วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 20:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ค. 2022, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


…ปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ไหน
“ อยู่ที่ใจของเรา “..
ที่ถูกกิเลสตัณหาหลอก
ให้อยาก ให้หิว ให้โลภ ให้โกรธนั่นเอง .

.ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว
น้อมเอาพระธรรมคำสอน
ของพระพุทธเจ้า..มาต่อสู้
มาทำลายล้างกิเลสตัณหา

.ไม่ช้าก็เร็ว
ถ้ามีความขยันหมั่นเพียร
มีความอดทนอดกลั้น
สู้แบบไม่ถอยแล้ว
“เราก็จะต้องเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน”.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๗, กัณฑ์ที่ ๑๒๙
๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๕






เราก็บ่นกันว่าทุกวันนี้ พระที่ดีนี้หายาก หาไม่ค่อยมี

แต่พอเวลาคนดีจะบวช ก็ว่าแหมเสียดายเนอะ
อุตส่าห์ไปเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท

สุดท้ายมาออกบวชเป็นพระ เสียดายการศึกษา

แต่ที่จริงแล้ว เราก็ควรจะอนุโมทนาอย่างยิ่ง
เพราะพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ต่อไป
จะเป็นที่พึ่งของเราได้

ก็เพราะมีพระมีคุณภาพ มีคนมีคุณภาพเข้าบวช
เราต้องการพระเป็นผู้นำสังคมพุทธ

ฉะนั้นถ้าใครศึกษาเล่าเรียน
พอจบแล้วเกิดมีศรัทธาออกบวช
ก็แสดงว่าได้ผลจากการเรียน
เพราะเกิดสัมมาทิฐิ เกิดความเห็นชอบ
เกิดปัญญาในเรื่องชีวิต

ไม่ใช่ได้เฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่ง

ฉะนั้นชีวิตพรหมจรรย์
ถ้าใครอยู่ในผ้าเหลืองได้นานๆ
มันเทียบไม่ได้นะกับชีวิตโยมๆ มันคนละเรื่องเลย

มันเป็นทองคำจริงๆ

ดังนั้นถ้าใครที่คิดจะออกบวช
ก็ขอให้อยู่ได้นานๆ ยิ่งนานยิ่งดี

ถึงจะได้ความสุขมากๆ..

พระอาจารย์ชยสาโร








นี่แหละ! ธรรมชาติของคน
ใครไม่รู้ก็จงรู้ไว้!!
.
การจะเป็นคนดีได้ ก็ต้องอาศัยข้อปฏิบัติ ๓ ประการ คือ การดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ในสมาธิธรรม ในปัญญาธรรม ตามชั้นภูมิของใจ หาใช่เพียงด้วยการพูดที่ดูดี หรือเพียงด้วยการกระทำที่ดูดีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่
.
ลำพังแต่การพูด ต่อให้พูดดีเพียงไหน ถ้ามิได้มีการกระทำที่ดีเป็นเครื่องสอดรับกัน ก็คือการประพฤติเท็จนั่นเอง คือการพูดไม่ตรงกับที่ทำ หรือกระทำไม่ตรงกับที่พูด เรียกว่า พูดอย่างหนึ่ง ทำไปอีกอย่างหนึ่ง
.
ดีไม่ดีใจอาจคิดไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ด้วย อย่างที่เรียกว่า หน้าซื่อใจคด ปากปราศัยแต่ใจเชือดคอ รู้จักคน รู้จักหน้า แต่ไม่รู้จักใจ
.
แม้การพูดจะดูดีแล้ว การกระทำจะดูดีแล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจ ต้องดูให้ลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งของใจอีกด้วยว่า ที่แสดงออกมานั้น ออกมาจากใจจริงไหม คือใจต้องมีหิริโอตตัปปะ มีความเป็นสัมมาทิฏฐิที่มั่นคง ไม่ใช่ประเภทเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้
.
ถ้าดี ก็ต้องดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือ ศีลต้องดีจริงที่ใจ สมาธิก็ต้องดีจริงที่ใจ ปัญญาก็ต้องดีจริงที่ใจ จะดีมากหรือดีน้อยก็เป็นไปตามภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละบุคคล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนดีจริงแท้
.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนดีก็ยากนักหนาแล้ว ไหนเลยจะมีแก่ใจไปฝึกฝนคนอื่น เพราะคนที่จะฝึกได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำดีจริง ๆ เป้าหมายอาจเลยไปไกลถึงขั้นมุ่งหวังความหลุดพ้น ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสารอันหาที่สุดมิได้
.
นั่น! ก็เป็นเรื่องของความปรารถนาเฉพาะบุคคล ผู้ใดมีศรัทธาเชื่อมั่นในการทำความดีทุกประเภท รู้เห็นคุณประโยชน์ของความดีอย่างชัดเจน ผู้นั้นก็จะขวนขวายทำความดีเอง ไม่มีใครบังคับได้ ส่วนผู้ที่ยังมองไม่เห็นคุณประโยชน์แห่งความดี ก็ยังคงพอใจทำชั่วอยู่ต่อไป
.
ใครอยากได้ดีก็ต้องทำดีเอง
ใครอยากได้ชั่วก็ต้องทำชั่วเอง
ธรรมชาติไม่เคยลำเอียงเข้าข้างผู้ใด
ถ้าเป็นเรื่องชั่ว ไม่ว่าใครทำก็ส่งผลชั่วทั้งหมด เรื่องดีก็เช่นเดียวกัน
.
กรรมย่อมส่งผลให้แก่ผู้ทำกรรมอย่างไม่ลำเอียง ผู้ใดอยากได้ผลดีแค่ไหน ก็ต้องทำเหตุดีเอาเอง ด้วยกำลังแห่งความเพียรของตน ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ที่ไหน จะสามารถดลบันดาลผลดีแก่เราได้โดยปราศจากการทำเหตุที่ดี ย่อมไม่มีในโลก
.
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรไปหลงเชื่อใครก็ตามที่พยายามจะยัดเยียดผลที่ดีให้แก่เรา โดยที่เราไม่ต้องทำเหตุที่ดีใด ๆ เลย ให้รู้ว่า นั่นคือ การโกหกหลอกลวง
.
ให้เข้าใจว่า การทำความดีนั้น มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไป คือ ให้ทาน รักษาศีล จนถึงความดีขั้นกลาง คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ จากนั้นจึงเข้าสู่ความดีขั้นสูง คือการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิเพื่อทำลายกิเลส ไปจนถึงความดีขั้นสูงสุด คือการเข้าสู่วิมุติหลุดพ้นจนถึงพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งความดี
.
แต่ผู้ที่จะมุ่งหวังทำความดีจนถึงขั้นวิมุติหลุดพ้นได้นั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เคยทำความดีสั่งสมมาแล้วมากในระดับหนึ่ง ก็จึงมาต่อยอดทำความดีให้สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภพชาติปัจจุบัน
.
ผู้ที่เข้าใจความจริงในหลักธรรมชาติเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า โลกนี้ทำไมจึงมีคนชั่วอยู่อย่างมากมาย เพราะการจะทำดีเป็นคนดีได้นั้น มันเป็นสิ่งที่คนชั่วทำได้ยากนักหนา
.
เพราะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจัง ต้องมีเจตนามุ่งมั่นที่จะละชั่ว ทำดี อย่างแท้จริง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมแอบแฝง ทั้งต้องทุ่มเทความเพียรอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้กับกิเลสมารร้ายที่สิงสถิตอยู่ภายในใจ กว่าจะเอาชนะมันได้ ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน บางทีต้องต่อสู้กันแบบข้ามภพข้ามชาติ จนเลยไปถึงหลายภพหลายชาตินับไม่ได้
.
ส่วนการยอมพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำนั้น คนทั่วไปนิยมชมชอบ และทำกันอย่างเป็นปกติเคยชิน มิหนำซ้ำ ยังดูเหมือนพอใจที่จะพ่ายแพ้ต่อกิเลสมากกว่าการที่จะเอาชนะกิเลส
.
เวลาความโลภเกิดก็พอใจที่จะโลภ
เวลาความโกรธเกิดก็พอใจที่จะโกรธ
เวลาความหลงเกิดก็พอใจที่จะหลง
.
จะมีสักกี่คนที่คิดจะต่อต้านขัดขืนไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของกิเลส ลองทดสอบดูใจตนเองก็ได้ เวลาความโลภเกิด ความโกรธเกิด ความหลงเกิด จงอย่ายอมทำตามมัน ดูว่าจะทำได้สักแค่ไหน
.
แม้เราตั้งใจทำดีอยู่ แต่เมื่อใดที่ใจเราเกิดความท้อแท้อ่อนแอ เกิดความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ จะเป็นด้วยเพราะผิดหวัง หรือเสียใจโกรธแค้นด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หากใจไม่มีสติปัญญาคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวให้สุขุมรอบคอบ ใจก็พร้อมที่จะหันกลับไปทำชั่วได้ตลอดเวลา
.
เว้นไว้แต่ผู้ที่มีสติปัญญารู้ธรรมเห็นธรรมตั้งมั่นในระดับหนึ่งแล้ว ผู้เช่นนั้น ความชั่วย่อมไม่อาจครอบงำใจได้อีก
.
ยิ่งถ้าใครไม่เข้าใจเป้าหมายของการทำความดีว่า ความดีคืออะไร? จะทำไปเพื่ออะไร? มีประโยชน์อะไร? และต้องทำไปอีกนานสักเท่าไหร่? ใจนั้น ก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำ ใจก็อาจจะถูกกิเลสข่มขู่คุกคามจนตกเป็นทาสของกิเลสไปได้อย่างง่ายดาย
.
“ฝึกตนเองดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า”
.
ก็จริงอย่างนั้น ถ้าเราไม่ฝึกฝนตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสในใจตนให้ได้ก่อน แล้วจะเอาสติปัญญาที่ไหนไปฝึกสอนคนอื่นให้เอาชนะกิเลสในใจของเขาได้
.
การเอาชนะกิเลสในใจได้นั้น ก็มีหลายขั้นหลายภูมิ มิใช่ว่าจะต้องเอาชนะกิเลสจนถึงขั้นสูงสุด ขอเพียงให้รู้แน่แก่ใจด้วยสันทิฏฐิโกในใจตนเอง รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมแค่ไหน ก็ทำตัวเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น และฝึกสอนผู้อื่นได้เพียงนั้น
.
ลักษณะของคนที่พอแบ่งแยกได้ตามภูมิของจิตมีดังนี้
.
๑. ปุถุชน คือคนหนาด้วยกิเลสทั่ว ๆ ไป จำพวกนี้เอาเป็นประมาณไม่ได้ มีตั้งแต่ คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไรเลย สามารถที่จะทำชั่วได้ทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ ไปจนถึงคนที่พอมีหิริโอตตัปปะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว
.
๒. กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่มีหิริโอตตัปปะมากขึ้นกว่าประเภทแรก ไปจนถึงมากที่สุด เริ่มมีสติปัญญา รู้ดี รู้ชั่ว มากขึ้น เริ่มที่จะรู้จักละชั่ว ทำดีมากขึ้น ไปจนถึงพอใจที่จะทำใจให้สงบผ่องใสบริสุทธิ์ เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นมหันตภัยร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปให้ได้สถานเดียวเท่านั้น
.
ผู้เช่นนั้นย่อมมีแก่ใจมุมานะที่จะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้ได้ตลอดไป หากใครได้คบหาเพื่อนฝูงที่เป็นกัลยาณปุถุชน ก็นับว่าดีแท้ ถือได้ว่าเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐยิ่งกว่าเงินทอง เพราะกัลยาณปุถุชนนี้ ก็คือผู้ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลในวันหนึ่งนั่นเอง
.
๓. อริยบุคคล คือ บุคคลผู้ข้ามพ้นโคตรของปุถุชนไปแล้ว ใจสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ใจตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมไปตลอดชีวิต แม้ตายก็ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมอย่างแน่นอน ใจยังมีกิเลสอยู่เพียงเบาบาง ไปจนถึงใจสิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิง หมดสิ้นภพสิ้นชาติแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่าตายเกิดในวัฏสงสารอีกตลอดอนันตกาล
.
ดังนั้น ถ้ารู้ว่าโลกนี้มันมีธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ มีทั้งคนบาปหนักบาปหนา มีทั้งคนบุญหนักบุญหนา ซึ่งเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนที่สั่งสมมาไม่เท่าเทียมกัน จะให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้
.
เห็นใครทำชั่วก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปโกรธเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำดี ถ้าเขาจะทำดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ อย่าให้ใจเราคิดทำชั่วอย่างเขา
.
เห็นใครทำดีก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปอิจฉาริษยาเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำไม่ดี ถ้าเขาจะทำไม่ดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำไม่ดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ ให้ใจเราคิดทำดีอย่างเขาให้มาก
.
ธรรมท่านสอนให้โอปนยิโก คือ…
.
เห็นใครทำดีก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองได้ทำดีอย่างนั้นบ้าง
.
เห็นใครทำชั่ว ก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองจงอย่าทำชั่วอย่างนั้นเลย
.
ผู้มีปัญญา ย่อมถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่ประสบพบเห็นทั้งดีและชั่ว สามารถแยกแยะได้อย่างไม่ลังเลสงสัย ทั้งรู้การเหมาะการควรที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น
.
ผู้มีปัญญา ย่อมมองเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง อย่างที่เรียกว่า ฟังธรรมในหลักธรรมชาติ คือ สัจธรรมประกาศก้องกังวานอยู่ตลอดเวลา และการปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ตลอดเวลาเป็นอกาลิโก ดังนี้แล!!
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๕
พระอาจารย์วิทยา กิจวิชโช






"คนบางคน เมื่อยังไม่ถึงเวลา
จะไปยัดเยียดธรรมะให้อย่างไรก็ไม่ฟัง
แต่พอถึงเวลาของเขา เขาอาจเอาจริงเอาจัง
จนแซงใครๆ กลายเป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมา
อีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ทุกอย่างไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ
ควรต้องรักษาจิตของเจ้าของให้ดีไว้ก่อน"

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ






"การภาวนา กว่ามันสิ
จิตว่างได้คือจั่งซั่นนิ
ปางตาย

คั่นสิมาภาวนาเอาลวกๆนิ
อยากหัวอยู่ฮั่นแล่ว
กว่าสิ

ภาวนาสบายได้
ต้องโสตาย คั่นสิมา
ภาวนาเอาลวกๆ
นิ อยากหัวอยู่ฮั่นแล่ว"

โอวาทธรรม
หลวงปู่ลี ตาณังกโร
วัดป่าหัวตลุก
อำเภอลาดยาว
จังหวัดนครสวรรค์








ให้ภาวนาพุทโธไปเรื่อย ๆ
แต่ให้ติดต่อกันนั่นแหละก็จะได้

เราเคยทำมันมาอย่างนั้นแล้ว
ความรู้ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น

เราไม่หนีพุทโธ
ตั้งใจจ้องดูอยู่อย่างนั้น

ทีนี้มันก็เกิดรู้สิ
พุทโธมันเป็นตัวอย่างไง
ก็ถึงจะมาปล่อยวางกิเลส

#หลวงปู่กวง #โกสโล








#หลวงปู่ดูลย์ #อตุโล

เมื่อจิตกระทบเข้ากับ
อารมณ์ภายนอกอย่างไร
ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น

อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง
อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงาม
ให้จิตได้โอกาสก่อรูป
ก่อร่างเป็นตุเป็นตะ
เป็นเรื่องเป็นราว
ยืดยาวออกไป

อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป
อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกัน

เพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง
หยุดกันเพียงเท่านี้
—-
ธรรมชาติของจิตนั้น
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เข้าใจได้ยาก

เพราะจิตไม่มีรูปร่าง
แต่ชอบท่องเที่ยวไปไกล

ดังพระพุทธพจน์
ที่กล่าวถึงจิต ไว้ว่า

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ
โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา

จิตท่องเที่ยวไปไกล
เที่ยวไปดวงเดียว
ไม่มีรูปร่าง
อาศัยอยู่ในร่างกายนี้

ใครควบคุมจิตนี้ได้
ย่อมพ้นจากบ่วงมาร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยาก
ในการอธิบายถึงจิต
ซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตา

“มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว
หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป

ไม่มีทั้งการปรากฏ
ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดา
สิ่งที่มีการตั้งอยู่
และ ไม่มีการตั้งอยู่

ไม่อาจจะลงความเห็นว่า
เป็นของใหม่หรือของเก่า
ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น
ของใหญ่หรือของเล็ก”

“จิตของเรานั้น ถ้าเรา
ทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ
เว้นขาดจากการคิดนึก
ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต
แม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ

ตัวแท้ของมันจะปรากฏออกมา
เป็นความว่าง แล้วเราจะได้พบว่า
มันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป

มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ
ที่ไหนแม้แต่จุดเดียว
มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่า
เป็นพวกที่มีความเป็นอยู่
หรือไม่มีความเป็นอยู่
แม้แต่ประการใดเลย

เพราะเหตุที่สิ่งเหล่านี้
เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้
โดยทางอายตนะ”

“หลักธรรมที่แท้จริง
ก็คือจิตนั่นเอง

ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว
ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ
จิต นั่นแหละคือหลักธรรม

ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว
มันก็ไม่ใช่จิต

จิตนั้นโดยตัวมันเอง ก็ไม่ใช่จิต
แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต

การที่กล่าวว่า จิตนั้นมิใช่จิต
ดังนี้นั้นแหละ ย่อมหมายถึง
บางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่จริง

สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด
ขอจงเลิกละการคิด
และการอธิบายเสียให้หมดสิ้น

เมื่อนั้น เราอาจกล่าวว่า
คลองแห่งคำพูด
ก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว
และพฤติของจิต
ก็ได้ถูกเพิกถอน
โดยสิ้นเชิงแล้ว”

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง
และสัตว์โลกทั้งสิ้น
ไม่ได้เป็นอะไรเลย
นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง

นอกจากจิตหนึ่งแล้ว
มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย

จิตหนึ่ง
ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้
เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น
และไม่อาจถูกทำลายได้เลย”

หลวงปู่ดุลย์ อุตโล








ชีวิตวันคืนล่วงไป
อย่าได้ประมาทเลย

วันคืนแห่งกรรมฐาน
ที่แท้จริง คือวันคืน
แห่งการคิดค้น

ก้าวทีเดียวไม่ถึงฟ้า
ต้องค่อยเป็นค่อยไป
จึงจะสำเร็จได้
.
#หลวงปู่แหวน #สุจิณฺโณ






เค้าจะเลวไม่เลว เราไม่รู้ แต่เรามาเจอเรื่อง (ไม่ดี) แบบนี้ แสดงว่าเราน่ะเลวมาก่อน

หลวงพ่อจิตโต บ้านสบายใจ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 58 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร