วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 10:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2022, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#หลวงปู่แหวนสอนภาวนาหลวงพ่อพุธ_ฐานิโย

"... เจ้าคุณฯ อย่าไปกำหนดอะไรทั้งสิ้นกำหนดสติอย่างเดียว
... สติมันเกิดที่จิต​ สมาธิมันเกิดที่จิต ความชั่วความดีมันเกิดที่จิต
... อย่าไปเที่ยวดูที่อื่น ดูที่จิตอย่างเดียว​ มันไม่นอกตำราอะไรเลย
... เมื่อใจชอบก่อน​ การพูด การจา การคิด มันก็ชอบ
... เมื่อใจสะอาด การทำ การพูด การคิด มันก็สะอาด
... ท่านบอกว่า จะไปกังวลอะไร.. ใช้จิตอย่างเดียว ..."

#ที่มา_หนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ_๑๐






นี่แหละ! ธรรมชาติของคน
ใครไม่รู้ก็จงรู้ไว้!!
.
การจะเป็นคนดีได้ ก็ต้องอาศัยข้อปฏิบัติ ๓ ประการ คือ การดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ในสมาธิธรรม ในปัญญาธรรม ตามชั้นภูมิของใจ หาใช่เพียงด้วยการพูดที่ดูดี หรือเพียงด้วยการกระทำที่ดูดีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่
.
ลำพังแต่การพูด ต่อให้พูดดีเพียงไหน ถ้ามิได้มีการกระทำที่ดีเป็นเครื่องสอดรับกัน ก็คือการประพฤติเท็จนั่นเอง คือการพูดไม่ตรงกับที่ทำ หรือกระทำไม่ตรงกับที่พูด เรียกว่า พูดอย่างหนึ่ง ทำไปอีกอย่างหนึ่ง
.
ดีไม่ดีใจอาจคิดไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ด้วย อย่างที่เรียกว่า หน้าซื่อใจคด ปากปราศัยแต่ใจเชือดคอ รู้จักคน รู้จักหน้า แต่ไม่รู้จักใจ
.
แม้การพูดจะดูดีแล้ว การกระทำจะดูดีแล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจ ต้องดูให้ลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งของใจอีกด้วยว่า ที่แสดงออกมานั้น ออกมาจากใจจริงไหม คือใจต้องมีหิริโอตตัปปะ มีความเป็นสัมมาทิฏฐิที่มั่นคง ไม่ใช่ประเภทเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้
.
ถ้าดี ก็ต้องดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือ ศีลต้องดีจริงที่ใจ สมาธิก็ต้องดีจริงที่ใจ ปัญญาก็ต้องดีจริงที่ใจ จะดีมากหรือดีน้อยก็เป็นไปตามภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละบุคคล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนดีจริงแท้
.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนดีก็ยากนักหนาแล้ว ไหนเลยจะมีแก่ใจไปฝึกฝนคนอื่น เพราะคนที่จะฝึกได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำดีจริง ๆ เป้าหมายอาจเลยไปไกลถึงขั้นมุ่งหวังความหลุดพ้น ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสารอันหาที่สุดมิได้
.
นั่น! ก็เป็นเรื่องของความปรารถนาเฉพาะบุคคล ผู้ใดมีศรัทธาเชื่อมั่นในการทำความดีทุกประเภท รู้เห็นคุณประโยชน์ของความดีอย่างชัดเจน ผู้นั้นก็จะขวนขวายทำความดีเอง ไม่มีใครบังคับได้ ส่วนผู้ที่ยังมองไม่เห็นคุณประโยชน์แห่งความดี ก็ยังคงพอใจทำชั่วอยู่ต่อไป
.
ใครอยากได้ดีก็ต้องทำดีเอง
ใครอยากได้ชั่วก็ต้องทำชั่วเอง
ธรรมชาติไม่เคยลำเอียงเข้าข้างผู้ใด
ถ้าเป็นเรื่องชั่ว ไม่ว่าใครทำก็ส่งผลชั่วทั้งหมด เรื่องดีก็เช่นเดียวกัน
.
กรรมย่อมส่งผลให้แก่ผู้ทำกรรมอย่างไม่ลำเอียง ผู้ใดอยากได้ผลดีแค่ไหน ก็ต้องทำเหตุดีเอาเอง ด้วยกำลังแห่งความเพียรของตน ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ที่ไหน จะสามารถดลบันดาลผลดีแก่เราได้โดยปราศจากการทำเหตุที่ดี ย่อมไม่มีในโลก
.
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรไปหลงเชื่อใครก็ตามที่พยายามจะยัดเยียดผลที่ดีให้แก่เรา โดยที่เราไม่ต้องทำเหตุที่ดีใด ๆ เลย ให้รู้ว่า นั่นคือ การโกหกหลอกลวง
.
ให้เข้าใจว่า การทำความดีนั้น มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไป คือ ให้ทาน รักษาศีล จนถึงความดีขั้นกลาง คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ จากนั้นจึงเข้าสู่ความดีขั้นสูง คือการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิเพื่อทำลายกิเลส ไปจนถึงความดีขั้นสูงสุด คือการเข้าสู่วิมุติหลุดพ้นจนถึงพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งความดี
.
แต่ผู้ที่จะมุ่งหวังทำความดีจนถึงขั้นวิมุติหลุดพ้นได้นั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เคยทำความดีสั่งสมมาแล้วมากในระดับหนึ่ง ก็จึงมาต่อยอดทำความดีให้สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภพชาติปัจจุบัน
.
ผู้ที่เข้าใจความจริงในหลักธรรมชาติเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า โลกนี้ทำไมจึงมีคนชั่วอยู่อย่างมากมาย เพราะการจะทำดีเป็นคนดีได้นั้น มันเป็นสิ่งที่คนชั่วทำได้ยากนักหนา
.
เพราะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจัง ต้องมีเจตนามุ่งมั่นที่จะละชั่ว ทำดี อย่างแท้จริง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมแอบแฝง ทั้งต้องทุ่มเทความเพียรอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้กับกิเลสมารร้ายที่สิงสถิตอยู่ภายในใจ กว่าจะเอาชนะมันได้ ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน บางทีต้องต่อสู้กันแบบข้ามภพข้ามชาติ จนเลยไปถึงหลายภพหลายชาตินับไม่ได้
.
ส่วนการยอมพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำนั้น คนทั่วไปนิยมชมชอบ และทำกันอย่างเป็นปกติเคยชิน มิหนำซ้ำ ยังดูเหมือนพอใจที่จะพ่ายแพ้ต่อกิเลสมากกว่าการที่จะเอาชนะกิเลส
.
เวลาความโลภเกิดก็พอใจที่จะโลภ
เวลาความโกรธเกิดก็พอใจที่จะโกรธ
เวลาความหลงเกิดก็พอใจที่จะหลง
.
จะมีสักกี่คนที่คิดจะต่อต้านขัดขืนไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของกิเลส ลองทดสอบดูใจตนเองก็ได้ เวลาความโลภเกิด ความโกรธเกิด ความหลงเกิด จงอย่ายอมทำตามมัน ดูว่าจะทำได้สักแค่ไหน
.
แม้เราตั้งใจทำดีอยู่ แต่เมื่อใดที่ใจเราเกิดความท้อแท้อ่อนแอ เกิดความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ จะเป็นด้วยเพราะผิดหวัง หรือเสียใจโกรธแค้นด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หากใจไม่มีสติปัญญาคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวให้สุขุมรอบคอบ ใจก็พร้อมที่จะหันกลับไปทำชั่วได้ตลอดเวลา
.
เว้นไว้แต่ผู้ที่มีสติปัญญารู้ธรรมเห็นธรรมตั้งมั่นในระดับหนึ่งแล้ว ผู้เช่นนั้น ความชั่วย่อมไม่อาจครอบงำใจได้อีก
.
ยิ่งถ้าใครไม่เข้าใจเป้าหมายของการทำความดีว่า ความดีคืออะไร? จะทำไปเพื่ออะไร? มีประโยชน์อะไร? และต้องทำไปอีกนานสักเท่าไหร่? ใจนั้น ก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำ ใจก็อาจจะถูกกิเลสข่มขู่คุกคามจนตกเป็นทาสของกิเลสไปได้อย่างง่ายดาย
.
“ฝึกตนเองดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า”
.
ก็จริงอย่างนั้น ถ้าเราไม่ฝึกฝนตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสในใจตนให้ได้ก่อน แล้วจะเอาสติปัญญาที่ไหนไปฝึกสอนคนอื่นให้เอาชนะกิเลสในใจของเขาได้
.
การเอาชนะกิเลสในใจได้นั้น ก็มีหลายขั้นหลายภูมิ มิใช่ว่าจะต้องเอาชนะกิเลสจนถึงขั้นสูงสุด ขอเพียงให้รู้แน่แก่ใจด้วยสันทิฏฐิโกในใจตนเอง รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมแค่ไหน ก็ทำตัวเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น และฝึกสอนผู้อื่นได้เพียงนั้น
.
ลักษณะของคนที่พอแบ่งแยกได้ตามภูมิของจิตมีดังนี้
.
๑. ปุถุชน คือคนหนาด้วยกิเลสทั่ว ๆ ไป จำพวกนี้เอาเป็นประมาณไม่ได้ มีตั้งแต่ คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไรเลย สามารถที่จะทำชั่วได้ทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ ไปจนถึงคนที่พอมีหิริโอตตัปปะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว
.
๒. กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่มีหิริโอตตัปปะมากขึ้นกว่าประเภทแรก ไปจนถึงมากที่สุด เริ่มมีสติปัญญา รู้ดี รู้ชั่ว มากขึ้น เริ่มที่จะรู้จักละชั่ว ทำดีมากขึ้น ไปจนถึงพอใจที่จะทำใจให้สงบผ่องใสบริสุทธิ์ เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นมหันตภัยร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปให้ได้สถานเดียวเท่านั้น
.
ผู้เช่นนั้นย่อมมีแก่ใจมุมานะที่จะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้ได้ตลอดไป หากใครได้คบหาเพื่อนฝูงที่เป็นกัลยาณปุถุชน ก็นับว่าดีแท้ ถือได้ว่าเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐยิ่งกว่าเงินทอง เพราะกัลยาณปุถุชนนี้ ก็คือผู้ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลในวันหนึ่งนั่นเอง
.
๓. อริยบุคคล คือ บุคคลผู้ข้ามพ้นโคตรของปุถุชนไปแล้ว ใจสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ใจตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมไปตลอดชีวิต แม้ตายก็ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมอย่างแน่นอน ใจยังมีกิเลสอยู่เพียงเบาบาง ไปจนถึงใจสิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิง หมดสิ้นภพสิ้นชาติแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่าตายเกิดในวัฏสงสารอีกตลอดอนันตกาล
.
ดังนั้น ถ้ารู้ว่าโลกนี้มันมีธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ มีทั้งคนบาปหนักบาปหนา มีทั้งคนบุญหนักบุญหนา ซึ่งเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนที่สั่งสมมาไม่เท่าเทียมกัน จะให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้
.
เห็นใครทำชั่วก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปโกรธเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำดี ถ้าเขาจะทำดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ อย่าให้ใจเราคิดทำชั่วอย่างเขา
.
เห็นใครทำดีก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปอิจฉาริษยาเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำไม่ดี ถ้าเขาจะทำไม่ดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำไม่ดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ ให้ใจเราคิดทำดีอย่างเขาให้มาก
.
ธรรมท่านสอนให้โอปนยิโก คือ…
.
เห็นใครทำดีก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองได้ทำดีอย่างนั้นบ้าง
.
เห็นใครทำชั่ว ก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองจงอย่าทำชั่วอย่างนั้นเลย
.
ผู้มีปัญญา ย่อมถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่ประสบพบเห็นทั้งดีและชั่ว สามารถแยกแยะได้อย่างไม่ลังเลสงสัย ทั้งรู้การเหมาะการควรที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น
.
ผู้มีปัญญา ย่อมมองเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง อย่างที่เรียกว่า ฟังธรรมในหลักธรรมชาติ คือ สัจธรรมประกาศก้องกังวานอยู่ตลอดเวลา และการปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ตลอดเวลาเป็นอกาลิโก ดังนี้แล!!
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๕
พระอาจารย์วิทยา กิจวิชโช







#ธรรมะถึงใจ
๓๐ เมษายน ๒๕๖๕

"จิตใจอยู่ในโลกทิพย์ ส่วนร่างกายอยู่ในโลกธาตุ
อยู่คนละโลก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย
ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับใจ ใจอยู่ในโลกทิพย์ ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ เวลาเกิดอะไรขึ้นในโลกธาตุ ไม่ได้เกิดในโลกทิพย์ด้วย"

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"โลกธาตุ โลกทิพย์"
กัณฑ์ที่ ๔๓๘
๒๒ เมษายน ๒๕๕๕








…การเข้าสู่สมาธิเข้าสู่ความสงบนี้
อาจจะมีประสบการณ์ต่างกัน
อาจจะมีแสงมีภาพให้เห็น
หรือไม่มีอะไรให้เห็นเลย

.” ถ้าไม่มีอะไรเลยจะดีที่สุด “
ถ้ารวมลงแล้ว สงบนิ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ..ไม่มีความคิดปรุงแต่ง
ไม่สนใจกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
ที่ยังได้รับสัมผัสรับรู้
“ จะสักแต่ว่ารู้ “ ไม่มีอารมณ์กับ
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

.ในบางกรณีก็จะลงไปแบบ
ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย รูปเสียงกลิ่นรส
โผฏฐัพพะ ตาหูจมูกลิ้นกาย
“ หายไปจากความรับรู้ของจิต “
แล้วก็..นิ่งสงบ ..เป็นสัมมาสมาธิ
คือ ..สงบแล้วไม่เคลื่อนไหว

.ถ้าสงบแล้วเคลื่อนไหว
คือออกไปรับรู้นิมิตต่างๆ
อย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิ
เพราะไม่เป็นฐานให้ปัญญา

.ไม่มีกำลังที่จะตัดกิเลส
จิตที่ออกไปรับรู้นิมิตต่างๆนี้
เป็นเหมือนนอนหลับแล้วฝันไป
เวลาออกจากสมาธิ..
“ จะไม่มีพลัง ที่จะข่มจิตข่มใจ “

.เวลาสัมผัสรับรู้
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
แล้วเกิดอารมณ์โลภ โกรธ รัก ชัง
ก็จะไม่สามารถดับได้

.ไม่เหมือนกับสมาธิที่..
“ นิ่งสงบ สักแต่ว่ารู้ “
พอถอนออกมาจะอิ่ม เย็นสบาย
พร้อมที่จะเจริญปัญญาต่อไป.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๕๐ กัณฑ์ที่ ๔๑๔
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓







"คิดกลัวนั่นกลัวนี่ กลัวผีกลัวสาง กลัวสัตว์กลัวคน จริงๆไม่มีอะไรซักอย่าง หลอกตัวเอง คิดไปเอง ลึกๆแล้วจริงๆมันกลัวตาย แก้ยังไง ครูบาอาจารย์ท่านจึงว่า กลัวตรงไหนไปตรงนั้น"

โอวาทตอนหนึ่งของ หลวงพ่อสมบูรณ์






"คนบางคน เมื่อยังไม่ถึงเวลา
จะไปยัดเยียดธรรมะให้อย่างไรก็ไม่ฟัง
แต่พอถึงเวลาของเขา เขาอาจเอาจริงเอาจัง
จนแซงใครๆ กลายเป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมา
อีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ทุกอย่างไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ
ควรต้องรักษาจิตของเจ้าของให้ดีไว้ก่อน"

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ






"พุทธศาสนานั้นไม่เสื่อม"

" .. พุทธศาสนานั้นไม่ใช่บุคคล บุคคลนั้นไม่ใช่
ศาสนา "ศาสนานั้นไม่ใช่บุคคล" บุคคลนั้นไม่ใช่
ศาสนา "ศาสนานั้นไม่เสื่อม" ดีอยู่ตลอดเวลา
ที่พระมาปฏิบัติศาสนาไม่ถูก จึงไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส
จึงไม่สามารถแนะนำญาติโยมทั้งหลาย ให้มีความ
ทุกข์ใจน้อยลงได้

ฉะนั้น บางคนก็จะเห็นไปว่า "เมืองไทยมีพุทธศาสนา
เมื่อพระบางองค์ในเมืองไทยมาทำไม่ดี ก็ไปโทษ
พุทธศาสนา อย่างนั้นไม่ถูก" ศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น
อันนั้นมันคน จึงเรียกว่า "คนไม่ใช่ศาสนา ศาสนาไม่ใช่คน"

ศาสนาเปรียบเหมือนเกลือ "เกลือมันมีความเค็ม
อยู่ตลอดเวลา ถ้าใครไปกินเกลือ มันก็ยังเค็มอยู่"
ถ้าคนไม่กิน ก็ไม่เค็ม เพราะฉะนั้น "พุทธศาสนานั้น
จึงเสื่อมไม่ได้ คนเสื่อมต่างหาก" ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม .. "

หลวงปู่ชา สุภทฺโท






“ขอให้อดทนอดกลั้น มีสติและปัญญา
ฝ่าความยากลำบากในครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ทุกคน
อย่างน้อยก็ให้ตระหนักว่า ไม่ว่าปัญหาใดๆ
ล้วนแต่มีอยู่ เป็นอยู่ ชั่วคราวแล้วก็ต้องผ่านไป

ขอเพียงวางใจให้เป็นกลาง อยู่กับปัจจุบันจริงๆ
อย่าปล่อยใจให้จมกับโทสะ แล้วจะไม่รู้สึกว่า
ความยากลำบากครั้งนี้ ยาวนานเกินกว่าความเป็นจริง

เมื่อผ่านเหตุการณ์นี้ไปแล้ว เราจะรู้ได้ถึงความเติบโต
ทางจิตใจของตนเอง และรู้ว่าบททดสอบคราวนี้
มีคุณประโยชน์ใหญ่หลวง สำหรับการเดินทางไกล
ในสังสารวัฏของเรา”

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช







#ไปนิพพานไม่ยาก

คือว่าในสมัยพระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์ไม่ยากคนจึงไปนิพพานง่าย ความจริงมันของไม่ยาก แต่คนพูดพยายามพูดให้มันยาก คนรับฟังก็คิดว่าไม่ไหว คิดว่าทำไม่ได้เลยไม่เอาดีกว่า

คำว่า ”ยาก”หรือ “ไม่ยาก” มันอยู่ที่กำลังใจเหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอาศัยบารมีทั้งเก่าและใหม่มาประสานกัน ถ้าเก่าเราทำมาดีแล้วฟังแล้วก็รู้สึกว่าไม่ยาก ถ้ากำลังเก่าไม่ถึงก็ยาก ใช่ไหม...

บารมีท่านแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ “บารมีต้น” “บารมีกลาง” เรียกว่า อุปบารมี แล้วก็ “ปรมัตถบารมี” บารมีสูงสุด

ถ้ากำลังใจคนอยู่ในบารมีต้นแนะนำกันได้แค่ทานกับศีลแค่นี้เขาพอใจ ถ้าบารมีกลางจะแนะนำได้เฉพาะสมถภาวนา เฉพาะฌานโลกีย์ วิปัสสนาญาณแนะนำได้น้อย ๆ กำลังรับไม่มี แต่ฌานสมาบัติเขาต้องการ ถ้ากำลังใจถึงขั้นปรมัตถบารมี เมื่อพูดถึงนิพพานรู้สึกไม่ยาก เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกันนะ ถ้ารู้สึกว่าไม่ยาก ชาตินี้ก็ไปได้ซิ ได้ไหม...?"

…..คือสมัยพระพุทธเจ้าท่านแนะนำไม่ยาก แต่มาสมัยเราหนังสือเรียนมากเกินไป โดยมากคนที่จะเป็นพระอริยเจ้าเขามีเครื่องวัดอยู่ ๑๐ ข้อ ที่เรียกว่า สังโยชน์ คือคนที่จะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ละสังโยชน์ ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

- สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกายร่างกายไม่มีในเรา
- วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
- สีลัพพตปรามาส ทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

การตัดสักกายทิฏฐิถ้าตัดเบา ๆ ก็เป็นพระโสดาบัน ละเอียดอีกนิดหนึ่งก็เป็นสกิทาคามี ละเอียดมากเป็นอนาคามี ตัดได้หมดเป็นอรหันต์ เขาตัดตัวเดียวนะ กิเลสน่ะ

….สักกายทิฏฐิถ้าตัดขาดเลยนะเป็นพระอรหันต์ ต้องไปดูบาลีอีกตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันและพระสกิทาคามีเป็นผู้มีสมาธิเล็กน้อย เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อยแต่ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ เท่านี้เอง

แล้วก็อีกตอนหนึ่งท่านตรัสว่าพระโสดาบันกับสกิทาคามีเป็นผู้ทรงอธิศีล พระอนาคามีเป็นผู้ทรงอธิจิต พระอรหันต์เป็นผู้ทรงอธิปัญญา สองตอนนี้ชัด แล้วก็ไปดูองค์ของพระโสดาบัน คำว่าองค์ก็หมายความว่าคนที่เขาเป็นพระโสดาบันแล้วเขาจะทรงปฏิปทาตามนั้น

องค์ของพระโสดาบันมี ๓ คือ
๑. เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์จริง
๒. มีศีล ๕ บริสุทธิ์จริง และ
๓.จิตต้องการนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เอง

พระโสดาบันกับสกิทาคามี คือชาวบ้านชั้นดี ข้อสำคัญที่สุดคือศีลบริสุทธิ์ แต่ว่าถ้ามีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีความเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง แต่ว่าจิตไม่มุ่งพระนิพพานเขาก็ไม่เรียกพระโสดาบัน เขาถือว่าเป็นผู้เข้าถึงไตรสรณาคมน์ ยังเป็นอนิยตบุคคลอยู่ คือยังไม่แน่ คือจิตจะต้องปักมั่นโดยเฉพาะว่า “เราต้องการพระนิพพาน” อันนี้จึงจะเรียกว่าพระโสดาบันและสกิทาคามี

นี่ของท่านไม่ยาก คนที่เขียนให้เราอ่านน่ะซิ ท่านว่าเตลิดเปิดเปิงไปเลย"

พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2525)








ปัจจุบันเอาแต่..การทำทานเป็นใหญ่ เลยลืมการรักษาศีลปฏิบัติ ยิ่งภาวนา ยิ่งไม่เอา

เราไม่ภาวนา จิตเราจะถึงธรรมได้อย่างไร จะถึงมรรคผลได้อย่างไร มันจะไปแก้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ยังไง เพราะมันอยู่ภายใน

การทำบุญภายนอก
เดี๋ยวเดียวก็จบ

#พระอาจารย์โสภา_สมโณ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 158 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร