วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2022, 05:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ภาระกับหน้าที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนต้องมีหน้าที่ แต่ไม่มีใครต้องมีภาระ ความรู้สึกมีภาระมาจากความคิดเศร้าหมองต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ สิ่งท้าทายนักปฏิบัติธรรมจึงอยู่ที่การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ

พระพุทธองค์ไม่สอนให้ปล่อยตัวการกระทำที่ควรเอาใจใส่ พระองค์ให้ปล่อยวางอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าหน้าที่ของเราเป็นภาระต่างหาก

สิ่งที่หนักที่สุดที่คนเราชอบแบกเป็นประจำจนเหน็ดเหนื่อย คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเรา ภาระปกป้องภาพลักษณ์ของเรา ศักดิ์ศรีของเรา ผลประโยชน์ส่วนตัวของเราหนักจริงๆ

การทำงานเพื่องานงาม การทำหน้าที่ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ ความอดทน และด้วยสติ ด้วยปัญญา อย่างนี้อาจจะลำบากอยู่บ้าง แต่ภายในรู้สึกเบาสบายที่สุด

#พระธรรมพัชรญาณมุนี
(พระอาจารย์ชยสาโร)





"การฆ่าตัวตายเป็นกรรมอันหนักหนา
กิเลสก็ยังหลอกว่าฆ่าตัวตายเพื่อหนีทุกข์
ครั้นแล้วมันไม่ได้เพื่อหนีทุกข์
เพื่อเพิ่มทุกข์เข้าไปอีก
นี่กิเลสหลอกสัตว์โลก
มันหลอกหลายชั้น

เราเป็นลูกชาวพุทธ
อย่าหลงกลอุบายของมัน

#เมื่อทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์
สัตว์เกิดมาในโลกนี้
อย่าว่าแต่เราเป็นมนุษย์
#สัตว์เขาก็ทุกข์เหมือนกัน
#เขาตะเกียกตะกายจนสุดความสามารถขาดดิ้นของเขา
#แต่เขาไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย

#เราเป็นมนุษย์มีสติปัญญาสูงกว่าเขา
#อย่านำเรื่องฆ่าตัวตาย
#มาเป็นการหาทางออก
ซึ่งเป็นการหาทางเพิ่มทุกข์เข้าไปโดยลำดับเท่านั้น
ขัดกับความเป็นชาวพุทธของเรา"

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน








"ให้นึกถึงบุญคุณบิดามารดา จูงพ่อแม่เข้าวัดตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ จูงเข้าป่าช้าจะมีประโยชน์อะไร

พ่อแม่ไม่เข้าวัด พาพ่อแม่เข้าวัด
พ่อแม่ไม่เคยให้ทาน ก็พาพ่อแม่ทำบุญใส่บาตร
พ่อแม่ไม่เคยรักษาศีล-ภาวนา ก็พาไปรักษาศีล-ภาวนา

นี่แหละเรียกว่า “จูง” จูงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เข้าวัดเข้าวา ทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา เป็นอย่างนี้"

คติธรรมคำสอน
หลวงพ่อสมบูรณ์ กนฺตสีโล






"... ในโลกนี้ ไม่มีอันใด
จะเหนือ
... อนิจฺจัง ทุกขัง อนตฺตา
ไปได้
... มันเต็มไปด้วยสภาพ
เดียวกัน
... จงใช้สติปัญญา พินิจ
พิจารณา ..."

#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน








"เราเคยให้ทาน ทานจะกลับมาถึงเรา
เราเคยรักษาศีล ถึงคราวที่เราเจอภัย ศีลจะมารักษาเรา
เราเคยภาวนาไว้ ถึงเวลาเราเกิดอุปสรรคหรือทุกข์ เราจะมีปัญญาแก้ไขได้"

หลวงพ่อกัลยาโณ ภิกขุ
วัดพุทธโพธิวัน เมลเบิร์น รัฐวิคตอเลีย ประเทศออสเตรเลีย








“หยาบ ละเอียด”

ถาม : สงสัยว่าถ้าร่างกายตายไป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะดับตามร่างกายหรือไม่

พระอาจารย์ : เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ เป็นส่วนของจิต ไม่ได้เป็นส่วนของร่างกาย เวลาร่างกายดับไป ส่วนนี้ไม่ได้หายไปกับร่างกาย พอเกิดใหม่ได้ร่างกายใหม่ก็จะทำหน้าที่ต่อ ไม่มีร่างกายก็ยังทำหน้าที่ได้อยู่ เช่นวิญญาณรับรู้รูป เสียง กลิ่น รสที่ละเอียด ที่ไม่ได้มาจากทางร่างกาย ที่เรียกว่ารูปทิพย์ เสียงทิพย์ เช่นเวลานอนหลับไป ไม่ได้ใช้ร่างกาย แต่ใจก็ฝันถึงรูป เสียง กลิ่น รสต่างๆ มีความสุขความทุกข์กับรูป เสียง กลิ่น รส ที่เป็นส่วนละเอียดนี้ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ร่างกายจะเกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รสที่หยาบ ส่วนรูป เสียง กลิ่น รสที่ละเอียดจะผ่านมาทางจิต ไม่ผ่านทางร่างกาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ 46 กัณฑ์ที่ 400
14 มิถุนายน 2552








สอนเขาฮัก แต่จะของซังอยู่

สอนเขาให้ แต่จะของขี่ถี่(ตระหนี่)อยู่

สอนเขาวาง แต่จะของยึดติดอยู่

สอนเขาเก่ง แต่ตัวเองโง่อยู่

สิสอนไผสอนแบบได๋ เขากะบ่ได่ความ

เพราะตัวเองบ่เคยสอนเจ้าของเนาะ

โอวาทธรรม หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต








#ปีชง_ไม่มีอยู่ในคำสอนพุทธศาสนา_กลับสวนทางกับคำสอนด้วยซ้ำ

"... พระอาจารย์ไพศาล วิสัชนาความเชื่อเรื่อง.."ชง"ไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ที่จริงกลับสวนทางกับคำสอนด้วยซ้ำ ระบุแทนที่จะเชื่อฤกษ์ยาม แนะให้มั่นคงในความ
ดี มีความเพียร และใช้สติปัญญา จะประสบความสำเร็จ..."

#ปุจฉา :: กราบนมัสการพระคุณเจ้า อยากกราบเรียนถามพระคุณเจ้าในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการชงว่า เท็จจริงในศาสนาพุทธ มีหลักคำสอนเกี่ยวกับในเรื่องนี้อย่างไร ว่าควรเชื่อในการชงหรือใช้พิจารณญาณในการดำเนินชีวิตคิดตัดสินใจ

#พระอาจารย์ไพศาล_วิสาโล

#วิสัชนา :: พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ฤกษ์ยามนั้นไม่สำคัญเท่ากับกรรมคือการกระทำ หากทำดีด้วยความพากเพียรแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ดังหวัง โดยไม่จำต้องพึ่งฤกษ์ยาม คนที่เอาแต่พึ่งฤกษ์ยาม ไม่รู้จักพึ่งตนเองนั้น ถือว่าเป็นคนโง่ ดังมีพุทธพจน์ว่า “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนโง่ผู้มัวถือฤกษ์อยู่” อันที่จริงเมื่อใดที่เราทำความดี เมื่อนั้นก็เป็นฤกษ์ดี ยามดีอยู่แล้ว ดังมีพุทธพจน์อีกตอนหนึ่งว่า “สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นย่อมชื่อว่าเป็น ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี”

"... มาถึงตรงนี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าความเชื่อเรื่องชงนั้นไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ที่จริงกลับสวนทางกับคำสอนของ พระพุทธองค์ด้วยซ้ำ หากจะทำอะไรก็ตาม ก็ให้มั่นคงในความดี มีความเพียร และใช้สติปัญญา
รวมทั้งคำนึงถึงคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องสัปปุริสธรรม นั่น คือ จะทำอะไรก็ตาม ควรรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล หากรู้ทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ก็ย่อมประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่เจริญงอกงาม ... "

พระไพศาล วิสาโล






“คำว่าสมาธิคือจิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว แน่นหนามั่นคง แม้เรา จะคิดปรุงแต่งเรื่องใดได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตคือความแน่นหนามั่นคงจะไม่ละ ตนเอง จะมีความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในใจ นี้เรียกว่าจิตเป็นสมาธิในภาคปฏิบัติ จิตสงบเป็นอย่างหนึ่ง คือสงบด้วยจิตรวมลงหลายครั้งหลายหน แต่ละหนๆ เรียก ว่าจิตสงบๆ เมื่อรวมลงไปทีไรก็ส่งผลหนุนให้จิตมีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ จนกลายเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทีนี้เรื่องอารมณ์นั้นอิ่ม อยากจะคิดจะ ปรุงอะไรตั้งแต่ก่อนซึ่งเหมือนอกจะแตก ไม่ได้คิดได้ปรุงเหมือนว่าอกจะแตก อยู่ ไม่ได้ก็ตาม

พอจิตเข้าสู่ความสงบเรื่อยเข้าสู่สมาธิแล้ว ความคิดปรุงทั้งหลายเหล่า นี้จะไม่มี จิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากได้ยินได้ฟัง สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เคยดีดดิ้นมาแต่ก่อน เพราะความสงบเป็นพื้นฐานให้เป็นที่อยู่ของจิต แล้ว จิตก็สงบเย็น นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินี้อยู่คนเดียวแล้วเหมาะที่สุด อยู่ที่ไหนต้นไม้ภูเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา จะเป็นอารมณ์อันเดียวของผู้มีจิตเป็นสมาธิ เพลินอยู่กับความเป็นสมาธิ อารมณ์อันเดียวคือมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเข้ามาเจือปน คือสังขาร ไม่ปรุงเอาเรื่องราวเข้ามาผสมใจ ใจก็เป็นอารมณ์อันเดียว เรียกว่า เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์”

โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
(ที่มา :: หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ชีวประวัติหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)







“ถ้าเราไม่มีสติแล้ว
เราก็นึกพุทโธไม่ได้
พอเรานึกพุทโธได้
เราก็มีสติ เพราะฉะนั้น
เมื่อนึกพุทโธไป
สติก็เริ่มแก่กล้าขึ้น

เมื่อเริ่มแก่กล้าขึ้น
ก็เท่ากับว่า เราเพิ่ม
บุญให้แก่ตัวของ
เราเอง จนกระทั่ง
จิตมันรวม

ก็หมายความว่า
มันสงบ เมื่อจิตสงบ
ก็ถือว่า จิตเป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิก็
เป็นสถานที่ผลิต
พลังจิต ให้จิตของเรา
นี้เกิดพลังขึ้น”

(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
วัดธรรมมงคล กทม.






" ธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต "

"การที่จิตที่มีธรรมชาติ
อันดีอย่างยิ่งกลับ
กลายไปเช่นนั้น ก็
เพราะจิตนี้มีธรรมชาติ
อีกอย่างหนึ่งคือว่าน้อม
ไปได้ น้อมไปดีก็ได้
น้อมไปไม่ดีก็ได้ หาก
น้อมไปไม่ดีบ่อยๆ ก็ทำ
ให้เคยชินติดอยู่ใน
ความไม่ดี แต่ถ้าหาก
ว่าหัดน้อมมาในทางดี
บ่อยๆ ก็จะทำให้ติดอยู่
ในทางดี อันตรงกันข้าม

แต่ก็เป็นเคราะห์ดีของ
ทุกๆ คนที่มีจิตเป็นธาตุรู้
ดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้น
เมื่อได้ประสบพบผ่านสุข
ทุกข์ต่างๆ มาบ่อยๆ ครั้งเข้า
ได้ทำดีทำชั่วต่างๆ มา
บ่อยครั้งเข้า และก็ได้รับ
ผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์
จากกิเลสในใจ ที่เรียกว่า
อุปกิเลสนั้น และจากกรรม
ที่ประกอบกระทำออกไป
ทางกายทางวาจาทางใจ
จึงทำให้จับเหตุจับผลได้
บ้างตามสมควร ว่ากิเลสนั้น
ให้เกิดทุกข์ แต่ความสงบ
กิเลสให้เกิดสุข กรรมชั่วนั้น
ให้เกิดทุกข์ กรรมดีนั้นให้เกิดสุข

และทั้งตนเองก็มีธรรมชาติ
ของตนเองอยู่คือรักตน
ต้องการให้ตนเป็นสุขไม่
เดือดร้อน และไม่ต้องการ
ให้ใครมาก่อความเดือด
ร้อนให้แก่ตนเอง ต้องการ
ให้ใครๆ มาเกื้อกูลตนเอง
และนอกจากตนเองแล้ว
ตนเองยังรักคนที่ควรรัก
ทั้งหลาย เช่นว่ามารดา
บิดารักบุตรธิดาของตน
เมื่อรักใครก็ต้องการให้
คนที่รักนั้นเป็นสุขมีความเจริญ

ไม่ต้องการให้มาทำลายล้าง
ต้องการให้ใครๆ มาเกื้อกูล
ตนให้ตนมีความสุขความเจริญ
ไม่ต้องการให้ใครมา
ทำลายล้างเช่นเดียวกัน

แต่ว่าเพราะโมหะคือ
ความหลง เพราะ
อวิชชาคือความไม่รู้จริง
จึงทำให้ไม่นึกถึงจิตใจ
ของคนอื่นว่าเป็น
เช่นเดียวกัน ยังไปทำ
ร้ายคนอื่น ทั้งที่ไม่ต้องการ
ให้ใครมาทำร้ายตน
แต่ถ้าหากว่ารู้จักนึก
เทียบเคียงดู ว่าตนเอง
ต้องการฉันใด คนอื่น
ก็ต้องการฉันนั้น ตนเอง
รักสุขเกลียดทุกข์ คนอื่น
ก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉัน
นั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น
เมื่อตนเองต้องการสุข
ไม่ต้องการให้ใครมาก่อ
ทุกข์ให้ ตนเองก็ไม่ควร
จะไปก่อทุกข์ให้แก่ใครๆ
แต่ก่อสุขให้แก่ใครๆ
เมื่อคิดดั่งนี้ก็จะทำให้รู้
สึกถึงการควรทำไม่ควร
ทำอันเกิดจากตนเองใน
ทางที่ถูกที่ชอบ "

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร




“คำพูดคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
มั่นคงถาวร การปฎิบัติธรรมะก็ดี
การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี
มีจุดสำคัญอยู่ที่การจะมาทำลายโทสะ
ทำลายโมหะ ทำลายโลภะ นี่เอง

ถ้าทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล
ไม่มุ่งมาที่จุดนี้แล้ว ก็แสดงว่าคนๆ นั้น
ยังไม่รู้จริง

แต่ถ้าคนใด แม้จะไม่เคยให้ทาน
ไม่เคยรักษาศีล แต่การอยู่การกิน
การนั่ง การนอน ของเขา
มีจุดมุ่งหวังที่จะมาทำลายโทสะ
ทำลายโมหะ ทำลายโลภะนี้
แสดงว่า คนผู้นั้นแหละ
เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า"

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ




"ในหมู่คนดี ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่ด้วย
เป็นของธรรมดา จึงไม่ควรใส่ใจ
คนไหนดี เราก็สรรเสริญ คนไหนไม่ดี
เราก็ออกห่าง ไม่ยกย่อง
จงรักคนทุกคน ไว้ใจบางคน
อย่าทำผิดต่อทุกคน และจงดูตนเสมอ"

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 98 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron