วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 08:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2021, 05:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Clouds-Aesthetic-Transparent-Image.png
Clouds-Aesthetic-Transparent-Image.png [ 88.91 KiB | เปิดดู 1088 ครั้ง ]
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม

ก. กรรม ในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์
หรือสิ่งของ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นวัตถุหรือเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ว่าชีวิต
หรือโลกที่แวดล้อมอยู่ก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย
เป็นเรื่องของปัจจัยสัมพันธ์ ธรรมดาที่ว่านี้มองด้วยสายตาของมนุษย์ เรียกว่า
กฎธรรมชาติ เรียกในภาษาบาลีว่า “นิยาม” แปลว่า กำหนดอันแน่นอน ทำนอง
หรือแนวทางที่แน่นอนหรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะปรากฏให้
เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆ แล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆ แน่นอน

กฎธรรมชาติหรือนิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมดคือ ความ
เป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะ
อาการจำเพาะที่เป็นแนวทางหรือเป็นแบบหนึ่งๆ ของความสัมพันธ์ อันจะช่วยให้
กำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น เมื่อว่าตามสายความคิดของพระพุทธศาสนา พระอรรกถา
จารย์แสดงกฎธรรมชาติหรือนิยาม ไว้ ๕ อย่าง คือ

๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเป็นไป
ของธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ
ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่ดอกบัวบานกลางวันหุบกลางคืน การที่ดินน้ำปุ๋ยช่วย
ให้ต้นไม้งาม การที่คนไอหรือจาม การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนว
ความคิดของท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ

๒. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ หรือที่เรียกกันว่าพันธุกรรม เช่น
หลักความจริงที่ว่าพืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วงเป็นต้น

๓. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า)
กระทบประสาทจะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร คือมีการไหวแห่งภวังคจิต
ภวังคจิตขาดตอน แล้วมีอาวัชชนะแล้วมีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ มีสัมปฏิจฉันนะ
สันตีรณะ ฯลฯ หรือเมื่อจิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้นจะมีเจตสิกอะไรบ้างประกอบ
ได้ หรือประกอบไม่ได้ เป็นต้น

๔. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการก่อการกระ
ทำและการให้ผลของการกระทำ หรือพูดให้จำเพาะลงไปอีกว่า กระบวนการแห่งเจต
จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอด
คล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดี มีผลดี ทำกรรมชั่ว มีผลชั่ว เป็นต้น

๕. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน
ของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่นว่า สิ่ง
ทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิดแก่เจ็บตาย
เป็นธรรมดา ธรรมดาของคนยุคนี้มีอายุขัยประมาณร้อยปี ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติ
หรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น
และไม่เป็นอัตตา ดังนี้เป็นต้น

ความจริง กฎ ๔ อย่างแรกย่อมรวมลงในกฎที่ ๕ คือ ธรรมนิยาม ทั้งหมด หรือจำแนก
ออกไปจากธรรมนิยามนั่นเอง หมายความว่า ธรรมนิยามมีความหมายครอบคลุมกฎธรรม
ชาติหมดทั้ง ๕ ข้อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจมีผู้สงสัยว่า ธรรมนิยามเป็นกฎใหญ่ เมื่อเอามากระจายเป็นกฎย่อย
ก็น่าจะกระจายออกไปให้หมด เหตุไรเมื่อแจงเป็นกฎย่อยแล้ว ยังมีธรรมนิยามอยู่ใน
รายชื่อกฎย่อยอีกด้วยเล่า

คำตอบสำหรับความข้อนี้พึงทราบด้วยอุปมา เหมือนคนทั้งหมดในประเทศไทยนี้ บาง
ทีมีผู้พูดจำแนกออกว่า รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนบ้าง ว่าตำรวจ ทหาร
ข้าราชการ นักศึกษาและประชาชนบ้าง ว่าอย่างอื่นอีกบ้าง ความจริงคำว่า “ประชาชน”
ย่อมครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่าในประเทศ ข้าราชการพลเรือน ทหาร พ่อค้า นักศึกษา
ก็ล้วนเป็นประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่พูดแยกออกไปก็เพราะว่า คนเหล่านั้นนอกจาก
จะมีลักษณะหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะประชาชนเหมือนคนอื่นๆ แล้ว ยังมีลักษณะหน้า
ที่จำเพาะพิเศษต่างหากออกไปอีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนคนที่ไม่มีลักษณะหรือหน้าที่จำ
เพาะพิเศษแปลกออกไป ก็รวมอยู่ในคำว่าประชาชน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2021, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Clouds-Free-PNG-Image.png
Clouds-Free-PNG-Image.png [ 103.71 KiB | เปิดดู 1088 ครั้ง ]
อนึ่ง การจำแนกนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์จำเพาะของการจำแนกครั้งนั้นๆ
แต่ทุกครั้งก็จะมีคำว่าประชาชน หรือราษฎรหรือคำที่มีความหมายกว้างทำนองนั้นไว้เป็นที่รวม
เข้าของคนทั้งหมดที่เหลือ ซึ่งไม่ต้องจำแนกออกไปต่างหากตามวัตถุประสงค์จำเพาะคราวนั้น

โค้ด:
เรื่อง นิยาม ก็พึงเข้าใจความทำนองเดียวกันนี้


การจำแนกกฎธรรมชาติเป็น ๕ อย่างนี้ จะเป็นการแบ่งแยกที่ครบจำนวนหรือไม่ ควรจะมีกฎย่อย
อะไรอื่นนอกจากนี้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาในที่นี้ เพราะท่านได้กฎเด่นๆ ที่ท่านต้องการพอแก่การใช้
ตามวัตถุประสงค์ของท่านแล้ว และกฎที่เหลือย่อมรวมลงในกฎที่ ๕ คือ ธรรมนิยาม โดยนัยที่
กล่าวมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่พึงเข้าใจก็คือสาระที่มุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของการแสดงนิยาม
ทั้ง ๕ นี้ อันเป็นข้อที่ควรสังเกต จะขอเน้นไว้บางอย่าง ดังนี้

ประการแรก เป็นการย้ำเน้นแนวคิดแบบพุทธที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือของ
โลกและชีวิตตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะแยกแยะกฎให้ละเอียด
ออกไปก็มองเห็นแต่ความเป็นไปตามธรรมดา หรือสภาวะปัจจัยสัมพันธ์เท่านั้น เป็นอันจะได้ตั้ง
ใจเรียนรู้ เป็นอยู่และปฏิบัติด้วยความเข้าใจเท่าทันธรรมดานี้แน่นอนไป ไม่ต้องมัวห่วงกังวลถึง
ท่านผู้สร้างผู้บันดาลที่จะมาผันแปรกระแสธรรมดาให้ผิดเพี้ยน (นอกจากจะเข้ามาร่วมเป็นปัจจัย
อย่างหนึ่งในธรรมดานั้นเอง)

หากจะมีผู้ท้วงว่า ถ้าไม่มีผู้วางกฎกฎธรรมชาติจะมีขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่พึงต้องมัวยุ่งคิดกับคำถาม
อำพรางตนเองของมนุษย์ข้อนี้ ลองมองง่ายๆ ว่า ถ้าปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปของมันเอง มัน
ก็ต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาเป็นไปแล้วอย่างนี้แหละ เพราะมันไม่มีทางจะ
เป็นไปอย่างอื่นนอกจากเป็นไปตามเหตุปัจจัยสัมพันธ์ มนุษย์เราสังเกตและเรียนรู้เอาความเป็น
ไปอย่างนี้มาซึมทราบในความคิดของตน แล้วก็เรียกมันว่าเป็นกฎ จะเรียกหรือไม่เรียกมันก็เป็น
ของมันอย่างนั้น

ถ้าขืนมีผู้สร้างผู้ตั้งกฎธรรมชาติก็จะยิ่งยุ่งที่จะสืบลึกต่อไปอีกว่า ท่านผู้ตั้งกฎนั้น ดำรงอยู่ด้วยกฏ
อะไร มีใครสร้างกฎให้ท่าน หรือคุมท่านไว้ถ้าขืนไม่คุม ท่านสร้างกฎได้ตามชอบใจ ท่านก็ย่อม
เปลี่ยนกฎได้ตามชอบใจ อยู่ไปวันดีคืนดี ท่านอาจจะเปลี่ยนกฎธรรมชาติให้มนุษย์อลหม่านกัน
หมดก็ได้ (ความจริงถ้ามีผู้สร้างกฎ และท่านมีกรุณา ท่านก็คงช่วยเปลี่ยนกฎ ช่วยสัตว์โลกไป
แล้วหลายกฎย่อย เช่น ไม่ให้มีคนเกิดมาพิการ ง่อยเปลี้ย อวัยวะบกพร่อง ไร้ปัญญา เป็นต้น)

ประการที่สอง เมื่อแยกแยะออกเป็นกฎย่อยๆ หลายกฎแล้ว ก็อย่าเผลอพลอยแยกปรากฏการณ์
ต่างๆ ที่เป็นผลให้เป็นเรื่องเฉพาะกฎๆ ต่างหากกันไปเด็ดขาด ความจริงปรากฏการณ์อย่างเดียว
กัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยที่เป็นไปต่างๆ หรือเนื่องด้วยหลายกฎร่วมกันก็ได้ เช่น การที่ดอกบัว
บานกลางวันและหุบกลางคืน ก็มิใช่เพราะอุตุนิยามอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเนื่องจากพีชนิยาม
ด้วย การที่คนน้ำตาไหล อาจเป็นเพราะจิตตนิยามเป็นตัวเด่น เช่นดีใจ เสียใจก็ได้ แต่อาจเป็น
เพราะอุตุนิยามเช่น ถูกควันรมตาก็ได้ คนเหงื่อออกอาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่นอากาศร้อน ก็ได้
หรือเป็นเพราะจิตตนิยามและกรรมนิยามเช่น หวาดกลัวหรือคิดหวั่นความผิด เป็นต้นก็ได้ คนปวด
ศีรษะ อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น อากาศร้อนอบอ้าว ที่อุดอู้ทึบ อากาศไม่พอก็ได้ หรือเพราะ
พีชนิยามเช่น ความบกพร่องของอวัยวะภายใน หรือกรรมนิยามบวกจิตตนิยาม เช่น คิดกลัดกลุ้ม
กังวลเดือดร้อนใจ เป็นต้น ก็ได้

ประการที่สามและสำคัญที่สุด คือ ท่านแสดงให้เห็นว่า ในบรรดากฎธรรมชาติทั้งหลายนั้น มีกฎ
แห่งกรรมหรือกรรมนิยามรวมอยู่เป็นข้อหนึ่งด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2021, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Cloud-PNG-5.png
Cloud-PNG-5.png [ 148.44 KiB | เปิดดู 1088 ครั้ง ]
เมื่อมองในแง่ของมนุษย์ กรรมนิยามเป็นกฎสำคัญที่สุดเพราะเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง
มนุษย์เป็นผู้เสกสรรปรุงแต่งกรรม และกรรมก็เป็นเครื่องปรุงแต่งวิถีชีวิตโชคชะตาของมนุษย์

ถ้าแบ่งขอบเขตอำนาจในโลกตามอย่างที่คนปัจจุบันนิยมคือ แบ่งเป็นเขตแดนหรือวิสัยของธรรม
ชาติ กับเขตแดนหรือวิสัยของมนุษย์ ก็จะเห็นว่ากรรมนิยามเป็นเขตแดนของมนุษย์ ส่วนกฎหรือ
นิยามข้ออื่นๆ ทั้งหมดเป็นเขตแดนของธรรมชาติ

มนุษย์เกิดจากธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีวิสัยพิเศษส่วนหนึ่งที่เป็น
ของตนเอง กล่าวคือกรรมนิยามนี้ ซึ่งได้สร้างสังคมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของมนุษย์ขึ้นเป็นดุจ
อีกโลกหนึ่งต่างหากจากโลกธรรมชาติ

อนึ่ง ในเขตแดนแห่งกรรมนิยามนั้น สาระหรือตัวแท้ของกรรมก็คือเจตนาหรือเจตจำนง ดังนั้น
กรรมนิยามจึงเป็นกฎที่ครอบคลุมโลกแห่งเจตจำนง หรือโลกแห่งความคิดนึกปรุงแต่งสร้าง
สรรค์ (และทำลาย) ทั้งหมด เท่าที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะไปเกี่ยวข้องกับนิ
ยามอื่นใดหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องมีกรรมนิยามเป็นกฎยืนพื้นตลอดถึงว่าจะไปเกี่ยวข้องและใช้นิ
ยามอื่นเหล่านั้นอย่างไร ก็อยู่ที่กรรมนิยาม

กรรมนิยามเป็นวิสัยของมนุษย์เป็นขอบเขตที่มนุษย์มีอำนาจปรุงแต่งควบคุมเสกสรรบันดาล
หรือพูดให้ถูกว่า การที่มนุษย์ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเหตุปัจจัยด้วยอย่างหนึ่งในกระบวน
การของธรรมชาติ จนเกิดเป็นสำนวนพูดของมนุษย์ขึ้นว่า ตนสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติ
หรือเอาชนะธรรมชาติได้นั้น ก็ด้วยอาศัยกรรมนิยามนี้เอง กล่าวคือ มนุษย์เกี่ยวข้องกับนิยาม
หรือกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ที่เป็นเขตแดนของธรรมชาติ ด้วยการเรียนรู้ความจริงของมันแล้วปฏิ
บัติต่อมันหรือใช้ประโยชน์มันตามเจตจำนงของตน จึงเรียกว่าเจตจำนงของมนุษย์เป็นผู้ปรุง
แต่งบังคับควบคุมโลกของธรรมชาติ นอกจากนั้น มนุษย์ก็ใช้เจตจำนง หรือเจตนานี้เป็นเครื่อง
กำหนดการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์เองด้วย

พร้อมกับที่มนุษย์ปฏิบัติต่อผู้อื่น สิ่งอื่นต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตน ตลอดจนปรุงแต่งโลกของ
ธรรมชาติอยู่นั้นเอง มนุษย์หรือว่าให้ถูกคือเจตจำนงของมนุษย์นั้นก็ปรุงแต่งตัวของเขาเอง
ปรุงแต่งบุคลิกภาพและวิถีชีวิตหรือชะตากรรมของเขาไปด้วย

เนื่องด้วยกรรมนิยาม เป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง ครอบคลุมโลกแห่งเจตจำนง และการปรุง
แต่งสร้างสรรค์ทั้งหมดของมนุษย์ เป็นแกนนำในการปรุงแต่งชีวิตตนเองของมนุษย์แต่ละคน
เป็นเครื่องชี้กำหนดแนวทางของสังคม และผลงานสร้างสรรค์ทำลายของมนุษย์ เป็นฐานที่
มนุษย์อาศัย ก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับนิยามอื่นๆ เพื่อปรุงแต่งบังคับควบคุมโลกของธรรมชาติ
โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนเน้นถึงความสำคัญของกรรมเป็นอย่าง
มาก ดังพุทธพจน์ที่คุ้นกันดีว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” แปลว่า โลกเป็นไปตามกรรม หรือโลก
เป็นไปเพราะกรรม กรรมจึงเป็นคำสอนสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การที่ท่านรวมเอากรรมนิยามเข้าไว้เป็นข้อหนึ่งในนิยามถึง ๕ ข้อนั้น ก็เป็นการ
บอกให้มองความจริงอีกด้านหนึ่งด้วยว่า กรรมนิยามหรือกฎแห่งกรรมนั้น เป็นเพียงกฎธรรมชาติ
อย่างหนึ่งในบรรดากฎธรรมชาติหลายๆ อย่าง ดังนั้น เมื่อมีปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิด
ขึ้น หรือเมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งประสบ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2021, 06:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




White-Clouds-Transparent-Images.png
White-Clouds-Transparent-Images.png [ 132.67 KiB | เปิดดู 1088 ครั้ง ]
เหตุการณ์สุขทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อย่าเพิ่งเหมาไปเสียทั้งหมดว่าเป็นอย่างนั้นเพราะกรรม
ดังตัวอย่างที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น แม้พุทธพจน์ที่อ้างข้างต้นว่า โลกเป็นไปตามกรรมนั้น ก็หมาย
ถึงโลกคือหมู่สัตว์ ได้แก่ชาวโลก หรือสัตว์โลก ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ก็คล้ายว่ากรรมชี้นำสังคม
หรือกรรมกำหนดวิถีของสังคมนั่นเอง

อาจพูดในแง่หนึ่งว่า กรรมนิยามเป็นเพียงกฎย่อยอย่างหนึ่งของธรรมชาติ แต่เป็นกฎที่สำคัญที่สุด
สำหรับมนุษย์

นอกจากกฎธรรมชาติทั้ง ๕ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์โดย
เฉพาะไม่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติโดยตรง ได้แก่กฎที่มนุษย์กำหนดวางกันขึ้นเป็น
ข้อตกลงเพื่อควบคุมความประพฤติในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองให้อยู่ร่วมกันโดยผาสุก นับว่าเป็นบัญ
ญัติทางสังคม เช่น ระเบียบข้อบังคับ กติกา กฎหมาย จารีต ประเพณี วินัยบัญญัติ เป็นต้น อาจ
จัดเข้าต่อท้ายนอกชุดเป็นกฎที่ ๖

กฎของมนุษย์ ที่เป็นบัญญัติทางสังคมนี้ เพื่อสะดวกในการเรียกขาน อาจตั้งชื่อรวมโดยเลียนชื่อ
กฎธรรมชาติ ในเชิงที่จะให้นึกเทียบเคียงไปกับกฎธรรมชาติ โดยรู้ชัดไปในตัวว่าอยู่นอกชุด ต่าง
หากจากชุดของกฎธรรมชาตินั้น ชื่อเช่นนั้นมีให้เลือกหลายอย่าง เช่น สังคมนิยาม สังคมนิยมน์
สมมตินิยาม และบัญญัตินิยาม

ตัวอย่างชื่อให้เลือก ๔ อย่างนั้น ทุกคำชัดว่าเป็นกฎของมนุษย์ ไม่ใช่กฎธรรมชาติ สองคำแรก
บอกว่าเป็นกฎของสังคม ก็คือกฎของคน ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ คำที่ ๓ บอกว่าเป็นกฎโดยสม
มติ คือตามที่มนุษย์ตกลงยอมรับในสังคม ส่วนคำสุดท้ายก็ชัดว่าเป็นกฎที่เกิดจากการบัญญัติ
จัดตั้งวางกำหนดของมนุษย์

ในที่นี้ ตกลงใช้คำว่า “สมมตินิยาม” โดยขอให้รู้เข้าใจคำนี้ที่จะใช้ต่อแต่นี้ไป ในความหมาย
ที่กล่าวนั้น

กฎเกณฑ์ของสังคมนี้เป็นเรื่องการปรุงแต่งของมุนษย์ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกรรม และขึ้นต่อ
กรรมนิยามด้วย แต่เป็นเพียงส่วนซ้อนเสริมเข้ามาในกรรมนิยามเท่านั้น ไม่ใช่กรรมนิยามเอง
จึงมิได้มีลักษณะในด้านปัจจัยสัมพันธ์และความเป็นจริงเหมือนกับกรรมนิยาม แต่เพราะซ้อนอิง
อยู่กับกรรมนิยาม จึงมักทำให้เกิดความสับสนกับกรรมนิยามและมีปัญหาถกเถียงกันเนื่องจาก
ความสับสนนั้นบ่อยๆ

โดยเหตุที่กฎสองประเภท คือกรรมนิยาม และสมมตินิยามนี้ เป็นเรื่องของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับ
มนุษย์ใกล้ชิดที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พึงเข้าใจความแตกต่างให้ชัดเจน

ในขั้นต้น อาจพูดเป็นเค้าไว้ก่อนว่า กรรมนิยามหรือกฎแห่งกรรม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับ
การกระทำของคน ส่วนสมมตินิยามหรือกฎของสังคม เป็นกฎของคนซึ่งคนบัญญัติกันขึ้นเอง มี
ส่วนเกี่ยวข้องกับกฎธรรมชาติเพียงในแง่ว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากการกระทำคือกรรมหรือการปรุง
แต่งสร้างสรรค์แห่งเจตจำนงของคน และอีกแง่หนึ่ง โดยกฎแห่งกรรม มนุษย์รับผิดชอบต่อการ
กระทำของตนตามกระบวนการของธรรมชาติ แต่โดยกฏของสังคมมนุษย์ มนุษย์รับผิดชอบต่อ
การกระทำของตน ตามกระบวนการที่บัญญัติจัดวางขึ้นเองของมนุษย์

ข้อที่พึงศึกษาพ้นจากนี้ไป จะพิจารณากันในตอนว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับความดี ความชั่ว และปัญ
หาเกี่ยวกับการรับผลของกรรม ที่จะกล่าวต่อไป 

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2021, 03:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cloud-psd-406133.png
cloud-psd-406133.png [ 138.43 KiB | เปิดดู 1088 ครั้ง ]
ข. ความหมายของกรรม

“กรรม” แปลตามศัพท์ว่า การงาน หรือการกระทำ แต่ในทางธรรมต้องจำกัดความจำเพาะลงไปว่า หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่กล่าวมานี้ เป็นความหมายอย่างกลางๆ พอคลุมความได้กว้างๆ เท่านั้น ถ้าจะให้ชัดเจนมองเห็นเนื้อหาและขอบเขตแจ่มแจ้ง ควรพิจารณาการแยกแยะความหมายออกเป็นแง่หรือเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

ก. เมื่อมองให้ถึงตัวแท้จริงของกรรม หรือมองให้ถึงต้นตอ เป็นการมองตรงตัวหรือเฉพาะตัวกรรมก็คือ“เจตนา” อันได้แก่เจตจำนง ความจงใจ การเลือกคัดตัดสิน มุ่งหมายที่จะกระทำ หรือพลังนำที่เป็นตัวกระทำนั่นเอง เจตนาหรือเจตจำนงนี้เป็นตัวนำ บ่งชี้ความมุ่งหมาย และกำหนดทิศทางแห่งการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ เป็นตัวการหรือเป็นแกนนำในการริเริ่ม ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ทุกอย่าง จึงเป็นตัวแท้ของกรรมดังพุทธพจน์ที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

ข. มองขยายออกไปให้เห็นตัวการอื่นๆ คือมองเข้าไปที่ภายในกระบวนการแห่งชีวิตของบุคคลแต่ละคนจะเห็นกรรมในแง่ตัวประกอบซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการแห่งชีวิต เป็นเจ้าหน้าที่ในการปรุงแต่งโครงสร้างและวิถีที่จะดำเนินไปของชีวิตนั้น กรรมในแง่นี้ตรงกับคำว่า “สังขาร” หรือมักเรียกชื่อว่า สังขาร เช่นอย่างที่เป็นหัวข้อหนึ่งในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลกันว่า สภาพที่ปรุงแต่งจิต หมายความว่า องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือให้เป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา เป็นกรรมแบบต่างๆ ถ้าจะแปลง่ายๆ ก็ว่าความคิดปรุงแต่ง แม้ในความหมายแง่นี้ก็ยึดเอาเจตนานั่นเองเป็นหลัก บางครั้งท่านก็แปลเอาง่ายๆ รวบรัดว่า สังขารก็คือเจตนาทั้งหลายนั่นเอง

ค. มองเลยออกมาข้างนอกเล็กน้อย คือมองในแง่ของชีวิตที่สำเร็จรูปแล้วเป็นหน่วยหนึ่งๆ หรือมองชีวิตที่ด้านนอกอย่างเป็นหน่วยรวมหน่วยหนึ่งๆ ตามที่สมมติเรียกกันว่า บุคคลผู้หนึ่งๆ ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ในโลก เป็นเจ้าของบทบาทของตนๆ ต่างหากๆ กันไป กรรมในแง่นี้ก็คือ การทำ การพูด การคิด หรือการคิดนึก และการแสดงออกทางกายวาจา หรือความประพฤติที่เป็นไปต่างๆ ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบเก็บเกี่ยวผลเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะมองแคบๆ เฉพาะเวลาเฉพาะหน้า หรือมองกว้างไกลออกไปในอดีตและอนาคตก็ตาม

กรรมในความหมายนี้ เข้ากับความหมายกว้างๆ ที่แสดงไว้ข้างต้น และเป็นแง่ความหมายที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด เพราะปรากฏในคำสอนต่อบุคคล มุ่งให้ทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนและพยายามประกอบแต่กรรมดี เช่นในพุทธพจน์ว่า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2021, 03:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้เป็นเหตุให้เดือดร้อน สองประการ คืออะไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มิได้ทำความดีงามไว้ มิได้ทำกุศล มิได้ทำบุญซึ่งเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมหยาบช้า ทำแต่กรรมร้ายกาจ, เขาย่อมเดือดร้อนว่า เราไม่ได้ทำกรรมดีงาม ดังนี้บ้าง ว่าเราได้ทำบาปไว้ดังนี้บ้าง...”

น่าสังเกตว่า เท่าที่สอนกันอยู่บัดนี้โดยมาก นอกจากเน้นกรรมในความหมายนี้แล้ว ยังมักเน้นแต่แง่อดีตอีกด้วย

ง. มองกว้างออกไปอีก คือมองในแง่กิจกรรมของหมู่มนุษย์ ได้แก่ กรรมในความหมายของการประกอบอาชีพการงาน การดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจการต่างๆ ของมนุษย์ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจตจำนง การคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปในสังคมมนุษย์อย่างที่เป็นที่เห็นกันอยู่ เช่นในวาเสฏฐสูตร ว่า

“ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์...ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน...ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพผู้นั้นเป็นพ่อค้า...ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้...ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร...ผู้ใดอาศัยศรและศัตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นทหารอาชีพ...ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยหน้าที่ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชาหาใช่พราหมณ์ไม่...ผู้ใดปกครองบ้านเมืองผู้นั้นเป็นราชาหาใช่พราหมณ์ไม่...ฯลฯ เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลสค้างใจ ไม่มีความถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์...

“คนมิใช่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรมเป็นชาวนาก็เพราะกรรม (การงาน อาชีพ ความประพฤติ การดำเนินชีวิต) เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นปุโรหิต และแม้แต่เป็นราชา ก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาทฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริงอย่างนี้ โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่ประชาย่อมเป็นไปเพราะกรรม...”

หรือดังพุทธพจน์ในอัคคัญญสูตร เช่นว่า

“ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างปรับทุกข์กันว่า ท่านเอ๋ย ธรรมชั่วร้ายทั้งหลายปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์ทั้งหลายเสียแล้วหนอ อันเป็นเหตุให้การลักทรัพย์ก็ปรากฏมี การติเตียนกันก็ปรากฏมี การพูดเท็จก็ปรากฏมี การถือไม้พลองก็ปรากฏมี อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักเลือกตั้ง (สมมติ) สัตว์ผู้หนึ่งขึ้น ให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้

“ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาสัตว์ผู้สง่างาม น่าดูน่าชม น่าเลื่อมใส และน่าเกรงขาม ยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว แจ้งความดั่งนี้ว่า มาเถิด ท่านสัตว์ผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2021, 04:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เถิด พวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน สัตว์ผู้นั้นได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว....เพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งมหาชนเลือกตั้งดังนี้แล จึงเกิดถ้อยคำว่า ‘มหาสมมต’ ขึ้นเป็นประถม...”

หรือในจักกวัตติสูตร เช่นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย โดยนัยดังนี้แล เมื่อผู้ครองแผ่นดินไม่จัดเสริมเพิ่มทรัพย์ให้แก่ชนทั้งหลายผู้ไร้ทรัพย์ ความยากจนก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อความยากจนถึงความแพร่หลาย การลักทรัพย์ก็ถึงความแพร่หลาย เมื่อการลักทรัพย์ถึงความแพร่หลาย ศัตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึงความแพร่หลาย การฆ่าฟันสังหารกัน (ปาณาติบาต) ก็ได้ถึงความแพร่หลายเมื่อการฆ่าฟันสังหารกันถึงความแพร่หลาย การพูดเท็จก็ได้ถึงความแพร่หลาย...การพูดส่อเสียด...กาเมสุมิฉาจาร...ธรรมสองอย่างคือผรุสวาทและการพูดเพ้อเจ้อ...อภิชฌาและพยาบาท...มิจฉาทิฏฐิ ก็ได้ถึงความแพร่หลาย..”

อย่างไรก็ตาม แม้จะให้มองความหมายของกรรมครบทั้ง ๔ ระดับอย่างนี้ เพื่อได้ความหมายที่สมบูรณ์แต่ก็ขอสรุปย้ำไว้ว่า จะต้องถือเอาความหมายในแง่ของเจตนาเป็นแกนยืนเสมอไป เพราะเจตนาเป็นตัวการที่นำมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย และกำหนดแนวทางว่าจะเกี่ยวข้องแบบไหน อย่างไร จะเลือกรับอะไรหรือไม่ จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร จะปรุงแปร ดัดแปลงแต่งเสริมโลกอย่างไร จะทำตัวเป็นช่องทางแสดงออกของอกุศลกรรมในรูปของตัณหา หรือในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ หรือจะนำหน้าพากุศลธรรมออกปฏิบัติงานส่งเสริมประโยชน์สุข ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอำนาจอิสระของเจตนาที่จะทำ

การกระทำใดไร้เจตนา ก็ย่อมไม่มีผลตามกรรมนิยาม คือไม่เป็นกรรมไม่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม กลายเป็นเรื่องของนิยามอื่นทำหน้าที่ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตุนิยาม คือมีค่าเหมือนกับการที่ดินถล่ม ก้อนหินผุกร่อนร่วงหล่นจากภูเขา หรือกิ่งไม้แห้งหักลงมา เป็นต้น

ค. ประเภทของกรรม
กรรมนั้น เมื่อจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ

๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึงการกระทำที่เกิดจากอกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ

๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี หรือกรรมดี หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ

แต่ถ้าจำแนกตามคือทางที่ทำ หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น ๓ คือ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2021, 04:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย

๒. วจัทวาร กรรมทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา

๓. มโนทวาร กรรมทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ

เมื่อจำแนกให้ครบตามหลักสองข้อที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีกรรมรวมทั้งหมด ๖ อย่างคือ กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็นอกุศล กับกายกรรมวจีกรรมและมโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็นกุศล

อีกอย่างหนึ่ง ท่านจำแนกกรรมตามสภาพที่สัมพันธ์กับวิบากหรือการให้ผล จัดเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. กรรมดำ มีวิบากดำ ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียน ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และติดสุราเมรัยตั้งอยู่ในความประมาท

๒. กรรมขาว มีวิบากขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร ที่ไม่มีการเบียดเบียน ตัวอย่างคือ การประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐

๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง เช่น การกระทำของมนุษย์ทั่วๆ ไป

๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ได้แก่ เจตนาเพื่อละกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น หรือว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ หรือมรรคมีองค์ ๘

ในชั้นอรรถกถา มีการแบ่งประเภทของกรรมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมถือตามกันมาและเป็นที่รู้จักกันดีในยุคหลังๆ คือ การจัดแบ่งเป็นกรรม ๑๒ หรือกรรมสี่ ๓ หมวด เช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แต่เพื่อป้องกันความฟั่นเฟือ จึงจะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

ในบรรดากรรม ๓ อย่างคือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น มโนกรรมสำคัญที่สุด และมีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ดังบาลีว่า

“ดูกรตปัสสี บรรดากรรม ๓ อย่างเหล่านี้ ที่เราจำแนกไว้แล้วอย่างนี้ แสดงความแตกต่างกันแล้วอย่างนี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในความเป็นไปแห่งบาปกรรม หาบัญญัติกายกรรมอย่างนั้นไม่ หาบัญญัติวจีกรรมอย่างนั้นไม่”

เหตุที่มโนกรรมสำคัญที่สุด ก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทำคือแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเอง และที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่ามโนกรรมรวมถึง ความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎี แนวคิดและค่านิยมต่างๆ ที่เรียกว่าทิฎฐิ

ทิฏฐินี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั่วๆ ไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคลและคติของสังคมทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิดการ พูดจาสั่งสอนชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการ ดำเนินไปในทางผิด เป็นมิจฉาไปด้วย ถ้าเป็น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2021, 04:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิ การดำริ พูดจาและทำการต่างๆ ก็ดำเนินไปในทางถูกต้องเป็นสัมมาไปด้วย เช่น คนและสังคมที่เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุมีค่าสูงสุด เป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุให้พรั่งพร้อมและถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้น เป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรืองเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นต้น วิถีชีวิตของคน และแนวทางของสังคมนั้น ก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคนและสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิตและความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

พุทธพจน์ แสดงความสำคัญของมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐินั้น มีมากมาย เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐินี้เลย...”

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย...”

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ กายกรรมที่ยึดถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี วจีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี มโนกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี เจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ประณิธานก็ดี การปรุงแต่งทั้งหลายก็ดี ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะทิฏฐิชั่วร้าย, เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่เขาเอาลงปลูกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซึมไว้ทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เป็นของเผ็ด เป็นของไม่อร่อย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะพืชไม่ดี...

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ กายกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี วจีกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี มโนกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี เจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ประณิธานก็ดี การปรุงแต่งทั้งหลายก็ดี ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะทิฏฐิดีงาม, เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี ที่เขาเอาลงปลูกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไว้ทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความมีรสหวาน เพื่อความเป็นของอร่อย เพื่อความน่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะพืชดีงาม..”

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อมิใช่ความสุขแก่พหูชน เพื่อเสื่อมประโยชน์ เพื่อไม่เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความทุกข์แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นคือใคร? ได้แก่ ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะอันวิปริต, เอกบุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐินั้น ย่อมยังพหูชนให้คลาดจากสัทธรรม ให้ตั้งมั่นในอสัทธรรม...”

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นคือใคร? ได้แก่ ผู้มี สัมมาทิฏฐิ มีทัศนะอันไม่วิปริต, เอกบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมยังพหูชนให้ออกพ้นจากให้ตั้งมั่นในสัทธรรม...”

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย, ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เป็นโทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง”

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นเจ้าใหญ่ สำเร็จด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีจิตใจเสียหายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เหมือนล้อหมุนตามโคที่ลากเกวียน,..ถ้าบุคคลมีจิตใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามมา เหมือนดังเงาที่ติดตามตัว”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2021, 09:32 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2022, 17:03 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron