วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 01:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2022, 04:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“การปฏิบัติธรรม ก็คือ การเอาธรรมมาใช้
ในการเดินทางชีวิต หรือ เอามาช่วยให้ดำเนินชีวิต
อย่างถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้น เป็นไปด้วยดี
การปฏิบัติธรรม จึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่
จะปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่าแล้วก็
ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิ อะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น
อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)




"ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็ล่วงไปๆ
ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ไม่ควรนอนใจ

เวลาล่วงไป ชีวิตของเราก็ล่วงไป
ล่วงไปหาความตาย ให้เร่งทำคุณงามความดี
ทำบุญทำกุศล ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา
อย่าให้ขาด ทำสมาธิภาวนา ให้มีสติระวัง

คนไปสวรรค์ เท่ากับเขาวัว
คนไปนรก เท่าขนวัว
วัวมี ๒ เขา แต่ขนมันนับไม่ถ้วน"

หลวงปู่ขาว อนาลโย







#หลวงปู่อว้าน
#ปัญหาธรรมคติธรรม
#คำผญาของท่านพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เล่าให้อาตมาฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะพูดอะไร ท่านจะพูดเป็นปัญหาธรรมะ คำพูดของท่านพระอาจารย์มั่นจะพูดอย่างไรก็ต้องแปล แปลว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไร

“หวายซาววาหยั่งลง บ่เห็นส้น
ลึกบ่ตื้นคำเข่า หย่อนลงกะเถิง”

หวายซาววาหยั่งลง บ่เห็นส้น ปลายที่ว่าลึกนะมันลึก (เพราะ) ลึกบ่ตื้นคำเข่า หย่อนลงกะเถิง หมายความว่า การแสวงหาธรรมนั้น ถ้าเราจะซาวหา (ค้นหา) ยิ่งหาก็ยิ่งไกล ยิ่งจะไม่เห็น แต่นี่หาเข้ามา ลึกบ่ตื้นคำข้าวหย่อนถึง หาตรงที่คำข้าวหย่อนลงไปถึงนี่แหละ ตรงท่ามกลางอกนั่นแหละ แสวงหาธรรมจะไปค้นหาตามแบบตามตำรายิ่งหาก็ยิ่งไกล

นี่แหละตอนเป็นเด็ก อาตมาไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นก็จำได้ไม่กี่คำนะ ไปก็มีหลวงตามาจากกรุงเทพฯ มาคืนแรก คืนสองหลวงตานั่นก็มาพัก ก็ขึ้นไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น หลวงตานั่นมีเจตนาจะมาเที่ยวแสวงหามรรค ท่านตั้งใจจะมาจังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย และนครพนม ถ้าไม่ได้มรรคจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านบอกทางมรรคให้ หลวงตานั่นไม่เข้าใจ ท่านตบกระดานนะ เติ้มๆๆ เสียงดังคับวัดนั่นแหละ เสียงท่านพระอาจารย์มั่นนะ

ท่านพูดเสียงดัง “มคฺโค มคฺค แปลว่า ทาง ถ้าเราเดินถูกทางจึงจะเห็นถ้าเดินผิดทางแล้วจะไม่เห็น ทางพระพุทธเจ้าก็บอกแล้ว สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นของเรา เห็นยังไงล่ะ ? ชอบหรือไม่ชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริ เรามีความดำริยังไงล่ะ ชอบหรือไม่ชอบ ท่านให้ศึกษา ถ้ามันชอบก็เรียกว่าชอบทางมรรคนั่นแหละ” ท่านพระอาจารย์มั่นอธิบายบอกทางให้ก็ไม่เข้าใจ หลวงตานั่นไม่รู้ สำคัญว่ามรรคอยู่ที่โน้น ที่นี้ ไปคารวะท่าน ท่านพูดอีกก็จำได้ตอนคารวะนี้ “จะเที่ยวหามรรคหาผล หาจนกระดูกเข้าหม้อพู้น มันก็ไม่เห็นดอก มรรคผลไม่ได้อยู่ที่โน่นที่นี่”

คำที่กล่าวเป็นภาษาอีสาน เป็นคำพังเพย คำผญา

“ไม้ซกงก หกพันง่า
กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย
กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน
ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ”

ไม้ซกงก ได้แก่ ตัวของเรานี่แหละ ร่างกายของเรานี่แหละ, หกพันง่า หมายถึง อายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง, กะปอมก่า คือ กิเลสตัวใหญ่ (คือ รัก โลภ โกรธ หลง) อันแก่กล้านั่นแหละ, แล่นขึ้น มื้อละฮ้อย (มื้อละร้อย) มันวิ่งขึ้นใจคนเราวันละร้อย, กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อละพัน คือ กิเลสที่มันเล็กน้อยก็วิ่งขึ้นสู่ใจ วันละพัน, ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ กิเลสที่ไม่รู้ไม่ระวัง ก็จะเกิดขึ้นทุกวันๆ

“หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต
เอาสโนมาติดคือสิซังซากันได้
บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง (เล็งดู)
คือสิหนักไปทางสโน”

นักปราชญ์เมืองอุบลราชธานีเขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจนเขาผูกเป็นปัญหา หมอลำเขาเอาไปลำนะ ผูกเป็นปัญหาไปถามให้เขาตอบ ใครตอบได้ก็เก่ง ตอบไม่ได้ก็ไม่เก่ง เขาผูกเป็นปัญหา คือ เขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจบ ผูกเป็นปัญหาธรรมได้ ผูกเป็นปัญหาถามคนอื่นให้เขาตอบ ถ้าเขาติด (ตอบไม่ได้) ก็ไม่เก่ง ถ้าคนไหนไม่ติดก็เก่งล่ะ

ภาษาบาลี สีลฺ ก็แปลว่า ศีล, สิลา แปลว่า หิน, หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต จิตอันเดียวที่ไปยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าหนักหน่วงเสมอจิต, เอาสโนมาติดคือสิซังซากันได้ สโน - มโน แปลว่าใจ ใจนี่เดี๋ยวมันก็ส่ายหาความรัก เดี๋ยวมันก็ส่ายหาความชัง มันเอียงอยู่อย่างนั้น มันไม่ตรง, บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง คือสิหนักไปทางสโน ใจมันเป็นอย่างนั้น ท่านจึงให้มีสติสำรวมดูจิตดูใจของเรา ขณะเราพูด จิตของเราใจของเรามันเอียงไปทางไหนแล้ว ถ้าเอียงไปทางความรัก เอียงไปทางความชัง ก็ผิดทาง ท่านให้สำรวม

สโน สโนนี่เป็นของเบา ถ้าจะว่าตามภาษาทางนี้ เพราะสโน (ไม้โสน) มันเกิดในน้ำ ไม้สโนเขาเอามาทำจุกขวด มันไม่แตก มันอ่อน ไม้นั้นมันอ่อน ทำจุกขวดมันไม่แตก ขวดไม่แตกมันอ่อน มันนิ่ม ไม้นั้นเป็นของเบา

สโน สโนแปลศัพท์ มโน ก็แปลว่าใจ ใจของเรานี่แหละสโนนั่น แต่ใจของคนเรามันไม่ตรงเดี๋ยวก็เอียงหาความรัก เดี๋ยวก็เอียงหาความชัง คำว่าส่ายนะมันเอียง

“กล้วย ๔ หวี
จัวน้อย (สามเณรน้อย) นั่งเฝ้า
พระเจ้านั่งฉัน”

กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม

จัวน้อยนั่งเฝ้า หมายถึง คนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ตามหลักของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ว่าในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน

พระเจ้านั่งฉัน หมายถึง พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้ว ก็เอาธาตุ ๔ (กล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณธรรมเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ท่านไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ

ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะสอนลูกศิษย์เป็นปริศนาธรรม เป็นต้นว่า “พระสูตร - เป็นตัวกลอง พระวินัย - เป็นหนังรัด พระปรมัตถ์ - เป็นผืนหนัง จตุทณฺฑฺ - เป็นไม้ฆ้อนตีประกาศก้องกังวาน กลองจะดังก็ต้องอาศัยหนังรัดตึง ถ้าหนังรัดหย่อนตีได้ก็บ่ดัง” (คำว่า กลอง ภาษาไทยอีสาน ออกเสียงเป็น “กอง”)

การส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะให้เจริญแพร่หลายขยายกว้างไกล ก็ต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจกระจ่างแจ้งในพระสูตร พระภิกษุก็ต้องมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามพระวินัย พิจารณาทำความเข้าใจให้ปรุโปร่งในพระปรมัตถ์ ทำความเข้าใจศึกษาแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้น ความเจริญของพระพุทธศาสนาในจิตใจคนจะหด เสื่อมถอยลงเหมือนตีกลองไม่ดังกังวาน เพราะสายรัดกลองหย่อนยาน

คำว่า “กลอง” ท่านหมายถึง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ “จตุ” แปลว่า สี่ กองรูป ขึ้นชื่อว่ารูปก็มีธาตุทั้ง ๔ ท่านยกเอามาตีความทั้งหมด ตีให้มันแตก เวทนาก็มีอยู่ในรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่ในรูป ถ้าตีไปที่อื่นก็ไม่ถูกตัวกลอง (กอง) ต้องยกเอากองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มาตี (ตีความ) ถ้าตีถูกตัวกลอง กลองจะดังก้องกังวานทั่วเมืองไทย ตีลงไปในกองรูป ให้ตีลงในธาตุทั้ง ๔ ตัวคนประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่หลงยึดในตัวตนต่อไป “ผู้มีปัญญาจงพิจารณารู้เองเถิด”..."

หลวงปู่อว้าน








อย่าไปเอาผิดเอาถูก เอาทุกข์เอาโทษกับผู้อื่น ให้เอาผิดเอาถูก เอาทุกข์เอาโทษกับจิตใจของตัวเอง

ทำจิตของเราให้ดีซะ เรื่องอะไรต่างๆ มันก็ดีไปหมด

ต้องดูภายใน ชำระใจที่โทษที่เสีย

หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร







#หลวงปู่ลี #กุสลธโร
#ถ้าตัวจริงแท้ๆปัญญามันเกิดขึ้นกับตัวเราเองนะ

มีแต่ความมืดกับสว่าง มันเป็นอยู่อย่างนี้ ปีนั้นเดือนนี้ทางโลกเขาใส่ชื่อสมมุติไปหมด อัตภาพร่างกายของเรานั้นมีแต่ชื่อเรียกไปหมด ถ้าเป็นขี้ก็เต็มตัวไปหมดขี้หัวขี้กลากขี้ไคล สุดท้ายก็เป็นดินเป็นน้ำไป มาหลงของสมมุติใช้ตกแต่งตัวเอง

พิจารณาเข้าไป แล้วก็แก้ไขเข้าไป จิตใจของเราให้มันรู้จริงเห็นจริง ให้จิตมันรวมดู นี่จิตของหมู่พวกมันไม่รวมสักที พอไปนั่งภาวนาก็มีแต่ปรุงความคิดของตัวเองอยู่อย่างนั้นนะ

เพราะอยากได้อันนั้น อยากเห็นอันนี้ อยากเห็นกายทิพย์ อยากเห็นหูทิพย์ไปนั่น โอ๊ย มันเกินพระพุทธเจ้าท่าน ในตำราไม่มีนะที่ท่านบรรลุ แต่กิเลสตัณหาก็ยังปลดเปลื้องออกจากใจไม่ได้ ยังมีความร้อนความกังวลอยู่ในหัวใจอย่างนั้น

ความร้อนมันก็เป็นกิเลสนั่นแหละ ความรักความชังนั้น ถ้าไม่มีมันก็ไม่ร้อนใจนะ ต้องแก้ให้มันถึงฐานของมัน ต้องพิจารณาให้ถึงฐานของมัน ความสงบก็ให้มีเพียงพอ

โดยมากครูบาอาจารย์ท่านฝึกครั้งแรก มีแต่ฝึกให้เกิดความสงบเสียก่อน ถ้าจิตมันรวมลงได้แล้ว มันเป็นไปเองเลย ปัญญามันเกิดขึ้นเองเลย นั่นถึงจะเป็นวิปัสสนา

เราไปคิดเองค้นเอง มันเลยเป็นสัญญาไปหมดนั่นแหละ ค้นก็ค้นไปกับสัญญานั่นแหละ ได้ยินมาจากครูบาอาจารย์อย่างนั้น ท่านเห็นอย่างนั้น

ที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ แต่จำเอามาจากสัญญาของเราเอง แล้วก็พูดไปคิดไป

ถ้าตัวจริงแท้ๆ ปัญญามันเกิดขึ้นกับตัวเราเองนะ ถึงจะเห็นตัวจริงนั่นแหละ ธรรมของพระพุทธเจ้า...
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร







#อาศัยซากศพสร้างความดีเท่านั้น
#มิใช่เราจะมาหลงธาตุหลงขันธ์

อาศัยซากศพ (ร่างกาย) เกาะข้ามแม่น้ำ ถ้าหากไม่มีซากศพ เราจะข้ามไปโดยกำลังของตัว ก็กลัวจะข้ามไม่ได้ ก็อาศัยเกาะซากศพเน่าไปอย่างนั้นแหละ

#พอไปถึงฝั่งเมื่อใดจะทิ้งเมื่อนั้น

เพราะซากศพเป็นของปฏิกูล อาศัยซากศพสร้างคุณงามความดีเท่านั้น มิใช่เราจะมาหลงธาตุหลงขันธ์

การเกิดอีก จะเป็นกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ถ้าหากเป็นธาตุเป็นขันธ์ จะต้องนำทุกข์มาให้ รู้ธาตุขันธ์ของตนก็ไม่หลงธาตุขันธ์ของบุคคลอื่น

#ให้หลุดพ้นในชาตินี้ #จะไม่ยอมเกิดอีกตายอีก

ทุ่มเทความพากเพียรลงไป หนักหนาเข้า เอาใจฝักใฝ่ ทำสม่ำเสมอ พินิจพิจารณาไม่หยุดไม่ถอย จะมีวันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ไปได้

หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร








เกิดมาภพใดชาติใดก็ทุกข์แย่เต็มประดา ทุกข์ตั้งแต่วันเกิดถึงวันแก่ ทุกข์จากวันแก่ถึงวันแตกดับวันตาย ทุกถ้วนหน้าไม่มีใครข้ามมันไปได้

จึงให้เรามาสนใจในการรวมจิตใจของเรา มาให้สงบระงับตั้งมั่นเที่ยงตรงอยู่ภายในดวงใจให้ได้ทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออก จนกระทั่งจิตใจสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาให้ได้

อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งมั่นอย่าได้หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบายอยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น

กิเลสกองไหนที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว ให้รีบตัด รีบละออกไปเลิกไม่ได้ ละไม่ได้ก็ให้นึกถึงความตาย ใครจะดุร้าย ป้ายสี ก็ให้นึกว่าเขาจะต้องตาย เราคือกายกับจิตก็ต้องตายจากกันไป จะมาโกรธ มาโลภ มาหลง มายึดหน้าถือตา ยึดอะไรต่อมิอะไรไปทำไม จงปล่อยวางให้มันหมดสิ้นไป

โลกธรรม 8 ประการ มีความสบายกายสบายใจ ก็มีความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือมีสุข มีทุกข์อยู่อย่างนี้ มีสรรเสริญ ก็ต้องมีติเตียนนินทาเป็นธรรมดาของโลกอย่างนี้ มีลาภเสื่อมลาภได้ เป็นธรรมดาอย่างนี้ มียศเสื่อมยศมันมีเป็นธรรมดาอย่างนี้ จิตผู้รู้ผู้ภาวนาไปอยู่ที่ไหน ทำไม่ไม่เร่งภาวนาให้มันหลุดพ้นไปเสียที

เกิดแล้วต้องตายไม่ตายวันนี้วันหน้าก็ตาย ไม่ตายเดือนนี้เดือนหน้าก็ตาย ไม่ตายปีนี้ปีต่อ ๆ ไปก็ตายได้ ให้รู้ไว้ ให้เข้าใจไว้ แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมา หลงใหลไปกับกิเลสกาม วัตถุกาม มาหลงร้องไห้ หัวเราะอยู่นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ก้อนทุกข์ กองทุกข์เต็มตัวทุกคน จงภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญา ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ ปฏิบัติให้ ไม่มีตัวเองนั่นแหละปฏิบัติตัวเอง

หมายเหตุ - กิเลสกาม คือกิเลสที่ทำให้เกิดความอยาก ได้แก่ ราคะ โลภะ อิจฉา เป็นต้น

- วัตถุกาม ได้แก่ กามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา

อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนทำบาปตนก็ได้รับทุกข์เอง ตนทำบุญบุญก็ให้ความสุขแก่บุคคลผู้นั้น บุญ-บาป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ใครทำบาป บาปย่อมให้ผล ใครทำบุญกุศล บุญกุศลย่อมตามให้ผล แต่ว่าบางอย่าง บางประการนั้น ไม่ทันกับใจกิเลสมนุษย์ ก็เลยเข้าใจว่าทำบุญก็ไม่เห็นผล แต่ว่าบาปนั้นไม่ทำก็เห็นผล

อบรมจิตใจด้วยการบริกรรมภาวนา ด้วยการนึกถึงความทุกข์ความเดือดร้อนในโลกนี้ นึกถึงความแก่ความชรา ความเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อมันมาถึงแล้ว มันมีความเจ็บปวด ทุกขเวทนา ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจของเราในทางสมาธิภาวนา ทำใจให้สงบระงับด้วยการนึกน้อมเอาพุทธคุณคือ คุณพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์ แม้เราจะนึกพุทโธ พุทโธอยู่ก็ตาม ก็ให้ถือว่า ธัมโมก็อยู่ที่นั่น สังโฆก็อยู่ด้วยกัน

กิเลสมาร หมายถึงจิตใจที่เรายังเลิกละ ปลดปล่อย กิเลส ราคะ ตัณหาไม่ได้ ราคะ ตัณหานั่นแหละคือตัวมาร ที่คอยหลอกลวงอยู่ในใจนั้น ถ้าผู้ใดใจไม่มั่นคง ก็หลงใหลไปตามการหลอกลวงของมารกิเลส ไม่ยอมละ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมปล่อยวาง กิเลสก็ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในกาย ในวาจา ในจิตในใจ คือ ใจเราไปติดกิเลส ไม่ใช่กิเลสมาติดอยู่ในใจของเรา จิตใจของเราไม่ภาวนาละกิเลส แต่ภาวนาเอากิเลส กิเลสก็มาอยู่ในกาย ในวาจา ในจิตในใจของเราเต็มไปหมด

ไฟ คือราคะ ไฟ คือโทสะ ไฟ คือความหลง เมื่อมีไฟ 3 กองนี้อยู่ในใจ มันก็ร้อนเป็นไฟ นั่งที่ไหน นอนที่ไหนก็ร้อนระอุด้วยไฟ เพราะไฟนั้นเป็นของเร่าร้อน ผูกมัดรัดรึงจิตใจคนเราให้หลงให้ติดข้องอยู่ เวลาภาวนาท่านจึงให้ละออกไป ปล่อยออกไป ให้หลุดไป สิ้นไป เอาให้หลุด ให้พ้น ให้สงบระงับ แม้ยังไม่หลุดพ้นก็ให้ภาวนาทุกคน ให้ใจสงบระงับตั้งมั่นทุก ๆ คืนไป จนมีกำลังความสามารถอาจหาญ ก็จะตัดละได้ด้วยตนเอง

ธรรมดากิเลสเป็นมาร เป็นภัยอันตราย คำว่ามารก็คือว่าเป็นผู้ฆ่าผู้ทำลาย ใครไปหลงกลมารยาของมารแล้วก็เสียทุกครั้งไป ฉะนั้นเราทุกคนจงอย่าได้ปล่อยจิตใจให้คิดนึกไปภายนอก จงนึกเตือนใจของตนอยู่ทุกเวลาว่า พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ธัมโม สังโฆ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา คือให้ใจมาสงบตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่ให้ไปตามอาการภายนอก

อย่าไปคิดว่าเวลาเราแก่ หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือใกล้ ๆ จะแตก จะตาย แล้วจึงภาวนา ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นอันว่าคิดผิดเพราะ เวลาอยู่ดีสบายนี้แหละเป็นเวลาที่เราจะต้องริเริ่มภาวนาให้ได้ให้ถึง กิเลสอะไรที่ยังไม่ออกจากจิตใจเรา ก็จะได้ละกิเลสนั้นเสีย

ให้พากันตั้งใจภาวนากันจริง ๆ เอาจิตใจดวงผู้รู้ภายในมาจี้จุดหลงของใจเรา ความหลงของใจไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน หลงในรูป หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ บ้านเรือน เคหะสถานอันใดก็ตาม ถ้าจิตไปหลงก็จะไปข้องอยู่กับที่นั่นถ้าจิตไม่หลงก็วางเฉยได้ จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อนประการใด เราทุกคนควรปฏิบัติบูชาภาวนาอย่างนี้ให้ได้ทุก ๆ คืน ไม่มีใครจะช่วยเราได้เท่ากับตัวเราเอง

การภาวนาอย่าเข้าใจว่ามันเป็นของยาก ไม่ว่ากิจกรรมการงานอะไร อย่างหยาบ ๆ ก็ดี ถ้าเราไม่ทำไม่ประกอบก็ยิ่งเป็นอุปสรรค แต่ถ้าเราตั้งใจทำจริง ๆ แล้ว มันมีทางออก ภาวนาไปรวมจิตใจลงไป จนกระทั่งจิตใจเชื่อตามความเป็นจริง เชื่อต่อคุณพระพุทธเจ้าจริง ๆ เชื่อต่อพระธรรมจริง ๆ เชื่อต่อคุณพระอริยสงฆ์สาวกจริง ๆ แล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีทางที่จะได้บรรลุมรรคผล เห็นแจ้งในธรรม ในปัจจุบันชาตินี้

อะไร ๆ ทุกอย่าง ถ้าคนเราลงทำลงแล้ว มันต้องได้ไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ทำ เลิกล้มความเพียร ชอบสบายอยู่เฉย ๆ แต่เราอย่าเข้าใจว่าเราจะอยู่เฉยได้ ในเมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ปัจจุบันกะทันหันขึ้นมา จะเฉยอยู่ไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อความเจ็บมา อุบายธรรมไม่ทัน เราก็หลงยึดไปถือไปวุ่นวายไป ถ้าเรารู้เท่ารู้ทัน ปล่อยวางได้ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุขไม่ทุกข์ร้อนประการใด

อุบายธรรมต่าง ๆ ที่กำหนดจดจำไปประพฤติปฏิบัติ ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุญบารมีเก่าเราทำมามากหรือไม่ บุญบารมีใหม่ ใจปัจจุบันของเราตั้งมั่นหรือไม่ ใจปัจจุบันเป็นหลักสำคัญที่เราทุกคน ทุกดวงใจจะประมาทไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระองค์เตือนว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ผู้ประมาทมัวเมาเป็นไปเพื่อความเสื่อม

วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าวันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไปมันหมดไปทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้นให้ภาวนาดูว่าวันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ ทำบุญหรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง

เรามัวเพลิดเพลินอะไรอยู่ไปมัวเสียอกเสียใจอย่างไรอยู่ ทำไมไม่ภาวนา ทำไมไม่ละกิเลส ภาวนาให้มันหมดสิ้นไป เวลาความแก่มาถึงเข้า หรือเวลาความเจ็บไข้มาถึงเข้า จิตก็ว้าวุ่น ยิ่งความตายจะมาถึง เราละกิเลสไว้ก่อนหรือยัง ก็ตอบได้ด้วยตนเองว่ายังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดเรามัวไปทำอะไรอยู่ ชีวิตของคนเราหมดไป เหมือนจุดเทียนขึ้นมาแล้ว ไฟมันก็ไหม้ไส้เทียนจนหมด เราทำอะไรอยู่ ไม่พินิจพิจารณา ต้องเตือนใจของตนเองว่าเราภาวนาแล้วหรือยังอย่าประมาทคือภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก

เราทุกคนก็ต้องโอปนยิกธรรม น้อมเข้ามา รวมเข้ามา สอนตัวเองเข้ามาให้ได้อยู่ทุกวันเวลาแล้ว มรรคผล นิพพาน ก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ที่ความเพียร ความหมั่น ความขยัน ในการภาวนาไม่ให้ขาด นั่งก็ภาวนา นอนก็ภาวนา หลับแล้วก็แล้วไป ตื่นขึ้นก็ภาวนาต่อให้เป็นวงจรอยู่ตลอดเวลา จิตใจย่อมมีกำลัง มีความสามารถอาจหาญไม่ท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ

หมายเหตุ- โอปนยิกธรรม หมายถึง พระธรรมที่ควรน้อมนำเข้ามาไว้ในใจ

หลวงปู่สิม พุทธจาโร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron