วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 10:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2022, 05:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#กัลยาณมิตร

ถาม : เราจะมีหลักในการคบเพื่อน หาเพื่อนที่ดีๆ ที่ท่านเรียกว่ากัลยาณมิตรได้อย่างไรครับ

ตอบ : คือเรื่องการคบคน ส่วนหนึ่งเราเลือกไม่ได้ อย่างเช่น คนที่อยู่ในครอบครัวตัวเอง ญาติตัวเอง เราคงไม่สามารถที่จะแยกตัวเองหรืออยู่ห่างออกไป โดยบอกว่าเขาเหล่านี้ไม่เป็นกัลยาณมิตร บางทีต้องอดทน

แต่ในส่วนที่เราเลือกได้ เพื่อนที่ดีก็มีหลักง่าย ๆ อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราอยู่กับคนที่เป็นกัลยาณมิตร เรารู้สึกว่าการกระทำและการพูดในสิ่งที่ดีจะง่ายขึ้น การกระทำและการพูดในสิ่งที่ไม่ดีจะยากขึ้น

ในทางตรงข้ามถ้าเป็นปาปมิตร (อ่านว่า ปา-ปะ-มิตร) ถึงแม้คนนั้นเป็นคนน่ารักก็จริง เราอยู่ด้วยก็มีความสุข

แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร เวลาเข้าใกล้ เวลาไปคุยด้วยแล้วมักจะจบด้วยการทำอะไรที่ไม่ค่อยดี พูดไปพูดมากลับไปพูดเรื่องไม่ควรพูด การพูดการทำเรื่องไม่ดีเป็นเรื่องง่ายขึ้น การที่จะทำความดีรู้สึกจะทำน้อยลงด้วย

ฉะนั้นเครื่องชี้วัดง่าย ๆ ของกัลยาณมิตรคือว่า เราคบกับใครแล้วรู้สึกว่าทำความดีง่ายขึ้น ทำความชั่วได้ยากขึ้น เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร เหมือนกับว่ากัลยาณมิตรจะดึงความดีของเราออกมา แต่ถ้าอยู่กับปาปมิตร ก็จะดึงความชั่วของเราออกมามากกว่า

“ธรรมะเอาการเอางาน”
#พระธรรมพัชรญาณมุนี วิ.
(พระอาจารย์ชยสาโร)







…พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน
ให้ระมัดระวังกับเรื่องบาปกรรมทั้งหลาย

.แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เท่าผงธุลีก็ตาม
ก็อย่าไปทำมัน ทำแล้วจะติดเป็นนิสัย
จะทำง่ายขึ้น ทำบ่อยขึ้น ทำมากขึ้น
จะกลายเป็นกรรมใหญ่เป็นบาปใหญ่ขึ้นมา

.เช่นเดียวกับ…การทำบุญ
ถึงแม้จะเป็นการทำบุญเล็กๆน้อยๆ
“ก็ให้รีบทำเสีย อย่าไปคิดว่าทำได้นิดเดียว “
สู้คนอื่นไม่ได้ รอให้รวยก่อนค่อยทำ
ก็จะไม่ได้ทำเลย

.เพราะเมื่อรวยแล้ว
ก็จะเสียดายจะหวงเงินทอง
ก็จะไม่อยากทำอยู่ดี ดังนั้น..
เมื่อเราอยากจะทำบุญ
ถึงแม้จะมีเพียงแต่ข้าวเปล่าๆ
ก็ขอให้ทำไป จะได้ติดเป็นนิสัย

.ต่อไปถ้ามีเงินมาก
ก็จะซื้อกับข้าวกับปลาใส่บาตรได้
ซื้อจีวร ซื้อยา ซื้อเครื่องสังฆทานถวายได้
“ อย่าไปมองคนอื่น ให้มองตัวเรา “
เพราะคนเรา…
สร้างบุญสร้างกุศลมาไม่เท่ากัน.
………………………………………
กำลังใจ ๓๙ กัณฑ์ที่ ๓๕๔
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







"ถ้าหัวใจเรามันสกปรก
มันยุ่ง มันเหยิง มันวุ่น มันวาย
ธรรมะจะเข้าสู่หัวใจเราไม่ได้"

โอวาทธรรม
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต





“อย่าเอาโรคของกาย มาเป็นโรคของใจ
ให้กายเป็นโรคจนตายโหงตายห่า
ก็อย่าเอามาเป็นโรคของใจ ให้ใจนั่งหัวร่อ
โรคของกายให้แนบเนียนที่สุด แม้มันจะดับ
ไปด้วยกัน

กายมันเป็นรังแห่งโรค จะไม่ให้มันเป็นโรค
ตามเรื่องราวของมันนั้นไม่มีทาง เพราะมัน
เป็นธรรมดา เช่นนั้นเอง

ส่วนใจนั้น ต้องแก้ไข ปรับปรุง อบรม
จนไม่มีโรคโดยประการทั้งปวงได้ ในข้อนี้
ต้องแยกออกจากกัน ให้จงได้”

ท่านพุทธทาสภิกขุ








" ขอให้ลูกหลานทุกท่าน ได้ตั้งใจปฏิบัติจิตใจ
ของตนให้สะอาด ปราศจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง ซึ่งฝังอยู่ในดวงใจของเรา มาตั้งหลายภพ
หลายชาติ

มาชาตินี้ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้น จงรีบไปทำบุญ
ทำกุศลสืบต่อไป เพื่อเป็นทางหากำไรของชีวิต เพราะ
ชีวิตคนเรามันน้อยนัก ที่อยู่ถึงร้อยปีมันยาก "

หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป






#ภาวนาเพื่อละกิเลส

เบื้องต้นต้องหาทางทำยังไงจิตให้สงบ ทำให้ได้ ทำสมาธิภาวนา ๗ วัน ๑๐ วัน ทำให้ได้ แล้วก็ทรงสมาธิให้ได้ ถ้าทรงสมาธิได้ จิตเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตาจิตเนี่ยสบาย ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง

ความรู้สึกพอใจเกิดขึ้น หรือความรู้สึกตรงกันข้ามความไม่พอใจเกิดขึ้น สติมันเห็น เพราะสติมันอยู่ที่จิต อารมณ์ก็ออกจากจิต กิเลสก็ออกจากจิต

เมื่อสติมันตั้งมั่นจากสมาธิเนี่ย สติมันเห็น มันรู้เท่าทัน เมื่อรู้เท่าทันมันมีพลังของปัญญา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสนั้นจะปล่อยว่างได้ในขณะจิตนึง ในปัจจุบันนั้นเลย

สติ สมาธิ ปัญญา แหลมคม จะละกิเลสได้ในปัจจุบัน ชั่วคราวนะ ละอารมณ์นี่มันชั่วคราว



จะถอดกิเลสนะมันต้องคิดพิจารณากายในกาย ตั้งแต่โสดาบันผล ถึงอนาคามีผล ตั้งแต่กายอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ๓ ระดับ

กายอย่างหยาบก็โสดาบันผล กายอย่างกลางก็สกิทาคาผล กายอย่างละเอียดที่ละได้ก็อนาคามีผลนั้นล่ะ

นี่แหละเป้าหมายของการพิจารณา กายในกายเนี่ย อันนี้เป็นทางที่ไม่ผิด ไม่เชื่อก็ลองทำดู แล้วจะเห็นประจักษ์ชัดด้วยใจของตนเอง รู้เห็นธรรมขึ้นมาก็ด้วยใจของตนเอง

ใจจะเป็นธรรมขึ้นมาก็ด้วยพิจารณากายในกายนี่แหละ พิจารณาอารมณ์นั้น ปล่อยวางชั่วคราวเท่านั้นแหละ วันนี้ละรูปนี้ลงไป ละเสียงนี้ กลิ่นนี้ รสนี้ ออกไป พรุ่งนี้ รูปใหม่ รสใหม่ กลิ่นใหม่ สัมผัสใหม่ ไม่เหมือนเดิม

สติปัญญาต้องทำงาน เหนื่อย เหมือนเดิมทุกๆวัน ละวางได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้นแหละ ถ้าไม่ขุดรากถอนโคน รากเหง้าคืออุปาทานความยึดมั่นในกายตนแล้วเนี่ย อารมณ์ไม่มีทางละขาด



ผู้ที่ดูจิต พิจารณาจิต พิจารณาอารมณ์แค่นั้น ไม่สามารถที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ เพราะไม่เห็นความไม่เที่ยงของกายนี้

ถ้าผู้ใดไม่ผ่านทางการพิจารณากาย แล้วว่าตนบรรลุโสดาบันจนถึงอรหันต์นั้น อันนั้นด้วยความหลง ด้วยความวิปลาส วิปริต ต้องผ่านการพิจารณากายหมด

พระอริยะบุคคลเบื้องต้น จนถึงพระอนาคามี จึงจะพิจารณาจิตที่ละเอียด หรือ กิเลสที่ละเอียดได้

เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาบวช อุปชาท่านใดไม่ได้ให้พิจารณากรรมฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ทำให้กุลบุตรนั้นเป็นหมันจากมรรคผลนิพพานได้เลยในปัจจุบันชาติ เพราะไม่ชี้ทางไม่บอกทางแห่งมรรคผลนิพพาน

กรรมฐานทั้งหลายก็มีอยู่ สติปัฏฐาน ๔ ก็ขึ้นด้วยกายก่อน แล้ว เวทนา จิต ธรรม สังโยชน์ ๑๐ ก็ละสักกายะทิฐิ เรื่องของกายทั้งนั้น

อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องถ่ายถอนกิเลส ทำให้ความโลภความโกรธความหลงเบาบางไปได้ จนดับความโลภ ดับความโกรธได้เลย ละความยินดีในกามทั้งหลายเรื่องของกายนี่แหละ เพราะฉะนั้นต้องฝึกซ้อมพิจารณา


ท่านใดคิดจิตยังไม่สงบ เมื่อถึงเวลาเข้าที่เดินจงกรม ให้ทำความรู้สึกไว้ที่ต้นทาง ระลึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ต่อไปนี้เราจะเดินจงกรมเพื่อที่จะฝึกสติของเรา อยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา จะเดินไปกลับ ๑๐ รอบ จะไม่ให้คิดถึงสิ่งอื่นใดเลย นอกจากคำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ หรือ กำหนดที่เท้าสัมผัส หรือ กรรมฐานบทใดบทหนึ่ง

เดินไปกลับ ๑๐ รอบ อย่าให้ความคิดใดมาแทรก หรือจะเดิน ๒๐นาที ครึ่งชั่วโมง ขจัดความคิดออกไปก่อน ตะเพิดกิเลสออกไปว่า เราคิดมาตลอดจะ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว เวลานี้ไม่ใช่เวลาคิด อย่าไปตามกิเลส อย่าไปปล่อยให้จิตนึกคิดปรุงแต่ง สารพัดเรื่อง สารพัดอย่าง เป็นการเดินจงกรมเดินนึกคิดเอา ไม่ได้เดินทำสติทำสมาธิ


ตามหลักผู้ที่จิตไม่สงบในเบื้องต้น ในเวลาเดินจงกรมให้ทำสติอยู่ที่กรรมฐานที่ภาวนาเท่านั้น ถ้าเผลอสติออกไปก็ตั้งสติใหม่ขึ้นมา เผลอสติก็ตั้งสติขึ้นมาอยู่กับกรรมฐานเรา ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องคิดเรื่องอดีตเรื่องอนาคต อย่าไปหลงกลกิเลส ปรุงแต่งส่งเสริมไป จะว่าบังคับจะว่าควบคุมก็ช่างเถอะ เราจะทำสติสมาธิก่อน


เห็นไหม หลวงตามหาบัวเมื่อปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ๆ เมื่อท่านจิตเสื่อมจากสมาธิ ท่านเจ็บใจอาฆาตแค้นกิเลส บอกจะไม่ทิ้งพุทโธเลย จะไม่ทิ้งคำบริกรรมภาวนาพุทโธเลย ไม่ว่าจะอยู่ในอริยาบท ยืนเดิน นั่ง นอน จะไม่ทิ้งคำภาวนาพุทโธเลย ใจให้แนบแน่นอยู่ตรงนั้น นั้นแหละการฝึกสติให้เป็นหนึ่งเดียว

เมื่อเราจิตไม่สงบให้เดินจงกรมกำหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เรากำหนดภาวนา จิตจะคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ตัดออกไป ไม่ใช่เวลาคิดตะเพิดออกไป เดินไป ๑๐ รอบก็ให้มีสติอยู่กับพุทโธนั่นแหละ


ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ หรือนั่งสมาธิก็ตามกำหนดระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่งคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ กำหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา จะกำหนดอาปาณสติ หรือ พุทธานุสติ หรือ กรรมฐานบทใดบทหนึ่งก็แล้วแต่ ให้ทำจิตให้ว่างจากอารมณ์ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอดีต เรื่องอนาคต

เรื่องปัจจุบัน ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเรานั่งอยู่กับหมู่ ให้เราทำใจให้เหมือนนั่งอยู่บนท้องฟ้าคนเดียว กำหนดสติอยู่กับกรรมฐานของเราเท่านั้นแหละ

ถ้าคิดเรื่องอดีต ก็ตั้งสติขึ้นมาใหม่ คิดถึงเรื่องอนาคตก็ตั้งสติขึ้นมาใหม่อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำบริกรรมภาวนา

ทำอย่างนี้ไปก่อน สำหรับผู้ที่ไม่มีความสงบ ทำอย่างนี้ไปก่อน ใครจะว่าบังคับก็ตาม ควบคุมก็ตามไม่สนใจ เราจะควบคุมจิตใจเราให้ได้นี่

ปล่อยจิตใจมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว เค้ายังฝึกช้างให้เชื่องได้ ฝึกม้าให้หายพยศ ฝึกหมาให้เชื่องได้ ทำไมใจตัวเราฝึกให้ดีไม่ได้ จะฝึกให้มันนิ่ง นิ่งไม่ได้เหรอ กำหนดอยู่ตรงนั้นแหละ


ถ้ามันเครียดตึง ปวดศรีษะ ปวดร่างกาย ปวดเส้น มันตึงไปก็รู้จักวางจิตให้เป็นกลางหน่อย ผ่อนลงมาหน่อย อย่าไปเพ่งมากมายนัก

พอผ่อนลงไปมากก็หย่อน เกิดนิวรณ์ อันนี้ก็หย่อนเกินไป กำหนดสติให้ถี่ขึ้นมาหน่อย

หาความเป็นกลางให้ได้ ทำยังไงสมาธิจึงจะเกิดขึ้น หาความพอดีให้ได้ การนอนก็พิจารณาแล้วนอนขนาดไหนพอดี การฉัน ฉันขนาดไหนจึงจะพอดีพิจารณาแล้ว

ทีนี้เรื่องการทำความเพียร หาเวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกันไปตลอดเป็นผู้ปรารถความเพียรอยู่เสมอ ว่างเข้าที่เดินจงกรม ว่างเข้าที่นั่งสมาธิ

#พระอาจารย์ตั๋น #วัดบุญญาวาส








#อุปาทาน4อย่าง

อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น

ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น"ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น"ของตน"

หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น"ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด ๔ อย่างนี้ว่าเป็น"ของเรา"
อุปาทาน 4 อย่าง

1- #กามุปาทาน

ยึดติดในกาม ซึ่งในที่นี้มิได้หมายความเพียงแค่เรื่องทางเพศ ซึ่งหมายถึงวัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิเลสกามคือความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ทำให้หลงรัก หลงชอบ พอใจและอยากมีไว้ในครอบครองหรือเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน รถ คอนโด ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องประดับเพชรนิลจินดา หนุ่มหล่อ สาวสวย คนรวย คนมีอำนาจ คนดัง เป็นต้น

2-. #ทิฏฐุปาทาน

ยึดถือในทิฏฐิ คือ ความเห็นของตนว่าถูกต้อง ตรง จริง ของผู้อื่นผิด แม้ความเห็นนั้นจะถูกต้องจริงๆ ก็ยังจัดว่าเป็นอุปาทานด้วยเหมือนกัน

3-. #สีลัพพัตตุปาทาน

ติดยึดในศีลวัตรที่งมงาย ในที่นี้หมายถึง ข้อประพฤติปฏิบัติที่ไร้ประโยชน์ซึ่งเป็นการทรมานตนเปล่า ทำให้เสียเวลา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นแต่กลับทำให้ยึดติดในวัตรปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยคิดว่าเพียงแค่การถือพรตอันเคร่งครัดเพียงเท่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งวิมุตติอันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริงในทางพุทธศาสนา

4-. #อัตตวาทุปาทาน

ยึดมั่นในความรู้สึกว่ามีตัวเอง เป็นของตัวเอง หรืออะไร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตนในตัวเอง

พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์"

ดังนั้น เบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้นหาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่าบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า"ตัวเรา" ว่า"ของเรา"นี้โดยตรง ดังมีพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" เรียกง่าย ๆ ว่า ทุกข์ก็เป็นความคับข้อง ความไม่สะดวกสบายอันเป็นธรรมดาของทุกข์เอง แต่เราไม่ได้ทุกข์ด้วยเพราะเราไม่ได้ไปยึดมั่นเอามาวยอุปาทานเสียแล้วจึงเป็นเบญจขันธ์ธรรมดาที่ไม่ได้ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่

#พุทธทาสภิกขุ







"คนเราเกิดมามีบุพกรรมเนื่องกัน อยู่ไกลแสนไกลก็ต้องได้มาเจอกัน แต่ที่จะสอนกันได้ ทรมานกันได้ ลากกันไปสวรรค์ พรหม นิพพานได้ ต้องเคยเป็นหมู่คณะบำเพ็ญร่วมกันมาเป็นอสงไขยกัป ไม่อย่างนั้นกระทบอะไรหน่อยเดี่ยวก็สะดุด หลุดวงโคจรไป

เคยเห็นไหม มาวัดแต่ไปไม่รอด ไปไม่รอดเพราะอะไร จิตใจมันไม่อยู่กับวัด มันวิ่งไปอยู่กับคนรัก เงินทอง ลูกหลาน วุ่นกับอดีต กับอนาคต รุงรังอย่างนี้แล้ว จะไปนิพพานได้อย่างไร แต่ก็เอาเถอะ ค่อยๆ สั่งสมบุญบารมีไป สะสมนิสัยวาสนาไป บุญบารมีพร้อมเมื่อไหร่จะดำริออกจากกาม มุ่งไปพระนิพพานสถานเดียวเอง..."

บางช่วงบางตอนของธรรมเทศนา เรื่อง ความเกี่ยวข้อง

#พระวชิรญาณโกศล
(พระอาจารย์คม อภิวโร)
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ในหนังสือสวดมนต์ฉบับพิเศษ ฯ วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) ๙๙๙ หมู่ ๑๔ บ้านซับน้ำเย็น ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร