วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2022, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม : เขาทุกข์ใจเขาไม่สบายใจ
เราก็จะไม่สบายใจไปกับเขาด้วยค่ะ

พระอาจารย์ : เพราะเรายังไม่ปล่อยวางเขา

ถาม : ควรทำใจนิ่งๆแล้วดูไปเฉยๆ
ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เขาจะเป็นอย่างไร
ก็เรื่องของเขา เราดีใจก็ไม่ดี
เสียใจก็ไม่ดี “ เฉยๆดีที่สุด “
จะเฉยได้ ก็ต้องยอมรับว่า
เป็นบุญเป็นกรรมของเขา.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๔๙ กัณฑ์ที่ ๔๑๒
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓







#หลวงปู่เหรียญ #วรลาโภ

โยม – หลวงปู่ให้อุบายไป ผมชนะกิเลสดี ชนะแบบรู้ทัน หลวงปู่บอกว่า ราคะเป็นตัวแม่ทำให้บาปอื่นๆ ตามมา พอเราบอกว่า บาปเผาใจแล้ว เหลียวไปเหลียวมาก็เจอราคะ พอเจอแล้วเขาก็ไม่ลุกลามต่อไป เขาก็ค่อยๆ เบาลง และก็จะค่อยๆ หายไปเอง บางทีเขามาจากสัญญาบ้าง จากสังขารจิตบ้าง พอมาแล้วเหมือนกับเขาจะมาวนๆ รอบๆ จิต แล้วเขาก็ไป

หลวงปู่ – ก็นั่นแหละ พยายามบำเพ็ญไป

โยม – ถ้าละตัวนี้ได้มันจะเย็นมากเลยครับหลวงปู่

หลวงปู่ – อือ มันก็สบายแล้วในโลกอันนี้

โยม – หลวงปู่ให้อุบายไว้ตรงเลย

หลวงปู่ – มนุษย์ที่มันเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้ ก็เพราะราคะตัณหานี่แหละเป็นเหตุ เมื่อราคะมีแล้ว โทสะก็มี โมหะก็มี

โยม – ทำไมใจชอบภาวนารักการสมาธิละครับหลวงปู่

หลวงปู่ – ก็บุญหนหลังมาดลบันดาล ถ้าคนที่ไม่เคยได้ปฏิบัติอบรมจิตใจมาแต่ก่อนนะ มาชาตินี้มันก็ไม่สนใจหรอก มีแต่เพลินมีแต่เมาไปเรื่องภายนอก

โยม – พอได้อุบายจากครูบาอาจารย์แล้ว พอไปทำก็ได้เร็วล่ะครับ

หลวงปู่ – ดีมาก นี่แหละ ขอให้ไปทำทางพ้นทุกข์แหละ คนทั้งคนนี่มีใจดวงเดียวเท่านี้แหละเป็นแก่น ร่างกายนี้บุญกุศลตกแต่งให้มาอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง เมื่อบุญเก่าหมดลงแล้วนี่ จิตนี้ก็อยู่ในร่างนี้ไม่ได้ ต้องถอนตัวออกไป แต่มันจะไปเองไม่ได้นะ ต้องอาศัยบุญหรือบาปนำออกจากร่างนี้ไป มันเป็นอย่างนั้นจิตดวงนี้ มันไม่ตาย พูดง่ายๆ เมื่อร่างนี้มันอาศัยไม่ได้แล้ว มันมีบุญหรือบาปเป็นพาหนะนำออกไป มันจะไปหาเกิดเอาตามใจชอบไม่ได้เลย ถ้าคนมีบาปอย่างนี้นะก็ไปตกนรกสิ จะไปเกิดเป็นคนไม่ได้ บาปมันไม่ยอม

เพราะฉะนั้นจึงว่า สัพเพ สัตตา กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา แปลว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำนั้น มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พี่น้องติดตามมา มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะได้รับผลแห่งกรรมอันนั้นสืบไป

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่าเทวดาอินทร์พรหมที่ไหนมาตกแต่งให้ ร่างกายมีบุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติก่อน นำดวงจิตมาปฏิสนธิในท้องของมารดา จิตนี้มาอาศัยธาตุของมารดาบิดาอยู่ และบัดนี้บุญนั้นก็มาตกแต่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มือ เท้า อวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ ให้ ถ้าผู้มีบุญล้วนนะ มันก็มาตกแต่งให้ได้ครบถ้วน ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี อวัยวะร่างกายน้อยใหญ่ ทั้งหลายก็ดีครบถ้วนหมด

โยม – หลวงปู่บอกการทำสมาธิก็คือ สติจับจิตอยู่ตรงไหน ก็เอาตรงนั้น ผมก็จับลมหายใจ จับไปจับมามันอึดอัด ตอนนี้ก็จับความรู้สึกง่ายกว่าลมหายใจ หลวงปู่บอก มันเป็นเครื่องล่อ เดี๋ยวก็ต้องทิ้งมัน พอจิตลึกละเอียดลงไป หลวงปู่สอนแบบง่ายและก็เข้าใจ เวลามีความรู้สึกทางใจ พอกำหนดสมาธิ ปัญญามันก็ผุดขึ้นมา มาบอกต่างๆ ให้เราทราบได้ เหมือนกับไฟสว่างขึ้น เราก็มองอะไรเห็น

หลวงปู่ – คนเราถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่มีปฏิภาณ มีปัญญาจึงค่อยมีปฏิภาณได้

โยม – สมาธิทำให้ฉลาดใช่ไหมครับ

หลวงปู่ – สมาธิเป็นฐานที่ตั้งของปัญญา ถ้าสมาธิไม่มั่นคง ปัญญาเกิดไม่ได้ ขาดๆ เขินๆ ไปอย่างนั้น

โยม – คนรวยแต่โง่นี่แสดงว่าไม่ชอบภาวนา มาทำแต่ทานอย่างเดียวใช่ไหมครับ

หลวงปู่ – คนส่วนมากมันเป็นอย่างนั้น มันขึ้นอยู่กับบารมีของบุคคล ผู้ใดบารมีแก่แล้ว มันก็บันดาลให้อยากทำความเพียร อยากหลุดพ้นจากกิเลสไปอย่างนั้นแหละ คนมีบารมียังน้อยอยู่ มันก็เกิดความขี้เกียจขี้คร้านไป มันยากก็แต่บารมีมันยังไม่เข้าขั้นนี่แหละ

ถ้าผู้มีบารมีเข้าขั้นแล้ว ฟังเทศน์จบลงก็ได้บรรลุมรรคผล สมาธิท่านก็มีอยู่ในขณะฟัง ปัญญาก็มีพิจารณาในคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้ได้ชัดๆ การบรรลุเกิดในขณะจิตเดียวเท่านั้น แต่เวลาในการสร้างบารมีมันนาน กว่ามันจะได้ถึงขั้นนั้น

มีผู้หญิงคนหนึ่งมาพูดบอกว่า ดิฉันอยากพ้นทุกข์ในชาตินี้ ทำอย่างไร ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ภาวนาเข้าไปสิ ปลงขันธ์ห้าลง อย่าไปถือขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตน เมื่อปลงขันธ์ห้าลงได้แล้ว ก็พ้นทุกข์ได้แล้ว นี่พูดลัดๆ เอา ไม่ต้องอธิบาย ถ้าอธิบายไปแล้วมันต้องสร้างบารมี เมื่อบารมีแก่กล้าเข้าไปถึงขั้นใด พ้นทุกข์ไปได้ขั้นนั้นล่ะ ไม่ใช่ว่าสร้างบารมีแล้วบังคับให้บุญบารมีเต็มปัจจุบันทันด่วน ให้ได้มรรค ให้ได้พ้นทุกข์ภัยไปเลย พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ท่านสร้างบารมีมาในวัฏสงสาร พรรณนานับชาติไม่ถ้วน กว่าจะได้มรรคได้ผลในชาติสุดท้าย

โยม – การที่เราไปงานศพแล้วช่วงที่เขาจะเผา เขาจะแกะศพออกมาให้เราดู เราขึ้นไปพิจารณาอสุภะตัวนี้ก็เป็นบารมี แล้วเราก็จำอสุภะอันนั้นไว้ เพื่อไม่ให้นิวรณ์ธรรมเกิด ขณะที่ตาเราไปผัสสะรูปที่ยังเต่งตึงอยู่ อันนี้ก็บุญส่วนภาวนาใช่ไหมครับ

หลวงปู่ – เป็นบารมีเป็นอุปนิสัยบางอย่าง ครั้งพระพุทธเจ้าในอดีต พระยสะกับสหาย ๔๕ คน ท่านไปปลงศพคนอนาถาคนหนึ่ง ตายไม่มีญาติ ก็เลยจัดการทำหีบศพใส่ แล้วก็หามกันไปป่าช้า แล้วก็ไปเผา พอเผาไฟไหม้ลงไป ยุบลงไป เอาไม้มาแทงร่างนั้น ให้มันกระจายออกไป และก็เตือนหมู่ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพิจารณาดูสิ ร่างกายนี้มันมีอะไร มันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนะ มันแตกมันดับ พวกเราอย่าประมาท ให้สร้างบุญ สร้างกุศลไป จากนั้นถือเอาอสุภะนั้นเป็นนิมิต เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังธรรมไป บารมีก็แก่กล้า

ต่อมาในครั้งสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ พระยสะและสหายทั้ง ๔๕ รูป ก็ได้บรรลุอรหัตตผลในเวลาไล่เลี่ยกับปัญจวัคคีย์ทั้งห้านี่แหละ เรียกว่าเป็นอันดับสองรองจากปัญจวัคคีย์ทั้งห้า

โยม – ถ้าเรากำหนดภาพนั้นอยู่ในรูป ให้เป็นนิมิตเพื่อทำสมาธิ นี้ก็มีอานิสงส์มาก ใช่ไหมครับ

หลวงปู่ – อือ ก็เป็นเช่นนั้นแหละ อย่าให้ลืม ลืมไปเดี๋ยวเราก็เห็นสวยเห็นงามไปอีก จิตมันก็จะดำอีก เพราะว่ากิเลสมันร้อน มันเข้าปกคลุมอย่างเก่า พอไปเห็นทีก็สลดสังเวชที พอประมาทก็เอาอีก การเกิดแต่ละชาตินี้ ถ้าไม่เข้าถึงศาสนานี่ใช้ไม่ได้เลย เช่น เกิดเป็นลูกพระยามหากษัตริย์ แต่ไม่มีแม้แต่ศีลห้านี้ บุญนั้นก็หมดสิ้นเชิงเลย เกิดอีกทีก็เป็นผู้ที่ยากจน เพราะไม่ได้บำเพ็ญทาน บุญเก่าก็เหมือนคนมีเงินมาก ใช้ไปหมดไป มองว่าประมาท

และเมื่อบุญมากขึ้นๆ ความเห็นก็จะสอนว่าขันธ์นี้น่าเบื่อ มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เปรียบเหมือนกับรถที่เราอาศัยมันไปชั่วระยะหนึ่ง พอมันดับ เราก็ต้องไปเกิดอีก เป็นแบบสังขารธรรม บาปบุญกุศล จิตมันเริ่มจะหาสรณะที่พึ่งถาวร ก็เลี้ยวเข้ามาสู่ภาวนา แล้วเลี้ยวสู่ทางออกคือการตัดขันธ์ห้า แต่มันก็ขาดกำลังใจ บารมีมันยังอ่อน มันยังใยดีต่อสมบัติ ใยดีต่อความสุข ยังไม่เด็ดเดี่ยว อย่างผู้ที่บารมีท่านเต็มแล้ว

การสร้างบารมี มันก็อาศัยเหตุภายนอกมากระทบกระทั่ง เป็นเหตุให้อดให้ทน การที่มีเหตุภายนอกมากระทบกระทั่ง มาได้อดได้ทน ได้ละความยินดียินร้ายต่างๆ นั้น อันนั้นแหละเป็นบารมี ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่มีเรื่องอะไรมากระทบกระทั่ง จิตมันก็เฉยๆ ไปอย่างนั้นแหละ มันก็ไม่เป็นบารมี

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ท่านจึงไม่โทษสิ่งต่างๆ ในโลก สิ่งต่างๆ ได้ชื่อว่ามันช่วยให้ผู้มีปัญญานั้นเบื่อหน่าย ถ้าไม่มีสิ่งนี้มากระทบกระทั่ง มันก็ไม่เบื่อหน่าย

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ








การทรงฌาน

คำว่า เป็นฌาน ให้สังเกตตามนี้ ไอ้ฌานเฉพาะเวลานั่งสมาธิน่ะไม่จริง ไม่ใช่ฌานจริง เขาเรียกว่า "ฌานหลอก"

ถ้าฌานจริงๆ ต้องเป็นอย่างนี้ ถึงเวลานี้ เราเคยบูชาพระ ถ้าเวลานั้นไม่ได้บูชาพระเราไม่สบายใจ ต้องบูชาพระ ถ้าไม่มีพระจะบูชา ก็นึกในใจ นึกบูชาเอาเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ ถือว่า จิตมีฌานในการบูชาพระ

การบูชาพระมีอะไรบ้าง
๑. พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ นึกถึงคำสวดมนต์นี่เป็นธรรมะ
๓. สังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์ที่เราชอบใจ

ก็รวมความว่า ในเมื่อจิตมันทรงตัวแบบนี้ เป็นอนุสสติแบบนี้ ถ้านึกอยู่เสมอว่า ถ้าถึงเวลาถ้าเราไม่ได้ทำ ใจไม่สบายนี่ละ "ฌานแท้"

บางคนบอกฉันทรงฌาน ๔ ฌาน ๕ หรืออะไรก็ตามเถอะ แต่ว่าต้องนั่งขัดสมาธิแล้วจึงจะนึกถึง จึงจะทรงตัว อันนี้ไม่จริง ยังเป็นการหลอกตัวเองอยู่ ยังเผลออยู่

อย่างคนที่เคยใส่บาตรเป็นปกติ ถ้าถึงเวลาไม่ได้ใส่บาตรไม่สบายใจ จะต้องใส่บาตรให้ได้ อย่างนี้เขาถือว่า ฌานในจาคานุสสติกรรมฐาน และ ทานบารมี ด้วย

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๔๙๓ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ หน้า ๙๓
หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ






ลมปากคน เขารักเราก็ยกย่องสรรเสริญเยินยอ เขาชังเรา เราดีทุกอย่าง เขาก็ยังอุตส่าห์นินทา คนพูดมากก็ถูกตำหนิ คนพูดน้อยก็ถูกตำหนิ คนพูดกลางๆก็ถูกตำหนิ นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก เพราะฉะนั้นอย่าไปหวั่นไหวกับลมปากคน เขารักเราก็สรรเสริญเราทั้งวันนั่นแหละ

โอวาทธรรม หลวงพ่อสามดง จันทโชโต
วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา






*** อารมณ์พระนิพพาน เป็นอย่างไร ***

พอคุยเสร็จจากจุดนี้แล้ว ท่านก็บอกให้ไปพระนิพพาน ก็ไปที่วิมาน พอเข้าไปข้างใน เขาก็มากันพร้อม แต่งตัวกันสวยสดงดงามดี สักครู่หนึ่งสมเด็จท่านก็เสด็จมา ท่านตรัสว่า
“ ถามพวกที่อยู่นิพพานซิ อารมณ์จริงๆ เขาเป็นอย่างไร ”
ไอ้เราขึ้นไปบนนั้นมันก็สบาย มีแต่เบาๆ ก็เลยถามแม่ศรี พอถามเขาก็เปล่งแสงปล๊าบ แสงสว่างจัดเต็มที่ ก็เลยถามว่า
“ เอาแสงนี่มาใช้แล้วรึ ”
“ มันถึงเวลาที่จะต้องใช้แล้ว ” เลยถามว่า
“ อารมณ์ของพระนิพพานมันเป็นอย่างไร ”
“ มันก็ไม่มีอารมณ์อะไร อารมณ์อย่างเทวดาไม่มี อารมณ์อย่างพรหมก็ไม่มี จะมานั่งห่วงว่าคนนั้นจะแก่ มันก็ไม่มี ห่วงว่าคนนั้นจะป่วย มันก็ไม่มี ห่วงว่าคนโน้นมันจะเหนื่อย มันก็ไม่มี มันไม่มีอะไรจะห่วงทั้งหมด อารมณ์มันเฉยๆ ถึงเขาจะเป็นลูก เป็นน้อง เป็นพี่ เป็นสามี เป็นภรรยา อารมณ์เดิมมันก็ไม่มี ไอ้ความเนื่องถึงกันในอดีตมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อยู่บนนี้แล้ว อารมณ์มันปล่อยหมด แต่คำว่าพันธะมันยังมีอยู่นิดหนึ่ง ก็ห่วงพวกที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ”
“ ห่วงแล้วจิตมันเป็นอย่างไร มันทุกข์ไหม ”
“ ไม่ทุกข์หรอก มีกังวลอยู่หน่อยเดียวว่า ทำอย่างไรเขาถึงจะเป็นพระอรหันต์ จะหาวิธีใดให้เขามานิพพานได้ ”
“ ไม่มีกังวล เพราะรู้ว่ากำลังเขาไม่พอ เราก็จะมีทางอย่างเดียวคือ ชี้แนว แนะแนวโดยความเข้าใจ เวลาที่จิตเขาเป็นทิพย์ก็จะสร้างความเข้าใจให้เกิด ว่าการที่จะเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงนะ ควรจะทำอย่างไร ให้เขาเกิดอารมณ์ความรู้สึกเอง ”

นี่แทนที่พระพุทธเจ้าจะอธิบาย กลายเป็นแม่ศรีสอนฉัน เขาก็นั่งอธิบายให้ฟัง แล้วเขาก็ถามว่า
“ อย่างหลวงพี่นะ เวลาที่ขึ้นมาบนนี้ มีกังวลไหม ”
“ ฉันจะไปกังวลอะไรอีก ขนาดฉันอยู่เมืองมนุษย์ ฉันยังไม่กังวลเลย ”
“ หลวงพี่ห่วงใครบ้างล่ะ ”
“ ตัวฉันยังไม่ห่วง แล้วฉันจะไปห่วงใครเขา ”

สมเด็จท่านก็เลยตรัสว่า “ ถูก ตัวคุณๆก็ไม่ห่วง แล้วก็คำว่าห่วงใครจริงๆ มันก็ไม่มี แต่ทว่าพระหรือว่าฆราวาสก็ตาม ถ้าทำจิตให้ถึงอารมณ์ที่สุดได้แล้ว ก็อย่าลืมว่าถ้าขันธ์ ๕ มันมีอยู่ ภาระมันก็ยังมี นี่เราไม่ห่วงก็จริง แต่ว่าเราก็ต้องทำงานตามหน้าที่ ฉะนั้นความหนักในขณะที่ทรงขันธ์ ๕ มันจึงยังมีอยู่ แต่ว่าขณะใดที่จิตมันยังทรงขันธ์ ๕ อยู่ ก็ควรจะทำอารมณ์ให้เบาเหมือนกับขึ้นมาอยู่บนนิพพาน ”

ทำอย่างไรรู้ไหม ก็ต้องใช้คาถา “ ช่างมัน ช่างมัน ช่างมัน ” ช่างจนกระทั่งน้ำหนักที่ชั่งมันเหมือนกับชั่งอากาศ แล้วสมเด็จท่านก็ตรัสว่า

“ ขณะที่ทรงร่างกายอยู่ ควรจะทำจิตเหมือนกับตอนอยู่บนนิพพาน แต่ว่ากิจอันหนึ่ง ที่จะพึงทำนั้นก็คือ ภาระของขันธ์ ๕ ถือว่า เราทำเพื่อให้มันทรงอยู่มันยังไม่ดับ แต่ว่าอย่ามีอารมณ์กังวล มันอยากกินก็ให้มันกิน มันอยากขี้ก็ให้มันขี้ มันอยากนอนก็ให้มันนอน ทำสภาวะเหมือนกับว่า เสือตัวร้ายที่เราเลี้ยงมันไว้ แต่เรากำลังจะโดดหนีเสือ แต่เสือมันยังไม่ไป เมื่อเราอยู่กับเสือ เราก็มีความรังเกียจเสือ เราให้มันกินเพราะความจำใจ เราเอาใจมันเพราะความจำใจ แต่เนื้อแท้จริงๆ เราไม่ต้องการมันเลย ”

ก็เป็นอันว่า ให้ทุกๆท่าน พยายามรักษากำลังใจ ขณะใดที่เรายังทรงขันธ์ ๕ อยู่ ก็ให้ทำอารมณ์ใจเหมือนกับเราละขันธ์ ๕ ไปอยู่ที่นิพพาน อย่าให้มีอารมณ์ยุ่ง มันมีหน้าที่ก็ให้เป็นหน้าที่ แต่ว่าใจอย่าให้มันยุ่ง ทำทุกอย่างเพื่อเราละโลกนี้ คือมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ถือว่าโลกทั้งสามนี้ มีสภาพเหมือนพยัคฆ์ร้ายที่คอยทำอันตรายเรา เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน

-------------------------------------------------------------------------------
ธรรมโอวาท พระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษี (ลิงดำ) วัดท่าซุง
จาก : ธัมมวิโมกข์ ธันวาคม 2538 หน้า 20-22


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 53 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร