วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2022, 11:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#คำสอนหลวงปู่จื่อ

ลูกเอ๋ย ดูคน ต้องไตร่ตรอง
อย่าได้มอง แต่ภายนอก ดูเหมือนบ้า
แต่คิดให้ ไม่ใจร้าย มีเมตตา
ยังดีกว่า บางคนที่ ภายนอกดี

ดูร่ำรวย หน้าตาดี มียศศักดิ์
แต่ใจยักษ์ ใจร้าย ใจบัดสี
เห็นแก่ตัว หลงแต่ตน บ้าสิ้นดี
คนเช่นนี้ อย่าเสียเวลา ไปคบเลย

คนบ้าใจดี ดีกว่า คนดีใจบ้า
คนดีใจบ้าฆ่าพ่อตีแม่ด่าพี่ด่าน้อง
คนบ้าใจดีบ่ตีบ่ด่าผู้ใดนั่นแหละดี

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต



จากนี้ไปก็ประมาณหนึ่งเดือนก็เป็นวันเข้าพรรษา พวกเราศรัทธาญาติโยมที่จะเข้าพรรษา จำพรรษา ปี ๒๕๖๕ ควรจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร ควรจะมองตนเองอย่างไร ควรจะโอปนยิโก มองตนเอง ปรับปรุงแก้ไขกายวาจาใจของตนเอง ให้อยู่ในความสงบ ข้าพเจ้าเกเรมานาน ข้าพเจ้าสูบบุหรี่ ข้าพเจ้าจะงดดูซิ วางแผนงดสูบบุหรี่ วางแผนงดกินเหล้า วางแผนงดเล่นการพนัน วางแผนที่เราออกนอกลู่นอกทาง ที่ขี้เกียจขี้คร้าน ที่ไม่เป็นผลดีสำหรับเรา เราจะปรับปรุงแก้ไขกายวาจาใจของเราให้ดีขึ้นในพรรษานี้

ถ้าพวกเราไม่มีการปรับปรุงแก้ไขกายวาจาใจของตนเอง ปีแล้วปีเล่าผ่านไป ทุกคนมีจุดอ่อนจุดแข็งแต่ละคน แต่ละคนเราจึงต้องมองตนเอง อย่าไปมองคนอื่น ถ้ามองคนอื่นเขามันมีปัญหา ให้มองตนเองแก้ไขปัญหาตนเอง ทุกคนมันมีปัญหา เราใจร้อนเกินไปหรือเปล่า ขี้โมโหเกินไปหรือเปล่า เราขี้เกียจขี้คร้านใช่ไหม เราก็น่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้น ทุกวันนี้เวลาเราจะนอนก็ล้มตูม ขี้เกียจแม้กระทั่งไหว้พระ

เอาเถอะ ในพรรษานี้ข้าพเจ้าจะไม่ให้ขาด เตรียมตัว ทำวัตร ไหว้พระ อย่างน้อยก็ได้กราบ ๓ ครั้งก่อนจะนอน กราบพุทโธ ธัมโม สังโฆ นิพพานัง ล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยตนเอง เราดัดไปทีละน้อย ผลที่สุดก็เป็นคนดีได้

คนเราต้องฝึก ต้องหัด ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนตั้งชื่อว่านายดี นายฉลาด นายรอบคอบ แต่ถ้าตนเองไม่ได้เรียน ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้หาความรู้ ไม่ได้ใฝ่ในการศึกษา ไม่ได้ฝึกหัดดัดนิสัยตนเอง ก็มีแต่ชื่อเท่านั้น

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “ฉลองนับวันถอยหลังสู่หลักประหาร”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕





“คิดอยากจะทำบุญเมื่อไหร่ทำไปเลย”

รีบทำบุญไปก่อนได้ยิ่งดี ท่านสอนว่าเวลาใดอยากจะทำบุญรีบทำไปเลย อย่าไปผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะพรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้ งั้นถ้าคิดอยากจะทำบุญเมื่อไหร่ทำไปเลย ไม่ต้องรอให้มันตรงกับวันที่เราต้องการจะทำหรอก วันเกิดพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าถ้าอยากจะทำวันนี้ก็ทำไปเลย แล้วพอถึงวันเกิดมีเวลาก็ทำอีกวันทำอีกครั้งก็ได้ การทำบุญนี้เป็นเหมือนการตักน้ำ น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะเดี๋ยวน้ำลดมันจะไม่มีน้ำให้เราตัก เมื่อเรามีโอกาสทำบุญเมื่อไหร่ขอให้ทำไปเลย คิดปั๊บทำได้ทำไปเลย เช่นเดียวกับการทำบาป พอคิดปั๊บก็หยุดเลยอย่าไปทำเลย การทำบาปไม่ดีเป็นเหมือนเอาไฟมาสุมหัวเรา การทำบุญก็เหมือนเอาน้ำเย็นมาชโลมใจ ทำแล้วให้เรามีความอิ่มใจสุขใจสบายใจ แล้วก็เป็นทรัพย์ที่เราเอาติดตัวไปได้ เป็นทรัพย์ภายใน ถ้ามีทรัพย์ไปก็จะไปเป็นเทพเป็นอะไร ถ้าไม่มีทรัพย์ก็จะไปเป็นเปรต ไปเป็นขอทาน ขอให้หมั่นทำบุญไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวถ้าต้องการหนังสือซีดี ให้หยิบเอานะ แจก

เมื่อกี้ให้พรแล้วก็จะไม่ให้พร เพราะงั้นเดี๋ยวมาชุดหนึ่งก็ให้พรครั้งหนึ่ง เดี๋ยวมาอีกชุดก็ให้พรอีก ความจริงพรมันอยู่ในตัวเราแล้ว เกิดจากการกระทำของเรา บุญนี่แหละคือพรที่แท้จริง พอเราทำบุญเราก็มีความสุขใจอิ่มใจ อันนี้แหละเป็นพร พรที่พระสวดนี้ก็เป็นการสอนการบอกเท่านั้นแหละว่า ทำบุญแล้วจะมีความสุขใจ จะมีความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ เท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นพระเป็นคนมาเสกมาเป่าให้เราเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ หรอก ตัวเองยังเสกให้ตัวเองเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ไม่ได้เลย แล้วจะไปเสกให้คนอื่นเขาเป็นได้ยังไง ใช่ไหม มันอยู่ที่การกระทำของแต่ละบุคคล ทำดีได้ดี ทำดีได้บุญ ทำบาปได้บาป ขอให้ทำดี เพราะชีวิตของเราไม่จบตรงที่ร่างกายนี้ตาย ชีวิตของเราไปต่อ จะไปดีไปสูงไปต่ำอยู่ที่บุญที่บาปที่เราทำไว้ ทำบุญก็จะไปสูง ไปสวรรค์ ทำบาปก็ไปต่ำ ไปอบายไปนรก

นี่คือจิตใจของเราที่ไม่มีวันตาย แต่ยังติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็เลยต้องอาศัยบุญพาให้เราไปเกิดในที่ดี ถ้าเราไม่อยากจะกลับมาเกิดเราต้องมาปฎิบัติธรรม มานั่งสมาธิทำใจให้สงบ แล้วใช้ปัญญาตัดกิเลสให้หมดไปจากใจ ถ้าไม่มีกิเลสแล้วใจก็จะไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป ถ้ายังมีกิเลส ยังมีความโลภ ยังรักสวยรักงาม ยังอยากได้รูปเสียงกลิ่นรสอย่างงี้อยู่ ก็ยังต้องกลับมาเกิดอยู่ ต้องไม่มีความอยากหลงเหลืออยู่ในใจเลย ไม่อยากได้อะไรไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากดูไม่อยากฟังอะไร ถ้าอย่างนี้ตายไปก็ไม่ต้องกลับมาเกิด เกิดไม่ดีหรอก เกิดแล้วก็ต้องมาแก่มาเจ็บตาย

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี






การนำทางของปุถุชนนั้นหวังผลประโยชน์ยึดเอาของสมมุติ แต่การนำทางของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์สอนคนทำใจให้เป็นกลาง แล้วละว่างสิ่งสมมุติทั้งหมดด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาด
ไม่ต้องตกเป็นทาสของสื่อของเชื้อเพลิงใดๆให้ตนเองเป็นทุกข์ สนุกสนานเพลิดเพลินลุ่มหลงกันไปก็แค่นั้น
มันไม่เที่ยง เสียงดีก็ดับ เสียงไม่ดีก็ดับเลือนหาย ความตายเป็นของเที่ยง
มันหากแฝงเร้นอยู่กับทุกๆคนเพื่อคอยทีที่เราเผลอ
ถึงใครจะเลิศเลอร่ำรวยด้วยทรัพย์พร้อมรูปร่างต่างม้วยมอดจอดจบสยบอยู่กับความตาย

พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำใจให้อยู่เหนือกิเลสตัณหาที่มันพาให้เป็นทุกข์ด้วยความคิดอันถูกต้อง

#โอวาทธรรมคำสอน
หลวงปู่ทวี ติสฺสวโร วัดกตัญญูอนุสรณ์ จ.ร้อยเอ็ด






#ปกติหลวงปู่จะนั่งสมาธิทุกวัน

"... วันหนึ่งหลวงปู่ก็นั่งสมาธิ จนเกือบจะ
ตีหนึ่ง ได้ยินเสียงเหมือนเสียงระเบิดดังตึ้ม
เห็นแสงวูบขึ้นไปสูงกว่าตึกสว. ห้าชั้นวูบ
ขึ้นไปสว่างจ้า จิตของเราก็จดจ้องไป ก็เห็น
คนสองคนยืนเคียงคู่กัน ตรงที่ไฟวูบขึ้นไป แล้วคนสองคนก็ขยายตัวออก ยืนเคียงไหล่
กัน สูงขึ้นไปเท่ากับตึกสว. ไฟก็พุ่งออกตามร่างกาย ลามไปตามเนื้อตามตัว

หลวงปู่คิดสงสารก็เลยถามไปว่า กรรมอะไร
จึงได้มาเป็นอย่างนี้..!?

... เขาก็เลยเล่าให้ฟังว่า ในอดีตชาติเขาเป็น
ทายกวัดในคราวที่วัดบวร สร้างโบสถ์ใหม่ ๆ
เขาไปสั่งกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ เขาตีราคา
กันแผ่นละ ๑๒ บาท ทางวัดจ่าย ๑๒ บาท แต่
เขาเอาไปจ่ายค่ากระเบื้อง ๖ บาท อีก ๖ บาท
แบ่งกันใช้สองคน

หลวงปู่จึงว่า.. โอ.. เป็นแบบนี้มันแก้กันไม่ได้
หรอก ก็ต้องใช้กรรมไป เขาก็ร้องไห้ครวญ
ครางอยู่ที่วัดบวรนี่ล่ะ

... หลวงปู่จึงมาพิจารณา เอาของสงฆ์มานี่
มันบาปจริง อย่างที่คนโบราณเขาพูด ไม่ใช่
ว่าเขาพูดหลอกหลวง มันบาปจริง ๆ เป็นเปรต
จริง ๆ สองร้อยกว่าปีมาแล้วยังเป็นเปรตอยู่เลย
เพราะฉะนั้นให้พวกเราเข้าใจว่าบาปมีอยู่จริง ไม่ใช่มีแต่บุญนะ บุญมีจริง บาปก็มีจริง สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องก็คือสิ่งที่ผิดศีลห้า พวกเราอุบาสกอุบาสิกาผู้ถือศีลห้าศีลแปด ก็คือผู้ปลดเปลื้องจากการกระทำความชั่ว สิ่งไหนที่เป็นของดี เราก็ปฏิบัติ

... เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรม
สิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมก็มาจากความโลภความ
โกรธความหลง เมื่อเป็นบาปเป็นกรรมแล้วมัน
ก็แก้กันไม่ได้ อย่างนี้ล่ะ อยู่เป็นเปรตมาเป็น
ร้อยปี ที่เป็นหมื่นปีพันปีก็มี พวกเราเมื่อรู้แล้ว
#ก็ให้มีความเกรงกลัวละอายต่อบาป_มีหิริโอตตัปปะ
#ให้เกรงกลัวต่อความชั่วทั้งปวงใน_จิตในใจตลอดไป ..."

#หลวงปู่ไม_อินทสิริ







"โดยมากอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย
ไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดถือเป็นอารมณ์กวนใจ
ให้เดือดร้อนไปเอง จนถึงให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้
ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นความเขลาของเราเอง
และทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นผู้แพ้"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ





“พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านมีแต่บอกทางเท่านั้นแหละ
สิ่งที่ต้องทำ เราเองต้องเป็นผู้ทำเองทั้งหมด
เหมือนกันกับกินข้าวนั่นแหละ ถึงจะนั่งเฝ้าอาหาร
อยู่ก็ตาม ถ้าไม่ยอมกิน มันก็ไม่รู้จักรสชาติ
ไม่รู้จักความอิ่ม”

หลวงปู่ลี กุสลธโร





"ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน
นั่นคือ ไม่ต้องการให้คนอื่นมาพูดให้เรา
เกิดความไม่สบายใจ ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้
เราก็ต้องรู้ตัวเองว่า ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด
ให้คนอื่นมีความเดือดร้อนเป็นทุกข์
จากตัวเราเช่นกัน"

หลวงปู่ทูล ขิปฺปปญฺโญ







" การที่เราไปเห็นกิเลสคนอื่น ไม่ได้เกิดคุณใดๆ แก่เราเลย ซ้ำยังจะทำให้หลงว่าตัวเราดีกว่าเขา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เต็มไปด้วยกิเลสการมาเห็นกิเลสของตนเองนี้ต่างหาก ที่เมื่อเห็นแล้วรังเกียจว่าเป็นของสกปรก ต้องชำระสะสางแก้ไข นี้แหละที่ปราชญ์ท่านสรรเสริญ

อย่าไปเที่ยววิ่งรังเกียจคนโน้น คนนี้ เพราะนั่นแหละคือกิเลสความหลงตัวของเราว่าดีกว่าเขา เมื่อรู้ระงับความเห็นในการไปหาตำหนิติเตียนผู้อื่น แล้วย้อนเข้าแก้ไขตน นั่นแลที่เป็นมรรค ทางดำเนินออกจากทุกข์ "

หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
วัดป่าปางกึ๊ด อ.แม่แตง เชียงใหม่






#หลักปฏิบัติอันเป็นปฏิปทาที่ผาดโผน
#หลวงปู่ขาว #อนาลโย

การทำความเพียรในขั้นเริ่มแรก และต่อมา จนจิตสงบ ลงเป็นสมาธิได้ แม้จะเป็นความเพียรที่ผาดโผนด้วยการเอาชีวิตเข้าประกันก็ตาม แต่การเพียรต่อสู้ในระยะนี้ เป็นการต่อสู้ที่บอบช้ำมาก แต่ผลปรากฏมีน้อยไม่สมดุลกัน ทั้งนี้เพราะยังไม่รู้วิธีการต่อสู้และพากเพียรเท่าที่ควร แต่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำต้องยอมรับ ยอมโดนความบอบช้ำไปก่อน เพื่อทราบเหตุผลจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา แล้วปรับตัวปรับความเพียรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอันดับต่อไป เมื่อการปฏิบัติทางด้านปัญญา แยกแยะร่างกายส่วนต่างๆ ออกคลี่คลายดูด้วยปัญญา จนปรากฏชัดทั้งอสุภะอสุภัง ทั้งทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ในร่างกายโดยลำดับแล้ว นั่นแลความเพียรจึงนับวันผาดโผนโจนทะยาน ทั้งประโยคพยายามทั้งสติปัญญาที่ก้าวออกสู่งานในวงกรรมฐานห้า มี เกสา โลมา เป็นต้น ตลอดสภาวธรรมทั่วๆ ไป ด้วยความเพลิดเพลินในการพิจารณา และความเห็นตามเป็นจริง ในสกลกายส่วนต่างๆ จนตลอดทั่วถึง ประสานกับสภาวธรรมภายนอก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน หายสงสัยและปล่อยวางไปโดยลำดับ สติปัญญาขั้นพิจารณารูปขันธ์นี้ผาดโผนมาก ผิดปกติธรรมดาของความเพียรภาคทั่วๆ ไป แต่ก็เหมาะสมกับงานซึ่งเป็นงานหยาบที่จำต้องใช้สติปัญญาที่ผาดโผนไปตามๆ กัน เช่นเดียวกับท่อนไม้ ซึ่งอยู่ในขั้นที่ควรถากอย่างหนักมือ ก็จำต้องทำเช่นนั้น สติปัญญาที่ทำการพิจารณาร่างกาย ซึ่งเป็นขันธ์หยาบ ก็จำต้องดำเนินไปตามความเหมาะสมของงาน เมื่อสติปัญญารู้เท่าและปล่อยวางขันธ์นี้แล้ว ก็ลดการพิจารณาแบบนั้นไปเอง เช่นเดียวกับ ไม้ซึ่งนายช่างดัดแปลง ลงถึงขั้นที่ควรลดจากการถากการฟันอย่างหนักมือ แล้วก็ลดไปเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอกฉะนั้น

ส่วนนามขันธ์ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นเป็นขันธ์ละเอียด การพิจารณาทางด้านปัญญาก็ละเอียดไปตามๆ กัน สติปัญญาที่พิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ย่อมเป็นไปอย่างละเอียดสุขุมราวกับน้ำซับน้ำซึมนั่นแล แต่การพิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ พิจารณาลงในไตรลักษณ์ล้วนๆ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ได้ตามแต่ความถนัดของการพิจารณา ไม่มีคำว่าอสุภะอสุภังเหมือนพิจารณาร่างกายอันเป็นขันธ์หยาบ การพิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้จะพิจารณาขันธ์ใดก็ได้ตามแต่ถนัด เช่น ทุกขเวทนาขันธ์ เป็นต้น ประสานกันกับกายกับจิตกับทุกขเวทนา โดยการพิจารณาแยกแยะเทียบเคียง รูป ลักษณะ อาการ ความรู้สึก ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งสามอย่างนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอย่าง แยกแยะดูให้ชัดเจนด้วยปัญญาจริงๆ อย่าสักแต่พิจารณาพอผ่านๆ ไป นั้นเป็นลักษณะของกิเลสทำงาน เอาความขี้เกียจอ่อนแอมาทับเราต่างหากซึ่งมิใช่ทางเดินของธรรม คือสติปัญญาอย่างแท้จริงดำเนิน จะไม่เห็นความจริงแต่อย่างใด ต้องพิจารณาแบบสติธรรม ปัญญาธรรม จนเป็นที่เข้าใจตามความจริงอย่างถึงใจทุกส่วน

อันความอยากหายจากทุกขเวทนานั้นอย่าอยาก อยากหายเท่าไร ยิ่งเพิ่มสมุทัยตัวผลิตทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แต่ให้อยากรู้ อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนา ที่แสดงอยู่กับกายกับใจเท่านั้น นั่นคือความอยากอันเป็นมรรคทางเหยียบย่ำกิเลส ซึ่งทำให้เกิดผล คือการเห็นแจ้งตามความจริงของกาย เวทนา จิต ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนั้น ความอยากรู้จริงเห็นจริงนี้มีมากเท่าไร ความเพียรพยายามทุกด้านยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น ฉะนั้น จงสนใจเฉพาะความอยากรู้จริงเห็นจริงประเภทนี้อย่างเดียว และผลักความอยากให้ทุกข์หายออกจากวงการพิจารณาในเวลานั้นทันทีๆ อย่าให้โผล่หน้าขึ้นมากีดขวางได้ จะมาทำลายความอยากประเภทมรรคเพื่อผลให้จมหายไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ต้องการจะไม่เจอแต่จะไปเจอแต่ความกลัวตาย ความอ่อนเปียกเรียกหาคนอื่นมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสสมุทัยทั้งมวลเข้าทำงานในวงความเพียร จึงรีบเตือนนักปฏิบัติจิตภาวนาไว้เกรงจะเสียท่าให้มัน เพราะกิเลสมักรวดเร็วมากกว่าธรรมจะตามรู้ตามเห็นทันมัน นักปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้นจะรู้มารยาของกิเลสประเภทต่างๆ ดังกล่าวมาได้ดีประจักษ์ใจและขับไล่ให้สิ้นซากไปได้ไม่สงสัย

การพิจารณาทุกขเวทนาในขันธ์มีรูปขันธ์เป็นสำคัญ จงอย่าคำนึงความเจ็บปวดรวดร้าวจะหายตัวจะเป็นจะตาย ยิ่งกว่าความอยากรู้อยากเห็นความจริงจากกาย จากเวทนา จากจิต ซึ่งพร้อมจะแสดงความจริงให้นักปฏิบัติผู้แกล้วกล้าหน้านักรบ เพื่อเรียนจบอริยสัจรู้ประจักษ์ด้วยสติปัญญาอันคมกล้าของตนอยู่แล้ว อันความกลัวเป็นกลัวตายความอยากให้ทุกข์หายในเวลานั้น นั่นคือแม่ทัพใหญ่ของสกุลกิเลสจะคอยทำลายบัลลังก์แห่งความเพียรทุกด้านให้ล้มละลายอย่างไม่เป็นท่า จงพากันทราบไว้ทุกๆ องค์ อย่าหลงกลมันซึ่งดักรออยู่ปากคอกจะออกกีดขวางต้านทานทางเดินของธรรมอยู่ตลอดเวลาที่ได้ช่องได้โอกาส กรุณาทราบไว้ด้วยว่า กิเลสทุกประเภทไม่เผอเรออ่อนแอท้อแท้เหลวไหลเซ่อซ่าเซอะซะเหมือนนักปฏิบัติภาวนาแต่กิริยา ส่วนใจปล่อยให้กิเลสฉุดลากไปถลุงหุงต้มกินเลี้ยงกันอย่างเอร็ดอร่อยพุงมันน่ะ ดังนั้นในเวลาที่เข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างทุกขเวทนากล้ากับสติปัญญาพิจารณาแยกแยะกันเพื่อหาความจริง จงขยับสติปัญญาเพื่อต่อยเพื่อสู้ท่าเดียว คือสติปัญญาหมุนติ้วเข้าสู่จุดที่ทุกขเวทนากล้าสาหัสปรากฏอยู่ในวงของกาย สติจดจ่อปัญญาคลี่คลายเวทนา กาย ใจ ที่กำลังคลุกเคล้ากันอยู่ ว่าทั้งสามอันนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอัน แยกแยะดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ย้อนหน้าย้อนหลังตลบทบทวนในระหว่างกาย เวทนา จิต ด้วยสติปัญญา อย่างสนใจกับเรื่องทุกข์จะหายและการจะเป็นจะตายตลอดสถานที่เวล่ำเวลาใดๆ ทั้งสิ้นในขณะนั้น จงสนใจแต่การพิจารณาเพื่อความรู้แจ้งในกาย ในเวทนา ในจิตอย่างเดียว สติปัญญาจงให้เป็นปัจจุบันจดจ่อต่องานอย่างใกล้ชิด ติดพัน อย่าหันเห อย่างคาดคะเน อย่าด้นอย่าเดา ทั้งสมุทัย-ทุกข์ ทั้งมรรค-นิโรธ ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะทั้งนี้ล้วนเปิดช่องให้สมุทัยทำงานของมันในวงความเพียรและเพิ่มโทษเพิ่มทุกข์ให้แก่เราถ่ายเดียว ผู้ปฏิบัติจงระวังให้มาก เพราะเป็นกิเลสโดยแท้ที่ต้องระวังตั้งตัวอยู่เสมอไม่เผลอให้มัน ขณะเดียวกันก็ตั้งท่าพิจารณาดังกล่าวแล้ว จงพิจารณาแบบตะลุมบอนใครดีใครอยู่ เป็นคู่เคียงของสัจธรรม วิมุติธรรม ใครไม่ดีจงพังไป แต่อย่าให้เราผู้ทรงความเพียรพังก็แล้วกัน ต้องสู้เพื่อให้กิเลสพังท่าเดียว ท่าอื่นไม่ถูก ไม่เหมาะสำหรับนักปฏิบัติผู้เป็นเหมือนนักรบในสงครามเพื่อชัยชนะโดยถ่ายเดียว

การพิจารณาทุกขเวทนาในกายประสานกันกับจิต แยกแยะทั้งสามอย่างนี้ออกสู่ความจริงด้วยปัญญาไม่หยุดยั้ง ย่อมทราบความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้อย่างชัดเจนหายสงสัย และได้ชัยชนะเป็นพักๆ ตอนๆ ได้ความอาจหาญในทุกขเวทนาตลอดความล้มความตายก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาเช่นเดียวกับกาย เวทนา จิต และหายจากความกลัวตายดังที่กิเลสเคยหลอกมาเป็นประจำ พอความจริงเข้าถึงกันแล้วต่างอันก็ต่างจริง กายก็จริงตามสภาพของกาย เวทนาก็จริงตามสภาพของเวทนา จิตก็จริงตามสภาพของจิต ต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกระเทือนกัน แม้ความตายก็เป็นสัจธรรมความจริงอันหนึ่ง จะตื่นให้กิเลสหัวเราะทำไม

เมื่อสติปัญญาพิจารณาไม่ถอยจนทราบความจริงของกาย เวทนา จิต ประจักษ์ใจแล้ว

ทุกขเวทนาดับวูบลงในขณะนั้น

แม้ทุกขเวทนาไม่ดับก็ไม่ประสานกันกับจิตดังที่เคยเป็นมา

จิตสงบตัวอย่างละเอียดลออและอัศจรรย์เกินคาด

จิตที่สงบตัวนั้นปรากฏสักแต่ว่ารู้และอัศจรรย์เท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง

ขณะจิตสงบเต็มที่กายหมดไปจากความรู้สึกโดยสิ้นเชิง

ถ้าจิตพิจารณารอบตัวและตัดขาดจากเวทนาแล้ว แต่ไม่รวมลงเป็นเอกเทศ เป็นเพียงรู้ๆ อยู่ด้วยความรอบตัวร่างกายก็สักแต่ปรากฏว่ามี แต่ไม่ประสานกับจิต

นี่คือผลแห่งการพิจารณาด้วยอุบายวิธีที่กล่าวมาเป็นดังนี้ในวงปฏิบัติ ถ้าอยากรู้อยากเห็นอยากชม จงปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวที่เคยได้อ่านในหนังสือที่ท่านอธิบายไว้จะมาปรากฏที่ใจของเราเอง โดยไม่อาจสงสัย นี่คือ วิธีการพิจารณาทุกขเวทนาเวลาเกิดขึ้นกับร่างกาย จงพิจารณาอย่างนี้ จะรู้อย่างนี้จะเห็นอย่างนี้ไม่เป็นอื่น

ในนามขันธ์หรือนามธรรมทั้งสาม คือ สัญญา สังขาร และวิญญาณ เวลาพิจารณาก็เกี่ยวโยงกับกายเหมือนกันในบางกรณี ข้อนี้ยกให้เป็นข้อคิดข้อพิจารณาของผู้ปฏิบัติจะพึงรู้และปฏิบัติต่อตัวเองตามเหตุการณ์ที่เกิดกับตน เพราะนามขันธ์ทั้งสามนี้ ท่านพิจารณาเป็นการเป็นงานอย่างแท้จริง หลังจากจิตรู้เท่าปล่อยวางรูปขันธ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อจิตยังไม่ปล่อยรูปขันธ์ การพิจารณาจำต้องประสานถึงรูปขันธ์อย่างแยกไม่ออก แต่ทั้งนี้เป็นหน้าที่และเป็นกิจจำเป็นของนักปฏิบัติจิตภาวนาโดยเฉพาะเป็นรายๆ ไป หากรู้กับตัวเองว่าจะควรพิจารณาทั่วไปกับขันธ์ทั้งหลายหรือจะพิจารณาขันธ์ใดในกาลเช่นไรโดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้นจะเข้าใจในการพิจารณาขันธ์ห้าให้เหมาะสมกับการปล่อยวางเป็นวรรคเป็นตอนไป การพิจารณาอย่างกว้างขวางก็ในวงรูปขันธ์เท่านั้น รูปขันธ์นี้พิสดารอยู่มาก การพิจารณาจึงไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด สุดแต่ถนัดต่อการพิจารณาจะแยกแยะร่างกายส่วนต่างๆ ออกเป็นชิ้นเป็นอันจากคำว่าสัตว์ว่าบุคคลก็ได้ จะพิจารณาเป็นอสุภะสิ่งปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างก็ได้ จะพิจารณาไปทางไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามไตรลักษณ์ก็ได้ จนจิตมีความชำนิชำนาญทั้งภาพอสุภะและภาคไตรลักษณ์จนหาที่ติดที่ข้องไม่ได้แล้วก็ปล่อยวางไปเอง

เมื่อจิตปล่อยวางรูปขันธ์แล้ว จิตจะหมุนเข้าสู่นามขันธ์ทั้งสาม คือ สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างเต็มสติปัญญาที่มีอยู่ต่อไป ไม่มีคำว่าท้อถอยลดละเลย สติปัญญาจะหมุนตัวไปเองโดยไม่ถูกบังคับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นขั้นสติปัญญาคล่องตัวแล้ว เรื่องสติปัญญาคล่องตัวนี้เริ่มเป็นมาแต่ขั้นพิจารณาอสุภะในรูปขันธ์คล่องตัวอยู่แล้วจนถึงขั้นปล่อยวาง เมื่อก้าวเข้าสู่ สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงคล่องตัวต่อการพิจารณาทุกแง่ทุกมุม ไม่มีคำว่าอืดอาดเนือยนายดังที่เคยเป็นมา นอกจากต้องรั้งเอาไว้เมื่อเห็นว่าจะเพลิดเพลินต่อการพิจารณาจนเกินไปไม่ยอมพักตัวในเรือนคือสมาธิ ที่เคยเห็นในตำราว่า มหาสติ มหาปัญญา นั่นจะปรากฏกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติที่หมุนตัวไปกับการพิจารณาไม่หยุดหย่อนผ่อนคลายในการทำงานไปเอง ไม่ต้องถามใคร

นับแต่ขั้นรู้เห็นอสุภะเด่นชัดด้วยการพิจารณาเรื่อยมา ความขี้เกียจ ความท้อแท้อ่อนแอ ความอิดหนาระอาใจหายหน้าไปหมดไม่ปรากฏในจิตดวงนั้นเลย ด้วยเหตุนี้แลจึงทำให้รู้ประจักษ์ใจว่า อันความขี้เกียจไม่เอาไหน เป็นต้น มันเป็นสกุลกิเลสทั้งมวล เป็นตัวมัดจิตใจสัตว์โลกไว้ให้ก้าวสู่ความดีงามไม่ออกพอถูกตปธรรม มีสติปัญญา เป็นต้น เผาผลาญให้พินาศไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีในจิตใจเลย มีแต่ความเข้มข้นแห่งความเพียรทุกๆ อิริยาบถ เว้นแต่หลับเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นท่าแห่งความเพียรทั้งสิ้น กิเลสเหล่านี้ไม่กล้ามาขัดขวางแม้จะยังมีอยู่ภายในใจก็ตาม เพราะนับวันจะ กุสลา มันอยู่แล้วอย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นการพิจารณานามขันธ์ทั้งสามของท่านผู้มีสติปัญญาอันเกรียงไกรมาแต่รูปขันธ์แล้ว จึงคล่องตัวรวดเร็วไม่มีสติปัญญาใดในโลกสมมุติจะรวดเร็วเทียมเท่าได้

จิตที่ปล่อยรูปขันธ์แล้ว ยังต้องฝึกซ้อมสติปัญญาจากความคิดปรุงภาพแห่งขันธ์ให้ปรากฏขึ้นแล้วดับไป ปรากฏขึ้นแล้วดับไปๆ จนรูปขันธ์ที่ปรากฏขึ้นจากความปรุงดับอย่างรวดเร็วราวกับฟ้าแลบ จากนั้นเป็นจิตว่างจากรูป จากวัตถุต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก หมดความสนใจพิจารณาต่อไปอีก มีแต่หมุนเข้าสู่นามธรรมทั้งสามอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามโดยถ่ายเดียว โดยถือจิตเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เนื่องจากอาการทั้งสามนี้ปรากฏขึ้นจากจิตแลดับไปที่จิต สังเกตสอดรู้อาการเหล่านี้ ขณะเกิดและดับ เมื่อสติปัญญารู้เท่าทัน สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี จะมีเพียงปรากฏขึ้นแล้วดับไปๆ ไม่สืบต่อกับอะไร

จิตขั้นพิจารณานามธรรมนี้ เป็นจิตว่างจากสิ่งภายนอกทั้งปวง แต่ยังไม่ว่างจากจิตและนามธรรมทั้งสามนี้ จึงต้องพิจารณาจุดนี้โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซ้ำๆ ซากๆ จนจิตพอกับขันธ์และหยั่งเข้าสู่จิตล้วนๆ อันเป็นเรือนรังของอวิชชาโดยเฉพาะ พิจารณากันในจุดนั้นกับนามขันธ์ประสานกัน จนสติปัญญาเห็นความเหลวไหลหลอกลวงของนามขันธ์พร้อมทั้งจิตอวิชชาประจักษ์ใจแล้ว อวิชชาภายในใจก็พังทลายหายซากลงไปในขณะนั้นด้วยสติปัญญาที่ทันสมัย

อวิชชาอันเป็นกิเลสโดยตรงนั้นดับ ส่วนขันธ์อันเป็นเครื่องมือของกิเลสอวิชชานั้นไม่ดับ ไม่หายซากไปกับอวิชชา แต่กลับมาเป็นเครื่องมือของจิตบริสุทธิ์และเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าครองอำนาจเหมือนแต่ก่อน เพราะจิตบริสุทธิ์ ธรรมบริสุทธิ์นั้นไม่บีบบังคับขันธ์เหมือนกิเลส และไม่ยึดเหมือนกิเลส เพียงอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือด้วยความยุติธรรมเท่านั้น นี่คือการล้างป่าช้าความเกิด ตายให้สิ้นซากไปจากใจ ปราชญ์ท่านล้างอย่างนี้แล จงพากันจำไว้ให้ถึงใจและนำไปปฏิบัติให้ถึงธรรม จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในขณะที่จิตเข้าถึงธรรมบริสุทธิ์เต็มดวงนั่นแล หายสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยประการทั้งปวง สงครามระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันภายในวงความเพียรของนักปฏิบัติจิตภาวนา โดยยึดใจเป็นเวทีสนามรบมาจบมายุติกันที่ดวงใจที่บริสุทธิ์หลังจากกิเลสสิ้นซากไปหมดแล้ว ปัญหาทั้งมวลมาหมดกันที่นี่แล ดังนั้นจึงขอนิมนต์พระลูกพระหลานทั้งหลาย รู้เนื้อรู้ตัวด้วยธรรมกระเทือนโลกที่ปลุกสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นจากความหลับของกิเลสแต่บัดนี้ที่กำลังมีครูอาจารย์สั่งสอนอยู่ จะไม่เสียทีให้กิเลสชนิดต่างๆ อยู่ร่ำไปดังที่เคยเป็นมา ซึ่งน่าทุเรศเอานักหนาในสายตาของนักปราชญ์ผู้ฉลาดแหลมคมเหนือกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้ว พวกเราที่ถูกกิเลสกล่อมใจให้หลับทั้งที่ตื่นอยู่ มักเห็นขี้ดีกว่าไส้ เห็นภัยว่าเป็นคุณ เห็นบุญว่าเป็นบาป เห็นหาบเห็นหามอันเป็นภาระหนักว่าเป็นเครื่องประดับตกแต่งที่สวยงามอร่ามตาแช่มชื่นใจ ทำอะไรที่เป็นสารคุณจึงมักทำแบบสุกเอาเผากินแบบขอไปทีๆ ผลจึง ลุ่มๆ ดอนๆ หาความสม่ำเสมอและหลักเกณฑ์ไม่ได้ ราวกับไม้ปักกองขี้ควาย คอยแต่จะหกล้มก้มกราบหาความเป็นตัวของตัวไม่ได้ มีแต่ความไร้สาระเต็มตัวเต็มใจ กิริยาใดๆ แสดงออกมีแต่กิริยาอาการทำลายตัวเอง ทั้งนี้เพราะความชินของนิสัยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของในทางที่ถูกที่ดีเท่าที่ควร พระทั้งองค์ คนทั้งคนจึงกลายเป็นเศษพระเศษคนไปได้ และเกลื่อนกล่นอยู่ในท่ามกลางแห่งคนดีซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าประเภทเศษเดนระหว่างแห่พระดี พระแท้ ด้วยสุปฏิบัติ คนดี คนแท้ ด้วยทาน ศีล ภาวนา สัมมาคารวะ กับพระเศษ คนเศษ คนเดน เราจะสมัครทางไหน จงรับตัดสินใจจากการพิจารณาด้วยดีเสียแต่บัดนี้ เวลาคนตายแล้ว ความดีความงามที่พึงหวังไม่ได้อยู่กับผ้าเหลืองที่ห่มคลุมและการนิมนต์พระมา กุสลา มาติกา บังสุกุลอะไรนะ แต่มันขึ้นอยู่กับตัวเราฝึกเราให้มี กุสลาธรรม คือความฉลาดเปลื้องตนจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายขณะที่มีชีวิตอยู่ต่างหาก จะว่าผมไม่บอกไม่เตือน นี่คือคำบอกคำเตือนท่านทั้งหลายโดยแท้จริงอย่างถึงใจเรื่อยมา ไม่มีเพียงครั้งนี้ครั้งเดียว จงจดจำให้ถึงใจและปฏิบัติตามตลอดไป ด้วย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พยายามทำตนให้เป็นเนื้อเป็นหนังของตนธรรมเครื่องดำเนินและส่องทาง จะไม่เป็นพระศรี เณรศรี พระล้าสมัย เณรล้าสมัย คนศรี คนล้าสมัยต่อความดีงามและมรรคผลนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไว้อย่างสดๆ ร้อนๆ ด้วยพระเมตตาสุดส่วนไม่มีใครเสมอเหมือน

ผมเองก็นับวันแก่ลง การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนก็ไม่สะดวก พระเณรก็นับวันหลั่งไหลมามากเพื่อรับการอบรมสั่งสอน คณะมาอยู่และศึกษาอบรมก็จะตั้งใจจริง อย่านำความเหลาะๆ แหละๆ มาสังหารตนและทำลายเพื่อนฝูงผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรม จะเสียไปทั้งเราและผู้อื่น ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ไว้หน้าใคร มันทำลายสิ้นคำว่า พระๆ เณรๆ หรือความเข้าใจว่าเราเป็นพระเป็นเณรนั้น พึงทราบว่ากิเลสคือกิเลสที่เคยเป็นข้าศึกต่อเราเต็มตัว ไม่กลัวใคร อย่าเข้าใจว่าเป็นมันจะมาถวายตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ถวายการอุปัฏฐากรักษา เพื่อความสะดวกปลอดภัยไร้สิ่งรบกวนในการประกอบความพากเพียรของพระที่ตนเข้าใจว่าเป็นอาจารย์ของมันเลย จงทราบว่าแม้เราบวชเป็นพระเป็นเณรแล้วแต่กิเลสมันคือกิเลสอย่างเต็มตัวและขึ้นอยู่บนหัวคน หัวพระ หัวเณรเรื่อยมา แต่ก่อนบวชจนบัดนี้ไม่ยอมลงเลย ฉะนั้น มันจึงไม่กลัวพระ กลัวเณร กลัวคน กลัวสัตว์โลกใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นนายและเป็นข้าศึกของคนของสัตว์ของพระเณรเรื่อยมา และยังจะเรื่อยไปถ้าไม่รีบกำจัดมันเสียแต่บัดนี้ให้ฉิบหายสิ้นซากไปจากใจ การเทศน์อย่างหมดไส้หมดพุง ไม่มีอะไรหลงเหลือตกค้างอยู่ภายในใจเลย ทั้งเหตุคือปฏิปทาเครื่องดำเนิน เผ็ดร้อนหนักเบาประการใดที่เคยต่อสู้กับกิเลสมา ทั้งผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติมากน้อย หยาบ ละเอียดก็ได้ขุดคุ้ยมาแสดงให้ฟังอย่างหมดเปลือกหมดไส้พุง ไม่มีลี้ลับปิดบังไว้แม้แต่น้อย ดังนั้นจงนำอุบายวิธีเหล่านี้ไปฝึกหัดดัดสันดานกิเลสตัวร้ายกาจแสนพยศของแต่ละท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ระวังอย่าให้กิเลสฝึกหัดสันดานเอาเสียอย่างหมอบราบแทนที่จะดัดมันก็แล้วกัน ข้อนี้ผมกลัวนักหนา ไม่อยากเห็นไม่อยากได้ยิน เพราะผมเองเคยโดนมันดัดสันดานมาแล้ว จึงเป็นบทเรียนอย่างดีที่อดจะนำมาเตือนท่านทั้งหลายไม่ได้ ขอจบเสียที จงพากันสวัสดีมีชัยทั่วหน้ากัน

จบเทศน์เท่านี้
หลวงปู่ขาว อนาลโย






#หลวงตามหาบัว

“สมมุติว่าเราเห็นอะไรๆ นะ ธรรมดาสิ่งเหล่านี้จะปรากฏอยู่ภายนอก ทีนี้พอเราพลิกย้อนจิตเข้ามาปั๊บ สิ่งนั้นก็จะหายไป เพราะมันเป็นกระแสจิตออกไปนี่” ท่านอาจารย์อธิบาย

“กระแสจิต?” ลูกศิษย์ทวนคำงงๆ

“ใช่ เป็นกระแสของจิตออกไปเท่านั้นเอง พอย้อนจิตเข้ามาก็ไม่มีอะไร บอกแล้วยังไง” ท่านย้ำ

“แสดงว่าจิตของเราตอนนี้ ไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้วใช่ไหมครับ?”

“อยู่ก็อยู่หรอก จะว่าไม่อยู่กับพุทโธก็ไม่ใช่ มันส่งกระแสออกไป เปรียบเหมือนไฟฉายที่ฉายไปนี่แหละ จะว่าความสว่างไม่อยู่กับไฟฉายก็ไม่ใช่ แต่มันไปเห็นแสงสว่างที่ตรงนั้นๆ มันกระจายกระแสของมันออกไป

อันนี้ถ้าหากว่าจิตไม่มีความชำนาญ มันจะไม่รู้สึกตรงนั้น โน่นไปรู้สึกตรงโน้น แล้วมันก็ไปกระเทือนตรงโน้นนะ ถ้าหากจิตมันมีความรอบคอบรอบตัวแล้วนะ มันจะรู้ทางโน้นด้วยทางนี้ด้วย มันไม่หลงหรอก

หลายชั้นหน่อยนะ เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องธรรมะจึงต้องระวัง ระวังยังไง? สำหรับผู้ฟังที่อาจจะไม่เคยฝึกก็มี ในธรรมะนั้นมีขั้นต่างกัน จึงต้องพูดให้ฟังเฉพาะๆ เข้าใจไหม ที่พูดนี่น่ะ?”

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน







หลวงปู่ดุลย์สอน กิเลสไม่ต้องไปตัด มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่อย่าไปใช้มัน คือจิตอยู่กับความว่าง

ท่านพ่อเยื้อน ขันติพโล


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 75 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร