สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ถวายบังคมพระตถาคตแล้ว แลดูพระพักตร์ของพระศาสดาอันงามสง่า ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ แลดูพระวรกายดุจกายพรหมอันประดับด้วยพระลักษณะและพระอนุพยัญชนะ แวดวงด้วยพระรัศมีด้านละวา

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาอันไพเราะ วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหม น่าสดับฟัง แก่สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส ลุกขึ้นถวายบังคมพระทศพล ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น มีมือถือของ หอมและดอกไม้เป็นต้น ไปพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำ อุโบสถกรรม พร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถีกลับไปกรุงราชคฤห์อีกแล ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของตนนั่นเอง ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ๗ - ๘ เดือน ได้เสด็จกลับไปยังพระเชตวันเหมือนเดิมอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวกอัญญเดียรถีย์ เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาอีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้เป็น ต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไปแล้ว ได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถามว่า

"ได้ยินว่า พวกท่านผู้เป็นอุบาสก ทำลายสรณะ ๓ เสียแล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ จริงหรือ "

ลำดับนั้น เมื่อพวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้พากันกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า"

พระศาสดาจึงตรัสว่า "ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุ เบื้องล่างจดอเวจี มหานรก เบื้องบนจดภวัคคพรหม และตามขวางหาประมาณมิได้ ชื่อว่าบุคคล เช่นกับพระพุทธเจ้าโดยพระคุณทั้งหลาย ย่อมไม่มี บุคคลที่ยิ่งกว่าจักมีมาแต่ไหน"

แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัยที่ทรงประกาศไว้ด้วย พระสูตรทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่า

"บุคคลจะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ผู้ถึงพระรัตนตรัยอัน ประกอบด้วยอุดมคุณอย่างนี้ ชื่อว่าจะเป็นผู้บังเกิดในนรกย่อมไม่มี อนึ่งพ้นจากการบังเกิดในอบายแล้ว ยังจะเกิดขึ้นในเทวโลกได้เสวยมหาสมบัติ เพราะเหตุไร พวกท่านจึงพากันทำลายสรณะเห็นปานนี้ แล้วถึงอัญญเดียรถีย์ เป็นสรณะ กระทำกรรมอันไม่สมควรเลย"

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงโอวาทอุบาสกทั้งหลาย โดยประการต่าง ๆ อย่างนี้แล้ว ได้ตรัสว่า

"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลาย ถือเอา สิ่งที่ไม่ใช่สรณะ ว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือ เอาผิด ได้ตกเป็นภักษาหารของยักษ์ในทางกันดาร ซึ่งอมนุษย์หวงแหนแล้ว ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ส่วนเหล่ามนุษย์ผู้ถือการยึดถือชอบธรรม ยึด ถือความแน่นอน ยึดถือไม่ผิด ได้ถึงความสวัสดีในทางกันดารนั้นนั่นเอง"

ครั้นตรัสแล้วได้ทรงนิ่งเสีย

ลำดับนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีลุกขึ้น จากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวชมเชยแล้ว ประคองอัญชลี เหนือเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า

"บัดนี้ การที่พวกอุบาสกเหล่านี้ ทำลายสรณะอันอุดมแล้ว ถือสรณะยึดถือเอาด้วยการคาดคะเน ยึดถือเอาอย่างผิด ๆ ปรากฏแก่พระองค์ก่อน ส่วนในปางก่อนพวกมนุษย์ผู้ยึดถือด้วยการคาดคะเน มีความพินาศ และพวกมนุษย์ผู้ยึดถือโดยชอบธรรม มีความสวัสดีในทางกันดารที่อมนุษย์หวงแหนยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์เลย ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงกระทำเหตุนี้ ให้ปรากฏ เหมือนยังพระจันทร์เต็มดวงให้เด่นขึ้นในอากาศฉะนั้น."

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"ดูก่อนคฤหบดี เราแลบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศในกาลหาปริมาณมิได้ ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ก็เพื่อจะตัดความสงสัยของชาวโลกนั่นแล" ท่านจงเงี่ยโสตฟังโดยเคารพ แล้วได้ทรงเล่าอดีตนิทานไว้ดังนี้

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัตอยู่ในพระนครพาราณสี แคว้นกาสิกรัฐ ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน ครั้นเติบใหญ่ได้เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ในการเดินทางไปค้าขายของพระโพธิสัตว์นั้น บางครั้งจากเดินทางจากต้นแดนไปยังปลายแดน บางครั้งจากปลายแดน ไปยังต้นแดน

ในเมืองพาราณสีนั่นเองมีบุตรพ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่ง บุตรพ่อค้าเกวียนคนนั้น เป็นคนเขลา เป็นคนไม่มีปัญญา ไม่ฉลาดในอุบาย ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์มาเอาสินค้ามีค่ามาจากเมืองพาราณสีบันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่ ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียน ผู้เขลานั้นก็บรรทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่เหมือนกัน พระโพธิสัตว์คิดว่า ถ้าบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้จักไปพร้อมกับเราทีเดียวไซร้ เมื่อเกวียนพันเล่มไปพร้อมกัน แม้ทางก็จักไม่พอเดิน ฟืน และน้ำเป็นต้น ของพวกมนุษย์ก็ดี หญ้าของพวกโคก็ดี จักหาได้ยาก บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้หรือเรา ควรจะไปข้างหน้าจึงจะสมควร

พระโพธิสัตว์นั้นจึงเรียกบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นมาบอกเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า

"เราทั้งสองไม่อาจไปรวมกัน ท่านจักไปก่อนหรือจะให้เราไปก่อน"

บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นคิดว่า เมื่อเราไปข้างหน้าจะมี อานิสงส์มาก เราจักไปโดยหนทางยังไม่แตกเลย พวกโคจักได้เคี้ยวกินหญ้าที่ยังไม่มีใครถูกต้อง พวกผู้คนจักมีผักอันเกื้อกูลแก่แกงซึ่งยังไม่ได้จับต้อง น้ำจักใส เราเมื่อไปตามชอบใจ จักตั้งราคาขายสินค้าได้ บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นจึงกล่าวว่า

"สหาย เราจักไปก่อน"

พระโพธิสัตว์ได้เห็นการไปทีหลังว่ามีอานิสงส์มาก โดยทรงคิดอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้เมื่อไปก่อน จักกระทำหนทางขรุขระที่ให้เรียบเตียน เราจักเดินทางไปตามทางที่คนเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อโคงานซึ่งเดินทางไปก่อนกินหญ้าแก่และแข็ง โคทั้งหลายของเราจักเคี้ยวกินหญ้าอร่อยซึ่งงอกขึ้นมาใหม่ ผักซึ่งใช้ทำแกงของพวกมนุษย์ ซึ่งงอกขึ้นจากที่ที่ถูกเด็ดเอาไปจักแตกยอดออกมาใหม่ จักเป็นของอร่อย ในที่ที่ไม่มีน้ำ คนเหล่านี้จักขุดบ่อทำให้น้ำเกิดขึ้น เราจักดื่มน้ำในบ่อที่คนเหล่านี้ขุดไว้ การตั้งราคาสินค้า เราไปข้างหลังจักขายสินค้า ตามราคาที่คนเหล่านี้ตั้งไว้ พระโพธิสัตว์นั้นเห็นอานิสงส์มีประมาณเท่านี้จึงกล่าวว่า

"ดูก่อนสหาย ท่านจงไปก่อนเถิด"

บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลารับคำแล้ว จึงเทียมเกวียนทั้งหลายเป็นการใหญ่ ออกไปล่วงพ้นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ถึงปากทางกันดาร โดยลำดับ.

ชื่อว่ากันดารมี ๕ อย่าง คือ กันดารเพราะโจร ๑ กันดารเพราะสัตว์ร้าย ๑ กันดารเพราะขาดน้ำ ๑ กันดารเพราะอมนุษย์ ๑ กันดารเพราะอาหารน้อย ๑ กันดารในที่นี้นั้นหมายเอากันดารเพราะการขาดน้ำและกันดารเพราะมีอมนุษย์สิงอยู่ เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้า เกวียนผู้เขลานั้นจึงตั้งตุ่มใหญ่ ๆ ไว้บนเกวียนทั้งหลาย บรรจุเต็มด้วยน้ำ เดินทางกันดาร ๖๐ โยชน์.

ครั้นในเวลาที่บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์ผู้อาศัยอยู่ในทางกันดารคิดว่า เราจักให้พวกมนุษย์เหล่านี้ ทิ้งน้ำที่บรรทุกมาเสีย ทำให้อ่อนเพลียกระปลกกระเปลี้ยแล้วกินมันทั้งหมด จึงนิรมิตยานน้อย น่ารื่นรมย์ เทียมด้วย โคหนุ่มขาวปลอด ห้อมล้อมด้วยอมนุษย์ ๑๒ คน ชุ่มด้วยน้ำและโคลน ถืออาวุธพร้อมทั้งโล่เป็นต้น ประดับดอกอุบลและโกมุท มีผมเปียกและผ้าเปียกนั่งมาบนยานน้อยนั้น มีล้อยานเปื้อนเปีอกตม เดินสวนทางมา

ธรรมดาว่าพ่อค้าเกวียนทั้งหลาย เมื่อใดที่ลมพัดมาข้างหน้า เมื่อนั้นก็จะนั่งบนยานน้อยคันหน้า ห้อมล้อมด้วยคนอุปัฏฐาก เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่เกิดขึ้น ในกาลใด ลมพัดมาข้างหลัง ในกาลนั้น ก็หลีกยานไปอยู่ทางข้างหลัง ก็ในกาลนั้น ลมพัดได้มาข้างหน้า เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น จึงได้ไปข้างหน้า ยักษ์นั้นเห็นบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นกำลังมาอยู่ จึงให้ยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง และได้ทำการปฏิสันถารกับบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นว่า

"ท่านทั้งหลายจะไปไหน"

ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนนำยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง เพื่อให้ให้เกวียนสินค้าทั้งหลายที่ตามหลังอยู่ไปก่อน แล้วยืนกล่าวกะยักษ์ว่า

"ท่านผู้เจริญ พวกเรามาจากเมืองพาราณสี ส่วนท่านทั้งหลายประดับดอกอุบลและโกมุท ถือดอกปทุมและบุณฑริกเป็นต้น เคี้ยวกินเหง้าบัว เปื้อนด้วยเปือกตม มีหยดน้ำไหล พากันเดินมา ในหนทางที่ท่านทั้งหลายผ่านมา ฝนตกหรือหนอ มีสระน้ำอันดารดาษด้วยดอกอุบลเป็นต้นหรือ"

ยักษ์ได้ฟังถ้อยคำของบุตรพ่อค้าเกวียนนั้น แล้วจึงกล่าวว่า

"สหาย ท่านพูดอะไร ที่นั่น ราวป่าเขียวปรากฏอยู่ ตั้งแต่ที่นั้นไป ป่าทั้งสิ้นมีน้ำอยู่ทั่วไป ฝนตกเป็นประจำ แม้แต่ซอกเขาก็เต็มไปด้วยน้ำ ในที่นั้น ๆ มีสระน้ำดารดาษด้วยดอกปทุม"

แล้วยักษ์จึงถามว่า

"ท่านพาเกวียนเหล่านี้มา จะไปไหนกัน"

บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า "จะไปยังชนบทชื่อโน้น"

ยักษ์กล่าวว่า "ในเกวียนเหล่านี้บรรทุกสินค้าอะไรหรือ ?"

บุตรพ่อค้าจึงตอบชื่อสินค้าให้ทราบ

ยักษ์กล่าวว่า "เกวียนที่มากำลังข้างหลังดูเป็นเกวียนที่หนักมาก ในเกวียนนั้นมีสินค้าอะไร"

บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า "ในเกวียนนั้นมีน้ำ"

ยักษ์กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายนำน้ำมาข้างหลังด้วย ได้กระทำความเนิ่นช้าแล้ว ก็ตั้งแต่นี้ไป ความกังวลเรื่องน้ำย่อมไม่มี ข้างหน้ามีน้ำมาก ท่านทั้งหลายจงทุบตุ่ม เทน้ำทิ้งเสีย จงไปด้วยเกวียน เบาเถิด"

ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงพูดว่า "ท่านทั้งหลายจงไปเถอะ ความชักช้าจะมีแก่พวกเรา แล้วเดินไปหน่อยหนึ่ง ถึงที่ที่คนเหล่านั้นมองไม่เห็น ก็ได้ไปยังนครยักษ์ของตนนั่นแล."

ฝ่ายพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น เพราะความที่ตนเป็นคนเขลาจึงเชื่อคำของยักษ์นั้น จึงให้ทุบตุ่มทั้งหลายทิ้งทั้งหมดไม่เหลือน้ำแม้สักฟายมือเดียว แล้วขับเกวียนไป แต่ว่าในทางข้างหน้าน้ำแม้แต่นิดเดียวก็มิได้มี มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้น้ำดื่ม ก็พากันลำบากแล้ว คนเหล่านั้นพากันไปจนพระอาทิตย์อัสดง จึงปลดเกวียน พักเกวียนให้เป็นวงแล้วผูกโคที่ล้อเกวียน น้ำก็ไม่มีให้แก่พวกโค ข้าวปลาอาหารก็ไม่มีแก่พวกมนุษย์ พวกพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นก็มีกำลังเปลี้ยลง ไม่ใส่ใจในการงาน พากันนอนหลับไปในนั้น ๆ

ครั้นถึงเวลากลางคืน ยักษ์ทั้งหลายพากันมาจากที่อยู่ ฆ่าโคและมนุษย์ทั้งหมดนั้นให้ถึงแก่ความตาย แล้วกินเนื้อ ของโคและมนุษย์เหล่านั้น ไม่มีเหลือแม้แต่กระดูก แล้วจึงพากันไป ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะอาศัยบุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาคนเดียว ด้วยประการอย่างนี้ กระดูกทั้งหลายก็ได้กระจัดกระจายไปในทิศน้อยใหญ่ เกวียน ๕๐๐ เล่มได้ตั้งอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มอย่างเดิมแล.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์แล จำเดิมแต่วันที่บุตรพ่อค้าเกวียนโง่ออกไปแล้ว ก็ยับยั้งอยู่ประมาณกึ่งเดือน จึงพากันออกจากพระนครพร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถึงปากทางกันดารโดยลำดับ พระโพธิสัตว์นั้นจึงให้ใส่น้ำให้เต็มตุ่ม ณ ปากทางกันดารนั้น แล้วให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องภายในกองค่าย ประกาศให้พวกชนประชุมกันแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าพวกท่านยังไม่ได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า อย่าได้เทน้ำ แม้สักเท่าฟายมือหนึ่งทีเดียว ชื่อว่าต้นไม้มีพิษ ย่อมมีในทางกันดาร ใบไม้ดอกไม้หรือผลไม้ ท่านทั้งหลายไม่เคยกินมาก่อนมีอยู่ พวกท่านถ้ายังไม่ได้ไต่ถามข้าพเจ้า ก็จงอย่าได้เคี้ยวกิน"

ครั้นให้โอวาทแก่คนทั้งหลายอย่างนี้แล้วจึงเดินทางกันดารด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม.

เมื่อพระโพธิสัตว์ถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์นั้นได้แสดงตนใน หนทางสวนกันแก่พระโพธิสัตว์ โดยนัยก่อนนั่นแหละ พระโพธิสัตว์พอเห็นยักษ์นั้นเท่านั้นก็ได้รู้ว่า ในทางกันดารนี้แหละ ไม่มีน้ำ นี้ชื่อว่ากันดารเพราะ ไม่มีน้ำ อนึ่ง ผู้นี้ไม่มีท่าทีเกรงกลัว มีนัยน์ตาแดง แม้เงาของเขาก็ไม่ปรากฏ บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาพร้อมทั้งบริวารคงถูกยักษ์นี้กินเสียแล้วโดยไม่ต้องสงสัย แต่ยักษ์นี้เห็นจะไม่รู้ความที่เราเป็นบัณฑิต และความที่เราเป็นผู้ฉลาดในอุบาย.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นกล่าวกะยักษ์นั้นว่า

"พวกท่านจงไปเถิด พวกเราชื่อว่าเป็นพ่อค้า ยังไม่เห็นน้ำอื่นจะไม่ทิ้งน้ำที่บรรทุกเอามา แต่เราทั้งหลายจะทิ้งในที่ที่ได้เห็นแล้ว"

ทำเกวียนทั้งหลายให้เบาแล้วจึงไป ฝ่ายยักษ์ ไปได้หน่อยหนึ่ง เข้าถึงที่ที่มองไม่เห็น แล้วไปนครยักษ์ของตนทีเดียว

เมื่อยักษ์ไปแล้ว คนทั้งปวงจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า

"ข้าแต่เจ้านาย คนเหล่านี้กล่าวว่า นั่นแนวป่าเขียวปรากฏอยู่ จำเดิมแต่นั้นไป ฝนจักตกเป็นนิตย์ เป็นผู้สวมมาลัยดอกอุบลและโกมุท ถือกำดอกปทุมและบุณฑริก เคี้ยวกินเหง้าบัว มีผ้าเปียก และมีผมเปียก มีหยาดน้ำและโคลนไหลหยดมา พวกเราจักทิ้งน้ำ มีเกวียนเบาจะไปได้เร็ว"

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของคนเหล่านั้นแล้วจึงให้พักเกวียน ให้คนทั้งหมดประชุมกันแล้วถามว่า

"พวกท่านเคยฟังมาจากใคร ๆ หรือว่า ในที่กันดารนี้ มีสระน้ำหรือสระโบกขรณี"

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ข้าแต่เจ้าน้อย ไม่เคยได้ยิน"

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "นี้ชื่อว่ากันดารเพราะไม่มีน้ำ บัดนี้ คนพวกหนึ่งพูดว่า เบื้องหน้าแต่แนวป่า เขียวนั่น ฝนตก ธรรมดาว่าลมฝนจะพัดไปถึงที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "พัดไปได้ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ เจ้านาย"

พระโพธิสัตว์ ถามว่า "ลมกับฝนกระทบร่างกายของบุคคลแม้คนหนึ่ง บรรดาพวกท่าน มีอยู่หรือ "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ไม่มีขอรับ"

พระโพธิสัตว์ถามว่า "ธรรมดา ก้อนเมฆย่อมปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ในที่ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ "

พระโพธิสัตว์ถาม "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ เห็น ก้อนเมฆก้อนหนึ่ง มีอยู่หรือ ?"

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ไม่มีขอรับ"

พระโพธิสัตว์ "ธรรมดาสายฟ้าปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลาย "ในที่ประมาณ ๔ - ๕ โยชน์ ขอรับ."

พระโพธิสัตว์ "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่เห็นแสงสว่างของสายฟ้า มีอยู่หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่มีขอรับ."

พระโพธิสัตว์ "ธรรมดาเสียงฟ้าร้องจะได้ยินในที่ประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลาย "ในที่ ๑ - ๒ โยชน์ ขอรับ. "

พระโพธิสัตว์ "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง มีอยู่ หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่มีขอรับ."

พระโพธิสัตว์ "ท่านทั้งหลายรู้จักคนเหล่านี้หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่รู้จักขอรับ."

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "คนเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ คนเหล่านี้เป็นยักษ์ พวกมันจักมาเพื่อยุให้พวกเราทิ้งน้ำ กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจะเคี้ยวกิน บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาซึ่งไปข้างหน้า ไม่ฉลาดในอุบาย เขาคงถูกยักษ์เหล่านี้หลอกให้ทิ้งน้ำ ปล่อยให้ลำบากแล้วเคี้ยวกินเสียเป็นแน่ เกวียน ๕๐๐ เล่ม จักจอดอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่นแหละ วันนี้ พวกเราจักเห็นเกวียนเหล่านั้น ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทิ้งน้ำแม้แต่ฟายมือหนึ่ง จงรีบขับเกวียนไปเร็ว ๆ"

เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นมาถึง ก็เห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่น แหละ กระดูกของมนุษย์ทั้งหลายและของเหล่าโคกระจัดกระจาย อยู่ในทิศน้อยใหญ่ จึงให้ปลดเกวียน ให้ตั้งกองค่ายโดยเอาเกวียนวงรอบ ให้คนและโคกินอาหารเย็น ต่อเวลายังวันให้โคทั้งหลายนอนตรงกลางกลุ่มคนทั้งหลาย ตนเองพาเอาคนผู้มีกำลังแข็งแรง มือถือดาบ ตั้งการอารักขาตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม จนอรุณขึ้น วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ทำกิจทั้งปวงให้เสร็จแต่เช้าตรู่ ให้โคทั้งหลายกินแล้วให้ทิ้งเกวียนที่ไม่แข็งแรงเสีย ให้เอาแต่เกวียนที่แน่นหนา ให้ทิ้งสิ่งของที่มีราคาน้อยเสีย ให้ขนสิ่งของที่มีค่ามากขึ้น ไปยังที่ตนปรารถนา ขายสิ่งของด้วยมูลค่า ๒ เท่า ๓ เท่า ได้พาบริษัท ทั้งหมดไปยังนครของตน นั่นแลอีก.

พระศาสดาครั้นตรัสธรรมกถานี้แล้วตรัสว่า

"ดูก่อนคฤหบดี ในกาล ก่อน คนผู้มีปรกติยึดถือโดยการคาดคะเน ถึงความพินาศใหญ่หลวงด้วย ประการอย่างนี้ ส่วนคนผู้มีปรกติยึดถือตามความจริง พ้นจากเงื้อมือของ พวกอมนุษย์ ไปถึงที่ที่ปรารถนา ๆ โดยสวัสดี แล้วกลับมาเฉพาะยังที่อยู่ของตนได้"

พระศาสดา ครั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงประมวลชาดกมาแสดงทรงทำพระเทศนาให้จบ ลงว่า...

"บุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาในสมัยนั้น ได้เป็น พระเทวทัต ในบัดนี้ แม้บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนโง่นั้นก็ได้เป็นบริษัทของเทวทัต ในบัดนี้ บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิต ในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท ในบัดนี้ ส่วนบุตรของพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต."


คาถาประจำชาดก

อาปัณณะกะฐานะเมเก ทุติยัง อาหุ ตักกิกา

เอตะทัญญายะ เมธาวี ตัง คัณเห ยะทะปัณณะกัง

การตัดสินใจโดยการถือวิธีการคาดคะเนเดาเอา จัดว่าถือผิด

ควรถือตามเหตุผลเป็นจริง จึงจัดว่าถูก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2021, 12:31 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 25 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร