วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 เม.ย. 2021, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


...ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไป
โดยไม่ได้ทำบุญทำทาน รักษาศีล
ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม

.เพราะจะเป็นการเสียโอกาส
“เสียเวลา ..เสียชาติเกิด
เกิดมาแล้วไม่ได้รับประโยชน์จาก
พระพุทธศาสนา” .
.........................................
.
กำลังใจ41 กัณฑ์ 365
ธรรมะบนเขา 26/8/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








เงื่อนไขของการใช้จิต
หรือใช้สติปัญญาให้เกิดผลที่ดีคือ
จิตใจที่ปราศจากความพอใจและไม่พอใจ
ความยินดีและความยินร้าย
นี่แหละคือบทบาทของสมาธิภาวนา

ชยสาโรภิกขุ








#ขั้นตอนการปฏิบัติเข้าสู่ทางนิพพาน

1. ให้ตั้งสัจจะบารมีว่า เราจะรักษาศีล 5 ให้เป็นปกติทุก ๆ วันนับต่อจากนี้ - ศีลบารมี
ศีล จะเป็นตัวควบคุมกายและวาจาของเรา

2. สร้างสมาธิบารมี โดยการปฏิบัติกรรมฐานทุกวัน
สมาธิ จะเป็นตัวควบคุมจิตและใจของเราจากกิเลสต่าง ๆ
ถ้าสมาธิดี สติเกิดและมีกําลังมากขึ้น
ปัญญาจะเกิดตามมา
เมื่อกิเลสมากระทบ
ก็จะเห็นสัจธรรมของไตรลักษณ์
ทุกสิ่งมีเกิด ตั้งอยู่และดับไป ไม่มีสิ่งใดอยู่คงทนถาวร
แล้วสติจะทําให้จิตเราปล่อยวางจากกิเลสต่าง ๆ
ที่มากระทบได้เอง จิตก็เข้าสู่ภาวะอุเบกขา
เข้าสู่ความสงบต่อไป

ใช้สติ ให้เห็นอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตของเรา
กรรมฐานที่ใช้เจริญสติ: สติปัฏฐาน 4, กาย 32, มรณานุสติ

ขั้นตอนการปฏิบัติเข้าสู่ทางนิพพาน
1. แยกกาย จิต เวทนา ว่ามันเป็นคนละส่วนกัน

2. ใช้จิตพิจารณากายในกายบ่อย ๆ
จะสามารถปล่อยวางจิตจากกายหยาบที่ยึดมั่นอยู่ได้

3. สติพิจารณาเห็นกายเป็นขันธ์ 5 มีการแตกดับ
เห็นจิตไม่ใช่กาย และกายไม่ใช่จิต แยกกันชัดเจน
จะเข้าสู่ขั้นโสดาบัน

4. สติมีกําลังมากขึ้น และละเอียดขึ้น
ถ้ายังคงรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์และคงสมาธิไว้ได้ดี
จะสามารถเข้าสู่ระดับ พระสกิทาคามีผล
- ละความโลภ ด้วยการปล่อยวางได้
- ละความโกรธด้วยจิตที่มีเมตตากรุณาได้
- ละจากกามได้ ด้วยการปฏิบัติอสุภกรรมฐาน
พิจารณากายในกาย เป็นของไม่สวยงาม
เพื่อละจากกามได้ (พิจารณากายในกาม)

5. เริ่มรักษาศีล 8 เพื่อเพิ่มกําลังสติให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ความโลภ โกรธ ความไม่พอใจ จะถูกละจากจิตได้ง่ายขึ้น
สติคงตัว เห็นกิเลสเกิดขึ้นและดับลงได้เร็วขึ้น

6. สติ จะไปพิจารณากายในกายที่ละเอียดมากขึ้น
ปฏิบัติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน
เพื่อให้จิตเข้าสู่ความว่างบ่อย ๆ ขึ้น
จิตจะเห็นกายในอดีต ปัจจุบันและอนาคตว่ามันไม่เที่ยง
ทั้งของตนเอง ผู้อื่นและทุกสิ่งในโลกนี้
เข้าสู่ พระอนาคามีผล
จะดับความโลภ โกรธ กาม สิ้นออกจากใจได้

7. จิตจะเดินทางเข้าสู่ความเงียบ
ความสุขเกิดขึ้น แต่จิตจะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใด ๆ
จิตเริ่มปล่อยวางจากกายของตนเอง
กายของผู้อื่นและวัตถุต่าง ๆ ในโลกนี้
** แต่จิตยังมีความหลงในจิตปัจจุบันว่าเป็นตัวจิตอยู่
เป็นอวิชชาในส่วนที่ละเอียด**
คือ จิตเป็นกิเลสทั้งก้อนเลย
จิตกับอวิชชาเป็นสิ่งเดียวกัน แยกกันไม่ได้เลย
เป็นจิตสะอาด แต่ไม่บริสุทธิ์

8. ต้องแยกกายและจิตออกจากเวทนา
สังขาร วิญญาณ สัญญา (ขันธ์ 5)
ด้วยสติที่ละเอียดมาก ๆ ขึ้นเท่านั้น
สติที่ละเอียดถึงจะทําลายอวิชชาที่ละเอียดออกได้

9. จิตเข้าสู่ภาวะธรรมธาตุ สะอาดและบริสุทธิ์
แยกจิตจากขันธ์ 5 ได้ว่าจิตนี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา
ไม่มีสังขาร ไม่มีสัญญา ไม่มีวิญญาณ
สติอัตโนมัติ จะทําลายกิเลสทั้งหมดเองโดยสิ้นเชิง
เข้าใจอริยสัจ 4 แท้จริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
จึงจะเข้าสู่ภาวะนิพพานในที่สุด

ธรรมะคําสอนพระอาจารย์อัครเดช(ตั๋น) ถิรจิตโต
วัดบุญญาวาส อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
26 มีนาคม 2555
น้อมกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยเศียรเกล้า









#ขันธ์ก็เป็นสมมุติ_จิตที่บริสุทธิ์แล้วไม่ใช่สมมุติ

“การปฏิบัติตนเองก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงชั้นใดภูมิใด ถ้าคำนึงก็ให้คำนึงถึงความพ้นทุกข์ คือพ้นจากเครื่องกดขี่บังคับทรมานอยู่ภายในใจนี้ เมื่อเต็มที่ภายในใจหาสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้แล้วก็รู้อย่างเต็มใจ จะว่าโลกธาตุไม่มีก็พูดได้เพราะไม่มีภายในใจ แดนสมมุติในสามโลกธาตุนี้ท่านเรียกว่าแดนสมมุติ สมมุติอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียดเรียกว่าสมมุติด้วยกันไม่มีในจิตใจ ใจพ้นแล้วจากแดนสมมุตินี้ ทั้งที่ใจก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์และรู้ ๆ อยู่ในท่ามกลางแห่งสามแดนโลกธาตุที่เป็นสมมุตินี้ เฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างขันธ์กับจิต

ขันธ์ก็เป็นสมมุติ ไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ที่มีอยู่ในร่างกาย สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันเป็นกระแสของจิต นี่เป็นความสมมุติทั้งมวล แต่ธรรมชาติอันแท้จริงคือจิตที่บริสุทธิ์แล้วไม่ใช่ความสมมุติทั้งห้านี้ หรือไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี้ เป็นเพียงอาศัยกันอยู่เท่านั้น เหมือนขันธ์ ๕ นี้ไม่มีก็ได้ คือไม่มีที่จะไปเสียดแทงจิตใจให้ได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ หิวกระหายก็ทราบในเวลาที่ครองขันธ์อยู่ ก็ทราบอยู่ภายในของขันธ์ เมื่อยหิวอ่อนเพลียก็ทราบอยู่ภายในขันธ์ ว่ามันลดกำลังของมันลงไป มันต้องการอะไรก็ทราบว่าอาการทั้ง ๕ นี้ต้องการอะไร เมื่อหมดทางที่จะสืบต่อกันต่อไปแล้วขันธ์สลายก็สลายไปตามสภาพของมัน ธรรมชาติที่ไม่ใช่สมมุติ คือ ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นก็อยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ก็มีเท่านั้น

ถ้าปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้แล้ว เรียกว่าสร้างพระได้สมบูรณ์เต็มที่ อยู่ไหนก็อยู่เถอะที่นี่ เรื่องภัยที่เคยเกิดทางหูทางตาทางจมูกทางลิ้นทางกายและเกิดขึ้นจากทางใจ เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส กว้างแคบขนาดไหนนั้นหมดปัญหาไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรสืบต่อกันแล้ว นี่กล่าวถึงผล เหตุก็ดังที่อธิบายให้ฟังแล้ว อย่าอิดหนาระอาใจต่อความเพียรและความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความเพียร ให้ถือความมุ่งมั่นเป็นสำคัญในหลักของการดำเนินงานจะไม่ท้อถอยอ่อนแอ และจะถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ในวันหนึ่งโดยไม่สงสัย”

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๕








#ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ
ㆍ #เพราะพุทโธเป็นกริยาของใจ ㆍ

หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า

ที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ - พาน - สระ อุ - ท - ทหาร สะกด สระ โอ ตัว ธ - ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง

ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้ว มันสงบวูบลงไปนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบาน พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันหายไปแล้ว ทำไมมัน
จึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา

พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่นเบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปิติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง

แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธ ๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนี้ เราก็ต้องท่อง พุทโธ ๆ ๆ ๆ

เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขาหรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียก
ชื่อเขา ที่นี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกช้ำ ๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธ ๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง

ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้าควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบานจะหายไป เพราะสมาธิถอน

ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไปจิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น

ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียด ๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด

แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบ ๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้วจึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด

ถ้าหากจิตตวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป

#หลวงปู่พุธ #ฐานิโย










พระไม่ได้มีหน้าที่ทำนายทายทักญาติโยม ตายปีเท่านั้น เดือนนั้น มานั่งดูหมอดูดวง พระไม่ใช่

#ดูกิเลสในหัวใจของเจ้าของ
#ให้มันหมดไปวันหนึ่งๆก็พอแล้ว

ถ้ากิเลสมันหมดเมื่อไหร่ เราก็สามารถมองทะลุสิ่งบดบังได้เท่านั้นแหละ เมื่อมองทะลุแล้วเราก็ไม่ใช่โอ้อวดมดเท็จอะไร แสดงความยะโสโอหัง เป็นผู้รู้ผู้อะไรนี้ไม่ใช่พระ
.
ยิ่งรู้เท่าไหร่ยิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ ยิ่งต้องหุบปากมากเท่านั้น พูดอะไรออกไปแล้วมันจะทำให้คนอื่นวิตกทุกข์ร้อน พูดไปทำไม มีประโยชน์อะไร แต่เว้นไว้แต่เค้าให้มาดูเราก็เออดูๆไปยังงั้นเองแหละ ไม่ใช่ดูแบบชนิดว่าต้องไปบวกเลขผานาทีแบบคนนู้น ดูแบบหมอดูแบบนั้น เค้าเอาตำรามาดู
.
แต่ไอเราดู ปี วัน เดือนนิดๆหน่อยๆ เราก็พอรู้แล้วว่าคนๆนี้มันอยู่ในภาวะการเช่นใด อยู่ในภาวะจะมีลาภมีโชคหรือว่าอยู่ในภาวะของการขับขัน ทั้งสีสันวรรณะตลอดจนกระทั่งกิริยาเคลื่อนไหวมันก็เป็นเครื่องบ่งบอกหมดนั้นแหละ คนเรา ตกปีที่มันทำให้วิตกทุกข์ร้อนหงุดหงิดหรือเงื่องหง่อยเราก็ต้องรู้ว่ามาจากสาเหตุอะไร
.
มันไม่ต้องไปดูหรอกคนเราน่ะ ดูใจของเจ้าของน่ะ ดูทุกวันทุกวันทุกวันเนี่ย ว่าวันนึงเนี่ยเราทำจิตใจเราสูงเท่าไหร่ ต่ำเท่าไหร่ เป็นมนุษย์เท่าไหร่ เป็นเทพเป็นพรหมเท่าไหร่ เป็นผีเป็นเปรตเท่าไหร่ เวลามันอยากนู่นอยากนี่โดยไม่มีเหตุผลเนีย ก็เป็นผีเป็นเปรตไป
.
.
ยามใดนี่เรามีจิตใจเห็น ทำบุญทำกุศล มีจิตใจที่จะสร้างบุญสร้างกุศล จิตใจของเราดีขึ้น อันนั้นก็เป็นจิตเทพจิตเทวดา ดูซิเรามีศีลเพียงพอไหมต่อการที่เราดำรงความเป็นมนุษย์ของเรา อยู่ต่ำกว่าศีลห้าหรือเปล่า ถ้ามันต่ำกว่าศีลห้าให้รีบระวัง รีบเพิ่มเติมให้มันเต็มซะ เพราะมันเต็ม มันเติมได้ศีลห้านี่ พร่องไปก็เติมได้ ...
.
หลวงปู่บุญส่ง ฐิตสาโร
วัดสันติวนาราม จ.จันทบุรี








" ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมา
ต้านทานต่อความแก่
ความเจ็บ ความตายนี้ได้

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็น
ของเที่ยงยั่งยืน ตั้งแต่องค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีบุญญานุภาพอันใหญ่ยิ่ง

ก็ยังทรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
ต่อไปไม่ได้ นั้นจึงแสดงว่า
ในโลกนี้ไม่มีอำนาจใดๆ
ที่จะมาต้านทานต่อ
"ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย" นี้ได้เลย

ก็ควรจะพากันหมั่นนึกถึง
ความตายนี้แหละบ่อยๆ
นึกถึงชีวิตเป็นของ
ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ความตายเป็นของแน่

เมื่อเรานึกบ่อยๆ อย่างนี้
มันจะได้ตื่นตัว
จะได้เตรียมตัวไว้เสมอ

เพราะว่าอายุมากเข้ามาแล้ว
มันก็อุปมาเหมือนอย่าง
ไม้ใกล้ฝั่ง น้ำก็เซาะไป
ทีละน้อยๆ รากก็ปรากฏไป
ทีละน้อยๆ ไปในที่สุด
น้ำหนักของต้นไม้
มันก็พาจากฝั่ง พังลงไป
น้ำก็พัดพาไหลไปต้นไม้นั้น "

โอวาทธรรม
หลวงปู่เหรียญ
วรลาโภ








พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านสอนและย้ำอยู่เสมอว่า ถ้าอยากสบายในอนาคต ก็ควรทำบุญให้มากๆ ไม่ใช่เฉพาะบุญจากทรัพย์ แต่รวมถึงบุญในการรักษาศีล และบุญในการทำสมาธิภาวนาด้วย เหตุผลก็คือ จะได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

การให้ทาน ส่งผลให้ มีทรัพย์มาก ทำอะไรก็รวย

การรักษาศีล ส่งผลให้ รูปร่างหน้าตาดี คนรักคนชอบ มีความสุขกายสบายใจ

การเจริญภาวนา ส่งผลให้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไหวพริบดี มีความคิดสร้างสรรค์

หรือบางคนอาจจะคิดว่า ไม่ได้หวังมนุษย์สมบัติ บุญต่างๆเหล่านี้จึงไม่ต้องการ แต่คนที่เขามีปัญญาจริงๆ สิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นคุณงามความดีนั้น เขาทำหมดนั่นแหละ แต่ไม่หวังผลตอบแทนเท่านั้นเอง

ดังนั้นถึงแม้เราจะปรารถนาพระนิพพาน ก็ควรทำบุญให้ครบถ้วนด้วยความศรัทธา เพราะเราจะทราบได้อย่างไรว่า เราจะทำตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในชาตินี้ หากเราเป็นคนประมาทไม่ทำบุญไว้ก่อน ชาติต่อๆไปนั้นลำบากแน่นอน

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่ไม อินทสิริ
วัดป่าภูเขาหลวง จ.นครราชสีมา








"เราอย่าเป็นคนหูเบา เราอย่าไปพูดตรง
พูดขวานผ่าซาก เดี๋ยวจะหาเรื่องหาราว
ให้เขาเกลียด เราอย่าไปทำตามความสะใจ
ความรุนแรง เพราะว่าความรักความสามัคคี
เป็นเรื่องใหญ่

เราต้องรู้จักรักษาน้ำใจผู้อื่น ไม่เกลียดผู้อื่น
ถึงเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือคนยากจน
เขาก็มีหัวใจเหมือนกัน คนเรามันก็อยากจะเป็น
เจ้านาย เป็นคนมีอำนาจวาสนาทุกคน

แต่ถ้ามันกำลังจะแตกแยกกันแล้ว ก็หาวิธี
ให้มันกลับมาเหมือนเดิม ที่มันกำลังจะแตกแยก
ให้หยุดไว้ก่อน"

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม








“ทำอะไรไม่ผิดเลย
ก็คือไม่ทำอะไรเลย
ผิดหนึ่งพึงจดไว้ในสมอง
เร่งระวังผิดสองภายหน้า
สามผิดเร่งคิดตรองจงหนักเพื่อเอย
ถึงสี่อีกห้า หกซ้ำอภัยไฉน”

หลวงปู่หา สุภโร








“การเคารพความเห็นต่าง หมายความว่า
ไม่มองว่าเป็นความเห็นที่งี่เง่า ไม่ได้เรื่อง
หรือเหยียดหยามความเห็นนั้น เพียงแค่เขา
เห็นต่างจากเรา พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่โต้แย้งเลย
แม้เคารพความคิดเห็นของเขา ก็ไม่ได้แปลว่า
เราต้องเห็นด้วยกับเขา เราสามารถมีความเห็นต่างได้
แต่จะพูดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุหลายอย่าง เช่น
สถานการณ์แวดล้อม หรือความพร้อมของอีกฝ่าย

แต่ถ้าเรามีความปรารถนาดีต่อเขา
และเห็นว่าประเด็นที่พูดนั้น เป็นเรื่องสำคัญ
ก็ควรพูดให้เขารู้

ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ให้หลักไว้ว่า
๑.พูดความจริง
๒.มีประโยชน์
๓.ถูกเวลา
๔.วาจาสุภาพ
๕.มีจิตปรารถนาดี”

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 32 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร