วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 18:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2022, 06:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“ความสุขที่ได้รับ เป็นของไม่เที่ยง
สักวันหนึ่งก็ต้องจากไปทั้งหมด
แม้แต่ร่างกาย ที่คิดว่าเป็นของเรา
สุดท้าย มันก็ไม่ได้เป็นของเราอย่างที่คิด
ให้เราพยายามปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจของพวกเรา
เพื่อที่จะให้ได้ พุทโธ เป็นที่พึ่ง”

โอวาทธรรม:หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป





#เขาเรียกว่าหมดกิเลสอยู่ตรงนั้นล่ะ
#ก็คือมีอินทรีย์ห้าครบถ้วนสมบูรณ์

พวกเราก็คงเคยบำเพ็ญมาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงได้เข้าวัดเข้าวาอย่างนี้ แปลว่าเคยบำเพ็ญมาแล้วชาติก่อน เคยทำบุญ รักษาศีล เคยฟังเทศน์ฟังธรรมมาแล้ว แต่มันยังปฏิบัติไม่ได้มาก ได้ตามกำลังของตน สติปัญญายังไม่แก่กล้า ท่านเรียกว่าอินทรีย์ห้ายังไม่สมบูรณ์ เราก็ค่อยบำเพ็ญไปทุกภพทุกชาติ

อินทรีย์ห้าคืออะไร

#สัทธินทรีย์ คือ มีศรัทธาเป็นใหญ่ในการที่มีจิตใจตั้งมั่น เชื่อมั่นว่าจะทำสิ่งนี้ เหมือนเราปฏิบัติกันอยู่นี้ เรียกว่า สัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่มีความเชื่อมั่นเป็นใหญ่

#วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรพยายามที่จะขัดเกลากิเลส จะหาวิธีแก้ไขกิเลส การพิจารณาวิริยินทรีย์ ก็คือการเพียรพยายามละบาปความชั่วนั้น ต้องเพียรละ เพียรปล่อย เพียรวาง

#สตินทรีย์ คือ การมีสติเป็นใหญ่ในการพิจารณา ระลึกตรึกตรองดู จดจ้องมองดูอยู่อย่างนั้น เรียกว่า สติสมบูรณ์พร้อม

#สมาธิทรีย์ คือ มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง มีสมาธิอยู่ไม่ล้มเหลวไปกับอะไร คนที่มีสมาธินี่เมื่อเขาด่า จิตมันไม่ออกจากตัวไป เขาด่าอะไรให้เป็นเรื่องของเขา ไม่ไปโกรธเขา ท่านว่าจิตใจเป็นสมาธิควบคุมดูแลอยู่ นี่..คนที่มีสมาธิดี เป็นสมาธินทรีย์

#ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญานี้เฉลียวฉลาด ไตร่ตรองใคร่ครวญให้แยบคาย เปรียบเทียบว่าเรามีของอยู่ในตะกร้า มีหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อสงสัยก็รื้อตะกร้ามาดู เมื่อเห็นชัดเจนก็หายสงสัย ครั้นหายสงสัยก็เรียกว่าหมด หมดความอาลัย หมดความกังวลไม่สงสัย ใจก็สบาย เขาเรียกว่าหมดกิเลสอยู่ตรงนั้นล่ะทีนี้..ก็คือมีอินทรีย์ห้าครบถ้วนสมบูรณ์.

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป








.......เทศน์ภายในเลยมันจึงเหมาะ ถ้าเทศน์ภายนอกนี่มันคล้ายกับแผนที่ตำรับตำรา พอปานกับเครื่องกระจายเราต้องเทศน์ภายใน

.......จะเอาอย่างใดอีก ตำรับตำราทางบ้านท่านฟังมาเต็มที่แล้ว จะฟังก็ในกายเท่านั้นแหละ ทีนี้ ให้ภาวนาเอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล จะพากันละอุปาทานทั้ง ๕ อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ ละรูปธรรม นามธรรมนี้ วางได้มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ วางไม่ได้มันก็ยึดเอารูปธรรมนามธรรมเป็นตนเป็นตัว มันก็เป็นธรรมเมาอยู่นั่นเอง

พิจารณาสังขาร นามรูป ที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ อุปาทานทั้ง ๕ มีรูปูปาทานักขันโธ เป็นอุปาทานที่หนึ่ง เวทนูปาทานักขันโธเป็นอุปาทานที่สอง สัญญูปาทานักขันโธ เป็นอุปาทานที่สาม สังขารูปาทานักขันโธ เป็นอุปาทานที่สี่ วิญญูปาทานักขันโธ เป็นอุปาทานที่ห้า ครั้นค้นคว้าอยู่ในธาตุสี่ ขันธ์ห้า วางธาตุสี่ ขันธ์ห้านี้ได้แล้วละก็ ภาวนาสงบดี ครั้นเวทนาดับลง สัญญาดับลง สังขารดับลง วิญญาณดับลง รูปธรรมส่วนสมมติเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม วางได้แล้วมันก็สบาย จิตก็สงบลง

ชำระศีลห้าของตนให้บริสุทธิ์ ทางตานี่ก็เป็นศีลประเภทหนึ่ง ทางหูก็เป็นศีลประเภทหนึ่ง นำความผิดออกจากตา ออกจากหู ออกจากจมูก ออกจากลิ้น ออกจากกาย ทั้งสี่ ทั้งห้านี้แหละ ศีลทั้งห้าก็อันนี้แหละ นำความผิด ความยินดียินร้ายออกจากจิตใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจด ทำให้เป็นไป จะเอาพุทโธเป็นบริกรรมก็เอา หรือจะเอาธัมโมเป็นบริกรรม เป็นมรรคภาวนาก็ได้ เคยทำกันมาแล้วกระมัง

ครั้นได้พุทโธ พุทโธ นี้เป็นอารมณ์ของจิตใจอยู่เป็นนิจ เวลาเอาเข้าหนักเข้า หนักเข้า ลมมันก็สงบได้เหมือนกัน แต่รักษาไว้อย่าให้เป็นธรรมเมา พุทโธ พุทโธ นี่นะ พุทโธ พุทโธ กลายเป็นธรรมเมา ธัมโม ธัมโม มันไม่เป็นธัมโม มันกลายเป็นธรรมเมาไปเสีย สังโฆ สังโฆ พวกนี้เป็นอารมณ์ของใจ ให้ดิ่งอยู่เป็นอันหนึ่ง นาน ๆ เข้าจิตใจก็สงบลงเป็นสมาธิได้เหมือนกันนั่นละ

รักษาธรรมเมานี้ไม่ให้เกิด อดีตธรรมเมา อนาคตธรรมเมา อดีตที่ล่วงแล้วมันนำมาหเป็นธรรมเมา อนาคตยังไม่มาถึงก็เป็นธรรมเมา ถ้าจิตดิ่งอยู่ปัจจุบันมันจึงเป็นธัมโม อดีต อนาคตเป็นธรรมเมาแล้วจงรักษาดี ๆ มีสองอย่างเท่านั้นแหละ มันเป็นธรรมเมา นอกจากจิตดิ่งอยู่ปัจจุบันนี่เป็นธัมโม มันไม่หมุนตามสังขาร มาหมุนตามสมมติ แล้วมันก็ใช้ได้

นี่ก็พิจารณา จะเอาพุทโธเป็นมรรคก็ได้ มรรคภาวนาหรือจะเอากายเป็นมรรค พิจารณากาย สังขาร นาม รูป อันนี้ใช้ชำนิชำนาญบุราณท่าน หรือสมัยนี้ก็เหมือนกัน กุลบุตรทั้งหลายที่มาบวชบรรพชาเพศ อุปัชฌาย์ท่านสอน กายนี่แหละเป็นมรรค เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา อนุโลม ปฏิโลม ทั้งเบื้องบนพิจารณาแต่เล็บเท้าขึ้นมาถึงปลายผม เบื้องต่ำพิจารณาตั้งแต่ปลายผมถึงเล็บเท้า นี่แหละเป็นมรรค เอากายเป็นมรรค ต่อเมื่อใดวางหมดแล้ว ไม่ยึดรูปธรรม นามธรรมเป็นตนเป็นตัว สัญญาก็สงบลง สังขาร ความปรุงแต่ง ความเกิด ความดับ โทษ ทุกข์ ภัย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับลง วิญญาณ ความรู้ รู้ดี รู้ชั่ว รู้บุญ รู้บาป รู้ผิด รู้ถูก ก็ดับลงหมด แล้วมันก็จิตสงบลงได้

ครั้นการรักษาธรรมเมานี่หนา มันมีอดีตอนาคตหุ้มมา อดีตมันเคยได้รู้ ได้เห็น จากเคยได้คุยกัน ว่าเล่นกัน เวลาตั้งจุดพุทโธ พุทโธ มันจะกลายเป็นธรรมเมาไปเสียนี่ ครั้นเผลอก็เป็นธรรมเมาไปแล้ว เมาคิดโน่น คิดนี่ อดีตที่เคยเห็นก็นำมาคิดเป็นธรรมเมาไปแล้วนั่น พุทโธที่จะเอาเป็นบริกรรม จะเอาเป็นอารมณ์ของใจก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมเมาไปแล้ว มันปรุงไป แต่งไป เกิดไปดับไปในทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละ จึงรักษาธรรมเมาไว้

อดีตก็เป็นธรรมเมาอันหนึ่ง อนาคตก็เป็นธรรมเมาอันหนึ่ง จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน ละปัจจุบัน ตัดตัณหา ตัดกิเลส ตัดมานะทิฐิ ตัดความยึดมั่นถือมั่นของตนให้เสร็จลง แล้วก็สงบได้ รักษาแต่ธรรมเมาอันเดียวนี่แหละ ให้มันเผลอก็เป็นธรรมเมาละ ครั้นไม่เผลอ พุทโธ พุทโธ ดิ่งอยู่ นั่นแหละเป็นอารมณ์ของใจ เป็นมรรคของใจ เป็นที่พึ่งของใจก็ได้ อยู่ที่ รักษา ตัวเดียวเท่านั้นแหละ ทำให้ติดไป เก็บดิ่งอยู่เป็นนิจ ทำอย่างนั้นก็ใช้ได้ละ

.....สันทิ ทิฐิไปเปล่า ๆ นั้นก็เป็นธรรมเมาแล้วนะ ไม่ให้คิด ไม่ให้นึกมัวหลงเมายศ เมาเกียรติไปนั่นเป็นธรรมเมา อกุสลาธัมเมา กุสสาธัมเมา มันตั้งอยู่นั่นแหละ อัพยากตธัมเมา เป็นที่พิจารณากำหนดให้จิตดิ่ง ให้จิตสงบดี มันก็ใช้ได้ ครั้นสาวเข้าไปให้ถึงอกุสสลาธัมเมานี้ ความหลง ความโลภ ความโกรธ มันเกิดขึ้นละก็ มันเกิดกิเลส ก็ตัวนั้นแหละตัวหลง ตัวโลภ ตัวโกรธนั่นแหละ ตัวราคะ ตัดกิเลสตัณหา ความเจ็บความไข้ เป็นเหง้าเป็นโคนแห่งกิเลสทั้งหลาย กิเลสทั้งห้า ตัณหานับได้ เป็นอยู่ที่เจตนา ตัณหานี้ ความพอใจมันก็เป็นกิเลส ความหลง ความโลภนี่แหละมันเกิดขึ้น ระงับความหลง ความโลภ ความโกรธ ราคะกิเลสนี้ตัดออกหมดแล้ว ดับหมดแล้ว ความหลงความโลภนี้ เราก็รู้แจ้งได้นี่นา วิญญาภิสังขาร อวิญญาภิสังขาร ส่วนอันเป็นกุศล อกุสสลธัมมานี้ เราละได้ วางได้นี่นา ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร แต่งให้เป็นบุญ เป็นกุศล แต่งให้เป็นทานไปได้นี่ อกุสลาธัมมา นี่มันแต่งมาให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง แต่งมาให้ราคะ ให้กิเลสบังเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา เมื่อมาละมันให้หมดได้ มันก็เป็นธัมโม ครั้นละไม่ได้มันก็เป็นธรรมเมา

อกุสสลาธัมเมานี่เมาโลภ เมาหลง เมาโกรธไปทุกแห่งทุกหนนั่นแหละ เป็นเจ้าเป็นนายของกิเลสทั้งหลาย กิเลสตัณหา ภยายโอฆะ กามโอฆะก็อันนี้ ภวโอฆะ ทิฐิโอฆะ ก็อันเดียวกันนี้แหละ อวิชชาโอฆะ ดับหมู่นี้ได้หมด ก็เออสบายอกสบายใจ บริกรรมพุทโธไว้ให้สงบเป็นอารมณ์เดียว ทำให้เคยละก็ไม่ได้เชียวละ มันกลายเป็นธรรมเมา มันเคยเมา มันเมาคิด อดีตนั่นแหละมันคิดขึ้น ปรุงขึ้น แต่งขึ้นในเรื่องของสังขาร ความเกิด ความดับ โทษ ทุกข์ ภัย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องของสังขาร เข้ากับสภาพแล้วละก็ เออ เป็นธรรมเมาละคราวนั้น ให้พิจารณากายนี้ให้มากยิ่ง ๆ ในขันธ์สมมติ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ธาตุทั้งสี่ที่ยึดอยู่นี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นนามธรรม นามธรรมเกิดขึ้นแล้วมันลืมตัวนะ มันไม่รู้หรอก สังขารน่ะ นามธรรมอันนี้มันปรุงทีแรก ปรุงทั้งบาป ปรุงทั้งบุญ ปรุงทั้งผิดทั้งถูก ทั้งดี ทั้งชั่ว ถ้าไปหลงตามก็เป็นธรรมเมาละ ครั้นไม่หลงก็เป็นธัมโม

เมื่อละความโกรธ ความหลงสิ้นไปหมดแล้ว อันนี้ก็เป็นธัมโมอยู่เป็นนิจ ส่วนพิจารณา สังขาร นาม รูปนั้นคงแค่เป็นเหตุที่ว่ากุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา พยากตาธัมมา อพยากตาธัมมา

กุสลาธัมมา กุศลธรรม อกุสลาธัมมา อกุศลธรรม นี้เราแต่งเอาได้ แต่งให้เป็นบุญ แต่งให้เป็นบาป แต่งไม่ให้โลภ แต่งไม่ให้หลง แต่งไม่ให้โกรธ แต่งไม่ให้ราคะกิเลสบังเกิดขึ้น ใช้ได้ ครั้นแต่งไม่ได้ ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของความหลงความโลภละก็ ใช้ไม่ได้ละ เขาแต่งเราหนา ครั้นในแต่งเราละก็ เราเดือดร้อนหนา ความหลง ความโลภ ความโกรธ นี่เราแต่งได้ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขารเราแต่งให้เป็นบุญกุศลได้ อปุญญาภิสังขารเราแต่งบาปให้เกิดแก่จิตใจของเราได้ มันก็จะเป็นธรรมเมาอยู่เป็นนิจละ เข้าใจแล้วนะ

ทำเรื่อย ๆ สมควรแล้วละ เอาหนักเกินไปเป็นธรรมเมานะ ธรรมเมานี่ลำบากหนา มันเอาเรื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์โน่น เวลามันตั้งขึ้นมันเกิดมาแต่ไหนไม่รู้มัน ธรรมเมานี่มันสำคัญ พอเผลอขึ้นมาแล้ว มันเมาคิดเมา นึกไปเสียแล้ว เอาละ สมควร

อย่าเอามากมายเลย เอาทีละน้อย ให้มันรวมเข้า รวมเข้าเถอะ รวมเข้าแล้วเป็นเอกัคคตาได้เป็นดีนะ ชาวกรุงเทพฯ เขามาบ่อยนี่นา

(จากเทปบันทึกเสียงของ คุณสมพร ขัมภรัตน์
#สุจิณฺโณรำลึก กัณฑ์ที่ ๒ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ








ศีลธรรมของพระพุทธเจ้า คือ
เอาใจเขา มาใส่ใจเรา
เอาใจเรา ไปใส่ใจเขา
ศีลธรรมไม่ใช่อื่นไกล

เหมือนกับกฎหมาย
กฎหมายคุ้มครองลักษณะนี้ แต่กฎหมายจะหยาบกว่า ศีลธรรมจะละเอียดกว่า ออกมาจากจิตใจ กฎหมายคุ้มครองคน ถ้าหากว่าเขาไม่เห็น ไม่มีสักขีพยาน ไม่มีพยานในการกระทำของเขา กฎหมายก็เอาผิดเขาไม่ได้ ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าเขาไม่ได้ทำ แต่ที่ทั้งที่เขาทำ ก็เอาผิดเขาไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะว่าไม่มีสักขีพยาน ไม่มีหลักฐาน เอาผิดเขาไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน คนไม่เห็น พิสูจน์ยังไง ดีเอ็นเอยังไงก็ไม่ได้ ลายมือยังไงก็ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน ก็เอาผิดเขาไม่ได้

แต่หลักธรรมคำสอน บาปกรรม ละเอียดกว่านั้น
ท่านเปรียบเทียบว่าถ้าเราไปทำความผิด ถึงเขาจะไม่รู้สักคน แต่เราไปทำ มันผิดไหม หลักของพระพุทธศาสนาว่าผิด เพราะตัวเองไปทำความผิด เหมือนกับเราไปจับไฟในห้องอย่างนั้น ใครรู้ไหม ใครเห็นไหม ไม่มีใครเห็น.. แต่จับมันร้อนไหม ร้อน เพราะเหตุใด เพราะมันเป็นไฟ

อันนี้ก็เหมือนกัน ความชั่วถึงจะทำในที่ลับก็ตาม ที่แจ้งก็ตาม ที่สาธารณะก็ตาม อันนั้นคือความชั่ว ไม่ควรจะทำนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น ถ้าหากว่าทำความดีก็เหมือนกับน้ำแข็งอยู่ที่ไหนจับก็เย็นทั้งนั้น เพราะเหตุใด เพราะมันเป็นน้ำแข็ง นี่ก็คือคุณงามความดี ถึงจะทำปิดทองหลังพระก็เถอะ อันนั้นก็คือคุณงามความดี

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อไป ณ สถานที่ใด หลวงพ่อก็แนะนำสั่งสอนบอกกล่าว สิ่งนั้นชั่วสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นควรทำสิ่งนี้ไม่ควรทำ ถ้าหากว่าทำไปแล้วมันเดือดร้อนตนและผู้อื่น อย่าทำนะลูกหลานศรัทธาญาติโยม ถ้าหากว่าทำไปแล้วมีความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งนั้นเกิดประโยชน์ควรจะทำสิ่งนั้น เพราะเราอยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นคณะ ไม่ใช่อยู่คนเดียว เราจะไม่ฟังใครเสียเลยไม่ได้ เราก็ต้องฟังหมู่ฟังเพื่อน

การฟังหมู่ฟังเพื่อนนั้น ก็อย่าไปเหมือนกับเป็นหมู่แมลงวันเขียวอย่างนั้น เราต้องเป็นหมู่แมลงผึ้งแมลงภู่ ต้องมีเหตุต้องมีผล ไม่ใช่ว่าหมู่มากลากไปไม่ใช่

หมู่โง่ก็มี
หมู่ฉลาดก็มี
หมู่ปลวกหมู่มดก็มี
หมู่เทวบุตรเทวดาก็มี
หมู่เปรตสัตว์นรกก็มี
เราจะเป็นหมู่กลุ่มไหน อันนี้เราต้องใช้ปัญญานะ ไม่ใช่ว่าหมู่มากลากไป เห็นเขาไป ก็ไปตามเขา อันนั้นไม่ใช่นะ

อันนั้นเสนาหมากขี้กานะ ไม่ได้ๆ

เราต้องใช้ปัญญาทบทวน เอาศีลธรรมมาเป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องตวงกลั่นกรองไตร่ตรองเหตุและผล
เดือดร้อนตนและผู้อื่นไหม ถ้าหากเราเป็น เดือดร้อนผู้อื่นล่ะก็ อย่าทำ

โอวาทธรรมคำสอน
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “สามัคคีคือพลัง”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔








#ผู้ที่ประมาทจาบจ้วงก็ตกนรกไป_ผู้ที่สาธุการด้วยก็ขึ้นสวรรค์ไป

“...เราอยากเห็นศาสนาเจริญรุ่งเรืองด้วยธรรมด้วยวินัย ไม่อยากเห็นศาสนาเจริญรุ่งเรืองด้วยถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่สร้างหาความเคารพเทิดทูนในธรรมในวินัยไม่มี อันนี้ไม่ได้ประมาทพ่อแม่ครูอาจารย์นะ เราก็ยกไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เราอยากเห็นธรรมวินัยเลิศที่สุดไม่อยากเห็นถาวรวัตถุเลิศ ประเสริฐก็ธรรมวินัยประเสริฐ เลิศก็ธรรมวินัยเลิศ ไม่ใช่ถาวรวัตถุในการก่อ ๆ สร้าง ๆ วัดวาอาราม เจดีย์ โบสถ์ใหญ่ วิหารใหญ่

แล้วก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผู้ที่ไปเที่ยวในวัดวาอารามนั้น มีความเคารพหรือไม่ดูตัวนี้เป็นเครื่องวัด มีความเคารพไหมล่ะ เทิดทูนไหมล่ะ ถ้ามีความเคารพเทิดทูนจะไม่กล้าทำชั่วด้วยประการทั้งปวง แต่เห็นกันมันไม่ค่อยมีนี่ใช่ไหมล่ะ นี่เราจึงไม่ลง เราจึงประกาศกับตายายที่มากราบด้วยเหตุนี้ เหตุนี้ ชมรมจิตอาสาศิษย์วัดป่าห้วยรินก็จะอยู่อย่างงี้ ต่อไป ต่อไป สู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมซึ่งวินัย ตลอดไป ตลอดไป จนถึงวาระสุดท้ายของพวกเรา ใครจะว่าใครจะหาเรื่องใครจะทำลายกรรมของใครของมันไม่เกี่ยวกับเรานี่ ธรรมดาการที่จะออกสงเคราะห์โลกย่อมที่จะมีได้มีเสียคู่กัน ผู้ที่ประมาทจาบจ้วงก็ตกนรกไป ผู้ที่สาธุการด้วยก็ขึ้นสวรรค์ไปเข้าสู่สุคติภูมิ ก็แล้วแต่ไม่เข้าไปก้าวก่าย...”

พระธรรมเทศนา : องค์หลวงปู่น้อย ญาณวโร
วัดป่าห้วยริน ต.หัวนาคำ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ (ตอนเย็น)






นินทา ปสังสา

"ชาติต่อไปไม่มีสำหรับเรา"

.....ที่นี้ถ้าหากว่าเราได้ยินใครเขาสรรเสริญว่า เราดีแบบนั้น เราดีแบบนี้ เราดีใจไหม ถ้าหากว่าเราดีใจก็จงทราบไว้ว่ากำลังใจของเรานี้ใช้ไม่ได้ เป็นทาสของกิเลสเสียแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสว่า ให้เราโยนทิ้งไป นี่เราจะมาเก็บนินทาและสรรเสริญไว้เพื่อประโยชน์อันใด เพราะว่าทำทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ได้ทำให้ใครดีขึ้นมาได้ ไม่ได้ทำให้ใครชั่วขึ้นมาได้ ความดีหรือความชั่วอยู่ที่ตัวประพฤติว่าปฏิบัติดี หรือปฏิบัติชั่ว

ฉะนั้นธรรมทั้งสอง ประการนี้ สำหรับวันนี้จะให้ไว้เป็นข้อสอบจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทเพราะเป็นของหาง่าย บางทีวันหนึ่ง สองวัน หรือวันเดียวอาจจะมาซ้อนกันถึง ๒ ราย ๓ รายก็ได้ ข่าวการนินทาสรรเสริญ ถ้าเราได้รับคำนินทา ดูใจของเราว่าพอใจในการนินทาหรือว่าโกรธคนนินทา ถ้าโกรธคนนินทาก็จงนึกว่า ความจริงคนนินทานี่เป็นคนตาไม่ดี หูไม่ดี หรือมิฉะนั้นก็อาจจะขาดสติสัมปชัญญะขาดการ ใคร่ครวญ.....

โดยพระเดชพระคุณ
พระราชพรหมยานมหาเถระ
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุงจังหวัดอุทัยธานี







ขณะเข้าเจริญกรรมฐานอยู่ ลุงกับนายบัญชี ๒ ลุง ลุงพุฒิ กับลุงนายบัญชี ท่านก็ยืนอยู่ ท่านบอก "คุณ เอาอย่างนี้นะ บอกลูกบอกหลาน ผมน่ะจะสงเคราะห์คนได้ในวงจำกัด เฉพาะเชื้อสายเท่านั้น นอกจากเชื้อสาย เราจะสงเคราะห์เขาไม่ได้ ถ้าเขาไม่เชื่อเรา คนทุกคนที่มาหาคุณ มันก็เชื้อสายทั้งหมด ถ้าไม่ใช่เชื้อสาย มันก็ไม่มา" บอกว่า การบำเพ็ญกุศลคราวนี้ คือการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้เอาทรัพย์สินบรรจุ เขาทำช่องสองช่องไว้ แล้วท่านบอกว่า ทรัพย์สินแม้แต่ไม่มาก ให้ทำเพียงสลึงเดียว ถ้าทำด้วยความเต็มใจและปีติ ถ้าทำอย่างนี้ฉันจะขึ้นบัญชีสงเคราะห์เวลาตายไว้ นั่นหมายความว่า บาปไม่ได้ล้างไป แต่เวลาตายประคองขึ้นสวรรค์ไปก่อน ท่านก็เลยเอาบัญชีให้ดู บอกว่าบัญชีแบบนี้เขาทำแบบนี้กัน ทีนี้ก็มีปัญหาว่า ท่านบอกว่าให้ไปใส่เอง นี่เราก็ไม่รู้ ทำบุญแบบนี้อานิสงส์มันต้องได้แน่นอน แต่จะปิดหรือไม่ปิด ถ้าปีติก็ปิด แต่ว่ามันมีว่า บุญทั้ง ๓ ประการที่ท่านบอกว่า

๑. ให้ท่านเป็นพยาน

๒. สะเดาะเคราะห์บวชเณร

๓. แล้วก็บรรจุบรมสารีริกธาตุ

เป็นบุญกุศลที่ท่านจะช่วย ไม่ใช่ล้างบาปนะ ช่วยไปสวรรค์ก่อน ถือว่าเป็นการขึ้นบัญชีสวรรค์ไว้ก่อน ฉะนั้นถ้าไปกับไม่ไป มีผลต่างกันไหม ท่านบอกว่า ขึ้นกับปีติ ถ้าปีติเท่ากัน มันก็เท่ากัน ถ้าไปปีติมากกว่า ก็อานิสงส์มากกว่าทองคำเหมือนกัน แต่เปอร์เซ็นต์ไม่เท่ากัน ใช่ไหมล่ะ นั่นหมายถึงกำลังของบุญนะ

จากหนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๕๑ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน









#หัวใจพระพุทธศาสนา

เย็นวันหนึ่ง มีโยมเข้ามากราบหลวงปู่ที่ศาลาหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล คุยกับหลวงปู่สักพัก โยมจึงกราบเรียนปรึกษาปัญหาธรรมะ

โยม ; หลวงปู่ครับ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากเหลือเกิน พระไตรปิฏกตั้ง ๔๕ เล่ม คำสอนตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ผมคงจำไม่หมดทุกข้อ ทุกอย่าง ผมก็เลยอยากทราบว่า อะไรเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า อะไรคือสิ่งที่ผมควรจดจำไปใช้ในการปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าครับ

หลวงปู่ ; เอ้า ก็ตนไง...คำสอนของพระพุทธเจ้าสำคัญที่ตน ตนนั้นสำคัญที่สุด ตนเป็นสิ่งที่ควรสอน ตนเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ตนเป็นสิ่งที่ควรหา ตนเป็นสิ่งที่ควรละ คำสอนแปดโกฏิสี่กือก็รวมลงที่ตน คำสอนมากมายถ้าตนไม่นำไปปฏิบัติคำสอนนั้นจะมีค่าอะไร พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติเพื่อหาตน เพื่อละตน คำสอนทั้งหลายก็ออกจากท่าน ออกจากใจท่าน เพราะท่านหาตน เมื่อคุณศึกษาธรรมะของท่าน คุณก็ควรจะศึกษาตน ศึกษาจากหัวใจของตน เห็นตนนั้นหล่ะเป็นธรรม เห็นธรรมนั้นหล่ะเป็นตน เห็นตนคือเห็นธรรม ศึกษาตน หาตน พบตน ละตน นี่หัวใจพระพุทธศาสนา เข้าใจนะ

หลวงปู่ #พระเทพมงคลวชิรมุนี (หลวงปู่หา สุภโร)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร